Skip to main content
หลัง ธาหมวด แป่โป่ แปซวย แล้ว ก็จะต่อด้วย ธาหมวดโข่เส่ คะมอ ตามด้วย หมวดโดยมีเด็กชายนำการเดินวนอยู่เหมือนวันแรก  และหมวด ธาปลือลอ ได้เริ่มถูกขับขานต่อจาก หมวดโข่ เส่ คะมอ ต่อด้วย หมวด เชอเกปลือ  หมวดฉ่อลอ หมวดแกวะเก  หมวดธาชอเต่อแล


จากนั้น หมวดธาเดาะธ่อ จึงเริ่มขึ้นอีกครั้งพร้อมกับการกลับมาอย่างแน่นขนัดของหนุ่มสาวเช่นเดิม เมื่อธาเดาะธ่อหรือเริ่มต้นมาแล้ว ก็จะมีหมวดธา เดาะแฮ
, หมวด ธาเดาะเหน่,หมวด ธาลอบะ ,หมวด ธา ลอกล่อ ซึ่งล้วนแต่เป็น ธา หน่อ เดอ จ๊อหรือธา หนุ่มสาว ซึ่งตั้งแต่ ธา หมวด เดาะธ่อ เป็นต้นไป ถือว่าเป็น เพลงธา ที่สามารถขับขานเป็นปกติได้ทุกโอกาส ทุกสถานที่ ไม่มีการห้ามแต่อย่างใด 

แต่สำหรับ หมวดเลปลือแหมะ, หมวด ธาแหน่หมื่อ เหน่ลา, หมวดธาโข่เส่ คะมอ, หมวดธาปลือลอ, หมวดเชอเกปลือ , ธา หมวดฉ่อลอ ,หมวดธาชอเต่อแล  ถือเป็นเพลงธาสำหรับร้องสวดในงานศพโดยเฉพาะ  และต้องขับขานเฉพาะเวลา และสถานที่ ที่มีงานศพเท่านั้น  ไม่สามารถขับขานนอกเหนือจากนั้นได้  ถือเป็นเพลงธาที่อัปมงคล  หากเหตุการณ์ เวลาที่ปกติ ถือเป็นเพลงธาต้องห้ามก็ว่าได้

ณ หมู่บ้านปกาเกอะญอ บ้านทุ่งหลวง ต.แม่วิน อ.แม่วาง เชียงใหม่  กลุ่มชุมชนคนรักป่าร่วมกับกลุ่มละครมะขามป้อม จัดกิจกรรมให้เด็กปกาเกอะญอในชุมชนซ้อมการเล่นละครเพื่อไปแสดงในงาน "มหกรรมเสียงเผ่าชนคนต้นน้ำครั้งที่ 3" โดยมีการหยิบเอา นิทานพื้นบ้านเรื่อง "หน่อหมื่อเอ" ซึ่งเป็นเรื่องที่สาวงามที่ถูกงูใหญ่รัดตัวเพื่อเอาไปมาทำเป็นเมียในพรงของงู  ซึ่งในฉากหนึ่งของการแสดงนั้นมีงานศพของหน่อหมื่อเอ เพื่อให้สมจริงจึงมีการใส่ฉากเพลงแห่ศพเข้าไปในละครด้วย ผมจึงถูกเรียกให้ช่วยไปสอนเพลงแห่ศพ จึงต้องหยิบเอา ธาปลือไปสอนนักแสดง

ก่อนการสอน ผมพยายามไปหาฮี่โข่ ซึ่งเป็นผู้นำทางขวัญและวิญญาณของชุมชน
"พาตี่(ลุง) ผมสามารถสอน ธาปลือ ในหมู่บ้านได้หรือเปล่าครับ" ผมถามฮี่โข่ ท่าทางเขาลังเลนิดหนึ่ง  ก่อนจะตอบว่า
"ผมคิดว่า......น่า...จะได้นะ แต่ให้ไปสอนที่ศาลาชุมชน คงไม่เป็นอะไรหรอกมั้ง?" เขาตอบผม

ผมไม่แน่ใจว่า เขาเกรงใจผมหรือเขาคิดว่าคงไม่เป็นไรจริงๆ แต่เมื่อผมได้รับไฟเขียวจากฮี่โข่ ผมก็ลงมือสอนเยาวชนปกาเกอะญอที่แสดงละครทันที  เสียง ธาปลือ ดังจากศาลาหมู่บ้าน  ชาวบ้านมาชะเง้อมองดูการซ้อมเพลงธา ปลือ เพื่อแสดงละครของเราอย่างแปลกๆ  แต่เมื่อเห็นว่าเป็นการแสดงละคร ทุกคนต่างไม่ว่าอะไร

สองวันผ่านไป  ผมตื่นมาในตอนเช้าวันที่สาม แล้วไปธุระส่วนตัวตามปกติ จากนั้นทานข้าวเช้าเสร็จเตรียมตัวขึ้นไปที่ศาลาชุมชนเพื่อสอนเพลง ธาปลือต่อตามแผนที่วางไว้  ขณะที่ผมกำลังเดินลงบันไดเพื่อไปที่ศาลาชุมชน พร้อมกับเยาวชนที่มารอเต็มหัวบันได ก็มีชายอาวุโสคนหนึ่งเดินเข้ามาหา

"โพโดะ (หลาน) ไม่ต้องไปสอนที่ศาลาแล้ว คืนนี้ไปที่บ้านผมเลย" เขาพูดด้วยสีหน้าตื่นเต้นปนเศร้า
"พูดไปเรื่อย จะร้องธา ปลือที่บ้านได้ไง มันไม่ดี" แม่เฒ่าที่ผมพักอยู่ที่บ้านเขาร้องทัก
"ไม่เป็นไร ก็พี (ยาย) ลอเคาะ เพิ่งสิ้นลมเมื่อเช้านี้เอง" หลังจากเขาพูดจบทุกคนจึงร้องอ๋อ บ้างก็ทำหน้าตกใจ บ้างก็ทำหน้าเศร้าใจ บ้างก็ทำหน้าแปลกใจ

คืนนั้นทั้งผมและเยาวชนก็มีโอกาสไปเรียนรู้การขับขาน ธาปลือ ในสนามจริงอย่างคาดไม่ถึง แต่น่าเสียดายที่มีการเก็บศพพีลอเคาะเพียงแค่คืนเดียว

แต่หลังจากนั้น ฮี่โข่และคนในหมู่บ้านไม่อนุญาตให้ซ้อมการร้องเพลง ธา ปลือ ในชุมชนอีกแล้ว  แต่เขาก็หาทางออกให้ว่า  สามารถซ้อมร้องเพลง ธาปลือได้แต่ต้องออกไปซ้อมให้ไกลจากหมู่บ้านในรัศมีที่ไม่สามารถได้ยินเสียงไก่ขันในชุมชนได้

เช้าวันรุ่งขึ้นจึงปรึกษากันแล้วก็ห่อข้าวกัน จากนั้นออกเดินตามเส้นทางเดินเท้าเล็กๆ ประมาณครึ่งชั่วโมง  เราถึงที่นาผืนหนึ่ง ซึ่งมีกระท่อมหลังหนึ่งปลูกไว้เหมือนเตรียมไว้สำหรับงานนี้โดยเฉพาะ  เราจึงใช้สถานที่นั้นเป็นที่ฝึกซ้อมเพลง ธา ปลือ  เพื่อป้องกันมิให้มีคนตายเพิ่มขึ้นในหมู่บ้านอีก

เราคุยกับ ฮี่โข่ และกลุ่มผู้อาวุโสในชุมชนถึงเรื่องที่เกิดขึ้น  จริงๆ แล้วเราก็กลัวคนในชุมชนจะโทษที่เรามาซ้อมร้องเพลง ธา ปลือ ในชุมชนเช่นกัน แต่โชคดีที่คนในชุมชนต่างรู้และเข้าใจเจตนาของเรา และเราก็ถามฮี่โข่และชาวบ้านก่อนจะทำการฝึกร้องเพลง ธา ปลือ ชุมชนด้วย มิได้ทำโดยพลการ

"ไม่เป็นไร เก่อ ลี แฮ เหน่ เส่ ก่า ตอ อะ คา มันเป็นเหตุการณ์ ไม้หักโค่นเองในจังหวะที่ลมพัดมาพอดี ถ้าเป็นเมื่อก่อนต้องมีการขอขมาครอบครัวผู้ตาย แต่อันนี้เราไม่ว่ากัน" ฮี่โข่บอกกับผมและทีมงานละคร ทำให้เราโล่งอกกันไป แต่ก็เป็นบทเรียนที่น่าจดจำเป็นอย่างยิ่ง 

 

บล็อกของ ชิ สุวิชาน