Skip to main content

                วันที่ 30 กันยายน 2013 เป็นวันครบรอบ 48 ปี ของเหตุการณ์วันที่ 30 กันยายน 1965 หรือ Gerakan September Tigapuluh หรือเรียกโดยย่อว่าเหตุการณ์เกสตาปู (Gestapu) คือเหตุการณ์ที่มีกองกำลังที่นำโดยพันโทอุนตุง (Untung) จากกองกำลังดีโปเนอกอรอ (Diponegoro) ได้จับตัวนายทหารชั้นผู้ใหญ่ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและลูกน้องรวมทั้งสิ้น 7 คนไป และได้ประกาศว่าต้องการจะทำการปฏิวัติโดยจะตั้งสภาปฏิวัติขึ้น โดยกองกำลังนี้มีฐานอยู่ที่ฐานทัพอากาศฮาลิม กูซูมา (Halim Kusuma) ต่อมาผู้ที่ถูกจับตัวไปทั้งหมดได้ถูกสังหารโดยศพถูกโยนทิ้งในบ่อน้ำร้าง ภายในบริเวณที่เรียกว่าลูบัง บัวยา (Lubang Buaya) ซึ่งเป็นเขตฐานทัพอากาศของอินโดนีเซีย หลังจากนั้นภายใต้การนำของพลตรีซูฮาร์โต กองกำลังสำรองช่วยรบ (Komando Strategis Cadangan Angkatan Darat) ได้เข้าควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ภายในวันรุ่งขึ้นนั้นเอง  โดยมีการระบุว่าพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (Partai Komunis Indonesia) หรือเรียกย่อๆ ว่า PKI เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการพยายามก่อการกบฏที่อุกอาจนี้

เหตุการณ์วันที่ 30 กันยายน 1965 จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายพลตรีซูฮาร์โตที่ทำรัฐประหารซ้อนได้สำเร็จ และเขายังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้มีอำนาจในการฟื้นฟูและดูแลความสงบเรียบร้อยแห่งชาติในขณะนั้น และได้มีการประกาศยุบ PKI และกระบวนการกวาดล้างสมาชิก PKI ได้เริ่มขึ้นอย่างบ้าคลั่ง เหตุการณ์เกสตาปูที่จบลงด้วยการใช้ความรุนแรงต่อสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียและผู้สนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการสังหาร การทรมาน การจับกุมคุมขัง ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการกวาดล้างดังกล่าวจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเท่าใดกันแน่ มีการคาดคะเนกันว่าอยู่ระหว่าง 500,000 จนถึง 2,000,000 คน) นับเป็นเหตุการณ์ที่ดำมืดที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองอินโดนีเซียร่วมสมัย และสิ่งที่รัฐบาลอินโดนีเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีซูฮาร์โตกระทำก็คือการสร้างความทรงจำให้แก่คนอินโดนีเซียว่าเหตุการณ์เกสตาปูนั้นเป็นการพยายามทำการรัฐประหารโดย PKI โดยการใช้งานเขียนทางประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือทั้งในรูปหนังสือประวัติศาสตร์, แบบเรียนประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังสร้างความทรงจำผ่านสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ตัวหนังสือ ได้แก่ภาพยนตร์ อนุสาวรีย์ วันสำคัญ และพิธีกรรมอีกด้วย

คำถามคือว่ามีพื้นที่ให้กับความทรงจำแบบอื่น ความทรงจำของผู้ที่ถูกสังหาร ถูกทรมาน ถูกจับกุมคุมขังบ้างหรือไม่? จากปี 1965 จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเวลาผ่านไปถึง 48 ปี แต่ก็ยังคงหลงเหลือผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ยังจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงปี 1965-1966 ได้ดี แต่ความทรงจำของผู้คนเหล่านี้เป็นความทรงจำที่ไม่สามารถบอกเล่าได้ ไม่สามารถถ่ายทอดได้ เป็นความทรงจำที่ต้องถูกเก็บงำเอาไว้ เนื่องจากว่าเป็นความทรงจำคนละชุดคนละแบบกับที่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองต้องการ                

“ความทรงจำ” กับ “ประวัติศาสตร์” ดูเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ออก ความทรงจำเป็นส่วนสำคัญในการเขียนประวัติศาสตร์หรืออดีตร่วมกันของคนในสังคม แต่ไม่ได้หมายความว่าอดีตทุกเรื่องที่ผู้คนในสังคมจดจำได้จะถูกนำมาเขียนเป็นประวัติศาสตร์ทั้งหมด อดีตที่จะยังดำรงอยู่หรือถูกจดจดได้ก็ต่อเมื่อมันมีประโยชน์ต่อปัจจุบันเท่านั้น[1] เฉกเช่นเดียวกับเหตุการณ์เกสตาปู ที่ความทรงจำแบบเดียวเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้มีพื้นที่ในประวัติศาสตร์

เมื่อยุคระเบียบใหม่สิ้นสุดลง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 1998 การถกเถียงถึงเหตุการณ์เกสตาปูเป็นไปอย่างเปิดเผยและกว้างขวาง ผู้ที่รอดชีวิตและผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากเหตุการณ์เกสตาปูเริ่มกล้าที่จะพูดถึงความทรงจำของตัวเองและเริ่มกล้าที่จะส่งเสียงที่ถูกบังคับให้ต้องเงียบมากว่าสามทศวรรษ

 

การพยายามต่อสู้แย่งชิงการอธิบาย/ตีความเหตุการณ์เกสตาปู

            เหตุการณ์เกสตาปูเป็นเหตุการณ์ที่ถูกแย่งชิงการอธิบายและตีความทั้งจากรัฐบาลในยุคระเบียบใหม่และนักวิชาการ (โดยเฉพาะภายนอกประเทศอินโดนีเซีย) มาตลอด ประวัติศาสตร์ฉบับทางการเช่นที่ปรากฏในแบบเรียนประวัติศาสตร์เป็นดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าประวัติศาสตร์ฉบับรัฐบาลนั้น PKI เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว และรัฐบาลได้ใช้วิธีการสร้างความทรงจำให้คนในอินโดนีเซียผ่านแบบเรียนประวัติศาสตร์ ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในการทำให้ประวัติศาสตร์ฉบับนี้ฝังรากลึกในความทรงจำของผู้คน เพราะคนอินโดนีเซียที่ผ่านการศึกษาในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาทุกคนต้องเคยผ่านแบบเรียนนี้มาแล้วทั้งสิ้น

            นอกจากนี้รัฐบาลซูฮาร์โตยังได้ให้นักประวัติศาสตร์คนสำคัญคือนูโกรโฮ (Nugroho) ร่วมกับคณะทำงานเรียบเรียงตำราประวัติศาสตร์เพื่อใช้เป็นหนังสืออ้างอิงทางประวัติศาสตร์อินโดนีเซียที่สมบูรณ์ที่สุดขึ้นมาหนึ่งชุด ชื่อว่า Sejarah Nasional Indonesia (ประวัติศาสตร์แห่งชาติอินโดนีเซีย) ประกอบด้วย 6 เล่ม ซึ่งเป็นตำราประวัติศาสตร์ที่อื้อฉาวมากในอินโดนีเซีย เนื่องจากในระหว่างการทำงานได้มีนักประวัติศาสตร์หลายคนถอนตัวออกจากโครงการนี้ เนื่องจากต้องการยึดมั่นในหลักการทางวิชาการมากกว่าทำตามความต้องการของผู้มีอำนาจทางการเมือง[2]  ในหนังสือประวัติศาสตร์ชุดนี้ก็ให้ข้อมูลว่า PKI เป็นผู้ก่อเหตุในขบวนการ 30 กันยายน 1965

            หนังสือที่ถือว่าเป็นผลงานเขียนชิ้นสำคัญของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตเรื่อง Soeharto: Pikiran, Ucapan, dan Tindakan Saya: Otobiografi, seperti dipaparkan kepada G. Dwipayana dan Ramadhan K.H. (ซูฮาร์โต: ความคิด, คำพูด, และการกระทำของฉัน: อัตตชีวประวัติที่อธิบายแก่ดวีปายานารามาดัน)[3] ก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพยายามสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับเหตุการณ์วันที่ 30 กันยายน 1965 หนังสือเล่มนี้ของซูฮาร์โตเป็นเหมือนบันทึกประจำวันของซูฮาร์โตเอง โดยจะเป็นการเล่าเรื่องเกี่ยวกับประวัติของซูฮาร์โต, เหตุการณ์ต่างๆ ที่เขาเข้าไปมีบทบาทและมีการแสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึกของเขาในเหตุการณ์นั้นๆ ด้วย เหตุการณ์ต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้รวมทั้งสิ้น 102 เรื่อง หัวข้อที่ 18 เป็นส่วนที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ขบวนการ 30 กันยายน 1965 โดยมีชื่อหัวเรื่องว่า Mengatasi “G.30.S./PKI” ซึ่งหมายความว่า “จัดการกับขบวนการ 30 กันยายน 1965/PKI ได้สำเร็จ” จะสังเกตได้ว่าซูฮาร์โตวางคำว่า PKI หลังคำว่าขบวนการ 30 กันยายน 1965 ในทุกครั้งที่เขียนถึง โดยมีความหมายว่า PKI เป็นผู้ก่อเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ถกเถียงกันในแบบเรียนประวัติศาสตร์หลักสูตรปี 2004 จนนำไปสู่การเพิกถอนแบบเรียนดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

            ซูฮาร์โตได้อธิบายว่า “อุนตุงผู้นำในขบวนการ 30 กันยายนนั้นเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและแนบแน่นกับ PKI และยิ่งไปกว่านั้นคือเป็นลูกศิษย์ของอาลีมิน (Alimin) ผู้นำ PKI[4] และการเคลื่อนไหวของอุนตุงแน่นอนว่าได้รับการหนุนหลังจาก PKI ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ขบวนการ 30 กันยายน 1965[5]” ซูฮาร์โตย้ำอยู่หลายครั้งในหนังสือเล่มนี้ว่าอุนตุงนั้นเป็นลูกศิษย์ของอาลีมิน และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ PKI มาก การอธิบายเหตุการณ์เกสตาปูของซูฮาร์โตเช่นนี้เป็นไปในแนวทางเดียวกับการเขียนประวัติศาสตร์ชาติที่เป็นทางการว่า PKI ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเหตุการณ์เกสตาปู และสร้างความชอบธรรมให้กับการกวาดล้าง PKI ด้วยความรุนแรงในตอนต้นของยุคระเบียบใหม่ ซูฮาร์โตอธิบายในตอนหนึ่งของหนังสือว่า “ขบวนการ 30 กันยายน 1965 ที่นำโดยอุนตุงไม่ใช่เป็นเพียงแค่ขบวนการที่ต้องการเผชิญหน้ากับกองทัพบกด้วยเหตุผลที่ว่าเพื่อปกป้องประธานาธิบดีซูการ์โนเท่านั้น แต่ขบวนการของอุนตุงนั้นมีจุดมุ่งหมายที่ไกลกว่านั้นคือ ตัองการยึดอำนาจรัฐด้วยวิธีการบังคับและรัฐประหาร”[6]

            นอกจากสร้างความทรงจำผ่านตัวอักษรในแบบเรียนและหนังสือประวัติศาสตร์แล้ว รัฐบาลอินโดนีเซียยังสร้างความทรงจำเรื่องเหตุการณ์เกสตาปูผ่านภาพเคลื่อนไหวด้วย โดยบริษัทภาพยนตร์แห่งชาติ (Perusahaan Film Nasional – PFN) ได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง Penghianatan G30S (การทรยศในเหตุการณ์ 30 กันยายน 1965) ขึ้นในปี 1981 โดยมี Arifin C. Noor เป็นผู้กำกับ[7] ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการโฆษณาชวนเชื่อว่า PKI เป็นผู้ทรยศที่อยู่เบื้องหลังขบวนการ 30 กันยายน 1965 คนอินโดนีเซียทุกคนที่ผ่านระบบการศึกษาภาคบังคับต้องเคยดูภาพยนตร์เรื่องนี้ เนื่องจากว่ารัฐบาลจะกำหนดให้นักเรียนทุกคนต้องไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยที่นักเรียนเป็นผู้เสียค่าชมเอง ทั้งนี้เพื่อให้เยาวชนของชาติได้รับทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 กันยายน1965 จากมุมมองที่เป็นทางการของรัฐบาล นอกจากนี้ทุกวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปียังมีการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลในช่วงเวลาหลังข่าวซึ่งเป็นช่วงที่มีผู้ชมมากที่สุดอีกด้วย

            แม้ว่าหลังจากสิ้นยุคระเบียบใหม่ จะได้มีการยกเลิกการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยได้มีการสร้างภาพยนตร์เรื่องใหม่ขึ้นมาแทนชื่อว่า Bukan Sekadar Kenangan (ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความทรงจำ) ในปี 1998 ก็ตาม แต่ทว่าน้ำเสียงต่อ PKI ก็ไม่ได้ต่างไปจากเดิมมากนัก เนื้อเรื่องของภาพยนตร์เล่าถึงชีวิตของหญิงสาวผู้หนึ่งที่งานแต่งงานของเธอต้องถูกล้มเลิกไปเนื่องจากว่าพ่อของเธอถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนคอมมิวนิสต์ ป้าของว่าที่เจ้าบ่าวของเธอเสียสติเนื่องจากว่าเห็นสามีของเธอถูกทรมานจนตายโดยพวกคอมมิวนิสต์ โครงเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้หยิบยกสองประเด็นที่อ่อนไหวมานำเสนอสองประเด็นได้แก่ประเด็นแรก กระแสต่อต้านคอมมิวนิสต์ของยุคซูฮาร์โตและการสังหารหมู่ในปี 1965 และประเด็นที่สองคือปัญหาเรื่องประสบการณ์ความทุกข์ระทมของเหยื่อของเหตุการณ์ความรุนแรง [8]

