Skip to main content

แปลจาก: Am I the Face of the New American Middle Class?

******************************

ฉันเรียนจบจากมหาวิทยาลัยช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 80 เฉกเช่นเดียวกับบัณฑิตจบใหม่ที่เปี่ยมความหวังที่ได้งานทำ และถึงแม้ว่าฉันจะเป็นนักเรียนรางวัล Phi Beta Kappa (รางวัลเก่าแก่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาที่มอบให้แก่นักศึกษาที่โดดเด่นด้านศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์-ผู้แปล)พร้อมด้วยประสบการณ์การทำงาน แต่งานอย่างเดียวที่ฉันหาได้ในเวลานั้นเป็นเพียงตำแหน่งครูสอนเสริม ค่าตอบแทนต่ำ เพื่อให้อยู่รอดฉันจึงต้องรับจ้างทำความสะอาดบ้าน งานแบบเดียวกับที่ฉันเคยทำเมื่ออายุสิบหก ฉันอยู่แบบแทบจะไม่มีเครื่องเรือน, กินอาหารน้อยมาก เวลาที่ฉันไม่สบายก็ไม่มีเงินพอจะไปหาหมอ รู้สึกเหมือนถูกหักหลัง เพราะฉันทุ่มเทให้กับการเรียนอย่างหนัก แต่ไม่ได้ผลตอบแทนที่สมควร

2-3 ปีต่อมา ฉันโชคดีพอที่จะได้งานทำที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นงานสอนในวิทยาลัยชุมชนและมีงานเขียนให้กับหนังสือพิมพ์ญึ่ปุ่น หน้าที่การงานดี มีคนนับหน้าถือตา และยังได้รับค่าตอบแทนที่ดี มีสวัสดิการที่พัก, ค่าเดินทางและประกันสุขภาพ ฉันสามารถออมเงิน ได้เดินทาง และยังมีเวลาเหลือมากพอที่จะเขียนนวนิยาย ไม่เคยต้องรู้สึกเป็นกังวล ช่วงเวลาหลายปีที่ญี่ปุ่นเป็นช่วงเวลาเดียวของชีวิตวัยผู้ใหญ่ที่ฉันรู้สึกประสบความสำเร็จ และมั่นอกมั่นใจที่จะนับรวมตัวเองว่าเป็นชนชั้นกลาง

ฉันแต่งงานและมีลูกสาวที่วิเศษ อยู่อพาร์ทเมนท์ชั้นดีในโตเกียว มีแม่บ้านที่มาช่วยทำความสะอาดและอาหารให้สัปดาห์ละสองครั้ง เป็นช่วงเวลายอดเยี่ยมที่ฉันมีกับลูกและสามี

พอลูกสาวโตขึ้นอีกหน่อยเพื่อให้เธอได้เข้าโรงเรียนเอกชนที่ดี เติบโตอย่างแข็งแรงมีความสุข เราก็ย้ายมาอยู่ที่เมาอิ (Maui เป็นเกาะที่ใหญ่เป็นลำดับสองในฮาวาย – ผู้แปล) ไม่นานหลังจากนั้นสิ่งต่างๆก็เริ่มเปลี่ยนไปในทางร้าย สามีป่วยเป็นเบาหวาน และอย่างรวดเร็วที่ลุกลามจนตาบอดพร้อมกับธุรกิจก็สูญสิ้นไป และต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลหลังจากตรวจพบอีกว่าเป็นมะเร็ง ไม่กี่เดือนจากนั้นก็เสียชีวิต ฉันและลูกสาวก็อยู่ด้วยกันตามลำพัง แล้วก็ถูกกระหน่ำด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

สำหรับฉันแล้วมีเพียงสองสิ่งที่สำคัญ: การมีชีวิตรอดและการให้ลูกสาวได้มีการศึกษาที่ดี ฉันสอนในโรงเรียนเอกชนควบคู่กับการทำงานโรงแรม แม้จะทำงานหนักจนทำให้เป็นโรคหัวใจ มีภาวะหัวใจเต้นเร็ว แต่ก็ยังหาได้ไม่พอรายจ่าย

