Skip to main content

 

มิใช่มีแต่เพียงพระบรมราชานุสาวรีย์ 7 บูรพกษัตริย์ที่อุทยานราชภักดิ์ หัวหิน เท่านั้น ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ กองทัพบกยังเตรียมเนรมิตโครงการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวร เพื่อเทิดพระเกียรติและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของวีรกษัตริย์ รวมถึงใช้เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนหลากหลายชาติพันธุ์ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์

สำหรับองค์พระบรมรูป มีลักษณะทรงม้าศึก หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ กว้าง 4 เมตร ยาว 7.83 เมตร และ สูง 6 เมตร โดยกำหนดสร้างขึ้นในพื้นที่ของกองพลทหารราบที่ 7 ซึ่งบรรดาผู้นำกองพลต่างเชื่อว่าสถานที่แห่งนี้คืออดีต 'ทุ่งยั้งทัพพระองค์ดำ' หรือ 'King Neresuan's Staging Ground' ซึ่งมีลักษณะเป็นทุ่งยุทธศาสตร์เพื่อใช้ประชุมพลก่อนกองทัพสมเด็จพระนเรศวรจะเคลื่อนกำลังบุกโจมตีกรุงอังวะผ่านเส้นทางเมืองเวียงแหงและเมืองนายในรัฐฉาน

การปั้นพระบรมรูปราชันอัคคีในท่วงท่าทรงอาชาไนย นอกจากจะสะท้อนถึงกลิ่นอายของลัทธิเสนา-ราชาชาตินิยม (Praetorian-Monarchical Nationalism) เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของจิตวิญญาณชาติ (National Spirit) ในช่วงที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยวิกฤติความขัดแย้งต่างๆ ยังถือเป็นการสำแดงพลังเสนาธิปัตย์ หรือชนชั้นนำทหารที่มีบทบาททั้งการป้องกันและปกครองประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง (Transitional Politics) โดยเฉพาะในเขตพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพภาคที่สามที่มีพรมแดนส่วนใหญ่ติดพม่าและรัฐฉาน รวมถึงเต็มไปด้วยความหลากหลายของกลุ่มการเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ

กระนั้นก็ตาม โจทย์แหลมคมเกี่ยวกับความคุ้มค่าของการสร้างอนุสาวรีย์ คือ การเปิดพื้นที่ปริมณฑลทางประวัติศาสตร์เพื่อให้ลัทธิเสนา-ราชาชาตินิยม มีทั้งเอกลักษณ์และความสามารถในการปรับตัวโลดแล่นร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านหรือประชาชนที่เคยเป็นปฏิปักษ์กับกองทัพและสถาบัน ได้แนบแน่นกว่าในอดีต

เช่น ทำอย่างไร ถึงจะให้ทั้งชาวไทย ชาวไทใหญ่และชาวพม่า มีความสบายใจเมื่อได้เห็นพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวร ทั้งนี้ เพราะหากจะเร้าให้ทหารไทยหรือนักชาตินิยมไทย มีความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ชาติ ภารกิจการปั้นอนุสาวรีย์ คงหลีกไม่พ้นที่จะต้องใส่เรื่องราวเกี่ยวกับการรณรงค์สงครามระหว่างอยุธยากับหงสาวดี-อังวะ ในอดีต หากแต่ผลที่ตามมา อาจมีทั้งความร่วมมือและความหวาดระแวงจากฝั่งเพื่อนบ้าน เช่น กลุ่มชาตินิยมไทใหญ่ อาจมองพระนเรศวรในฐานะพระสหายที่เคยร่วมอุดมการณ์กับเจ้าคำก่ายน้อย เจ้าฟ้าไทใหญ่ เพื่อผนึกกำลังบุกตีกรุงอังวะของพม่า

แต่เมื่อถามมุมมองคนพม่าบางกลุ่มแล้ว สัมพันธภาพแบบบิดากับราชบุตรบุญธรรมระหว่างพระเจ้าบุเรงนองกับพระนเรศวร อาจช่วยกระชับมิตรภาพได้ดีกว่าการฉายภาพการแข่งขันสำแดงปริมณฑลแห่งอำนาจระหว่างสองราชันผู้แห่งใหญ่แห่งอุษาคเนย์พื้นทวีป

ดังนั้น คงเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับกองทัพไทย ที่ทำอย่างไรถึงจะให้เส้นทางประวัติศาสตร์สงคราม เดินทางบูรณาการร่วมกับ เส้นทางประวัติศาสตร์การทูต/วัฒนธรรมได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว และทำอย่างไรถึงจะทำให้หมู่ราชันและหมู่เสนาโยกตัวเข้าหาหมู่ประชาชนหลากสีหลากเผ่าได้แนบสนิท ซึ่งการผสมผสานองคาพยพที่แตกแยกกระจัดกระจาย ให้ดูกลืนกลายกันไปแบบมีสมดุล สามารถกระทำได้ผ่านการปั้นและจัดระบบภูมิทัศน์รอบอนุสาวรีย์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ประติมากรรมอนุสาวรีย์ ย่อมบ่งบอกถึงสถาปัตยกรรมว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ

ฉะนั้น การจะสร้างชาติให้ดูยั่งยืนมีสมดุลจึงมีบททดสอบหลักอยู่ที่การปั้นอนุสาวรีย์ ซึ่งมีนัยสำคัญอย่างลึกซึ้งต่อวิวัฒนาการของรัฐไทย ซึ่งมีลักษณะเป็นรัฐนาฏกรรม (Theatre State) และรัฐอำนาจนิยม-ประเพณีนิยมในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

 

 

 

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค