ทางเดินของคนรุ่นใหม่กับประชาธิปไตยสีเทาๆ

กิตติพันธ์ กันจินะ

ความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้นเมื่อมีการชุมนุมของพี่ๆ ทั้งกลุ่มพันธมิตรฯ และ กลุ่มต้านพันธมิตรฯ คือ “อีกแล้วเหรอ”  ซึ่งเป็นความรู้สึกที่กลัวว่าเหตุการณ์จะนำพาไปสู่เหตุการณ์ “รัฐประหาร” เหมือนเมื่อครั้งปี 2549 อีกหน

ที่ผ่านมากลุ่มพันธมิตรฯ ถูกมองว่า เป็น “เงื่อนไข” สำคัญที่ทำให้เกิดการรัฐประหารในครั้งล่าสุด แถมยังไม่ค่อยมีบทบาทมากนักในการต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งเลยแม้แต่นิด ซึ่งมันก็ไม่แปลกที่คนอื่นๆ ทั่วไป เขาจะมองว่ากลุ่มพันธมิตร เอาดี เห็นงาม กับการทำให้เกิดเหตุการณ์เยี่ยงนั้น

สำหรับนักประชาธิปไตยอีกฝากแล้ว ท่านเหล่านั้นคงรับไม่ได้กับที่มาและการดำรงซึ่งอำนาจของคณะรัฐบาลรัฐประหาร เพราะไม่มีทั้งความชอบธรรม และหลักการตามครรลองประชาธิปไตย ทำให้หลายๆ คนไม่ยอมรับ “รัฐธรรมนูญ” ฉบับปัจจุบัน เพราะถือว่าที่มาไม่ถูกต้อง เสมือนเป็นดั่งไข่ของเผด็จการที่มอบไว้กับสังคม (คนกลุ่มนี้ อาจมีทั้งที่รักและไม่รักคุณทักษิณอยู่ด้วย)

ที่ว่ามาแบบนี้ ผมไม่ได้อยู่ในกลุ่ม “สองไม่เอา” นะครับ, คือ ผมไม่รู้ว่า “จะเอาอะไร” มากกว่า หรือ หากพูดให้ตรงๆ ก็คือใครจะทำอะไร จะชุมนุม จะแก้ ไม่แก้ อย่างไร มันก็ไม่ได้ทำให้ผมเดือดร้อนมากมาย

เพราะผมคิดว่า ไม่จำเป็นต้องออกมาชุมนุมคัดค้านหรือสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมไม่จำเป็นต้องแสดงท่าที แถลงการณ์ต่อกลุ่มที่ชุมนุมทั้งหลาย เรื่องเหล่านี้ “ถูกขีดบรรทัด” ว่าเป็นเรื่องของ “ผู้ใหญ่” ไม่ใช่เรื่องของ “เด็ก” เพราะเด็กๆ จะไปรู้อะไรล่ะ

ที่ว่าไม่รู้อะไรก็เพราะ ท่านทั้งหลายที่ออกมาชุมนุม ไม่ฟังหรือไม่ให้พื้นที่กับเสียงที่เห็นต่างเลยแม้แต่นิด ดูตัวอย่างเช่น “ปรากฏการณ์ริบบิ้นขาว” สิครับ ผมว่าเป็นสิ่งที่ดีมากที่คนรุ่นใหม่หลายๆ คนออกมาสนับสนุนให้ไม่ใช่ความรุนแรง (แต่อาจพลาดตรงที่ข้อความนี้ควรไปถึงผู้เล่นในเกมนี้ทุกกลุ่ม ไม่ใช่เน้นมาที่แค่กลุ่มพันธมิตร) แต่ก็ถูกบางกลุ่มใช้ประโยชน์ หรือ วิพากษ์ว่าเป็นการกระทำอ่อนเดียงสาไปนิด

พวกท่านที่วิพากษ์เหล่านั้นคงเป็นปรมาจารย์ในการต่อสู้ทางการเมืองมายาวนาน จนมองว่าการกระทำของคนอื่นนั้นไม่ดี ไม่งาม ขัดหู ขัดตา ซ้ำร้ายไปอีกที่คนกลุ่มเหล่านี้มักจะวิพากษ์คนอื่น แต่ไม่เคย “หยุด” มองตัวเองในฐานะ “ผู้ดู” บ้างเลย (ซึ่งการที่เป็นเพียง “ผู้เล่น” จนติดอยู่ในอารมณ์ก็เป็นการยากยิ่งที่จะถอนตัวออกมา “รู้” และ “ทัน” กับอารมณ์ความคิดจริตที่เกิดขึ้น)

