ขบวนการนกกางเขน

29 May, 2008 - 11:36 -- nalaka

เคยได้ยินชื่อ “ขบวนการนกกางเขน” มานานแล้ว แต่ไม่เคยรู้ว่าคืออะไร จนกระทั่งเห็นหนังสือชื่อเดียวกันนี้วางอยู่บนชั้นและลงมืออ่าน จึงได้รู้ว่า “ขบวนการนกกางเขน” เป็นวรรณกรรมเยาวชนต่างประเทศที่แปลโดย “แว่นแก้ว”

“ขบวนการนกกางเขน” เป็นทั้งชื่อหนังสือและชื่อเรียกของกลุ่มตัวละครเด็ก ๆ ในเรื่อง เด็ก ๆ ถูกวาดให้มีหลากหลายบุคลิก ตั้งขบวนการ รวมตัวกันหาเรื่องสนุก ๆ ทำ จนกระทั่งเข้าไปผจญภัยในห้องใต้ดินและนำไปสู่การค้นพบขุมทรัพย์ในที่สุด

ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้น่าจะอยู่ที่ผู้แปลมากกว่าผู้เขียน  สำหรับผู้เขียนชาวฝรั่งเศสคือ Madeleine Treherne  ตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ในภาคฝรั่งเศสว่า Rossignols en Cage ส่วนผู้แปลคือ “แว่นแก้ว”

คนที่เป็นคอวรรณกรรมเยาวชนคงจะรู้กันดีว่า “แว่นแก้ว” คือนามปากกาของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแปลหนังสือเล่มนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2521 ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “สตรีสารภาคพิเศษ”  วรรณกรรมแปลเล่มนี้กระทั่งถึงปี พ.ศ. 2549 ตีพิมพ์ซ้ำ 12 ครั้ง

แว่นแก้ว เขียนไว้คำนำผู้แปลเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ว่า “เมื่อเรียนอยู่คณะอักษรศาสตร์ปีที่ 1 แว่นแก้วได้เรียนหนังสือภาษาฝรั่งเศสเล่มหนึ่ง พวกเราทุกคนในชั้นชอบเรื่องนี้มาก เพราะอ่านแล้วคิดถึงตัวเอง บางทีก็เกิดจินตนาการว่าตัวเองเป็นบุคคลในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นหลุยส์ ริโก้ ฝาแฝด (ในชั้นของเรามีฝาแฝดด้วย) ริรี่ หรือนิโคลาส์ เจ้าชายน้อย เรารู้สึกประทับใจและรู้ซึ้งถึงความผูกพัน ความรักของเพื่อนต่อเพื่อน มิตรภาพนั้นเป็นความรู้สึกที่งดงาม เป็นสากล มิได้ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ ภาษาหรือแม้แต่วิถีชีวิตของแต่ละคน แว่นแก้วจึงได้พยายามถ่ายทอดชีวิต การผจญภัยของเด็กฝรั่งเศสกลุ่มนี้ให้ทุกคนสนุกสนานทั่วกันในเรื่อง “ขบวนการนกกางเขน””

“ขบวนการนกกางเขน” มีสถานที่นัดพบกันเป็นประจำ หลังจากเลิกเรียนแล้ว คือต้นไม้ใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำแซนแห่งนครปารีส โดยมีสัญญาณที่เป็นรหัสที่รู้กันเฉพาะภายในกลุ่มคือการผิวปาก 3 ครั้ง สั้น สั้น ยาว

น่าจะเป็นความตั้งใจของผู้เขียน ที่วางตัวให้เด็ก ๆ ในขบวนการนี้มีความหลากหลายในแง่บุคลิกและฐานะที่มา

“จองหลุยส์” หัวหน้าขบวนการมีแม่ที่มีอาชีพเป็น “แม่บ้าน” พ่อของเขาเสียชีวิตในสงครามอินโดจีนนานแล้ว เขามีเพื่อนรักคือ “ริโก” แต่แม่ของ “จองหลุยส์”  ไม่ค่อยชอบ “ริโก” นักเพราะแม่ของเขาบอกว่า  “พวกเด็กต่างชาติ บางทีก็สกปรก”

