janejira's picture

<p style="margin-bottom: 0cm"><span><strong>บันทึกหมู่บ้านห่วงสีทอง</strong></span></p><p style="margin-bottom: 0cm">&nbsp;</p><p style="margin-bottom: 0cm"><span>บันทึกชีวิตชาวกะยัน ผู้มีห่วงสีทองคล้องคอ ซึ่งเป็นห่วงทองคำของใคร ๆ แต่ไม่ใช่ของเจ้าของคอ </span></p><p>&nbsp;</p><p style="margin-bottom: 0cm">&nbsp;</p><p><strong>เจนจิรา สุ</strong></p><p>นามปากกานี้เคยมีงานเรื่องสั้นปีพิมพ์มาบ้าง ในหน้านิตยสาร เช่น สกุลไทย เนชั่นสุดสัปดาห์ โพราติค ฯลฯ</p><p>หลังจากจบปริญญาตรีเกี่ยวกับภาษาและวรรณกรรมจากมหาวิทาลัย เชียงใหม่ เธอทำงานฝ่ายเผยแพร่กับองค์กรพัฒนาเอกชน เช่นทำข่าว เขียนบทความให้เว็บไซต์โลคัลทอล์ค</p><p>เธอเป็นนักเดินทางคนหนึ่ง แต่ตอนนี้เธอหยุดอยู่กับที่ ที่บ้านห้วยเสือเฒ่า แม่ฮ่องสอน เพราะไปพบหนุ่มกะยันหรือกะเหรี่ยงคอยาว ที่เธอตัดสินใจแต่งงานด้วย มีลูกชายด้วยกัน 1 คน</p>

บล็อกของ janejira

เส้นทางกลับบ้าน 2

สมรภูมิแห่งนี้เรารบกับอะไร


ที่ผ่านมาเราถูกจองจำไว้ในกรงที่มองไม่เห็น เรามีอาหาร มีที่อยู่หลับนอน แต่เราไม่สามารถเป็นคนเต็มคนได้ เพราะเราไม่มีสิทธิ์คิดหรือแสดงความคิดเห็น ไม่สามารถรู้สึกเจ็บแค้นร้อนหนาว


เราต้องทำหน้าที่อันถูกกำหนดมาจากผู้คุม ต้องทำงานหนักเพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับนาย เพียงเพื่อส่วนแบ่งที่ถูกเจียดให้พอประทังชีวิต


แล้ววันหนึ่งเราต้องการปลดแอก เราต้องการตั้งอาจักรของตนเอง มีบ้านและที่ดินที่เป็นของเราจริงๆ ได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมจากสมองและแรงกายของตนเอง

เส้นทางกลับบ้าน 1

ตุลาคม 2551

"พร้อมหรือยัง"
ใครคนหนึ่งตะโกนประโยคซ้ำเมื่อห้านาทีที่แล้ว เมื่อขบวนหนุ่มสาวต่างถิ่นยังคงง่วนอยู่กับการกดชัตเตอร์เก็บภาพ
แสงแดดยามเก้าโมงเช้า ช่างยวนใจให้ไม่อาจละสายตาจากหญิงกระยันที่ปะแป้งแต่งตัวกันจนเป็นที่เรียบร้อย หลายคนจึงยังเสียดายที่จะละกล้องแล้วออกเดินทาง

"หากไปสายกว่านี้เราจะร้อนมากเมื่ออยู่กลางป่า" ฉันเตือนเพื่อนที่ไม่มีประสบการณ์ในการเดินเท้าสู่หมู่บ้านกลางป่าที่อยู่ห่างออกไปจากที่นี่ราวๆ สามกิโลดอย

งานต้นที


เสียงโหม่งขนาดใหญ่ประสานกับเสียงกลอง ฆ้อง ฉาบ แม้ฟังดูอึกทึกครึกโครม แต่ก็พลิ้วไหวไปตามทำนองขุล่ยมั้งที่เป็นขลุ่ยเฉพาะของชาวกระยัน ได้เริ่มขับประโคมหมู่บ้านราวป่า ส่งสัญญาณการเริ่มต้นของงานประเพณีต้นที


กะควาง” ในภาษากระยันถูกแปรออกมาเป็นภาษาเรียกอีกอย่างว่า “ต้นที” ซึ่งหมายถึงเสาไม้สีขาวแกะสลักปลายเสาให้เป็นรูปร่างคล้ายกับศิวลึงค์ ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ในหมู่บ้านชนเผ่ากระยัน(กระเหรี่ยงคอยาว) และชนเผ่ากระยา(กระเหรี่ยงแดง)


ชาวกระยันเชื่อว่า ต้นทีเป็นต้นไม้ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งแรกบนโลกมนุษย์ การบูชาต้นทีก็เพื่อให้บรรพบุรุษของกระยัน ที่สถิตบนสวรรค์ลงมาปกป้องคุ้มครองหมู่บ้านให้มีความสงบสุข อยู่ดีกินดี ไม่มีโรคระบาด ผีร้ายหรือสัตว์ป่าเข้ามารบกวนตลอดปี


ก่อนวันงาน ทุกครอบครัวจะจัดเตรียมไม้ฟืนไว้สำหรับหุงต้มอาหาร แต่ละบ้านจะหาไม้ฟืนไว้พอใช้ทั้งปี ชายหนุ่มเข้าป่าเสาะหาไม้ล้มมาทำฟืน หญิงสาวปัดกวาดเช็ดถูบ้านเรือนครั้งใหญ่ แม่เฒ่ากระยันหุงเหล้ากลิ่นคละคลุ้งทั่วบ้าน หมูและไก่ตระเตรียมรอการเชือดเพื่อเลี้ยงแขกเหรื่อในวันรุ่งขึ้น

นกในกรงทอง

มีนาคม 2551


ฉันตอบจดหมายแฟนนักอ่านคอลัมน์ของฉันคนหนึ่ง เธอเป็นคนปักษ์ใต้ นานเป็นเดือนที่จดหมายมาถึงพร้อมเสื้อผ้าและข้าวของกล่องใหญ่ ด้วยเจตนาทดแทนความขาดแคลนตามความรู้สึกของเธอ ที่สัมผัสจากการอ่านในบันทึกของฉันอยู่สองสามฉบับ เธอบอกว่าอิจฉานิดๆ ในชีวิตที่เรียบง่ายที่ฉันเลือกเดิน ฉันจึงตอบเธอไปว่าฉันเป็นเพียงนกที่บินหลงทางมา



ก่อนหน้านี้ฉันก็ได้รับจดหมาย เสียงโทรศัพท์ และหนังสือดีๆ ที่ถูกส่งมาจากคนเมืองไกลจากเพื่อนที่ห่างหายการติดต่อมานานแสนนาน และจากมิตรร่วมความรู้สึกที่ไม่เคยเห็นหน้า


อาจดูเป็นเรื่องแปลกหรือมีเปอร์เซ็นต์น้อยเหลือเกิน ที่คนปกติธรรมดา เกิด และเติบโตในสังคมเมือง ได้รับการศึกษาเต็มความสามารถที่จะไปถึง ตัดสินใจทิ้งสังคมศิวิไลซ์มาใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ที่ไร้ความสะดวกสบาย และเก็บงำตัวเองออกจากโลกภายนอก

ห้วงรำพึงแม่เฒ่ากระยัน

20 พฤศจิกายน 2550

1

คืนนี้แสงจันทร์กำลังโผล่พ้นเหลี่ยมเขาทิศเหนือ ดาวพราวแต้มเต็มฟ้า เหล้าดีกรีแรงทิ้งก้นจอกตั้งวางเคียงดวงเทียนที่ถูกจุดขึ้นโดยแม่เฒ่า

ฉันกระชับเสื้อกันหนาวอีกนิด เมื่อลมหนาวพรูมาทางหน้าต่างบานกว้าง แม่เฒ่าบอกให้ยกดื่มอีกสักจอกแล้วจะอุ่นขึ้น

ฉันรินคืนให้แม่เฒ่าพลางถามถึงความหลังเมื่อครั้งที่ยังอยู่ที่เมืองดอยก่อ รัฐคะยา ประเทศพม่า
“ตอนนั้นแม่ทำนามาได้ก็ต้องแบ่งให้กับเจ้าของนา ที่เหลือก็แทบไม่พอกิน ทหารพม่าก็ยังมาขูดรีดเอาอีก บางทีถ้าไม่ให้ก็ทุบตี พวกผู้ชายต้องพากันไปหลบซ่อนตัว  ไม่อย่างนั้นมันจะเกณฑ์ให้ไปขนระเบิดที่ชายแดน”
“แล้วมีคนที่หมู่บ้านถูกเกณฑ์ให้ไปกับทหารพม่าบ้างหรือเปล่า”
“มีลุงของแม่คนหนึ่งไปกับทหารพม่าไปแล้วไม่เห็นหน้ากันจนถึงวันนี้”

แม่เฒ่าตอบพลางรินป่าเหล้าดีกรีแรงผ่านลำคอระหงที่ร้อยด้วยห่วงทองเหลืองแวววาว
“พอแม่คลอดลูกคนที่เจ็ดได้ไม่นานก็มีคนที่มาเมืองไทยส่งข่าวว่าอยู่ที่เมืองไทยสุขสบายกว่าอยู่นี่เดิมมาก พอมีคนมารับแม่ก็เลยตัดสินใจหอบลูกสามคนมาที่นี่”
“แม่มาเส้นทางไหน เพราะทหารพม่าอยู่กันให้ยุบยับตามชายแดน”
“ไม่รู้มีคนจากเมืองไทยมานำทาง ตอนนั้นมาได้สองทางคือขึ้นเกวียนกับเดินเท้าแต่แม่ไม่มีเงินจึงเดินเท้าเจ็ดวันเจ็ดคืน ลูกคนเล็กอายุยังไม่ครบสองเดือนเลย”

“แล้วพ่อเฒ่ากับลูกอีกสี่คนละแม่” ฉันถามต่อ
“ตอนนั้นพ่อเฒ่ายังไม่แน่ใจเลยว่าจะมาเมืองไทยดีหรือเปล่า ก็เลยแบ่งลูกกัน ให้ลูกชายช่วยพ่อทำนา พอแม่มาอยู่ที่นี่ได้ 3-4 เดือนก็ส่งข่าวกลับไปให้พ่อหอบลูกอีกสี่คนตามมา”

ไม่ได้มีเพียงพ่อเฒ่าและแม่เฒ่ากระยันครอบครัวนี้เท่านั้นที่หนีความยากจนและภัยสงครามมาอยู่ที่ใต้บรมโพธิสมภารในราชอาณาจักรไทย ยังมีชนกลุ่มน้อยอีกมากมายที่อพยพลี้ภัยมาอยู่ตามศูนย์อพยพค่ายๆของไทย แต่แม่เฒ่าผู้มีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์น่าสนใจต่อผู้พบเห็นจนดูเหมือนมีอภิสิทธิ์มากกว่าชนเผ่าอื่นในการได้ในการอาศัยอยู่นอกเขตศูนย์อพยพ

ฉันนึกภาพความยากจนของครอบครัวของสามีออก เพราะก่อนนั้นฉันเคยถามชีวิตความเป็นอยู่พี่สาวสามีเมื่อครั้งยังอยู่พม่า เธอเล่าให้ฟังว่า ต้องตื่นไล่วัวแต่เช้า ต้อนวัวนับร้อยตัวไปเลี้ยงในทุ่งหญ้า พอพ้นหน้าเกี่ยวข้าวเจ้าของวัวก็จะให้ค่าจ้างเป็นข้าวเปลือก  แต่ถ้าทำวัวของเขาตายสักตัว บางปีก็จะอดได้ค่าจ้างซ้ำยังต้องชดใช้ค่าเสียหายเพิ่มก็มี

แม้ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงจะมีอยู่ทุกสังคม แต่สำหรับชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า กับถูกรุกรานซ้ำเติมจากระบบการปกครอง นำไปสู่การปล้นชิงเอารัดเอาเปรียบเพียงเพราะมีความแตกต่างทางชาติพันธุ์
ดวงเทียนถูกจุดเติมให้สว่างแท่งแล้วแท่งเล่า แม่เฒ่าเล่าเรื่องราวระลึกหนหลังเมื่อนานมาแล้ว เมื่อครอบครัวของแม่เฒ่าอยู่พร้อมหน้าได้ไม่นาน พ่อเฒ่าก็มาด่วนจากไปด้วยไข้มาเลเรียทิ้งให้แม่เฒ่าดูแลลูกที่ยังเล็กทั้งเจ็ดคน

หลังจากพ่อเฒ่าตายได้ประมาณสี่ห้าปี แม่เฒ่าก็แต่งงานใหม่ แต่อยู่เป็นเสาหลักให้ครอบครัวไม่นานก็เกิดเรื่องสะเทือนใจขึ้น พ่อเฒ่าหายตัวไปหลังจากต้องไปเฝ้าไข้ลูกชายที่โรงพยาบาล มีคนไปพบร่างที่ไร้วิญญาณอยู่ที่ชายแดนไทยพม่า
เมื่อแม่เฒ่าทราบข่าวก็โศกเศร้ากินไม่ได้นอนไม่หลับจนกระทั่งล้มป่วยลง ต้องไปพักฟื้นที่โรงพยาบาลอยู่หลายวัน

ฉันจึงไม่แปลกใจ ที่มักจะเห็นห้วงรำพึงถึงความหลังของแม่เฒ่านั่งจิบสุราเดียวดายยามค่ำคืน
“ตอนนี้แม่ไม่คิดอะไรสักอย่าง  ดื่มวันละนิดละหน่อยเป็นยา”

แม่เฒ่าจิบเหล้าบ่อยครั้งในแต่ละวัน แม้ลูกหลานจะคอยห้ามปรามแต่เหมือนไม้แก่ดัดยาก แม่เฒ่าดื่มเหล้าเป็นยา ยาแก้ช้ำใน ยาชูกำลังใจ

ฉันรู้ซึ้งถึงความในใจของแม่เฒ่าที่แม่เฒ่าที่มีความหวังอยากจะไปเห็นทะเลสักครั้งในชีวิต แต่เป็นเรื่องยากที่ทางการจะอนุญาตให้ชนเผ่าที่มีค่าตัวแพงอย่างกระเหรี่ยงคอยาว ออกไปเดินเพ่นพ่านโชว์ตัวให้ผู้อื่นพบเห็น

แม้ลูกหลานจะคอยบอกให้แม่เลิกคิดเลิกหวังแม่เฒ่าก็ยังมีความหวังอยู่เสมอเมื่อครั้งใดที่มีเพื่อนผู้มาเยือนแม่เฒ่าเป็นคนไทยพูดจาชักชวนให้ไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆ

“แม่จะไปเจเปน (ญี่ปุ่น) เพื่อนญี่ปุ่นชวนแม่แล้ว ปีหน้าแม่จะไป เมืองไทยแม่ไม่ไปก็ได้ แต่เจเปนแม่คงจะไปได้”
แม่เฒ่าเปรยถึงความหวังครั้งใหม่ให้ลูกสะใภ้อย่างฉันฟัง เหมือนก้อนกลมสักอย่างวิ่งมาชนที่อกให้หายใจติดขัด คำพูดก็ดูเหมือนตีบตันตามไปด้วย

ฉันจะทำลายความหวังของแม่เฒ่าด้วยการพูดความจริงว่า ก่อนจะไปเจเปนก็ต้องออกจากเมืองแม่ฮ่องสอนให้ได้ก่อนจึงจะไปขึ้นเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิอันโอ่อ่า เพื่อจะลัดฟ้าข้ามเขตอาณาจักรไทย ไปยังประเทศอื่นๆของบรรดานักท่องเที่ยวที่มาเยือนแม่เฒ่าถึงหัวกระไดบ้าน

“แม่มีเงินค่าเครื่องบินแล้ว แต่ลูกๆจะปล่อยแม่ไปไหมก็ไม่รู้” แม่เฒ่ารำพึงถึงความฝัน หัวใจนั้นบินไปไกลแล้ว สวนทางความเข้าใจในพื้นที่ของแม่เฒ่าที่ยังไปไม่พ้นหัวกระไดบ้าน
“แม่จะไปเจเปนได้อย่างไร ที่นั่นเขาไม่มีเหล้าแบบนี้นะ เขาไม่ให้เอาขึ้นเครื่องบินไปด้วยซี แม่ต้องอดเหล้านะ ” ฉันหาทางออก
“โอ้ะ! จริงหรือแม่ไม่รู้เลย” แม่เฒ่าตกใจกับข่าวที่ฉันบอกก่อน
“ งั้นแม่ไม่ไปแล้วเจปงเจเปน กินเหล้าเฉยๆ ขายของอยู่ที่บ้านดีกว่า” แม่เฒ่าเอื้อยเอ่ยช้าๆดังจะหาทางออกให้กับตัวเอง หลังจากเงียบครุ่นคิดด้วยสีหน้าผิดหวัง ฉันจึงรีบตัดบทว่า “ถ้าแม่อยากไปจริงๆ แม่เลิกเหล้าก่อนนะ ถ้าแม่เลิกได้ หนูจะพาไปเที่ยวบางกอกเอง”

ฉันทิ้งความหวังใบสุดท้ายที่ไม่รู้ว่าจะเป็นจริงในวันใด แต่คงไม่ไกลเกินไปถึงเจเปน หากวันหนึ่งรัฐไทยจะให้สิทธิ์ความเป็นพลเมืองสำหรับนกน้อยในกรงทองเลอค่าที่ยังคงทำคุณให้แผ่นดินเช่นชนกลุ่มนี้.

 

มุมหนึ่งของความพอเพียง

10 พฤศจิกายน 2550

ฉันว่างเว้นจากการเขียนบันทึกไปนานด้วยทั้งภารกิจส่วนตัวที่ต้องยุ่งวุ่นวายกับเจ้าตัวน้อยที่อยู่ในวัยที่ต้องการการเอาใจใส่อย่างสูง และภารกิจของชุมชนที่ต้องเขียนโครงการเพื่อของบประมาณจากหน่วยงานราชการ ทั้งงานประสานงาน งานประชุม ส่วนเวลาที่เหลือฉันก็ยกให้กับการคิดในเรื่องต่างๆ

1

ฉัน สามี และลูกต้องเดินทางทุกๆ 3-5 วัน จากบ้านของตนเองที่สร้างไว้ใกล้เมืองไปบ้านห้วยเสือเฒ่าและบ้านใหม่ห้วยปูแกง การพักอาศัยที่บ้านของตัวเองที่สร้างไว้ใกล้เมืองนั้นก็ด้วยเหตุผลเดียวคือความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะการเดินทาง อยู่ใกล้โรงพยาบาล มีไฟฟ้าใช้สำหรับทำงาน หรือพักผ่อนด้วยการดูทีวี ติดตามข่าวสารโลกภายนอก

การเดินทางเข้าบ้านห้วยเสือเฒ่าก็เพื่อดูแลแม่ของสามีที่ต้องการใกล้ชิดกับลูกหลานโดยเฉพาะหลานที่แกได้เลี้ยงดูแลมาตั้งแต่เกิด

ส่วนหมู่บ้านใหม่นั้นฉันต้องเข้าไปให้กำลังใจชาวบ้าน ดูแลทุกข์สุข แม้ว่าจะทำอะไรไม่ได้มากมายนักแต่ก็คอยประสานงานกับทางอำเภออยู่ข้างนอก  

รวมๆ แล้วเป็นความวุ่นวายทั้งกาย-ใจ ที่เกินพอดีจนไม่อาจจะจับปากกานิ่งๆ เพื่อเขียนอะไรสักอย่างได้เป็นชิ้นเป็นอัน

ดูเหมือนหมู่บ้านใหม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น หน่วยงานราชการสนใจเข้ามาเยี่ยมงานสม่ำเสมอ ผักไม้ที่ปลูกหว่านไว้ได้เก็บเกี่ยวเป็นกับข้าวแล้วหลายมื้อ  ลูกไก่ที่ได้รับแจกมาจากทางจังหวัดเติบโตขึ้นตามวันเวลา ชาวบ้านปรึกษาหารือกันบ่อยขึ้นแม้ว่าฉันจะไม่ได้เข้าไปจัดวงประชุมเหมือนที่ผ่านมา  

ทางอำเภอเข้ามาปรับปรุงถนนเชื่อมต่อระหว่างบ้านเก่ากับบ้านใหม่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวบ้านเก่าสามารถเดินเข้ามาเที่ยวที่บ้านใหม่ได้สะดวกขึ้น พวกเราได้เห็นความจริงใจของข้าราชการหลายคน ที่ทุ่มเทให้กับการพัฒนาหมู่บ้าน และชาวบ้านสองหมู่บ้านได้เชื่อมโยงน้ำใจซึ่งกันและกันจากการทำงานร่วมกัน

นักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางเข้ามาเที่ยวในหมู่บ้านมากขึ้น แต่ก็มีจำนวนน้อยเท่านั้นที่จะเข้าไปถึงหมู่บ้านใหม่ ชาวบ้านบ้านเก่าจึงแบ่งที่ทางร้านขายของให้คนบ้านใหม่ได้วางขายของที่ระลึกช่วยให้คนบ้านใหม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทาง

กลับมาที่บ้านห้วยเสือเฒ่า หมู่บ้านที่เคยมีถนนสองสายตั้งแต่สะพานจนถึงท้ายหมู่บ้าน บัดนี้ถูกยุบรวมให้เหลือสายเดียว อีกสายถูกปล่อยร้างเพราะกระยอต้องย้ายบ้านลงมาสร้างรวมกับกระยันเพื่อทดแทนบ้านหลังก่อนที่ถูกรื้อย้ายไป

แม้บ้านที่สร้างขึ้นใหม่จะดูกลมกลืนจนนักท่องเที่ยวที่เคยมาหนแรกไม่เอะใจในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่ในความรู้สึกของชาวบ้านเองต่างก็รู้ว่าต้องใช้เวลาในการปรับตัวสำหรับที่ทางบ้านใหม่

นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในหมู่บ้านตั้งแต่เช้าตรู่ กว่าที่กลุ่มสุดท้ายจะออกจากหมู่บ้านก็มืดค่ำ บางวันชาวบ้านต้องจุดเทียนไขให้ความสว่างอยู่หน้าร้านขายของ  

รายได้จากการขายของที่ระลึกของชาวบ้านห้วยเสือเฒ่าดูเหมือนจะได้เป็นกอบเป็นกำ มากกว่าอีกสองหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ไกลเมืองมากกว่า แต่ฉันก็ได้ยินชาวบ้านหลายคนบ่นว่ารายได้จากการขายของปีนี้ลดลงมากกว่าปีก่อนๆ

2

ฉันนึกถึงความเป็นอยู่ของคนที่ย้ายไปซึ่งหากนับจำนวนรายได้ที่เคยได้รับในทุกๆ ปี พวกเขาย่อมรู้สึกอัตคัดกว่าเดิมเป็นหลายเท่าตัว แต่ในความอัตคัดนั้นฉันก็หวังว่าพวกเขาจะคิดถึงในส่วนที่พวกเขาได้ร่ำรวยมากกว่าคนที่นี่

ความร่ำรวยนั้นก็คืออิสรเสรีภาพแห่งการดำเนินชีวิต หากไม่ถือคติเสียว่า “เงิน” ซื้อได้ในทุกสิ่งเสียแล้ว การพออยู่พอกินด้วยการทำการเกษตรแม้จะเป็นการยากที่จะละความเคยชินจากการแค่ยืนอยู่หน้าร้านขายของและมีคนมายื่นเงินให้ถึงบ้านแล้วละก็ หยาดเหงื่อนั้นแหละที่จะมีกลิ่นหอมเสียยิ่งกว่าข้าวของเงินทองที่ได้มาโดยง่าย

แต่การที่พวกเธอถูกนายทุนทำให้เป็นสินค้า ห่วงทองเหลืองมีค่าดุจทองคำ ซึ่งต่างจากชาวเขาเผ่าอื่นที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนทำมาหากินจากหยาดเหงื่อแรงงาน พวกเธอที่สวมห่วงทองคำเหล่านั้นจึงดูเหมือนฝากความหวังไว้กับการท่องเที่ยว มากกว่าการทำการเกษตรหรืออาชีพอื่นที่ต่างออกไปจากเดิม

ฉันไม่แปลกใจที่ทุกครั้งที่เข้าไปในหมู่บ้านคำถามที่จะได้ยินทุกครั้งคือเรื่อง “ถนน” ในมุมมองของชาวบ้านจึงหวังพึ่งเพียงให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเพื่อจะได้มีรายได้เหมือนเช่นเคยด้วยความเคยชิน

สิ่งที่จะเปลี่ยนความเคยชินของชาวบ้านได้จึงต้องมีการคิดหาลู่ทางในการหารายได้รูปแบบอื่นๆ ซึ่งหน่วยงานราชการต้องมาสนับสนุนในด้านความรู้ เช่นการปลูกผักเพื่อขาย หรือส่งเสริมในเรื่องการทำหัตกรรม เป็นต้น

แม้ว่าการปลูกผักสวนครัวทำการเกษตรเล็กๆ น้อยๆ ที่ทางเกษตรอำเภอมาสนับสนุนจะพอแบ่งเบาค่ากับข้าวของชาวบ้านไปได้ในบางส่วน แต่รายจ่ายในส่วนอื่นๆ เช่นค่าข้าวสาร ค่าลูกไปโรงเรียน ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ จำต้องจ่ายเป็นตัวเงินแทบทั้งสิ้น

หากฉันเป็นชาวบ้านเองก็คงมองไม่เห็นหนทางหารายได้ที่รวดเร็ว ลงทุนน้อย และได้กำไรงามไปกว่าการหารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นแน่

สิ่งที่ยากไปกว่านั้นก็คือ ความคิดเรื่องความพอเพียงในตรรกะของราชการที่มีต่อชาวบ้านนั้น สำหรับชาวบ้านแล้วเป็นความพอเพียงหรืออัตคัต?

เพราะถ้าการปลูกผักไม้กินเป็นอาหารได้แล้วราชการมองว่า เป็นความพอเพียง ไม่ต้องมีรายได้จากการท่องเที่ยวก็ได้ ชาวบ้านก็จะสะท้อนความจริงว่า พวกเขายังมีรายจ่ายอะไรอีกบ้างในชีวิต

ในวันที่ห่วงทองคำสีซีดจางลง ท้องของพวกเขาก็หิวโหยมากขึ้น อะไรจะอยู่ตรงกลางเป็นความพอเพียงที่แท้จริง เป็นคำถามที่ใครต้องเป็นผู้ขบคิด.

 

หมู่บ้านที่พัฒนา

12 ตุลาคม 2550

ยามสายของวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่สนามบินแตกตื่นไปกับผู้คนที่เดินทางไปรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นหญิงกระยันสวมห่วงทองเหลืองที่ขัดจนแวววาว เดินอย่างเป็นระเบียบมาเข้าแถวต้อนรับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพียง

บางคนที่มารอขึ้นเครื่องเข้ามากดชัตเตอร์ขอถ่ายรูปพวกเธอที่แต่งชุดกระยันเต็มยศ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส

มะลิ เด็กสาวกระยันคนหนึ่งถูกเลือกให้กล่าวคำต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ด้วยเหตุผลที่เธอสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ชัดเจนที่สุด แม้ว่าเธอจะประหม่าบ้างกับกล้องถ่ายรูป ผู้คน และภารกิจที่เธอจะต้องทำ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี

ในวันนั้นเราได้มีโอกาสพบปะกับข้าราชการชั้นสูงของจังหวัดหลายคน และฉันก็ได้มีโอกาสมอบหนังสือที่ชาวบ้านร่วมกันทำขึ้นมาไว้ให้กับนายอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน

หนังสือฉบับนั้นเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อบอกเล่าสภาพหมู่บ้านและปัญหาหลังการย้าย พวกเราได้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือผ่านหนังสือฉบับนี้เพื่อเร่งให้หน่วยงานราชการต่างๆเข้ามาแก้ไข  ไม่นานผลของความพยายามก็เป็นผลสำเร็จ

วันนี้เป็นครั้งแรกที่เราจะได้ต้อนรับคณะหน่วยงานราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่เข้ามาที่หมู่บ้านของเราอย่างคึกคัก

