จาก“มดลูกก็ปัจจัยการผลิต” ถึงภาคบริการ: ทำไมผู้หญิงต้องปลดแอกตัวเองจากระบบทุนนิยม

 

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ เขียน

งานเขียนเรื่อง “มดลูกก็ปัจจัยการผลิต” ในปี 2524 ของ แล ดิลกวิทยรัตน์ ถือเป็นงานเขียนเกี่ยวกับผู้หญิงในแนวทางมาร์กซิสต์ชิ้นสำคัญของไทยที่เสนอว่า เราต้องกลับมาทบทวนงานบ้านและการดูแลครอบครัวของผู้หญิงเสียใหม่ว่ามีสถานะอย่างไรในระบบทุนนิยม แลมีข้อเสนอ 2 ประเด็นสำคัญ คือ

หนึ่ง งานบ้านหรือ housework คือ “งาน” (work) ประเภทหนึ่ง ที่ต้องใช้กำลังแรงงาน (labour power) ของมนุษย์ใส่ลงไป งานบ้านจึงไม่ใช่เรื่องธรรมชาติหรือลักษณะเฉพาะของผู้หญิง แต่เกิดขึ้นจากกระบวนการแบ่งงานกันทำในสังคมชนชั้น ข้อเสนอนี้มีความสำคัญคือพยายามโต้แย้งการนิยาม “งาน” ในลักษณะคับแคบที่หมายถึงงานที่ได้รับค่าแรง (wage) เท่านั้น

และสอง งานบ้านมีส่วนอย่างสำคัญต่อการสร้างมูลค่าส่วนเกิน (surplus value) ในระบบทุนนิยม ซึ่งก่อนหน้านี้ งานบ้านมักถูกมองว่า เป็นกิจกรรมโดยธรรมชาติของผู้หญิง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตสร้างมูลค่าหรือสินค้า หรืออย่างมากก็เป็นการสร้างมูลค่าใช้สอย (use-value) เท่านั้น แต่ไม่ได้นำไปสู่หรือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างมูลค่าแลกเปลี่ยน (exchange-value) แบบที่เกิดขึ้นกับการทำงานนอกบ้านของผู้ชาย

อาจกล่าวได้งานเขียนของแลสะท้อนข้อถกเถียงของยุคสมัย โดยเฉพาะข้อถกเถียงในแวดวงมาร์กซิสต์และเฟมินิสต์ในโลกตะวันตกตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา อย่างไรก็ดี งานเขียนของแลก็มีข้อจำกัด คือ ไม่สามารถอรรถาธิบายในรายละเอียดต่อคำถามทางทฤษฎีจำนวนหนึ่ง คือ

คำถามแรก งานบ้านซึ่งอยู่ในปริมณฑลของการผลิตซ้ำทางสังคม (social reproduction) จะนำไปสู่การสร้างมูลค่าส่วนเกินได้อย่างไร แลเพียงแต่กล่าวเป็นข้อเสนอเอาไว้ แต่ไม่มีการอธิบายในทางทฤษฎี โดยเฉพาะไม่ได้อธิบายว่าทฤษฎีมูลค่าแรงงานของ Marx จะถูกนำมาเข้าใจมูลค่าที่เกิดจากงานบ้านอย่างไร

และสอง งานของแลซึ่งอยู่ในยุคสมัยเดียวกับการถกเถียงในเรื่องนี้อย่างกว้างขวางในโลกตะวันตกไม่ได้ตอบคำถามว่า อะไรคือทางออกทางการเมืองของขบวนการเฟมินิสต์หรือขบวนการแรงงานต่อปัญหาดังกล่าว กล่าวให้ชัดกว่านั้นก็คือ แลไม่มีข้อเสนอในแง่ของการเคลื่อนไหวเรียกร้องที่ชัดเจน

ควรกล่าวในที่นี้ว่า นี่มิใช่ข้อจำกัดทางทฤษฎีของแล แต่เป็นข้อจำกัดของยุคสมัย โดยเฉพาะยุคของการเปลี่ยนผ่านจากระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมมาสู่ระบบทุนนิยมหลังอุตสาหกรรม ซึ่งผู้หญิงกลายมาเป็นกำลังแรงงานที่สำคัญไม่แพ้แรงงานชาย การทบทวนสถานะของผู้หญิงและการที่ผู้หญิงกลายมาเป็นกำลังแรงงานหลักของสังคมคือปรากฏการณ์ใหม่ในยุคสมัยนั้น อย่างไรก็ดี การศึกษาสถานะของผู้หญิงในช่วงเปลี่ยนผ่านและหลังจากนั้นก็คือโจทย์ของเฟมินิสต์ในทศวรรษ 1970 และ 1980 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มเฟมินิสต์สายมาร์กซิสต์ที่สนใจสถานะของผู้หญิงซึ่งเกี่ยวข้องและถูกกำหนดโดยการแบ่งงานกันทำในระบบทุนนิยม

ท่ามกลางบรรยากาศการต่อสู้ของนักศึกษา กรรมกร และปัญญาชนที่สืบเนื่องมาจากปี 1968 แวดวงเฟมินิสต์เต็มไปด้วยข้อถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนของหลายแนวทาง ทฤษฎีมาร์กซิสต์ก็ถูกนำมาปัดฝุ่นเสียใหม่เพื่อพัฒนาไปสู่การวิเคราะห์บทบาทของผู้หญิงและปัญหาเพศสภาพในระบบทุนนิยม โดยเฉพาะอิทธิพลของสำนักมาร์กซิสต์ที่ให้ความสนใจต่อประเด็นความสัมพันธ์ทางการผลิต และการวิเคราะห์ทางชนชั้น ได้ถูกนำมาพัฒนาคำอธิบายใหม่ๆเกี่ยวกับผู้หญิง และนำมาสู่การถกเถียงระหว่างเฟมินิสต์สำนักเสรีนิยม ซึ่งเป็นกระแสหลักในช่วงนั้น กับเฟมินิสต์สำนักมาร์กซิสต์ซึ่งถูกพัฒนาไปไกลที่สุดโดยกลุ่มนักคิดที่มีศูนย์กลางอยู่ในอิตาลี และต่อมาก็กระจายอยู่ในโลกทุนนิยมตะวันตก

 ข้อถกเถียงหลักระหว่างเฟมินิสต์ 2 สำนักในทศวรรษ 1970 อยู่ที่การถามว่า การปลดปล่อยผู้หญิงออกจากการกดขี่สามารถบรรลุได้โดยการที่ผู้หญิงออกไปทำงานนอกบ้าน (เหมือนผู้ชาย) หรือไม่ ซึ่งคำตอบของฝ่ายเสรีนิยม รวมถึงพรรคฝ่ายซ้ายและพวกซ้ายใหม่ (New Left) ก็คือ ใช่ เพราะเมื่อผู้หญิงออกไปทำงานนอกบ้าน โดยได้รับค่าแรงแบบที่ผู้ชายได้รับ ผู้หญิงจะสามารถปลดแอกออกจากกดกดขี่ของผู้ชายและระบบครอบครัวได้ และนี่เป็นทัศนะที่ฝ่ายมาร์กซิสต์เห็นแตกต่างออกไป โดยชี้ว่า แม้ว่าผู้หญิงจะออกไปทำงานนอกบ้าน แต่เมื่อผู้หญิงกลับบ้าน พวกเขาก็ยังคงถูกเรียกร้องให้ทำงานบ้านทั้งในฐานะแม่และเมียอยู่ดี อย่างไรก็ดี สตรีนิยมมาร์กซิสต์ไม่ได้ปฏิเสธการที่ผู้หญิงออกไปทำงานนอกบ้าน แต่พวกเขาการออกไปทำงานนอกบ้านไม่ใช่สิ่งที่ผู้หญิงเลือกแบบที่พวกเธอไม่ได้เลือกงานบ้านที่ซ้ำซากจำเจ