            เมื่อยุคระเบียบใหม่สิ้นสุดลง บรรยากาศเปิดกว้างทางการเมืองและกระแสเสรีประชาธิปไตยเบ่งบาน ทำให้หลายกลุ่มมีความหวังว่าประวัติศาสตร์ที่เคยถูกปิด บิดเบือน อำพรางมาตลอดกว่าสามทศวรรษ จะได้รับการชำระ หรือเปิดเผยข้อเท็จจริงที่ก่อนหน้านี้ เปิดเผยไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเหตุการณ์เกสตาปูที่ถูกผูกขาดการอธิบายโดยทางการมาตลอด 32 ปีในยุคระเบียบใหม่

            ความพยายามดังกล่าวที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ หลังการสิ้นสุดอำนาจของซูฮาร์โตมีการตีพิมพ์หนังสือฝ่ายซ้ายออกมาเผยแพร่จำนวนมาก ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นหนังสือต้องห้าม รวมถึงงานเขียนต้องห้ามของปรามูเดีย อนันตา ตูร์ด้วย และยังมีการตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับเกสตาปูออกมามากมายทั้งโดยนักวิชาการหรือนักเขียนสมัครเล่น ตัวอย่างเช่น

            ในวันที่ 4 ตุลาคม 2004 มีการเปิดตัวหนังสือประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์ 30 กันยายน 1965 โดยหนังสือมีชื่อว่า “Gerakan 30 Septermber 1965, Kesaksian Letkol Heru Atmodjo” แฮรู อัตโมโจ (Heru Atmodjo) ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ต้องการทำความจริงให้กระจ่าง เพราะคนส่วนใหญ่มองเหตุการณ์เกสตาปู/PKI แบบขาดๆ วิ่นๆ เป็นท่อนๆ  และการเขียนหนังสือเล่มนี้เกี่ยวพันกับทฤษฎีของ Coen Holtzappel ที่อ้างว่าแฮรู อัตโมโจเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์เกสตาปู ซึ่งมีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่ใช้ข้อมูลของ Coen Holtzappel ในการเขียนถึงเหตุการณ์เกสตาปู

            อัสฟี วาร์มัน อาดัมได้แสดงความเห็นว่าหนังสือเล่มนี้มีความน่าสนใจเพราะแฮรู เป็นผู้นำคนสำคัญคนหนึ่งที่ยังมีชีวิตอยู่  อัสฟี วาร์มันเป็นผู้ที่ผลักดันให้แฮรูเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลอินโดนีเซีย ผ่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ[9] ที่ได้ริเริ่มโครงการชำระประวัติศาสตร์และได้ร่างโครงการเพื่อวิจัยประวัติศาสตร์ปี 1965 ซึ่งมีศาสตราจารย์ ดร.เตาฟิก อับดุลละห์ (Taufik Abdulah) เป็นประธาน

            ข้อสรุปจากหนังสือเล่มนี้คือ แฮรูอ้างว่าเขาไม่เคยประชุมร่วมกับ PKI และไม่เคยรู้จักกับผู้นำ PKI แม้แต่คนเดียว ดังนั้นการพยายามสร้างทฤษฎีว่าเขามีส่วนร่วมในเหตุการณ์เกสตาปูเป็นการบิดเบือนอย่างยิ่ง นอกจากนี้อัสฟี วาร์มันยังเพิ่มเติมว่าเวอร์ชั่นการอธิบายเหตุการณ์เกสตาปู/PKI ที่ดีและครอบคลุมที่สุดคือการอธิบายของประธานาธิบดีซูการ์โนในสุนทรพจน์นาวักซารา (Pidato Nawaksara) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 1967 ที่สรุปว่า “เหตุการณ์ (เกสตาปู) นั้นเกิดจากการออกนอกลู่นอกทางของผู้นำ PKI, ความเก่งกาจของลัทธิอาณานิคมใหม่และมีบุคคลผู้ซึ่งอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์”[10]

            ส่วนงานวิชาการจากนักวิชาการต่างประเทศที่พยายามอธิบายเหตุการณ์เกสตาปูที่สำคัญและน่าสนใจได้แก่งานของเบนเนดิก แอนเดอร์สัน และรูธแม็คเวย์ เรื่อง A Preliminary Analysis of the October 1, 1965,Coup in Indonesia ดังที่ได้กล่าวถึงแล้วก่อนหน้านี้ และเพิ่งมีการแปลเป็นภาษาอินโดนีเซียและเผยแพร่ได้อย่างถูกกฎหมายหลังยุคระเบียบใหม่

            หนังสือเรื่อง Beginning to Remember: the Past in the Indonesian Present[11] ตีพิมพ์เมื่อปี 2005 มี Mary S. Zurbuchen เป็นบรรณาธิการ หนังสือเล่มนี้รวบรวมบทความจากนักวิชาการที่หลากหลายซึ่งเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่เคยดำมืดในประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย  มีบทความที่เกี่ยวกับเหตุการณ์เกสตาปูที่น่าสนใจคือเรื่อง “Lubang Buaya: Histories of Trauma and Sites of Memory” โดย Klaus H. Schreiner

           

ในปี 2006 ได้มีหนังสือที่เกี่ยวกับเหตุการณ์เกสตาปูออกมาเล่มหนึ่ง ซึ่งเป็นหนังสือที่ได้รับกระแสตอบรับอย่างยิ่งดีในหมู่นักวิชาการด้านอินโดนีเซียศึกษาและคนที่สนใจเกี่ยวกับเหตุการณ์เกสตาปู เนื่องจากว่าหนังสือเล่มนี้ได้ใช้หลักฐานชั้นต้นและเอกสารที่ไม่เคยมีใครใช้มาก่อน นั่นคืองานของ John Roosa เรื่อง Pretext for mass murder: the September 30th Movement and Suharto's Coup d’état in Indonesia และได้ถูกแปลเป็นภาษาอินโดนีเซียในชื่อว่า Dalih Pembunuhan Massal: Gerakan 30 September dan Kudeta Suharto[12]

ในคำนำของหนังสือเล่มนี้ Roosa ได้นำเสนอว่า[13]

สำหรับนักประวัติศาสตร์หรือผู้สนใจประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย ประวัติศาสตร์ที่เป็นปริศนามากที่สุดเรื่องหนึ่งคือเหตุการณ์เกสตาปู ความยากลำบากประการหนึ่งที่จะเข้าใจเหตุกาณ์เกสตาปูก็คือขบวนการดังกล่าวได้พ่ายแพ้ไปก่อนที่คนอินโดนีเซียจำนวนมากจะได้รับรู้ถึงการเกิดขึ้นของขบวนการเอง แม้ว่าเกสตาปูจะมีอายุสั้นอย่างยิ่ง แต่มีผลทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดอำนาจของประธานาธิบดีซูการ์โน พร้อมๆ กับการขึ้นอยู่อำนาจของซูฮาร์โต

ซูฮาร์โตใช้เหตุการณ์เกสตาปูเป็นข้ออ้างในการกัดเซาะความชอบธรรมของซูการ์โน พร้อมกับดันตัวเองขึ้นสู่เก้าอี้ประธานาธิบดี การช่วงชิงอำนาจโดยซูฮาร์โตอย่างเป็นขั้นเป็นตอนถูกกระทำภายใต้ความพยายามที่จะป้องกันการทำรัฐประหาร สำหรับประธานาธิบดีซูการ์โตเองนั้นเรียกความพยายามก่อรัฐประหารของขบวนการ 30 กันยายนว่าเป็น “ระลอกคลื่นเล็กๆ ท่ามกลางมหาสมุทรใหญ่ของการปฏิวัติ (แห่งชาติอินโดนีเซีย)” หมายความว่าเป็นเพียงเหตุการณ์เล็กๆ ที่สามารถจัดการได้ด้วยความสงบโดยที่ไม่ต้องกระทบกระเทือนโครงสร้างอำนาจ  สำหรับซูฮาร์โตนั้นเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหมือนสึนามิของความทรยศและความเลวร้ายที่เผยให้เห็นถึงความผิดพลาดอันใหญ่หลวงของรัฐบาลซูการ์โน

ซูฮาร์โตกล่าวหาว่า PKI อยู่เบื้องหลังเกสตาปู และได้เตรียมแผนการกวาดล้างต่อบรรดาผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคนั้นเป็นลำดับต่อไป ทหารของซูฮาร์โตจับกุมคนมากกว่าหนึ่งล้านห้าแสนคน ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเกสตาปู  ในเหตุการณ์การนองเลือดที่โหดร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในศตวรรษที่ 20 คนจำนวนกว่าแสนคนถูกสังหารโดยกองทัพบกและทหารบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พื้นที่ชวากลาง, ชวาตะวันออก และบากี (Baki) จากปลายปี 1965 ถึงกลางปี 1966

สำหรับวงการนักประวัติศาสตร์ เกสตาปูยังคงเป็นปริศนา ประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการเวอร์ชั่นของซูฮาร์โตที่บอกว่าเกสตาปูเป็นการพยายามทำการรัฐประหารโดย PKI ไม่เพียงพอที่จะชวนให้เชื่อเช่นนั้น เพราะว่ายากที่จะเชื่อว่าพรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นพลเรือนจู่ๆ จะสามารถนำปฏิบัติการทางทหารได้ จะเป็นไปได้อย่างไรที่คนธรรมดาจะสามารถสั่งการกองกำลังทหารให้ทำตามความประสงค์ของพวกตนได้? จะเป็นไปได้อย่างไรที่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งซึ่งมีการจัดตั้งองค์การอย่างดี และได้รับการยกย่องว่าเป็นพรรคที่มีวินัยสูง จะวางแผนปฏิบัติการแบบมือสมัครเล่นเช่นนั้น? ทำไมพรรคคอมมิวนิสต์ที่นำโดยหลักการปฏิบัติแบบเลนินต้องการสมรู้ร่วมคิดในการทำรัฐประการกับกองกำลังทหาร? ทำไมพรรคการเมืองที่กำลังเติบโตอย่างเข้มแข็งในเวทีการเมืองแบบเปิดเผยจึงเลือกยุทธวิธีแบบ konspirasi? ค่อนข้างจะไม่มีเหตุผลที่จะสนับสนุนให้เชื่อในทางนั้น

ในอีกด้านหนึ่ง ก็ยากที่จะเชื่อเช่นกันว่าเกสตาปู ดังเช่นที่แถลงในการกระจายเสียงทางวิทยุครั้งแรกว่าเป็นกลุ่มปฏิบัติการลับในกองทัพบก เพราะว่าจริงๆ แล้วก็มีผู้นำ PKI บางคนเข้าร่วมเป็นแกนนำในเกสตาปูอย่างชัดเจนร่วมกับผู้นำทหารบางคน ตั้งแต่วันแรกๆ ของเดือนตุลาคม 1965 ปัญหาว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้กลายเป็นข้อถกเถียงที่ไม่มีข้อยุติ  นายทหารชั้นสัญญาบัตรกระทำการเองอย่างที่แถลงหรือไม่, และหลังจากนั้นได้เชิญหรือล่อลวงบรรดาผู้นำ PKI ให้ช่วยเหลือพวกเขาใช่หรือไม่? หรือทว่า PKI นั่นเองที่ใช้นายทหารเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการดำเนินการตามแผนการของพวกเขาเฉกเช่นที่ซูฮาร์โตกล่าว? หรือว่ามี modus Vivendi ระหว่างบรรดานายทหารกับ PKI?

นอกจากนี้ยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างซูฮาร์โตกับเกสตาปู หลักฐานแม้จะไม่โดยตรงแต่ก็ให้ความรู้สึกว่าผู้วางแผนเกสตาปูอย่างน้อยที่สุดหวังว่าจะสนับสนุนซูฮาร์โต ได้แก่การที่พวกเขาไม่ระบุชื่อซูฮาร์โตในลิสต์รายชื่อนายพลที่จะถูกลักพาตัว และก็ไม่ได้วางกองกำลังไว้รอบๆ กองบัญชาการของซูฮาร์โต นายทหารสองคนในหมู่ผู้นำเกสตาปูเป็นเพื่อนรักของซูฮาร์โต หนึ่งในนั้นได้แก่พันเอกอับดุล ลาตีฟ (Abdul Latief) ได้ยอมรับว่าเขาแจ้งซูฮาร์โตเกี่ยวกับเกสตาปูก่อนหน้านั้น และซูฮาร์โตให้การสนับสนุนอย่างเงียบๆ 

จริงหรือไม่ที่ซูฮาร์โตได้รับการแจ้งข่าวก่อนหน้านั้น? ข้อมูลอะไรที่ถูกให้แก่ซูฮาร์โตเกี่ยวกับเกสตาปู, ซูฮาร์โตคิดอย่างไรต่อข้อมูลดังกล่าว? เขาสัญญาจะสนับสนุนหรือไปไกลกว่านั้นด้วยการช่วยวางแผนปฏิบัติการเกสตาปูหรือเปล่า? Apakah ia dengan licik menelikung G30S agar dapat naik ke tampuk kekuasaan? จนถึงปัจจุบันเอกสารหลักที่ขบวนการเกสตาปูทิ้งไว้มีเพียงแค่แถลงการณ์สี่ฉบับที่เผยแพร่กระจายเสียงผ่านสถานทีวิทยุแห่งชาติอินโดนีเซียในตอนเช้าและกลางวันของวันที่ 1 ตุลาคม 1965 เท่านั้น แถลงการณ์ดังกล่าวเปิดเผยโฉมหน้าขบวนการเกสตาปูต่อสาธารณะและแน่นอนว่าไม่ได้เอ่ยถึงการจัดตั้งขบวนการและจุดมุ่งหมายของขบวนการ

 

ข้อเสนอที่น่าสนใจของ Roosa ซึ่งแตกต่างจากการอธิบายเหตุการณ์เกสตาปูที่มีมาก่อนหน้านี้ทั้งหมดคือว่า การพูดถึงบทบาทของชัมหัวหน้าหน่วยงานพิเศษของ PKI  จุดอ่อนหลักของเกสตาปูคือการขาดผู้นำหลัก ขบวนการมีผู้นำสองกลุ่ม ได้แก่กลุ่มทหาร ซึ่งนำโดยอุนตุง, ลาตีฟ และซูโจโน ในขณะที่อีกกลุ่มที่นำโดยหน่วยปฏิบัติราชการลับของ PKI นำโดยชัม, โปโน โดยมีไอดิตอยู่เบื้องหลัง ชัมเล่นบทตรงกลางเพราะเขาเป็นผู้ประสานระหว่างสองกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อความพยายามนี้นอกจากจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีซูการ์โนแล้ว ยังถูกขอร้องให้ยุติอีกด้วย จึงเกิดความสับสนขึ้น ทั้งสองกลุ่มนี้จึงแตกแยก กลุ่มทหารต้องการเชื่อฟังประธานาธิบดี ในขณะที่ฝ่ายหน่วยปฏิบัติราชการลับของ PKI ต้องการดำเนินการตามแผนต่อไป นี่จึงเป็นการอธิบายว่าทำไมแถลงการณ์ฉบับแรก, ฉบับที่สองและฉบับที่สามถึงเว้นช่วงเวลาถึงห้าชั่วโมง ในตอนเช้าพวกเขาแถลงว่าประธานาธิบดีอยู่ในความปลอดภัย  แถลงการณ์ฉบับที่สองในตอนเที่ยงมีเนื้อหาที่เปลี่ยนเป็นรุนแรงขึ้น นั่นคือการตั้งสภาปฏิวัติและประกาศยุบคณะรัฐมนตรี (แห่งชาติ)

เอกสารของซูปาร์โจกล่าวว่าทำไมขบวนการเกสตาปูนั้นถึงล้มเหลว ความสับสนระหว่าง “การอารักขาประธานาธิบดีซูการ์โน” กับ “การพยายามทำรัฐประหาร” ซึ่งถูกอธิบายอย่างชัดเจนด้วยการประกาศยุบคณะคณะรัฐมนตรี   เป็นเวลานานก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์นองเลือดนั้น อเมริกาได้อภิปรายเกี่ยวกับมาตรการทั้งหมดที่จำเป็นจะต้องกระทำเพื่อผลักดันให้ PKI ลงมือก่อน เพื่อว่าจะได้ถูกตอบโต้จากกองทัพบก และไอดิตก็ติดกับ  ซูฮาร์โตนั้นรู้ล่วงหน้าว่าเหตุการณ์จะเกิด ทำให้ซูฮาร์โตเป็นผู้ที่พร้อมที่สุดในวันที่ 1 ตุลาคม 1965 ในขณะที่คนอื่นๆ ยังคงสับสน นอกจากนั้นชื่อของซูฮาร์โตเองไม่ได้ถูกลิสต์ในรายชื่อของนายทหารที่จะถูกลักพาตัว

ในหนังสือของ Roosa กล่าวว่าเหตุการณ์เกสตาปูน่าจะถูกเรียกว่า “การเคลื่อนไหว” มากกว่าจะเป็น “ขบวนการ” เนื่องจากว่าเหตุการณ์นี้เป็นเพียงการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งในจาการ์ตาและชวากลางที่ถูกปราบปรามลงในเวลาเพียงหนึ่งถึงสองวัน อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวนี้ซึ่งเป็นเหตุให้มีการเสียชีวิตของหกนายพล ได้ถูกซูฮาร์โตและพวกพ้องนำไปใช้เป็นข้ออ้างในการกำจัด PKI จนถึงรากถึงโคน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุให้เกิดการสังหารหมู่ที่มีผู้ตกเป็นเหยื่อมากกว่าครึ่งล้านคนเป็นอย่างน้อย

หากว่าบรรรดานายพลที่ถูกลักพาตัวไปนั้นไม่เสียชีวิต บางทีหน้าประวัติศาสตร์อินโดนีเซียอาจจะเปลี่ยนไป มวลชน PKI อาจจะออกไปชุมนุมที่ถนนเรียกร้องให้ปลดบรรดานายพลเหล่านั้น ประธานาธิบดีจะถูกบีบให้ต้องมอบตำแหน่งรัฐมนตรีให้แก่กลุ่มฝ่ายซ้าย เพราะว่าจนถึงปี 1965 ประธานาธิบดีซูการ์โนไม่เคยมอบหมายให้ผู้นำคอมมิวนิสต์เป็นรัฐมนตรีเลย

คำอธิบายเหตุการณ์เกสตาปูของ Roosa ได้รื้อสร้างคำอธิบายแบบเก่าและสร้างคำอธิบายแบบใหม่ขึ้นมาด้วยการใช้เอกสารชั้นต้นซึ่งเป็นของหน่วยปฏิบัติราชการลับของ PKI  ซึ่งเป็นข้อมูลใหม่, ระเบียบวิธีแบบใหม่ และมุมมองแบบใหม่ ด้วยการอธิบายว่าเกสตาปูเป็นการเคลื่อนไหวไม่ใช่ขบวนการที่มีการวางแผนอย่าดีหรือการดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