ลูกสาวเป็นความภาคภูมิใจ ได้รับรางวัลในการเรียน ฉันตั้งปฏิญาณที่จะให้เธอคงได้เรียนในโรงเรียนที่เธอรัก ถึงแม้รู้ดีว่างานทำความสะอาดบ้านเป็นวิธีที่จะทำให้อยู่รอดได้ในเมาอิ แต่ฉันก็หยิ่งเกินกว่าที่จะทำงานแบบเดียวกับที่ทำตอนอยู่มัธยมปลาย แต่ในที่สุดฉันก็กล้ำกลืนความหยิ่งยโสและเริ่มต้นงานรับจ้างทำความสะอาดบ้าน

งานหนัก อากาศร้อนตามประสาที่เมาอิอยู่ในภูมิอากาศเขตร้อน เป็นสิ่งที่วิเศษสุดถ้าได้นั่งเก้าอี้ริมระเบียงเพลิดเพลินกับทัศนียภาพ แต่มันไม่ไหวเอาซะเลยหากต้องง่วนอยู่กับการดูดฝุ่น ขัดถู และใต้ข้อศอกถึงปลายนิ้วต้องแช่อยู่กับน้ำร้อน หลังทำงานฉันทำอาหารเย็นให้ลูกสาว บ่อยครั้งที่ฉันผล็อยหลับค่าโต๊ะทำครัว กลางคืนเมื่อเอนตัวลงนอนฉันก็ต้องร้องขอต่อพระเจ้าว่า “โอ้ พระเจ้า เมื่อฉันหลับขออย่าให้ฉันตายนะ” และเมื่อตื่นตอนเช้า ฉันถอนหายใจด้วยความโล่งอกเสมอ เพราะฉันรู้จักผู้หญิงในวัยเดียวกับฉันที่ตายเพราะหัวใจวาย

ครั้งแรกเมื่อฉันย้ายมาอยู่เมาอิ ฉันช็อคที่พบบางคนที่ไม่สามารถไปจากเกาะเพียงเพราะเงินไม่กี่ร้อยเหรียญค่าตั๋วเครื่องบินเป็นสิ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีพอจ่าย แต่เดี๋ยวนี้ฉันเองก็เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น

ที่ละชิ้น ละชิ้น เครื่องประดับมีค่าที่สามีให้มา ฉันค่อยๆ ทยอยขายออกไป รวมถึงของที่เป็นมรดกตกทอดมาจากครอบครัว เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาของลูกสาว ฉันขายสร้อยไข่มุกให้สาวน้อยชนชั้นสูงจากชิคาโก้ ในวันที่เราตกลงใจกันว่าจะขาย ฉันสวมสร้อยไข่มุกให้ลูกสาว แล้วก็ให้เธอดูมันในกระจก อธิบายว่าสร้อยมุกนี้มีค่ามีความหมายอย่างไรมาก่อน

“แม้ว่าไข่มุกนี้จะสวยงาม แต่สำหรับแม่หนูและความงามในจิตใจของหนูงดงามและมีค่ากว่ามากมายนัก ต่อไปเราคงต้องเรียกมันว่า ‘ไขมุกแห่งปัญญา’ เพราะว่ามันจะถูกแลกเปลี่ยนเพื่อการศึกษาของลูก” นั่นคือที่ฉันบอกกับลูกสาว

เธอหัวเราะและเข้ามาสวมกอดฉัน

แม้จะทำทุกสิ่งอย่างแล้วเงินก็ไม่เคยมีเพียงพอ ฉันต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อให้ลูกสาวได้อยู่ในโรงเรียนนั้นต่อ ฉันจัดขายของเลหลัง เมื่อฉันจัดระเบียบข้าวของในตู้เสื้อผ้าของบ้านที่ฉันทำความสะอาด ครอบครัวเหล่านั้นก็ใจดีที่จะบริจาคสิ่งที่ไม่ได้ใช้เหล่านั้นให้ฉันไปขาย ฉันยังทำคุกกี้และบราวนี่ขาย ฉันร่ำไห้ในวันที่ฉันต้องขอรับการสงเคราะห์เพราะกระบวนการเป็นไปอย่างเชื่องช้า ฉันจัดการให้ตัวเองได้มีเวลาเขียนนวนิยาย แม้จะเพียงวันละไม่กี่นาที แต่นั่นก็เป็นเพียงเวลาเดียวที่ฉันจะได้สดชื่น ผ่อนคลาย

ฉันเรียนรู้อย่างรวดเร็วว่าเกือบทุกสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นสารัตถะของชนชั้นกลางล้วนเป็นสิ่งที่ฟุ่มเฟือย รายการยาวเหยียดไม่รู้จบ ตั้งแต่โทรทัศน์, โทรศัพท์บ้าน ไปจนถึงเครื่องแต่งผม, และผลิตภัณฑ์ในบ้านไปจนถึงไวตามิน, ยาส่วนใหญ่, ฟาสต์ฟูดส์, เครื่องดื่มอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากน้ำเปล่า และของชำทั้งหลายที่เกินจำเป็น

อาหารที่เรากินส่วนใหญ่เป็นปลาและข้าว รวมทั้งผักผลไม้จากตลาดนัดเกษตรกร ฉันอาจจะยอมฟุ่มเฟือยบ้างกับชาและกาแฟ บางทีฉันก็แบ่งอาหารที่จะกินออกครึ่งหนึ่งเพื่อที่จะให้ลูกสาวได้กินมากกว่า ฉันใส่เสื้อผ้าเดิมที่ใช้มากว่าสิบปี เมื่อมันมีรูก็ปะซ่อมแก้ไขเพื่อให้ใส่ได้ต่อไป ฉันยกเสื้อผ้าสวยๆ น่ารักสมัยสมัยอยู่โตเกียวให้ลูกสาว และเมื่อฉันพอจะมีเงินซื้อเสื้อผ้าบ้างก็จะซื้อจากร้านที่ขายสินค้าราคาประหยัด และซื้อให้ลูกสาวเท่านั้น

ฉันเริ่มรู้สึกต่ำต้อย ไม่รู้สึกว่าตัวเองมีเกียรติ สูญเสียความมั่นใจ ฉันเลิกที่จะพูดถึงงานเขียน และไม่นานก็ไม่มีใครรู้ว่าฉันเคยเป็นนักเขียนหรือเคยเรียนมหาวิทยาลัย ไม่มีใครรู้จักฉัน ฉันกลายเป็นคนที่ไร้ตัวตนในสังคม

แต่งานหนักและการเสียสละตัวเองก็มีรางวัลตอบแทนกลับมาบ้าง ลูกสาวเรียนจบมัธยมและได้รับทุนการศึกษาเต็มสำหรับการเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเอกชนที่เวสต์โคสต์ ผู้คนมักจะถามฉันว่าเธอทำอย่างไรถึงสามารถเลี้ยงลูกให้ได้เป็นสาวน้อยที่เก่งกาจจนสามารถได้ชิงทุนมหาวิทยาลัยเอกชนได้ด้วยตัวเอง ฉันก็ไม่รู้ว่าจะตอบยังไงเพราะมันก็เป็นดุจปาฏิหาริย์สำหรับฉันเหมือนกัน หลายครั้งที่ฉันคิดว่าคงจะล้มเหลว แต่เราก็กลับทำได้สำเร็จ

ก่อนที่ลูกสาวจะจากไปเรียนมหาวิทยาลัย ฉันบอกเธอว่าความสำเร็จที่แท้จริงไม่ใช่เรื่องเงิน ความสำเร็จที่แท้จริงวัดจากการที่เธอมีความสุข จงมุ่งมั่นเพื่อความสุข ฉันบอกเธออย่างนั้น

ฉันยังคงรับจ้างทำความสะอาดบ้าน กินแต่น้อยเพื่ออมเงินไว้สำหรับให้ลูกสาวได้กลับมาบ้านในช่วงวันหยุด ฉันกังวลว่าฉันจะไม่มีเงินมากพอที่จะเลี้ยงดูเธอ ฉันพยายามที่จะไม่คิดถึงอนาคตของตัวเอง การเกษียณเป็นสิ่งที่คนอื่นทำได้ แต่สำหรับฉันคงต้องทำงานไปจวบจนวันตาย