มุมมองดังกล่าวจึงไม่ได้เท่ากับการสนับสนุนให้ผู้หญิงอยู่แต่ในโลกของงานบ้าน แต่เรียกร้องให้เราไปให้ไกลกว่าการทำให้ผู้ชายยอมรับบทบาทนอกบ้านของผู้หญิง เพราะการออกไปทำงานนอกบ้านของผู้หญิง รวมถึงการทำงานบ้านไม่ใช่ตัวเลือกที่ผู้หญิงเป็นคนเลือก แต่การออกไปทำงานนอกบ้านของผู้หญิงเกิดขึ้นจากการบีบคั้นทางเศรษฐกิจที่ผู้หญิงถูกเรียกร้องให้เป็นฟองน้ำรองรับความล้มเหลวหรือความล่มสลายทางเศรษฐกิจของครอบครัว โดยเฉพาะเมื่อผู้ชายตกงานหรือว่างงาน ผู้หญิงจึงต้องทำงานหลายอย่างเพื่อนำรายได้มาดูแลครอบครัว เพราะลำพังเพียงค่าแรงของผู้ชายนั้นไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัว

หากเราละเลยการวิเคราะห์ระบบการแบ่งงานกันทำในระบบทุนนิยมที่แยกปริมณฑลของการผลิต/การสร้างมูลค่านอกบ้านกับปริมณฑลการผลิตซ้ำ/การดูแลบ้านออกจากกัน เราจะมองไม่เห็นว่า แม้ว่าผู้หญิงจะออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น แต่ผู้หญิงก็ยังคงต้องทำงานบ้านเมื่อพวกเขากลับมาถึงบ้านด้วย ดังนั้น ในการจะปลดแอกผู้หญิง เราจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ และระบบการแบ่งงานกันทำที่ระบบทุนนิยมสร้างขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่กีดกันผู้หญิงออกจากเสรีภาพและความเท่าเทียม และนี่เป็นมิติที่เฟมินิสต์ฝ่ายเสรีนิยมไม่ให้ความสนใจ 

Leopoldina Fortunati นักสตรีนิยมมาร์กซิสต์ชาวอิตาลีชี้ว่า หัวใจของระบบทุนนิยมก็คือ ภายใต้ระบบทุนนิยม มันมีเป้าหมายก็คือการผลิตสร้างมูลค่าแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นการผลิตมูลค่าเพื่อมูลค่า และภายในระบบทุนนิยม การผลิตกลายเป็นเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์ และความมั่นคั่งก็คือเป้าหมายสูงสุดของการผลิต ในแง่นี้ ระบบทุนนิยมจึงเป็นระบบที่ 1) มีเป้าหมายเพื่อผลิตมูลค่าแลกเปลี่ยน ที่ซึ่งมูลค่าแลกเปลี่ยนอยู่ในรูปของสินค้า และที่มาของมูลค่าแลกเปลี่ยนก็คือการแปรเปลี่ยนแรงงานของมนุษย์ให้เป็นสินค้าและมูลค่า และ 2) ภายใต้ระบบทุน การสร้างสิ่งที่ถูกนับเป็นมูลค่านั้นอยู่ในปริมณฑลของการผลิต ส่วนการสร้างสิ่งที่ปราศจาก/ไม่ถูกนับเป็นมูลค่า (non-value) ปรากฏอยู่ในปริมณฑลของการผลิตซ้ำ ในแง่นี้การผลิตซ้ำจึงเป็นพื้นที่ไม่ได้นำไปสู่การผลิต การสร้างมูลค่าแลกเปลี่ยน สินค้า และความมั่นคั่งแต่อย่างใด ซึ่งหากการผลิตซ้ำไม่ได้นำไปสู่การสร้างมูลค่า กำลังแรงงานที่ใส่ลงไปในการผลิตซ้ำก็ย่อมไม่ได้รับค่าแรง และพื้นที่ที่ใช้ในการผลิตซ้ำก็คือบ้านย่อมไม่ใช่พื้นที่ของการผลิต 

เราจะเห็นว่า ทุนทำงานผ่านทวิลักษณะในเวลาเดียวกัน คือ หนึ่ง การผลิต/มูลค่า และสอง การผลิตซ้ำ/การปราศจากมูลค่า ซึ่งทั้งสองรูปแบบล้วนแล้วแต่จำเป็นต่อการสร้างมูลค่าให้ระบบทุนนิยม ปราศจากด้านใดด้านหนึ่ง กระบวนการสร้างมูลค่า (valorization process) จะเกิดขึ้นไม่ได้  ข้อเสนอนี้แย้งกับความเข้าใจที่แม้แต่พวกมาร์กซิสต์ก่อนหน้านั้นมีต่อทฤษฎีมูลค่า ซึ่งเดิมมองว่ามูลค่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการใช้แรงงานในการผลิต (labour process) ซึ่งอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม ผ่านการที่นายทุนซื้อกำลังแรงงานของกรรมกรในโรงงาน และตอบแทนกำลังแรงนั้นด้วยค่าแรงเท่านั้น แม้ว่าปริมณฑลของการผลิตซ้ำไม่เพียงแต่มีส่วนสร้างมูลค่าให้กับระบบทุนนิยมและสินค้าในระบบทุนนิยม แต่การผลิตสร้างมูลค่าทั้งหมดในระบบทุนนิยมกลับพึ่งพิงกำลังแรงงานและการผลิตในบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มูลค่าส่วนเกินของระบบทุนนิยมเกิดขึ้นได้ส่วนหนึ่งก็มาจากการจงใจไม่นับหรือไม่รวมเอาหรือมากกว่านั้นคือการขูดรีดกำลังแรงงานที่อยู่ในบ้านทั้งสิ้น การคงรักษาเส้นแบ่งที่ตายตัวระหว่างปริมณฑลการผลิตและการผลิตซ้ำทางสังคมเอาไว้จึงเป็นประโยชน์โดยตรงของการสร้างความมั่งคั่งให้แก่ชนชั้นนายทุนและระบบทุนนิยม     

ในทฤษฎีมูลค่าแรงงาน กำลังแรงงานหนึ่งๆประกอบไปด้วย 2 ส่วนในตัวเอง คือ ส่วนที่มีมูลค่า และส่วนที่ไร้มูลค่า (non-value) แต่การปรากฏของแรงงานและชนชั้นแรงงานในฐานะที่เป็นกำลังแรงงานนั้นกลับอยู่เฉพาะในรูปของส่วนที่มีมูลค่าเท่านั้น แต่แรงงานหรือชนชั้นแรงงานซึ่งทำงานในโรงงานวันละ 8 ชั่วโมงต้องการเวลาที่เหลืออีก 16 ชั่วโมงสำหรับผลิตซ้ำกำลังแรงงานของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อน การดื่มกิน และการมีเซ็กส์ เวลาแห่งการผลิตซ้ำก็คือเวลาที่จะทำให้กำลังแรงงานของเขาสามารถนำไปใช้ได้อีก 8 ชั่วโมงในวันรุ่งขึ้น ดังนั้น การผลิตซ้ำจึงเป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่ทำให้การผลิตเกิดขึ้นได้ ปัญหาก็คือ ระบบทุนนิยมกลับมองว่า การผลิตซ้ำเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลและครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งกำลังแรงงานที่ถูกใช้ในการผลิตซ้ำกำลังแรงงานไม่ได้ถูกมองว่าเป็น “งาน” แต่อย่างใด