“ริโก” เป็นชาวเกาะซิซิลี ไม่เก่งภาษาฝรั่งเศส ดังนั้นจึงมีปัญหาการเรียนและทำการบ้านผิดอยู่บ่อย ๆ พ่อของเขามีอาชีพขายรูปปั้นที่ร้านกาแฟแถวท่าเรือ หากวันไหนขายดี พ่อก็จะพาริโกไปกินอาหารในร้านอิตาเลียน แต่โดยมากแล้วของกินมักจะมีแค่ขนมปังชิ้นหนึ่งกับมะเขือเทศอีกลูกหนึ่งเท่านั้น  ริโกและพ่ออาศัยอยู่ในห้องเล็กๆ โทรมๆ ปะปนกับชาวซิซิลีอื่นๆ อยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด เสื้อผ้าก็ขาดๆ ปะๆ และมักจะหิวโหยอยู่เสมอ ริโกมีมีดด้ามใหญ่ซ่อนอยู่ในเสื้อขาด ๆ พกติดตัวไปโรงเรียน และใช้มีดนี่แหละกรีดแขนของจองหลุยส์และกรีดแขนของตนเองแล้วปล่อยให้เลือดผสมกัน มองตากันครู่ใหญ่ ตั้งสัตย์สาบานว่าจะเป็นเพื่อนกันตลอดไป

มาริเต้และแบร์นาร์ด สองพี่น้อง ลูกของผู้จัดการโรงเรียน มีฐานะดีกว่าคนอื่น มีเสื้อผ้าดีๆ และพ่อมีรถยนต์ ที่บ้านมีหนังสือมากมาย คุณพ่อคอยตรวจการบ้านทุกวัน ทั้งคู่ถูกทำโทษบ่อย ๆ ไม่ค่อยได้เล่นเป็นอิสระ เวลาหนีมาเล่นกับพวกนกกางเขนก็ไม่กล้าจะอยู่นานเพราะคุณพ่อคุณแม่ยังไม่ทราบว่าลูกเล่นกับใคร

รีรี่ เด็กหญิงคนเดียวของนกกางเขน ตัวโต แก่นกะโหลกเหมือนเด็กผู้ชาย ปีนต้นไม้ได้เหมือนลิง  ฉลาดและมีความเป็นผู้นำ เธอมักจะแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้เสมอ แต่พ่อแม่มักจะทะเลาะกันอยู่บ่อย ๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับเธอ

เด็กฝาแฝด “ยอชกับมาร์แซล”   มีตาสีฟ้า จมูกรั้น ผมสีดำเหมือนกัน สร้างความปวดหัวให้คุณครูมากเพราะบางทีครูสับสนแยกไม่ออกว่าคนไหนคือ ยอช คนไหนคือมาร์แซล แต่นิสัยใจคอแตกต่างกันมาก ยอชเป็นคนเฉยๆ มาร์แซล เป็นเด็กซน ชอบกระโดดโลดเต้น ยอชเกลียดการกีฬา แต่มาร์แซล วิ่งแข่งได้ที่หนึ่งอยู่เสมอ

สมาชิกแห่งนกกางเขนที่เข้ามาสมทบหลังเพื่อนคือ เจ้าชายน้อยนิโกลาส์ เขาอาศัยอยู่กับปู่คือเจ้าชายติเตสโกแห่งโรมาเนีย เป็นเจ้าของตึกที่จองหลุยส์กับแม่พักอาศัยอยู่ เจ้าชายน้อยนิโกลาส์ไม่มีเพื่อนเล่น เขาต้องการเข้าร่วมเป็นหนึ่งในนกกางเขนและสามารถจดจำรหัสลับของขบวนการได้

เจ้าชายน้อยนิโกลาส์ แอบตามพวกนกกางเขนเข้าไปในห้องใต้ดินของตึก ความจริงใจของเขาทำให้เขาได้รับการยอมรับให้เข้ากลุ่ม  

ในห้องใต้ดิน เด็กๆ พบเจอสิ่งที่น่าสนใจมากมาย จินตนาการทำให้พวกเขาสนุกกันใหญ่ อย่างไรก็ตาม พวกเขากลับถูกขังอยู่ในนั้นโดยที่ไม่มีใครรู้  พวกเขาสนุกมากกว่าจะหวาดกลัว ได้เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา แต่พ่อแม่ตกอกตกใจตามหากันใหญ่

ในระหว่างที่ถูกขังอยู่ในห้องใต้ดินนั่นเองที่เด็กๆ ได้ออกสำรวจไปจนทั่วกระทั่งนำไปสู่การค้นพบหีบสมบัติซึ่งเป็นมรดกตกทอดของเจ้าชายติเตสโก

“ขบวนการนกกางเขน” หนังสืออ่านเล่นที่ใช้เวลาไม่นานก็อ่านจบ เหมาะกับเด็กๆ ที่จินตนาการกำลังเติบโต แต่หากผู้ใหญ่จะสนใจอ่านก็ไม่แปลกอะไร

หลานที่จากไป

26 March, 2010 - 00:00 -- nalaka

-1-

หลานเกิดปีเดียวกับที่ผมเดินทางออกจากบ้าน มุ่งหาประสบการณ์และไล่คว้าหาความหมายของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต  คืนวันของหลานที่เติบโตขึ้นด้วยความเอาใจใส่ของพ่อแม่คือจำนวนเวลาที่ผมจากบ้านเกิดเมืองนอน

เล็กน้อยอย่างที่เห็นแต่เป็นโลกทั้งใบ

14 March, 2010 - 00:00 -- nalaka

 

 
คงเป็นเพราะรูปเล่มงามตาน่าหยิบจับและเครดิตก่อนเข้าสู่เนื้อเรื่องที่บอกว่า
เล็กน้อยมากจนสามารถนั่งอ่านข้าง ๆ เตียง ยิ่งใหญ่มากจนสามารถเปลี่ยนชีวิตทั้งชีวิตเร้าความสนใจให้เปิดพลิกและลงมืออ่าน

สนามหลวงไม่เหมือนเก่า

1 March, 2010 - 00:00 -- nalaka

-1-

ฉันเดินตัดผ่านสนามหลวงเพื่อไปขึ้นรถเมล์กลับหอพักเกือบทุกวัน เรื่องราวที่แทบจะเป็นแบบฉบับและเหตุการณ์ซ้ำ ๆ ที่ได้พบเห็นจากผู้คนแห่งสนามหลวงวันแล้ววันเล่า ทำให้เกิดภาพประทับในใจโดยไม่รู้ตัว


เมื่อฉันได้รู้จักกับสนามหลวงมากขึ้น ฉันก็ได้พบว่าสถานที่แห่งนี้เปี่ยมไปด้วยสีสันและชีวิตชีวาอย่างแท้จริง ที่แห่งนี้มีเรื่องราวชีวิตของคนระดับล่างมากมาย แต่ละคน แต่ละชีวิตนั้นน่าจะปรากฏอยู่ในนิยายมากกว่าจะเป็นเรื่องจริง คนเหล่านี้ไม่ควรจะมีอยู่จริง!

ลูกผู้ชายหัวใจมีรัก : หัวใจที่ไม่เคยอิ่มเต็ม

21 October, 2009 - 00:00 -- nalaka

ลูกผู้ชายหัวใจมีรัก(Man and Wife)” คือนิยายอันละเมียดบรรจงของ Tony Parsons เป็นผลงานภาคต่อจาก “ลูก(ผู้)ชายหัวใจคุณพ่อ (Man and Boy)” ซึ่งเคยสร้างความเกรียวกราวในแวดวงนักอ่านได้มากพอสมควร(ผมเคยวิจารณ์ไว้แล้วที่ http://blogazine.prachatai.com/user/nalaka/post/1562 ) ฝีมือแปลโดย ภัสรี สิงหเดช

 

พ่อผมไม่เคยฆ่าใคร : เรื่องเล่าของเด็ก ตลกร้ายของผู้ใหญ่

16 September, 2009 - 00:00 -- nalaka

โดยทั่วไปแล้ว หนังสือของสำนักพิมพ์ “ผีเสื้อ” สามารถการันตีคุณภาพ(แต่ไม่การันตียอดขาย) ได้ในระดับหนึ่ง เรียกได้ว่าไม่มีคำว่าผิดหวังในแทบทุกเล่มเพราะว่าโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นวรรณกรรมแปล! “พ่อผมไม่เคยฆ่าใคร” ซึ่งเขียนโดย ฌ็อง-หลุยส์ ฟูร์นิเย่ร์ และแปลโดย วัลยา วิวัฒน์ศร ก็เช่นเดียวกัน