เมื่อผมไปคุยกับสปป.ล้านนา: บันทึกเบื้องหลังการทำงานข่าวชิ้นหนึ่ง

ข้อเขียนนี้เป็นบันทึกเล็กๆ น้อยๆ จากการทำรายงานข่าวเรื่อง “เปิดใจ 'สปป.ล้านนา' สาขาสันกำแพงกับข้อกล่าวหาแยกประเทศ

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%


อาจด้วยโชคหรืออย่างไรก็ไม่แน่ใจ ปลายปีที่แล้ว ระหว่างการประกาศตั้ง "สปป.ล้านนา" ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยกลุ่มชาวบ้านในภาคเหนือ ผมเกิดได้ไปคุยกับลุงคนหนึ่งที่เป็นอดีตสหายชาวนาเก่า ผู้มาจากสันกำแพงและร่วมก่อตั้งกลุ่มกับเขาด้วย วันนั้นได้คุยกันสั้นๆ ไม่ยาวมากนัก ก่อนอำนาจเหนือธรรมชาติหรืออะไรจะดลใจก็ไม่ทราบ ให้ขอเบอร์ติดต่อแกไว้ โดยไม่ได้ตั้งใจจะทำอะไรในตอนนั้น

แล้วจู่ๆ เมื่อเกิดกระแสข่าวสปป.ล้านนา กลายร่างเป็น “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนล้านนา” ไปได้อย่างไรก็ไม่ทราบ และที่เกิดเหตุในข่าวว่ามีการโผกหัวด้วยผ้าสีขาว “สปป.ลานนา” นั่น ก็อยู่แถวสันกำแพงเสียด้วย ผมพอทราบว่ากลุ่มสปป.ระดับพื้นที่ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันหรอก ไม่ได้รวมศูนย์อยู่ที่ใด แต่มีอยู่ในหลายพื้นที่ ทำให้นักข่าวที่อยากจะสัมภาษณ์สมาชิกกลุ่มจริงๆ ดูเหมือนจะหาตัวตนคนที่จะคุยด้วยได้ยาก 

หลังจากเห็นว่าสายเสื้อแดงทางลำพูน ผู้ตั้งกลุ่มนี้สปป.นี้ด้วยเหมือนกัน ได้ให้สัมภาษณ์ทางมติชนไปแล้ว ผมก็เลยลองโทรศัพท์หาลุงสหายเก่าที่เคยขอเบอร์ไว้ และแจ้งขอสัมภาษณ์ แกตกลงเหมือนอยากจะพูดอะไรอยู่แล้ว และบอกว่ากลุ่มกำลังจะประชุมเตรียมนัดแถลงข่าวอยู่พอดี ผมบอกแกไปว่าอยากคุยกับแกนนำกลุ่มสักคนสองคนก็พอ แกเลยนัดหมายในช่วงค่ำๆ ที่บ้านของแกที่สันกำแพง

เมื่อไปถึงก่อนเวลานัดพอควร เลยได้คุยกับลุงสหายเก่าไปพลางๆ ก่อน  จนเข้าหัวค่ำ หลังเลิกงานและกิจวัตรประจำวันแล้ว ชาวบ้านเริ่มทยอยกันเข้ามาอย่างตรงเวลา จาก 4-5 คน ค่อยๆ เพิ่มเป็นเกือบ 20 คน ทั้งชายหนุ่ม ชายแก่ และกลุ่มสาวๆ ป้าๆ เข้ามานั่งล้อมวงกัน มีทั้งชาวไร่ชาวสวน คนทำงานรับจ้าง แม่บ้าน และลูกๆ หลานในชุมชน

ผมไม่ได้คิดจะไปทำสัมมนากลุ่มหรือโฟกัสกรุ๊ปขนาดนั้น เลยไม่รู้จะสัมภาษณ์คนเยอะขนาดนั้นอย่างไรอยู่เหมือนกัน งานข่าวเลยมีข้อจำกัด ภายใต้การเลือกสรรบางเสียงของคนในกลุ่ม อาจเป็นกลุ่มแกนนำหรือปัญญาชนของกลุ่ม โดยไม่สามารถให้เสียงทุกเสียงจำนวนมากออกมาได้พร้อมๆ กัน

บรรยากาศของชาวบ้าน สัมผัสได้ไม่ยากว่าแต่ละคนเต็มไปด้วยความอัดอั้นกับข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้น มีทั้งอารมณ์ขำที่อยู่ๆ เรื่องมันก็ใหญ่โตมั่วซั่วกันไปได้ขนาดนั้น แถมกลายเป็นการช่วยโปรโมตกลุ่มให้โด่งดังไปโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวในพริบตา พวกเขาเล่าว่าคนรู้จักในหลายๆ พื้นที่โทรมาหา จะขอเสื้อคำว่า “สปป.ล้านนา” (แต่ยังไม่มีเงินทำกันหรอก) หรืออยากจะตั้งชื่อกลุ่มแบบนี้บ้าง 

ขณะก็มีอารมณ์โกรธและเจ็บแค้นต่อข้อกล่าวหาที่รุนแรง การบิดเบือนใส่ร้ายของสื่อ และความไม่มีพื้นที่แสดงออกหรือช่วยทำความเข้าใจเลย จนป้าๆ ผู้หญิงด่ากันโขมงโฉงเฉง แต่ดูเหมือนพวกเขาไม่มีใครกลัวกับสิ่งที่เกิดขึ้น กลับพร้อมเปิดเผยตัวเองออกมาและอยากชี้แจง เมื่อมั่นใจว่าพวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิด 

พวกเขาบอกว่ายังไม่มีสื่อสักฉบับที่มาถาม-มาฟังคำชี้แจงของกลุ่ม พวกเขาพยายามใช้โซเชียลมีเดียอยู่เหมือนกัน แต่ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยข้อจำกัดและความไม่มีประสบการณ์ พวกเขามีทั้งเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวมาก่อน กับกลุ่มที่ไม่เคยร่วมกับเสื้อแดงมาเลย แต่ทนไม่ไหวกับสภาพการล้มประชาธิปไตยที่เกิดขึ้น จึงออกมาร่วม กลุ่มจึงไม่มีสีเสื้อชัดๆ โดยตรง

คุยกันไปได้ราวครึ่งชั่วโมงพอหอมปากหอมคอ พวกเขาก็ดำเนินการประชุมกลุ่มต่อ โดยบอกให้ผมนั่งฟังอยู่ด้วยได้ ผมพบว่าพวกเขามีการจัดวาระการประชุม มีคนคอยจดบันทึกการประชุม มีการประเมินการเคลื่อนไหว ประเมินคนเข้าร่วม และพูดถึงการเคลื่อนไหวเกาะติดในพื้นที่ เป็นไปได้ว่าการมีองค์ประกอบของสหายเก่าในกลุ่ม ทำให้เกิดกระบวนการที่น่าสนใจบางอย่างที่น่าติดตามต่อไป

พวกเขาวิเคราะห์การเมืองได้อย่างละเอียด แยกแยะความแตกต่างในกลุ่มต่างๆ วิพากษ์วิจารณ์การนำของนปช. และตระหนักถึงความหลากหลายภายในขบวนการ “ประชาธิปไตย” เอง อย่างที่บางดวงตาของ “พวกเรา”ควรต้องละอาย เพราะได้สูญเสียการแยกแยะ และเต็มไปด้วยการเหมารวมไปหมดแล้ว 

พวกเขาเล่าว่ามีคนที่เป็นเสื้อเหลืองในหมู่บ้าน ก็ยังสามารถคุยกันได้อยู่ แถมพวกนี้ก็ค่อยๆ เรียนรู้กระบวนการประชาธิปไตยอยู่เหมือนกัน และพวกเขาเองก็กำลังเรียนรู้ บางคนเล่าถึงความตื่นตัวของเพื่อนบ้าน ที่เดินมาถามกันไม่เว้นวัน ว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง จากสภาพสถานการณ์อันรุนแรงในกรุงเทพฯ 

