ดิบส์ลูกรัก แม่และพ่อขอโทษ

13 May, 2008 - 06:22 -- nalaka

“ดิบส์ลูกรัก แม่และพ่อขอโทษ”1 แปลมาจากเรื่อง “Dibs In Search of Self” เป็นหนังสือเกี่ยวกับเด็กที่ไม่ใช่นวนิยายที่จัดได้ว่าเป็น Bestseller  อย่างไรก็ตามหนังสือเรื่องนี้อ่านสนุกน่าติดตามราวกับเป็นวรรณกรรมเยาวชน (จะว่าไปเรื่องราวของเด็ก ๆ ก็เป็นวรรณกรรมในตัวมันเองอยู่แล้ว)

ผมเจอหนังสือเล่มนี้โดยบังเอิญในห้องสมุด อ่านเพียงผ่าน ๆ แต่แรงดึงดูดบางประการทำให้วางไม่ลงและอ่านต่อไปด้วยความเพลิดเพลินจนจบ ผิดกับหนังสือหลายเล่มที่ในระยะหลังผมมักจะอ่านไม่จบ ไม่ใช่ไม่มีเวลา แต่ไม่มีแรงดึงดูดให้อ่าน แต่สำหรับเรื่อง “ดิบส์ลูกรัก แม่และพ่อขอโทษ” นี้เป็นข้อยกเว้นจริง ๆ

“ดิบส์ลูกรัก แม่และพ่อขอโทษ” เป็นบันทึกของนักจิตวิทยาที่ทำการบำบัดเด็กที่ถูกคุณครูและใครต่อใครมองว่า  ”มีปัญหา” แม้แต่พ่อแม่ของเขาเอง

พฤติกรรมที่ไม่คงที่ของดิบส์ทำให้เขาดูคล้ายจะเป็นเด็กที่มีสติปัญญาไม่สมบูรณ์ แต่บางครั้งก็ดูเป็นเด็กเฉลียวฉลาดกว่าใครอื่น เมื่อไหร่ที่ดิบส์คิดว่ามีคนกำลังจ้องมองเขาอยู่ เขาก็จะก้มหน้า ม้วนตัวหลบทันที และมักจะคลานไปรอบ ๆ ห้อง แล้วก็หลบอยู่ใต้โต๊ะ โยกตัวไปมา เคี้ยวมือหรือดูดนิ้วหัวแม่มือ ถ้ามีคุณครูหรือเด็กคนอื่น ๆ เข้าไปยุ่งด้วย เขาจะทิ้งตัวลงกับพื้นและนอนคว่ำหน้าแน่นิ่งอยู่ตรงนั้น ไม่สนใจใครหรือสิ่งรอบตัวใด ๆ ทั้งสิ้น ราวกับว่าโลกนี้ช่างโหดร้ายและไม่เป็นมิตรเอาเสียเลย

คณะกรรมการบริหารโรงเรียนที่ดิบส์เรียนอยู่มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าจะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับดิบส์ เมื่อผู้ปกครองของนักเรียนคนอื่น ๆ แสดงความไม่พอใจที่มีดิบส์เข้ามาอยู่ในโรงเรียนแห่งนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เด็ก ๆ คนอื่นถูกดิบส์ข่วนและกัดเอา ๆ

ดิบส์ อายุเพียง 5 ขวบเท่านั้น แต่เขาต้องรับมือกับทัศนคติที่ไม่เป็นมิตรจากคนรอบข้าง พ่อแม่ของเขาเองก็มีความคิดที่จะส่งเขาไปยังโรงเรียนเอกชนสำหรับเด็กพิการทางสมองด้วยซ้ำไป ด้วยเชื่อว่าดิบส์อาจจะเป็นเด็กปัญญาอ่อนหรือไม่ก็สมองพิการ

ปัญหาของดิบส์เริ่มต้นตั้งแต่ที่บ้าน เขามีพ่อเป็นนักวิทยาศาสตร์และแม่เป็นศัลยแพทย์ทั้งคู่ต่างกำลังก้าวหน้าในหน้าที่การงาน  แต่แล้วแม่ก็ตั้งครรภ์ดิบส์โดยไม่ตั้งใจ การถือกำเนิดของดิบส์เข้ามาขัดขวางความก้าวหน้าของทั้งคู่  ผู้เป็นแม่กล่าวถึงเด็กน้อยว่า

“เขาได้ทำลายอนาคตและชีวิตเรา การมีเด็กนับว่าโชคร้ายอยู่แล้วแต่การมีเด็กปัญญาอ่อนเป็นสิ่งสุดจะทนได้จริง ๆ เรามีความอับอายมาก เราเจ็บปวดรวดร้าวมาก ไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในตระกูลของเราทั้งสองเลย สามีของดิฉันเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศในความปราดเปรื่องในอาชีพของเขาและประวัติการทำงานของดิฉันก็อยู่ในระดับเยี่ยมยอด” (หน้า 89)

จากคำกล่าวข้างต้น  คนที่เป็นปัญหาและควรที่จะได้รับการรักษาก่อนเด็กน้อยก็คือผู้เป็นพ่อและแม่นั่นเอง!

ดิบส์เป็นเด็กที่ขาดการยอมรับอย่างรุนแรง อารมณ์ของเขาถูกทอดทิ้งอย่างน่าเวทนาที่สุดจากคนใกล้ตัว  

เด็กที่ไม่มีความสุขแต่ละคน ล้วนประสบความล้มเหลวกับการต่อสู้เพื่อมีชีวิตอยู่อย่างภาคภูมิใจในสังคมหรือโลกใบนี้ เด็ก ๆ ผู้อ่อนต่อโลก จึงได้แต่ดิ้นรนต่อสู้ครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้อยู่รอดตามวิถีทางที่เขาคิดว่าดีที่สุดแล้ว

ดิบส์ได้รับการ “บำบัดโดยการเล่นสมมติ” จากผู้เชี่ยวชาญ เขาสามารถเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ในโลกสมมติของห้องเล่น

ผู้ให้การบำบัดกล่าวว่า “คุณค่าของการบำบัด หรือการรักษาปัญหาทางอารมณ์ขึ้นอยู่กับการที่เด็กจะรู้ว่าตัวเองนั้นเป็นผู้มีความสามารถ และมีความรับผิดชอบซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่การที่ตัวเองจะต้องทำความเข้าใจในความจริงสองประการ ประการแรกคือไม่มีใครจะเข้าถึงโลกภายในของตัวเราเองได้อย่างถ่องแท้เท่ากับตัวเราเอง และอีกประการหนึ่งก็คือความจริงที่ว่าอิสระและเสรีภาพนั้นเกิดจากตัวเราเอง สิ่งแรกที่เด็กต้องเรียนรู้ก็คือ “การเคารพในตัวเอง” และ “การมีความภาคภูมิใจในตัวเอง ซึ่งเด็กจะต้องสร้างขึ้นให้ได้เสียก่อนที่จะเรียนรู้ถึงการให้ความเคารพในตัวบุคคลอื่น ในสิทธิของบุคคลอื่นและในความแตกต่างของบุคคลอื่นได้”  (หน้า 67)

เรื่องราวและปฏิสัมพันธ์ระหว่างดิบส์กับผู้ที่ให้การบำบัดเขานั้นแปลกและสนุก ผู้อ่านจะอดขำไม่ได้กับบุคลิกและพฤติกรรมของดิบส์ บางครั้งเขาจะพูดกับตัวเองบอกให้ทำอย่างนั้น อย่างนี้ ผู้ให้การบำบัดจะทวนคำพูดของเขาซ้ำโดยใช้ประโยคคำถาม เป็นการถามเพื่อเปิดทางในการสร้างความเข้าใจให้ดียิ่งขึ้นไม่ใช่ถามเพื่อเพิ่มรสชาติการสนทนา

ดิบส์พูดว่า “ผมจะดูดขวดนมนะครับ”
ผู้ให้การบำบัดจะใช้ประโยคคำถามว่า “หนูจะดูดขวดนมอย่างนั้นหรือจ๊ะ?”

การสนทนาแบบนี้เกิดขึ้นตลอดกระบวนการบำบัด มันอาจเป็นเรื่องเครียดของดิบส์และผู้ที่ให้การบำบัด  แต่ผู้เขียนถ่ายทอดออกมาได้น่ารักน่าชังและน่าอ่านมาก

การบำบัดดิบส์พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ เขาค่อย ๆ เรียนรู้วิธีการที่จะเข้าใจความรู้สึกตัวเอง เขาเรียนรู้ถึงวิธีที่จะดำรงอยู่กับความรู้สึกของตัวเองและวิธีการควบคุมความรู้สึกเหล่านั้น มีความสามารถที่จะสร้างอิสรภาพให้กับตัวเองได้ เขาไม่ต้องกลัวที่จะเป็นตัวของเขาอีกต่อไป

ในเวลาต่อมา ดิบส์ได้เข้าเรียนในโรงเรียนของเด็กอัจฉริยะ เติบโตเป็นเด็กหนุ่มที่ภาคภูมิ เขาเข้าได้ดีกับครอบครัว เป็นคนอารมณ์ดีและมีความสุขเหมือนเด็กอื่นทั่ว ๆ ไป พลอยทำให้ผู้เป็นพ่อแม่รอดจากคำกล่าวไร้ประโยชน์เมื่อสายไปแล้วว่า “แม่และพ่อขอโทษ”.  

