Skip to main content

ตั้งแต่เขียนคอลัมน์ “บ้านบรรทัดห้าเส้น” แบบขาดๆ หายๆ มาได้หลายปีนั้น มีบทความแบบหนึ่งที่ผมพยายามเขียนมามากครั้ง...แล้วก็เขียนไม่ค่อยได้สักที


บทความประเภทที่ว่าก็คือรายงานคอนเสิร์ตนั่นเอง


ด้วยความที่ผมมักหาเรื่องไปดูคอนเสิร์ตทั้งฟรี และไม่ฟรีอยู่เสมอๆ นัยว่าเพื่อเป็นการหาประสบการณ์ทางดนตรี เพื่อเพิ่มพูนความรู้เรื่องดนตรีไปด้วย (...ข้ออ้างดังกล่าวฟังดูสวยหรูนะครับ แต่มันเป็นเหตุผลที่ผมจะเก็บเอาไว้อธิบายให้แฟนตัวเองเข้าใจ เวลาที่เธอบ่นถึงราคาบัตรคอนเสิร์ตที่ผมจ่ายไปในแต่ละเดือน)


พอได้ดูคอนเสิร์ตแต่ละครั้ง แล้วได้เจออะไรดีๆ ก็อยากจะเอามาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง แต่พอจะเริ่มต้นเขียน อาการขี้เกียจผสมกับการไม่รู้จะเริ่มเล่าจากตรงไหนดี... ซึ่งกว่าจะแก้ปัญหาพรรค์นี้ไปได้ คอนเสิร์ตนั้นก็ผ่านไปเนิ่นนานจนมันไม่น่าสนใจแล้ว


นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งของความพยายาม ที่ถ้าคุณได้อ่านบทความชิ้นนี้ ก็หมายความว่าผมประสบความสำเร็จในการเขียนรายงานคอนเสิร์ตเสียที


คอนเสิร์ตที่ผมจะมาเล่าให้คุณฟังก็คือคอนเสิร์ต “เพลงแบบประภาส” นั่นเองครับ


 

24_07_01


ถ้าพูดกันถึงนักแต่งเพลงที่มีฝีมือระดับต้นๆ ของไทย ชื่อของพี่จิก - ประภาส ชลศรานนท์คงเป็นชื่อแรกๆ ที่หลายคนคิดถึง ด้วยลีลาการเขียนเพลงที่มีมุมให้คิด ผ่านเนื้อเพลงที่ดูเหมือนจะง่ายๆ ก็ถ้าขบเนื้อเพลงสักนิดจะรู้ว่าคนเขียนไม่ได้คิดเพลงแบบนี้ขึ้นมาง่ายๆ เลย และในขณะที่เขาสามารถแต่งเพลงเนื้อหาชวนคิดอย่างเพลงส่วนใหญ่ของเฉลียง แต่เขาก็สามารถแต่งเพลงโจ๊ะๆ แบบงานของสามโทน หรือเพลงจิ๊กโก๋อกหักอย่าง “ฟั่นเฟือน” ของพี่อ๊อฟ – พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจงได้ดีเสียอีก


การรวมเพลงของพี่จิกมาอยู่บนเวทีเดียวกัน โดยได้นักร้องเสียงดีๆ อย่างคุณเจนนิเฟอร์ คิ้ม, พี่ป้าง – นครินทร์ กิ่งศักดิ์, วง DooBaDoo (ถ้าจำไม่ผิด คุณโอ๋ – เจษฎา สุขทรามร รับหน้าที่เป็น Music Director ของคอนเสิร์ตครั้งนี้ด้วย), คุณปาน – ธนพร แวกประยูร และคุณบี – พีระพัฒน์ เถรว่อง (ที่เรารู้จักในนามของบี เครสเซนโด้นั่นแหละ) รวมถึงวงดนตรีคู่บุญอย่างสามโทน และเฉลียง (แม้จะไม่ครบวงเหมือนคราวคอนเสิร์ต “เหตุเกิดที่เฉลียง” เมื่อปีที่แล้ว แต่ก็พอคลายความคิดถึงกันได้) ซึ่งนักร้องทุกคนก็ทำหน้าที่ได้ดีตามมาตรฐาน