แต่ละวันฉันไปทำความสะอาดจากบ้านหลังหนึ่ง ไปสู่หลังต่อไป หยุดทักทายกับคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ชายหาดซึ่งไม่ได้มีทรัพย์สินอื่นใดนอกจากเสื้อผ้าและโทรศัพท์มือถือ แต่ถัดไปในอีกไม่กี่นาทีฉันก็อาจจะกำลังพูดคุยกับบางคนซึ่งเป็นเจ้าของสิ่งต่างๆมากมาย มีบ้านริมชายหาดราคาหลายล้านเหรียญและเครื่องบินส่วนตัว ฉันเดินบนเส้นเชือกตึงๆที่ขึงกลางระหว่างสองโลก กลัวเสมอที่จะร่วงหล่น บางทีก็อดฉงนสนเท่ห์ว่า “ฤาฉันจะเป็นโฉมหน้าของชนชั้นกลางใหม่แห่งอเมริกันชน?”

ฉันหวังว่าจะไม่ใช่ ฉันหวังว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น จริงๆ

 

เรื่องราวของ K.Ford K. เป็นส่วนหนึ่งของบทความชุดชาวอเมริกันผู้กรำงานและดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอด อ่านเรื่องราวของคนอื่นๆในชุดนี้ได้ ที่นี่

K. Ford K. เขียนนวนิยายเรื่อง “The Wife of John the Baptist” มีผลงานตีพิมพ์ในนิตยสารและหนังสือพิมพ์จำนวนมากในโคโลราโด, ญี่ปุ่น และฮาวาย หลังจากสิบสี่ปีของการทำงานครูและงานเขียนในต่างประเทศ ปัจจุบันเธอต้องดิ้นรนให้อยู่รอดในฮาวาย

 

หมายเหตุ:

ระหว่างพักสมองและสายตาจากการทำงานหลัก ได้แวบไปอ่านบทความชิ้นนี้ ชอบเรื่องราว การเล่าเรื่องราว และมีคำถามเกิดขึ้นหลังการอ่าน ต่อความเป็นไปในระบบสังคม ความแตกต่างเหลื่อมล้ำ ที่มาจ้องหน้าเราอยู่ในเกือบทุกสังคม และเรื้อจากการเขียนหนังสือมาพอสมควร ขอเริ่มบริหารสมองและหัวใจด้วยการแปลเรื่องเหล่านี้มาปันกัน

 