ท่านผู้ว่าฯ เข้ามาในนามนายกเหล่ากาชาดจังหวัดแม่ฮ่องสอน และการมาครั้งนี้ก็เพื่อบรรเทาสาธารณะภัยของชาวบ้าน หรือเรียกง่ายๆว่ามาแจกของช่วยเหลือชาวบ้านเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

บ่ายกว่าๆ เจ้าหน้าที่อส.จ. ก็ส่งข่าวเข้ามาทางวิทยุสื่อสาร ว่าให้เตรียมตัวเข้าแถวต้อนรับคณะหน่วยงานราชการที่กำลังขึ้นเรือจากท่าของหมู่บ้านห้วยปูแกงเก่า  และกำลังเดินเท้าเข้าตรอกเล็กๆ จากห้วยปูแกงเก่าเข้าหมู่บ้านใหม่ซึ่งถูกปรับปรุงไม่ให้ชื้นแฉะเป็นหลุมบ่อเหมือนอย่างเคย เพื่อให้แขกที่เข้ามาเยือนสามารถย่ำเท้าเข้ามาได้อย่างสบาย

มะลิ หญิงสาวกระยันคนเดิม ต้องทำหน้าที่ในการกล่าวรายงานต่อท่านผู้ว่าฯ อีกครั้ง ครั้งนี้เธอต้องขึ้นไปยืนบนเวที มีมะหล่อเพื่อนสาวกระยันคอยถือโทรโข่งอยู่ข้างๆ

ฉันสังเกตว่าเธอประหม่ากว่าครั้งก่อนมาก จนสังเกตเห็นกระดาษที่ถือสั่นไหว แม้แต่เสียงที่พูดในท่อนแรกๆก็สั่นตามไปด้วย  เพราะคนที่มาในวันนี้ล้วนเป็นหัวหน้าส่วนราชการของจังหวัด แต่งตัวทะมึงขึงขัง ถือกระเป๋าใบใหญ่ เสียงพูดจาสอบถามชาวบ้านเฉ่งฉางจากทุกมุมของลานเวที

หลังจากจบการกล่าวรายงานของชาวบ้าน และพิธีการในส่วนเวที ซึ่งมีทั้งการกล่าวรายงานของส่วนราชการ การรำวงต้อนรับของชาวบ้าน ท่านผู้ว่าก็ขึ้นกล่าวปราศรัยอีกเล็กน้อย

เมื่อถึงเวลาแจกสิ่งของให้ความช่วยเหลือ ชาวบ้านก็เข้าแถวเพื่อรับของที่สมาชิกเหล่ากาชาดหอบหิ้วกันมาด้วยสีหน้ายินดี แม้จะดูเป็นความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยแต่ก็เป็นการแสดงออกถึงน้ำใจของส่วนราชการ เป็นความหวังเดียวของชาวบ้านที่จะได้พึ่งพาอาศัย

janejira1

วันนั้นแดดจ้า และเหงื่อของพวกเราหยดไหลเป็นทางขณะพาท่านผู้ว่าฯและคณะเดินชมบริเวณรอบๆ หมู่บ้าน คำขอของชาวบ้านพรั่งพรูออกมาจากตัวแทน ส่งผ่านไปถึงข้าราชการต่างๆ เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น ให้ช่วยตัดถนนเส้นใหม่ที่ใกล้เมือง สร้างสะพานข้ามแม่น้ำ ช่วยสร้างโรงเรียน สร้างสถานที่รักษาพยาบาล ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ใช้งบประมาณมหาศาล

หลังจากที่รอยเท้าและฝุ่นควันจางหายไปคืนความสงบเงียบให้กับหมู่บ้านอีกครั้ง ฉันที่เป็นเสมือนล่ามได้ทำหน้าที่ส่งผ่านความในใจของชาวบ้านสู่เจ้าหน้าที่ นึกหวังในใจว่าคำขอของชาวบ้านจะสามารถเป็นจริงในเร็ววัน

แม้ว่าคำขอเหล่านั้นจะดูมากมายหากใช้สายตาคำนวณด้วยงบประมาณ แต่ว่าถ้าหากหน่วยราชการจะพิจารณาให้ลึกซึ้ง จะเห็นว่าคำขอเหล่านั้นก็ล้วนเป็นคำขอที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ต่างอะไรกับคนอื่นๆที่ควรมีควรได้

การขอเรื่อง “ถนน” หรือ “สะพาน” ก็คือตัวเชื่อมให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสู่หมู่บ้านเพื่อให้เกิดรายได้ และรายได้ก็จะออกไปสู่เมืองแม่ฮ่องสอนพร้อมกับ “ถนน” หรือ “สะพาน” นั้นๆ  เพื่อใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วย เป็นค่าอาหารหรือแม้แต่เครื่องนุ่งห่มซึ่งนับเป็นปัจจัยสี่ที่ทุกคนต้องการ  

ไม่นับความจำเป็นพื้นฐาน เช่น โรงเรียนและอนามัย ไฟฟ้าหรือประปา ทุกคนบนโลกนี้ก็ล้วนมีสิทธิ์ใช้สิ่งเหล่านี้ในการดำเนินชีวิต

ฉันนึกถึงเมื่อตอนที่ยังอยู่หมู่บ้านเดิม หมู่บ้านห้วยเสือเฒ่าตั้งห่างจากเมืองเพียง 7 กิโลเมตร ถนนที่ตัดผ่านป่าขึ้นเขาลงห้วยได้รับงบประมาณในการปรับปรุงอยู่ทุกปี และแน่นอนว่าบ้านทุกหลังที่อยู่ใกล้ถนนเส้นนี้มีไฟฟ้ากระแสหลักใช้ แต่แล้วเสาไฟฟ้ากับหยุดกึกห่างจากหมู่บ้านกระเหรี่ยงคอยาวเพียงไม่กี่ก้าว

“หากหมู่บ้านพัฒนาขึ้นหรือมีไฟฟ้าใช้ นักท่องเที่ยวก็จะไม่มาเที่ยว เพราะหมู่บ้านไม่เป็นธรรมชาติ” ฉันนึกขำในนโยบายเช่นนี้ เพราะนักท่องเที่ยวคงแปลกใจว่าเหตุไฉนชาวบ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ ทั้งๆ ที่เสาไฟฟ้าก็ยืนต้นเคียงเสาทวนสัญญาณโทรศัพท์บริษัทหนึ่งอยู่หน้าหมู่บ้านแท้ๆ

janejira2

ทั้งที่ความเป็นจริงชาวบ้านต้องจ่ายค่าชาร์ตแบตเตอร์รี่คิดเป็นเงินแล้วมากกว่าจ่ายค่าไฟฟ้ากระแสหลักเสียอีก แม้ว่าไฟที่ใช้จะเป็นเพียงค่าดูทีวีสัก 2-3 ชั่วโมงต่อวัน ค่าหลอดไฟสักดวง หรือบางบ้านอาจจะเปิดวีซีดีได้สักแผ่น

เจ้าของความคิดที่เป็นนายทุนผู้ดูแลชาวบ้านและททท. จึงไม่สามารถหยุดความเจริญที่จะเข้ามาถึงพวกเขาได้ ที่ทำอยู่จึงเป็นเพียงการหลบซ่อนความจริงจากสายตานักท่องเที่ยวเท่านั้น

