Skip to main content

อิโล อิโล (Ilo-Ilo) :  สิงคโปร์-ฟิลิปปินส์ เกิด ตาย และการอยู่ร่วมกัน ในวันที่เราหลงลืมอะไรบางอย่าง

 

โดย ฟิล์ม กาวัน (Film Kawan)

 

 “อิโล อิโล” ผลงานของแอนโธนี่ เฉิน (Anthony Chen) เป็นภาพยนตร์จากสิงคโปร์ที่คว้ารางวัลกล้องทองคำ (Camera d’or) ซึ่งมอบให้กับผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปีล่าสุด  และได้รับเสียงตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากผู้ชมที่ยืนปรบมือให้กับหนังยาวนานกว่า 15 นาที

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีอะไรพิเศษ?

ชื่อเรื่องก็แปลก มันสิงคโปร์ยังไง ?

แอนโธนี เฉิน ผู้กำกับวัย 29 ปี ถ่ายทอดเรื่องราวจากประสบการณ์ตรงของตนเอง เพราะตอนที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนั้น ครอบครัวของเขาก็ได้รับผลกระทบโดยตรง นั่นทำให้เขาสามารถนำเสนอออกมาได้อย่างสมจริงและเจ็บปวด

 “อิโล อิโล” เป็นชื่อของจังหวัดแห่งหนึ่งทางภาคตะวันตกของวิซายาส (Visayas) หมู่เกาะทางตอนกลางของฟิลิปปินส์ ผู้ที่มาจากจังหวัดนี้คือ ชาวอิลองโกส (Ilongos) มีภาพลักษณ์ของการเป็นคนสุภาพอ่อนโยน พูดช้า นิ่มนวลและดูแลเอาใจใส่ผู้อื่น เมื่อสามสิบปีก่อน จังหวัดแห่งนี้เป็นหนึ่งในพื้นที่ยากจนของวิซายาส ผู้คนจำนวนมากเลือกที่จะออกมาเผชิญโชคเป็นแรงงานต่างด้าวร่วมกับชาวฟิลิปปินส์จากภูมิภาคอื่น แม้ว่าทุกวันนี้เศรษฐกิจจะดีขึ้นมาก แต่ก็ยังมีชาวอิลองโกสจำนวนมากเดินทางออกไปทำงานนอกประเทศ “เทอรี่” หรือ "เทเรซา" ตัวละครสำคัญในเรื่องมาจาก อิโล อิโล เธอก็เลือกเส้นทางเดินคล้ายๆกับผู้หญิงจำนวนมากในฟิลิปปินส์ที่เดินทางเข้ามาทำงานในสิงคโปร์ในฐานะแม่บ้าน เพื่อหวังจะหารายได้จากค่าแรงที่สูงกว่าเพื่อไปจุนเจือลูกน้อยและครอบครัวที่บ้านเกิด เทอรี่ เข้ามาทำงานกับครอบครัวชนชั้นกลางครอบครัวหนึ่งในสิงคโปร์ในช่วงที่วิกฤตเศรษฐกิจกำลังถาโถม โดยมีคุณผู้ชายที่ชะตาใกล้ขาดกับงานที่โรงงานทำกระจกแห่งหนึ่ง ประสบการณ์ในแวดวงธุรกิจกว่า  15 ปี ไม่อาจจะช่วยให้เขาอยู่รอดในตำแหน่งงานได้อีกต่อไป เขาต้องยอมไปทำงานเป็นยาม ณ โรงงานแห่งหนึ่งโดยปิดบังความจริงไม่ให้คนในครอบครัวรู้ 

ขณะที่คุณผู้หญิงทำงานเป็นเสมียนให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง หญิงท้องแก่อย่างเธอต้องคอยเฝ้าสังเกตการณ์ลางร้ายของปัญหาเศรษฐกิจในบริษัทอยู่ตลอด หน้าที่ประจำวันของเธอในช่วงเวลานั้นคือ การพิมพ์จดหมายเลิกจ้างของพนักงาน และต้องเห็นคนงานที่ค่อยๆเดินออกจากบริษัทไปทีละคน เทอรี่เข้าใจสถานการณ์ของครอบครัวนี้เป็นอย่างดี เธอรับหน้าที่ดูแลงานภายในบ้านในฐานะที่แม่บ้านคนหนึ่งพึงทำ แล้วก็ยังไปแอบทำอาชีพเสริมเป็นช่างทำผมอย่างที่แม่บ้านชาวฟิลิปปินส์นิยมทำกัน แต่สิ่งที่ทำให้เธอต้องปวดหัวที่สุดคือ เด็กชายวัย 10 ขวบของครอบครัวนี้นามว่า “เจียเล่อ” (Jiale) เด็กแสบคนนี้ดูเหมือนจะไม่รับรู้ความทุกข์ร้อนใดๆของคนในบ้าน แต่การเป็นเด็กดื้อของเขาก็ทำให้เขาเอาตัวรอดได้ในหลายครั้ง ความสัมพันธ์ระหว่างเทอรี่และเจียเล่อ ค่อยๆพัฒนาไปในทางที่ดี ในยามที่พ่อแม่ของเขาต่างวุ่นวายและเครียดกับปัญหาเศรษฐกิจ เทอรี่ทำหน้าที่ไม่ต่างจากแม่ของเขา จนแม่ตัวจริงรู้สึกว่าเธอกำลังสูญเสียบทบาทนั้นไป

 

 

“อิโล อิโล” ไม่ใช่หนังที่หวือหวาและมีประเด็นที่ซับซ้อนใดๆ แต่เป็นความเรียบง่ายที่ลึกซึ้ง ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับหลายๆครอบครัวที่ต้องข้ามผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายและเข้าใจการเดินทางสามัญของชีวิตมนุษย์ ความสมบูรณ์แบบที่รัฐบาลสิงคโปร์พยายามสร้างให้กับผู้คนและสังคมทั้ง การศึกษา ที่อยู่อาศัย เศรษฐกิจที่ดี และอื่นๆ อาจจะไม่เพียงพอและอาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายสำหรับการก้าวผ่านความยากลำบากในชีวิต ห้องสี่เหลี่ยมของอพาร์ทเม้นท์ที่เป็นรังนอนของคนสิงคโปร์ทั่วไปดูจะเหมาะสมกับสภาพชีวิตในสังคมเมือง เป็นชีวิตตามรูปแบบของคนทำงานออฟฟิศ แต่ที่สุดแล้วความสมบูรณ์นั้นอาจจะทำให้พวกเขาหลงลืมอะไรไปบางอย่าง ทันทีที่เทอรี่สวดมนต์ต่อพระเจ้าก่อนทานข้าว พวกเขาก็เริ่มสังเกตบางอย่างที่แปลกปลอม วันดีคืนดีความตายก็มาเยือนเมื่อเพื่อนบ้านกระโดดตึกตายด้วยปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า แต่เสียงสวดกงเต็กในงานศพที่ดังลั่นอพาร์ทเม้นท์ก็ยังไม่สามารถกระตุกให้เห็นถึงสิ่งที่หลงลืมไปได้

กระนั้นเมื่อวันเกิดของเจียเล่อมาถึง พวกเขาได้เดินเข้าหาสิ่งที่หลงลืมนั้นโดยไม่รู้ตัว คุณผู้ชายและคุณผู้หญิงเริ่มรู้สึกว่าเงินในกระเป๋านั้นแฟบเกินกว่าที่จะซื้อของแพงๆให้เจียเล่อ ด้วยสถานะทางการเงินที่มี พ่อเลือกที่จะเอา "ลูกเจี๊ยบ" (ซึ่งได้มาจากไข่ของโรงงานที่เขาทำหน้าที่เป็นยาม) มาเป็นของขวัญวันเกิดให้ลูกชายเพื่อทดแทนทามาก๊อดจิ หรือ ลูกเจี๊ยบโรบอต ที่เขาโยนทิ้งไปด้วยความเกรี้ยวกราด พร้อมๆกับอาหารมื้อวันเกิดที่เป็น "ไก่ทอด" เจียเล่อเลี้ยงดูลูกเจี๊ยบเหล่านั้นเป็นอย่างดีจนมันเติบใหญ่ และในวันที่ครอบครัวต้องหาไก่ไหว้เจ้าไปเซ่นไหว้อากงที่ฮวงซุ้ย อดีตลูกเจี๊ยบที่เป็นไก่เต็มตัวในวันนี้ก็ทำหน้าที่เป็นเครื่องเซ่นไหว้ โดยมีเทอร์รี่เล่นบทคนเชือดไก่เพื่ออากง

 

 

การเกิดและความตายนั้นเชื่อมโยงถึงกันอยู่ในธรรมชาติ เรามีชีวิตอยู่ทุกวันนี้เพราะเราบริโภคสิ่งที่ตายแล้ว ขณะเดียวกันสิ่งที่ตายแล้วทำให้เรารู้จักความหมายของการมีชีวิตอยู่ ตัวคุณผู้หญิงดูเหมือนจะสูญเสียความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆจากปัญหาที่รุมเร้า เทอรี่ทำให้เธอรู้สึกว่า เธอกำลังเสียความรักของลูกชายไป แต่การกลับบ้านของเทอรี่ในวันที่เธอไม่มีเงินจ้างอีกต่อไป ก็ทำให้เธอได้เข้าใจว่าความหวังในชีวิตคืออะไร เพราะลูกในท้องที่กำลังนำมาซึ่งความหมายของการเกิด การเกิดของสิ่งใหม่ที่จะช่วยขับเคลื่อนชีวิตให้เดินต่อไป แม้ว่าเส้นทางนั้นจะเต็มไปด้วยวิกฤตก็ตาม

แอนโธนี่ เฉิน ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จกับผลงานชิ้นนี้ในฐานะภาพยนตร์ที่หลายคนชื่นชอบ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ การที่ อิโล อิโล ได้กลายเป็นภาพยนตร์ที่พยายามจะสร้างความเข้าใจอันดีระหว่าง สิงคโปร์กับฟิลิปปินส์ เขานำเสนอภาพของความสัมพันธ์ที่มีทั้งขมและหวานระหว่างครอบครัวนายจ้างกับลูกจ้าง ราวกับว่ามันคือชีวิตทั่วไปของคนที่อยู่ด้วยกันในครอบครัว ขณะเดียวกันก็ได้ให้ความหมายของคำว่า "แม่บ้าน" ในฐานะ "อาชีพ" โดยต้องการที่จะหลุดพ้นไปจากวิธีคิดเรื่อง "นาย" กับ "บ่าว" มันเป็นการตั้งคำถามเรื่องสิทธิความมนุษย์ของแรงงานด้วย เพราะความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ มีแรงงานชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากเข้ามาทำงานในสิงคโปร์ พวกเขาเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังช่วยแบ่งเบาภาระงานบ้านให้กับชาวสิงคโปร์ ซึ่งในแง่นี้พวกเขาควรได้รับการยกย่องและดูแลที่ดี ในรอบปีที่ผ่านมามีที่เดินทางเข้าไปกว่า 140,000 คน โดยประมาณ 16,000 ทำงานเป็นแม่บ้าน โดยเงินเดือนของพวกเธอที่ได้รับจริงๆตกอยู่ราว 10,500 บาทสำหรับที่ไม่มีประสบการณ์ ขณะที่คนมีประสบการณ์จะได้อยู่ราว 11,800 บาท ซึ่งต่ำกว่าสัญญาที่ได้มีการตกลงกันระหว่างเอเย่นต์ของนายจ้างกับทางสำนักงานการจ้างต่างประเทศของฟิลิปปินส์ (Philippine Overseas Employment Administration -- POEA) อยู่ที่ 12,325ต่อเดือน

ในสภาพความเป็นจริงนั้น เรื่องการจ้างแม่บ้านชาวฟิลิปปินส์มีความสลับซับซ้อนและมีข้อขัดแย้งในเรื่องของการหักค่าหัวคิวและการไม่ปฏิบัติตามสัญญาอยู่ตลอด จนเมื่อกลางปีก็มีการยุติการส่งแม่บ้านจากฟิลิปปินส์มาสิงคโปร์ชั่วคราว ขณะที่อคติระหว่างกันก็สะท้อนออกมาอยู่เนืองๆ ดังปรากฏใน Flor Contemplacion ภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ ปี 1995 ที่มีภาพลักษณ์ของสิงคโปร์คือ นายจ้างที่ใจดำ รัฐบาลที่ใช้กฏหมายป่าเถื่อน ขณะที่ภาพยนตร์สิงคโปร์ปี 2005 อย่าง The Maid ได้ทำให้เกิดภาพจำใหม่ในหมู่คนสิงคโปร์ที่มีต่อแรงงานฟิลิปปินส์ นั่นคือ ผีสาวใช้ หนังสยองขวัญเรื่องนี้ได้สร้างสถิติเป็นหนังสยองขวัญที่ทำเงินสูงสุดของประเทศ

