Gravity (2013): กำเนิดใหม่แห่งตัวตน

 

Gravity/2013/Alfonso Cuarón/USA

***เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์***

คงจะไม่ผิดนักถ้าเราจะพูดว่าในหนัง Gravity (2013) ผลงานล่าสุดของผู้กำกับอัลฟองโซ คัวรอนที่หลายคนจดจำเขาได้ในฐานะผู้กำกับแฮรรี่ พ็อตเตอร์ภาค 3 นักโทษแห่งอัซคาบัน (ซึ่งหลายคนบอกว่าเป็นภาคที่ดาร์คสุดแล้ว) ไม่ได้มีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นมากมายเลย แทบจะเรียกว่าไม่มีเนื้อเรื่อง มีเพียงใยของพล็อตบางๆเท่านั้น กล่าวคือ เป็นเรื่องของการเอาชีวิตรอดของคนที่ต้องหลุดลอยอยู่ในห้วงอวกาศอันเวิ้งว้างและพยายามที่จะกลับลงสู่พื้นโลกให้ได้

ดร.ไรอัน สโตน (แซนดร้า บุลล็อค) เป็นวิศวกรชีวเวช (หรือชีวการแพทย์ เป็นสาขาวิชาที่นำความรู้และหลักการทางวิศวกรรมศาสตร์มาประยุกต์ร่วมกับชีวศาสตร์และแพทยศาสตร์) และแมทธิว โควัลสกี้ (จอร์จ คลูนีย์) นักบินอวกาศผู้ช่ำชองมากประสบการณ์กำลังปฏิบัติภารกิจซ่อมกล้องโทรทรรศน์บนกระสวยอวกาศที่อยู่เหนือชั้นบรรยากาศโลกขึ้นไปประมาณ 600 กิโลเมตร สำหรับดร.สโตน นี่เป็นภารกิจในอวกาศครั้งแรกของเธอ และสำหรับโควัลสกี้ นี่ถือเป็นภารกิจสุดท้ายสำหรับเขาก่อนปลดระวาง แต่แล้วระหว่างที่ทั้งคู่กำลัง Spacewalk คือปฏิบัติงานอยู่ในอวกาศก็เกิดอุบัติเหตุอันไม่คาดฝันขึ้นเมื่อมีขยะอวกาศจากการทำลายดาวเทียมพัดปลิวมาปะทะกระสวยอวกาศที่พวกเขากำลังทำงานอยู่จนกระสวยพังเสียหาย แต่ที่ร้ายแรงกว่านั้นคือทั้งคู่กระเด็นออกไปสู่อวกาศอันเวิ้งว้าง แล้วทั้งคู่จะเอาตัวรอดจากมฤตยูที่เห็นชัดๆอยู่ตรงหน้านี้ได้อย่างไร

แน่นอนว่าที่เหลือคือกระบวนการเอาชีวิตรอดไปให้ถึงโลกให้ได้ ซึ่งตลอดเวลานั้นเราไม่เพียงแต่จะเห็นการดิ้นรนทางกายภาพเท่านั้น แต่หนังพาเราสำรวจลึกลงไปถึงจิตใจของผู้ดิ้นรนนั้นด้วย ตั้งแต่ต้นจนจบเราจะเห็นถึงพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของดร.สโตน ซึ่งถึงที่สุดแล้วหนังแสดงให้เราเห็นว่าอุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้ดร.สโตนต้องฝ่าฟันกับขีดจำกัดและความอ่อนแอในตัวเธอ จนกระทั่งมันนำไปสู่การเกิดใหม่ของตัวตนของเธอที่แข็งแกร่งขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ คัวรอนชี้ให้เห็นจุดนี้โดยใช้ภาพดร.สโตนขดตัวงอประดุจทารกในครรภ์มารดา ซึ่งหลังจากตรงนี้เราจะได้เห็นว่าเธอเปลี่ยนผ่านจากดร.สโตนผู้อ่อนแอและหวั่นไหวไปเป็นดร.สโตนที่เข้มแข็งพร้อมเผชิญกับอุปสรรคต่างๆมากขึ้น และหนังยังตอกย้ำอีกครั้งด้วยการให้ดร.สโตนต้องดิ้นรนขึ้นจากน้ำในตอนท้าย น้ำที่เป็นสัญลักษณ์ของการเกิด ทั้งในแง่ทางกายว่าเธอออกมาจากถุงน้ำคร่ำและในแง่จิตวิญญาณเธอผ่านการชำระล้างบาปด้วยน้ำในพิธีศีลจุ่ม (เรารู้มาแล้วว่าเธอไม่ใช่คนเชื่อมั่นในศาสนา อาจจะเป็น atheist คนไม่เชื่อในพระเจ้า เพราะเธอบอกว่าเธอสวดมนต์ไม่เป็น ไม่มีใครสอนให้เธอสวด) และอวกาศในหนังในแง่หนึ่งอาจทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ของความดำมืด ความสับสน ความทุกข์ และภาวะไร้ที่ยึดเหนี่ยวในชีวิตของดร.สโตนก็เป็นได้ (เรารู้จากที่เธอคุยกับโควัลสกี้ว่าเธอเคยสูญเสียลูกสาว หลังจากนั้นเธอก็รู้สึกโดดเดี่ยว และมักจะขับรถไปอย่างเรื่อยเปื่อยไร้จุดหมายเสมอ) และสิ่งที่เธอขาดและต้องการอย่างที่สุดคือ "ครอบครัว" ซึ่งเธอแสดงออกถึงความโหยหาตรงนี้อย่างชัดแจ้งเมื่อเธอได้ยินเสียงเด็กและเสียงสุนัขเห่าที่เธอได้ยินจากคลื่นวิทยุของสถานีอวกาศจีน แต่เมื่อเธอผ่านบททดสอบของการสำนึกรู้คุณค่าความเป็นมนุษย์แล้ว เธอก็ได้เรียนรู้ที่จะเริ่มชีวิตใหม่โดยละทิ้งอดีตไว้เบื้องหลัง

