และแล้วความเปลี่ยนแปลงก็ปรากฏ "บนสองฟากฝั่งตะนาวศรี"

 

 

จากภาพการ์ตูนด้านล่าง เราจะเห็นการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาเส้นทางโลจิสติกส์ระหว่างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ของไทยกับรัฐบาลเต็งเซ่งของเมียนมาร์เพื่อกระตุ้นสภาพเศรษฐกิจผ่านโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย แต่กระนั้น พลังอำนาจของรัฐบาลและนักธุรกิจที่พุ่งทะลุทะลวงผ่านหมู่บ้านชนบทอันแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติที่ชุ่มฉ่ำ (ในเขตเทือกเขาตะนาวศรี) กลับทำให้ผมเกิดคำถามขึ้นในใจประการหนึ่ง

ข้อคำถามของผม ก็คือ ทั้งๆ ที่รัฐบาลไทยกับเมียนมาร์ชุดปัจจุบัน ต่างเร่งผลิตนโยบายสาธารณะเพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างกันอย่างแนบแน่น หากแต่รัฐบาลของทั้งสองประเทศเองนั้น กลับประสบปัญหาเกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่นและการกระจุกอำนาจการตัดสินใจเอาไว้ในอุ้งมือของชนชั้นนำมากกว่าประชาชน

ฉะนั้น เราจะทำอย่างไรเพื่อให้ ประชาธิปไตยแบบเสียงข้างมาก/Majoritarian Democracy สามารถผสมผสานไปกับ ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม /Deliberative Democracy ได้อย่างพอดิบพอดี

เนื่องจากกรณีแรกมักทำให้เกิดการรวบอำนาจจัดทำนโยบายในแบบผู้ชนะกินรวบทั้งหมด/The Winner takes all จนทำให้เสียงของฝ่ายค้านและประชาสังคมไม่มีพลังถ่วงดุลคัดคานนโยบายประชานิยมของฝ่ายรัฐบาลอย่างพอเพียง แต่ขณะเดียวกัน กรณีหลัง ก็กลับทำให้การตัดสินโครงการต่างๆ มักประสบความล่าช้าเนื่องจากมีตัวแสดงและกลุ่มผลประโยชน์มากมายที่เข้ามามีส่วนร่วมในเครือข่ายนโยบาย

ขณะเดียวกัน คนธรรมดาอย่างเราจะทำอย่างไรที่จะให้ยุทธศาสตร์การพัฒนากระแสหลักที่เน้นการผลิตโครงสร้างพื้นฐานอย่างถนน เขื่อน อ่างเก็บน้ำ และท่าเรือ กับยุทธศาสตร์การพัฒนากระแสทางเลือก ที่เน้นความสุขความพอใจของพลเมือง และการบรรสานกลมกลืนเชิงนิเวศน์วัฒนธรรมท้องถิ่น สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลและมีบูรณาการ

ท้ายที่สุด เป็นเรื่องน่าเศร้าเหลือเกิน ที่ทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมาร์ มักมองเทือกเขาตะนาวศรีและอาณาบริเวณชายแดน ในฐานะพื้นที่การลงทุนอันกว้างใหญ่ไพศาลที่แม้ถนนขนาดความกว้างราวๆ สองร้อยเมตร ก็คงไม่สร้างผลเสียอะไรมากนักกับจิตวิญญาณของธรรมชาติและผู้คนที่เป็นรากเหง้าที่แท้จริงของบรรพชนคนอุษาคเนย์ โดยกรอบคิดหรืออัตวิสัยที่ชอบทำ activity หนักๆ บน space ใหญ่ๆ ก็มักทำให้เกิดความละเลยในหมู่ผู้นำหรือนักผลิตมหาโครงการต่างๆ ของภาครัฐ จนทำให้บุคคลเหล่านั้น มักไม่พยายามที่จะคิดอะไรในแบบเล็กๆ และไม่เดือดร้อนชาวบ้าน หรือ เดือดร้อนบ้าง แต่ก็มีวิธีตอบแทนการสูญเสียที่สมเหตุสมผล ซึ่งก็นับเป็นกระบวนทัศน์ที่เราอาจพบเห็นได้น้อยมากในกระบวนการบริหารปกครองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขอขอบคุณความเอื้อเฟื้อจาก Dawei Project

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช