บทเพลงต้องห้าม (4)

เมื่อได้ยินหมวด ธา ธาชอเต่อแล หนุ่มสาวต่างขยับเข้ามาในวงเพลงธามากขึ้น เพื่อเริ่มงานของหนุ่มสาว ธาชอเต่อแลจึงเปรียบเสมือน หมวดที่เชื้อเชิญหนุ่มสาวเข้าสู่การขับขานเพื่อต่อเพลงธากัน โดยมีโมะโชะฝ่ายหญิงแลโมะโชะฝ่ายชายเป็นหัวหน้าทีมของแต่ละฝ่าย เวทีการดวลภูมิรู้เรื่องธาที่ขุนเพลงธาโปรดปรานได้เกิดขึ้นอีกครั้งในคืนงานศพ

หมวดแห่งการดวลเพลงธา เริ่มที่หมวดธาเดาะธ่อ ซึ่งแปลว่า ธาเริ่มต้น ส่วนใหญ่เป็นธาที่ว่าด้วยความรัก ความสามัคคี ความร่วมไม้ร่วมมือ เพื่อให้คนที่มาร่วมงานตระหนักและสำนึกเสมอว่า เป็นคนในชุมชนเดียวกัน ชนเผ่าเดียวกัน สังคมเดียวกัน และโลกใบเดียวกัน ดังตัวอย่างธาที่ว่า

 


เก่อ แหย่ โหม่ โพ มา คู คู
                        โปะ ธ่อ เส่อ โกะ เส่ เผล่อ ทู

เก่อ แหย่ โหม่ โพ มา ประ ประ                  โบะ ธ่อ เส่อ โกะ เส่ เผลอ วาฯ....

เหล่าลูกแม่ลงมือพร้อมกัน                        มาช่วยกันยกเสาทองคำ

เหล่าลูกแม่ลงมือพร้อมเพรียง                    มาช่วยกันยกเสาต้นเงิน

ขณะที่ขับขานธา เดาะธ่อ อย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ หนุ่มสาวจะพยายามหาจังหวะเพื่อไปสู่ หมวดธา หน่อ เดอ จ๊อ หรือหมวด ธาหนุ่มสาว จนบางทีผู้ใหญ่ต้องพยายามดึงกลับมาที่ธา เดาะธ่อ เนื่องจากยังไม่สมควรแก่เวลาที่จะไปในหมวดหนุ่มสาว เมื่อผู้ใหญ่ดึงกลับมาที่ ธา เดาะ ธ่อ ซักพัก หนุ่มสาวจะพยายามดึงไปที่หมวดหน่อ เดอ จ๊อ อีก ผู้ใหญ่จึงต้องดึงกลับมาที่ หมวด ธา เดาะ ธ่อ จนกว่าผู้ใหญ่จะเห็นสมควรว่าได้มีการขับขาน ธา หมวดเดาะ ธ่อ ไปมากพอสมควรแล้ว จึงจะปล่อยให้เป็นช่วงของธา หน่อ เดอ จ๊อ ต่อไป

หมวด ธา หน่อ เดอ จ๊อ นั้นเป็นการเริ่มต้นเกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มสาว โดยใช้ภาษากวี หรือภาษาบท ธา เป็นการสื่อสาร บางทีเป็นการตอบโต้หยอกล้อ กระเซ้าเย้าแหย่กัน ซึ่งเป็นบรรยากาศที่หนุ่มสาวต่างมีความสุขมากที่สุด ว่ากันว่าหากหนุ่มสาวติดลมบนในการต่อบทธากันแล้ว ไก่ขันครบสามครั้งก็ยังไม่อยากเลิก ฟ้าแจ้งแล้วก็ยังไม่อยากหยุด

แต่เมื่อฟ้าสางก็ถึงคราวยุติการขับขานบทธาเพื่อไปพักผ่อนเอาแรงในคืนที่สอง ซึ่งในคืนที่สองจะมีการลำดับขั้นมนการขับ หมวดหมู่ของบทธาที่แตกต่างจาก คืนแรก มีธา บางหมวดหมู่แทรกเข้ามาเพิ่มจากคืนแรก

ตอนหัวค่ำของคืนที่สองแห่งงานศพ ผู้คนจะอยู่กันเต็มบ้านของผู้ตายแล้ว บ้างมวนยาสูบ บ้างทานข้าว บ้างดื่มย้อมใจ บ้างดื่มน้ำชา สักพัก จะได้ยินเสียงของ ธา หมวด ธ่อเส่ส่า หรือ หมวดขึ้นต้นไม้ ถูกขับขานขึ้นเพื่อเป็นการบอกถึงวาระแห่งการมีชีวิตบนโลกมาถึงแล้วเปรียบเสมือนการขึ้นต้นไม้ ได้ถึงยอดไม้แล้ว ถึงเวลาที่ต้องลงและกลับสู่บ้านเมืองนอน เพื่อบอกกับคนที่มีชีวิตอยู่ด้วยว่าชีวิตเปรียบเหมือนการขึ้นต้นไม้ ขึ้นอยู่ที่ใครถึงช้าถึงเร็ว ถึงเร็วก็ไปก่อน ถึงช้าก็ไปทีหลัง แต่ทุกคนก็ต้องถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ธ่อ เส่ส่า แจะ อือ แจะ เออ                     หน่อ โธ่ เออ เออ หน่อ ชอ เออ

หมือ ฉา หน่อ แลจะ แพแล                     กว่า เนอโธ่ โกะ เนอ ชอ แซฯ.....

ขึ้นต้นไม้ เชื่องช้าเฉื่อยชา                       เหมือนนกก็ไม่ใช่ เหมือนไก่ก็ไม่เชิง

กลางวันเจ้าไปแห่งหนใด                         ไก่และหมูเจ้า ส่งเสียงร้อง

หลังจากหมวด ธา ธ่อเส่ แล้วจะต่อด้วย ธา หมวด เลปลือแหมะ หรือ ส่องหน้าผู้ตาย ตามด้วยหมวด ธาแหน่หมื่อ เหน่ลา หรือหมวดชี้ทางให้คนตาย แต่หลังจากชี้ทางให้คนตายแล้วจะคั้นด้วย หมวดธาแป่โป่ แปซวย หรือ หมวดคั่วข้าวเม่า ข้าวฟ่าง เพื่อเป็นอาหารสำหรับผู้ตายเอาไปกินระหว่างทางกลับสู่ปรโลก เพื่อเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงการที่คนเราเกิดมามือเปล่า ก็ต้องจากไปอย่างมือเปล่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการพออยู่พอกิน หากมีต้นข้าวเม่าอยู่ก็เหมือนมีต้นเงินอยู่ หากมีข้าวฟ่างอยู่ก็เหมือนมีต้นทองคำอยู่ ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนฝักใฝ่สะสมทรัพย์สินที่กินไม่ได้ เพราะมีเงินมีทองแล้วสุดท้ายก็เอาไปไม่ได้ สิ่งที่เอาไปได้คือสิ่งที่กินได้

ตนปกาเกอะญอยังมีความเชื่อว่า เมื่อคั่วข้าวเม่าข้าวฟ่างให้ผู้ตาย จะทำให้ผู้ตายกลับไปที่ปรโลกโดยไม่ขาดแคลนข้าว แต่หากไม่คั่วให้ จะทำให้กลับไปไม่มีข้าวกิน ฉะนั้นการรักษาความเชื่อและพิธีกรรมนี้จึงเป็นการรักษาพันธุ์ข้าวเม่าข้าวฟ่างให้ยังอยู่ต่อไปด้วย ซึ่งปัจจุบันชุมชนปกาเกอะญอหลายที่ที่ไม่มีการสืบทอดพิธีกรรมความเชื่อนี้ ทำให้ข้าวเม่าข้าวฟ่างสูญพันธุ์ในชุมชนด้วยเช่นกัน ธา หมวดแป่โป่ แปซวย นั้นมักเริ่มต้น ดังนี้

แปโป่ บอบอ แป่โป่ บอ                            แป่ซวย บอบอ แป่ซวย บอ

จอแล โหะ จื๊อ เจ่ หย่า คอ                        จื๊อ เจ่ จอ แล โหละ หย่า คอ

ชุ ญา โอะ เลอ ทู อะ พอ                          ชุ ญา โอะ เลอ เจ๊ะ อะ พอ

คั่วข้าวเม่าแตกเป็นสีเหลือง                       คั่วข้าวฟ่างแตกเป็นสีเหลือง

ตัวพี่เกิด มาแบบมือเปล่า                          ตอนพี่เกิดนั้น มามือเปล่า

ต่อไป จะมียุ้งทองคำ                               ภาคหน้านั้นจะมีฉางเงิน

 

 

 

ความเห็น

Submitted by ประเสริฐ สุขสวัสดิ์ on

อยากให้ชิอธิบายคำว่าโมะโชะให้หน่อย เพราะว่า งง ๆ กับคำนี้ครับ

Submitted by ชิ on

คำว่าโมะโชะ แปลว่า คนนำในการขับขานบทธา โดยโมะโชะนั้นมีทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย เมื่อมีการตอบโต้กันระหว่างฝ่ายหญิงฝ่ายชาย โมะโชะต้อทำหน้าที่เป็นผู้นำในการตอบโต้เพื่อไม่ให้ฝ่ายของตนเองพ่ายแพ้อีกฝ่ายหนึ่ง โมะโชะจึงต้องมีควารู้ในบทธาที่มาก และมีไหวพริบที่เร็วในการตอบโต้โดยใช้บทธาด้วยเช่นกัน
ต่าบลื๊อครับ

Submitted by ประเสริฐ สุขสวัสดิ์ on

ขอบคุณครับ

เตหน่ากูโบกบิน In USA: ประตูสู่ตะวันตก

การนอนและนอนอย่างเดียวในรถตู้ไม่ใช่เรื่องง่าย  บางทีปวดฉี่ บางครั้งปวดหลัง ทุกครั้งที่รถแวะจอดเติมน้ำมันหรือแวะทำอะไร ผมก็มักจะตื่นด้วยทุกครั้ง  จนได้รับการต่อว่าจากคนที่นั่งมาด้วยกันด้วยความเป็นห่วงว่าผมจะรับช่วงการขับรถต่อได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ

เตหน่ากูโบกบิน In USA: เสื้อปกาเกอะญอตัวแรก ณ USA

คืนนี้เป็นอีกคืนหนึ่งที่คนฟังเพลงเป็นคนไทย แต่ที่พิเศษกว่าที่อื่นเนื่องจากคนไทยเป็นคนจัดงานกันเอง เป็นการจัดงาน ”Thai Festival in Texas” ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีการจัดปีละครั้ง ทุกๆปีจะจัดในเดือนเมษายน แต่ปีนี้มาจัดกันในเดือนกันยายนเนื่องจากต้องการให้กิจการทัวร์ ของ Himmapan 2nd world เป็นจุดเด่นของงานในปีนี้ ภายในงานมีการขายอาหาร เสื้อผ้า ของไทย มีการจัดซุ้มนวดแผนไทยมาบริการ

เตหน่ากูโบกบิน In USA: โรงเรียนปกาเกอะญอ ณ ประเทศที่สาม

จาก Houston มุ่งสู่ Dallas ระหว่างทางผมได้มีโอกาสเป็นสารถีอีกครั้ง ระหว่างทางที่ขับรถอยู่ผมก็เหลียวซ้ายและขวาบ้าง ผมเห็นตัวที่อยู่ข้างทาง วัวก็ไม่ใช่ ควายก็ไม่เชิง

เมื่อเดินทางมาถึงDallas ที่ หมาย ซึ่งมีพี่น้องคนไทยรอรับ จัดแจงที่อยู่ที่กินเป็นอย่างดี
“ที่นี่ มีคนปกาเกอะญอไหมครับ?” เป็นคำถามแรกที่ผมถามที่ Dallas

เตหน่ากูโบกบิน In USA: ตำรวจไม่ได้รับเชิญ




วันนี้ผู้หญิงได้รับอนุญาตให้ไปเดินซื้อของที่ Outlet ส่วนผู้ชายหลังจากทานอาหารเช้า ต้องเดินทางไปติดตั้งเครื่องเสียงเพื่อเล่นในเย็นวันนี้

เตหน่ากูโบกบิน In USA: ท่องราตรี

หัวค่ำ พี่แพท นายกสมาคมไทย เท็กซัส พาไปกินข้าวที่ร้านอาหารจีน  ภายในร้านมีคนเอเชียจากหลายประเทศ ทั้ง สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน ลาว เวียดนาม รวมทั้งพี่ไทย  แต่ส่วนใหญ่จะใช้ภาษาอังกฤษคุยกันยกเว้นคนเวียดนามที่ไม่ยอมพูดภาษาอังกฤษในร้านนอกจากพูดภาษาของตนเอง