กล้องวงจรปิด พุทธศาสนาแบบรัฐ และความเถื่อนของสวนโมกข์ (ตอนที่ ๒)

วิจักขณ์ พานิช
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

ความเถื่อนของสวนโมกข์ (๓) 

"เสรีภาพ" คือ พื้นฐานที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้สติปัญญาและจิตวิญญาณของมนุษย์เรียนรู้และงอกงามได้ ดูเหมือนเหล่าสมณะจะไม่มัวเสียเวลาไปกับการเรียกร้องเสรีภาพทางสังคม พวกเขาเลือกที่จะเดินออกไปจากสังคม เพื่อแสวงหาคุณค่าใหม่ คุณค่าของชีวิตอันเป็นอิสระจากบ่วงรัดรึงทางโลกย์

ในพุทธศาสนา สัญลักษณ์ของพื้นที่เสรีภาพทางกายภาพ ไม่ใช่สังคมประชาธิปไตย แต่คือ พื้นที่ "นอก" สังคม "ป่า" อันแสดงถึง ความดิบและความเถื่อน ซึ่งการครอบงำทางความคิด (รวมถึงทางค่านิยม สังคม วัฒนธรรมอันดีงาม) ของมนุษย์ไปไม่ถึง

"ป่า" คือ พื้นที่ของนักแสวงหา ผู้ที่มีเป้าหมายอยู่ที่การค้นคว้า ทดลองความจริง --ความเป็นอิสระ อยู่คู่กับความเรียบง่าย สะท้อนวิถีชีวิตที่สอดคล้องไปกับการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ชุมชนที่เพื่อนร่วมอุดมการณ์อยู่ด้วยกัน ดูแลกัน ตักเตือนกัน และเป็นอิสระต่อกัน คือสังฆะ ที่มีเป้าหมายคือการฝึกปฏิบัติคำสอนเพื่อการปลดปล่อย

ทว่าดูเหมือน แนวทางของพุทธศาสนาแบบรัฐ จะตรงกันข้ามกับที่กล่าวมาข้างต้นโดยสิ้นเชิง

ขณะที่พุทธศาสนาแบบรัฐพยายามสร้างสถานะ อำนาจ และความน่าเชื่อถือในการควบคุมความเชื่อทั้งหมดของพระและประชาชนในรัฐ พระนักปฏิบัติและพระนักปฏิวัติจำนวนไม่น้อยก็เลือกที่จะถอยห่างออกจากอิทธิพลคณะสงฆ์ของรัฐในรูปแบบที่ต่างกันออกไป

พุทธทาสกลับสู่บ้านเกิด ก่อตั้งสวนโมกขพลาราม ตลอดเวลาที่สวนโมกข์ดำเนินงานมา พุทธทาสไม่เคยให้สวนโมกข์เข้าสู่ระบบคณะสงฆ์ของรัฐเลย ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งผลการดำเนินงาน บัญชี ระบบการจัดการ การติดต่อกับทางการทุกอย่าง สวนโมกข์จะอยู่ใน "สถานะลอย" มีวิธีการปฏิบัติในแบบของตัวเอง ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพุทธทาสแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งส่วนใหญ่ทางการก็จะเกรงใจสวนโมกข์ และไม่มีใครกล้าเข้ามายุ่ง แม้สวนโมกข์จะไม่เคยทำอะไรตรงตามที่ควรจะทำเลยก็ตาม

(ก) เกี่ยวกับระเบียบคณะสงฆ์ ,"ในวัด"
พุทธทาสมองว่า ถ้าเอาสวนโมกข์ เข้าสู่ระเบียบคณะสงฆ์เมื่อไหร่ พลังแห่งการสร้างสรรค์ ความเป็นตัวของตัวเอง และเสรีภาพของสวนโมกข์ก็จะหมดลงทันที 

พระ "ในวัด" (ที่สังกัดคณะสงฆ์ของรัฐ) คือเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งหากยอมรับว่าสวนโมกข์เป็นวัดตามระบบของคณะสงฆ์ ก็หมายความว่าพระก็จะกลายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐตามกฏหมายไปด้วย เช่นเดียวกับกรรมการวัด และวิธีการบริหารวัด ซึ่งก็จะนำเอาระบบราชการมาใช้ ต้องแจกแจง ทำบัญชี การเงิน ระเบียบกฏเกณฑ์ความสัมพันธ์ระหว่างคนในวัดทั้งหมดก็จะสะท้อนการตีความศาสนาแบบรัฐ ธรรมวินัยถูกมองราวกับกฏหมาย การก่อสร้างและพัฒนาวัดต้องทำตามแบบ "ความเป็นไทย" ที่รัฐกำหนด ดำเนินตามนโยบายด้านศาสนาที่ถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง 

