ว่าด้วยเรื่องของร่างกายในฟรีแลนซ์...ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ

 

ฟรีแลนซ์...ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ (2015/นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์/ไทย)


คือกว่าจะได้ลงตลาดคงวายแล้ว จริงๆเขียนไว้ตั้งแต่ได้ดูตอนหนังเข้าใหม่ๆ แต่พอดีภาระในชีวิตประจำวันช่วงนี้ยุ่งๆครับ เลยเพิ่งมีเวลา (-_-)"

สำหรับเรา นี่ไม่ใช่หนังรัก นี่เป็นหนังเกี่ยวกับการทำงาน (ซึ่งค่อนข้างมีน้อยมากในหนังไทย) ประเภทเดียวกับ Network (1976/Sidney Lumet/US) ที่พูดถึงวงการนักข่าว Boogie Nights (1997/Paul Thomas Anderson/US) ที่พูดถึงวงการหนังโป๊ หรือ The Wrestler (2008/Darren Aronofsky/US,Fr) กับ Black Swan (2010/Darren Aronofsky/US) ที่พูดถึงวงการนักมวยปล้ำกับนักเต้นบัลเลต์ตามลำดับ โดยมีเรื่องความรักเป็นพล็อตรองๆ ดังนั้น ความสนุกของหนังแบบนี้คือมันจะจิกกัด จะเปิดโปง จะแฉชีวิตคนในวงการไปได้สุดแค่ไหน (แต่ส่วนตัว จุดอ่อนของหนังแบบนี้ส่วนใหญ่คือมักจะผูกขาดเรื่องราวผ่านมุมมองของคนอาชีพนั้นๆเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว ราวกับว่านี่คือ ภาพแทนทั้งหมดของวงการนั้นๆแล้ว ซึ่งจริงๆมันก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันไปอีกมากมาย ซึ่งฟรีแลนซ์ฯเองก็ตกอยู่ในข่ายนี้ เพราะเราเห็นหนังตลอดทั้งเรื่องผ่านสายตายุ่นคนเดียวเท่านั้น ยุ่นเป็นคนเดียวที่เราได้ยินได้รับรู้ความคิดและความรู้สึกในหนัง แต่นั่นแหละ หนังเรื่องเดียวจะให้เค้ามากินความทั้งหมดมันคงไม่มีทางเป็นไปได้อยู่แล้ว) และหนังฟรีแลนซ์ฯก็ค่อนข้างไปได้ถึงที่สุด (แม้จริงๆมันจะสุดได้กว่านี้อีกนิด แต่นั่นอาจจะดาร์คเกินไป)

สิ่งที่เราสนใจในหนังเรื่องนี้คือการจัดการร่างกายของฟรีแลนซ์ ร่างกายในแง่หนึ่งมันคือ “มูลค่า” เหมือนที่ระบบปิตาธิปไตยสร้างมูลค่าให้ร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะผู้หญิง ผ่านวาทกรรม “ความบริสุทธิ์” ฉันใดก็ฉันนั้น ร่างกายของมนุษย์ในยุคที่ขับเคลื่อนด้วยระบบทุนนิยมก็ถูกคิดมูลค่าด้วย “การทำงาน” คนทำงานคือคนที่มีคุณค่า คนที่นั่งกินนอนกินคือคนไร้ค่า ถ้าย้อนไปในอดีตโดยมองผ่านระบบชนชั้นจะเห็นว่าชนชั้นสูงที่ถูกอุปโลกน์ว่ามีคุณค่ากว่าชนชั้นล่างนั้นจะมีค่าได้ก็ต้องอยู่เฉยๆ ไม่ทำงานอะไร นั่งชี้นิ้วสั่งการอย่างเดียวพอ การลงมาทำงานคือการทำตัวเยี่ยงชนชั้นล่างที่ต้องใช้แรงงาน แต่พอสังคมเปลี่ยนผ่านเกิดชนชั้นกลางซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากพ่อค้าแม่ขายชนชั้นล่างร่ำรวยขึ้น และอำนาจของชนชั้นสูงถูกลดลง การทำงานสร้างเนื้อสร้างตัวจึงกลายมาเป็นคุณค่าใหม่ คนทำงานไม่อยู่นิ่งคือผู้สร้างผลผลิตสร้างทุนให้กับสังคม บรรดาเจ้านาย/ขุนนาง/ชนชั้นสูงคือพวกไม่ productive ไม่ได้สร้างอะไรที่จะแปรสภาพเป็นผลผลิตเพื่อจะงอกเงยและหมุนเวียนเปลี่ยนไปเป็นทุนให้แก่สังคมต่อไป จะเห็นได้ว่าในระบบทุนนิยม คุณค่าของคนจึงย้ายจากชาติกำเนิดมาสู่การทำงานอันยังประโยชน์ให้สังคม

ภาพความสุขของยุ่นแบบยิ่งทำงานเยอะยิ่งผลิตเยอะยิ่งมีความสุข คนเราจะอยู่นิ่งๆไม่ทำอะไรได้ยังไงไม่เข้าใจ ก็คือสิ่งสะท้อนแนวคิดเรื่อง “คุณค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” นั่นเอง ยิ่งคุณทำงานเยอะ มีผลงานเยอะ นั่นยิ่งทำให้คุณดูเป็นคนมีประโยชน์ เป็นที่ยอมรับนับหน้าถือตา เราอาจนำภาพความสุขนี้ไปซ้อนทับได้กับภาพเครื่องจักรในอุดมคติของสังคมสมัยใหม่ที่ผลิตต่อเนื่องไม่มีวันหยุดไม่มีวันพัง ทั้งๆที่ ideal ของสังคมแรกเริ่มใช้เครื่องจักรแทนมนุษย์ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้มนุษย์ ให้มนุษย์ได้อยู่เฉยๆ ได้มีเวลาว่าง ได้พักผ่อนหย่อนใจเรื่อยเปื่อย แต่ตามที่หนังนำเสนอกลายเป็นว่ามนุษย์กับเครื่องจักร (หรือถ้าเอาตามสมัยนี้คืออุปกรณ์ IT/โปรแกรมประดามี อย่างโฟโต้ซ็อปและโปรแกรมกราฟิกตัดต่อแต่งภาพที่ยุ่นใช้) กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต่างคนต่างใช้ซึ่งกันและกัน เทคโนโลยีกลับย้อนมาใช้มนุษย์ให้หมกมุ่นอยู่กับมัน มากำหนดไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของเรา ไม่ได้ปล่อยให้เราอยู่นิ่งๆว่างๆได้เลย

แต่ในเมื่อมนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักร ร่างกายเราพังได้และไม่มีทางหาอะไหล่มาเปลี่ยนได้เหมือนเครื่องจักร/อุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ เราก็ย้อนกลับมาที่เรื่องการจัดการร่างกายมนุษย์ เหตุที่พนักงานรัฐหรือเอกชนมีสวัสดิการด้านสุขภาพก็เพราะนั่นคือเครื่องประกันว่าคุณจะยังเป็นแรงงานที่มีศักยภาพในการป้อนผลผลิตสู่สายพานอย่างต่อเนื่องได้ เอาจริงๆมันคือค่าซ่อมแซมมนุษย์ในระบบให้ทำงานได้ต่อเนื่องเป็นปกติ เพราะมนุษย์ก็คือทุนที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การประกันสุขภาพจึงเป็นกลไกของรัฐ (เอกชนก็ต้องยอมรับจุดนี้เพราะรัฐเป็นผู้กำหนดนโยบาย) ที่คอยกำกับดูแลให้คนในระบบมีสุขภาพดีพอที่จะทำประโยชน์ให้ประเทศได้ (ในแง่นี้อาจมองได้ว่าระบบการแพทย์ของหมออิมคือเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ใช้เพื่อสนับสนุนระบบการผลิตของสังคม)...ระบบไม่ได้รักไม่ได้ห่วงใยคุณ แต่รักและห่วงใยผลประโยชน์ที่คุณยังคงผลิตให้ได้เท่านั้น

และจุดนี้เองที่ฟรีแลนซ์แตกต่างจากพนักงานประจำ คุณเป็นฟรีแลนซ์คุณก็ไม่มีระบบประกันสุขภาพ (เว้นแต่คุณจะซื้อหามาเอง) เมื่อฟรีแลนซ์ไม่ได้เข้าระบบรัฐและเอกชน ฟรีแลนซ์ก็จำต้องจัดการร่างกายของเขาด้วยตัวเอง และไม่ใช่เรื่องทำประโยชน์ให้รัฐให้ประเทศ แต่เป็นเพื่อปากท้องของตนเอง เพราะถ้าไม่ดูแลตัวเอง คุณจะถูกกำจัดออกไปจากระบบฟรีแลนซ์โดยอัตโนมัติ (ป่วย ทำงานไม่ได้ งานไม่เข้า) เมื่อร่างกายพัง รายได้ก็จะลดลงตามไปด้วย ไม่เหมือนพนง.รัฐ/เอกชนที่มีเงินเดือนตายตัว แต่ที่สุดแล้วแม้จะทำเพื่อตัวเอง มันก็เป็นไปเพราะระบบทุนนิยมอยู่ดีนั่นแหละ มันแค่ลวงให้ฟรีแลนซ์มองว่าชั้นอิสระ ชั้นชิลล์ ชั้นเลือกงานได้ อยากทำก็รับไม่อยากก็ไม่รับ แต่เมื่อมีผลถึงปากท้องและเงินในกระเป๋าของคุณ คุณก็ไม่อาจเลี่ยงอยู่วันยังค่ำ แถมหนักหนาสากรรจ์กว่าพนง.ออฟฟิศแบบไนน์ทูไฟว์เสียอีก เพราะคุณไม่มีอะไรมาการันตีได้เลยว่าถ้าไม่รับงานนี้แล้วจะมีงานอื่นเข้ามาอีกไหม ดังนั้นคุณก็ยังจำเป็นจะต้องดูแลร่างกายคุณให้มีมูลค่าและสร้างมูลค่าต่อไปได้ 

ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นยุ่นวุ่นวายอยู่กับการจัดการร่างกายของตัวเอง เพราะร่างกายเจ็บป่วยไปมันก็จะกระทบถึงการทำงานของเขา ซึ่งเป็นทั้งการสร้างมูลค่าให้งานที่ผ่านมือเขาไปสู่ตลาดต่อไป (บริษัทได้รายได้/ผลกำไรจากงานของเขา) และเป็นทั้งการสร้างมูลค่าให้ตัวเองในฐานะฟรีแลนซ์มีชื่อชั้นเป็นมือวางอันดับต้นๆของวงการที่ใครๆก็อยากเรียกใช้ เป็นประโยชน์ต่างตอบแทนกันไปด้วย แม้หากมองให้ถึงที่สุดแล้ว ยุ่นก็เป็นเพียงส่วนเล็กๆในกระบวนการผลิตชิ้นงานนั้นๆ เขาไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะเคลมว่านั่นคือผลงานของเขา (เพราะลิขสิทธิ์มันอยู่กับบริษัท) และเขาก็ไม่มีสิทธิ์จะได้ทำงานตั้งแต่ต้นจนเสร็จเป็นชิ้นงานสมบูรณ์เลยด้วยซ้ำ (เขาแค่รีทัชตกแต่งภาพที่มาจากต้นทาง และส่งต่อไปยังปลายทางเท่านั้น)

แต่ในขณะเดียวกัน ตัวยุ่นก็ลักลั่นในการจัดการร่างกายตัวเอง เพราะถึงยุ่นจะตระหนักว่าร่างกายคือมูลค่าและเป็นตัวสร้างมูลค่า เขาก็มีความคิดว่าร่างกายคืออุปสรรคใหญ่ที่ขวางทางวิถีฟรีแลนซ์ของเขา ร่างกายไม่ใช่สิ่งที่จะแต่งจะรีทัชให้เพอร์เฟ็คได้เหมือนนมนางแบบหรือเป้านายแบบที่เขาแต่งและรีทัชอยู่บ่อยๆ เราจึงได้ยินเขาพร่ำบ่นถึงเรื่องลิมิตของร่างกายอยู่บ่อยครั้ง ไม่เพียงแค่ร่างกาย อารมณ์ความรู้สึกก็กลายเป็นหินก้อนใหญ่ขวางทางหน้าที่การงานของเขา ความรักคือการต้องเจียดต้องเบียดบังเวลางานออกไป เกือบทั้งชีวิตของเขาจึงเป็นการใช้ชีวิตแบบฟันเฟืองตัวหนึ่งของเครื่องจักร (เขาอาจไม่ใช่เครื่องจักรทั้งเครื่องด้วยซ้ำ เพราะทำงานแค่ส่วนหนึ่งของทั้งหมด ไม่ใช่ทำทั้งกระบวนการ) วิ่งวนลูปเดิม หางาน รับงาน ทำงาน ส่งงาน แล้วก็วนวงจรรีพีทซ้ำเดิมไปเรื่อยๆ ความรักของเขากับหมออิมจึงถูกแช่แข็งนิ่งสนิท (น่าสนใจดีถ้านวพลจะทำหนังอีกเรื่องเพื่อพูดถึงวงการอาชีพหมอโดยผ่านตัวละครอย่างหมออิมบ้าง) เขาแทบจะไม่ทำอะไรเพื่อแอ๊ดวานซ์ความสัมพันธ์นี้เลยด้วยซ้ำ (ที่น่าสนใจอีกอย่างคือความเป็นผู้หญิงที่กลายเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของยุ่น แม้แต่เจ๋ที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่มาตลอดกับยุ่นก็จบความสัมพันธ์ด้านการงานระหว่างเธอกับยุ่นลงเพราะต้องหันไปทำหน้าที่แม่และเมีย) จากชื่อเรื่องเราก็พอจะมองเห็นทัศนคติว่าร่างกายกับอารมณ์ความรู้สึกคืออุปสรรคชิ้นใหญ่ต่องานฟรีแลนซ์ของยุ่น ห้ามป่วย...ห้ามพัก...คือความพยายามจัดการกับร่างกายให้มีฟังก์ชั่นสูงสุดต่อการทำงาน ส่วน...ห้ามรักหมอ...ก็คือการจัดการอารมณ์ความรู้สึกไม่ให้ว่อกแว่กไปคิดเรื่องที่ไม่มีความสำคัญต่อการทำงาน/การผลิต

ทว่า...ร่างกายที่ป่วยได้พังได้กับอารมณ์ความรู้สึกที่หวั่นไหวได้นี่เองมิใช่หรือที่ทำให้มนุษย์ยังคงมีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรกลที่วันๆเอาแต่ก้มหน้าก้มตาทำงานอย่างเอาเป็นเอาตายให้ระบบทุนนิยมอันกว้างใหญ่ที่ไม่ได้หันมาเหลียวแลหรือแม้แต่จะอินังขังขอบกับชีวิตของมนุษย์ที่ป้อนผลผลิตให้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันแม้สักนิด

ขอบคุณภาพประกอบจาก pantip.com