ในแง่นี้ หากเรามองว่าเป้าหมายของทุนคือการสร้างมูลค้าหรือการแปรเปลี่ยนสิ่งต่างๆให้เป็นมูลค่า/สินค้า ในอีกด้านหนึ่ง ทุนกลับพยายามแปรเปลี่ยนส่วนที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งในการสร้างมูลค่า นั่นคือ การผลิตซ้ำกำลังแรงงาน ให้มันเป็นสิ่งที่ไม่มีมูลค่า/สินค้า (de-valorization) ไปพร้อมๆกัน และนี่คือทวิลักษณะของทุนที่มันไม่ปรากฏให้เห็นในรูปของชนชั้น แต่กลับปรากฏตัวอยู่ในรูปของการแบ่งงานกันทำระหว่างเพศ (sexual division of labour)  คือ ผู้ชายทำงานในปริมณฑลของการผลิต/สร้างมูลค่า/สินค้า และได้รับค่าแรง ส่วนผู้หญิงทำงานบ้านซึ่งเป็นการผลิตซ้ำ ที่ปราศจากมูลค่าและไม่มีผลผลิตในรูปของสินค้า และไม่ได้รับค่าแรง

อย่างไรก็ดี ในกระบวนการแบ่งงานกันทำระหว่างเพศก็มิได้ปราศจากการแลกเปลี่ยน (exchange) แต่มันเต็มไปด้วยการแลกเปลี่ยนระหว่างเพศที่ผู้หญิงแลกกำลังแรงงานของตนเองผ่านการทำงานบ้านและการมีเซ็กส์ กับส่วนหนึ่งของค่าแรงของผู้ชาย แต่การแลกเปลี่ยนดังกล่าวแตกต่างจากการแลกเปลี่ยนที่แรงงานผู้ชายมีต่อทุน ในตรรกะของการแลกเปลี่ยนกำลังแรงงานกับทุน แรงงานในระบบทุนนิยมแตกต่างจากแรงงานในสังคมก่อนทุนนิยม คือ พวกเขามี “เสรีภาพ” ในการเลือกที่จะขายกำลังแรงงานของตนเองให้แก่นายทุนคนไหน และทุนก็มีเสรีภาพในการเลือกว่าจะซื้อกำลังแรงงานของพวกเขาหรือไม่ การแลกเปลี่ยนดังกล่าวจึงถูกมองโดยทั่วไปว่าเป็นการแลกเปลี่ยนอย่างเสรีและเท่าเทียม แต่ในปริมณฑลของการผลิตซ้ำ การแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นระหว่างผู้หญิงและผู้ชายกลับเป็นความสัมพันธ์ที่ถูกยอมรับแต่ต้นว่าไม่เท่าเทียมกันและไม่เสรี

ปัญหาดังกล่าวมี 2 สาเหตุ คือ

หนึ่ง ผู้หญิงไม่สามารถ “ขาย” กำลังแรงงานของตนเองให้แก่ทุนได้โดยตรง การใช้กำลังแรงงานของผู้หญิงซึ่งมีส่วนสร้างมูลค่าให้แก่ระบบทุนนิยมเกิดผ่านผู้ชาย ผู้ชายหรือกำลังแรงงานของผู้ชายซึ่งเป็นผลผลิตของการใช้แรงงานของผู้หญิงในบ้านเท่านั้นที่ปรากฏในรูปของการแลกเปลี่ยนในระบบทุนนิยม แต่แรงงานของผู้หญิงถูกปกปิดไว้ว่าเป็นพลังธรรมชาติและงานของความรัก ที่จะนำไปขายได้ก็ต้องถูกแปรให้อยู่ในรูปของส่วนหนึ่งของกำลังแรงงานของผู้ชาย

และสอง จากข้อหนึ่ง ผู้หญิงจึงไม่สามารถเลือกได้ว่าตนเองจะขายกำลังแรงงานให้ใคร แต่ผู้หญิงถูกทำให้เป็นทาส (enslavement) คือ ผู้ชายซึ่งเป็นสามีหรือพ่อเป็นผู้ผูกขาดการแลกเปลี่ยนกำลังแรงงานของผู้หญิงไว้กับตนเองเท่านั้น สถานะของผู้หญิงในสังคมทุนนิยมจึงแตกต่างจากผู้ชาย ในขณะที่แรงงานผู้ชายเป็นแรงงานอิสระ แต่แรงงานของผู้หญิงกลับเป็นแรงงานทาส

ในสถานการณ์ที่ทุนต้องการแรงงานผู้หญิงมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ เราจะเห็นการเผชิญหน้ากับทุนของผู้หญิงใน 3 รูปแบบ คือ

หนึ่ง การเผชิญหน้าโดยตรงในฐานะที่ผู้หญิงนำกำลังแรงงานของตนเองไปขายให้กับนายทุนแลกกับค่าแรง ในแง่นี้พวกเขาเป็นแรงงานหญิงในระบบทุนนิยม

สอง การเผชิญหน้ากับทุนโดยอ้อมผ่านตัวกลางคือผู้ชาย ซึ่งในแง่นี้ผู้หญิงไม่ได้กลายเป็นแรงงานในโรงงานโดยตรง แต่พวกเขาทำการผลิตกำลังแรงงานในบ้านซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดของกำลังแรงงานในตัวและสมองของแรงงานชาย สิ่งที่ผู้หญิงได้ตอบแทนก็คือ ค่าแรงส่วนหนึ่งของผู้ชายที่มอบให้เพื่อใช้ผลิตซ้ำกำลังแรงงานรุ่นต่อไป กำลังแรงงานของผู้ชาย และกำลังแรงงานของผู้หญิงเองในพื้นที่ของบ้าน

และสาม ผู้หญิงในระบบทุนนิยมปัจจุบันซึ่งออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น เผชิญหน้ากับทุนในทั้ง 2 รูปแบบข้างต้นพร้อมๆกัน คือ ทั้งทำงานนอกบ้านและทำงานบ้าน ในขณะที่ผู้ชายที่มีครอบครัวไม่ต้องรับผิดชอบงานบ้าน เพราะเมียของพวกเขาเป็นผู้ทำ แต่สำหรับผู้หญิง แม้ว่าจะออกไปทำงานนอกบ้านแบบเดียวกับสามี แต่เมื่อกลับบ้าน งานบ้าน การตั้งท้อง การดูแลลูก และเซ็กส์ก็ยังคงเป็นงานของพวกเธอไม่เปลี่ยนแปลง 

การแบ่งงานกันทำระหว่างเพศ การกีดกันผู้หญิงให้อยู่แต่ในบ้าน การผลักภาระงานบ้านให้แก่ผู้หญิง และการขูดรีดพวกเธอผ่านตัวกลางคือผู้ชายของทุนนั้น คือ เงื่อนไขที่ทำให้การสถาปนาระบบครอบครัวเดี่ยว (nuclear family) ที่มีพ่อ 1 คน แม่ 1 คนและลูกแบบคู่รักต่างเพศ (heterosexuality) คือ รูปแบบที่ดีที่สุดในการสะสมทุนในสังคมทุนนิยม เราจะเห็นว่าในสังคมก่อนทุนนิยม ครอบครัวมีขนาดใหญ่ในรูปของครอบครัวขยายที่ครอบครัวและชุมชนอยู่ซ้อนทับกัน และทั้งหมดก็คือหน่วยของการผลิตและการผลิตซ้ำในตัวเอง ในสังคมแบบนี้ ผู้หญิงไม่ได้รับภาระทั้งหมดของการผลิตซ้ำ แต่ทั้งครอบครัวและทั้งชุมชนทำหน้าที่ผลิตและผลิตซ้ำไปด้วยกันพร้อมๆกัน แต่ในสังคมทุนนิยมซึ่งวางอยู่บนการสถาปนาครอบครัวเดี่ยว ครอบครัวกลายเป็นหน่วยที่รองรับเฉพาะการผลิตซ้ำอย่างถาวรและแยกขาดออกจากการผลิตซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่นอกบ้าน หน้าที่ของการผลิตซ้ำจึงตกเป็นของฝ่ายที่ไม่สามารถขายแรงงานของตนเองนอกบ้านได้ นั่นคือ เป็นภาระของผู้หญิง ในแง่นี้ครอบครัวจึงเป็นหน่วยสังคมที่คงรักษาความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำขั้นพื้นฐานของสังคมทุนนิยม การแลกเปลี่ยนกำลังแรงงานภายในครอบครัวในสังคมทุนนิยมนั้นไม่ได้วางอยู่บนเสรีภาพในการเลือกและความเท่าเทียม แต่เป็น “การแลกเปลี่ยนอย่างไม่เท่าเทียมของคู่แลกเปลี่ยนที่ไม่เท่าเทียม” (an exchange of non-equivalents between non-equals)  ในแง่นี้ งานบ้านจึงไม่ใช่งานแห่งความรักแต่เพียงด้านเดียว แต่งานบ้านคือการกดขี่ขูดรีดอย่างถึงที่สุดที่สังคมทุนนิยมกระทำต่อผู้หญิงผ่านระบบครอบครัวที่ผู้ชายเป็นใหญ่