พุทธทาสมองเห็นว่า สวนโมกข์ ต้องไม่ใช่ "วัด" ตามระเบียบคณะสงฆ์ อย่างน้อยก็ในแง่ของการปฏิบัติอันเป็นที่รู้กัน สวนโมกข์ คือสวนโมกข์ ซึ่งดำรงสถานะลอยเป็น "อิสระ" จากคณะสงฆ์ของรัฐ อย่างเป็นตัวของตัวเอง

(ข) เงินนั้นไม่ใช่ของวัด
พุทธทาสมองว่า เงินที่ผู้ศรัทธาบริจาคเพื่อสนับสนุนงานสร้างสรรค์เพื่อพระศาสนา เป็นการบริจาคให้ "สวนโมกข์" ไม่ใช่บริจาค "ให้วัด" 

ดังนั้น "ปัจจัย" ต้องถูกนำไปใช้ให้ตรงวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้ให้และผู้รับ สำหรับพุทธทาส เงิน คือ ปัจจัยอันนำไปสู่การสร้างสรรค์ทางสติปัญญา ทั้งในทางกายภาพ (สิ่งปลูกสร้างในสวนโมกข์) ทางความคิด (หนังสือ งานเผยแผ่) และทางจิตวิญญาณ (ดูแลพระและการจัดอบรมภาวนา) ซึ่งทั้งหมด คือ การไว้ใจในแนวทางเฉพาะของสวนโมกข์ ไม่ใช่การไว้ใจในแนวทางพุทธศาสนาแบบรัฐ ดังนั้นในสายตาพุทธทาส เงินบริจาค จึงไม่ใช่ของวัด แต่เป็นของสวนโมกข์

ปัจจัยที่หามาได้ทั้งหมด มีเป้าหมายที่ตั้งอยู่บน integrity ของสวนโมกข์ พุทธทาสใช้คำว่า "หามาช่วยคน" เงินถูกนำมาใช้ในฐานะปัจจัยที่หล่อเลี้ยงกระบวนการเสริมสร้างความเป็นมนุษย์ ส่งเสริมสติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ "กล้าแหวกแนว" คือ ส่งเสริมให้เกิดการทำอะไรใหม่ๆ ในทางสร้างสรรค์ ในที่นี้ พุทธทาสไม่เคยใช้เงินแบบ play safe เขาเน้นย้ำกับคนใกล้ชิดเสมอว่า "เงินนั้นไม่ได้มีไว้เก็บ" เรียกได้ว่า เมื่อมีปัจจัยที่คนบริจาคให้งานของสวนโมกข์ ก็ต้องบริหารจัดการเงินเพื่อใช้ในทางสร้างสรรค์อย่างสอดคล้องกับวิถีสวนโมกข์ ไม่ใช่เพื่อเก็บไว้สร้างสถานะ ความมั่นคง และมั่งคั่ง 

พุทธทาสยืนยันว่า สวนโมกข์ไม่ใช่วัด แต่เป็นสวนป่าแห่งการหลุดพ้น ที่เขาใช้เป็นห้องทดลองกับตัวเอง และกับการเผยแผ่ธรรมะอย่างแหวกแนว พุทธทาสเล่นกับมัน ทดลองมัน ด้วยการคิดทำอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยยืนยันว่า "จัดแบบสวนถูกกว่าแบบวัด, สวนไม่ต้องมีบัญชี" และแน่นอนว่ารูปแบบนี้ได้ให้เสรีภาพกับพุทธทาสในการทดลองทำอะไรต่อมิอะไรโดยปราศจากการอิทธิพลครอบงำจากส่วนกลางได้มากกว่า 

ซึ่งแน่นอนว่า ทั้งหมดนั้นเป็นไปได้ ก็เพราะความมีวิสัยทัศน์ของพุทธทาส ในทัศนะของผม แนวทางนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือช่วยให้พุทธทาสทำอะไรได้สะดวกและง่าย

