สังฆราชแห่งคณะสงฆ์ไทยสมัยใหม่

สุรพศ ทวีศักดิ์
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

เมื่อสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้สิ้นพระชนม์ลงเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556 ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535) กำหนดให้การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชเป็นไปตามอาวุโสทางสมณศักดิ์ ฉะนั้นผู้ที่จะได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ต่อไปก็คงจะเป็น สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญที่มีอาวุโสสูงสุดในขณะนี้ ยกเว้นว่าจะมี “เหตุพิเศษ” ให้เกิดการพลิกแพลงไปจากนี้ ซึ่งก็ไม่น่าจะมี

หากย้อนดูประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัย ร.4 จนสิ้นยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระสังฆราชตั้งจากนิกายธรรมยุตเท่านั้น เนื่องจากนิกายนี้ ร.4 สถาปนาขึ้นมา จึงได้รับ “พรพิเศษ” ให้ปกครองพระมหานิกายได้ แม้พระธรรมยุตจะมีจำนวนเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับพระมหานิกาย จนกระทั่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เมื่อมี พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2484 แล้วจึงมีพระสังฆราชจากมหานิกาย (หากสามัญชนตั้งนิกายใหม่ ย่อมจะมีชะตากรรมอย่างสันติอโศก)

ว่าตามจริง ตำแหน่งพระสังฆราชตามที่เรารับรู้ในปัจจุบันนี้ เป็นตำแหน่งพระสังฆราชแห่ง “คณะสงฆ์ไทยสมัยใหม่” ตามคำอธิบายของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ที่ว่า “เส้นแบ่ง” ความเป็นคณะสงฆ์ไทยสมัยใหม่นั้น นับจากสมัย ร.4, ร.5 เป็นต้นมา เพราะเป็นช่วงเวลาที่รัฐไทยกลายเป็นรัฐสมัยใหม่หรือ “รัฐชาติ” (nation state) หรือหากจะพูดอย่างเป็นวิชาการ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ร.ศ.121 นั่นเองคือเส้นแบ่งความเป็นคณะสงฆ์สมัยใหม่

เนื่องจากว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวได้สถาปนา “คณะสงฆ์แห่งรัฐ” ขึ้น หมายถึงคณะสงฆ์ที่มีองค์กรปกครองสูงสุดคือ “มหาเถรสมาคม” มีอำนาจตามกฎหมายในการปกครองพระสงฆ์ทั่วประเทศ และทำหน้าที่เป็นกลไกตอบสนองอุดมการณ์รัฐ จึงต่างจาก “พระสงฆ์สมัยเก่า” ก่อนยุค ร.ศ.121 ย้อนไปถึงสุโขทัยที่ปกครองกันเองตามพระธรรมวินัยเท่านั้น โดยใช้ระบบอุปัชฌาย์อาจารย์ พระสงฆ์แต่ละวัดแต่ละสาย ทั้งในเมืองและหัวเมืองจึงอยู่กันอย่างอิสระมากว่า โดยมีชาวบ้านอุปถัมภ์และตรวจสอบกันเอง

จะว่าไปแล้ว ตำแหน่งพระสังฆราชเกิดจากความจำเป็นของรัฐในอดีต ซึ่งส่วนมากปกครองด้วยระบบกษัตริย์หรือราชาธิปไตย ระบบการปกครองเช่นนั้น มีความจำเป็นต้องสร้าง “มายา” หรือ “myth” ให้ผู้ปกครองมีสถานะและอำนาจศักดิ์สิทธิ์ “มายา” หรือ “myth” เป็นความเชื่อที่ห้ามตั้งคำถาม ยิ่งผู้ใต้ปกครองเชื่อมากเท่าไร ยิ่งหัวอ่อน ปกครองง่ายมากเท่านั้น

การสร้างความเชื่อใน “มายา” หรือ “myth” ยุคโบราณนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพราะชนชั้นปกครองคือกษัตริย์ ขุนนาง และนักบวช เป็นผู้มีอำนาจกำหนดความจริง และดี ชั่ว ถูก ผิด โดยถ่ายทอดจากวังไปยังวัด และวัดก็เผยแพร่ไปยังผู้ใต้ปกครองซึ่งเป็นไพร่ ทาส ดังการเผยแพร่ “ไตรภูมิพระร่วง” ที่แต่งโดยกษัตริย์เพื่อใช้เป็นปรัชญาการเมืองการปกครองที่จัดลำดับชนชั้นของคนตามระดับความสูงต่ำของบุญบารมีที่ทำมาไม่เท่ากัน เป็นต้น ในสภาพสังคมที่ชาวบ้านไม่มีปากมีเสียงเช่นนั้น จะหาคนตั้งคำถามกับ “มายา” หรือ “myth” ในทางสาธารณะก็คงไม่มี

จะว่าไปแล้ว แม้ในยุคข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดนอย่างสมัยของเรา ก็เกิดปรากฏการณ์ “คนรักเจ้า” ที่เชื่อใน “มายา” หรือ “myth” อย่างปราศจากการตั้งคำถามถึงความมีเหตุผลที่พิสูจน์ได้ แม้คนเหล่านั้นจะเป็นชนชั้นกลางมีการศึกษาดี และเข้าถึงสื่ออินเทอร์เน็ตเป็นส่วนมากก็ตาม

เครื่องมือในการสร้าง “มายา” หรือ “myth” ก็คือศาสนา รัฐราชาธิปไตยในที่ต่างๆ ของโลก ล้วนแต่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการปกครองทั้งนั้น เพราะศาสนาคือภูมิปัญญาหลักของสังคมซึ่งทำหน้าที่ตอบปัญหาทุกเรื่อง ตั้งแต่สุข ทุกข์ ความเป็นไปในชีวิตของปัจเจกบุคคล สภาพดินฟ้าอากาศ ความสงบสุข หรือเหตุอาเพศของบ้านเมือง ไปจนถึงการกำเนิดของมนุษย์ โลก จักรวาล และสรรพสิ่ง

แต่คำตอบที่สำคัญคือศาสนาต้องตอบที่มาของสถานะ อำนาจ บทบาทหน้าที่และความชอบธรรมของผู้ปกครอง โดยคำตอบนั้นมักเป็นไปในทางสร้าง “มายา” หรือ “myth”  ว่าผู้ปกครองมาจากพระเจ้า ใช้อำนาจในนามของพระเจ้าบ้าง เป็นเทวราชาบ้าง ธรรมราชาบ้าง กระทั่งเป็นพระโพธิสัตว์หรือพระพุทธเจ้า

ด้วยเหตุนี้ อาณาจักรที่มุ่งหวังความรุ่งโรจน์ จึงต้องแสวงหาประมุขแห่งศาสนจักรซึ่งเป็นปราชญ์ที่ผู้คนเชื่อถือ ดังพ่อขุนรามคำแหงแสวงหา “พระดี” จากนครศรีธรรมราชแห่งลัทธิเถรวาทลังกาวงศ์มาเป็นพระสังฆราชของสุโขทัย นครรัฐต่างๆ ที่นับถือพุทธในเอเชียอาคเนย์ก็เป็นแบบเดียวกันนี้ บางประเทศเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงยกเลิกตำแหน่งพระสังฆราชไป เช่นพม่า (อังกฤษเลิกให้) ลังกาเปลี่ยนจากตำแหน่งพระสังฆราชเป็น “พระมหานายกะ” ที่เป็นประมุขของแต่ละนิกาย มีฐานะเป็นสัญลักษณ์ให้คนเคารพนับถือ หรือเป็น “ปูชนียาจารย์” ของแต่ละนิกายเท่านั้น ไม่ใช่ตำแหน่งที่มีอำนาจทางกฎหมายในการปกครองสังฆมณฑลแต่อย่างใด

มองอีกแง่หนึ่ง การมีพระสังฆราชแต่เดิมนั้น น่าจะเป็นประเพณีเลียนแบบสมัยพุทธกาล ที่กษัตริย์มีพระศายกมุนีเป็นพระศาสดาหรือ “ครู” (คำว่า “พระศาสดา” มาจากภาษาบาลีว่า “สัตถา” แปลว่า “ครู”) กษัตริย์ในยุคหลังๆ จึงต้องมีพระสังฆราชเป็นครูหรือ “พระอาจารย์” เฉพาะไทยเรานั้นกษัตริย์มีพระสังฆราชเป็นครูมาแต่ยุคสุโขทัย ยุครัตนโกสินทร์กษัตริย์แต่ละองค์ก็มีพระสังฆราชเป็นครู เช่น สมเด็จพระวันรัต วัดโพธิ์กับ ร.1 สมเด็จพระญาณสังวร (ศุข) วัดพลับกับ ร. 2 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดท้ายตลาดกับ ร.3 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังกับ ร.4 เป็นต้น

แต่จะอย่างไรก็ตาม พระสังฆราชในคณะสงฆ์สมัยเก่า มีเพียงสมณศักดิ์และตำแหน่งที่กษัตริย์ยกย่อง ไม่ได้มีอำนาจทางกฎหมายในการปกครองสงฆ์ หากแต่เป็นประเพณีที่พระสงฆ์ในราชธานีจะให้ความเคารพ ส่วนพระสงฆ์และชาวบ้านตามหัวเมืองต่างๆ อาจไม่เคยรับรู้ ไม่สนใจเลยด้วยซ้ำว่าใครเป็นพระสังฆราช

ทว่าตำแหน่งพระสังฆราชในปัจจุบัน ได้ทั้งยศ (สมณศักดิ์) และอำนาจทางกฎหมายจากรัฐ ซึ่งกลายเป็นข้อผูกพันให้คณะสงฆ์ทั้งหมดขึ้นต่ออำนาจรัฐ ทำให้ระบบสงฆ์มีความเป็น “การเมือง (politics)” เพราะทั้งมีอำนาจทางกฎหมายในการปกครองกันเอง เป็นกลไกตอบสนองอุดมการณ์รัฐ มีอำนาจต่อรองในการใช้กลไกและงบประมาณของรัฐในกิจการทางศาสนา ซึ่งขัดต่อธรรมชาติของรัฐประชาธิปไตยที่รัฐกับศาสนาควรเป็นอิสระจากกัน

ถามว่า อำนาจปกครองตามกฎหมายในมือพระสังฆราชและมหาเถรสมาคม ได้ถูกใช้ไปในทางปรับปรุงกิจการพุทธศาสนาให้มีบทบาทนำทั้งทางจิตใจและสติปัญญาของสังคมไทยในโลกสมัยใหม่อย่างไรบ้าง ดูเหมือนจะไม่มีคำตอบที่แน่ชัด? หรือเพราะภายใต้ระบบที่เป็นอยู่ ไม่อาจผุดบังเกิดคำตอบสำหรับคำถามเช่นนั้นได้?

หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข” (9-15 พ.ย.2556)