ในวันที่มะลิขึ้นกล่าวรายงานต่อคณะหน่วยราชการ ทุกคนจึงตกตะลึงในวิวัฒนาการของชนเผ่าโบราญที่เรียกว่ากะเหรี่ยงคอยาว นักข่าวจึงเข้ามาสัมภาษณ์มะลิ ทุกคนจับจ้องไปที่เธอ หลายหน่วยงานเข้ามาถ่ายวีดีโอกระดาษเขียนรายงานที่เป็นรายมือของเธอ

ความประหม่าของเธอเกิดจากโอกาสที่เธอจะยืนอยู่บนเวที และพูดในความจริงนั้นมีน้อยครั้งเหลือเกิน ครั้งนี้จึงเป็นเพียงแบบฝึกหัดแรกที่เธอยังไม่เคยชิน จึงทำให้มือไม้สั่นด้วยความประหม่า

แต่ก็ทำให้หน่วยงานราชการหลายส่วนที่มาวันนั้นตื่นขึ้นยอมรับกับความจริง หลายข้อ เช่นยอมรับว่าพวกเขาสามารถอ่านเขียนหนังสือไทยได้ไม่ต่างจากคนไทยที่มีบัตร พวกเขารู้จักคิดและวางแผนจัดการต่ออนาคตของตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องให้ใครมาจูงจมูก

และพวกเขาก็พร้อมที่จะพัฒนาตัวเอง เพื่อก้าวไปพร้อมๆกับโลกข้างนอกที่กำลังทะลักเข้ามาสู่หมู่บ้านเล็กๆ หลังเขาแห่งนี้

ท่วงทำนองของหมู่บ้านดึกดำบรรพ์

picture

25 กันยายน 2550

หมู่บ้านใหม่ค่อนข้างจะคึกคักตกเย็นมีเสียงดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเป็นเพลงพื้นบ้าน  เสียงซึงประสานเสียงโม่งสอดรับกับท่วงทำนองเนื้อร้องของแม่เฒ่า เอื้อนไต่บันไดเสียงคลอปี่ไม้ไผ่ผิวหวิวไหวขึ้นลง ไล่เลียงไปไม่ทันสุดบันไดเสียงก็โยนกลับไป-มาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด

ทำให้ฉันรู้สึกราวกับว่าตกอยู่ในหมู่บ้านลี้ลับกลางป่าเปลี่ยวดึกดำบรรพ์ที่ไหนสักแห่งที่เคยอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้ว

ต่างจากหมู่บ้านเดิมลิบลับ ที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่พอเพียงสำหรับเปิดเพลงจากซีดี ไม่มีทีวีให้รุมดู แต่มีกาน้ำชาอุ่นบนกองไฟที่ล้อมวงไปด้วยเด็กๆ หนุ่มสาว จนถึงคนเฒ่าคนแก่ ปรึกษาหารือถึงวิถีชีวิตของวันพรุ่งนี้

ฉันเพิ่งแจ้งข่าวดีๆ ร้ายๆ ที่พึ่งรับรู้มาให้ทราบในที่ชุมนุมว่า
“ผู้ว่าราชการจังหวัดคนที่สั่งให้เราย้ายมาอยู่ที่นี่ได้ย้ายไปรับตำแหน่งใหม่ที่จังหวัดอื่นแล้วและเราก็จะได้ต้อนรับผู้ว่าคนใหม่ที่จะมารับตำแหน่งในวันที่ 29 กันยาที่จะถึงนี้กัน”

ทั้งสองข่าวสร้างความหวั่นไหวจนเกิดเสียงอื้ออึง เพราะผู้ว่าฯ คนเก่าเป็นเจ้าของโครงการหมู่บ้านอนุรักษ์วิถีชีวิตชนเผ่ากะเหรี่ยง (ประด่อง) เพื่อความมั่นคงจังหวัดแม่ฮ่องสอน อันเป็นที่มาให้ชาวบ้านทั้งสามหมู่บ้านย้ายมาอยู่รวมกันนั้นได้ย้ายไปแล้ว ชาวบ้านจึงไม่แน่ใจว่าผู้ว่าฯ คนใหม่จะมาสานต่อโครงการเดิมหรือไม่

สิ่งที่ผู้ว่าฯ คนเก่าเคยให้สัญญาไว้คือ จะให้หน่วยงานราชการเข้ามาดูแลในเรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตในด้านต่างๆ ทั้งการศึกษา วัฒนธรรม ปัญหาปากท้อง หรือแม้แต่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ Human Zoosเหมือนเมื่อก่อน เหล่านี้ล้วนจำเป็นสำหรับก้าวแรกในวันที่ชาวบ้านเพิ่งปลดโซ่ตรวนที่พันธนาการจากนายทุนและยังไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้

ฉันรู้ว่าชาวบ้านยังไม่คุ้นชินกับการโยกย้ายแบบปุบปับของข้าราชการไทย แต่ก็รู้ว่า ผู้ว่าฯ นี่แหละที่มีอำนาจมากที่สุดในการปกครองพลเมืองในจังหวัดนี้

หากพวกเขาอยู่ได้อย่างมีตัวตน-หมายถึงทางจังหวัดเห็นความสำคัญไม่ทิ้งขว้าง ความมุ่งหมายของพวกเขาที่จะอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีเป็นเสมือนประชากรของจังหวัดคนหนึ่ง หรืออย่างน้อยก็เป็นเสมือนชาวเขาเผ่าอื่นๆ ที่มีสิทธิเสรีภาพมากกว่า ก็จะเข้าใกล้ความจริงไปอีกก้าว

“ฉันว่าพวกเราน่าจะไปต้อนรับผู้ว่าฯคนใหม่ ที่สนามบินกันนะ ท่านจะได้เห็นใจเราเข้ามาช่วยดูแลสานต่อโครงการของผู้ว่าคนเก่า ”
มะเลาะหญิงกระยันที่เคยไปเรียนหนังสือกับครูเอ็นจีโอฝรั่ง ชักชวนให้ทุกคนกระตือรือร้นอย่างมีความหวัง

“การไปต้อนรับครั้งนี้เราไม่ได้ไปแค่โชว์ตัวหรือฟ้อนรำให้เขาถ่ายรูปกับของแปลกแม่ฮ่องสอนเหมือนเมื่อก่อน แต่เราจะไปฝากตัวให้ผู้ว่าฯ เข้ามาดูแลเราเหมือนเป็นพลเมืองของจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนหนึ่ง เพราะเราไปด้วยความคิดของเรา ไม่ได้ไปเพราะมีใครสั่งให้เราไป ตอนนี้เราอยู่ในความดูแลของทางจังหวัด ไม่ใช่นายทุนเหมือนที่ผ่านมาอีกต่อไปแล้ว”  ฉันเสริมความคิดของมะเลาะ

คืนนั้นเราจึงเตรียมการณ์ไว้ว่าวันที่ 28 กันยายนที่จะถึงนี้ พวกเราจะไปต้อนรับผู้ว่าฯ กันที่สนามบิน เพื่อเรียกร้องให้หน่วยข้าราชการสนใจเข้ามาดูแลเรา เพราะนับวันเวลาผ่านไป ข้าวสารอาหารแห้งหรือแม้แต่เงินที่เคยเก็บสะสมไว้ก็ถูกนำมาใช้จ่ายจนลดน้อยลงไปทุกที ในขณะที่ยังไม่เห็นหนทางหารายได้

ในวันที่ข้าราชการสับเท้ากันขึ้นรับตำแหน่ง โครงการต่างๆ มากมายถูกปล่อยร้างเมื่อคนเก่าไปคนใหม่มา แต่ก็มีหลายโครงการดีๆ ที่ถูกสานต่อจนเป็นผลสำเร็จ โดยไม่ได้คิดว่าใครเป็นผู้ริเริ่มไม่มานั่งเถียงกันว่าเป็นผลงานของใคร

ฉันก็ได้แต่หวังว่าโครงการดีๆ ที่ชาวบ้านพร้อมใจกันสามัคคีและให้ความร่วมมือพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่งอมืองอเท้าให้คนอื่นเข้ามาช่วยเหลือเพียงอย่างเดียวจะถูกสานต่อให้บรรลุผลสำเร็จไปด้วยกัน

แม้ว่าชาวบ้านที่นี่ทั้ง 89 คนจาก 31 ครอบครัว จะไม่มีใครที่มีบัตรประชาชนเป็นคนไทยเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หากถามนักท่องเที่ยวว่าแม่ฮ่องสอนมีอะไรที่น่าเที่ยวชมบ้าง ฉันก็เชื่อว่าหนึ่งในนั้นก็คือพวกเขารวมอยู่ด้วย

ถึงแม้ว่าปัจจุบันกะเหรี่ยงคอยาวจะมีอยู่แพร่หลายทั้งเชียงใหม่, เชียงราย แต่แม่ฮ่องสอนก็เป็นบ้านหลังแรกๆ ของพวกเขา ก่อนที่กลุ่มทุนจะนำพาไปจัดตั้งหมู่บ้านเพื่อธุรกิจการท่องเที่ยวกระจัดกระจายไปอีกหลายแห่ง

บางคนที่เป็นพี่เป็นน้องกันต้องพลัดพรากจากกัน แม้ว่าอยู่ห่างจากกันไปไม่กี่จังหวัดแต่ก็ไม่สามารถไปมาหาสู่กันได้ เพราะโอกาสที่ชาวบ้านเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวจะขออนุญาตเดินทางออกนอกจังหวัดนั้นต้องเป็นกรณีสำคัญ เช่น เจ็บป่วยและต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลอื่น เป็นต้น

ฉันเชื่อว่าหากสร้างบ้านที่มีความมั่นคงทั้งทางจิตใจ (ว่าจะไม่ต้องอพยพไปไหนอีกแล้ว) และมั่นคงทางร่างกายคือได้กินอิ่มนอนอุ่น มีสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่ถูกกักถูกขังอยู่เฉพาะบริเวณนักท่องเที่ยวเข้าไปดูได้เท่านั้น เหมือนที่นายทุนกระทำอยู่ในหลายๆ แห่ง พวกเขาก็จะเต็มใจอยู่บ้านของเขาเอง โดยที่ทางการเองก็ไม่ต้องกลัวว่าใครจะลักลอบนำพาพวกเขา ไปอยู่บ้านสวนสัตว์ที่ไหนอีก

หมู่บ้านที่เขาเลือกอยู่อย่างมีความสุข ก็จะเป็นหมู่บ้านจริงๆ ที่มีเลือดเนื้อวิญญาณ มีกลิ่นอายวัฒนธรรมดึกดำบรรพ์และท่วงทำนองวิถีชีวิตที่ชวนเคลิบเคลิ้มไปว่าเราเคยมาเยือนเมื่อนานมาแล้ว

ซึ่งจะแตกต่างกับความรู้สึกหดหู่หลังจากเข้าไปเที่ยวในหมู่บ้านสวนสัตว์คอยาวที่ไหนสักแห่ง

ฟ้าใสน้ำขุ่นและทางเดินที่เสี่ยงตาย

20 กันยายน 2550

เจ้าเขียวสะอื้น (มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ) ส่งเสียงครางกระหึ่มอุ่นเครื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน ก่อนที่มันจะต้องเดินทางไกลในเส้นทางที่ฟ้าสวยแต่พื้นดินแสนขรุขระตรงกันข้าม

สามีฉันจึงจัดแจงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช็คเครื่อง และเพิ่มตะกร้าหลังให้มันเพื่อบรรทุกสัมภาระที่ขนย้ายไปไม่หมด  ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ย้ายไปดำเนินชีวิตที่หมู่บ้านใหม่ก่อนหน้าฉันหลายวันแล้ว แต่ฉันติดตรงที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนตามที่หมอนัด จึงยังอาศัยอยู่ที่บ้านแม่สามีไปพลางก่อน

เช้านี้เราจึงตัดสินใจจะเดินทางไปหมูบ้านใหม่กัน สำหรับฉันค่อนข้างจะตื่นเต้นเพราะยังไม่เคยเห็นบ้านใหม่ของตัวเองสักที  เพียงแต่ได้ยินได้ฟังมาจากปากของสามีและคนอื่นๆ ที่เดินเท้าลัดผ่านป่าไปมาระหว่างหมู่บ้านเดิมกับหมู่บ้านใหม่อยู่เสมอ  ความจริงระหว่างบ้านเดิมกับบ้านใหม่อยู่ห่างกันเพียงเดินเท้าทางท้ายหมู่บ้าน ขึ้นลงยอดเขายาวๆหนึ่งยอดสักสามสิบกว่านาทีก็ถึง แต่พอเดินทางด้วยถนนที่ตัดจากเมืองเข้าทางหมู่บ้านห้วยเดื่อ ผ่านหมู่บ้านห้วยปูแกงเป้าหมายการเดินทาง ก่อนจะมุ่งสู่ชายแดนทางทิศตะวันตก ต้องใช้เวลาเกือบสอชั่วโมง หากเป็นช่วงหลังฝนตกติดต่อกันทางจะยิ่งลำบากอาจต้องใช้เวลามากกว่าเดิม

เจ้าเขียวสะอื้นที่ต้องแบกบรรทุกสิ่งของสัมภาระ ทั้งตะกร้าหน้าตะกร้าหลังและผู้โดยสารอีกสามคนดูจะน่าเป็นห่วงไม่น้อยไปกว่าสามีที่ต้องคอยควบคุมรถไม่ให้ลื่นไหลลงข้างทาง เพราะทางเป็นหลุมเป็นโคลน บางครั้งต้องเปลี่ยนตัวเองเป็นนักกายกรรมไต่ล้อไปบนเส้นถนนที่เหลือไว้เพียงหน้ายางรถยนต์

ลูกน้อยยังนอนอยู่ในอ้อมแขน แนบใบหน้ากับอกมีผ้าห่มคลุมพันมิดทั้งหัวทั้งหาง (ขา) ส่วนสายตาของผู้ซ้อนท้ายเช่นฉัน เหม่อไปยังท้องฟ้าสีครามระบายเมฆใสที่ยังดีไม่มีวี่แววของฝน

ป่าข้างทางเขียวชอุ่มตัดสีสันกับสายน้ำที่ข้นคลักดังสีน้ำชาใส่นมไหลบ่ามาอย่างรุนแรง น้ำปายยามนี้เหมือนสาวเจ้าอารมณ์ฉุนเฉียวเชี่ยวกราก ต่างจากเมื่อปลายหนาวสองปีก่อนเมื่อครั้งที่ฉันและเพื่อนๆ มาลอยตัวเล่นจับปูจับปลา น้ำปายสายเดียวกันกลับใสเย็นมองเห็นตัวปลา ทว่าใต้สายน้ำก็ไม่วายไหลรี่แรงดุจจิตใจสตรีที่ยากแท้หยั่งถึง

แล้วอารมณ์กวีที่เพ้อไปไกลก็ต้องหวนกลับคืนสู่ปัจจุบันเมื่อปลายทางใกล้เข้ามาถึง สามีกระซิบบอกว่าพอถึงถนนราดยางที่ขาดห้วงจนเราลืมไปแล้วอีกครั้งก็จะถึงทางแยกเล็กๆ ข้างหน้า ที่เป็นทางเท้าพอให้มอเตอร์ไซค์ลัดเลาะเข้าไปได้ เราจะต้องจอดรถไว้ริมฝั่งตลิ่งด้านนี้เพื่อรอให้เรืออีกฝั่งหนึ่งมารับเราข้ามฟาก แต่รอแล้วรอเล่าก็ไม่มีวี่แววว่า เรือที่บรรทุกนักท่องเที่ยวลำไหนจะเสียเวลาแวะจอดรับ

ฉันกับสามีจึงตัดสินใจอุ้มลูกเดินลัดเลาะพงหญ้าที่มีรอยทางเดินเท้าเข้าใกล้หมู่บ้านไปอีกนิดเพื่อจะให้คนฝั่งตรงกันข้ามเห็นตัวเราและแล่นเรือมารับ  ทางเดินที่ว่านี้ต้องใช้เวลาอีกสิบกว่านาทีเล่นเอาเหงื่อไหลไคลย้อยไปตามๆกัน
เมื่อลงเรือเป็นที่เรียบร้อย เราก็คิดว่าทุกอย่างคงจะผ่านไปด้วยดี แต่แล้วจู่ๆเรือที่กำลังกลับลำอยู่กลางน้ำเชี่ยวก็เกิดอาการเครื่องดับกระทันหัน แม้ว่าฉันจะทำใจเชื่อมั่นคนขับเรือแต่ดูอาการของคนขับเรือที่พยายามสตาร์ทเครื่องด้วยอาการขวัญเสียไม่น้อยไปกว่าสามี ทำให้รู้ว่าการข้ามเรือแต่ละครั้งก็มีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะในฤดูกาลน้ำหลากเช่นนี้

janejira_20071024_1.jpg

“ไม่ค่อยอยากรับก็แบบนี้แหละครับมันอันตราย น้ำมันเชี่ยว” เมื่อถึงที่หมายคนขับเรือก็ชี้แจงถึงเหตุผลว่าทำไมต้องคอยอยู่ริมฝั่งนานๆ เพราะไม่มีใครอยากเสี่ยง

เราค่อยๆ ปลอบขวัญกันไปโดยเฉพาะลูกน้อยที่กอดแม่เอาไว้แน่นในยามที่อยู่กลางสายน้ำเป็นครั้งแรกในชีวิตของเขา

เมื่อถึงบ้านห้วยปูแกงแล้วเราต้องเดินไปตามตรอกเล็กอีกประมาณสิบกว่านาที ทางที่แฉะไปด้วยโคลนตมและขี้วัว ทำให้ฉันเกือบเสียหลักลื่นล้มอยู่หลายครั้ง จนกระทั่งเรามองเห็นควันไฟหลายสายลอยคว้างเหนือหมู่บ้านที่เรียงซ้อนเป็นสองแถว ซึ่งแต่ละหลังรูปทรงและขนาดกระทัดรัดคล้ายๆ กัน

ลานหน้าบ้านของแต่ละคนโล่งเตียนไม่มีใบไม้ใบหญ้ารกรุงรังเว้นเสียแต่บางหลังที่ยังไม่มีใครเข้าอยู่ก็จะเห็นหญ้าสาบเสือขึ้นอยู่รำไร

หมู่บ้านกลางหุบเขาสวยกว่าที่จินจตนาการเอาไว้ สายน้ำห้วยสายเล็กไหลเอื่อยอยู่ริมด้านขวาก่อนจะเลี้ยวตัดขวางเป็นเสมือนด่านแรกเข้าหมู่บ้าน เราเดินบนหินก้อนเล็กเรียงกันเป็นสะพานเข้าหมู้บ้าน เมื่อสบสายตาเข้ากับผู้คนก็พบเห็นแววตาและสีหน้าที่ชื่นมื่นมีความสุขแม้จะเหน็ดเหนื่อยเมื่อล้าจากการทำงานปรับปรุงบ้านช่องห้องหอของตนเอง

janejira_20071024_2.jpg

“เจ้าตัวเล็กกินข้าวอร่อยขึ้นนะ” เป็นคำบอกเล่าของพี่สะใภ้เมื่อฉันถามถึงความเป็นอยู่หลับนอนในที่แปลกใหม่

“เหนื่อยนะทำบ้านทุกวันแต่ก็สนุกดีได้ทำนุ่นทำนี่ ไม่ได้อยู่เฉยเหมือนเมื่อก่อน”

พี่ชายคนที่สองของสามีที่ย้ายมาอยู่คนเดียวในบ้านที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเองบอกเล่า ด้วยท่าทางกระปรี้กระเปร่า  คนหนุ่มคนสาวที่นี่ก็มีไม่น้อยที่ยังไม่ได้แต่งงาน

การทำงานร่วมกันด้วยวิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิม ทำให้ฉันสังเกตเห็นสีหน้าที่แช่มชื่นขึ้นกว่าเดิมของเขา เพราะหญิงชายต่างมีหน้าที่ของตนเองซึ่งต้องพึ่งพากัน ผิดกับเมื่อก่อนที่หญิงจะเป็นหลักของครอบครัวเพราะมีรายได้จากการขายของและโชว์ตัวให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปเพื่อจะรับเงินเดือนที่นายทุนจ่ายเป็นค่าตอบแทน

เมื่อเท้าเหยียบย่างขึ้นบนเรือนไม้ไผ่บ้านของตัวเอง ฉันก็พบกับความชื่นเย็นจากสายลมที่พัดเอากลิ่นต้นหญ้าแห้งโชยอ่อนแตะจมูก ควันไฟจางๆ ลู่เอนอยู่เกือบทุกมุมที่มองออกไปทางนอกเรือน เสียงกระดึงวัวขานรับเสียงร้องมอๆ อยู่แนวชายเขา

เราสามคนจึงเผลองีบหลับยามบ่ายไปด้วยกายที่เหนื่อยล้าแต่ด้วยใจที่เป็นสุข.

วันที่ล้อรถหมุนนำไปสู่ทางเลือกใหม่

12 กันยายน 2550

และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท

Pages

Subscribe to RSS - บล็อกของ janejira