คำถามต่อมาก็คือ เพราะเหตุใดกำลังแรงงานของผู้หญิงในปริมณฑลของการผลิตจึงเป็นส่วนสำคัญที่สุดของการสร้างมูลค่าส่วนเกินในระบบทุนนิยม ในการพิสูจน์ประเด็นดังกล่าว เราจำเป็นต้องเข้าใจว่าปริมณฑลของการผลิตซ้ำนั้นมันทำการผลิตอะไร และสิ่งที่ผลิตขึ้นมาถูกนำไปบริโภคโดยใครและในแง่ไหน ในการอธิบายเรื่องนี้ เราควรเริ่มต้นจากที่ Fortunati ชี้ว่า

“ในปริมณฑลของการผลิต มูลค่าแลกเปลี่ยนของกำลังแรงงานในฐานะที่เป็นศักยภาพในการผลิตได้ถูกผลิตขึ้น เพื่อให้มูลค่าใช้สอยของมันถูกนำไปบริโภค แต่ในปริมณฑลของการผลิตซ้ำ มูลค่าใช้สอบของกำลังแรงงานถูกผลิตขึ้น และมูลค่าของแลกเปลี่ยนของมันถูกนำไปบริโภค”

จากข้อความดังกล่าว เราจะเห็นการบริโภค 2 ครั้ง และการผลิต 2 ครั้ง ซึ่งทั้งการบริโภคและการผลิตเกิดขึ้นทั้งในปริมณฑลของการผลิตและการผลิตซ้ำ ในปริมณฑลของการผลิต แรงงานผู้ชายขายกำลังแรงงานของตนเองผ่านการทำงาน/ผลิตสินค้าซึ่งมีมูลค่าใช้สอยอยู่ภายใน และเมื่อมูลค่าใช้สอยถูกผลิตขึ้นมา ทุนซึ่งเป็นผู้ซื้อกำลังแรงงานของผู้ชายจะนำมันไปเปลี่ยนเป็นมูลค่าแลกเปลี่ยนในตลาด ผู้บริโภคคือคนที่ซื้อสินค้านั้นๆและใช้ประโยชน์ใช้สอยที่อยู่ในสินค้านั้นๆ ส่วนในปริมณฑลของการผลิตซ้ำ ผู้หญิงใช้มูลค่าใช้สอยที่อยู่ในตนเองเพื่อผลิตสร้างมูลค่าใช้สอย/กำลังแรงงานของผู้ชาย ซึ่งในส่วนนี้ผู้หญิงไม่ได้ทำการผลิตมูลค่าแลกเปลี่ยนโดยตรง แต่เมื่อใดก็ตามที่ผู้ชายนำกำลังแรงงานของตนเองไปขายให้กับนายทุนในโรงงาน มูลค่าใช้สอย/กำลังแรงงานของผู้ชายที่ผู้หญิงผลิตในบ้านจะกลายมาเป็นมูลค่าแลกเปลี่ยนที่อยู่ในรูปของกำลังแรงงานซึ่งเป็นสินค้า ในแง่นี้ กำลังแรงงานที่ผู้ชายขายให้กับนายทุนในรูปของมูลค่าแลกเปลี่ยนจึงไม่ใช่สิ่งที่มาจากผู้ชายเองทั้งหมด แต่เป็นผลผลิตโดยตรงของการใช้กำลังแรงงานของผู้หญิงที่แลกเปลี่ยนกับผู้ชายผ่านระบบครอบครัวในทุกๆครั้ง

ในแง่นี้ งานบ้านจึงเป็นงานที่

1) เป็นพื้นที่ที่เกิดการบริโภคกำลังแรงงานของผู้หญิงเพื่อนำไปผลิตซ้ำกำลังแรงงานของผู้ชาย ชีวิตทั้งหมดของผู้ชายจึงพึ่งพากำลังแรงงานและการผลิตซ้ำของผู้หญิง

2) มีเป้าหมายเพื่อการผลิตซ้ำกำลังแรงงาน ซึ่งเฉพาะในระบบทุนนิยม กำลังแรงงานกลายมาเป็นสินค้า

และ 3) งานบ้านเป็นงานที่ใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ดังนั้น ในการผลิตซ้ำที่เกิดขึ้นผ่านงานบ้านจึงต้องมีการบริโภคทรัพยากรต่างๆด้วย ซึ่งแม้ว่าผู้หญิงจะทำการผลิตมูลค่าพื้นฐานให้กับผู้ชายเพื่อนำไปขายให้ทุน แต่ผู้หญิงกลับไม่ได้อยู่ในการแลกเปลี่ยนหรือปะทะกับทุนโดยตรง ทุนเพียงควบคุมผู้หญิงผ่านการแบ่งงานกันทำระหว่างเพศและการควบคุมผู้หญิงเกิดผ่านผู้ชายในฐานะที่เป็นตัวกลาง

เราจะเห็นว่า ในขั้นตอนพื้นฐาน งานในบ้านของผู้หญิงสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ หนึ่ง การมีเซ็กส์ การตั้งครรภ์ และให้กำเนิดลูก ซึ่งงานส่วนนี้สัมพันธ์โดยตรงกับเพศสภาพและร่างกายของผู้หญิง ปัจจัยการผลิตที่ผู้หญิงใช้ในส่วนนี้ก็คือ มดลูก อวัยวะเพศ และร่างกาย ผลของมันก็คือ การผลิตซ้ำกำลังแรงงานรุ่นต่อไป และสอง การให้บริการในบ้าน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เป็นไปเพื่อการผลิตซ้ำกำลังแรงงานของทั้งผู้หญิงและผู้ชายโดยตรง

สำหรับผู้หญิงแล้ว สิ่งที่เราจะเห็นจากกิจกรรมทั้ง 2 ด้านนี้มีอยู่ 2 ด้าน คือ หนึ่ง นอกจากผู้หญิงจะทำกิจกรรมเพื่อตอบสนองการบริโภคที่จะไปสู่การผลิตมูลค่าของผู้ชายแล้ว ผู้หญิงยังทำกิจกรรมดังกล่าวเพื่อตอบสนองการบริโภคของตนเอง และสอง ปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดของผู้หญิงก็คือ ร่างกายของพวกเธอเองในฐานะที่เป็นแรงงานที่มีชีวิตอยู่ที่มีศักยภาพที่แข็งขันและมีพลังที่สุดในตัวเอง  การที่ร่างกายของผู้หญิงคือปัจจัยการผลิตที่สำคัญและพื้นฐานที่สุด ส่งผลให้ทุนหันมาให้ความสำคัญกับการจัดการร่างกาย สุขอนามัย และคุณภาพชีวิตของผู้หญิงมากขึ้น แต่เป็นการจัดการผ่านการควบคุมแบบบนลงล่าง พร้อมๆกับที่รัฐก็ใช้กลไกการควบคุมผ่านการสร้างความรู้เรื่องสุขภาพ ความสะอาด ศีลธรรม และอื่นๆเพื่อให้ผู้หญิงควบคุมตนเองมากยิ่งขึ้น เราจะเห็นตัวอย่างนี้ชัดเจนมากเมื่อรัฐทุนนิยมปฏิเสธสิทธิการทำแท้งเสรีของผู้หญิง เพราะรัฐไม่ต้องการสูญเสียอำนาจในการควบคุมร่างกายของผู้หญิง