ทว่าข้อเสียก็คือ ทุกอย่างรวมศูนย์อยู่ที่พุทธทาสแต่เพียงผู้เดียว (เผด็จการโดยธรรม) เมื่อพุทธทาสตายไป จึงหาใครที่มาทดแทนไม่ได้ นำมาสู่การชะงัก ลังเล และไม่กล้าตัดสินใจของหลายๆ ฝ่าย ซึ่งพุทธทาสคงมองเห็นข้อเสียตรงนี้ด้วยเช่นกัน ดังที่เขียนไว้ว่า การบริหารแบบตามใจฉันเช่นนี้ "ควรจะชั่ว 4-5 ปีนี้เท่านั้น"



ตอน (๔) อนาคตของสวนโมกข์ในยุคโพสต์พุทธทาส


พุทธทาสเชื่อมั่นในศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น และการพึ่งพาตนเองและตรวจสอบกันเองในชุมชนผู้ปฏิบัติ โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจจากส่วนกลาง และนี่คือเสรีภาพอันเป็นรากฐานให้กับการดำเนินงานของสวนโมกข์ ตรงกันข้าม ตลอดระยะเวลาที่คณะสงฆ์ของรัฐก่อตั้งขึ้นมา แม้จะมีความพยายามออกนโยบายเพื่อการกำหนดควบคุมรูปแบบพุทธศาสนาให้ตรงตามจินตนาการของรัฐเป็นพิมพ์เดียว แต่ก็ไม่อาจทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนัก เพราะศรัทธาของญาติโยมที่มีต่อนักบวชที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงดูจะมีพลังมากกว่า ดังนั้นตราบใดที่สำนักนั้นๆ ไม่ได้มีท่าทีที่ท้าทายต่ออำนาจของคณะสงฆ์ การดำรง "สถานะลอย" ของพวกเขา ก็ช่วยให้สามารถดำเนินงานตามแนวทางของตนไปได้อย่างเป็นอิสระ

ความเป็นอิสระจากรัฐ คือ หัวใจของสวนป่าอันเป็นห้องทดลองขนาดใหญ่ของพุทธทาส โปรเจคมากมายถูกสร้างสรรค์ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งปลูกสร้าง งานเสวนา โครงการ เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน ซึ่งนั่นสะท้อนถึงจิตวิญญาณการเรียนรู้ การทดลอง ความกล้าลองผิดลองถูก การสัมพันธ์กับความเป็นไปของสังคม ความตื่น การแหวกแนวอย่างเป็นตัวของตัวเอง และความเรียบง่ายอันเป็นเอกลักษณ์ของสวนโมกข์

ทว่าการบริหารงานตามใจฉัน โดยมีพุทธทาสและคนใกล้ชิดเพียงไม่กี่คนเป็นผู้รู้เห็นและร่วมรับผิดชอบ ก็นำมาสู่ปัญหาในที่สุด

ดูเหมือนพุทธทาสจะมองเห็นอนาคตไว้แล้วล่วงหน้า ว่าเมื่อเขาไม่อยู่ ความขัดแย้งอาจจะเกิดขึ้น ระบบแบบเชื่อใจ "ให้คนรู้เห็นน้อยที่สุด จะได้ไม่มากเรื่อง" ความเป็นเผด็จการโดยธรรมที่ต้องอาศัยตัวบุคคลที่ได้รับการยอมรับนับถืออย่างสูงสุดเช่นนั้น อาจไม่สามารถใช้ได้กับคนใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทน 

สำหรับคนที่มาแทน การพยายามเดินตามแนวทางที่พุทธทาสวางไว้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ด้านหนึ่งหาก play safe พยายามรักษาทุกอย่างให้เหมือนเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย ซึ่งน่าจะเป็นการสงวนรักษา "ความเป็นพุทธทาส" และ "ความเป็นสวนโมกข์" ไว้เป็นอนุสรณ์ให้แก่คนรุ่นหลังได้ดีที่สุด แต่ยิ่งสงวนรักษา สวนโมกข์ที่มีชีวิตชีวาก็จะหายไป ไม่มีอะไรใหม่ กลายสภาพเป็นแค่พิพิธภัณฑ์หรือสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง แต่หากผู้ที่เข้ามาแทนพยายามเปลี่ยนแปลง คิดใหม่ ทำใหม่ และออกกฏใหม่ ก็ย่อมทำให้เกิดการเปรียบเทียบและกระตุ้นให้เกิดความเห็นต่างและขัดแย้งกันในหมู่สาวกพุทธทาสยิ่งกว่าเดิมอีกหลายเท่า

ตรงจุดนี้ ผมพยายามชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าใครที่เข้ามาทำหน้าที่เจ้าอาวาสในยุคโพสต์พุทธทาส ย่อมเจอกับแรงต้านทั้งนั้น ด้วยเหตุผลเพียงเพราะคนคนนั้น "ไม่ใช่พุทธทาส" จึงไม่น่าแปลกใจที่ภาวะกล้าๆ กลัวๆ จะทำให้ทิศทางของสวนโมกข์ที่ผ่านมา ค่อยๆ ตกไปสู่ความเป็นอนุรักษ์นิยมมากขึ้นทุกทีๆ 

ความเป็นผู้นำเผด็จการโดยธรรม แบบพุทธทาส จึงดูจะเป็นรูปแบบที่ใช้ไม่ได้ในยุคโพสต์พุทธทาส ซึ่งพุทธทาสคงมองเห็นข้อจำกัดตรงนี้ด้วยเช่นกัน จึงดำริไว้ว่า "เมื่อเราตายลง วัดธารน้ำไหลจะผูกพันอยู่กับมูลนิธิ แทนสวนโมกข์" ความเป็นวัด ที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในสถานะลอย ไม่ต้องทำตามระเบียบของคณะสงฆ์ได้เพราะบารมีของตัวบุคคล จะเป็นไปได้ยากขึ้น เมื่อพุทธทาสไม่อยู่แล้ว วัดธารน้ำไหลจะต้องผูกพันอยู่กับธรรมทานมูลนิธิ แทนที่จะผูกอยู่กับสถานะลอยของสวนโมกข์เหมือนแต่ก่อน ผลคือวัดจะดำเนินงานอยู่ภายใต้รูปแบบมูลนิธิ ซึ่งจะเห็นได้ว่า พุทธทาสยังคงยืนยันที่จะไม่ให้วัดธารน้ำไหลอยู่ภายใต้ระเบียบคณะสงฆ์อีกเช่นเดิม เพราะรูปแบบมูลนิธิน่าจะ "เป็นอิสระ" "ช่วยคน" และ "กล้าแหวกแนว" ได้ดีกว่า 

ส่วนโปรเจคสวนโมกข์นั้น "ให้อยู่โดยคณะธรรมทาน รับเบี้ยประจำวันไป" ซึ่งในแง่นี้ พุทธทาสต้องการให้การดำเนินงานเชิงสร้างสรรค์ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการช่วยกันคิดและตกลงกันในหมู่คณะมากขึ้น โดยที่ไม่เอาความคิดของคนใดคนหนึ่งเป็นที่ตั้ง 

ส่วนตัวผมเห็นด้วยกับแนวทางที่พุทธทาสคิดไว้ทุกประการ แต่มองว่าพุทธทาสไม่ได้ตระเตรียมระบบดังกล่าวไว้เลยในช่วงเวลาที่เขายังมีชีวิตอยู่ เขาเลือกที่จะใช้ระบบตามใจฉัน เผด็จการโดยธรรม เพราะมันสะดวก ง่าย และคล่องตัว ผลดีของมันคือ งานสวนโมกข์สำเร็จลุล่วงได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายในช่วงชีวิตของพุทธทาสโดยไม่ต้องรอถึงชาติหน้า ทว่าผลเสียคือ พุทธทาสไม่ได้สร้างระบบที่จะสามารถดำเนินไปเองได้โดยไม่เกิดการยึดมั่นหรือระแวดระวังใน "ธรรม" ของตัวผู้นำ

ตรงนี้หากไม่มองเป็นข้อเสีย ผมว่านี่แหละคือภารกิจที่คณะบุคคลที่จะเข้ามาสานต่องานสวนโมกข์ในรุ่นนี้และรุ่นต่อๆไปจะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ แม้พวกเขาจะไม่ใช่พุทธทาส แม้พวกเขาจะไม่ใช่ซุปเปอร์ฮีโร่ อรหันต์ คนดี มีธรรมะเกินธรรมดา แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับการร่วมกันสร้างระบบการดำเนินงานที่ดีขึ้นมาให้ได้ การบริหารจัดการวัดภายใต้มูลนิธิ และโปรเจคสวนโมกข์ในลักษณะการทำงานเป็นหมู่คณะ จำเป็นต้องอาศัยการประชุม สนทนา ถกเถียง โต้แย้ง พูดคุย และยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกันให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจและไว้วางใจกันในหมู่คณะ จนเกิดเป็นภาพของสวนโมกข์ในฐานะ "สถาบัน" หรือ "สังฆะ" ที่สะท้อน integrity แบบสวนโมกข์ และมีพลวัตในตัวมันเอง โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

บทสรุป

การติดตั้งกล้องวงจรปิดที่เคาน์เตอร์ฝั่งวัด สะท้อนถึงความพยายามในการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงระบบการดำเนินงานของวัดธารน้ำไหลเป็นครั้งแรกในยุคโพสต์พุทธทาส (หลังจากที่แทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบอะไร ตลอดระยะเวลาเกือบ ๒๐ปี) ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับในความกล้าหาญ และความเป็นตัวของตัวเอง ของผู้ที่คิดและลงมือปฏิบัติ ทว่าทิศทางดังกล่าวดูจะผิดไปจากแนวทางของสวนโมกข์ที่พุทธทาสดำริไว้จากหน้ามือเป็นหลังมือ มันคือความพยายามในการหวนกลับไปสู่ระบบคณะสงฆ์ของรัฐและการตรวจสอบจากกลไกภายนอก แทนที่จะดำรงไว้ซึ่งความเป็นอิสระ ความริเริ่มสร้างสรรค์ และส่งเสริมการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและตรวจสอบตัวเองและกันเองในสังฆะ 


แต่คำถามสำคัญยิ่งกว่าการพยายามพุ่งเป้าโจมตีตัวบุคคลหรือการพยายามถอดเอากล้องวงจรปิดออก ก็คือการตัดสินใจครั้งนี้ เกิดขึ้นจากมติของหมู่คณะ ผ่านการประชุม พูดคุยกันจริงๆ หรือไม่ อย่างไร? มันกำลังสื่อสารอะไรต่อความเป็นสวนโมกข์ในยุคโพสต์พุทธทาส?

นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญ ข้อความที่กล้องวงจรปิดตัวนี้พยายามสื่อสารก็คือ สวนโมกข์จะใช้วิธีการบริหารแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไปแล้ว การที่ผู้นำคนใหม่จะแตกต่าง เป็นตัวของตัวเอง และคิดใหม่ ทำใหม่ นั้นไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่หากกระทำการภายใต้ระบอบทำตามใจฉัน เผด็จการโดยธรรม อย่างที่เคยเป็นมาในอดีต ย่อมไม่สามารถทำให้เกิดความปรองดองภายในสวนโมกข์ในยุคโพสต์พุทธทาสได้ และที่สำคัญที่สุดคือ integrity ของพุทธทาสจากประสบการณ์ของศิษย์รุ่นก่อนจะถูกส่งผ่านมาสู่การดำเนินงานและการสร้างสรรค์ของสวนโมกข์ไม่ได้เลยหากความแตกต่างหลากหลายเหล่านั้นไม่ได้ถูกรวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนาและเสวนาเพื่อให้เกิดภาพที่ชัดเจนในทิศทางการก้าวไปของสวนโมกข์ในอนาคต 

และประเด็นสุดท้าย การปฏิเสธอำนาจครอบงำจากระบบคณะสงฆ์ของรัฐจะต้องทำอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น การมีอยู่ของคณะสงฆ์ของรัฐไม่เป็นประโยชน์ใดๆ ต่อ เสรีภาพ พลังสร้างสรรค์ ของสังฆะอิสระอย่างสวนโมกข์เลย ความเสื่อมถอยของพุทธศาสนาทั้งในแง่คำสอนและธรรมวินัยในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมาเป็นผลมากจากโครงสร้างทางการเมืองแบบแนวดิ่ง รวมศูนย์ และโหนอำนาจ ของคณะสงฆ์ของรัฐโดยตรง ซึ่งชาวพุทธ โดยเฉพาะฆราวาส ควรตระหนักถึงความจริงข้อนี้ สร้างการตระหนักรู้ และผลักดันให้เกิดกระบวนการแยกรัฐออกจากศาสนา (secularization) (ซึ่งเป็นกระบวนการทางเมือง) ให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด