Skip to main content

สุรพศ ทวีศักดิ์ 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

ปีนี้เป็นปีที่ชาวพุทธจัดงานฉลอง พุทธชยันตี 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ ด้วย การปฏิบัติบูชาครั้งประวัติศาสตร์ สวดมนต์ข้าม 26 ศตวรรษ 



พูดถึงเรื่อง ปฏิบัติบูชา ผมนึกถึงปัญหาที่ วิจักขณ์ พานิช ตั้งข้อสังเกตมานานแล้วว่าความผิดพลาดสำคัญประการหนึ่งของพุทธศาสนาในบ้านเรา คือการใช้ราชาศัพท์กับพุทธะ ผมจึงคิดว่าวิธีปฏิบัติบูชาที่ดีที่สุดเราต้อง ซื่อสัตย์ ต่อพุทธะ อย่างแรกเลยต้องยอมรับความจริงว่าการใช้ราชาศัพท์กับพุทธะนั้นไม่ถูกต้อง ทำให้พุทธศาสนากลายเป็นเครื่องมือรับใช้ ลัทธิเทวราช ซึ่งขัดแย้งกับคำสอนของพุทธะ ดังมุกหอม วงษ์เทศ อธิบายว่า

จารีตราชาศัพท์จึงเป็นเครื่องค้ำพุทธกระแสหลักแบบไทยที่รับใช้ราชสำนัก แต่เป็นเครื่องขวางการบรรลุธรรม อันเนื่องมาจากภาษาที่เต็มไปด้วยการหลงยึดติดในมายาและมิจฉาทิฐิแห่งลัทธิเทวราช คิดแบบเซนแล้วคงต้องปัดกวาดผงฝุ่นราชาศัพท์จากกระจกเงาแห่งภาษาธรรมและภาษาพรรณนาตถาคตให้หมดสิ้น หนทางแห่งการบรรลุ
พุทธะ จึงจะปรากฏ [1]

 

อะไรคือ มายา และ มิจฉาทิฐิ แห่ง ลัทธิเทวราช ที่ปรากฏในภาษาราชาศัพท์ โปรดดูตัวอย่างการวิเคราะห์ความหมายของคำราชาศัพท์บางประโยคของมุกหอมข้างล่างนี้

วลี
 ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม นั้น... “ละอองธุลี ไม่ใช่คำซ้ำกัน เพราะแปลว่า ละอองของธุลี อีกชั้นหนึ่ง ในภาษาอังกฤษจะว่า ‘the dust of dust’ ก็ได้ เหล่าละอองธุลีโปรดทราบ เราต่ำต้อยเล็กจ้อยกว่า ธุลี เสียอีก เพราะเราเป็นเพียงแค่ ละอองของธุลี เราเป็น ฝุ่นของฝุ่น ใน ราชภาษา ของระบอบกษัตริย์ไทย เราไม่ใช่ มนุษย์ ไม่ใช่ สัตว์ ไม่ใช่กระทั่ง ฝุ่น ตัวตนของสามัญชนในระบอบนี้ไม่อาจเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากไม่ใช้กล้องจุลทรรศน์ ก็ต้องใช้ไสยศาสตร์[2]

ฉะนั้น
  มายาหรือมิจฉาทิฐิในราชาศัพท์แห่งลัทธิเทวราช ก็คือการสถาปนาสถานะของกษัตริย์ให้เป็น เทพ หรือ เทวราช และการสลาย ความเป็นมนุษย์ ของราษฎรให้กลายเป็นเพียง ละออง ของ ฝุ่น 

จึงเห็นได้ว่า ปัญหาการสร้าง
 ระบบความนึกคิด หรือรูปการจิตสำนึก (ideology) ผ่านราชาศัพท์ คือ 

1) เป็นรูปแบบของภาษาที่สถาปนาและปกป้องอุดมการณ์แห่งลัทธิเทวราช
 

2) ภายใต้ราชาศัพท์ตามอุดมการณ์แห่งลัทธิเทวราช ราษฎรไม่มีความเป็นมนุษย์ จึงขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย และหลักสิทธิมนุษยชน

3) จะว่าไปแล้ว อุดมการณ์ลัทธิเทวราชขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ที่บัญญัติว่า
พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้พระมหากษัตริย์นับถือพุทธศาสนา แต่พุทธศาสนาไม่ได้สอนลัทธิเทวราช พุทธะไม่ได้ถือว่ากษัตริย์เป็น เทวราช แต่ถือว่าเป็น สมมติราช ฉะนั้น สิทธิธรรม ของราชาไม่ได้มาจากพระเจ้าหรือเทพ แต่มาจากความยินยอมของราษฎร 

คำถามคือ ทำไมจึงใช้ราชาศัพท์กับพุทธะ
? แน่นอน คำตอบที่ว่าเพื่อเป็นการแสดงความเคารพ ยิ่งทำให้มีปัญหาตามมา เช่น เราควรใช้ ภาษาอุดมการณ์แห่งลัทธิเทวราช แสดงความเคารพต่อพุทธะผู้ปฏิเสธลัทธิเทวราชหรือไม่?

ซึ่งคำถามนี้เรียกร้อง
 ความซื่อสัตย์ ต่อข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนา หลักการของพุทธะ และการปรับใช้มรรควิถีแห่งพุทธะต่อการปกป้อง พัฒนาความเป็นมนุษย์สู่เสรีภาพ ความเป็นธรรม และสันติภาพในบริบทประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทยยุคปัจจุบัน

ประเด็นแรก
 ตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ พุทธะได้สละฐานันดรศักดิ์ หรือวรรณะกษัตริย์ตั้งแต่ออกบวชแล้ว ภาษาที่ใช้กับพุทธะในคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ก็ไม่มีคำราชาศัพท์แต่อย่างใด 

เช่น คำว่า
 สัตถา แปลว่าศาสดาหรือครู ก็เป็นคำเรียกพุทธะและศาสดาหรือครูของลัทธิศาสนาปรัชญาต่างๆ ในอินเดียโบราณ คนทั่วไปนิยมเรียกพระพุทธเจ้าว่า พุทธะ(พุทฺโธ) บ้าง สมณโคดม (สมโณ โคตโม) บ้าง ตถาคต (ตถาคโต) บ้าง คำสรรพนามที่ใช้กับพุทธะก็คือคำที่ใช้กับคนทั่วๆ ไป เช่น คำว่า โส แปลว่า เขา หรือ“he” ในภาษาอังกฤษ ในตำราภาษาอังกฤษที่แปลจากภาษาบาลีก็นิยมแปลตรงๆ เลย เช่น แปล พุทฺโธ ว่า Buddha แปลสรรพนามแทนพุทธะเช่น โส ว่า “he” หรือตสฺส ว่า “his” เป็นต้น

คำกิริยาต่างๆ ที่ใช้กับพุทธะและพระสงฆ์ ก็คือคำสามัญที่ใช้กับคนธรรมดาทั่วไป เช่น
ภุญฺชติ แปลว่า กิน หรือ “eat” ก็คือคำที่ใช้กับทั้งพุทธะ พระสงฆ์ และคนทั่วไป

จารีตการใช้ราชาศัพท์ในบ้านเราดูเหมือนจะเริ่มในสมัยอยุธยาซึ่งได้รับอิทธิพลจากลัทธิเทวราช ของขอม เช่นคำว่า สมเด็จ เสด็จ เสวย บรรทม ฯลฯ คือภาษาเขมร และต่อมาก็มีการประดิษฐ์คำบาลี-สันสกฤตใช้เป็นคำราชาศัพท์อย่างวิจิตรพิสดาร เช่น ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบรมโพธิสมภาร มหาบพิตร กระทั่งคำราชาศัพท์เกี่ยวกับอวัยวะต่างๆ เช่น หลอดพระวาโย พระปัปผาสะ พระหทัย พระคุยหฐานฯลฯ

อย่างไรก็ตาม คำบาลี-สกฤตก็ถูกนำมาประดิษฐ์ใช้ในรูปภาษาสามัญด้วยเช่นกัน ดังนิยมใช้ตั้งชื่อคน เช่น สมภาร สมศักดิ์ วรเจตน์ ปิยบุตร สาวตรี ลักขณา วรรณรักษ์ วิจักขณ์ ภัควดี หลิ่มหลี (โทษที
 หลิ่มหลี เป็น ภาษาจีนดอย) หรือแม้แต่ใช้ประดิษฐ์เป็นคำศัพท์ทางสังคมการเมืองเช่น สิทธิ เสรีภาพ สมภาพ (เสมอภาค) ภราดรภาพ ยุติธรรม ประชาธิปไตย ไตรภาคี ฯลฯ 

แต่คำบาลี-สันสฤตในรูปภาษาสามัญเหล่านี้จะให้ความรู้สึก หรือสร้างรูปการจิตสำนึกแตกต่างจากคำในราชาศัพท์ เหมือนเมื่อเราพูดว่า
 สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับพูดว่า พุทธะ สั้นๆ คำแรกให้ความรู้สึกหรือสร้างรูปการจิตสำนึกว่า พุทธะอยู่ห่างไกลจากตัวเราเหลือเกิน เป็นผู้สูงส่ง วิเศษ อภิมนุษย์ แต่คำหลังให้ความรู้สึก หรือรูปการจิตสำนึกว่า พุทธะอยู่ใกล้ชิดเรา เป็น เพื่อนที่ดี (กัลยาณมิตร) ที่สัมผัสได้ง่าย เป็นสามัญชนเหมือนเรา 

ประเด็นที่สอง
 ในทางหลักการชาวพุทธย่อมทราบกันดีว่า พุทธะปฏิเสธระบบชนชั้นหรือระบบวรรณะ คำอธิบายข้างล่างนี้ชัดเจนดี   

พระพุทธศาสนาจำแนกคนเป็นสูงต่ำ โดยอาศัยระดับทางศีลธรรมและปัญญาเท่านั้น มิได้สนใจชาติพันธุ์หรือวรรณะ แต่การจำแนกนี้ไม่ตายตัว เนื่องจากแต่ละคนเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และแต่ละคนมีอำนาจที่จะเปลี่ยนตนให้ดีขึ้นหรือเลวลง ผู้ที่สูงกว่าคือผู้ที่บรรลุ หรือเข้าใกล้ หรือกำลังพัฒนาสู่เป้าหมาย ส่วนผู้ที่ต่ำกว่าคือผู้ที่อยู่ไกลหรือถอยห่างจากจุดหมาย ที่สำคัญมีคำกล่าวว่าผู้ที่ "ยึดติดอคติด้านชาติพันธุ์ หรือยึดติดด้วยอคติด้านวรรณะได้หลงทางออกไปไกลจากวิถีสู่ความหลุดพ้น (
D.I.99)

ลักษณะของผู้ที่สูงกว่า คือพวกเขาจะไม่อวดอ้างถึงความสูงส่งด้านศีลธรรมและด้านปัญญาเหนือผู้อื่น (
Sn.82,918)
 อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขามิได้รู้ตระหนักรู้ถึงความสูงส่งของตน หากแต่ไม่ได้แสดงออกมา เนื่องจากมีคำกล่าวว่า ผู้ที่บรรลุธรรมจะหยุดคิดถึงตนในแง่ "สูงกว่า" "ต่ำกว่า" หรือ "อยู่ระดับเดียวกับ" ผู้อื่น (Sn.918) [3]

พึงสังเกตข้อความว่า
 จำแนกคนเป็นสูงต่ำ โดยอาศัยระดับทางศีลธรรมและปัญญาเป็นข้อความระบุถึงข้อเท็จจริง คล้ายกับข้อเท็จจริงของความสูง-ต่ำทางเชาว์ปัญญาหรือไอคิว ไม่ได้มีความหมายแบบสูง-ต่ำทางชนชั้น

ฉะนั้น การใช้คำราชาศัพท์ที่มีความหมายสถาปนาและปกป้องความเป็นชนชั้นวรรณะ จึงขัดแย้งกับหลักการปฏิเสธระบบชนชั้นวรรณะของพุทธะเอง
 

ประเด็นที่สาม
 ปัญหาการปรับใช้มรรควิถีของพุทธะต่อการปกป้อง พัฒนาความเป็นมนุษย์ เสรีภาพ ความเป็นธรรม และสันติภาพในบริบทประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทยยุคปัจจุบัน ปัญหานี้สะท้อนสิ่งที่มุกหอมกล่าวข้างต้นว่า จารีตราชาศัพท์จึงเป็นเครื่องค้ำพุทธกระแสหลักแบบไทยที่รับใช้ราชสำนัก…” เนื่องจากจารีตนี้ได้สร้างรูปการจิตสำนึกของพระสงฆ์และชาพุทธทั่วไปให้มีความโน้มเอียงทางศีลธรรมไปในทางสนับสนุนอุดมการณ์แห่งลัทธิเทวราช อย่างอัตโนมัติ มาอย่างยาวนาน แม้ยุคสมัยปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้น ดังเช่นคำเทศนาของ หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ที่ว่า 

การดูหมิ่นในหลวงก็คือโค่นชาติบ้านเมือง เพราะนี่คือหัวใจของชาติ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย
ในหลวงเป็นคนดีมากที่สุด เราหาได้ที่ไหนในเมืองไทยเรานี้ พระองค์เสด็จนู้นเสด็จนี้ เราก็เห็นไม่ใช่เหรอ ไม่ได้หยุดเลย เหมือนกังหัน เพราะความห่วงชาติบ้านเมือง รักประชาราษฎร เพราะเป็นลูกของท่าน เราจะหาใครได้อย่างในหลวง ทำไมไปตำหนิในหลวงได้ลงคอ คนคนนั้น (ผู้ดูหมิ่นในหลวง) เป็นคนประเภทใดพิจารณาดูเถิดพึงบูชาคุณของคนดี เคารพ เลื่อมใส ยินดีจะไปตำหนิในจิตเช่นนั้นแล้ว แสดงว่าคนนั้นเป็นคนที่ทำลายโลกได้อย่างร้ายแรงมาก เป็นคนเลวมาก อย่าถือเป็นคติตัวอย่างไม่ดี [4]

คำถามคือ คนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดกฎหมายใดๆ เขาควรมีความเป็นมนุษย์ มีสิทธิที่จะใช้เหตุผลและเสรีภาพในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นคนใช่หรือไม่
? แต่คนที่ถูกกล่าวหาว่า หมิ่นในหลวง และถูกดำเนินคดีตาม ม.112 ภายใต้อุดมการณ์แห่งลัทธิเทวราช เขาหาได้มีความเป็นคนไม่ เนื่องจากเขาไม่มีสิทธิในการพิสูจน์ว่าข้อความที่เขาถูกกล่าวหาว่าหมิ่นนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะหรือไม่ อย่างไร

ทว่ามรรควิถีของพุทธะ คือการปกป้อง พัฒนาความเป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์ทุกคนมีความเป็นพุทธะอยู่ในตัวเอง เขาจึงมีคุณค่าและศักดิ์ศรีในตนเอง

หลักศีล สมาธิ ปัญญาคือหลักพัฒนาความเป็นพุทธะ ศีลนั้นเป็นหลักแห่งการไม่เบียดเบียนทำร้าย เป็นหลักปกป้องสิทธิความเป็นมนุษย์ สมาธิเป็นเรื่องของสติและมโนธรรมสำนึกที่จะขจัดความไม่ถูกต้อง สร้างและปกป้องความถูกต้อง ส่วนปัญญาคือการมีทัศนะและความคิดที่ถูกต้อง

ความงอกงามแห่งพุทธภาวะในตัวเราแต่ละคน ย่อมหมายถึงความงอกงามแห่งจิตวิญญาณที่เคารพความเป็นมนุษย์ของตนเองและคนอื่นๆ ด้วยการไม่เบียดเบียน การเพียรพยายามใช้สติปัญญามุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงชีวิตและสังคมให้ดีขึ้นในความหมายของการมีเสรีภาพ ความเป็นธรรม และสันติภาพ

พุทธชยันตี
 หรือ ชัยชนะของพุทธะ คืออะไร? หากมิใช่การปลดปล่อยพันธนาการภายในสู่เสรีภาพและสันติภาพทางจิตใจ หากมิใช่การปลดแอกการกดขี่ทางชนชั้นสู่เสรีภาพ ความเป็นธรรม และสันติภาพทางสังคม 

คำถามคือ ชาวพุทธปัจจุบันพร้อมจะปลดปล่อยตนเองจากรูปการจิตสำนึกอุดมการณ์แห่งลัทธิเทวราชด้วยการเลิกใช้ราชาศัพท์กับพุทธะหรือไม่ เพื่อแสดงคารวะต่อพุทธะในฐานะสามัญชนผู้ที่สร้างแรงบันดาลใจในการเคารพ ปกป้อง พัฒนาความเป็นมนุษย์ เสรีภาพ ความเป็นธรรมและสันติภาพ อันเป็นแรงบันดาลใจที่สอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบัน
!

ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ต้องคืนอำนาจให้ราษฎร คืนพุทธศาสนาแก่ราษฎร พุทธศาสนาไม่ใช่เครื่องมือสนับสนุนสถานะศักดิ์สิทธิ์และอำนาจบารมีของชนชั้นปกครองอีกต่อไป แต่ควรเป็นเครื่องมือตรวจสอบจริยธรรมของชนชั้นปกครอง และเป็นมรรควิถีแห่งเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นธรรม และสันติภาพในชีวิตและสังคม
 

อ้างอิง


[1] มุกหอม วงษ์เทศ.ราชาศัพท์ : มนต์สะกดแห่งลัทธิเทวราช.วารสารอ่าน (ธันวาคม 2554-มีนาคม 2555), หน้า 25

[2] เรื่องเดียวกัน,หน้า 21

[3] อนาคาริกะ เตวิชโช เรียบเรียง.บทสังเคราะห์เรื่อง "พระพุทธศาสนากับระบบวรรณะ".แปลโดย ปกรณ์ สิงห์สุริยา วารสารพุทธศาสน์ศึกษา (มกราคม-เมษายน 2554),หน้า 75

[4] www.dhammada.net/2012/05/21/14992/

 

บล็อกของ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร