Skip to main content

นายยืนยง

"ความรู้รสในกวีนิพนธ์เป็นเรื่องเฉพาะตัว ตัวใครก็ตัวใคร จะมาเกณฑ์ให้มีความรู้สึกเรื่องรสของศิลปะเหมือนกันทีเดียวไม่ได้  ถ้าทุกคนรู้รสของศิลปะแห่งสิ่งใดเหมือนกันไปหมด สิ่งนั้นก็เป็นสามัญไม่ใช่มีค่าแห่งศิลปะที่สูง” ท่านเสฐียรโกเศศเขียนไว้ในหนังสือ รสวรรณคดี (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๐๓) ครั้นแล้วความซาบซึ้งในรสของกวีนิพนธ์อันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคุณผู้อ่านเล่าเป็นอย่างไรหนอ ในสถานการณ์ที่กระแสข่าวเน้นนำเสนอทางด้านเศรษฐกิจการเมือง ความเป็นอยู่ของกวีนิพนธ์จึงดูเหมือนจะซบเซาเหงาเงียบไป ทั้งที่เราต่างก็เติบโตมาท่ามกลางเบ้าหลอมแห่งศิลปะของกวีนิพนธ์ด้วยกัน ทั้งจากเพลงกล่อมเด็ก คำสอนของผู้หลักผู้ใหญ่ ครูอาจารย์ ... นอกจากว่า บางขณะเราอาจเผลอลืมไปเท่านั้น หากเมื่อกระแสสำนึกถูกปลุกกระตุ้น เราอาจนึกถึงขึ้นมาได้  

20080606 cover 1

เช่นฉันที่เมื่อรดน้ำต้นมะลิก็มักจะนึกถึงกวีนิพนธ์ของ อุชเชนี ที่เขียนไว้ในหนังสือ ขอบฟ้าขลิบทอง ซาบซึ้งต่อบทกวีที่ชื่อว่า “ มะลิ ”

สวนฉัน   สรรปลูก   แต่มะลิ    
ยามผลิ   ดอกบาน   หวานชื่น
เพลินตา   พาฝัน   วันคืน
ไม้อื่น   ไม่ปอง   ต้องชม  
            
ขาวสวย   รวยกลิ่น   ไกลใกล้
ยากไร้   ยังได้   แซมผม
ไร้หนาม   หยามใจ   ให้ระทม
นิยม   ชมไป   ไม่ลืม

การร้อยคำง่าย ๆ ในรูปแบบของกลอนหกของอุชเชนีนั้น งามอย่างไร ความตอบคือ งามอย่างหมดจด  เช่น  สวนฉัน  สรรปลูก  คำง่ายที่นำมาสอดร้อยต่อกันนั้น เป็นกลวิธีการผวนคำซึ่งแม้ดูไม่ฉูดฉาด แต่ต้องยอมรับว่าเมื่อผวนคำแล้วได้ความหมาย ทั้งมีจังหวะชวนฟัง ผู้แต่งย่อมหนีไม่พ้นเป็นผู้ชำนาญ    

ใครเคยปลูกมะลิย่อมซาบซึ้งในรสของ “มะลิ” บทนี้แน่  ทั้งเนื้อหายังแฝงด้วยทัศนะเชิงชาตินิยมอีกด้วย  เพราะเมื่อเอ่ยถึงดอกไม้ที่มีหนาม ย่อมนึกถึงกุหลาบ  แม้จะงามเลิศเพียงไร แต่หนามของกุหลาบ ก็ย่อมไม่เป็นที่พึงปรารถนา ต่างกับมะลิ

นึกขึ้นคราวใดก็แว่วเสียงจากความทรงจำอยู่ร่ำไป  เป็นเสียงของอาจารย์วิชาภาษาไทย ที่อ่านกวีนิพนธ์บทนี้ให้เหล่านักเรียนฟังด้วยน้ำเสียงนิยมชมชอบ

กวีนิพนธ์ของอุชเชนีนั้น โดยรวมแล้วเป็นการแสดงออกถึงอารมณ์ ปฏิสันธานในเชิงบวกระหว่างมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ  อุชเชนีถนัดที่จะใช้บุคลาธิษฐานชุบชีวิตให้สิ่งรอบตัวมีลมหายใจขึ้นมาต่อหน้าผู้อ่าน  ดังบทคลื่นใต้น้ำ  ที่เปรียบประเทศไทย เป็นดั่งมหาสมุทร

สยามรัฐชัดเห็นเช่นสมุทร
โดยแรงรุดซัดสาดน่าหวาดเสียว
กระแทกรันกระทั้นแรงกลางแปลงเปรียว
เดี๋ยวหลีกเลี้ยวหลบล่อเดี๋ยวรอรา
    
แม้จะมีความจงใจแสดงออกถึงนัยยะทางสังคมการเมืองในยุคนั้น (พ.ศ.๒๔๙๓)  แต่การเปรียบอารมณ์รุนแรงของกลุ่มคนในสังคมกับกระแสคลื่นนั้น จากบทกลอนที่ใช้คำไม่กี่สิบคำ ก็สามารถอธิบายภาพกว้างและปลุกเร้าให้ผู้อ่านมองเห็นนัยยะได้อย่างคมคาย
    
เช่นนี้ฉันจึงไม่อาจปล่อยให้ตัวเองเผลอลืมกวีนิพนธ์ที่งดงามคมคายของอุชเชนีได้เลย  นอกจากนี้ใครก็ตามที่มีอุชเชนีในดวงใจ ย่อมไม่อาจหลงลืมรส คำหยาด ของเนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ ไปได้

20080606 cover 2

คำหยาด เป็นหนังสือรวมกวีนิพนธ์เล่มแรกของเนาวรัตน์ จัดพิมพ์เมื่อพ.ศ.๒๕๑๒ สำนักพิมพ์กรุงสยาม  ซึ่งฉันถือเป็นศิลปะแห่งกวีนิพนธ์ที่จำนัลความงดงามซึ่งเร้นอยู่ภายในมอบแด่ผู้อ่านเนาวรัตน์ถือเป็นพรานกวีที่ออกล่า ตามหาความงามที่ซ่อนตัวอยู่ นำมาฝากผู้อ่านด้วยอารมณ์อ่อนหวาน พิสุทธิ์ ดั่งบท นพรัตน์ (หน้า ๑๔๔)

เพชรน้ำค้างพร่างหล่นบนใบไผ่
เจียระไนนพรัตน์จรัสแสง
ระบัดใบเบิกร่มบังลมแรง
ระวังแวงวรารุ่งรุ้งรวงดาว

กลอนบทนี้เขียนถึงน้ำค้างบนใบไผ่ที่ต้องแสงแดดแต่น้ำค้างนั้นมีความงามบริสุทธิ์วิเศษปานใด เนาวรัตน์เขียนบอกเราด้วยความงามดั่งเพลงสวรรค์ แน่นอนว่า เราย่อมเคยเห็นน้ำค้างว่าสวยเพียงไร แต่กวีอย่างเนาวรัตน์ทีเดียว ที่สานอารมณ์ความรู้สึกอันปะติปะต่อของเรา มาถักร้อยเป็นแพรพรรณวรรณศิลป์เช่นนี้ เราจึงได้ชื่นชมในมรรคผลของกวีนิพนธ์ตราบเท่าทุกวันนี้ หรือในบทเดียวกัน

แก้วโกเมนเขม้นเหมือนเจ้าเลือนหมาง
คลายระคางคืนเขษมยิ่งเอมอิ่ม
บุศราคัมรับกลีบทับทิม
เหมือนเมื่อชิมชื่นจากกลีบปากงาม

การเปรียบคนรักกับอัญมณี ในบทข้างต้น มีความลึกซึ้งยิ่ง ด้วยเหตุที่ว่าอัญมณีเป็นสัญลักษณ์แทนความงดงามสูงส่ง เป็นอมตะ แม้นผ่านร้อนหนาวกาลยาวนาน ความงามก็ไม่เสื่อมคลาย หากเปรียบเข้ากับคนรักแล้ว ใครเลยจะทำใจแข็งได้ลงคอ

หรือในบทชื่อ หวานคมเคียว (หน้า ๑๖๕) ที่บรรยายธรรมชาติให้เราจินตนาการตามได้ภาพแจ่มจรัสด้วยกลอนบทเดียว
    
เอนระนาบอาบน้ำค้างกลางแดดหนาว
ทอดรวงยาวยอดระย้าราน้ำใส
ละลานรอบขอบฟ้าคราพลิ้วใบ
เพียงพรมใหญ่ไหวระยาบทาบเปลวทอง

ด้วยมุมมอง ด้วยอารมณ์ ด้วยถ้อยคำที่เรียงร้อยของกวีนั้นเอง ที่นำพารสของกวีนิพนธ์เข้าประทับตรึงในดวงใจ ส่วนการใช้บุคลาธิษฐาน เปรียบให้สิ่งนั้นเป็นคน มีชีวิตจิตใจที่กวีมักนำมาใช้ในกวีนิพนธ์นั้น นอกจากให้ความรู้สึกแบบเหนือจริง มากกว่าความเป็นจริงในระดับที่มองเห็นด้วยตาแล้ว บุคลาธิษฐานยังมีพลังดึงดูดทำให้เรากระโจนเข้าสู่โลกเหนือจริง ซึ่งผิดแปลกแตกต่างไปจากความเป็นจริง แต่กลับกระตุ้นเร้าอารมณ์ได้อย่างเหลือเชื่อ  

อังคาร  กัลยาณพงศ์ เป็นหนึ่งในกวีจอมขมังที่เสกสรรค์โลกแห่งศิลปะ โลกแห่งกวีนิพนธ์ ที่ถั่งทอดอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองมาสู่อารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่าน กวีนิพนธ์ของอังคารจึงเรียกได้ว่าใช้อารมณ์เป็นสื่อกลาง และนำพาผู้อ่านท่องโลกจินตนาการไปพร้อมกัน
จากหนังสือ กวีนิพนธ์ ของ อังคาร กัลยาณพงศ์  หน้า ๑๓๘ ในบท กาพย์กลอน

กาพย์กลอนอ่อนหวานปานน้ำผึ้ง    เจ้ารู้ซึ้งว่าคืออะไรไหม
ฤๅตามืดหูมิดไร้จิตรใจ        ไม่รู้รสทิพย์ฝันวรรณคดี  ฯ
เพชรพลอยแห่งถ้อยคำทิพย์    จิบดื่มดุจอำมฤตวิเศษศรี
พร้อมแง่ญาณปัญญาบารมี        ลำนำดนตรีเพริศพริ้งพราย  ฯ

จะมีมนุษย์ใดบ้างที่เขียนกวีนิพนธ์ได้เช่นท่านอังคาร จะมีมนุษย์ใดบ้างที่เคยรู้สึกว่ากวีนิพนธ์นั้น “จิบดื่ม” ได้ หรือ กวีนิพนธ์จะมีรสที่ “อ่อนหวานปานน้ำผึ้ง”
หรือในบทที่สั่นสะท้าน เศร้าโศกา ก็ทำเอาตะลึงพรึงเพริศไปกับอารมณ์แบบเหนือจริง จากบท  เสียเจ้า

เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง           มุ่งปรารถนาอะไรในหล้า
มิหวังกระทั่งฟากฟ้า            ซบหน้าติดดินกินทราย  ฯ
จะเจ็บจำไปถึงปรโลก          ฤๅรอยโศกรู้ร้างจางหาย
จะเกิดกี่ฟ้ามาตรมตาย          อย่าหมายว่าจะให้หัวใจ  ฯ

หรือบท ผีพุ่งไต้  ได้สร้างปรากฏการณ์ทางความรู้สึกต่อผู้อ่านได้เป็นที่ประจักษ์ เพราะใครเลยจะจินตนาการได้ว่า “เอาฟ้าเป็นผ้าห่ม” “เอาลมมากิน”

เราเอาฟ้าเป็นผ้าห่ม            เอาลมมากินสิ้นหวัง
ระหกระเหินเร่เซซัง            ไปถึงฝั่งโลกหน้าทิพารมณ์ฯ ฯลฯ
ป่านฉะนี้หัวอกข้า               กลายเป็นหินผาห้วยละหาน
วันหนึ่งหินนั้นจะร้าวราน       กระแสธารกัดเปื่อยเป็นดินฯ    

หรือในบท อยุธยา ที่เปรียบให้เห็นถึงสภาพปัจจุบันที่เหลือแต่ซากร้าว เป็นการใช้โวหารที่ทำให้ เนื้อหา, ความ ที่ต้องการจะสื่อเกิดความเข้มข้นขึ้น    สะท้านใจขึ้น                

โอ้อยุธยายิ่งฟ้า               มหาสฐาน
มาล่มหาทกล้าทหาญ      ล่าแล้ง
เสียแรงช่างเชี่ยวชาญ      นฤมิต
แสนสัตว์ป่ามาแกล้ง        ป่นเกลี้ยงมไหศวรรย์  ฯ


พระศรีสรรเพชญ์นิ่งกลิ้ง    กลางดิน
แร้งหมู่หมากากิน            ฟากฟ้า
ชลเนตรเจตภูตริน            เป็นเลือด
นองหลากไหลไล้หล้า     ล่มม้วยเมืองหาย  ฯ


นอกจากนี้แล้ว บทอยุธยา ยังเป็นการสืบทอดวรรณคดีเก่ามาสืบต่อให้เข้ากับสภาพการณ์ปัจจุบันอีกด้วย  ซึ่งหาได้เป็นการข่มครูแต่อย่างใด แต่ถือเป็นการแสดงถึงการยกย่องบูชาวรรณคดีไว้ไม่ให้สูญ เพราะจากโคลงกำศรวลศรีปราชญ์ก็ได้เขียนบท สรรเสริญอยุธยาไว้ ดังยกมานี้

อยุธยายศยิ่งฟ้า        ลงดิน  แลฤๅ
อำนาจบุญเพรงพระ    ก่อเกื้อ
เจดีย์ละอออินทร        ปราสาท
ในทาบทองแล้วเนื้อ    นอกโสม  ฯ


อยุธยาไพโรจน์ใต้       ตรีบูร
ทวารรุจีรยงหอ           สระหล้าย
อยุธยายิ่งแมนสูร        สุรโลก  ปานฤๅ
ถนดดดุจสรรค์คล้ายคล้าย    แก่ตา ฯ


การสืบต่อยอดวรรณคดีเก่ายังปรากฏในกวีนิพนธ์ของคมทวน คันธนู ด้วย ดังบท ตุลารำพึง โคลง ๔ สลับ จากหนังสือกวีนิพนธ์ นาฏกรรมบนลานกว้าง                      

พลิ้วพลิ้วใบไม้ร่วง        ลงดิน
ระดะลมหนาวพาน        พัดต้อง
หอบเมฆหอบฝูงทมิฬ    มามืด
บดแดดบังด้าวก้อง        กระหึ่มกระหาย

สายหยุดหยุดกลิ่นฟุ้ง     ยามสาย
สายบ่หยุดกระหน่ำหาย   ห่างเศร้า
กี่วันกี่คืนวาย                วางทวิ  เทวษเพื่อน
ถวิลทุกขวบค่ำเช้า         หยุดได้ใดเฉลย ฯลฯ

รอนรอนสุริยะโอ้            อัสดง
เรื่อยเรื่อยลับเมรุปลง      ศพเปลื้อง
รอนรอนเมื่อเสียงสงฆ์    สมณะ  สวดเอย
เรื่อยเรื่อยไฟแลบเรื้อง    โอบไล้โลงผวา  

กรุงเทพมหานครนี้        นามรบิล
เอาเลือดกรุงธนฯ ทา     ทาบสร้าง
แผ่นดินต่อแผ่นดิน        ผ่านอดีต
เลือดท่วมนองท้องช้าง  ชุ่มเนือง  ฯลฯ


กวีนิพนธ์ของคมทวนแตกยอดจากแนวคิดศิลปะเพื่อศิลปะมาเป็นศิลปะเพื่อประชาชนในยุคที่บ้านเมืองกำลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการปกครอง  และเพื่อสื่อนัยยะร่วมทางสังคมการเมือง คมทวนก็ใช้บทกวีเป็นสายธารพลังความคิด ทัศนคติได้อย่างทรงพลัง  การที่นำเอาวรรณคดีเก่ามาสืบต่อของคมทวนดังบท ตุลารำพึง นั้น ไม่เพียงอนุรักษ์อย่างเดียว  แต่ยังสะท้อนนัยยะถึงสภาพการณ์ทางสังคมได้อย่างล้ำลึกด้วยภาพที่แสดงออกจากบทกวี ซึ่งอาจเปรียบได้ว่าเป็นคำร้องทุกข์ต่อประเทศชาติและบรรพบุรุษ

กวีนิพนธ์ในดวงใจใช่จะยกเอาของเก่ามาเล่าใหม่เพียงอย่างเดียว  หากแต่เป็นการย้อนรำลึกถึงความงดงามที่มีส่วนสร้างชีวิตต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน  หากกวีนิพนธ์ในดวงใจที่ยกกล่าวถึงจะเป็นเบ้าหลอมแห่งสุนทรียรสอันเป็นรสจำเพาะบุคคล ดังที่ท่านเสฐียรโกเศศว่าไว้ กวีนิพนธ์ในดวงใจของคุณเล่าเป็นเช่นไร.