แอนโธนี่ เฉิน (Anthony Chen) ในวันที่ได้รับรางวัลกล้องทองคำ (Camera d’or)

ซึ่งเป็นรางวัลมอบให้กับผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยมในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์

 

ที่สุดแล้ว ความทรงจำของแอนโธนี่ เฉิน ได้ช่วยให้ภาษาของหนังเรื่องนี้เดินก้าวข้ามไม่ใช่แค่เรื่องของความเข้าใจในชีวิต แต่ยังรวมความถึงความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนาอีกด้วย การตามหาเทอร์รี่ตัวจริงเพื่อมาชมภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นสิ่งที่อาจจะฟินที่สุดของเขาในกระบวนการสร้างงานชิ้นนี้ ชื่อหนังเองก็ได้ก้าวข้ามเรื่องของชาติไปแล้ว เพราะมันเป็นชีวิตจริงในโลกปัจจุบันที่เราต่างอยู่กับคนต่างเชื้อชาติในประเทศที่เราอยู่ และเขาเหล่านั้นก็เป็นมากกว่าผู้อาศัย  

-----------------------------------------------------

“ดูรักษาชีวิตของคุณให้ดี เพราะมันเป็นสิ่งล้ำค่าสิ่งเดียวของคุณ คนรุ่นหลังจะเอาความรักของคุณที่มีให้กับคนรอบข้างเป็นแบบอย่าง ช่วงเวลานั้นจะมาถึง มันเป็นช่วงเวลาที่ความดีงามที่คุณทำถูกจารึกไว้บนโลกใบนี้ โลกอันผาสุกที่เต็มไปด้วยสรรพสิ่ง  หากคุณยังเก็บงำความเศร้าโศกแห่งอดีตไว้ มันจะไม่มีที่ว่างหลงเหลือให้กับปัจจุบัน เอื้อนเอ่ยมันออกมาและไตร่ตรองมันให้ดีต่อหน้าสิ่งที่คุณบูชา ความขมขื่นในอดีตจริงๆมันก็คือความหอมหวานที่รออยู่เบื้องหน้าเท่านั้น เอื้อเอ่ยมันออกมา บอกกับฉันสิว่า คุณจะเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า “

วง Asin ศิลปินชาวฟิลิปปินส์ เจ้าของบทเพลง Kahapon at Pag-Ibig

 

บทเพลง "กาฮาโปน อัต ปักอิบิก" (Kahapon at Pag-Ibig) หรือ "วันวานและความรัก" ของวงแนวโฟล์คร๊อคชื่อดังจากฟิลิปปินส์นามว่า "Asin" ยังช่วยขับกล่อมผู้ชมแม้ว่าฉากสุดท้ายของ “อิโล อิโล” ที่เป็นภาพคลอดลูกชองคุณผู้หญิงในตอนจบ จะจบลงไปแล้ว ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม แอนโธนี่ เฉินถึงเลือกเพลงนี้ แต่มันก็ทำให้รู้ว่า เขา "ไม่ได้หลงลืมอะไรบางอย่างที่ว่านั้นแน่ๆ"

 

 

----------------------------------------

**หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสารไบโอสโคป ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2556

 

 

 

 

บล็อกของ Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน)

Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน)
 A Guerra Da Beatriz ในฐานะบันทึกบนแผ่นฟิล์มเรื่องแรกของ ติมอร์ ตะวันออก สงครามยังไม่สิ้นสุด
Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน)
อิโล อิโล (Ilo-Ilo) :  สิงคโปร์-ฟิลิปปินส์ เกิด ตาย และการอยู่ร่วมกัน ในวันที่เราหลงลืมอะไรบางอย่าง 
Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน)
ภาพยนตร์เวียดนาม เมื่อรัฐออกแบบไม่ได้ Film  Kawan
Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน)
มรกตวงศ์ ภูมิพลับFilm Kawan (ฟิล์ม กาวัน)  
Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน)
 จิตรลดา กิจกมลธรรม (Film Kawan) 
Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน)
  หากพวกเจ้าไม่สามารถให้ความยุติธรรมแก่บรรดา(สตรี)กำพร้าได้ ก็จงแต่งงานกับสตรีที่ดีแก่พวกเจ้า จะสองคน หรือสามคน หรือสี่คน แต่ถ้าพวกเจ้าเกรงว่าจะไม่สามารถให้ความยุติธรรมได้ก็จงแต่งงาน