บล็อกของ จีรนุช เปรมชัยพร

จีรนุช เปรมชัยพร
ฉันน้ำตาไหลเลยหลังจากอ่านข่าวสรุปถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ที่ส่งสารตรงถึงประชาชนชาวเนเธอร์แลนด์ เมื่อค่ำวันจันทร์ที่ ๑๖ มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นในรอบห้าสิบปี หลังจากที่ครั้งสุดท้ายนายกฯเขาต้องออกมาพูดกับประชาชนทั่วประเทศอย่างนี้คือครั้งวิกฤติน้ำมันปี ๑๙๗๐
จีรนุช เปรมชัยพร
“เรารู้สึกว่า การเป็นพ่อแม่ ไม่ได้แปลว่าต้องเลิกรับผิดชอบสังคม เราละทิ้งสังคมไม่ได้”                                                                   - บอนนี่ ไรเนส (Bonnie Raines)
จีรนุช เปรมชัยพร
++งานสิบปีประชาไท เลื่อนไปเป็น 30 มกราคม 2558 เหตุผลโดยละเอียดจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง เบื้องต้นขอแจ้งข่าวเลื่อนการจัดงานสั้นๆก่อนนะคะ++ 9 ตุลาคม
จีรนุช เปรมชัยพร
แปลจาก: Am I the Face of the New American Middle Class?******************************
จีรนุช เปรมชัยพร
เลือกข้างเสรีภาพ Click SOPA = Stop Online Piracy Act
จีรนุช เปรมชัยพร
  Background
จีรนุช เปรมชัยพร
เกี่ยวกับประชาไท
จีรนุช เปรมชัยพร
มีหลายเรื่องที่อยากพูดคุยกับผู้อ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนสมาชิกเว็บบอร์ดประชาไท ในบรรดาหลายเรื่องที่อยากคุย ประเด็นเรื่องความปลอดภัยและการรักษาความเป็นส่วนตัว หรือหากบางท่านไม่อยากเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง จะสามารถดำเนินการเพื่อปกป้องตัวเราและคนที่เรารัก ห่วงใย ได้
จีรนุช เปรมชัยพร
จดหมายฉบับนี้ควรจะส่งถึงผู้อ่านประชาไทและเพื่อนสมาชิกเว็บบอร์ดประชาไท หนึ่งเดือนมาแล้ว แต่ทว่า..ดิฉันเองก็ตกอยู่ในอาการอ้ำอึ้งพูดไม่ออก ไม่รู้จะบอกอะไรได้มากไปกว่า   “ขอโทษ”  
จีรนุช เปรมชัยพร
วันนี้เวลาใกล้สี่โมงเย็นเว็บบอร์ดประชาไทก็พร้อมเปิดให้บริการนะคะ อาจจะยังแปลกตาและไม่คุ้นเคย และระบบบางอันอาจยังมีปัญหาได้บ้าง เนื่องจากเร่งเปิดให้ใช้งานนะคะ อย่างไรก็ตามทีมงานจะปรับแก้ในลำกับต่อไปค่ะ  มีประกาศที่แจ้งให้ทราบในการใช้เว็บบอร์ดใหม่ ที่ขออนุญาตคัดลอกมานำเสนออีกครั้งนะคะ เปลี่ยนระบบยกเลิกใช้ชื่อ user login และใช้ชื่อ user name เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งสมาชิกสามารถใช้งานรหัสผ่านชุดเดิมได้ทันที หากสมาชิกไม่สามารถลงชื่อเข้าใช้งาน เนื่องจากลืมชื่อ username หรือรหัสผ่าน ให้ดำเนินการขอรหัสผ่านชุดใหม่…
จีรนุช เปรมชัยพร
เรียน เพื่อนสมาชิกและผู้อ่านเว็บบอร์ดประชาไท ทางประชาไทมีความจำเป็นที่จะต้องมีปิดการใช้งานเว็บบอร์ดเป็นการชั่วคราว (2-3 วัน) เพื่อปรับเปลี่ยนโปรแกรมเว็บบอร์ด ซึ่งเป็นแผนการปรับปรุงที่กำหนดไว้แต่เดิม และเคยตั้งใจว่าก่อนการปรับเปลี่ยนจะเรียนแจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า แต่เนื่องจากมีการแจ้งปัญหาเกี่ยวกับการที่โปรแกรมมีช่องโหว่เรื่องการ เปลี่ยน user name ได้ ที่สำคัญสามารถปรับเปลี่ยนไปเป็น user name ของสมาชิกท่านอื่นที่มีอยู่แล้ว ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ต่างจาก กรณีของการตั้ง user name ให้ดู คล้าย ดังกรณีของคุณ mom_ ดังนั้นทางทีมงานจึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนระบบก่อนแผนการที่กำหนด…
จีรนุช เปรมชัยพร
มีเพื่อนแนะนำให้อ่านบทความในบลอก BioLawCom.De เรื่องเกี่ยวกับสื่อและประชาชน คลิกไปอ่านแล้ว น่าสนใจดีค่ะ ขออนุญาตเก็บมาฝากทุกท่านนะคะ ยกมาเฉพาะหนังตัวอย่างพอเป็นน้ำจิ้ม อยากอ่านฉบับเต็มๆ แนะนำให้คลิกไปอ่านที่เว็บต้นทางเลยนะคะ เคยมีคนกล่าวว่า "นอกเหนือจากอำนาจสามเสาในหลักการแบ่งแยกอำนาจ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แล้ว สื่อ ยังเปรียบเสมือนอำนาจที่สี่ แห่งรัฐสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐในยุคข้อมูลข่าวสาร" ...และด้วยพลังอำนาจ และความทรงประสิทธิภาพเช่นนี้นี่เอง ในด้านหนึ่ง…