Skip to main content

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ*

ในหนังสือเล่มสำคัญที่ชื่อว่า Parecon: Life After Capitalism[1] ผู้เขียนคือ ไมเคิล อัลเบิร์ต (Michael Albert) ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการต่อต้านโลกาภิวัตน์ของบรรษัท (Anti-Corporate Globalization) ของขบวนการโลกาภิวัตน์จากรากฐานว่ามีความสำคัญอย่างมาก แต่สิ่งที่ขาดหายไปก็คือการขาดวิสัยทัศน์เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่ไม่ใช่ระบบทุนนิยม กล่าวอีกอย่างก็คือขบวนการฯไม่ได้มีข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดการระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ ซึ่งไปไกลกว่าการพึ่งพิงระบบทุนนิยม การจัดการระบบเศรษฐกิจในที่นี้รวมความทั้งระบบเศรษฐกิจภายในประเทศและระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อัลเบิร์ต[2] ตั้งคำถามว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหนที่ขบวนการจะสร้าง “โลกาภิวัตน์ของความเป็นธรรม ไม่ใช่ความยากจน โลกาภิวัตน์ของความสมานฉันท์ ไม่ใช่ความโลภ โลกาภิวัตน์ของความหลากหลาย ไม่ใช่ความคล้อยตามๆกัน โลกาภิวัตน์ของประชาธิปไตย ไม่ใช่ความเป็นทาส โลกาภิวัตน์ของความยั่งยืน ไม่ใช่การบังคับโดยใช้กำลัง”

            ในทัศนะของเขา ระบบทุนนิยม ซึ่งเน้นการทำงานของตลาด และระบบสังคมนิยม (ที่ปรากฎในประเทศคอมมิวนิสต์ทั้งหลาย) ซึ่งเน้นการวางแผนจากส่วนกลางคือรัฐ ล้วนแล้วแต่มีข้อจำกัดในตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเศรษฐกิจทั้งสองมีลักษณะที่ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับคุณค่าพื้นฐานของสังคมมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขัดแย้งกับความเป็นประชาธิปไตยทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง อัลเบิร์ตชี้ว่าการเกิดขึ้นของขบวนการโลกาภิวัตน์จากรากฐานได้ชักชวนให้เราคิดถึงคุณค่าทางสังคมอย่างน้อย 4 ประการที่เราต้องไปให้ถึง นั่นคือ ความเป็นธรรม (equity) ความสมานฉันท์ (solidarity) ความหลากหลาย (diversity) และการจัดการตนเอง (self-management) และในการที่จะบรรลุคุณค่าดังกล่าว อัลเบิร์ท ชี้ว่า ขบวนการโลกาภิวัตน์จากรากฐานจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ที่เป็นรูปธรรมที่สุดเกี่ยวกับการจัดการระบบเศรษฐกิจหลังทุนนิยม ซึ่ง “หากเราปราศจากวิสัยทัศน์ในโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ และหากเราปราศจากข้อเสนอที่เป็นทางเลือกต่อระบบตลาดและบรรษัท ชัยชนะที่เราได้จะเป็นเพียงเรื่องชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น”[3]

            อัลเบิร์ตชี้ว่าในสภาวะที่ระบบทุนนิยมกลไกตลาดหรือระบบโลกาภิวัตน์ของบรรษัทกำลังครอบงำชีวิตของมนุษย์ทุกคนบนโลก ผ่านองค์กรทางการเมืองระหว่างประเทศจำนวนมาก เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก และองค์การการค้าโลก ขบวนการฯต้องมีข้อเสนอในเชิงตัวแบบสถาบันที่จะเข้ามาแทนที่สถาบันของระบบทุนนิยม ยิ่งไปกว่านั้นการออกแบบสถาบันในระดับระหว่างประเทศก็ยังเป็นเรื่องไม่เพียงพอ นอกเสียจากขบวนการฯจะคิดถึงการจัดการระบบเศรษฐกิจในทุกระดับ ทั้งในระดับภายในประเทศและระดับระหว่างประเทศไปพร้อมๆกัน อัลเบิร์ทซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งเวบไซต์ข่าวทางเลือกที่ชื่อว่า Znet (www.znet.org) ได้ทดลองเสนอตัวแบบของระบบเศรษฐกิจหลังทุนนิยมที่เขาเรียกว่า Parecon ซึ่งย่อมาจาก Participatory Economy หรือ “ระบบเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม” ขึ้นมาเพื่อชวนให้ผู้คนเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนถกเถียงเกี่ยวกับชีวิตหลังทุนนิยม

            เริ่มแรกอัลเบิร์ทนิยามว่า “ระบบเศรษฐกิจ” (economy) หนึ่งๆประกอบด้วยปริมณฑลหลักๆ 3 ส่วนคือ หนึ่ง การผลิต (production) สอง การจัดสรรแจกจ่าย (allocation) และสาม การบริโภค (consumption) ซึ่งแต่ละปริมณฑลจะทำงานไปด้วยกันและเกื้อหนุนซึ่งกันและกันให้ระบบเศรษฐกิจดำเนินไปได้[4] มากไปกว่านั้น ในแง่มุมเชิงสถาบัน อัลเบิร์ท ชี้ว่า ระบบเศรษฐกิจหนึ่งๆจะประกอบไปด้วยสถาบันหลักจำนวน 5 สถาบันที่จะทำหน้าที่เติมเต็มปริมณฑลทั้ง 3 ในระบบเศรษฐกิจ นั่นคือ 1. ระบบกรรมสิทธิ์ (ownership) 2. สถาบันจัดสรรแจกจ่าย (allocation institutions) 3. ระบบการแบ่งงานกันทำ (division of labour) 4. ระบบการให้ค่าตอบแทน (remuneration) และ 5. สถาบันที่ทำหน้าที่ตัดสินใจ (decision-making) ซึ่งในการทดลองเสนอเกี่ยวกับ Parecon จะต้องครอบคลุมถึงคุณค่า 4 ประการ ปริมณฑลทั้ง 3 ของระบบเศรษฐกิจ และกลไกเชิงสถาบัน 5 สถาบันข้างต้น

            1. ระบบกรรมสิทธิ์ส่วนรวม (common property) อัลเบิร์ตได้เดินตามคำอธิบายพื้นฐานเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจของ คาร์ล มาร์กซ์และฟรีดรีช เองเกลส์ ที่เสนอว่าสถาบันหลักพื้นฐานของความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยม (Capitalist Mode of Production) ก็คือ ระบบกรรมสิทธิ์เอกชน (private property) ที่กำหนดว่า ผู้ที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต (means of production) หรือชนชั้นนายทุนเอกชนจะเป็นผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจในสังคมในการควบคุมการผลิต รวมถึงจะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์หรือกำไรจากการผลิตสินค้า โดยที่ชนชั้นที่ไร้ปัจจัยการผลิต หรือชนชั้นกรรมกรจะมีสถานะเป็นผู้รับค่าแรง (wage labour) เมื่อเข้าสู่กระบวนการผลิต มาร์กซ์และเองเกลส์ชี้อย่างชัดเจนว่าความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนายทุนและชนชั้นกรรมกรเช่นนี้เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียม เต็มไปด้วยการกดขี่ ขูดรีด และครอบงำ โดยชนชั้นกรรมกรจะกลายเป็นผู้ที่ไร้อำนาจและแปลกแยกออกจากสังคมและความเป็นมนุษย์ในที่สุด ดังนั้น ในการปลดแอกมนุษย์ออกจากความสัมพันธ์ที่แปลกแยกและไร้อำนาจจะต้องนำไปสู่การสร้างสังคมใหม่ที่ไม่ใช่ทุนนิยมและเป็นสังคมที่ปราศจากระบอบกรรมสิทธิ์แบบเอกชน ซึ่งเป็นต้นตอของความเหลื่อมล้ำทั้งปวงในสังคม นั่นคือความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนรวม (common property) เป็นรากฐานของความสัมพันธ์ทางสังคมแบบใหม่

            มากไปกว่านั้น ข้อเสนอของ อัลเบิร์ตยังวางอยู่บนการวิพากษ์ตัวแบบทางเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (socialism) ที่ใช้ระบบกรรมสิทธิ์ของรัฐ (state property) ซึ่งปรากฏอยู่ในประเทศที่มีระบบการปกครองแบบสังคมนิยม เช่น รัสเซีย ยุโรปตะวันออก จีน คิวบา และเวียดนาม ก่อนการสิ้นสุดของสงครามเย็นด้วย โดยชี้ให้เห็นว่าระบบกรรมสิทธิ์ของรัฐ ซึ่งให้รัฐเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้งหมด โดยมีชนชั้นข้าราชการเป็นผู้คอยสั่งการ ตัดสินใจ ควบคุมการผลิต รวมถึงได้รับค่าตอบแทนหรือส่วนแบ่งในการผลิตมากกว่าประชาชนทั่วไป ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเช่นนี้จึงเป็นรูปแบบของระบบเศรษฐกิจที่ขัดแย้งกับ Parecon ซึ่งมุ่งเน้นระบบกรรมสิทธิ์แบบส่วนรวมและการสร้างประชาธิปไตยจากล่างสู่บน (ดู ตารางเปรียบเทียบลักษณะเชิงสถาบันของระบบเศรษฐกิจ)

            Parecon จึงไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจทีมีระบบกรรมสิทธิ์พื้นฐานเป็นทั้งระบบกรรมสิทธิ์เอกชนแบบทุนนิยม และก็มิใช่ระบบกรรมสิทธิ์ของรัฐแบบสังคมนิยม แต่วางอยู่บนระบบกรรมสิทธิ์แบบส่วนรวมที่ทุกคนในสังคมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ข้อเสนอของอัลเบิร์ทจึงโน้มเอียงไปในทิศทางของการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจสังคมให้เป็นระบบคอมมิวนิสต์ซึ่งปราศจากการแบ่งแยกชนชั้น (class differentiation)

            2. สภาผู้ผลิตและสภาผู้บริโภค (Worker and Consumer Councils)[5]: หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การลุกขึ้นสู้ของชนชั้นกรรมกร เราจะพบว่าในขณะที่ชนชั้นกรรมกรลุกขึ้นยึดอำนาจจากชนชั้นนายทุน เช่น การยึดเมืองปารีสจากชนชั้นนายทุนของชนชั้นกรรมกรหรือที่เรียกว่าเหตุการณ์คอมมูนปารีส หรือแม้แต่การยึดโรงงานขนมปังที่ปิดกิจการไปในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ค.ศ.2007 กรรมกรหรือผู้ใช้แรงงานได้พยายามออกแบบสถาบันทางเศรษฐกิจแบบใหม่เพื่อแทนที่รูปแบบการผลิตแบบเดิมที่มีชนชั้นนายทุนเป็นผู้ควบคุมการผลิต การตั้ง “สภาผู้ผลิต” (worker council) ก็เป็นทางเลือกแบบหนึ่ง ที่วางอยู่บนฐานที่คนงานทุกคนที่ทำงานจะมีอำนาจเท่ากัน ไม่มีใครมีอำนาจมากกว่าใคร การตัดสินใจในทุกๆอย่างเกี่ยวกับการผลิตจะขึ้นกับที่ประชุมของสภาผู้ผลิต ที่คนงานแต่ละคนเป็นสมาชิกและสามารถมีส่วนในการตัดสินใจได้ในทุกๆเรื่อง ตั้งแต่กระบวนการแบ่งงานกันทำ การให้ค่าตอบแทนและสวัสดิการ และการกำหนดขั้นตอนกระบวนการผลิต เช่นเดียวกัน “สภาผู้บริโภค” (consumer council) มีหน้าที่สำคัญในการเป็นตัวแทนผู้บริโภค (ซึ่งในด้านกลับพวกเขาก็คือคนงานด้วย) ว่าสิ่งใดเหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคโดยรวม ทั้งในแง่ประเภทของผลผลิต รูปแบบ และราคา รวมทั้งสภาผู้ผลิตและสภาผู้บริโภคยังทำหน้าที่สำคัญในการเชื่อมต่อความต้องการของสมาชิกเข้าด้วยกัน รวมถึงทำหน้าที่เชื่อมต่อกระบวนการผลิต การแจกจ่าย และการบริโภคเข้าด้วยกันด้วย ดังนั้นสภาในระบบ Parecon จึงหมายถึง “กระบวนการและขั้นตอนการตัดสินใจ และช่องทางของการสื่อสารที่สมาชิกแต่ละคนจะมีระดับมากน้อยของอำนาจในการตัดสินใจในแต่ละประเด็นขึ้นกับระดับมากน้อยของการที่ผลการตัดสินใจดังกล่าวจะส่งผลต่อพวกเขา”[6]

            ข้อเสนอเกี่ยวกับขั้นตอนหรือรูปแบบการตัดสินใจใน Parecon ไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดอยู่ภายใต้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง คือ ไม่จำเป็นต้องใช้ระบบการตัดสินใจแบบ “กระบวนการแสวงหาฉันทามติ” ที่ต้องให้สมาชิกทุกคนเห็นพ้องต้องกันในท้ายที่สุด แต่ “การตัดสินใจของสถาสามารถอยู่ในรูปของเสียงส่วนใหญ่ สามในสี่ สองในสาม ฉันทามติ หรือรูปแบบอื่นที่คิดขึ้นมาได้ก็ได้ เราสามารถใช้รูปแบบที่แตกต่างกันสำหรับการตัดสินใจในประเด็นหรือในวาระที่แตกต่างกันได้”[7] ข้อเสนอของอัลเบิร์ทจึงไม่ใช่การยึดถือข้อเสนอของเดวิด เกรเบอร์ และนักคิดสายอนาธิปัตย์ที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการแสวงหาฉันทามติ แต่เสนอว่าเราจำเป็นต้องมีความหลากหลายในรูปแบบการตัดสินใจ ขึ้นกับว่าในประเด็นดังกล่าวควรจะมีรูปแบบการตัดสินใจเช่นไร ซึ่งไม่มีรูปแบบใดที่ถูกต้องตลอดกาลมาตั้งแต่ต้น[8]

            3. การจ่ายค่าตอบแทนโดยขึ้นกับแรงงานที่ใช้และความเสียสละ (Remuneration for Effort and Sacrifice) ในระบบทุนนิยมและระบบสังคมนิยม การคิดคำนวณค่าตอบแทนขึ้นกับปัจจัย 3 อย่างคือ 1. ความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน (property) หมายความว่าผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือปัจจัยการผลิตจะได้ส่วนแบ่งจากการผลิตส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดไป นั่นคือชนชั้นนายทุนในระบบทุนนิยมและชนชั้นข้าราชการในระบบสังคมนิยม 2. อำนาจที่ถือครอง (power) ซึ่งหมายถึงในสังคมที่ชนชั้นนายทุนเป็นชนชั้นปกครอง ชนชั้นนายทุนรวมถึงรัฐแบบทุนนิยมจะเป็นผู้ถือครองอำนาจในการตัดสินใจเรื่องอัตรา ระบบสวัสดิการทางสังคม รวมถึงนโยบายทางเศรษฐกิจสังคมอื่นๆ ส่วนในระบบสังคมนิยม รัฐหรือผู้นำพรรคสังคมนิยมเป็นผู้ผูกขาดอำนาจในการตัดสินใจในการบริหารจัดการสังคมในทุกๆด้าน โดยส่วนแบ่งที่ได้รับจะขึ้นกับชนชั้นหรืออำนาจที่ชนชั้นนั้นๆถือครองอยู่ และ 3. ผลผลิตที่ผลิตได้ (output) หมายความว่าผู้ที่มีทักษะความรู้ หรือแม้แต่ความสามารถในการผลิตในปริมาณที่มากกว่าหรือมีคุณค่ามากกว่าในเวลาที่เท่ากันจะเป็นผู้ที่ได้รับส่วนแบ่งหรือค่าตอบแทนมากกว่าผู้ที่มีทักษะความรู้ เครื่องจักรเครื่องมือ และความสามารถต่ำกว่า ค่าตอบแทนในลักษณะจึงขึ้นกับปริมาณและคุณภาพของผลผลิตเป็นหลัก[9] ปัจจัยข้อที่สามนี้เองมีผลอย่างสำคัญในการกำหนดรูปแบบการแบ่งงานกันทำของระบบทุนนิยมระหว่างแรงงานฝีมือ/ไร้ฝีมือ แรงงานคอปกขาว/ปกน้ำเงิน แรงงานเชิงสัญญะ/เชิงวัตถุ หรือแม้แต่แรงงานภายในชาติ/แรงงานข้ามชาติ เป็นต้น อันจะมีผลต่ออย่างสำคัญต่อการกำหนดค่าตอบแทนในท้ายที่สุด

            อัลเบิร์ตชี้ว่าการนำเอาปัจจัยทั้งสามประการข้างต้นมาใช้ในการกำหนดค่าตอบแทนนั้นไม่ยุติธรรมและเป็นไปเพื่อรักษาโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่เท่าเทียม เขาเสนอว่า Parecon จะใช้การจ่ายค่าตอบแทนโดยขึ้นกับแรงงานที่ใช้และความเสียสละ หรือ Remuneration by Effort and Sacrifice ซึ่งใช้ปัจจัย 3 ประการในการกำหนดค่าตอบแทน คือ 1. ระยะเวลาในการทำงาน (duration) คือหากเวลาการทำงานของใครยาวนานกว่าบุคคลอื่น ค่าตอบแทนก็จะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการทำงาน แม้ว่าเมื่อเปรียบเทียบแล้ว บุคคลหนึ่งอาจจะสามารถผลิตผลผลิตได้มากกว่าอีกคนหนึ่งในเวลาที่เท่าๆกันก็ตาม 2. ความเข้มข้นของการทำงาน (intensity of work) ที่หมายถึงงานที่ต้องใช้ความทุ่มเทซึ่งนำมาสู่ความตึงเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจมากกว่าในระยะเวลาที่เท่ากันก็สมควรได้รับค่าตอบแทนที่มากกว่า เช่น การทำงานกับเครื่องจักรที่ต่อเนื่อง โดยไม่ได้หยุดพักหรือไม่สามารถหยุดพักระหว่างทำงานได้ เป็นต้น และ 3. ประเภทของงานว่าใช้ความเสียสละ (sacrifice) มากน้อยแค่ไหน เช่น งานที่มีอันตรายหรือความเสี่ยงต่อชีวิตสูง หรืองานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งสกปรก เช่น งานเก็บขยะ กวาดถนน หรือล้างห้องน้ำ จะต้องได้รับค่าตอบแทนที่สูง เพราะถือว่าเป็นงานที่ใช้ความเสียสละของผู้ผลิต

            การจ่ายค่าตอบแทนโดยขึ้นกับแรงงานที่ใช้และความเสียสละจึงมีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทั้งในแง่ของทักษะ ความรู้ ความสามารถ ตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม และอำนาจทางการเมืองของบุคคลต่างๆในสังคม โดยเกลี่ยค่าตอบแทนให้แก่คนในสังคมในระดับที่ไม่แตกต่างกันมาก โดยกำหนดค่าตอบแทนผ่านระยะเวลาการทำงาน ความเข้มข้นของงาน และความเสียสละในการทำงานของผู้คนมากำหนดค่าตอบแทนเป็นสำคัญ การใช้ปัจจัยข้างต้นนี้จะช่วยกีดกันคนหรือชนชั้นทางสังคมที่หลีกเลี่ยงการทำงานหรือทำงานน้อยกว่าบุคคลอื่น แต่กลับได้ค่าตอบแทนสูงกว่าคนอื่น ดังที่ปรากฏทั้งในระบบทุนนิยมและระบบสังคมนิยมที่คนส่วนน้อยที่ทำงานน้อยกว่ากลับได้ส่วนแบ่งค่าตอบแทนมากกว่าคนส่วนใหญ่ที่ทำงานหนัก

            มากไปกว่านั้น เราจำเป็นต้องคำนึงถึงบุคคลที่ด้อยสมรรถภาพทั้งทางกายและสมอง เช่น คนพิการหรือคนที่มีสภาพจิตใจไม่ปกติ ซึ่งคนเหล่านี้ต้องได้รับค่าตอบแทนเช่นคนปกติ หรือตามระดับที่เหมาะสม เพราะพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในสังคมที่สังคมต้องดูแล เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ “ความสมานฉันท์” จึงเป็นคุณค่าหนึ่งที่มีความสำคัญมากใน Parecon ที่สมาชิกทุกคนจะอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าๆกัน โดยไม่กีดกันหรือลดทอนบุคคลอื่นๆที่มีศักยภาพ อำนาจ และทรัพย์สินที่ไม่เท่ากันออกไป

            4. ระบบการแบ่งงานกันทำแบบสมดุล (Balanced Job Complexes) ในระบบทุนนิยมและระบบสังคมนิยม โครงสร้างการผลิตวางอยู่บนระบบการแบ่งงานกันทำตามโครงสร้างของบรรษัท (corporate division of labour) นั้นให้อำนาจแก่ผู้บริหารและคนที่ทำงานอยู่ในระดับสูงที่ควบคุมการทำงานเพียงไม่ถึงร้อยละ 20 ของคนทำงานในสถานที่ทำงานทั้งหมดเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเกือบทั้งหมดในกระบวนการผลิต การแบ่งแยกคนร้อยละ 20 ออกจากคนที่เหลือร้อยละ 80 เกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกกับค่าตอบแทนที่คนสองกลุ่มนี้ได้รับ งานบางประเภทถูกยกย่องให้เป็นงานที่มีคุณค่าและได้ค่าตอบแทนสูง ในขณะที่งานส่วนใหญ่ถูกมองว่ามีมูลค่าต่ำและควรได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่า หรือไม่ควรได้รับค่าตอบแทน ส่งผลให้ในขณะที่คนส่วนใหญ่ได้ค่าตอบแทนต่ำมากแม้ว่าจะทำงานในเวลาเท่าๆกัน แต่คนlส่วนน้อยในกระบวนการผลิตกลับได้ค่าตอบแทนมากกว่าหลายเท่า (ในหลายบริษัท ผู้บริหารระดับสูงได้ค่าตอบแทนต่อเดือนมากกว่าที่คนงานระดับล่างคนหนึ่งได้รับรวมๆกันหลายสิบปี) ยิ่งไปกว่านั้นการแบ่งงานกันทำตามบรรษัทยังมีส่วนอย่างมากในการลดทอนคุณค่าหลายประการของความเป็นมนุษย์ ตั้งแต่ลดทอนความสมานฉันท์และความเป็นธรรมโดยการแบ่งแยกผู้คนออกจากกันด้วยการแข่งขันกันและค่าตอบแทน ลดทอนความหลากหลายเพราะทำให้มนุษย์หนึ่งคนถูกบังคับให้ทำงานประเภทเดียวตลอดชีวิต และลดทอนอำนาจในการจัดการตนเองเป็นการผูกขาดอำนาจอยู่ที่คนเพียงส่วนน้อยในกระบวนการผลิต ในขณะที่คนส่วนใหญ่ทำได้เพียงรับคำสั่ง ระบบการแบ่งานกันทำที่ลดทอนคุณค่าพื้นฐานเช่นนี้เองที่ทำให้มนุษย์ไม่สามารถใช้ศักยภาพของตนเองในการทำงานได้อย่างเต็มที่ เพราะเป้าหมายของการผลิตและการทำงานไม่ใช่การผลิตสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดต่อสังคมและตนเอง แต่เป็นการผลิตเพื่อสร้างกำไรให้แก่บรรษัท

            นับตั้งแต่งานชิ้นสำคัญที่ชื่อว่า The Wealth of Nation ของอดัม สมิทชี้ว่าระบบการแบ่งงานกันทำเป็นสถาบันทางสังคมที่สำคัญมากในฐานะที่เป็นพื้นฐานในการกำหนดและแบ่งแยกความแตกต่างของผู้คนในสังคม ต่อมา คาร์ล มาร์กซ์และเฟรดริค เองเกลส์ ก็ชี้ว่า การแบ่งงานกันทำยังมีส่วนสำคัญในการกำหนดความแตกต่างทางชนชั้นในสังคม รวมถึงอำนาจในการตัดสินใจของคนในสังคมให้แตกต่างกันออกไปด้วย อัลเบิร์ตเสนอว่าใน Parecon จึงจำเป็นต้องมีระบบการแบ่งงานกันทำที่แตกต่างออกไปจากการแบ่งงานกันทำตามโครงสร้างของบรรษัท โดยระบบการแบ่งงานกันทำที่เป็นประชาธิปไตยและวางอยู่บนคุณค่าพื้นฐานของมนุษย์คือ ระบบการแบ่งงานกันทำแบบสมดุล (Balanced Job Complex)       

            ระบบการแบ่งงานกันทำแบบสมดุลหมายถึง “แต่ละงานต้องประกอบไปด้วยการผสมผสานหลายภารกิจและหลายความรับผิดชอบ ซึ่งคุณภาพชีวิตในภาพรวมของผู้คนจะต้องเทียบเคียงกันได้” คือผลของงานที่ทำจะไม่ทำให้ผู้คนมีความแตกต่างทั้งในเชิงอำนาจและค่าตอบแทน แต่ผลของงานจะเป็นไปเพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานของแต่ละบุคคลให้สามารถพัฒนาไปได้มากที่สุด “ใน Parecon จะไม่มีงานในโรงงานที่ให้ใครบางคนทำงานเฉพาะงานควบคุมสั่งการ แต่คนอื่นทำเฉพาะงานระดับปฏิบัติการ ผู้คนในโรงงานจะร่วมกันทำหลากหลายภารกิจทั้งๆที่เป็นภารกิจที่สร้างอำนาจและภารกิจพื้นๆอย่างสมดุลกัน” [10]

            ดังนั้น “ใน Parecon จะไม่มีใครที่ทำงานเฉพาะอย่างเดียว เช่น หมอผ่าตัด ในขณะที่คนบางคนทำเฉพาะการทำความสะอาดเตียงคนไข้ แต่คนที่ทำผ่าตัดก็ต้องช่วยทำความสะอาดโรงพยาบาลและงานอื่นๆที่ผลรวมทั้งหมดของงานที่ทำประกอบไปด้วยเงื่อนไขและความรับผิดชอบที่เป็นธรรมด้วย” กล่าวโดยสรุปแล้ว คนๆหนึ่งจะทำงานที่หลากหลายและผสมผสาน ไม่ใช่การทำงานประเภทเดียวอย่างเดียวตลอดชีวิต การแบ่งงานกันทำในลักษณะนี้จะทำให้ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งผูกขาดว่างานใดมีคุณค่าหรือมีความสำคัญ หรือแม้แต่ผูกขาดการตัดสินใจทั้งหมดไว้ได้ ซึ่งความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นก็จะเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งหน่วยการผลิต การแบ่งงานกันทำใน Parecon จึง”ไม่ได้สร้างให้คนส่วนน้อยในหมู่พวกเรามาเป็นคนสั่งการหรือคนปกครอง และทำให้คนส่วนใหญ่เป็นเพียงผู้รับคำสั่ง แต่มันสร้างให้พวกเราทุกคนมีส่วนร่วมกันอย่างเท่าๆกันในการผลิต การบริโภค และการแจกจ่ายที่พวกเราจัดการกันเอง งานของเราจึงเป็นการเตรียมความพร้อมให้เราทุกคนมีส่วนอย่างสำคัญในการจัดการตนเองทั้งในแง่ชีวิตและการจัดการสถาบันทางสังคมที่เราอาศัยอยู่”[11]

            การแบ่งงานกันทำแบบสมดุลเช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากการมีสถาบันทางเศรษฐกิจจำนวนหนึ่ง เช่น สภาผู้ผลิตและสภาผู้บริโภค กระบวนการตัดสินใจร่วมแบบจัดการตนเอง การกำหนดค่าตอบแทนโดยขึ้นกับแรงงานที่ใช้และความเสียสละ ปัญหาที่ตามมาก็คือ เราจะจัดสรรแจกจ่ายผลผลิตให้แก่คนต่างๆในสังคมอย่างไร ใน Parecon ใช้รัฐหรือตลาดในการวางแผนการจัดการระบบเศรษฐกิจทั้งหมด

            และ 5. การวางแผนแบบมีส่วนร่วม (Participatory Planning) อัลเบิร์ตชี้ว่าในระบบทุนนิยม กลไกที่สำคัญที่สุดของการตัดสินใจและจัดสรรส่วนแบ่งในระบบเศรษฐกิจอยู่ในมือของ ตลาด หรือกลไกตลาด (market) ซึ่งมีคุณสมบัติพื้นฐานก็คือการทำให้ผู้ซื้อต้องซื้อสินค้าที่ถูกที่สุด และผู้ขายต้องขายสินค้าให้ได้ในราคาที่แพงที่สุด โดยที่แต่ละคนจะต้องหาประโยชน์จากคนอื่นให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในนามของความก้าวหน้าส่วนบุคคลและการเอาตัวรอดในระบบตลาด”[12] และการทำให้ทุกอย่างถูกจัดสรรแจกจ่ายผ่านระบบตลาดก็หมายความว่า การทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างต้องถูกเปลี่ยนเป็นสินค้า (commodification) เพื่อจะสามารถนำมาซื้อขายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลัทธิเสรีนิยมใหม่ สิ่งใดที่เคยเป็นของรัฐและของส่วนรวมต้องถูกเปลี่ยนให้เป็นของเอกชนหรือเป็นสินค้าในตลาดได้ (เรียกว่าการแปรรูปเป็นเอกชน หรือ privatization) เมื่อนำหลักการเช่นนี้มาใช้กับการจ้างงาน เราจะพบว่า เป้าหมายสำคัญที่สุดประการหนึ่งของนายทุนก็คือการซื้อแรงงานในราคาที่ถูกที่สุด เพื่อนำแรงงานดังกล่าวไปผลิตสินค้าให้ได้กำไรเยอะที่สุด กำไรจึงมีแนวโน้มจะแปรผกผันกับค่าแรงที่นายทุนต้องจ่าย ยิ่งนายทุนแข่งขันกันมากเท่าไร แนวโน้มที่นายทุนจะแข่งกันกดค่าแรงให้ต่ำลงก็สูงขึ้นเท่านั้น เพื่อทำให้สามารถคงอัตรากำไรไว้ได้[13]

            ส่วนในระบบสังคมนิยม อำนาจในการวางแผนตัดสินใจเศรษฐกิจทั้งหมดอยู่ในมือของรัฐ/ส่วนกลาง (state/central planning) ที่มอบอำนาจให้แก่รัฐบาลในท้องที่เป็นผู้วางแผนตัดสินใจ การวางแผนโดยรัฐเช่นนี้ “ก็คล้ายกับการตัดสินใจโดยตลาด คือ ทำให้ชนชั้นที่ควบคุมกระบวนการผลิตปกครองเหนือคนทำงานซึ่งถูกทำให้ต้องขึ้นต่อผลประโยชน์ของชาติและผลประโยชน์ของแต่ละสถานที่ทำงาน”[14] การวางแผนโดยรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐมีแนวโน้มจะเป็นเผด็จการ เพราะมันไม่ได้ให้อำนาจแก่ผู้ผลิตและผู้บริโภคเป็นผู้ตัดสินใจ แต่ “ยกอำนาจให้แก่นักวางแผนจากส่วนกลางและกลุ่มนายหน้าของรัฐสามารถใช้อำนาจในแต่ละสถานที่ทำงาน”[15]

            สำหรับอัลเบิร์ต การวางแผนโดยใช้กลไกตลาดและการวางแผนโดยใช้รัฐนั้นมีคุณสมบัติคล้ายกันคือ มันได้แย่งอำนาจในการกำหนดชีวิตของตนเองและสถาบันทางสังคมที่เกี่ยวข้องไปจากมือของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระบบทุนนิยมได้เปลี่ยนสิ่งที่เป็น “ส่วนรวม” ให้กลายเป็น “เอกชน/ส่วนตัว” ส่วนในระบบสังคมนิยมได้เปลี่ยน “ส่วนรวม” ให้กลายเป็น “รัฐ/สาธารณะ” ซึ่งทั้งความเป็นเอกชน/ส่วนตัว และรัฐ/สาธารณะล้วนแล้วแต่ไม่สอดคล้องกับการสร้าง Parecon ในที่นี้ อัลเบิร์ตเสนอว่า Parecon ต้องมีรูปแบบการวางแผนแบบมีส่วนร่วม หรือ Participatory Planning ที่ “สภาผู้ผลิตและสภาผู้บริโภคร่วมกันเสนอรูปแบบการทำงาน/การผลิต และเสนอว่าต้องการบริโภคสินค้าที่มีลักษณะอย่างไร”[16] ที่จะเป็นไปได้มากที่สุดทั้งในแง่การเข้าถึง การใช้ทรัพยากร และความรู้ใหม่ๆอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับสังคมโดยรวม

           “สภาผู้ผลิตและสภาผู้บริโภคทำหน้าที่ร่วมกันในการต่อรองและวางแผนทั้งในด้านต้นทุนและผลผลิตที่ได้รับสำหรับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค” สภาเหล่านี้จะใช้การสื่อสารเพื่อแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันทั้งในส่วนของราคาสินค้าและความชอบของผู้บริโภค โดยเปิดให้ทุกคนสามารถแสดงความต้องการและสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับการผลิตและการบริโภคได้อย่างอิสระ ซึ่งทั้ง “บรรดาผู้ผลิตและบรรดาผู้บริโภคจะรับรู้ความคิดเห็นหรือความต้องการของบุคคลและกลุ่มบุคคลต่างๆได้ผ่านการทำงานร่วมกันของสภาที่พวกเขาเป็นสมาชิกอยู่ ในแต่ละระดับของการพูดคุย ความต้องการ/ความชื่นชอบของบรรดาคนต่างๆก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนไป ผ่านการคำนึงว่าเราจำเป็นต้องสร้างจุดสมดุลระหว่างรูปแบบการทำงานและการบริโภคของปัจเจกบุคคลกับความต้องการโดยรวมของสังคม ตัวแสดงแต่ละตัวจะมีเป้าหมายเพื่อทำให้แต่ละบุคคลและแต่ละกลุ่มมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีการพัฒนา แต่ละคนจะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองโดยไม่แย้งกับสิ่งที่สังคมทั่วไปจะมีได้รับ” [17]

            อาจมีข้อโต้แย้งว่า หากไร้การแข่งขันในตลาด ผู้คนจะมีแรงจูงใจในการผลิตหรือไม่ อัลเบิร์ตชี้ว่าแรงจูงใจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจาก “การเจรจาต่อรอง [ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค] จะเกิดขึ้นในแต่ละรอบของการวางแผน ผู้เข้าร่วมทุกคนจะให้ความสนใจกับศักยภาพของการผลิตที่จะก่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด เพราะทุกๆคนจะได้รับส่วนแบ่งที่เท่ากันและเพิ่มมากขึ้นหากผลผลิตของทั้งสังคมโดยรวมเพิ่มขึ้น”[18] ส่งผลให้แต่ละคนจะมีส่วนในการคิดและออกแบบงานที่ดีที่สุดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง ซึ่งก็หมายถึงคุณภาพชีวิตของคนอื่นด้วย โดยในการยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านการออกแบบการทำงานก็จะทำผ่านรูปแบบการแบ่งงานกันทำแบบสมดุล ที่แต่ละคนจะได้รับภาระหน้าที่ผสมผสานและไม่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับที่สมาชิกทุกคนจะได้รับผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกัน

            ต่อคำถามที่ว่า การวางแผนแบบมีส่วนร่วมจะทำให้เกิดความหลากหลายซึ่งเป็นคุณค่าพื้นฐานของมนุษย์ได้อย่างไร อัลเบิร์ตชี้ว่าการวางแผนการผลิตเป็นสิ่งที่ต้องคิดใหม่ หาจุดบอด ปรับปรุงแก้ไขอยู่ตลอดเวลา ให้สอดคล้องกับความต้องการที่หลากหลายของผู้คน เช่นเดียวกัน ในการกำหนดว่าใครจะทำงานอะไรก็ขึ้นกับความชื่นชอบและความสามารถซึ่งแต่ละคนมีแตกต่างกันไป เพียงแต่สิ่งที่ทำให้ Parecon ต่างออกไปจากระบบทุนนิยมและระบบสังคมนิยมก็คือ ใน Parecon สมาชิกทุกคนของสังคมมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการกำหนดทั้งการผลิตและการบริโภค ไม่ใช่การโอนอำนาจให้แก่ตลาดและรัฐในการสั่งการจาก “บนลงล่าง” แต่เป็นการกำหนดองคาพยพทั้งหมดของสังคมร่วมกันจาก “ล่างสู่บน”

            อย่างไรก็ดีข้อเสนอเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจทางเลือกของอัลเบิร์ตเป็นเพียงข้อเสนอหนึ่งท่ามกลางข้อถกเถียงและข้อเสนอของขบวนการโลกาภิวัตน์จากรากฐานในรอบหลายปีที่ผ่านมา ยังมีข้อเสนออีกเป็นจำนวนมาก เช่นที่คัลลินิคอส[19] เสนอว่าโครงการพัฒนาในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสังคมทุนนิยมไปสู่สังคมหลังทุนนิยมน่าจะเริ่มต้นโดยการยกเลิกหนี้ให้แก่ประเทศโลกที่สามโดยทันที การออกนโยบายการเก็บภาษีในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศเพื่อดึงทรัพยาการ/ส่วนเกินจากประเทศร่ำรวย การสร้างกลไกและมาตรการในการควบคุมการไหลเวียนของทุน การสร้างเกณฑ์รายได้พื้นฐานที่เป็นสากล (universal basic income) เพื่อให้พลเมืองโลกได้เข้าถึงรายได้พื้นฐานที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิต มาตรการลดชั่วโมงการทำงาน การปกป้องกิจการสาธารณะและยึดคืนกิจการสาธารณะที่ถูกแปรรูปให้เป็นเอกชนแล้ว การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าเพื่อกระจายความมั่งคั่งให้แก่สังคม การยกเลิกการกีดกันการย้ายถิ่นข้ามชาติ และขยายสิทธิของความเป็นพลเมือง โครงการรื้อฟื้นสภาวะสิ่งแวดล้อม การลดขนาดและอำนาจของธุรกิจการทหาร และการปกป้องสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

            กล่าวโดยสรุปแล้ว ข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดการสังคมหลังทุนนิยมข้างต้นนี้ถือเป็นเป้าหมายหลักและเป็นผลผลิตโดยตรงของการเติบโตของขบวนการโลกาภิวัตน์จากรากฐาน ที่พยายามเสนอทางเลือกใหม่ในการพัฒนาท่ามกลางซากปรักหักพังของโลกสังคมนิยมในทศวรรษ 1990 ที่นักคิดฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายเสรีนิยมต่างประกาศว่า “เราไม่มีทางเลือกอื่นใดเหลือแล้วนอกจากระบบทุนนิยมกลไกตลาดและระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม” แม้ว่าเป้าหมายดังกล่าวจะยังไม่บรรลุ แต่คุณูปการที่สำคัญที่สุดที่ขบวนการโลกาภิวัตน์จากรากฐานได้สร้างไว้ก็คือ ความหวังที่ว่า “โลกใบใหม่เป็นไปได้” ซึ่งเป็นคำขวัญของขบวนการสมัชชาสังคมโลกนับตั้งแต่ ค.ศ.2001 เป็นต้นมา



[1] Michael Albert. Parecon: Life After Capitalism. London and New York: Verso, 2003.

[2] Ibid., p.2.

[3] Ibid., p.8.

[4] Ibid., p.20.

[5] Michael Albert. Realizing Hope: Life Beyond Capitalism. London and New York: Zed Books, 2006.

[6] Ibid., pp.9-10.

[7] Ibid., p.10.

[8] Ibid., p.9.

[9] Ibid., p.10.

[10] Ibid., p.13.

[11] Loc.cit.

[12] Ibid., p.14.

[13] ลองดูงานวิเคราะห์สาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจที่เรียกว่า “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” ในสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ.2007 ได้จากงานของ John Bellamy Foster and Fred Magdoff. The Great Financial Crisis: Causes and Consequences. New York: Monthly Review Press, 2009.

[14] Michael Albert. op.cit., p.16.

[15] Ibid., p.15.

[16] Ibid., p.17.

[17] Loc.cit.

[18] Ibid., p.18.

[19] Callinicos. op.cit., pp.132-39.

 

*หมายเหตุ : เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสมาชิกกลุ่มประกายไฟ โดยบทความนี้มีการนำเสนอที่อื่นมาก่อนหน้านี้แล้ว

บล็อกของ ประกายไฟ

ประกายไฟ
แถลงการณ์ กลุ่มประกายไฟ 
ประกายไฟ
...ข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดการสังคมหลังทุนนิยมข้างต้นนี้ถือเป็นเป้าหมายหลัก และเป็นผลผลิตโดยตรงของการเติบโตของขบวนการโลกาภิวัตน์จากรากฐาน ที่พยายามเสนอทางเลือกใหม่ในการพัฒนาท่ามกลางซากปรักหักพังของโลกสังคมนิยม ในทศวรรษ 1990 ที่นักคิดฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายเสรีนิยมต่างประกาศว่า “เราไม่มีทางเลือกอื่นใดเหลือแล้วนอกจากระบบทุนนิยมกลไกตลาดและระบอบ ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม” แม้ว่าเป้าหมายดังกล่าวจะยังไม่บรรลุ แต่คุณูปการที่สำคัญที่สุดที่ขบวนการโลกาภิวัตน์จากรากฐานได้สร้างไว้ก็คือ ความหวังที่ว่า “โลกใบใหม่เป็นไปได้” ซึ่งเป็นคำขวัญของขบวนการสมัชชาสังคมโลกนับตั้งแต่ ค.ศ.2001 เป็นต้นมา
ประกายไฟ
“..รู้สึกว่าธรายอาร์มไม่ใช่แค่กางเกงใน แต่มันแสดงถึงสัญญะบางอย่างของการต่อสู้ ซึ่งเห็นไหมคะ แค่สงสัยว่าทำไมต้องเป็นกางเกงในของธรายอาร์ม คนที่สงสัยเขาก็ต้องหาเรื่องราวของมันบ้างล่ะค่ะ อย่างน้อยเราก็ได้สื่อเรื่องความไม่เป็นธรรมนอกจากแคมเปญหลักของงานนี้..” - ลูกปัด 1 สวาผู้ร่วมรณรงค์ 
ประกายไฟ
 “...พวกนายทุนจึงต้องหาทางให้ปัญหาเหล่านี้ทุเลาเบาบางลง ไม่อย่างนั้นการผลิตในระบบทุนนิยมอาจต้องล่มสลาย จึงต้องสร้างกติกากลางขึ้นมาเพื่อให้การขูดรีดยังดำรงตนต่อไปได้...”
ประกายไฟ
...ผมไม่คิดว่าการมีวันพ่อวันแม่มันจะสร้างประโยชน์อะไรให้กับคนที่ "มีพ่อมีแม่" (หรือแม้แต่ตัวคนเป็นพ่อเป็นแม่) แต่ขณะเดียวกันมันกลับเป็นวันที่ "ซ้ำเติม" คนที่ "ขาดพ่อขาดแม่" ซึ่งโดยปกติก็อาจจะมีชีวิตที่รันทดเจ็บปวดกับเรื่องนี้อยู่แล้ว..
ประกายไฟ
...แต่เชื่อไหม (เหมือนถาพในหนัง) ใบหน้าคนเหล่านั้นลอยออกมาปะทะสายตาเรา เรามองไม่เห็นความกลัวในใบหน้าของคนเหล่านั้น บางคนด่าไปอมยิ่มไป บางคนด่าไปก็แสดงอาการท้าทายไป มันต่างกันมาก ต่างกันจริงๆ เราเคยเห็นคนในม็อบเสื้อแดงช่วงที่มีการสลาย ทั้งวันที่ 10 เมษา และ 19 พฤษภา เราเห็นแววตาคนที่กลัวตาย เห็นแววตาคนที่มีห่วงเห็นแววตาคนที่พร้อมจะยอมตาย แต่คนเหล่านั้นไม่กร่างเท่านี้นะ
ประกายไฟ
...ที่มาที่ไปของ "เสื้อแดง" มันไม่เกี่ยวกับเรื่อง "รักเจ้า" หรือ "รักทักษิณ" ..