Skip to main content

บทที่ 10 นักเสรีนิยมกับนักประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 19 (Liberals and Democrats in the Nineteenth century)

 

ในยุโรป อาจกล่าวได้ว่าประวัติศาสตร์และพัฒนาการของรัฐเสรีนิยมสู่รัฐประชาธิปไตยนั้นเริ่มต้นในยุคของการฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์ในภาคยุโรปพื้นทวีป เบเนเด็ตโต โครเช่ (Benedetto Croce, 1866-1952) เขียนงานในช่วงปีที่สิบของระบอบฟาสซิสม์อิตาลี (1932) โดยเรียกช่วงเวลาดังกล่าว (ด้วยสำนวนโวหารที่เข้าใจกันได้ในสถานการณ์เช่นนั้น) ว่ายุคของ "ศาสนาแห่งเสรีภาพ" ทั้งยังอ้างว่าตัวเขามองเห็น "ระยะก่อตัว" ของอารยธรรมใหม่ในยุคสมัยที่ว่านี้ด้วย[1] มโนทัศน์เรื่องเสรีภาพของโครเช่ได้นำเสรีภาพในความหมายของพวกเสรีนิยม (โครเช่พูดถึง "การแทนที่สมบูรณาญาสิทธิด้วยการปกครองตามรัฐธรรมนูญ) และเสรีภาพแบบประชาธิปไตย (การปฏิรูปการเลือกตั้งและการขยายการมีส่วนร่วมทางการเมือง) มาใช้โดยมิได้แยกแยะความต่างระหว่างกันให้ชัดเจน ทั้งนี้ โดยเพิ่มแง่มุมของ "การปลดแอกจากการปกครองของต่างชาติ" หรือ เสรีภาพในฐานะชาติที่เป็นเอกราชเข้ามา อย่างไรก็ดี หากเราจะมองหา "ระยะก่อตัว" ที่ว่า เราจำต้องย้อนกลับไปในอดีต แต่ไม่ใช่ย้อนไปยัง "ผืนป่าเยอรมัน" ที่เฮเกลมองว่าเป็นแหล่งกำเนิดของเสรีภาพสมัยใหม่เช่นเดียวกับม็องเตสกิเออ แต่เป็นอังกฤษในศตวรรษที่ 17 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของรัฐเสรีนิยมสมัยใหม่ทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ ทั้งยังคงเป็นโมเดลในอุดมคติของทั้งอังกฤษและสหรัฐอเมริกาอีกด้วย การปฏิวัติเพียวริทัน (Puritan Revolution) และความวุ่นวายทางความคิด ลัทธิทางศาสนา รวมถึงขบวนการทางการเมืองในช่วงนั้น ได้เปิดทางให้กับการรุ่งเรืองของความคิดเกี่ยวกับเสรีภาพของบุคคล เสรีภาพทางความเชื่อทางศาสนา เสรีภาพทางความคิด และเสรีภาพของการตีพิมพ์ อันถูกกำหนดให้กลายเป็นมรดกชิ้นสุดท้ายของความคิดแบบเสรีนิยม ผลลัพธ์อันนองเลือดได้ยืนยันถึงความยิ่งใหญ่ของรัฐสภาเหนือสถาบันกษัตริย์ และในไม่ช้า -อย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่เป็นระเบียบนัก- ก็ได้นำทางไปสู่การก่อร่างสร้างรัฐแบบตัวแทนในฐานะรูปแบบของการปกครองในอุดมคติของทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจ อันได้รับแรงบันดาลใจจากม็องเตสกิเออ ผู้ทรงอิทธิพลต่อรัฐธรรมนูญนิยมของอเมริกันและอังกฤษ ซึ่งยังเป็นอุดมคติที่ทรงพลังอยู่ในทุกวันนี้ (หากว่าไม่มีสิ่งใดที่ดีกว่ามาแทนที่) หากเราคิดว่าประชาธิปไตยหมายถึงการขยายสิทธิทางการเมืองให้กับพลเมืองทุกคนที่ล่วงเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ อุดมคติแบบประชาธิปไตยเองก็เพิ่งได้รับการป่าวประกาศอย่างชัดถ้อยชัดคำเป็นครั้งแรกในช่วงของ 'การกบฏครั้งยิ่งใหญ่' (great rebellion) นี่เอง อันที่จริง 'ข้อตกลงแห่งประชาชน' ของพวกเลเวลเลอร์ (1648) เป็นจุดเริ่มแรกที่เราพบการท้าทายหลักการการปกครองที่จำกัดสิทธิทางการเมืองของผู้ที่ไม่ได้ถือครองที่ดิน (ซึ่งยังคงมีผลบังคับต่อมาอีกอย่างน้อยสองศตวรรษ) และแทนที่ด้วยการประกาศหลักการประชาธิปไตยที่ว่า

 

ประชาชนชาวอังกฤษ ... ในการเลือกตั้งผู้แทนของพวกเขา จะได้รับการจัดแบ่งตามจำนวนโดยไม่คำนึงถึงสิ่งอื่น และเพื่อการนี้ ผู้แทนของทั้งชาติจึงควรประกอบด้วยคน 300 คน ... และในการเลือกตั้งทุกครั้ง ... พวกเขาควรมีอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป[2]

 

ยิ่งกว่านั้น ในอังกฤษ และเฉพาะแต่ในอังกฤษเท่านั้นที่กระบวนการอันสันติและค่อยเป็นค่อยไปของวิวัฒนาการจากภายในที่ปราศจากความขัดแย้งรุนแรงหรือไม่มีช่วงเวลาของการตอบโต้และถดถอย ได้กรุยทางจากการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ในปี 1688 ไปสู่การแทนที่ราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ด้วยราชาธิปไตยแบบรัฐสภา (parliamentary monarchy) และจากประชาธิปไตยอย่างจำกัดไปสู่ประชาธิปไตยแบบขยาย

 

ในฝรั่งเศส  กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยซึ่งนำทางสู่ความเปลี่ยนแปลงในยุโรปภาคพื้นทวีปในหลายแง่มุม กลับเต็มไปด้วยความขรุขระกว่ามาก การปฏิวัติในปี 1848 ซึ่งพยายามบังคับใช้ประชาธิปไตยโดยใช้กำลัง ได้ล่มสลายลงอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่การสถาปนาระบอบใหม่ที่มีลักษณะเผด็จการแบบซีซาร์ (จักรวรรดิที่สองของนโปเลียนที่ 3) ในขณะที่การปกครองแบบเผด็จการซีซาร์ครั้งล่าสุดของอังกฤษอย่างระบอบเผด็จการของครอมเวลล์ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนานมาแล้ว แต่ในฝรั่งเศส ช่องว่างระหว่างสาธารณรัฐของจาโคแบ็งถึงจักรวรรดิของนโปเลียนเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ข้อเท็จจริงนี้ได้ปลุกเร้าความรู้สึกอันรุนแรงของเสรีนิยมที่ต่อต้านประชาธิปไตยในหมู่นักเขียนในยุคนั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้พิสูจน์ถึงอิทธิพลอันยาวนานและลึกซึ้งของวิวาทะที่ว่า รัฐประชาธิปไตยเป็นพัฒนาการที่เป็นไปได้และพึงปรารถนาสำหรับรัฐเสรีนิยมหรือไม่ ในหมู่นักเขียนอนุรักษ์นิยมซึ่งมีมุมมองที่อาจสืบย้อนไปได้ถึงนักคิดยุคคลาสสิก โดยเฉพาะเพลโต ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ประชาธิปไตยและทรราชคือสองด้านของเหรียญเดียวกัน เผด็จการแบบซีซาร์ไม่ใช่อะไรนอกเสียจากผลพวงอันเป็นธรรมชาติและน่าสะพรึงกลัวของความผิดปกติที่ถูกปลดปล่อยออกมาโดยระบอบสาธารณรัฐของพวกผู้นำจอมหลอกลวง ในหน้าสุดท้ายของ Democracy in America ต็อกเกอร์วีลย์ (1805-1859) ได้เสนอคำทำนายอันมีชื่อเสียงของเขาไว้ว่า

 

ข้าพเจ้าพยายามคิดจินตนาการว่า เผด็จการจะเกิดขึ้นภายใต้ลักษณะอันแปลกใหม่อย่างไร หะแรก ข้าพเจ้าพบมวลมหาประชาชนผู้คล้ายคลึงและเท่าเทียมกันนับไม่ถ้วน วนเวียนอยู่รอบ ๆ ข้าพเจ้าอย่างไม่หยุดหย่อน เพียงเพื่อแสวงหาความสุขอันแสนดาษดื่นเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งกัดกินจิตวิญญาณของพวกเขาเอง ... เบื้องบนเหนือผู้คนเหล่านี้ คืออำนาจคุ้มครองอันแผ่ไพศาล ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการรับประกันความสุขและปกป้องดูแลชะตากรรมของพวกเขาเอาไว้[3]

 

การล่มสลายของสาธารณรัฐที่มีอายุสั้น ซึ่งยังคงดำเนินไปอย่างรวดเร็วจนถึงปี 1848 รวมถึงจักรวรรดิที่สองที่เข้ามาแทนที่ ดูคล้ายจะยืนยันถึงคำพยากรณ์ของผู้วิเคราะห์ประชาธิปไตยอเมริกัน ซึ่งมีสายตายาวไกลได้เป็นอย่างดี

 

ตลอดหนึ่งศตวรรษ การเปลี่ยนผ่านสู่เสรีนิยมและการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยยังคงปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่อง บางครั้งเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน บางครั้งเกิดขึ้นแยกจากกัน ขึ้นอยู่กับว่า การขยายสิทธิการเลือกตั้งจะถูกพิจารณาว่าเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นโดยกำเนิดของรัฐเสรีนิยม หรือจะเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาอันนำไปสู่การเสื่อมถอยมากกว่าการขยายเสรีภาพ คำตอบที่หลากหลายถึงประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาจากความสัมพันธ์ระหว่างเสรีนิยมกับประชาธิปไตย สะท้อนออกมาเป็นความแตกแยกในหมู่นักเสรีนิยมประเภทต่าง ๆ ด้านหนึ่ง คือพวกที่เป็นเสรีนิยมราดิคัล กล่าวคือเป็นทั้งนักเสรีนิยมและนักประชาธิปไตยในเวลาเดียวกัน กับอีกด้านหนึ่ง คือพวกอนุรักษ์นิยม ผู้ไม่เป็นนักประชาธิปไตย อีกทั้งยังท้าทายการขยายสิทธิการเลือกตั้งทั้งปวงอย่างไม่หยุดหย่อน เพราะเห็นว่ามันอาจเป็นการกัดกร่อนบ่อนทำลายเสรีภาพก็เป็นได้ นักประชาธิปไตยประเภทต่าง ๆ เอง ก็แตกแยกจากการเผชิญหน้าระหว่างนักประชาธิปไตยที่เสรีและไม่เสรีเช่นกัน พวกหลังนั้นให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจมากกว่าการจำกัดอำนาจ กับการสถาปนารัฐบาลที่ปกครองตนเองมากกว่าการแบ่งแยกอำนาจการปกครองของรัฐบาลกลาง กับการแบ่งแยกอำนาจในแนวราบมากกว่าในแนวดิ่ง กับการได้มาซึ่งอาณาบริเวณสาธารณะมากกว่าการปกป้องอาณาบริเวณส่วนตัวด้วยความระมัดระวัง เมื่อขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อการขยายสิทธิทางการเมืองได้ก้าวผ่านขั้นตอนที่รวดเร็วมากมาย ไปสู่การให้สิทธิเลือกตั้งแก่พลเมืองทั้งมวล นักเสรีนิยมประชาธิปไตยกับนักประชาธิปไตยเสรีก็ค่อนข้างมีความคล้ายคลึงกันขึ้นเรื่อย ๆ นักประชาธิปไตยแท้ ๆ จะพบว่าตนเองยืนอยู่เคียงข้างกับขบวนการสังคมนิยมในระยะเริ่มแรก ถึงแม้บ่อยครั้งที่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองจะต้องต่อสู้ฟาดฟันกัน อย่างในกรณีพรรคของมาซซินี (Mazzini's party) ในอิตาลี ขณะที่ ระหว่างนักประชาธิปไตยแท้ ๆ กับนักเสรีนิยมอนุรักษ์นิยม ระยะห่างนั้นเป็นอะไรที่ไม่อาจเปรียบเทียบกันได้เลย

 

ความสัมพันธ์ระหว่างเสรีนิยมกับประชาธิปไตยสามารถสรุปเป็นแผนผังที่ประกอบไปด้วยองค์ประกอบสามประการ ได้แก่ (1) เสรีนิยมกับประชาธิปไตยนั้นไปด้วยกันได้ และด้วยเหตุนี้เอง จึงสามารถอยู่รวมกันได้ ในความหมายที่ว่า รัฐหนึ่ง ๆ สามารถเป็นรัฐเสรีนิยมและประชาธิปไตยได้ในเวลาเดียวกัน แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐเสรีนิยมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือรัฐประชาธิปไตยที่ไม่เสรีจะเป็นไปไม่ได้เลย (รัฐแบบแรกนั้นเห็นได้จากพวกเสรีนิยมอนุรักษ์นิยม ส่วนรัฐแบบหลังก็โดยพวกประชาธิปไตยราดิคัล) (2) เสรีนิยมกับประชาธิปไตยนั้นขัดแย้งกัน ในแง่ที่ว่า เมื่อผลักประชาธิปไตยไปสุดทางก็จะทำลายรัฐเสรีนิยมลง (นี่คือข้อโต้แย้งของพวกเสรีนิยมอนุรักษ์นิยม) หรือไม่ก็จะเป็นจริงได้เฉพาะในรัฐสังคม (social state) ที่ได้ละทิ้งอุดมคติของรัฐที่มีบทบาทหน้าที่จำกัดลงไป (นี้คือข้อโต้แย้งของพวกประชาธิปไตยราดิคัล) และ (3) เสรีนิยมกับประชาธิปไตยนั้นเชื่อมโยงกันอย่างมีนัยสำคัญ ในแง่ที่ว่า อุดมคติแบบเสรีนิยมจะเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ก็ด้วยอาศัยประชาธิปไตยเท่านั้น และประชาธิปไตยจะมีผลได้จริงก็เฉพาะแต่ในรัฐเสรีนิยม

 

กล่าวอย่างเป็นระบบก็คือ ข้อ (1) เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของความเป็นไปได้ (ทั้ง เสรีนิยม และ ประชาธิปไตย) ข้อ (2) เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของความเป็นไปไม่ได้ (ไม่ เสรีนิยม ก็ ประชาธิปไตย) ส่วนข้อ (3) เกี่ยวข้องกับความสำคัญของความจำเป็น (เสรีนิยม กับ ประชาธิปไตย) จากจุดที่ประชาธิปไตยในฐานะรูปแบบการปกครองเกี่ยวข้องกับเสรีนิยมและสังคมนิยมพอ ๆ กัน กรอบโครงเดียวกันนี้จึงสามารถนำไปใช้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยกับสังคมนิยมได้ด้วย ความสัมพันธ์ดังกล่าวอาจมองได้ว่าเป็นทั้งความความเป็นไปได้ที่เกี่ยวพันกันหรือความเป็นไปได้ที่จะอยู่ร่วมกัน ความเป็นไปไม่ได้ (นี่คือมุมมองของนักประชาธิปไตยเสรี และในทางตรงกันข้าม คือมุมมองของผู้ที่สนับสนุนเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ) หรือความจำเป็น อย่างที่ได้รับการสนับสนุนโดยตัวทฤษฎีและขบวนการสังคมนิยมประชาธิปไตยที่มองว่าประชาธิปไตยเป็นเพียงวิธีการที่ทำให้สังคมนิยมเป็นจริง และสังคมนิยมเป็นเพียงหนทางเดียวที่ทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์.

 

 

[1] B. Croce, Storia d’Europa nel secolo decimonono, Laterza, Bari 1932, p. 21.

 

[2] ดู A.S.P. Woodhouse, ed., Puritanism and Liberty, Being the Army Debates (1647-49) from the Clarke Manuscripts, Dent, London 1986, pp. 356-7.

 

[3] A. de Tocqueville, Democracy in America (1833-1840), trans. G. Lawrence, Fontana, London 1968, vol. 2, p. 898.

 

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บิตคอยน์จะเป็นอย่างไรต่อไป
Apolitical
 กระบวนการทำให้เป็นดิจิทัลได้เปลี่ยนโฉมหน้าวิธีการที่เราใช้สื่อสาร บริหารจัดการ ปฏิสัมพันธ์ เคลื่อนย้าย และค้าขายแลกเปลี่ยน และตอนนี้ก
Apolitical
เราเขียนบันทึกสั้นๆ นี้ในโอกาสสอนหนังสือเข้าสู่ปีที่สาม และเป็นบทสะท้อนที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับนักเรียนตลอดสองปีที่ผ่านมา