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
 
สวนหนังสือ
นายยืนยง   พัฒนาการของกวีภายใต้คำอธิบายที่มีอำนาจหรือวาทกรรมยุคเพื่อชีวิต ซึ่งมีท่าทีต่อต้านระบบศักดินา รวมทั้งต่อต้านกวีราชสำนักที่เป็นตัวแทนของความเป็นชาตินิยม ต่อต้านระบอบราชาธิปไตย ต่อต้านไปถึงฉันทลักษณ์ในบางกลุ่ม ต่อต้านทุนนิยมและจักรวรรดิอเมริกา ขณะที่ได้ส่งเสริมให้เกิดอุดมการณ์ประชาธิปไตยในยุคก่อนโน้น มาถึงพ.ศ.นี้ ได้เกิดเป็นปรากฏการณ์ทวนกระแสเพื่อชีวิต ด้วยวิธีการปลุกความเป็นชาตินิยม ปลูกกระแสให้เรากลับมาสู่รากเหง้าของเราเอง
สวนหนังสือ
นายยืนยง บทความนี้เกิดจากการรวบรวมกระแสคิดที่มีต่อกวีนิพนธ์ไทยในรุ่นหลัง เริ่มนับจากกวีนิพนธ์แนวเพื่อชีวิตมาถึงปัจจุบัน  และให้น้ำหนักเรื่อง “กวีกับอุดมคติทางกวีนิพนธ์”
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : ร่างกายที่เหนืออายุขัย จิตใจที่ไร้กาลเวลา                  Ageless Body, Timeless Mind เขียน : โชปรา ดีปัก แปล : เรืองชัย รักศรีอักษร พิมพ์ : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2551   แสนกว่าปีมาแล้วที่มนุษย์พัฒนากายภาพมาถึงขีดสุด ต่อนี้ไปการพัฒนาทางจิตจะต้องก้าวล้ำ มีหนังสือมากมายที่กล่าวถึงวิธีการพัฒนาทักษะทางจิต เพื่อให้อำนาจของจิตนั้นบันดาลถึงความมหัศจรรย์แห่งชีวิต หนึ่งในนั้นมีหนังสือที่กล่าวอย่างจริงจังถึงอายุขัยของมนุษย์ ว่าด้วยกระบวนการรังสรรค์ชีวิตให้ยืนยาว…
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชีวประวัติของนักเขียนหนุ่ม กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ในความจดจำของฉัน เป็นเพียงภาพร่างของนักเขียนในอุดมคติ ผู้ซึ่งอุทิศวันเวลาของชีวิตให้กับงานเขียนอย่างเคร่งครัด ไม่มีสีสันอื่นใดให้ฉันจดจำได้อีกมากนัก แม้กระทั่งวันที่เขาหมดลมหายใจลงอย่างปัจจุบันทันด่วน ฉันจำได้เพียงว่าเป็นเดือนกุมภาพันธ์...
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : แสงแรกของจักรวาล ผู้เขียน : นิวัต พุทธประสาท ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2551   ชื่อของนิวัต พุทธประสาท ปรากฎขึ้นในความประทับใจของฉันเมื่อหลายปีก่อน ในฐานะนักเขียนที่มีผลงานเรื่องสั้นสมัยใหม่ เหตุที่เรียกว่า เรื่องสั้นสมัยใหม่ เพราะเรื่องสั้นที่สร้างความประทับใจดังกล่าวมีเสียงชัดเจนบ่งบอกไว้ว่า นี่ไม่ใช่วรรณกรรมเพื่อชีวิต... เป็นเหตุผลที่มักง่ายที่สุดเลยว่าไหม
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : คนรักผู้โชคร้าย ผู้แต่ง : อัลแบร์โต โมราเวีย ผู้แปล : ธนพัฒน์ ประเภท : เรื่องสั้นแปล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2535  
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : คุณนายดัลโลเวย์ (Mrs. Dalloway) ผู้แต่ง : เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ผู้แปล : ดลสิทธิ์ บางคมบาง ประเภท : นวนิยายแปล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ชมนาด พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2550
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : จำปาขาว ลาวหอม (ลาวใต้,ลาวเหนือ) ผู้แต่ง : รวงทอง จันดา ประเภท : สารคดี จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ทางช้างเผือก พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2552 ยินดีต้อนรับสู่พุทธศักราช 2553 ถึงวันนี้อารมณ์ชื่นมื่นแบบงานฉลองปีใหม่ยังทอดอาลัยอยู่ อีกไม่ช้าคงค่อยจางหายไปเมื่อต้องกลับสู่ภาวะของการทำงาน
สวนหนังสือ
“อารมณ์เหมือนคลื่นกระทบฝั่ง” อาจารย์ชา สุภัทโท ฝากข้อความสั้น กินใจ ไว้ในหนังสือธรรมะ ซึ่งข้อความว่าด้วยอารมณ์นี้ เป็นหนึ่งในหลายหัวข้อในหนังสือ “พระโพธิญาณเถร” ท่านอธิบายข้อความดังกล่าวในทำนองว่า “ถ้าเราวิ่งกับอารมณ์เสีย... ปัญญาเกิดขึ้นไม่ได้ จิต – ความมีอารมณ์เป็นอันเดียว คือ ความมีจิตต์แน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว ได้แก่ สมาธิ ”
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ขบวนรถไฟสายตาสั้น ขึ้นชื่อว่า “วรรณกรรม” อาจเติมวงเล็บคล้องท้ายว่า “แนวสร้างสรรค์” เรามักได้ยินเสียงบ่นฮึมฮัม ๆ ในทำนอง วรรณกรรมขายไม่ออก ขายยาก ขาดทุน เป็นเสียงจากนักเขียนบ้าง บรรณาธิการบ้าง สำนักพิมพ์บ้าง ผสมงึมงำกัน เป็นเหมือนคลื่นคำบ่นอันเข้มข้นที่กังวานอยู่ในก้นบึ้งของตลาดหนังสือ แต่ก็ช่างเป็นคลื่นอันไร้พลังเสียจนราบเรียบราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
สวนหนังสือ
  นายยืนยง     ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด 50 บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน จัดพิมพ์โดย : สำนักช่างวรรณกรรม