กล่าวในแง่นี้ แม้ว่าทุนจะไม่ให้ความสำคัญหรือกีดกันร่างกายของผู้หญิงออกจากการนับมูลค่า แต่ร่างกายผู้หญิงซึ่งเป็นหัวใจของการสร้างมูลค่าทั้งหมดกลับถูกดึงเข้ามาควบคุมโดยกลไกของทุนและรัฐอย่างเข้มงวดที่สุด 

นอกจากร่างกายของผู้หญิงแล้ว กำลังแรงงานของผู้หญิงยังมีศักยภาพในการผลิตสร้างความเป็นอวัตถุ (immateriality) ด้วย ในส่วนนี้ Fortunati  ชี้ว่า ความเป็นอวัตถุมีอยู่ 2 มิติ คือ หนึ่ง ความเป็นอวัตถุที่อยู่ในสินค้าที่เป็นวัตถุ ซึ่งหมายถึง ความหมาย คุณค่า และเรื่องเล่าต่างๆเกี่ยวกับสินค้านั้นๆ และสอง ความเป็นอวัตถุที่ปรากฏในรูปของกระบวนการ (process) ของการผลิต ที่ผลผลิตกับกระบวนการผลิตเป็นสิ่งเดียวกัน เราจะไม่เห็นวัตถุที่เป็นผลผลิตสุดท้ายของการผลิต แต่สิ่งที่เราบริโภคในฐานะผลผลิตคือกระบวนการการใช้แรงงานของมนุษย์ในขณะนั้นๆเอง เช่น ความรัก การบริการ และการสื่อสาร เป็นต้น ซึ่งการใช้แรงงานของผู้หญิงในบ้าน หรือแม้แต่งานที่ถูกมองว่าเป็นงานของผู้หญิงก็มีลักษณะอวัตถุในมิติที่สอง ที่ผลผลิตต่างๆต้องถูกเข้าใจในฐานะที่เป็นการปรากฏขึ้นตลอดในกระบวนการใช้แรงงาน และไม่ใช่ในฐานะผลผลิตสุดท้าย  การทำงานบ้านจึงเป็นการผลิตอวัตถุในตัวของมันเอง ในแง่ที่งานบ้านหรือแม้แต่การมีเซ็กส์ไม่มีผลผลิตสุดท้าย แต่เป็นกระบวนการใช้แรงงานเพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่สมาชิกในบ้าน ต่อให้งานบ้านนำไปสู่การผลิตอาหารหรือเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ แต่ตัววัตถุที่ถูกผลิตขึ้นจะไม่มีมูลค่าใช้สอย หากปราศจากองค์ประกอบเชิงคุณค่าหรือความหมายที่เป็นอวัตถุในนั้น

การแยกงานบ้านออกจากงานนอกบ้าน และการทำให้งานบ้านเป็นเรื่องธรรมชาติที่ไม่จำเป็นต้องคิดเรื่องค่าแรงจึงเป็นกลไกและเทคนิคการใช้อำนาจของทุนในการปกครองผู้หญิงทุกคน โดยเฉพาะผู้หญิงในชนชั้นกรรมาชีพ จุดเริ่มต้นของการปลดแอกผู้หญิงจึงต้องเริ่มจากการปฏิเสธงานบ้าน ซึ่งก็เท่ากับการปฏิเสธความเป็นผู้หญิงที่ระบบทุนนิยมมอบให้ ดังที่ Mariarosa Dalla Costa ชี้ว่า ในการต่อสู้ของผู้หญิง เราต้องเริ่มปลดแอกตัวเองออกจากบ้านและงานบ้าน เพราะ “เรา (ผู้หญิง) ทุกคนต่างก็ทำงานบ้าน และงานบ้านเป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนมีร่วมกัน การต่อต้านและปฏิเสธงานบ้านจึงเป็นเงื่อนไขพื้นฐานอันเดียวที่ผู้หญิงจะรวมตัวกันสร้างอำนาจ ซึ่งอำนาจดังกล่าวเป็นอำนาจของเหล่าผู้หญิงทั้งหมด”

นอกจากนี้ นักสตรีนิยมสายมาร์กซิสต์ยังเรียกร้องให้เราหันกลับมาขยายนิยามของ “แรงงาน” (labour) เสียใหม่ให้ไกลกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานเขียนจำนวนมากและข้อเรียกร้องของขบวนการให้ความสำคัญกับงานบ้านและอาชีพขายบริการทางเพศ ซึ่งแต่เดิมไม่ถูกนับว่า “งาน” (work) หรือร้ายว่านั้นก็ถูกมองว่าเป็นอาชญากรรม ผลของการขยายมโนทัศน์ “งาน” และ “แรงงาน” ออกไปให้ครอบคลุมกิจกรรมของผู้หญิงก็คือ การถือกำเนิดขึ้นของขบวนการของผู้หญิงที่ทำอาชีพขายบริการทางเพศที่ออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิและค่าแรงที่เป็นธรรม เช่น แถลงการณ์ที่ชื่อว่า Prostitution Manifesto (1977) ซึ่งมีคำขวัญว่า “AN ATTACK ON PROSTITUTES IS AN ATTACK ON ALL WOMEN” ซึ่งเรียกร้องให้ขบวนการเฟมินิสต์หันมาให้ความสนใจกับสิทธิและเสรีภาพ รวมถึงค่าแรงของพวกเขามากขึ้น รวมถึงการหันมาศึกษางานบ้านและงานบริการที่กำลังขยายตัวในช่วงเวลานั้นได้นำมาสู่การสนับสนุนบทบาทของผู้หญิงในการเรียกร้องเสรีภาพและค่าแรงจากการทำงานของพวกเขา ประเด็นเหล่านี้กลายมามีความสำคัญในวงวิชาการในฐานะประเด็นใหม่ของแรงงานศึกษา (labour studies)  

ภายหลังจากทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา การผลิตในระบบทุนนิยมได้พัฒนามาอยู่ในรูปของ “การผลิตแบบชีวะการเมือง” (biopolitical production) ซึ่งเป็นการผลิตและในกระบวนการผลิตมีเป้าหมายเพื่อการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมและตัวตน (subjectivity) ของมนุษย์เอง ผ่านความสัมพันธ์ทางสังคมที่มนุษย์มีต่อมนุษย์คนอื่น การผลิตแบบชีวะการเมืองจึงเป็นการผลิตชีวิตและรูปแบบของชีวิต โดยการผลิตชีวิตนั้นเกิดขึ้นตลอดเวลาและในทุกสถานที่ที่มนุษย์ใช้ชีวิต ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในเวลาหรือสถานที่ของการทำงานเท่านั้น ต่างจากการผลิตในยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เวลาของการผลิตคือเวลาที่แรงงานทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม แต่การผลิตแบบชีวะการเมืองเป็นการผลิตที่ทำลายเส้นแบ่งระหว่างเวลาและสถานที่ของการทำงาน (work) กับเวลาและสถานที่ของการใช้ชีวิต (life) ดังนั้น ผลผลิตของการผลิตเช่นนี้มีแนวโน้มที่จะอยู่ในรูปของอวัตถุ หรือ immaterial ไม่ใช่การผลิตสินค้าที่เป็นวัตถุ (material)

เราจะพบว่า การผลิตแบบชีวะการเมืองซึ่งอยู่ในรูปของการผลิตสร้างชีวิตนั้นปรากฏมาอย่างยาวนานในปริมณฑลของการผลิตซ้ำทางสังคมที่ผู้หญิงเป็นพลังการผลิตหลัก ภายหลังจากการเข้าสู่ระบบการผลิตแบบใหม่ในทศวรรษ 1970 งานและการทำงานในระบบทุนนิยมก็เปลี่ยนแปลงไป คือ มีลักษณะของความเป็นผู้หญิงมากขึ้น (feminization of work) จากเดิมที่กิจกรรมของผู้หญิงไม่ถูกนับว่าเป็น “งาน” กลับถูกนับว่าเป็น “งาน” เพราะกิจกรรมที่ผู้หญิงเคยทำในบ้านกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตในระบบทุนนิยม โดยเฉพาะในภาคบริการ (service sector) ซึ่งส่วนใหญ่จ้างแรงงานของผู้หญิง

การที่งานมีลักษณะของความเป็นผู้หญิงมากขึ้นนั้นมีความหมายอยู่ 3 ประการ

1) การที่สัดส่วนของผู้หญิงในกระบวนการผลิตและตลาดแรงงานที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้หญิงเป็นกำลังแรงงานส่วนใหญ่ในระบบทุนนิยม จากเดิมที่ผู้ชายถูกมองว่าเป็นหัวหน้าครอบครัวและเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว กลายมาเป็นผู้หญิงซึ่งมีบทบาทมากขึ้นในครอบครัว

2) จากเดิมที่เวลาของผู้หญิงและผู้ชายถูกแยกออกจากกัน ในขณะที่เวลาส่วนใหญ่ของผู้หญิงคือเวลาที่อยู่ในบ้าน ซึ่งเป็นเวลาที่มีลักษณะยืดหยุ่น ส่วนเวลาของผู้ชายคือเวลาที่ค่อนข้างตายตัวผ่านระบบการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่แยกเวลาการทำงาน (work time) ออกจากเวลาใช้ชีวิต (life time) ออกจากกัน แต่ในการผลิตแบบชีวะการเมือง เวลาที่เคยแยกกันเด็ดขาดกลับพร่าเลือนลงไป ผ่านการมีเวลาที่ยืดหยุ่น (flexible time) ที่เวลาการทำงานกับเวลาใช้ชีวิตไม่แยกออกจากกันเด็ดขาด ผ่านการทำงานที่บ้าน การทำฟรีแลนซ์ การทำงานพาร์ทไทม์ เป็นต้น เวลาของแรงงานในระบบการผลิตแบบนี้จึงเป็นเวลาที่คล้ายกับเวลาของผู้หญิงในสังคมก่อนหน้านี้ คือ ยืดหยุ่น และหาเส้นแบ่งไม่ได้

และ 3) งานที่เคยเป็นงานของผู้หญิงหรือแม้แต่งานที่ผู้หญิงทำซึ่งไม่เคยถูกนับว่าเป็น “งาน” (work) ที่หมายถึงการสร้างมูลค่าสินค้าในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น งานบ้าน หรืองานบริการที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความสุขและความหมายของความสุข/ความเป็นบ้าน/ความเป็นมิตร/ความรู้สึก (affective) ได้กลายมาเป็นรูปแบบและเป้าหมายของการทำงานหลักของสังคม ที่ทั้งผู้ชายและผู้หญิงต่างก็เข้ามาทำงานประเภทนี้ สอดคล้องกับแนวโน้มแรก แนวโน้มที่สองก็คือ การที่การผลิตมุ่งไปสู่การผลิตที่เป็นเรื่องของความหมาย สัญญะ วัฒนธรรม และความรู้สึก ซึ่งเป็นการผลิตอวัตถุมากขึ้นเรื่อยๆ

การเกิดขึ้นของภาคบริการในฐานะที่เป็นการผลิตอวัตถุ/ชีวะการเมืองในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมีความสำคัญอย่างมากต่อการศึกษาชีวิตของแรงงานในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันนำไปสู่การสลายพรมแดนจำนวนมากของการศึกษาแรงงานในยุคเก่า นั่นคือ การแบ่งแยกแรงงานสมองออกจากแรงงานกาย (division between manual and mental labour)  การแบ่งแยกงานผ่านการจัดลำดับชั้นของเพศ (gender hierarchy) และการแบ่งแยกอย่างขาดชัดระหว่างปริมณฑลของการผลิตและการผลิตซ้ำ หรือแม้แต่นิยามของงานและแรงงานก็เปลี่ยนไปด้วย ผู้หญิงและความเป็นผู้หญิงมีความสำคัญต่อกระบวนการสร้างมูลค่าโดยตรงในระบบทุนนิยม เพราะเราไม่สามารถระบุได้ว่าสินค้าหนึ่งๆหรือมูลค่าของสินค้าในสังคมถูกผลิตจากความเป็นชายหรือแรงงานชายเท่านั้น แต่เป็นการผสมผสานตัดข้ามไปมาของแรงงานและปริมณฑลหลายประเภทเข้ามาด้วยกัน

การเกิดขึ้นของภาคบริการจึงเป็นการขยายตัวออกไปของงานแบบผู้หญิงที่เคยอยู่ในบ้านออกไปเป็นงานบริการนอกบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานบริการแรกๆที่เกิดขึ้นก็คือ การบริการด้านอาหาร ที่ผู้หญิงออกไปทำงานตามร้านอาหารทั้งในอาชีพของแม่ครัว พนักงานเสิร์ฟ และคนทำงานความสะอาด เราจะพบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ทำงานนอกบ้านนั้น นอกจากพวกเขาจะต้องกลับบ้านมาทำงานบ้านหลังเลิกงานประจำแล้ว พวกเขาอาจต้องทำงาน 2 ถึง 3 งานในช่วงเวลาเดียวกันเพื่อให้รายได้ของพวกเขาสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้อย่างเพียงพอ สาเหตุประการหนึ่งก็คือ ค่าแรงของผู้หญิงถูกกดให้ต่ำกว่าผู้ชาย หรือแม้ว่าค่าแรงจะเท่ากัน แต่ผู้หญิงจะถูกบีบให้ยอมรับสภาพการจ้างงานที่มีความมั่นคงน้อยกว่าผู้ชาย

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงต้องออกจากบ้านมาทำงานในภาคบริการมีอยู่ 3 ปัจจัย คือ

หนึ่ง ผู้หญิงถูกจัดวางให้เป็น “ผู้รองรับวิกฤต” (shock absorber) ที่เกิดจากวิกฤตทางเศรษฐกิจ งานของผู้หญิงมีความสำคัญในแง่ของการรองรับผู้ชายเวลาตกงาน พร้อมๆกับที่เธอต้องทำงานบ้านไปด้วยแม้ว่าจะทำงานข้างนอกก็ตาม

สอง งานบ้านที่แต่เดิมเคยเป็นงานใน “บ้าน” ที่ผู้หญิงทำขยายตัวขึ้นตามไปด้วยในฐานะที่เป็นงานที่ผู้หญิงต้องทำ “นอกบ้าน” ของตัวเอง คือไปบริการในบ้านของคนอื่น แต่รูปแบบการจ้างงานผู้หญิงในภาคบริการกลับแตกต่างกับงานในโรงงานของผู้ชาย เพราะผู้หญิงถูกกีดกันออกจากการรวมกลุ่มกันเป็นสหภาพแรงงาน ทั้งจากการที่ที่ทำงานกระจัดกระจายไปตามบ้านคน รวมถึงรูปแบบการจ้างงานอย่างไม่เป็นทางการ (informal) ในภาคบริการ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ผู้หญิงไม่มีอำนาจในการต่อรองค่าแรง ค่าแรงต่ำกว่ามาตรฐานการยังชีพ และยอมรับการพึ่งพาผู้ชายต่อไป

