Skip to main content

เหตุการณ์ทางการเมืองช่วงก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพื่อล้มรัฐบาลประชาธิปไตยกระทั่งถึงยุคเผด็จการคมช. ครองเมืองซึ่งได้สร้างเครื่องมือต่างๆ (รวมทั้งรัดทำมะนวยฉบับหัวคูน) เพื่อสืบทอดอำนาจและทำการถอนรากถอนโคนรากฐานอุดมการณ์ประชาธิปไตยนั้น มีอะไรที่น่าสนใจมากมายจนผมคิดว่าน่าจะมีนักเขียนมือดีสักคนนำเอาเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ บวกกับจินตนาการบรรเจิดมาผูกร้อยเข้าเป็นนวนิยายชั้นเยี่ยมได้สักหลายเรื่อง

การเมืองช่วงก่อนและหลังรัฐประหารนั้น “เป็นนิยายยิ่งกว่านิยาย” เสียอีก ไม่ว่าจะเป็นการกลับตาลปัตรกลายเป็น “ฮีโร่” อย่างช่วยไม่ได้ ของอดีตนายกฯ ทักษิณ  ชินวัตร ความพ่ายแพ้ยกแรกของเผด็จการทหาร การกลายเป็นตัวตลกของ “มือสกปรกที่มองไม่เห็น” การเล่นจำอวดของตุลาการรัฐธรรมนูญในกรณียุบพรรค  การเดินขบวนไปบ้านสี่เสาเทเวศน์ ฯลฯ

และประเด็นที่กำลังจะกล่าวถึงในบทความนี้ก็คือ กระบวนการสร้างข่าวลวง ข่าวลือ การ ”ปั้นน้ำเป็นตัว” อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของสื่อที่เรียกตัวเองว่าเป็น “สื่อแท้” อย่างสื่อในเครือของผู้จัดการ  

ASTV และเวบไซต์ผู้จัดการ คือสุดยอดของ “การปั้นเป็นตัว” “จับแพะชนแกะ” “ใส่สีตีข่าว” “มั่ว” ชนิดที่หาไม่ได้อีกแล้วไม่ว่าจะในอดีตหรืออนาคตทั้งนี้เพราะด้วยความต่อเนื่อง และความเอาจริงเอาจังที่ไม่เคยลดราวาศอก (ราวกับว่าความเท็จจะเป็นความจริงได้หากตอกย้ำไปเรื่อยๆ)  

“การปั้นน้ำเป็นตัว” ซึ่งเป็นงานถนัดของสื่อค่ายนี้นั้นเล่นตั้งแต่ประเด็นเรื่องในมุ้งไปจนถึงจ้องล้มรัฐบาล เอาแค่นามปากกา “ซ้อเจ็ด” แห่งเวบไซต์ผู้จัดการซึ่งเขียนนินทาคนดังราวกับตนเองนอนแอบอยู่ใต้เตียงก็เพียงพอที่จะบอกได้ว่าสื่อในเครือ “ผู้จัดการ” นั้นปั้นน้ำเป็นตัวได้เก่งขนาดไหนและขาดความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นสื่อมากเพียงใด

ส่วนในเรื่องการเมืองนั้น เผอิญผมได้อ่านข่าว/บทความสองชิ้นจากการตามลิงค์ไปเวบไซต์ผู้จัดการ อ่านไปอุทานไปกับจินตนาการการ “ผูกนิยาย” ของเขา

ชิ้นแรกโดยฝีมือของคำนูญ สิทธิสมาน ข่าว/บทความชิ้นนี้กล่าวถึงการนำเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์ NBT ในเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งในเนปาลซึ่งจะส่งผลต่อความเป็นไปของสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศของเขา จากนั้นก็โยงไปถึงมติชนสุดสัปดาห์ซึ่งเคยเล่นข่าวนี้เหมือนกันโดยตั้งคำถามว่า

“กรณีที่หนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ฉบับวันที่ 16 มิถุนายน 2549 นำมาขึ้นปก แล้วขึ้นพาดหัวว่า “Case study กรณีเนปาล” ซึ่งคุณสนธิ ลิ้มทองกุลเคยนำไปตั้งข้อสังเกตในรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” ที่เวทีลีลาศสวนลุมพินีว่านักหนังสือพิมพ์อาวุโสคนคุมเนื้อหาหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ที่เคยเข้าป่าจับปืน สมาทานลัทธิเหมามาก่อนมีเจตนาซ่อนเร้นพิเศษอะไรหรือไม่”

จากนั้นก็กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของคุณจักรภพ  เพ็ญแข ในสมัยที่เป็น นปก. ซึ่งเคยเคลื่อนขบวนไปบ้านสี่เสาเทเวศร์

“คุณจักรภพ เพ็ญแขเกิดไม่ทันโตไม่ทันที่จะสัมผัสกับลัทธิเหมาโดยตรง เมื่อ 30 ปีก่อน แต่ ณ ปี 2550 ท่านคงสมาทานความคิดความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างเข้าไปผสมผสานสันดาปกับประสบการณ์ส่วนตัวของท่าน ก่อให้เกิดพลังทางอุดมการณ์คุกรุ่นรุนแรง”
http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews...D=9510000045831

ทั้งหมดทั้งปวงไม่ใช่อะไรอื่นคือ “การปั้นน้ำเป็นตัว” ยัดเยียดให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นพวก “ซ้าย” เพื่อที่จะดึงสถาบันกษัตริย์ลงมาชนกับกลุ่มคนพวกนี้ ผมเคยเขียนไปหลายครั้งแล้วว่านี่เป็นวิธีการที่ “ทุเรศ”

อีกชิ้นหนึ่งก็โดย คำนูณ  สิทธิสมาน เจ้าเก่า มีการพาดหัวนำเรื่องด้วยถ้อยคำโฆษณาชวนเชื่อให้น่าหวาดเสียวว่า
“ยามเฝ้าแผ่นดิน” แฉขบวนการหมิ่นเหม่เบื้องสูง เพ่นพ่านทั่วเวบไซต์เครือข่ายหนุน “ทักษิณ” ล่าสุดแกนนำ  “19ก.ย.ต้านรัฐประหาร” เข้ารับข้อหาหมิ่นฯ ฐานไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญฯ จี้ “หมัก” สวมวิญญาณ “เลือดสีน้ำเงิน” ใช้อำนาจนายกฯ-รมว.กลาโหม ตัดสินใจยุติปัญหาก่อนสายเกินแก้ พร้อมชี้เบาะแส “นายใหญ่-นายหญิง” จ้องปลดนายกฯ นอมินี”

การปั้นน้ำเป็นตัวหนนี้เริ่มด้วยการพูดถึงข่าวการไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญที่เกิดขึ้นจากนักเคลื่อนไหวสองท่าน ในโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งซึ่งเป็นข้อเท็จจริงทั่วไป แต่มีการพยายามที่จะ “ปั้นน้ำ” โดยทะลึ่งเติมความเห็นเข้าไปว่า
“เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สอดคล้องกับการตั้งข้อสังเกตถึงการเสนอข่าวเนปาลของเอ็นบีทีเมื่อวันก่อน” แล้วก็อ้างโน่นอ้างนี่เป็นเรื่อย ๆ ก่อนจะพูดเอง เข้าใจเองว่า

“นายโชติศักดิ์ (ผู้ไม่ยืนในโรงหนัง) นั้นมีชีวิตและอุดมการณ์ที่ตรงกับ นปก. ขณะเดียวกันยังให้สัมภาษณ์เปิดใจกับเวบไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ผ่านมา มีการโพสต์ข้อความท้ายบทสัมภาษณ์ที่ดูจะหมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดกฎหมายค่อนข้างสูง”

น้ำเริ่มจะ “เป็นตัว”

แล้วก็ตามพล็อตเดิมคือโยงไปหาอดีตนายกฯ ทักษิณ  ชินวัตร ก่อนจะสรุปไปตามโครงสร้างของนิยายที่ต้องดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาชนกับฝ่ายตรงข้ามว่า

“รูปธรรมกระแสอุดมการณ์ใหม่ยังปรากฏอยู่ในข้อเขียน และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเว็บบอร์ดและเวบไซต์ที่มีความคิดเห็นในแนวทางเดียวกัน มีความหมิ่นเหม่หลายต่อหลายครั้ง ขณะเดียวกันยังเปิดพื้นที่ในเว็บบอร์ดเพื่อแสดงความคิดเห็น มีรหัสเรียกขานชวนให้คิดให้เข้าใจว่า จงใจหมายถึงสถานบันที่เคารพสูงสุด”

ข่าว/บทความชิ้นที่สองยังไม่จบเท่านี้หากแต่ยังใช้จินตนาการ “ปั้นน้ำ” ให้ “เป็นตัว” ต่อไปว่านายกฯ สมัคร สุนทรเวช กำลังจะถูก “นายใหญ่” ปลด

“คนที่ต้องการจะเอานายกสมัครลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นคนที่ให้นายสมัครขึ้นมาเป็นนายกฯ นั่นเอง”

แบบเดิมครับ อ้างแพะ อ้างแกะไปเรื่อย ๆ ก่อนจะสรุปจบตามพล็อตว่า
“การเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องของการแย่งชิงกันระหว่างคนรักทักษิณ กับคนไม่ชอบทักษิณเท่านั้น แต่ไปไกลกว่านั้น มันเป็นอนาคตเป็นวิกฤติของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถ้าระบอบนี้ก้าวไม่พ้นวิกฤติในช่วงนี้ เชื่อว่าจะน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง”

ครับ อ่านข่าวจากสื่อในเครือผู้จัดการเหมือนกับอ่านนิยายจริงๆ เสียแต่เป็นนิยายน้ำเน่าเล่าเรื่องเดิมๆ ที่น่าทุเรศ

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการเขียนนิยายแบบนี้ต้องมีความสามารถไม่น้อย เป็นความสามารถในการ ”ปั้นน้ำ” ให้ “เป็นตัว” ซึ่งจะว่าไปก็เป็นงานถนัดของสื่อในเครือ “ผู้จัดการ”

บล็อกของ เมธัส บัวชุม

เมธัส บัวชุม
มหาชนสีแดงยื่นบันไดแห่งการยุบสภาให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปีนลงมาอย่างง่าย ๆ ชนิดที่บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น แต่ไม่เป็นผลอะไร ด้วยโมหะจริต นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ ดึงดันจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปแม้ว่าจะต้องทำอะไรที่เสียเกียรติความเป็นผู้นำไปมากก็ตาม
เมธัส บัวชุม
การเคลื่อนพลของคนเสื้อแดงทั้งแผ่นดินน่าตื่นตาตื่นใจและอลังการสมการรอคอย แม้ว่าการมาทางเรือจะผิดจากความคาดหวังอยู่มากก็ตาม ผมยืนรอชมขบวนเรือของคนเสื้อแดงบนสะพานกรุงธนนานกว่า 3 ชั่วโมงพร้อมกับแดงคนอื่น ๆ เต็มสะพาน โบกไม้โบกมือ ไชโยโห่ร้องกับคนเสื้อแดงที่ขับรถผ่านไปมา
เมธัส บัวชุม
แม้ผลการตัดสินคดียึดทรัพย์เป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้อยู่แล้ว แต่คนเสื้อแดงหลายคนยังรู้สึกเจ็บปวด บางคนถึงขั้นหลั่งน้ำตาทั้งที่เงินนั้นไม่ใช่เงินของตนเอง พวกอำมาตย์ พรรคประชาธิปัตย์และคนเสื้อเหลืองไม่มีทางเข้าใจได้เลยว่าที่คนเสื้อแดงหลั่งน้ำตานั้นไม่ใช่เพราะเสียดายเงินของอดีตนายก ฯ ทักษิณ  ชินวัตร ที่ถูกยึดไปอย่างไม่เป็นธรรม แต่เป็นเพราะรู้สึกเจ็บปวดที่ตนเองทำอะไรไม่ได้เมื่อเห็นความอยุติธรรมบังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาครั้งแล้วครั้งเล่า
เมธัส บัวชุม
ไม่ว่าผลการตัดสินคดียึดทรัพย์ (ปล้นทรัพย์อย่างถูกกฎหมาย) ที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ของอดีตนายก ฯ ทักษิณ ชินวัตร จะออกมาเป็นอย่างไร การลุกฮือของคนเสื้อแดงก็ยังคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เสื้อแดงจำนวนไม่น้อยอาจไม่ได้ยี่หระเลยกับทรัพย์สินของอดีตนายก ฯ ทักษิณ ชินวัตรเพราะนั่นเป็นราคาที่อดีตนายก ฯ ต้องจ่ายสำหรับการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย หลายคนจะได้เรียนรู้ว่าประชาธิปไตยนั้นถ้าไม่จ่ายด้วยเลือดและชีวิตก็ต้องจ่ายด้วยทรัพย์สินแสนแพง
เมธัส บัวชุม
 เมื่อความขัดแย้งระหว่างฝักฝ่ายต่าง ๆ เขม็งเกลียวแน่นใกล้ถึงจุดวิกฤติ ข่าวเกี่ยวกับการทำรัฐประหารก็ลอยมาจากทางโน้นทางนี้เป็นระยะ น่าเชื่อบ้าง ไม่น่าเชื่อบ้าง ราวกับว่ารัฐประหารเป็นทางออกเดียวในการจัดการปัญหา
เมธัส บัวชุม
การเข้าครอบครองที่ดินบนเขายายเที่ยงอย่างผิดกฏหมายขององคมนตรีคุณธรรมสูงอย่างสุรยุทธ์ จุลานนท์ นั้นไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแม้แต่น้อย ไม่ใช่ข้อค้นพบที่น่าตื่นเต้น ไม่ใช่ความลับที่น้อยคนรู้ ชาวบ้านร้านตลาดในบริเวณนั้นต่างก็รู้กันเป็นอย่างดีว่าวิลล่าสวยงามบนเขายายเที่ยงนั้นเป็นของใคร
เมธัส บัวชุม
ผมค่อนข้างแปลกใจที่สังคมไทยยังไม่เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ว่าที่จริงสงกรานต์เลือดเมื่อปีกลายที่ผ่านมา เป็นโอกาสเหมาะไม่น้อยสำหรับการเกิดสงครามกลางเมืองซึ่งอาจจะจบลงด้วยการทำลายพลังประชาชนรากหญ้าและคนชั้นกลางฝ่ายก้าวหน้าลงอย่างย่อยยับ จนยากที่จะฟื้นกลับคืนมาใหม่ หรืออาจเป็นไปในทางกลับกันก็ได้หากประชาชนได้รับชัยชนะคือระบอบประชาธิปไตยจะขยับไปข้างหน้าอย่างก้าวกระโดด อำนาจของอำมาตย์จะถูกจำกัดวง พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด?
เมธัส บัวชุม
-1- ฉันมีวิธีเผชิญหน้ากับอาการนอนไม่หลับด้วยการนอนลืมตาอยู่ในความมืด พยายามไม่คิดอะไร แต่ดวงความคิดของฉันก็ไหลลอยไปสู่เรื่องนั้นเรื่องนี้ หวนรำลึกไปถึงสถานที่และผู้คนที่ฉันเคยพานพบประหนึ่งว่าฉันเพิ่งจากผู้คนและสถานที่เหล่านั้นมา
เมธัส บัวชุม
เรื่องราวในชีวิตของคนเราสามารถนำมาเขียนแต่งเป็นนิยายได้ทั้งนั้น โดยการใส่พล็อตหรือท้องเรื่องเข้าไป ตีความให้ดูน่าสนใจ แล้วเสาะหา(สร้าง)ข้อมูลเพื่อยัดลงไปในพล็อตที่วางไว้โดยอาจหยิบเพียงบางช่วงบางตอนของชีวิตก็ได้
เมธัส บัวชุม
คงไม่เป็นเรื่องน่าประหลาดใจแต่ประการใดที่เราได้เห็นปัญญาชนสยาม ปัญญาชนสาธารณะอย่างสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ไปออกโทรทัศน์ของทาง ASTV “รายการรู้ทันประเทศไทย” ที่มีเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการผู้หากินกับวาทกรรม “ชาวบ้าน” มายาวนาน งนี้เพราะหลายคนซึ้งแน่แก่ใจแล้วว่าบั้นปลายชีวิตของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้หลงตนนั้นโน้มเอียงไปทางเผด็จการ หรือไปทางศักดินามากเสียยิ่งกว่าจะยืนข้างชาวบ้านอย่างที่เขาพร่ำพูดถึงเสมอ
เมธัส บัวชุม
หากผมบอกว่าชาตินิยมเป็นแนวคิดที่ใช้ไม่ได้แล้ว บางคนคงโต้แย้ง ผมจึงต้องเปลี่ยนคำพูดเสียใหม่ให้กว้าง ๆ ว่า ชาตินิยมเป็นแนวคิดที่ไม่เพียงพอสำหรับการทำความเข้าใจความเป็นไปของสังคมการเมืองในโลกปัจจุบัน ไม่เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าความหมายและรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง
เมธัส บัวชุม
รถไฟไทยเป็นอย่างที่เป็นอยู่มานาน โดยแทบไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรเลยตั้งแต่เริ่มสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งนี้เพราะความเสื่อมโทรมของรถไฟให้ประโยชน์แก่คนหลายกลุ่ม รวมทั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย ดังนั้นแนวคิดใด ๆ ก็ตามที่จะทำให้รถไฟเปลี่ยนไปจึงถูกต่อต้านแม้จะมีผลการวิเคราะห์วิจัยรองรับอยู่จำนวนมาก