พวกเขาพูดถึงการดึงนักวิชาการลงมาอยู่กับประชาชน การทำให้ความคิดต่างๆ ที่ถูกนำเสนอทางวิชาการ ไปสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่ พวกเขาเล่าเรื่องวันเลือกตั้ง ที่คนในหมู่บ้านตื่นแต่เช้าตรู่ เตรียมตัวเตรียมข้าวเตรียมของไปนั่งรอเข้าคูหาเลือกตั้ง และร่วมปกป้องการเลือกตั้ง ใครบางคนบอกว่าคนเฒ่าคนแก่รู้ว่าสิ่งนี้มันเป็นไม่กี่อย่างที่คนแบบพวกเขาสามารถแสดงออกถึงเสียงของตนเองได้ 

พวกเขาพูดถึงการเคลื่อนไหวอย่าง “สันติวิธี” ไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรง โดยมีการเสนอไอเดียเรื่องการทำบุญล้างเคราะห์ อุทิศส่วนกุศลให้ผู้บิดเบือนข่าวสาร ทั้งพวกเขาตระหนักว่ามันเป็นการต่อสู้ระยะยาว และยังจะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไป แม้จะเกิดการกล่าวหาใส่ร้ายกันขนาดนี้ขึ้นก็ตาม 

ดูเหมือนว่าพวกเขากำลังพยายามจะสร้าง “พื้นที่ที่สาม” อยู่ในท้องถิ่น พื้นที่ที่ฝ่าออกไปจากลักษณะสุดขั้วของสองฝ่ายทางการเมือง แน่ละ, ภาพภายนอกคงแปะป้ายให้พวกเขาเป็นส่วนเดียวกับ “เสื้อแดง” (ที่รุนแรงและฮาร์ดคอร์) อยู่ดีนั่นแหละ แต่การเหมารวมจนหูตามืดบอด บางทีก็ทำให้ใครต่อใครมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอันไพศาลที่กำลังเกิดขึ้นในหมู่ผู้คนตัวเล็กๆ และเสียงไม่ค่อยดังในสังคม และกว่าจะรู้ตัวความเปลี่ยนแปลงนี้ก็อาจเกินกว่าจะทัดทานเอาไว้แล้ว

ข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่งคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกระแสบ้าคลั่ง และหมั่นสุมไฟใส่กันของสังคมไม่เว้นวันนี้ได้ เพียงแค่หวังว่าผู้คนที่หูตายังไม่มืดบอดจนเกินไป จะร่วมรับฟัง ไม่บิดเบือน และเคารพเสียงของพวกเขาบ้างก็เท่านั้น

ศศิพิมล: “วันแม่” ปีที่สองที่แม่ยังอยู่ในคุก

ขณะที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา เป็นวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีผลกำหนดอนาคตของประเทศ แต่ก็เป็นวันครบรอบ 1 ปี ของคำพิพากษาคดีๆ หนึ่งที่มีผลกำหนดอนาคตชีวิตของครอบครัวๆ หนึ่งอย่างมหาศาล

“ลำบากน่ะ ลำบากมาก”: เสียงจากอดีตแม่ครัว จำเลยคดีครอบครองอาวุธในศาลทหาร

ผ่านไปเกือบจะครบสองปีแล้ว ตั้งแต่เธอถูกจับกุมดำเนินคดี...แต่คดียังไม่ได้เริ่มสืบพยานโจทก์เลยแม้สักปากเดียว

เสาวณี อินต๊ะหล่อ เคยทำงานเป็นแม่ครัวในร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน แต่บ้านที่เธออยู่อาศัยนั้นอยู่ที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่