Skip to main content

 

เช้าวันอาทิตย์ที่ 13 ธ.ค.2558 ซึ่งถือเป็นวันที่ข่าวการไว้อาลัยต่อการจากไปของสุดยอดบรมครูแห่งโลกอุษาคเนย์ศึกษา (หลังสุนทรพจน์อันยอดเยี่ยมคมคายของเขา ณ แดนอิเหนา) ผมกำลังเตรียมอ่านหนังสือรวมบทความของ 'เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน' (Benedict Anderson) นักรัฐศาสตร์/นักประวัติศาสตร์เปรียบเทียบชื่อดังจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ผู้สันทัดกรณีในแวดวงไทย/อินโดนีเซียศึกษา และถือเป็นผู้ใฝ่หาบูชาลัทธิอุษาคเนย์นิยมตัวฉกาจ (Southeast Asianism)

ในการศึกษาเกี่ยวกับรัฐไทย เบน แอนเดอร์สัน คือ 'ยักษ์' ที่ต้องข้ามให้พ้น ไม่ว่าใครจะเห็นด้วยกับบทวิพากษ์ของเค้าหรือไม่ก็ตาม อนึ่ง ด้วยความเจนจัดในการวิเคราะห์วิจารณ์อย่างคมคายบวกกับสุนทรียศาสตร์ทางภาษาที่ยอดเยี่ยม ทำให้เบนถูกตั้งฉายาว่าเป็นพวกจระเข้ขวางคลอง เพราะชอบโต้แย้งหรือตั้งสมมุติฐานใหม่ๆ ที่สวนกระแสความเชื่อของคนทั่วไป ทว่าตรรกะหรือเทคนิคการให้เหตุผลของเบนกลับยิ่งใหญ่ทรงพลังจนยากที่จะหาหมออาคมมาปราบพญากุมภีล์ที่ทรงฤทธิ์ตนนี้ได้อย่างชะงัด

ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ การตั้งสมมุติฐานของเบนที่ว่า ในบางแง่มุมที่สำคัญ สยามโชคร้ายไม่ใช่เพราะตกเป็นอาณานิคมฝรั่งแบบเต็มตัว หากแต่เป็นเพราะตกอยู่ใต้อาณานิคมทางอ้อม และด้วยเหตุเช่นว่า สยามจึงเกือบจะเป็นประเทศสุดท้ายในอุษาคเนย์ที่กลายเป็นรัฐประชาชาติอิสระ ซึ่งนับเป็นการพลิกสมมุติฐานแบบสวนกระแสและขวางขนบความเชื่อเก่าของคนไทยแบบสิ้นเชิง ที่มักจะเชื่อกันว่า การไม่ตกเป็นอาณานิคมฝรั่งถือเป็นโชคดีอย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งทำให้สยามมีความพิเศษในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ช่วงศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 และด้วยเหตุนี้ สยามจึงเป็นรัฐประชาชาติสมัยใหม่ที่เป็นเอกราชแห่งแรกในเอเชียอาคเนย์ (ที่ถูกสถาปนาขึ้นก่อนรัฐอาณานิคมอื่นๆ เช่น รัฐเวียดนามหรือรัฐพม่า)

ฉะนั้น การใคร่ครวญข้อสมมุติฐานใหม่ๆ ของเบน จึงสร้างทั้งความฉงนตื่นเต้น และความเกรี้ยวกราดขัดหูขัดตาพอๆ กัน หากแต่ความย้อนแย้ง (paradox) ที่เขย่าขนบความเชื่อเช่นนี้ ก็เป็นแรงดึงดูดให้มีนักวิชาการไทยหรือเทศจำนวนมิน้อย ยอมสลัดจากกรอบคิดที่คับแคบตื้นเขินแล้วหันมาลองลิ้มรสคมความคิดของครูเบนในแบบที่เปิดกว้างและเสรีกันมากขึ้น

จุดเด่นของเบนอีกอย่างหนึ่ง คือ แนววิเคราะห์การเมืองไทยผ่านวิธีวิทยาเปรียบเทียบสองมิติ ได้แก่ มิติร่วมพื้นที่-ข้ามเวลา (เช่น เปรียบประเภทการใช้อำนาจของกองทัพไทยตามช่วงเวลาต่างๆ) กับ มิติร่วมเวลา-ข้ามพื้นที่ (อาทิ การเปรียบโลกราชาธิปไตยสยามสมัยรัชกาลที่ห้ากับรัฐกษัตริย์ใต้ระบบอาณานิคมทางอ้อมอื่นๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน) ซึ่งความถนัดชำนาญของเบนในเรื่อง Comparative Method ผ่านชั้นเชิงที่เรียกกันว่า 'The Spectre of Comparison' ได้ทำให้เบนถูกขนานนามว่าเป็น 'นักเปรียบเทียบ' หรือ 'Comparativist' ที่โดดเด่นเป็นอันดับต้นๆ ในประวัติศาสตร์โลกร่วมสมัย

ผมจะใช้เวลาอย่างเต็มที่ในการพิจารณาใคร่ครวญงานของครูเบน ซึ่งผมเชื่อว่า หากใครที่สนใจใฝ่รู้ทางด้านไทยหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา โดยเฉพาะในแง่มุมประวัติศาสตร์นิพนธ์และการเมืองการปกครองเปรียบเทียบ งานของเบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน คงจะไม่ทำให้ใครผิดหวัง

ผมเคยสนทนากับครูเบนที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อไม่กี่ปีก่อน ครูเบนกล่าวชมหนังสือผมเรื่อง Naypyidaw: The New Capital of Burma โดยให้เหตุผลว่าอ่านแล้วรู้สึกสนุกและให้ภาพเปรียบเทียบการย้ายเมืองหลวงของพม่ากับการย้ายเมืองในรัฐอื่นๆ ทั่วโลกได้ชัดเจนกว้างขวาง

ทว่า เมื่อผมได้ทยอยอ่านงานของครูเบนทั้งเรื่อง Imagined Community หรือหนังสือรวมบทความจากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ที่กำลังนำเสนอท่านผู้อ่านอยู่ในกระทู้นี้ ผมกลับค่อยๆ รู้สึกว่า ยังมีอะไรอีกมากที่ต้องพัฒนาเรียนรู้ขวนขวายเพิ่มเติม นักวิชาการไทยมิใช่น้อย ยังมีปัญหาในเรื่องการตั้งคำถามวิจัยหรือการสอบสวนปรากฏการณ์ภายในภูมิภาคผ่านวิธีวิทยาเปรียบเทียบอันทรงพลัง กระนั้น ผมก็เชื่อว่า เมื่อเรามีความตั้งใจจริงที่จะพัฒนาปรับปรุงตัวเอง มรดกของครูเบนคงช่วยให้เราสามารถเปิดเลนส์ส่องโลกแล้วหันกลับมามองปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ใต้ภูมิทัศน์การเมืองไทยได้อย่างแจ่มชัดและลุ่มลึกขึ้น

 

พระครูเบนกับจระเข้ขวางคลองในโลกไทยศึกษา
ด้วยความเคารพ

ดุลยภาค ปรีชารัชช

 



 

บล็อกของ ดุลยภาค