ตัวละครโควัลสกี้ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน แม้จะปรากฏตัวแค่ครึ่งเรื่องแรก แต่ต้องยอมรับว่าเขาเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อหนังและการตัดสินใจของดร.สโตนอย่างยิ่งยวด ถ้าจะพูดกันด้วยภาษาวรรณกรรม ก็อาจพูดได้ว่าโควัลสกี้เป็น “foil character” ของดร.สโตน หรือก็คือเป็นตัวละครที่เป็นขั้วต่าง เพื่อขับเน้นให้เห็นลักษณะของตัวละครอีกตัวเด่นชัดขึ้น ในขณะที่ดร.สโตนเป็นคนจริงจัง เก็บกด และค่อนข้างกังวลและหวาดกลัวต่อสถานการณ์ โควัลสกี้ก็เป็นคนเปิดเผย อารมณ์ดี ดูสนุกสนาน พูดจาเล่นหัวตลอดเวลา และไม่หวั่นกลัวต่อชะตากรรม แม้กระทั่งตอนที่เขาเห็นความตายอยู่ตรงหน้าก็ยังชื่นชมความงามของแม่น้ำคงคายามพระอาทิตย์ขึ้นและส่งเสียงหัวเราะได้อยู่ ถึงที่สุดแล้วเขาอาจจะเป็นตัวละครที่น่าจดจำและน่าสรรเสริญกว่าดร.สโตนด้วยซ้ำไป เพราะเรามั่นใจอยู่แล้วว่าเธอจะต้องเอาตัวรอดไปจนถึงโลกได้ (ตามสูตรฮอลลีวูด ถ้าคัวรอนจะไม่หักมุมอะไร) เมื่อเธอรอดชีวิตในตอนจบ เราก็โล่งอกไปกับเธอ พร้อมทั้งความสนใจในชีวิตของเธอก็อาจจะหมดไป ด้วยคาดการณ์ได้ว่าเธอจะกลายเป็นคนใหม่ที่เข้มแข็งพร้อมเผชิญกับชีวิตข้างหน้าอย่างไม่ท้อถอย แต่ตัวละครโควัลสกี้กลับหวนกลับเข้ามาในความคิด ดึงความสนใจของเราให้ระลึกถึงเขาซึ่งยอมสละชีวิตและอนาคตทั้งหมดเพื่อช่วยเหลืออีกคนให้ก้าวพ้นขีดจำกัดของตัวเองไปได้

สิ่งที่ต้องชื่นชมคือตัวหนังเนี้ยบในทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะงานถ่ายภาพและ visual effects อันน่าตื่นตะลึง เอาเป็นว่ามันสวยซะจนคนดูแทบลืมหายใจเลยเชียว เชื่อขนมกินได้เลยว่ามีสิทธิ์คว้ารางวัลด้านภาพบนเวทีใหญ่ๆแน่นอน และที่ขาดไม่ได้สำหรับคัวรอนนั่นคือ Long Take ที่เนิ่นนานและทรงพลัง เอาแค่ตอนต้นที่เป็น Long Take นาน 13 นาทีก็ทำให้เราทึ่งจนอ้าปากค้างแล้ว ไม่ต่างกับความมหัศจรรย์ของ ฉาก Long Take อันลือลั่นใน Children of Men (2006) หนังเรื่องที่แล้วของเขา และที่ต้องปรบมือให้ดังๆคือความสุดยอดทางการแสดงของแซนดร้า บุลล็อคที่ทำให้ตัวละครดร.ไรอัน สโตนแสดงความเป็นมนุษย์ในมิติต่างๆออกมาได้อย่างดี หนังเล่นกับมุมโคลสอัพใบหน้าดร.สโตนเยอะมาก และแซนดร้าก็แสดงอารมณ์ผ่านทางใบหน้าได้อย่างชัดเจนและยอดเยี่ยมทีเดียว

ที่น่าสนใจอีกประการคือ หนังได้แฝงประเด็นทางการเมืองเอาไว้เล็กน้อย แม้จะโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม เราจะเห็นว่าหลังจากที่กระสวยอวกาศของสหรัฐอเมริกาพัง เธอต้องพยายามไปขอความช่วยเหลือจากสถานีอวกาศโซยุซของรัสเซียและเทียนกงของจีนตามลำดับ อาจเป็นไปได้ว่าหนังกำลังพยายามสร้างภาพความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศมหาอำนาจต่างๆก็ได้ หรือแม้แต่การที่โควัลสกี้เอ่ยถึงแสงแรกของวันบนแม่น้ำคงคา ก็อาจเป็นสัญญาณว่ารุ่งอรุณของความเป็นประเทศมหาอำนาจได้มาเยือนอินเดียแล้ว (อย่างที่รู้กันว่าปัจจุบันอินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วติดอันดับต้นๆของโลก)

และแม้หนังจะยาวเพียง 90 นาที แต่เรารู้สึกว่ามันช่างเนิ่นนานราวกับไม่มีจุดจบ 90 นาทีของหนังแทบจะเป็น real-time สำหรับคนดู 90 นาทีแห่งความเป็นความตายของดร.สโตนคือ 90 นาทีแห่งความอึดอัดของคนดูที่ลุ้นระทึกราวกับเป็นตัวเธอจริงๆ ก็แปลกอยู่ที่หนังแสดงถึงอวกาศอันเวิ้งว้าง แต่ก็ทำให้เรารู้สึกได้ว่ามันเป็นความเวิ้งว้างที่น่าอึดอัด เหมือนเราอยู่ในสภาพมีอากาศหายใจไม่พอเช่นเดียวกับตัวละคร ไม่ต้องพูดถึงภาพภายในยานที่ให้บรรยากาศคับแคบและอึดอัดจริงๆ ทำเอาคนดูรู้สึกโดนบีบอยู่ข้างในไปด้วย

โดยภาพรวม แม้ว่าหนังจะพูดถึงเรื่องซ้ำๆที่ไม่ว่าหนังชาติไหนในโลกก็เคยพูดถึงมาแล้วอย่างการพยายามต่อสู้ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองอันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นคนใหม่ที่ดีขึ้นที่เข้มแข็งขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าด้วยชั้นเชิงด้านเทคนิค ภาพ การแสดง และองค์ประกอบอื่นๆซึ่งปูทางบิลด์คนดูมาเรื่อยๆตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้เราเข้าถึงประเด็นดังกล่าวได้อย่างไม่รู้สึกว่าโดนยัดเยียดและก็อดไม่ได้ที่จะอินไปกับมันอย่างง่ายดาย หรือถ้าจะพูดให้ตรงเลยก็คือ Gravity ใช้ความอลังการของงานสร้างและเหตุการณ์ระทึกที่ดูไกลตัวเพื่อพาเรากลับมาสู่ประเด็นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์อย่างการศรัทธาในชีวิต การพัฒนาตัวเองให้เข้มแข็ง และเปลี่ยนแปลงเป็นคนใหม่ เรียกได้ว่าแม้หน้าหนังจะเป็นไซ-ไฟเป็นวิทยาศาสตร์มากๆ แต่เนื้อหาสะท้อนแนวคิดมนุษยนิยมที่เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์เหลือเกิน

ในขณะที่ดร.สโตนกลับมาสู่พื้นโลก คนดูก็กลับมาพร้อมกับเธอ รู้สึกว่าผ่านอุปสรรคและบททดสอบที่ท้าทายศรัทธาในการมีชีวิตอยู่พร้อมเธอ และ "อาจจะ" แข็งแกร่งขึ้นเหมือนเธอ จึงอาจพูดได้ว่า Gravity มิใช่แค่เพียงชื่อหนังหรือทำหน้าที่ระบุเนื้อหาหรือเรื่องราวของมันเท่านั้น แต่คือตัวหนังทั้งหมดซึ่งเปรียบเสมือน "แรงโน้มถ่วง" ที่ดึงเรากลับมาเหยียบยืนอยู่บนพื้นแห่งความเข้มแข็งและความศรัทธาในตัวเองด้วย