ที่กล่าวมานี้ ไม่ได้หมายถึงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่หมายถึงทุกๆ กลุ่มที่ออกมาชุมนุมกันนี่แหละครับ กลุ่มเหล่านี้ มีการขับเคลื่อนไปในแนวทางที่ตัวเองมี “ธง” ไว้ ทุกกลุ่มมี “เป้าหมาย” และมุ่งเดินก้าวไปอย่างไม่ละความพยายาม

กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกมาทั้งคัดค้านการชุมนุม หรือกลุ่มที่สนับสนุนให้ชุมนุมโดยสันติวิธี รวมถึงกลุ่มที่มีการแถลงดักคอทหารไม่ให้ออกมาปฏิวัติ ทุกๆ กลุ่มล้วนอยากเข้ามามีส่วนร่วมทางสังคม แต่ผู้ใหญ่กลับมองว่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้ เป็นเพียง “ไม้ประดับ” หรือ “เครื่องมือ” ทางการเมืองของคนบางกลุ่ม....นี้ช่างเป็นการดูถูกปัญญากันสักหน่อยนะครับ

ผมว่าเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันกับผม มีปัญญาพอที่จะคิดและอยากให้สังคมการเมืองพัฒนาไปไกลมากกว่านี้ แต่การถูกกีดกันและสงวนพื้นที่ไม่ให้เข้ามายุ่งมากนักนี่แหละ จะเป็นตัวปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง

ยิ่งการต่อสู้ของคนสองกลุ่มความคิดและสี่ห้าวาระซ้อนเร้น ยิ่งทำให้เกมการเมืองครั้งนี้ไม่รู้ว่าจะออกมาในแนวไหน จะออกมาเป็นสีอะไร ไม่ขาว ไม่ดำ ไม่เหลือง ไม่แดง ดูเหมือนจะเป็น “สีเทา” คือ ไม่ว่ายังไงก็ไม่ดี หรือ ดีน้อย ไม่มีอะไรสมบูรณ์ไปหมดจดหรอก

และการเมืองในช่วงนี้ ดูแล้ว มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น มีปัจจัยหลายอย่างมาเกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องปากท้อง ความยากจน น้ำมัน และระบบเศรษฐกิจต่างๆ ทำให้ไม่รู้ว่าจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร (นอกจากพัง!?) และหน้าตาสังคมที่จะออกมาใหม่นี้ จะเป็นการ “รื้อสร้าง” ระบบการเมืองใหม่เลยหรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่ต้องร่วมกันติดตาม และตามมาติดๆ ว่าเราอยากให้การเมืองออกมาอย่างไร

อย่างไรเสีย ตอนนี้คนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากเข้าไปยุ่งวุ่นวายมากนักกับพื้นที่การต่อสู้ของกลุ่มคนเหล่านั้น พวกเราอาจชวนกันมาคุย มามองดู สังคมและการเมืองในระยะยาวกันดีกว่า ว่าอนาคตเราอยากเห็นแบบไหน การเมืองแบบไหนที่เป็นมิตรต่อคนรุ่นใหม่และสังคม และ ปลดแอกจากการเมืองเดิมๆ ที่วนไปเวียนมาอย่างห้วงนี้

ขอเสริมเรื่องการเมืองในอนาคตสักนิด คือเพื่อนผมคนหนึ่ง เขาเสนอในวงสนทนาว่า การเมืองในอนาคตควรจะมีศูนย์ข้อมูลนักการเมือง เพื่อให้เรามีสิทธิในการฟ้องร้องได้ เขาบอกว่านักการเมืองตอนนี้เหมือนผลไม้กองรวมกัน มีทั้งดีและไม่ดีรวมกันอยู่ แต่เราแยกกันไม่ออกว่าดียังไง เราไม่รู้ว่าท่อนกลางๆ ดียังไงบางคนมองภาพรวมว่าคุณค่าของตลาดการเมืองลดน้อยลง ทำยังไงให้ภาพนักการเมืองดูชัดเจน เขาจึงเสนอให้มีศูนย์ข้อมูลนักการเมือง ทำหน้าที่สังเคราะห์ข้อเท็จจริงของนักการเมือง ซึ่งมีใช้แล้วในประเทศเกาหลี

หรือแม้แต่หลักการกฎหมายการเลือกตั้ง ที่ต้องเข้มงวดและดำเนินการอย่างจริงจัง ตรงไปตรงมา เพื่อนอีกคนเสนอว่า “ประชาชนต้องสามารถฟ้องรัฐบาลที่ไม่ทำตามสัญญาได้ เรื่องกฎหมายที่เราจะแก้ตอนนี้คือการยุบพรรค มันไม่ได้ช่วยให้การเมืองเราดีขึ้น ต้องถามว่าพรรคฟอร์มตัวได้ยังไง มาจากทุนและอุดมการณ์เดียวกัน แต่ตอนเรายุบ ยุบเฉพาะนามธรรม มันไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น ถ้าอยากจะยุบพรรคต้องหาเครื่องมือที่ทำได้จริงเช่นยึดทรัพย์พรรคการเมืองด้วย เช่น การยุบพรรคต้องเลือกตั้งใหม่พรรคนั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายในระดับพรีเมี่ยม ต้องนึกถึงค่าเสียโอกาสของสังคมอยู่ด้วย เวลาพูดแบบนี้คนในรัฐบาลชอบพูดว่าคำนวณยาก จริงๆ แล้วมันก็ยากซับซ้อน แต่มันคือหน้าที่ของคุณไม่งั้นในตุรกีก็ยุบอยู่นั่นแหละ แล้วก็ได้พรรคเดิมๆ”

หรือแม้แต่ว่า หากพรรคการเมืองไหนตกลงว่าจะมีนโยบายสาธารณะแบบใดแล้ว เมื่อได้เป็นรัฐบาลกลับไม่ทำ ก็จะต้องจ่ายค่าทดแทนให้กับประชาชน เป็นค่าธุรกรรมทางการเมืองที่ต้องจ่ายคืนประชาชน เพราะไม่ได้ทำตามสัญญา.....

พี่ๆ ที่อ่านอยู่ครับ....เมื่ออ่านมาถึงตรงจุดนี้ ผมเพียงอยากบอกว่า ในการก้าวย่างทางการเมืองท่ามกลางบรรยากาศสีเทาๆ เช่นนี้ การที่คนรุ่นใหม่ไม่เข้าไปยุ่งหรือร่วมกับการชุมนุมมากก็เพราะพื้นที่ของเรามีน้อย และมันเป็นเรื่องที่ละเอียด ซับซ้อนมากกว่าทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา

การตั้งวงคุยกัน สนทนา ปรึกษา และหาทางออกนั้น เป็นสิ่งที่เราหลายๆ คนรวมตัว และสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยนำบรรยากาศการเมืองในห้วงเวลานี้มาคุยและวิเคราะห์ในมุมต่างๆ พร้อมทั้งมองภาพไปยังอนาคต มองออกไปในฐานะ “ผู้ดู” ไม่ใช่ “ผู้เล่น” ที่หลงอยู่ในอารมณ์การเมืองเฟื้องประสาทจนเงยหัวไม่ขึ้น

และแน่นอน ผม (หรือพวกเราบางคน) ก็ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลชุดนี้เท่าใด และไม่เห็นว่าการชุมนุมจนทำให้เกิดการรัฐประหารในเบื้องปลายจะทำให้ปากท้อง หรือ ประชาธิปไตยของประเทศนี้ดีขึ้น หากเพียงผมเชื่อในการชุมนุมจนรัฐบาลหน้าด้านทนไม่ไหว ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ให้เป็นไปตามครรลองของระบบการเลือกตั้ง นี่น่าจะเป็นก้าวย่างที่เหมาะ และอย่างไรเสียการเมืองในประชาธิปไตยจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้กับการเมืองภาคพลเมืองเข้ามาตรวจสอบและมีส่วนร่วมอย่างมีความสมดุล

ส่วนตอนนี้ ปัจจุบันนี้ หากใครอ่านเรื่องทั้งหมดที่ผมเขียนมาทั้งหมด “ไม่เข้าใจ” ก็ไม่ต้องกลับไปอ่านใหม่อีกรอบ เพราะ “ความไม่เข้าใจ” ในเรื่องที่ผมเขียน ก็เหมือนกับ “การเมือง” ณ เวลานี้ ที่ไม่ได้สร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคม มากกว่าการมีเรื่องงงๆ วาระซ้อนเร้นไปๆ มาๆ อยู่เยี่ยงนี้

เรื่องที่เขียนมาจึงเขียนขึ้นด้วยความโง่เขลา เขียนแบบงงๆ ซื่อๆ เซ่อๆ เรื่อยมาตั้งแต่ต้นจนถึงตอนจบ  และหวังว่าตอนจบของข้อเขียนนี้จะไม่เหมือนตอนจบของเหตุการณ์การเมืองที่จะจบลงด้วยความมึนๆ งงๆ เหมือนๆ กันนะครับ

ความเห็น

Submitted by แฟนประจำ on

คิดถึงท่านเกรียนสาดและท่านโอยาชิโร่จัง

Submitted by aung on

เห็นด้วยกับกลุ่มริบบิ้นสีเทา

อยากหัยบ้านเมืองสงบสุขสักที

อารัยๆจาด้ายดีขึ้น

จากเดกไทยคนนึงที่ม่ายเหนด้วย

กับการชุมนุมและการใช้ความรุนแรง

ม่ายอยู่ข้างคัย

ขออยุ่ตรงกลาง

หยุดกันสักทีเถอะ

Submitted by Namfon on

คิดว่าหลายๆคนคงมีความเห็นแบบนี้ค่ะ อย่างน้อยๆก็คนรุ่นเดียวกับดิฉัน .. บางครั้งมองการเมืองประเทศอื่นแล้วยืนออกมามองการเมืองบ้านเราบ้าง เห็นอะไรบางอย่างที่เป็นเหมือนแผนการระยะยาวที่นักการเมือง ผู้มีอิทธิพลต่างๆ ทำให้เรามึนๆงงๆกันทุกวันนี้เพราะอะไรคะ?? มันถูกตั้งโปรแกรมมาแล้วค่ะคุณ เราได้รับอิทธิพลจากสื่อ โฆษณา ให้กลายเป็นมนุษย์บ้าวัตถุ บ้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ บ้ายี่ห้อ บ้าต่างประเทศ ต่างๆนาๆ ทุกวันนี้บ้านเราก็ให้ทีวีเป็นพี่เลี้ยงเด็กไปแล้ว เชื่อสิ หลายๆคนก็ติดทีวี เหมือนๆกับดิฉัน เช่นกัน ก่อนหน้าที่จะรู้สึกตัว เราก็ไม่เคยเข้าใจคำว่า "การเมือง" เกี่ยวไรกะเรา ตอนนี้ .. ออกมายืนดูอีกครั้ง ทุกสิ่งทุกอย่าง มันคือเราทั้งนั้นค่ะ เริ่มจากเราเลือกคนที่เราคิดว่าใช่ แล้วนโยบายต่างๆนาๆ มันก็ผลประโยชน์หรือการเสียเปรียบของเราทั้งนั้น กฏหมายที่เค้าออก คนที่ต้องทำตามก็เราใช่ใหม แล้วไหนจะเรื่องภาษี หรืออะไรต่างๆนาๆ ยังไงการเมืองก็คือการเราอยู่ดี ไม่รู้ว่าอนาคตเด็กรุ่นต่อๆไปจะเป็นยังไง รัฐบาลสนับสนุนเต็มที่ มอมเมาด้วยดารา นักร้อง วัตถุ มือถือ เราอาจจะโดนโดยไม่รู้ตัวไปแล้ว อาจเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว

Submitted by 1234 on

เคยโดนเหมือนกันค่ะ..คือ..เข้าไปในร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง..กับเพื่อนสนิท
แล้วเจ้าของร้านดูทีวีช่องพันธมิตรอยู่ มีคุณลุงมาซื้อของก็ดูทีวีอยู่ด้วย
คุณลุงถามว่า.."อยู่ฝ่ายไหน" เราและเืพื่อนตอบไม่ถูก
ก็บอกไปว่า.."ไม่เอาเลยสักฝ่าย" เท่านั้นแหละ
โดนว่าเลย ประมาณว่า..เด็กสมัยนี้..ไม่สนใจอะไรเลย..
ไม่หัดทันเหตุการณ์ คือไม่ได้สนใจการเมืองมาก
และมันดูไม่ขาวสะอาด ผิดด้วยเหรอคะ? ที่ไม่สนใจการเมือง
ยังงงๆกับเพื่อนมาจนตอนนี้..

เพศวิถีมีชีวิต : การเปลี่ยนแปลงจากภายใน อะไรที่ท้าทายเรา?

จากที่ข้อเขียนเรื่องเพศวิถีมีชีวิตทั้งหมดที่ได้กล่าวมานั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การวางความคิด เรื่องการเปิดใจคุยเรื่องเพศของตนเอง เรื่องความหลากหลายในรักและความสัมพันธ์ ความรักต่างเพศนิยม เรื่องกระแสสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นความพยายามที่จะมาสรุปในตอนท้ายของบทความนี้ว่า หากเราจะคุยเรื่องเพศวิถีจากมุมมองภายในจากชีวิตของเรานั้น เพื่อสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายในตัวเอง อะไรที่เป็นความท้าทายที่จะนำไปสู่การจุดประกายให้แต่ละคนได้กลับมาสำรวจ ตั้งคำถาม และสร้างการเรียนรู้เรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้โดยอาศัยทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกของแต่ละคน

เพศวิถีมีชีวิต : เพศวิถีของวัยรุ่นในวันที่โลกหมุนเปลี่ยน

โลกเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ ความสัมพันธ์ทางเพศของมนุษย์มีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ในสังคมสมัยก่อน เช่น ในภาคเหนือ การจีบสาวของคนล้านนาจะมีการค่าว (คล้ายลำตัดของภาคกลาง) ตอบโต้กันไปมา การจีบกันต้องให้เกียรติผู้หญิงเป็นคนเลือกคู่ หรือหากจะแต่งงานก็ต้องมีการใส่ผี คือการวางเงินสินสอดจากฝ่ายชายเพื่อบอกกับผีปู่ผีย่าของฝ่ายหญิงให้ทราบว่าจะคบกันแบบสามีภรรยา

เพศวิถีมีชีวิต: เคารพในความหลากหลาย รักเลือกได้อย่างมีศักดิ์ศรี

ความคิด ความเชื่อเรื่องเพศที่หล่อหลอมเรามาว่า ควรมีชายกับหญิงเท่านั้นที่คู่กัน สิ่งนี้เป็นความคิด ความเชื่อที่ฝังหัวเรามาตลอดจนเราไม่ได้ตั้งคำถามกับตัวเองเลยว่าทำไมเราจึงต้องรักเพศตรงข้าม และการที่เรารักเพศเดียวกันนั้นจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งไม่ได้เชียวหรือ

เพศวิถีมีชีวิต: ชีวิตทางเพศ เริ่มคุยจากตัวเอง

สำหรับชีวิตส่วนตัวแล้ว ผมเป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่เติบโตมาท่ามกลางการเลี้ยงดูของแม่และพี่ๆ ที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้หญิง เห็นการทำงานของผู้หญิงที่ “ศูนย์เพื่อน้องหญิง” จ.เชียงราย เห็นความเข้มแข็งในการทำงานของแม่ของพี่ๆ แต่ละคนแล้ว ทำให้ผมเห็นว่าความเป็นหญิง ความเป็นชาย แท้จริงแล้ว ทุกคนก็สามารถทำอะไรได้เหมือนกัน แต่ทว่าการเลี้ยงดูหล่อหลอมของสังคมกลับบอกว่าแบบนี้ผู้หญิงควรทำ แบบนี้ผู้ชายควรทำ

เพศวิถีมีชีวิต: การเปลี่ยนแปลงจากภายใน

เปิดใจเรียนรู้ประสบการณ์ภายในตน

ผมเริ่มต้นทำงานในประเด็นเรื่องเพศ ตอนอายุน้อยๆ จากวันนั้นมาวันนี้ ระยะเวลาหลายปี ที่อยู่บนเส้นทางนี้ได้เจออะไรหลายอย่าง ได้เรียนรู้ ประสบการณ์ทำงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบทบาทหน้าที่ใด ความรับผิดชอบแบบไหน องค์กรระดับชุมชนหรือเครือข่ายก็ตาม งานต่างๆ เหล่านี้ทำให้ได้ทำประโยชน์ต่อตนเองและคนอื่นไปพร้อมๆ กัน

ผมไม่อาจเรียกตัวเองได้อย่างเต็มปากว่าเป็นคนทำงานเพศวิถี เพราะเข้าใจว่าเรื่องเพศวิถีนี้มีอะไรหลายอย่างที่ต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และไม่อาจจะบอกได้ว่าตัวเองเป็นนักพัฒนาสังคม เพราะบ่อยครั้งก็ยังมีคำถามเกิดขึ้นมากมายกับตัวเองว่าที่ว่าเป็นนักพัฒนาสังคมนั้น แน่นอนว่าเราต้องทำประโยชน์เพื่อคนอื่นๆ ที่กำลังเผชิญกับปัญหา เผชิญกับความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า หรือแม้แต่เรื่องสื่อและโลกาภิวัตน์