ปิยณัฐ สร้อยคำ: ยาขมของผู้อพยพ คนพลัดถิ่น และรัฐชาติ: ชวนคิดผ่านบทเรียนยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง อาเซียนและไทย

เรื่องราวของการอพยพ การพลัดถิ่น มิใช่เรื่องใหม่และไม่ได้เกิดขึ้นในระดับโลก หรือภูมิภาคเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นประเด็นภายในที่ท้าทายรัฐบาลแต่ละประเทศ ที่แม้กระทั่งไทยต้องเผชิญเช่นกัน ด้วยแสงไฟที่ส่องกระทบถึงปัญหานี้มากขึ้น ได้รับการบอกเล่าส่งต่อผ่านสื่อต่างๆมากขึ้น ประเด็นเหล่านี้จึงกลายเป็นยาขม ทั้งสำหรับผู้อพยพ องค์กรระหว่างประเทศ​หรือแม้กระทั่งรัฐชาติ 

 

การประชุมวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูวส์ สหราชอาณาจักร (St Andrews Foreign Affairs Conference 2016) ซี่งจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2559 ภายใต้หัวข้อการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานและคนพลัดถิ่น (Migration and Displaced People) ได้ยกสถิติขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่ามีคนพลัดถิ่นทั่วโลกกว่า 60 ล้านคน เฉพาะในปี 2015 พบว่ามีผู้หนีภัยความขัดแย้ง การกดขี่และความยากจนอพยพเข้าสู่ยุโรปมากกว่า 5 แสนคน ผู้คนเหล่านี้หวังเพียงว่าจะได้รับสิทธิพื้นฐานในฐานะมุนษย์ มีอิสรภาพและความมั่นคง แต่ในขณะเดียวกันเจ้าบ้านเช่นยุโรปที่เปิดรับผู้อพยพ ต่างต้องเผชิญกับความขัดแย้งในเชิงแนวคิด หลักการ จริยธรรมและผลประโยชน์ ซี่งท้ายที่สุดอาจนำไปสู่สิ่งเรียกว่า ภัยพิบัติทางมนุษยธรรม (A humanitarian disaster) 

 

ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย ใครนิยาม? หาทางออกด้วย Resettlement หรือ Return? 

ดร.นาตาชา ซอนเดอรส์ (Dr. Natasha Saunders) อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เสนอทัศนะที่น่าสนใจโดยกล่าวว่า แท้ที่จริงการเคลื่อนย้ายหรือการอพยพที่เราเห็นในข่าว ถูกนิยาม ควบคุมและกำหนดโดยกรอบกฏหมายและการยอมรับของประชาคมนานาชาติผ่านปฏิญญาสากลและข้อตกลงต่างๆ ทั้งนี้ผู้อพยพ (Refugee) คือกลุ่มคนที่เดินทางออกนอกประเทศ เนื่องจากผลกระทบภายใน ทั้งทางศาสนา ชาติพันธุ์ สงคราม และความแตกต่างทางการเมือง กลุ่มคนเหล่านี้อาจถูกขับให้เคลื่อนย้ายโดยมิได้เต็มใจ หรือ อาจเรียกได้ว่าผู้ลี้ภัยทางการเมือง (Political Refugees) โดยในส่วนของสหภาพยุโรปนั้น ได้ถือเอาข้อตกลงดับลินเป็นมาตรวัดสำคัญในการนิยาม ตีตรา และประเมินผู้มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือในฐานะผู้อพยพ นอกจากนี้นาตาชายังมีการเคลื่อนย้ายของผู้คนด้วยแรงขับด้านเศรษฐกิจ (Economic Migrant) ซี่งถือเป็นความสมัครใจที่จะออกนอกประเทศเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าให้กับตนเอง 

 

นาตาชาได้ตั้งคำถามต่อว่า ใครคือผู้เปิดประตูการเข้าถึงโอกาสที่ดีกว่าให้กับผู้คนในยุคปัจจุบัน ตัวแสดงแรกสุดคงจะหนีไม่พ้นรัฐที่เป็นถิ่นกำเนิดของผู้อพยพ ซี่งต้องมีบทบาทสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับพลเมือง ตัวแสดงต่อมาคือองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะองค์การสหประชาชาติ อนี่งเมื่อเกิดการอพยพเกิดขึ้น รัฐชาติทั้งต้นทางและปลายทางต้องให้การปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่ผู้อพยพ อีกทั้งต้องยอมรับข้อตกลงพื้นฐานซี่งเป็นที่รับรู้ร่วมกันในระดับสากลว่าด้วยการไม่ส่ง (Return) ผู้อพยพไปสู่ประเทศที่มีแนวโน้มจะปฏิบัติรุนแรงต่อกลุ่มบุคคลดังกล่าว 

 

นาตาชาได้เสริมต่อว่า ในเชิงหลักการนั้น ผู้อพยพมีสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเองถึงถิ่นฐานที่พวกเขาต้องการไปพำนัก แต่ในเชิงปฏิบัติสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของรัฐในการอนุญาตให้มีการโยกย้ายเกิดขึ้น  สำหรับวิธีการจัดการกับปัญหาของผู้อพยพนั้น นาตาชาเชื่อว่า เดิมทีการตั้งถิ่นฐานใหม่ในที่อื่น (Resettlement) ถือเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพที่สุด แต่ในปัจจุบันแนวโน้มที่มีการพูดคุยกันมากที่สุดคือ นโยบายการคืนกลับสู่บ้านเกิด (Return)  หากสถานการณ์ภายในประเทศนันดีขึ้น

 

สหภาพยุโรปและวิกฤตซีเรีย 

ในกรณีของสหภาพยุโรปที่กำลังประสบปัญหาการทะลักเข้ามาของกลุ่มผู้อพยพจากวิกฤตซีเรียนั้น อีวา โฮเรโลวา (Eva Horelova) เจ้าหน้าที่ด้านนโยบายซีเรียแห่งสหภาพยุโรป ได้กล่าวว่าความรุนแรงภายในซีเรียนั้น มีความสลับซับซ้อนเป็นอย่างมากเนื่องจากซีเรียกลายเป็นพื้นที่สงครามกลางเมือง ซี่งผูกโยงกับการแข่งขันการเป็นมหาอำนาจในระดับภูมิภาคของอิหร่านและซาอุดิอาระเบีย เชื่อมโยงกับความขัดแย้งทางศาสนาและความรุนแรง ความแตกต่างในความเชื่อของนิกายซุนนีห์และซีอะห์ ปัญหาภายในท้องถิ่นโดยเฉพาะการเรียกร้องรัฐชาติกลุ่มชาติพันธุ์เคิร์ด (Kurd) ซี่งกระจายอยู่ในประเทศต่างๆของเอเชียตะวันตก ไม่นับรวมความตึงเครียดจากวิกฤติปาเลสไตน์และอิสราเอล ที่สำคัญที่สุดคือการเข้ามามีบทบาทภายในภูมิภาคของชาติมหาอำนาจทั้งรัสเซีย สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ฉะนั้นด้วยประเด็นที่หลากหลาย ตัวแสดงจำนวนมากที่เชื่อมโยงกับวิกฤตซีเรีย และคู่ตรงข้ามที่ไม่ชัดเจน ทำให้เป็นการยากที่จะพูดคุยเพื่อหาข้อยุติ 

 

นอกจากนี้อีวายังได้กล่าวถึงบทบาทของสื่อในวิกฤตผู้อพยพว่า แม้สื่อจะมีอิสระ ให้ข้อมูลที่หลากหลายแก่ประชาชน แต่ปรากฏการณ์บนสื่อเป็นเพียงกระแสในระยะสั้น อีกทั้งในหลายครั้งสื่อเองมีผลประโยชน์ทางการเมืองแอบแฝง ฉะนั้นบทบาทของสื่อจึงไม่มากนักในเชิงการกำหนดนโยบายของสหภาพยุโรป อนี่งในด้านการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมโดยสหภาพยุโรปนั้น เดิมทีคือการส่งความช่วยเหลือเข้าไปในซีเรียโดยตรง แต่ด้วยความยากลำบากในการเข้าถึง สหภาพยุโรปจึงสนับสนุนจอร์แดนและเลบานอน ซี่งมีพรมแดน ภาษาและวัฒนธรรมใกล้เคียงกันเป็นฐานสำคัญในการตั้งค่ายอพยพผู้ลี้ภัย โดยแลกกับสิทธิพิเศษและความช่วยเหลือบางประการ

 

จากสังคมพหุวัฒนธรรม สู่การหลอมรวมความเป็นบริทิช: อังกฤษและการรับมือผู้อพยพ

ดร.นิสสา ฟินนีย์ (Dr.Nissa Finney) รองศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์มนุษย์ (Human Geography) ได้นำเสนองานวิจัยเรื่องผู้อพยพในอังกฤษ นิสสาชี้ว่านับตั้งแต่ปี 1964-2014 การย้ายถิ่นฐานเข้ามายังสหราชอาณาจักรมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อพยพจากอินเดีย โปแลนด์ ปากีสถานและไอร์แลนด์ ซี่งโดยมากมักเชื่อมโยงจากผลพวงจากยุคอาณานิคม 

 

ชาวอังกฤษโดยมากมีทัศนคติว่าผู้อพยพเป็นภาระที่จะต้องแบ่งปัน (Burden Sharing) แม้พวกเขาจะสงสารและทราบว่ามีผู้เผชิญวิกฤตหลายล้านคนในต่างประเทศ และมีเพียงแค่ 4 เปอร์เซนต์เท่านั้นที่กลายมาเป็นผู้อพยพในต่างประเทศ แต่ชาวอังกฤษก็ห่วงตัวเองเช่นเดียวกัน  แนวคิดดังกล่าวนี้ส่งผลต่อการกำหนดกรอบนโยบายของรัฐ นอกจากนี้นิสสายังชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อผู้อพยพจากเดิมอยู่ในกรอบ ดี/ไม่ดี เหมาะสม/ไม่เหมาะสม ไปสู่การมองการอพยพ (Migration) ไปพร้อมกับ การเป็นส่วนหนี่งของสังคม (Belonging) และการก่อการร้าย (Terrorism) แต่อย่างไรก็ตามในยุคหลังเริ่มมีแนวคิดที่ผ่อนปรนต่อผู้อพยพมากขึ้น เช่นที่เมืองเชฟฟิลด์ เกิดขบวนการเคลื่อนไหวชื่อ 'City of Sanctuary Movement' ซี่งให้การตอบรับและดูแลผู้อพยพอย่างอบอุ่น หรือแม้กระทั่งนโยบายของนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ที่เน้นสร้างสังคมที่มีความสอดคล้องกัน (Build a more cohesion society) ซี่งเป็นการเปลี่ยนนโยบายการสร้างสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Multi-Cutural Policy Approach) ไปสู่การหลอมรวมให้ผู้อพยพมีจิตสำนึกต่อความเป็นบริทิช (Assimilation and Loyalty to the British)

 

สิ่งแวดล้อมมีผลต่อการพลัดถิ่นหรือไม่? 

นอกเหนือจากความรุนแรงทางการเมือง ดร.เดวิด แมคคัลลัน (Dr.David McCollun) อาจารย์จากภาควิชาภูมิศาสตร์มนุษย์ ยังได้อธิบายว่า การพลัดถิ่นของผู้คนเป็นผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมเช่นกัน การเคลื่อนย้ายของผู้คนเหล่านี้เกิดจากการเผชิญกับวิกฤตภัยธรรมชาติ จึงต้องย้ายถิ่นด้วยความสมัครใจ โดยมากมักเกิดขึ้นจากแรงขับทางเศรษฐกิจ 

 

การศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพลัดถิ่นเริ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปี 1980 พบว่าในปัจจุบันผู้คนกว่า 200 ล้านคนต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่น (Displaced People) เพราะปัญหาภัยแล้ง ผลกระทบจากพายุมรสุม รวมไปถึงวิกฤตน้ำทะเลสูงขึ้น เป็นต้น แม้ว่าการโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คนอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมจะมีมากยิ่งขึ้น แต่เดวิดตั้งข้อสังเกตว่าโดยมากมักเป็นการเคลื่อนย้ายในระยะใกล้เท่านั้น 

 

โฮบ นิโคลสัน (Hobe Nicholson) ผู้ร่วมนำเสนอ ได้ยกตัวอย่างการย้ายถิ่นในมาลาวี เพื่อสนับสนุนข้อเสนอของเดวิด โฮบได้เล่าถึงมาลาวี ประเทศในทวีปแอฟริกา ที่ในช่วงหนี่งด้วยภัยแล้งทำให้ประชาชนอพยพลงไปทางใต้มากขึ้นจนเกิดความหนาแน่น เกิดปัญหาขาดแคลนทรัพยากรผู้คนจึงย้ายกลับไปทางเหนือและตอนกลาง แต่ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมใหญ่ จึงมีแนวโน้มที่จะอพยพไปยังประเทศข้างเคียงเช่นโมซัมบิกเป็นต้น 

 

อย่างไรก็ตามด้วยการนิยามผู้อพยพลี้ภัยตามที่ได้กล่าวไปในช่วงแรกของบทความ ว่าครอบคลุมเพียงเฉพาะกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการกดขี่และความรุนแรงทางการเมือง ฉะนั้นจึงนำมาสู่คำถามที่ว่า และคนพลัดถิ่นที่เกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อม (Environmental Displaced People) จะได้รับความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง ก่อนที่จะสิ้นสุดการนำเสนอเดวิดได้ยกตัวอย่าง 2 ประเทศที่น่าสนใจ นั่นคือสวีเดนและฟินแลนด์ ที่เริ่มให้ความช่วยเหลือโดยรับคนพลัดถิ่นที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Displaced by Natural Disaster) 

 

ถอดบทเรียนไทย-อาเซียน 

เมื่อหันกลับมามองอาเซียน แม้ชาวซีเรียจะได้ไม่ได้โยกย้ายมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ผู้อพยพ (Refugee) และคนพลัดถิ่น (Displaced People) ซี่งเกิดจากความรุนแรงอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง ศาสนา และชาติพันธุ์ในภูมิภาค ก็มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง เช่น ค่ายอพยพโดยผู้ลี้ภัยชาติพันธุ์ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ หรือแม้กระทั่งกรณีโรฮิงยา ที่อาเซียนไม่แม้แต่จะจัดการได้อย่างเต็มกำลัง คงเหลือเพียงให้รัฐชาติประสานกันในระดับทวิ/ไตรภาคี เท่านั้นเอง

 

นอกจากนี้ ภายในแต่ละรัฐของอาเซียนเองก็ยังประสบปัญหาการพลัดถิ่นภายใน (Internal Displacement) อันเนื่องมาจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ดังงานวิจัยของรศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่เล่าถึงชาวลาวและปัญหาจากการสร้างเขื่อนเพื่อการผลิตไฟฟ้าซี่งส่งผลกระทบต่อลำน้ำสาขาในแม่น้ำโขง ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนไปเนื่องจากกระแสน้ำที่เปลี่ยนแปลง ผลคือพวกเขาต้องละทิ้งวัฒนธรรมแม่น้ำไปโดยอัตโนมัติ พร้อมทั้งถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานเข้าไปในพื้นที่แห้งแล้งและยากต่อการเพาะปลูก ทำให้ชาวบ้านบางส่วนเลือกที่จะอพยพออกจากพื้นที่ แสวงหาโอกาสในชีวิตด้วยการเป็นแรงงานในประเทศไทย 

 

นอกจากนี้ในกรณีประเทศไทยของเราเอง ยังเห็นการถูกบังคับให้พลัดถิ่นทั้งจากภาครัฐและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกรณีของข้อพิพาทระหว่างชาวเลและกลุ่มนายทุนว่าด้วยการนำพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชาวบ้านเพื่อเปลี่ยนเป็นโรงแรมและรีสอร์ท หรือแม้กระทั่งการให้กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงอพยพออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติ โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่อาศัยและที่ทำกินของผู้คนพื้นเมืองเหล่านี้มาช้านาน ฉะนั้นการถูกทำให้พลัดถิ่นภายในประเทศก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กัน 

 

ในช่วงพักรับประทานกาแฟนั้น ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับดร.เดวิด แมคคอลลัม เดวิดได้กล่าวว่า ผู้อพยพนั้นต่อมาได้กลายมาเป็นแรงงาน (Migrant Labour)  ชั้นดี มีทักษะ และราคาถูกของสหราชอาณาจักร แม้ชาวอังกฤษเองจะเลือกปฏิบัติและไม่ได้ไว้วางใจนัก แต่พวกเขาก็ขาดแรงงานเหล่านี้ไม่ได้ เพราะมีหลายอาชีพที่ชาวอังกฤษเองก็ไม่ได้ปรารถนาที่จะทำ ข้อนี้เองทำให้ผู้เขียนตระหนักว่า ไนประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน แม้แรงงานต่างด้าวจะไม่ได้รับการยอมรับโดยคนไทย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านล้วนมีบทบาทสำคัญในการพยุงภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรมและการบริการขั้นพื้นฐานของประเทศ ที่สำคัญอ้างถึงคุณสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) แรงงานเหล่านี้ อาจไม่ได้มุ่งหวังที่จะตั้งรกรากในแผ่นดินไทยเสียทั้งหมด แต่พวกเขาเป็นบุคคลที่กำลังเคลื่อนย้าย (People on the Move) ที่กำลังแสวงหาโอกาสที่ดีให้กับตนเอง อนี่งการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ อาจนำมาสู่การเคลื่อนย้ายของทรัพยากรมนุษย์ครั้งใหญ่ในภูมิภาค ซี่งกลายเป็นความท้าทายที่ทั้งตัวรัฐชาติและประชาคมระหว่างประเทศต้องรับมือ 

 

ภาวะข้ามชาติและความมั่นคงมนุษย์ กับความเป็นไปได้ที่มนุษยชาติจะต้องเผชิญ 

อนี่ง เมื่อมองผ่านกรอบการย้ายถิ่นฐาน คนพลัดถิ่น ผู้อพยพ และแรงงาน จะพบได้ว่าในปัจจุบันเรื่องทั้งหมดล้วนแล้วแต่ผูกโยงกัน บางเรื่องเกิดภายในประเทศ บางเรื่องเกิดขึ้นตามแนวพรมแดนระหว่างรัฐชาติ บางเหตุการณ์เชื่อมต่อสองภูมิภาค บ้างส่งผลกระทบไปยังทวีปอื่น หรือบางกรณีขยายไปในระดับโลก ซี่งอาจเกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งทางการเมืองและวัฒนธรรม การแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ หรือผลจากการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม การรับรู้และได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนี่งทำให้ประเด็นเหล่านี้กลายเป็นภาวะข้ามชาติ (Transnationalism) ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของความมั่นคงมนุษย์ (Human Security) ที่ในฐานะมนุษยชาติอาจจะต้องเผชิญยาขมเหล่านี้ ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไทย อาเซียน ตะวันออกกลาง แอฟริกา หรือยุโรปก็ตาม

อนี่งแม้จะเป็นยาขม แต่หากได้เรียนรู้และทำความเข้าใจไปพร้อมๆกัน ..... ความขมก็กลายเป็นยาชั้นดี ที่อาจช่วยสมานแผลจากวิกฤตเหล่านี้ก็เป็นไปได้ 

 

ปิยณัฐ สร้อยคำ: ก่อนสกอตแลนด์จะมีอธิปไตย (อีกครั้ง)

กระแสการแยกตัวเป็นเอกราชของสกอตแลนด์ออกจากสหราชอาณาจักร (United Kingdom) ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด การเรียกร้องดังกล่าวมีมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง จนนำไปสู่การลงประชามติในปี 2014 แม้ผลจะออกมาว่า ประชาชนร้อยละ 55 ยังคงเลือกที่จะอยู่รวมกับสหราชอาณาจักรต่อไป  แต่ที่เหลือกว่าร้อยละ 45 นั้นต้องการเอก

สัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายของนายและนางโอบามา (The Final Interview with the Obamas): ปิยณัฐ สร้อยคำ

ผมไม่ใช่คอการเมืองอเมริกา แต่ก็พอรู้ว่าประธานาธิบดีของประเทศนี้ชื่อบารัก โอบามา และแม้ผมไม่ได้ติดตามการเลือกตั้งอเมริกาอย่างใกล้ชิด แต่ก็พอรู้ว่าวาระ 2 สมัย ใน 8 ปีข

ปิยณัฐ สร้อยคำ: ว่าด้วย 'จัณฑาลร่วมสมัย'

ดาลิต หรือ จัณฑาลนั้น มิได้ถูกทำให้หยุดนิ่งในฐานะกลุ่มชนที่ถูกกดขี่ทางสังคมและไร้ซี่งพัฒนาการแต่เพียงภาพเดียวเท่านั้น แต่ภายใต้การคุ้มครองโดยรัฐ การยกระดับคุณภาพชีวิต และการเคลื่อนไหวเพื่อให้ได้สิทธิ์ของตนเอง ทำให้ดาลิตค่อยๆก้าวข้ามโชคชะตาที่ถูกเขียนไว้โดยบรรทัดฐานของสังคมผ่านการสร้างอัตลักษณ์และการตระหนักรู้ร่วม ฉะนั้นอนาคตของดาลิตย่อมเปลี่ยนแปลงและมีพลวัตที่น่าติดตามศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพื่ออย่างน้อยที่สุด กลุ่มคนที่ได้รับการกดขี่และละเมิดในสังคมต่างๆ รวมถึงประเทศไทย จะได้มีแรงเคลื่อนไหวเพื่อรักษาสิทธิ์ในความเป็นมนุษย์ของตนเอง

ปิยณัฐ สร้อยคำ: มีกระทรวงอะไรในกลุ่มประเทศอาเซียนบ้าง?

เราพูดคุยกันเป็นอย่างมากถึงการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียนในฐานะองค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาค แต่ในขั้นตอนการนำนโยบายมาปฏิบัติในแต่ละประเทศนั้น หน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับกระทรวง มีบทบาทสำคัญและเป็นตัวแสดงหลักในการประสานงานดังกล่าว นอกจากนี้การพิจารณาโครงสร้างของแต่ละรัฐผ่านการมีอยู่ของกระทรวงต่างๆนั้น ทำให้เห็นว่าบรรดาชาติสมาชิกอาเซียนให้ความสำคัญกับเรื่องใดบ้าง จนนำมาสู่การจัดแบ่งองค์กรบริหารราชการแผ่นดิน บทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์รัฐบาลกลางของแต่ละรัฐ นำมาสู่การจัดทำสังเขปหน่วยงานระดับกระทรวงของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้ข้อสรุปที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ปิยณัฐ สร้อยคำ: บทบาทของมหาวิทยาลัยในอินเดีย (ตอนที่ 1)

ผมไม่ค่อยแน่ใจเท่าใดนัก แต่ที่ผมทราบคือเมื่อผมเข้าไปเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยของอินเดีย ผมแทบจะไม่เห็นพิธีกรรมการรั