และสาม การที่ผู้หญิงมีรายได้ต่ำกว่าผู้ชาย พร้อมๆกับที่ผู้หญิงถูกคาดหวังให้รองรับวิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลให้ผู้หญิงจำนวนมากเลือกทำงานขายบริการทางเพศ ซึ่งการทำงานดังกล่าวก็ขัดกับความคาดหวังทางศีลธรรมของสังคมและของสามีต่อความเป็นผู้หญิง การทำงานนอกบ้านหรือแม้แต่การทำงานขายบริการทางเพศทำให้ผู้หญิงถูกมองว่าไม่มีประสิทธิภาพในการดูแลครอบครัว ซึ่งบ่อยครั้งนำไปสู่การใช้ความรุนแรงของผู้ชายต่อผู้หญิง

อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่ง การถือกำเนิดของภาคบริการซึ่งถูกกำกับด้วยความคิดแบบเสรีนิยมใหม่ในทางเศรษฐกิจและการเมืองนั้นก็คือ การพยายามทำลายบทบาทของรัฐในการดูแลสวัสดิการของคนในสังคมหรือที่เรียกว่ารัฐสวัสดิการ (welfare state) ซึ่งนับตั้งแต่ทศวรรษ 1930 เป็นต้นมา รัฐทุนนิยมปรับตัวเพื่อตอบสนองการต่อสู้เรียกร้องของแรงงานโดยการหันมาให้ความสำคัญกับการให้สวัสดิการเพื่อลดชะลอความขัดแย้งทางชนชั้น และต่อมาในภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐทุนนิยมในยุโรปหลายแห่งหันมาใช้ตัวแบบรัฐสวัสดิการในการลดความขัดแย้งทางชนชั้น ผลก็คือ สวัสดิการในระบบรัฐสวัสดิการมีส่วนช่วยอย่างสำคัญในการแบ่งเบาภาระอันหนักอึ้งของครอบครัวชนชั้นกรรมาชีพ โดยเฉพาะภาระในการผลิตซ้ำกำลังแรงงานและการดูแลแรงงานรุ่นต่อไป ผู้หญิงเองก็มีเสรีภาพมากขึ้นภายใต้เพราะไม่ถูกบีบให้รับผิดชอบกับงานบ้านหรืองานดูแลครอบครัวทั้งหมด และผู้หญิงเริ่มออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น พร้อมกับโอกาสในการเข้าเรียนในระดับสูง แต่การพังทลายอย่างต่อเนื่องของรัฐสวัสดิการก็คือ ความพยายามของชนชั้นนายทุนที่จะลดภาระการจ่ายสวัสดิการให้กับชนชั้นกรรมาชีพ และในอีกด้านก็เป็นการผลักให้ผู้หญิงต้องกลับมาแบกรับภาระงานบ้านของตนเองเช่นที่เคยเป็น 

การเปลี่ยนแปลงสู่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่จึงส่งผลโดยตรงต่อการกดทับให้ผู้หญิงต้องหางานทำงานนอกบ้านมากขึ้นเพื่อมีรายได้เพียงพอสำหรับครอบครัวและการเลี้ยงดูลูก และเมื่อกลับบ้านผู้หญิงก็ยังต้องทำงานบ้านและดูแลครอบครัว กล่าวโดยสรุปแล้ว แม้ว่าผู้หญิงจะออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผู้หญิงมีอิสระมากขึ้น แต่กระนั้นก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของระบบทุนนิยมครั้งใหม่ยังโยนภาระหนักอึ้งให้ผู้หญิงไม่ต่างจากที่เกิดขึ้นในสังคมอุตสาหกรรม[1]

สำหรับข้อโต้แย้งที่ว่า การพัฒนาเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกในการทำงานบ้าน เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องดูดฝุ่น และอื่นๆจะนำไปสู่การลดลงของความเข้มข้นและชั่วโมงการทำงานบ้านหรือไม่นั้น แต่เฟมินิสต์สายมาร์กซิสต์กลับตั้งข้อสังเกตไปในทางตรงกันข้ามว่า เครื่องจักรไม่ได้ช่วยให้กำลังแรงงานที่ใช้ในงานบ้านลดลงแต่อย่างใด ความเข้มข้นและเวลาการทำงานบ้านกลับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการไปเพิ่มแรงกดดันให้ผู้หญิงต้องปรับตัวกับเครื่องจักรใหม่ๆ พร้อมๆกับการทำให้ผู้หญิงต้องขึ้นต่อระบบอัตโนมัติของเครื่องจักรมากขึ้น มากไปกว่านั้น ภายในครอบครัวเดียวกัน อำนาจในการเข้าถึงและการใช้เทคโนโลยีก็ไม่เท่ากัน งานของผู้หญิงในบ้านอาจไม่ได้ลดลง แต่กลับถูกคาดหวังมากขึ้นในหลายๆด้าน

ยิ่งไปกว่านั้น งานบริการในประเทศโลกที่หนึ่งยังนำเอาแรงงานหญิงจากประเทศโลกที่สามเข้ามาทำงานด้วย เราอาจเห็นแนวโน้มของความสะดวกสบายขึ้นของผู้หญิงในโลกที่หนึ่ง แต่เราจะเห็นการกดขี่อย่างถึงที่สุดต่อแรงงานหญิงจากประเทศโลกที่สาม งานบริการเช่น งานทำความสะอาด งานดูแลคนแก่และเด็ก รวมถึงงานบริการในร้านอาหารและโรงแรมนั้นเต็มไปด้วยผู้หญิงอายุน้อยจากประเทศที่ยากจน ซึ่งต่อให้ผู้หญิงในประเทศโลกที่หนึ่งจะมีเสรีภาพมากขึ้น แต่การขูดรีดแรงงานของผู้หญิงในฐานะแรงงานราคาถูกที่สุดก็ยังคงกระจายอยู่ทั่วไป

ความเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งในระบบการผลิตและการล่มสลายของรัฐสวัสดิการที่เกิดขึ้นนำไปสู่การปรับตัวครั้งใหม่ของขบวนการผู้หญิงในโลกตะวันตก ภายหลังจากการรณรงค์เรื่อง “ค่าแรงสำหรับงานบ้าน” ของกลุ่มที่เรียกร้องค่าแรงสำหรับงานบ้าน หรือ Wage for Housework (WfH) ในทศวรรษ 1970 ซึ่งนำโดยขบวนการเฟมินิสต์มาร์กซิสต์กลับไม่เพียงพอ เพราะผู้หญิงออกจากบ้านเข้าสู่ปริมณฑลของการผลิตมากขึ้น และงานส่วนใหญ่ก็แยกได้ยากว่าเป็นงานของผู้หญิงหรืองานของผู้ชาย ส่งผลให้การต่อสู้เรื่องค่าแรงได้ขยายออกจากประเด็นค่าแรงสำหรับงานบ้านไปสู่ประเด็น “ค่าแรงสังคม” (social wage) ที่กว้างขึ้นในปลายศตวรรษที่ 20 และต้นศตวรรษที่ 21 ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวก็ยังวางอยู่บนฐานทฤษฎีสตรีนิยมมาร์กซิสต์ในทศวรรษ 1970 และ 1980

“ค่าแรงสังคม” หมายถึง การให้บริการและการจ่ายโดยตรงที่รัฐมอบให้เพื่อทำให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้ ในแง่นี้ ค่าแรงสังคมจึงเป็นวิธีทางหนึ่งที่จะ ‘จ่ายให้แก่คนที่ไม่มีรายได้’ ค่าแรงสังคมจึงเป็นเป็นวิธีหนึ่งในการกระจายรายได้เพื่อที่จะให้แก่คนที่เป็นแรงงาน (แต่ไม่ได้รับค่าแรง) ซึ่งคนเหล่านี้คือกำลังแรงงานหลักที่หล่อเลี้ยงปริมณฑลของการผลิตซ้ำทางสังคมของแรงานและระบบทุนนิยมโดยภาพรวม ข้อเรียกร้องเรื่องค่าแรงสังคมนั้นไปไกลกว่าข้อเรียกร้องหรือการต่อรองภายใต้ชุดความสัมพันธ์ในระบบค่าแรง (wage relations) เพราะค่าแรงสังคมที่จ่ายให้แก่คนทุกคนอย่างเท่าๆกันเพื่อที่พวกเขาจะยังชีพและเลี้ยงดูครอบครัวได้นั้นไม่จำกัดอยู่ที่เชื้อชาติ เพศ และอายุ การจ่ายสวัสดิการที่ข้ามพ้นการแบ่งแยกและจัดลำดับชั้นทางเพศ เชื้อชาติ และอายุดังกล่าวยืนอยู่ตรงข้ามกับความพยายามแบ่งแยกและจัดลำดับชั้นในเรื่องเพศ เชื้อชาติ และอายุซึ่งเป็นหัวใจของการควบคุมตลาดแรงงานของทุนและรัฐประชาชาติ

ในแง่นี้ ค่าแรงสังคมจึงเป็นก้าวสำคัญก้าวแรกของการปลดแอกชนชั้นกรรมาชีพออกจากชุดความสัมพันธ์ในระบบค่าแรงซึ่งเป็นหัวใจของความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยม และค่าแรงสังคมจะเปิดให้การคิดถึงเสรีภาพหรืออิสรภาพ (autonomy) จากการพึ่งพาระบบทุนนิยมของชนชั้นกรรมาชีพเป็นไปได้มากขึ้น ดังที่ Mariarosa Dalla Costa เฟมินิสต์มาร์กซิสต์ชาวอิตาลีชี้ว่า ความสำคัญของค่าแรงสังคมก็คือ การทำให้ผู้หญิงซึ่งไม่สามารถเข้าสู่ปริมณฑลของการผลิตหรือการทำงานนอกบ้านได้ สามารถมีรายได้ที่เพียงพอจากการที่พวกเขายังคงทำงานบ้านอยู่ ซึ่งจะทำให้การพึ่งพารายได้ของผู้ชายลดลง และในขณะเดียวกันรายได้ดังกล่าวก็ทำให้พวกเขาไม่ต้องโดนบีบบังคับให้ทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกันหรือไม่ต้องออกไปหางานที่จ่ายค่าแรงราคาถูกในโรงงานอุตสาหกรรม

งานของนักคิดเฟมินิสต์มาร์กซิสต์ซึ่งถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับขบวนการผู้หญิงในทศวรรษ 1970 และ 1980 มีความสำคัญอย่างมากในการเติมเต็มความเข้าใจสถานะของผู้หญิงในระบบทุนนิยม งานของนักคิดกลุ่มนี้กลับไปหาการวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์การเมืองของ Karl Marx โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้พยายามพัฒนาการวิเคราะห์ปริมณฑลของการผลิตซ้ำทางสังคมซึ่งถูกละเลยไปโดย Marx เองและนักมาร์กซิสต์รุ่นหลังๆ นอกจากนี้ งานทฤษฎีเหล่านี้ยังเป็นฐานคิดให้กับขบวนการเฟมินิสต์ในเวลาต่อมา โดยเฉพาะเฟมินิสต์สายมาร์กซิสต์ ซึ่งต่อมาได้ขยายการต่อสู้ออกมาสู่ประเด็นที่กว้างขึ้นกว่าการเรียกร้องค่าแรงสำหรับงานบ้านที่จำกัดอยู่เฉพาะผู้หญิงในประเทศโลกที่หนึ่ง มาสู่การเรียกร้องค่าแรงสังคมซึ่งครอบคลุมทั้งผู้หญิงและผู้ชาย และตัดข้ามพรมแดนของความเป็นพลเมืองของรัฐประชาชาติ

นอกจากนี้ การยืนยันถึงตำแหน่งแห่งที่ของผู้หญิงในระบบทุนนิยมผ่านการศึกษาปริมณฑลของการผลิตซ้ำทางสังคมยังนำไปสู่การชี้ว่า แม้ว่าผู้หญิงจะอยู่ในการควบคุมของกลไกอำนาจที่ซับซ้อนของระบบทุนนิยม แต่ผู้หญิงกลับไม่ได้อยู่ภายใต้ชุดความสัมพันธ์ในระบบค่าแรงโดยตรง ส่งผลให้ผู้หญิงมีอิสระในระดับหนึ่งที่จะข้ามหรือไม่ต้องเข้าสู่ปริมณฑลของการผลิตก่อน แต่สามารถกระโดดข้ามไปสู่การปลดแอกตนเองออกจากระบบทุนนิยมผ่านการปฏิเสธงานบ้านและความเป็นผู้หญิงได้โดยตรง ยิ่งไปกว่านั้น การที่งานของผู้หญิงมีลักษณะของความเป็นอวัตถุในตัวเอง ส่งผลให้การเรียกร้องอิสรภาพของผู้หญิงไม่ได้แยกขาดออกจากการต่อสู้ของแรงงานอวัตถุซึ่งเป็นรูปแบบหลักของแรงงานในระบบทุนนิยมความรับรู้ในปัจจุบัน คุณูปการทางทฤษฎีของเฟมินิสต์มาร์กซิสต์ดังกล่าวยังมีส่วนช่วยให้เราสามารถกลับไปรื้อสมมติฐานเดิมว่า “งาน” และ “แรงงาน” หมายถึงเฉพาะคนที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม หรือทำงานในภาคการผลิตที่เป็นทางการเท่านั้น แต่คนทุกคนในสังคมล้วนแล้วแต่ทำงานและเป็นแรงงานทั้งสิ้น ซึ่งหากพวกเขาเป็นแรงงานและทำงาน พวกเขาก็ควรได้รับค่าตอบแทนหรือรายได้

ผู้เขียนหวังว่าบทความชิ้นนี้จะน่าจะช่วยสานต่อสิ่งที่ แล ดิลกวิทยรัตน์ พยายามเสนอไว้กว่า 40 ปีก่อน และการเรียกร้อง “ค่าแรงสังคม” ที่ไปไกลกว่าการต่อสู้ในชีวิตประจำวันหรือการเรียกร้องให้ผู้หญิงเข้าไปนั่งในสภามากขึ้น น่าจะเป็นสิ่งที่แรงงานหญิงในประเทศนี้ฝันถึง




[1] Silvia Federici, “The Unfinished Feminist Revolution,” The Commoner, Issue 15 (Winter 2012), pp. 185-197.

 

จาก“มดลูกก็ปัจจัยการผลิต” ถึงภาคบริการ: ทำไมผู้หญิงต้องปลดแอกตัวเองจากระบบทุนนิยม

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ เขียนถึง “มดลูกก็ปัจจัยการผลิต” ของ แล ดิลกวิทยรัตน์ ที่พยายามเสนอไว้กว่า 40 ปีก่อน และการเรียกร้อง “ค่าแรงสังคม” ที่ไปไกลกว่าการต่อสู้ในชีวิตประจำวันหรือการเรียกร้องให้ผู้หญิงเข้าไปนั่งในสภามากขึ้น น่าจะเป็นสิ่งที่แรงงานหญิงในประเทศนี้ฝันถึง

10 ข้อเสนอเกี่ยวกับ multitude และระบบทุนนิยมแบบหลังฟอร์ด / เปาโล เวอร์โน

ระบบหลังฟอร์ด (และ multitude) ปรากฎตัวขึ้นในอิตาลี พร้อมกับความขัดแย้งทางสังคมที่รุนแรงซึ่งถูกเรียกว่า “ขบวนการปี 1977” คือการบรรลุตัวเองประจักษ์ชัดแจ้งของข้อเขียนของ Marx เกี่ยวกับ “บางเรื่องเกี่ยวกับเครื่องจักร” multitude โดยตัวมันเองคือวิกฤตของสังคมแรงงาน สำหรับ multitude ในระบบหลังฟอร์ด ทุกๆความแตกต่างในเชิงคุณภาพระหว่างเวลาทำงาน (labour time) กับเวลาที่ไม่ได้ทำงาน (non-labour time) ล้วนแล้วแต่ถูกสลายลงไป ฯลฯ