1 ผู้เขียน Virginia M. Axline  ผู้แปล สมลักษณ์ วงลักษณ์ 

 

ความเห็น

Submitted by samruang on

ครับ...เป็นเรื่องที่ดีมากๆ เลย เรื่องราวก็น่าติดตามด้วย
ถ้าพ่อ แม่ได้อ่านก็จะดีมากๆ เลยทีเดียว
ตอนนี้ก็กำลังทำราบงานเรื่องนี้ส่งอาจารย์อยู่ ครับ

Submitted by น้องนุช on

อยากให้ช่วยสรุปเรื่องนี้ให้หน่อย

Submitted by กกก on

ดิบส์มีอาการดีขึ้นอย่างไร

หลานที่จากไป

26 March, 2010 - 00:00 -- nalaka

-1-

หลานเกิดปีเดียวกับที่ผมเดินทางออกจากบ้าน มุ่งหาประสบการณ์และไล่คว้าหาความหมายของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต  คืนวันของหลานที่เติบโตขึ้นด้วยความเอาใจใส่ของพ่อแม่คือจำนวนเวลาที่ผมจากบ้านเกิดเมืองนอน

เล็กน้อยอย่างที่เห็นแต่เป็นโลกทั้งใบ

14 March, 2010 - 00:00 -- nalaka

 

 
คงเป็นเพราะรูปเล่มงามตาน่าหยิบจับและเครดิตก่อนเข้าสู่เนื้อเรื่องที่บอกว่า
เล็กน้อยมากจนสามารถนั่งอ่านข้าง ๆ เตียง ยิ่งใหญ่มากจนสามารถเปลี่ยนชีวิตทั้งชีวิตเร้าความสนใจให้เปิดพลิกและลงมืออ่าน

สนามหลวงไม่เหมือนเก่า

1 March, 2010 - 00:00 -- nalaka

-1-

ฉันเดินตัดผ่านสนามหลวงเพื่อไปขึ้นรถเมล์กลับหอพักเกือบทุกวัน เรื่องราวที่แทบจะเป็นแบบฉบับและเหตุการณ์ซ้ำ ๆ ที่ได้พบเห็นจากผู้คนแห่งสนามหลวงวันแล้ววันเล่า ทำให้เกิดภาพประทับในใจโดยไม่รู้ตัว


เมื่อฉันได้รู้จักกับสนามหลวงมากขึ้น ฉันก็ได้พบว่าสถานที่แห่งนี้เปี่ยมไปด้วยสีสันและชีวิตชีวาอย่างแท้จริง ที่แห่งนี้มีเรื่องราวชีวิตของคนระดับล่างมากมาย แต่ละคน แต่ละชีวิตนั้นน่าจะปรากฏอยู่ในนิยายมากกว่าจะเป็นเรื่องจริง คนเหล่านี้ไม่ควรจะมีอยู่จริง!

ลูกผู้ชายหัวใจมีรัก : หัวใจที่ไม่เคยอิ่มเต็ม

21 October, 2009 - 00:00 -- nalaka

ลูกผู้ชายหัวใจมีรัก(Man and Wife)” คือนิยายอันละเมียดบรรจงของ Tony Parsons เป็นผลงานภาคต่อจาก “ลูก(ผู้)ชายหัวใจคุณพ่อ (Man and Boy)” ซึ่งเคยสร้างความเกรียวกราวในแวดวงนักอ่านได้มากพอสมควร(ผมเคยวิจารณ์ไว้แล้วที่ http://blogazine.prachatai.com/user/nalaka/post/1562 ) ฝีมือแปลโดย ภัสรี สิงหเดช

 

พ่อผมไม่เคยฆ่าใคร : เรื่องเล่าของเด็ก ตลกร้ายของผู้ใหญ่

16 September, 2009 - 00:00 -- nalaka

โดยทั่วไปแล้ว หนังสือของสำนักพิมพ์ “ผีเสื้อ” สามารถการันตีคุณภาพ(แต่ไม่การันตียอดขาย) ได้ในระดับหนึ่ง เรียกได้ว่าไม่มีคำว่าผิดหวังในแทบทุกเล่มเพราะว่าโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นวรรณกรรมแปล! “พ่อผมไม่เคยฆ่าใคร” ซึ่งเขียนโดย ฌ็อง-หลุยส์ ฟูร์นิเย่ร์ และแปลโดย วัลยา วิวัฒน์ศร ก็เช่นเดียวกัน