แต่ที่ค่อนข้างสร้างความประหลาดใจกับผม คือคุณปานครับ


เพราะโดยปกติเวลาฟังคุณปานร้องเพลงของเธอเอง ผมจะสัมผัสถึงรังสีอำมหิตออกมาจากเพลงของเธอเลย (ฮา...) อาจจะเป็นเพราะเนื้อหาเพลงของคุณปานเธอค่อนข้างเชือดเฉือนผู้ชายไม่น้อย (บางอารมณ์ผมเรียกเพลงของคุณปานเป็นเพลงประเภท “บู๊ล้างผลาญ” ซะงั้น) แต่พอได้ฟังเธอร้องเพลง “พี่ชายที่แสนดี” แล้วก็พบว่าเธอร้องเพลงนี้ได้หวานและอบอุ่น จนลืมภาพเธอกับเพลงบู๊ๆ ไปชั่วขณะ พร้อมๆ กับที่ผมนึกในใจว่า “ทำไมปานไม่ร้องแบบนี้ตั้งนานแล้วว้า...”


และที่น่าจดจำมากๆ เช่นกัน คือแขกรับเชิญที่ไม่ได้มีรายชื่ออยู่ในโปสเตอร์ อย่างเช่นคุณเพลิน พรหมแดนที่เอาเพลง “อยากมีหมอน” ของเฉลียงมาทำเป็นสไตล์เพลงพูดที่คุณอาเพลินถนัด/ ซึ่งก็เรียกเสียงเฮจากแฟนเพลงได้ไม่น้อย หรือคุณอธิศรี สงเคราะห์ เจ้าของเสียงร้องเพลง “แก้วกัลยา” ที่เราคงได้ยินกันบ่อยๆ ในห้วงยามของการถวายอาลัยแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ก็มาในเพลง “ต้นชบากับคนตาบอด” ที่เสียงของเธอทำให้เราเชื่อว่าเธอเห็นความงามของต้นชบาต้นนั้นจริงๆ...แม้เธอจะไม่เห็นด้วยสายตาก็ตาม


แต่ที่ผมชอบที่สุด คือการตีความ “นิทานหิ่งห้อย” เป็นนิทานประกอบการบรรเลงเพลงโดยวงออร์เคสตราขนาดย่อมๆ ประกอบการเล่าโดยคุณบ๊อบบี้ – นิมิตร ลักษมีพงษ์ (ตัวนิทานแต่งโดยคุณบัวไร – หนึ่งในลูกศิษย์สำนักศิษย์สะดือของคุณประภาส) ที่แม้จะยังขาดๆ เกินๆ อยู่นิดหน่อย แต่ผมคิดว่านี่คือการสร้างสรรค์ “นิทานหิ่งห้อย” ที่ไปไกลที่สุดแล้ว


โดยรวม นี่คือคอนเสิร์ตหนี่งที่อิ่มใจมากๆ ทั้งในด้านของดนตรีที่เรียบเรียงอย่างประณีต นักร้องทุกคนทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยม (รวมทั้งมุขเสี่ยงๆ ของสามโทนและเฉลียง ที่สะใจพระเดชพระคุณ แต่ไม่รู้ว่าผู้ชมระดับรัฐมนตรีที่ดูรอบเดียวกับผม แกจะสนุกด้วยหรือเปล่า :-P) แม้จะมีข้อติหนักๆ ตรงที่ประตูเวทีการแสดงเปิดเลทจากเวลาแสดงในบัตรไปพอสมควร...ถ้าเวิร์กพอยต์จะจัดคอนเสิร์ตอีกครั้ง คงต้องทำการบ้านเรื่องการจัดระเบียบหน้างานให้ดีกว่านี้ละครับ... ดีเกือบหมดแล้ว ขาดเรื่องนี้เท่านั้นเองแหละ


*******************************


...จริงๆ ผมตั้งใจจะจบบทความแค่นี้แหละครับ แต่พอกลับมาอ่านดู แล้วพบว่ามันเป็นบทความที่ห้วนเป็นบ้า ผมเลยพยายามหาข้อคิดคำคมเท่ห์ๆ ปิดท้ายบทความ แต่มันดูแล้วไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไหร่ ซ้ำมันจะดูเสร่อเกินงามไปนิด


เอาว่าสรุปง่ายๆ ว่า... ในที่สุด ผมก็เขียนบทความรีวิวคอนเสิร์ตสำเร็จได้เสียที”

จบแบบนี้เลยละกันครับ
:-P

 



ก่อนจะจบบทความคราวนี้ มีคอนเสิร์ตน่าสนใจ ในบัตรราคาถูก
(โคตร) มาแนะนำกันครับ


24_07_02


คอนเสิร์ตที่ว่าคืองาน “เทศกาลดนตรีออดิชั่นโคตรอินดี้” ที่จัดโดยกลุ่มดนตรี “โคตรอินดี้” – กลุ่มดนตรีอิสระจัดคอนเสิร์ตมาแล้วหลายครั้ง (ผลงานครั้งล่าสุดของกลุ่มนี้คือเทศกาลอัลเทอร์เนทีฟไทย ที่ได้ใจคนดูสุดๆ แต่รู้สึกว่าคนจัดจะได้หนี้ก้อนเบ้อเริ่มสุดๆ ไปเช่นกัน - -“) มาในคราวนี้จะมีคอนเสิร์ตที่เขาบอกว่าจะเป็นงานที่รวบรวมวงอินดี้มากที่สุดในไทย


ซึ่งก็คงจริงครับ เพราะงานนี้มีวงดนตรีเข้าร่วมถึง 150 วง ! ซึ่งก็มีตั้งแต่วงรุ่นใหม่ที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงในแวดวงอินดี้ – อันเดอกราวน์ อย่าง Tabasco (วงนี้เล่นเพลงร็อกที่ผสมจังหวะของ Disco...มันส์ครับ), Abuse The Youth (วงนี้มีคุณจุ – มือกลองที่เคยร่วมงานกับ Flure ในทัวร์คอนเสิร์ตในช่วงนึงเป็นสมาชิกอยู่แล้ว), Over Me (วงนี้เพิ่งได้รางวัลจากการประกวดดนตรีของนิตยสาร Music Express), Super Dr. K Fucking AV Idol All Stars ไปจนถึงวงชื่อประหลาดๆ ที่ไม่รู้ว่ามาจากไหน อย่าง เสียงจากความมืด, รถไฟเหาะ, ไข่ดาวหมูสับ ฯลฯ โดยมี Teddy Ska Band – วงเร็กเก้ – สกาฝีมือดีเป็นแขกรับเชิญครับ


งานนี้จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม นี้ ที่สนามม้านางเลิ้ง (พอผมได้ยินสถานที่ปั๊บ ผมคิดถึงบรรยากาศที่ทั้งมันส์ ทั้งโกลาหลของงาน Fat Festival ครั้งที่ 4 ขึ้นมาเลยแฮะ) ตั้งแต่เวลา 11.00 . เรื่อยไปจนถึงเที่ยงคืนบัตรราคา 99 บาท เท่านั้น ซื้อได้ที่หน้างานครับ



 

บล็อกของ เด็กใหม่ในเมือง

เด็กใหม่ในเมือง
My Private Radio – รายการเพลงที่ผมมั่นใจว่าดีที่สุดในเว็บประชาไท (เพราะมันมีอยู่รายการเดียว :-P) กลับมาพบกับท่านอีกครั้งแล้วครับ
เด็กใหม่ในเมือง
มาล่าช้ากันสักนิดนึงนะครับสำหรับรายการวิทยุส่วนตัวของผม แต่มาช้าก็ยังดีกว่าไม่มานะครับหวังว่ารายการนี้จะพอทำให้บรรยากาศอันดุเดือดในช่วงนี้เย็นๆ ลงมาบ้าง และรายการนี้... ไม่ว่าสีใด ก็ฟังกันได้สบายๆ...
เด็กใหม่ในเมือง
ตอนที่ผมกำลังทำรายการวิทยุออนไลน์เล็กๆ รายการนี้ เมื่อมองออกไปที่ท้องฟ้าแถวบ้าน ผมเห็นพระจันทร์ดวงโตสวยส่องสว่างอยู่... เลยอยากจะเลือกเพลงให้เข้ากับบรรยากาศในตอนนั้น พอเลือกเพลงได้ ก็เลยเอาเพลงที่เลือกมาเปิดให้คุณๆ ฟังกันนั่นแหละครับ       
เด็กใหม่ในเมือง
แม้ว่าในประชาไท รายการ My Private Radio จะเพิ่งได้มาโอกาสมาเปิดเพลงเพราะมั่ง ไม่เพราะมั่งให้กับคุณๆ ได้ฟังกันไม่นานนี้ แต่จริงๆ แล้ว ถ้านับตั้งแต่ที่ผมเริ่มทำรายการตอนแรกลงในเว็บไซต์ http://myprivateradio.ning.com แล้ว ตอนที่คุณได้ฟังอยู่ตอนนี้ นับเป็นตอนที่ 10 แล้วครับ   ในตอนนี้ ผมเลยตั้งโจทย์เล่นๆ ว่า ถ้าผมต้องเลือกเพลงทุกเพลงในรายการ ให้กับคนหลายๆ คน ตั้งแต่เพี่อนของผม เลยเถิดไปจนถึงทีมการท่าเรือไทย เอฟ ซี (!) ผมจะหยิบอะไรมาเปิดบ้าง
เด็กใหม่ในเมือง
 กลับมาอีกครั้งสำหรับรายการวิทยุส่วนตัวของผมครับ :-)ผมบันทึกเสียงรายการตอนนี้ในคืนวันวาเลนไทน์ เลยทำให้บรรยากาศของวันแห่งความรักเผลอตลบอบอวลเข้ามาในรายการด้วยตอนนี้เลยมีเพลงรักดีๆ ให้ฟังกันเยอะครับเชิญฟังกันได้เลยครับ  
เด็กใหม่ในเมือง
  กลับมาอีกครั้งกับรายการวิทยุส่วนตัวของผมครับ :-)   GT 200 กับเพลงโซล – ดิสโก้ ดูมันไม่เกี่ยวกันเลย แต่มันก็มาอยู่ในรายการนี้กันได้ซะงั้น   เชิญฟัง และติ-ชมกันได้ครับ       
เด็กใหม่ในเมือง
ผมกำลังสนุกกับของเล่นชิ้นใหม่อยู่ครับ... ของเล่นชิ้นที่ว่า คือการทำรายการวิทยุออนไลน์ของตัวเองครับ
เด็กใหม่ในเมือง
  ถ้าคุณผู้อ่านแวะเข้าห้องเฉลิมกรุงของเว็บไซต์ pantip.com (พันทิปไม่ได้มีแค่ห้องราชดำเนินนะครับพี่น้อง...) ซึ่งเป็นเวบบอร์ดที่พูดถึงแวดวงดนตรี ละครเวที และงานศิลปะอยู่เป็นประจำละก็ คุณคงจะรู้ว่าศิลปิน-นักร้องที่กำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึงที่สุดในห้องเฉลิมกรุงในช่วงเดือน - สองเดือนที่ผ่านมานั้นเป็นใคร ถ้าคุณไม่ใช่เด็กห้องเหลิมกรุง คุณอาจจะเดาว่าเป็น Wonder Girls, Girl's Generation, ดงบังชินกิ, ซุปเปอร์จูเนียร์ หรือบรรดาบอยแบนด์ - เกิร์ลกรุ๊ปทั้งสัญชาติไทยและเกาหลี
เด็กใหม่ในเมือง
  มีตำนานกล่าวขานถึงเวทมนต์วิเศษที่จะทำให้คนธรรมดา เสียงไพเราะกว่าใครเริงระบำได้เหนือกว่าใคร
เด็กใหม่ในเมือง
ผมเริ่มนั่งเขียนบทความชิ้นนี้ ตอน 10 โมงกว่าๆ ของวันที่ 14 เมษายน 2552 หลังวันสุกดิบของการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ในหลายๆ จุดทั่วกรุงเทพฯที่จั่วหัวแบบนี้ ผมไม่ได้มาพูดเรื่องการเมืองหรอกครับ (ผมเขียนวัน-เวลาเอาไว้เพื่อเตือนความจำของตัวเองเท่านั้นแหละ)ผมจะมาเล่าเรื่องที่ทำงานประจำของผมให้คุณๆ ฟังครับ
เด็กใหม่ในเมือง
ผมขอเริ่มต้นบทความชิ้นนี้ ด้วยการย้อนระลึกถึงเมื่อครั้งที่ผมยังเป็นเด็กนักเรียนประถม ในยุคที่สถานีโทรทัศน์ทุกแห่งในประเทศไทยยังไม่มีการออกอากาศช่วงกลางวันในวันธรรมดา และยังไม่มีเคเบิลทีวีให้บริการอย่างเอิกเกริกแบบตอนนี้ ในยุคที่คอมพิวเตอร์ยังเป็นสิ่งอภิมหาแพงเกินกว่าที่ทุกครัวเรือนจะมี หรือถึงบ้านไหนจะมี เทคโนโลยีในยุคนั้นก็ยังไม่เอื้อให้คอมพิวเตอร์เป็นศูนย์รวมความบันเทิงแบบทุกวันนี้ ความบันเทิงในยุคนั้นของผม นอกจากรายการทีวีวันเสาร์ - อาทิตย์แล้ว บรรดาวีดิโอจากร้านเช่าก็เป็นความบันเทิงราคาถูกที่พอจะมีกันได้ ซึ่งวีดิโอที่เรามักจะเลือกเช่า ก็หนีไม่พ้นการ์ตูนและหนังต่างๆ
เด็กใหม่ในเมือง
(ก่อนจะเริ่มบทความ...คุณผู้อ่านรู้สึกไหมครับ ว่าชื่อบทความกับชื่อผม มันคล้องจองกันพิลึก อิอิ...)  ไม่รู้ว่าท่านผู้อ่านจะมีศิลปิน หรือวงดนตรีใดๆ ที่เมื่อมีอัลบั้มใหม่ของพวกเขา / เธอ ออกวางแผง เราก็ไม่รีรอที่จะรีบไปหาอัลบั้มมาเป็นเจ้าของโดยพลันหรือเปล่า สำหรับตัวผม...โมเดิร์นด็อกสร้างความรู้สึกแบบนี้ให้ผมตลอดมา ตั้งแต่สมัยผมควักเงิน 60 บาทจากกระเป๋านักเรียนสีกากีออกจากกระเป๋า และคว้าอัลบั้ม “โมเดิร์นด็อก” (ที่มีชื่อเล่นว่าอัลบั้ม “เสริมสุขภาพ”) จากแผงเทป จนถึงวันนี้ วันที่โมเดิร์นด็อกมีอัลบั้ม “ทิงนองนอย” ออกมาเป็นอัลบั้มใหม่ ความรู้สึกนั้นก็ยังเกิดกับผมไม่แปรเปลี่ยน…