Skip to main content

 

 
เราเห็นด้วยกับการรับน้อง

ถ้าการรับน้องถูกจัดขึ้นด้วยความสมัครใจระหว่างคนรับและคนที่ถูกรับ

 

เราเห็นด้วยกับการรับน้อง

ถ้าการรับน้อง ส่งเสริมให้เราเข้าใจความหมายของประชาธิปไตยและเสรีภาพ

เปิดโอกาสให้เราแสดงความคิดเห็น ให้เราวิพากษ์วิจารณ์รุ่นพี่ได้

และให้เราเสนอแนะกิจกรรมในแบบที่เราต้องการได้

 

เราเห็นด้วยกับการรับน้อง

ถ้าการรับน้อง มีการพูดถึงคนด้อยโอกาสในสังคม

คนที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา

คนยากจนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม

และไม่ตัดขาด เราออกจากความเป็นไปของโลก

 

เราเห็นด้วยกับการรับน้อง

ถ้าการรับน้องมีการจัดกิจกรรมจิตอาสา

พาเราออกไปเก็บขยะที่ชายหาด พาเราไปเห็นความทุกข์ยากของชาวนาและกรรมกร

เพื่อเราจะได้รับรู้ว่างบประมาณในการจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้น

มาจากเงินภาษีของประชาชนเหล่านี้

 

 

เราเห็นด้วยกับการรับน้อง

ถ้าการรับน้อง ไม่มัวสอนว่าเรามีเลือดสีเดียวกัน

เพราะเราคิดว่า คำสอนเหล่านี้ไม่เป็นความจริง

เรามีสีประจำมหาวิทยาลัยสองสี  เรามีสีประจำคณะสองสี และเรามีสีประจำภาคิชาอีกสองสี

ตอนนี้เรามีเลือดรวมทั้งสิ้น 6 สีแล้ว เราจะสร้าง UNITY ได้อย่างไร

ในเมื่อเรามีเลือด 6 สี และถ้าหากเราจะมีเลือดสีเดียวกันจริง

ก็คงเป็นเลือด”สีแดง” ซึ่งมนุษย์ชาติทุกคนมีเลือด”สีแดง”ร่วมกันตั้งแต่เกิด

 

 

เราเห็นด้วยกับการรับน้อง

ถ้าการรับน้อง สอนให้เรายอมรับความหลากหลายทางความคิด

สอนให้เรายอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกัน

เราไม่จำเป็นต้องทำให้คนเหมือนกันทุกอย่าง

เราควรยอมรับว่าการไม่เหมือนกัน คือความงาม

 

เราเห็นด้วยกับการรับน้อง

ถ้าการรับน้อง มีการแนะนำให้เราขับขี่ยานพาหนะตามกฏจราจร

ใส่หมวกกันน็อค  

ให้รถในวนเวียนไปก่อน

เปิดไฟเลี้ยวก่อนเลี้ยวรถ ไม่ผ่าไฟแดง

และไม่ใช้ความเร็วเกินกำหนด

เพื่อความปลอดภัยของทั้งรุ่นน้องและรุ่นพี่

 

เราเห็นด้วยกับการรับน้อง

ถ้าการรับน้องอยู่บนพื้นฐานของความประหยัด

ถ้ารุ่นพี่ไม่เรียกเก็บเงินจากเรามากเกินไป

เพื่อเป็นค่าเสื้อคณะบ้าง ค่าเสื้อมหาลัยบ้าง

ค่าเสื้อเอกบ้าง

(ซึ่งแต่ละตัวรุ่นกำหนดราคาแพงกว่าความเป็นจริง)

ค่าชั้นปีบ้าง และค่าอื่นๆ

ก็ในเมื่อมหาวิทยาลัยก็มีงบประมาณให้อยู่แล้ว

 

เราเห็นด้วยกับการรับน้อง

ถ้าการรับน้องไม่มีการสั่งทำโทษเราด้วยการให้ลุกนั่ง วิดพื้น

เราเชื่อมั่นว่าคนอายุ 18 ปี ที่สามารถสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้นั้น

มีวุฒิภาวะ และมีวิจารณญาณมากพอ

ที่จะพูดจากันด้วยเหตุผลได้เข้าใจ

โดยที่รุ่นพี่(ระเบียบ/พี่ว๊าก)ไม่จำเป็นต้องขึ้นเสียง หรือ ตะคอกใส่

 

 

เราเห็นด้วยกับการรับน้อ

ถ้าการรับน้องไม่มีการประนามคนที่ไม่เข้าร่วม

ถ้าการรับน้องไม่มีการกดดันน้องที่ไม่มาด้วยการทำโทษคนที่มา

แล้วคนที่มาเขาจะไปมีกำลังใจมาได้อย่างไร

 

เราเห็นด้วยกับการรับน้อง

ถ้ารุ่นพี่ปี 2 สามารถทำให้รุ่นพี่ปี 4 แต่งตัวถูกระเบียบ

เหมือนที่สั่งให้(เรา)รุ่นน้องปี 1 แต่งตัวถูกระเบียบได้

เพราะเรารู้สึก ว่าเราถูกเลือกปฏิบัติ

 

เราเห็นด้วยกับการรับน้อง

ถ้าการรับน้องหมายถึงการรับเพื่อนใหม่

เราเป็นเพียงแค่คนที่โชคร้ายเกิดหลังเราเท่านั้น

ไม่ว่าจะเป็นระเบียบของมหาวิทยาลัยหรือรัฐธรรมนูญ

ก็ไม่ได้อนุญาตให้คนที่โชคดีเกิดก่อน

มีอภิสิทธิ์ที่จะแสดงพฤติกรรมหรือสั่งการต่อคนที่โชคร้ายเกิดหลัง

ดังนั้นการรับน้องจึงควรเป็นลักษณะการรับเพื่อนใหม่

ที่มีเป้าหมายเพื่อการแนะนำการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย

การร่ำเรียนเพื่อแสวงหาความฝันของตนเอง

การตอบแทนสังคมและส่วนรวม

และเป็นการร่ำเรียนเพื่อรับใช้ประชาชน

 

เราเห็นด้วยกับการรับน้อง

ถ้าการรับน้อง สามารถทำให้เราตั้งคำถามกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

และกล้าที่จะคัดค้านความไม่เป็นธรรมทั้งหลายในสังคม

 

เราเห็นด้วยกับการรับน้อง

ถ้ารุ่นพี่บอกว่า มหาลัยของเรา เป็นมหาลัยนอกระบบ หรือกำลังจะออกนอกระบบ

และบอกข้อดี ข้อเสียให้เรารู้ และให้เราตัดสินใจเอง

ว่าเราจะทำอย่างไรต่อไป.....

 

เราเห็นด้วยกับการรับน้อง

ถ้าการรับน้อง อนุญาตรุ่นเราคิดนอกกรอบ

 

เราเห็นด้วยกับการรับน้อง

ถ้าการรับน้อง ทำให้เรามีความรักมอบให้แก่เพื่อนมนุษย์เสมอ

 

เราเห็นด้วยกับการรับน้อง

ถ้าการรับน้อง สอนให้เรายกมือไหว้พี่รปภ.ที่คณะ

เคารพคุณป้าแม่บ้าน และคนสวนในมหาลัย

เหมือนที่รุ่นพี่บอกให้เรา เคารพรุ่นพี่ ครูอาจารณ์ และอธิการบดี

 

 

เราเห็นด้วยกับการรับน้อง

ถ้าการรับน้อง ไม่พยายามสร้างค่านิยมชิงดีชิงเด่นระหว่างคณะของเรากับคณะอื่นๆ

ไม่พยายามสร้างความภาคภูมิใจในมหาลัยของเรา

และดูถูกมหาลัยอื่นๆ จนหลงลืมความหมายที่แท้จริงของการศึกษา

 

 

และแน่นอน เราเห็นด้วยกับการรับน้อง

ถ้าการรับน้องคือการเห็นคุณค่าของคนทุกคนเท่าเทียมกัน

 

 

“เราเอง”

คนที่เคยถูกรับน้อง และเคยเป็นคนรับน้อง

 
 
ภาพถ่ายโดย : กันต์ แสงทอง
 
 

บล็อกของ แนนมาย

แนนมาย
1. นายสุเทพสำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2515 และสำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาโท M.A. Political Sciences จาก Middle Tennesse State University ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2518
แนนมาย
  ไม่ได้คัดค้านอย่างหัวชนฝาแต่สนับสนุนกิจกรรมรับน้องในมหาวิทยาลัยอย่างมีเงื่อนไข