PKI หลังยุคระเบียบใหม่

                แม้ยุคระเบียบใหม่ภายใต้การนำของซูฮาร์โตจะสิ้นสุดลงไปแล้ว และได้เกิดสงครามประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบโต้การผูกขาดการเขียนประวัติศาสตร์ที่นำโดยรัฐมาตลอดระยะเวลาสามทศวรรษ แต่อย่างไรก็ตาม สถานภาพของ PKI ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเท่าใดนัก แม้ว่ามีความพยายามที่จะพูดถึงการกระทำต่อ PKI อย่างโหดเหี้ยมอันเนื่องมาจากเหตุการณ์วันที่ 30 กันยายน 1965 อย่างเปิดเผยได้เป็นครั้งแรก รวมไปถึงมีการตั้งคำถามว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าวกันแน่ แต่ภาพลักษณ์ของ PKI ในฐานะปิศาจร้ายก็ยากที่จะสลัดออกจากจินตนาการของคนอินโดนีเซียได้              

            การเคลื่อนไหวในหน่วยงานของส่วนราชการที่น่าสนใจ คือในวันที่ 12 เมษายน 2001 นายพอล เปอร์มาดี (Paul Permadi), รองผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติอินโดนีเซียฝ่ายพัฒนาเอกสารหอสมุดและบริการสารสนเทศได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า หอสมุดแห่งชาติได้ทำการรวบรวมหนังสือ, หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์หรือที่มักจะถูกเรียกว่าฝ่ายซ้ายที่เคยถูกห้ามเผยแพร่ในสมัยระเบียบใหม่ โดยมีการจัดเป็นห้องพิเศษเฉพาะหนังสือฝ่ายซ้ายขึ้น หนังสือฝ่ายซ้ายที่ถูกรวบรวม อาทิเช่น ผลงานของคาร์ล มาร์กซ, นิยายและงานเขียนของปรามูเดีย อนันตา ตูร์ ทั้งก่อนถูกจับและขณะที่ถูกจำคุกที่เกาะบูรู และหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารที่พิมพ์โดย PKI ก่อนหน้าปี 1965[14]  อย่างไรก็ตามห้องพิเศษสำหรับหนังสือหรือเอกสารฝ่ายซ้ายนี้ไม่ใช่ของใหม่ ก่อนหน้านี้ห้องดังกล่าวเป็นที่เก็บรวบรวมหนังสือและเอกสารที่ทางอัยการสูงสุดและหน่วยราชการลับตัดสินว่าต้องห้าม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์ สังคมนิยม หรืองานเขียนของนักเขียนอย่างเช่นปรามูเดีย เป็นต้น หนังสือและเอกสารจะถูกส่งมาเก็บไว้ที่ห้องดังกล่าว โดยจะไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปเข้าใช้ได้ จากคำสั่งของอัยการสูงสุดที่ระบุชัดเจนว่าห้ามการอ่านและเข้าถึงหนังสือและเอกสารดังกล่าว

            บทความเรื่อง “The Battle for History After Suharto” ของ Gerry van Klinken ในหนังสือ Mary S. Zurbuchen (ed.), Beginning to Remember: the Past in the Indonesian Present [15] ได้อภิปรายปรากฏการณ์สงครามการเขียนประวัติศาสตร์หลังยุคซูฮาร์โตไว้อย่างน่าสนใจ ว่าได้เกิดงานเขียนประวัติศาสตร์ที่แตกต่าง ท้าทายและขัดแย้งกับงานประวัติศาสตร์ที่เป็นทางการสมัยซูฮาร์โต หนึ่งในประวัติศาสตร์ที่มีการโต้แย้งกันมากที่สุดเรื่องหนึ่งในสังคมอินโดนีเซียหลังยุคซูฮาร์โต คือประวัติศาสตร์ว่าด้วย PKI โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องบทบาทของ PKI ในเหตุการณ์เกสตาปู นอกเหนือจากบทความชิ้นนี้แล้วบทความอื่นๆ ในหนังสือเล่มนี้ก็น่าสนใจไม่แพ้กันในการเขียนประวัติศาสตร์อินโดนีเซียแบบใหม่ อธิบายเหตุการณ์ที่ถูกจงใจให้จำและให้ลืมในประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย

            นอกจากความเคลื่อนไหวในแวดวงนักวิชาการประวัติศาสตร์ที่คึกคักในการออกมาโต้เถียงในประเด็นที่ยังคงเป็นปัญหาในประวัติศาสตร์แล้ว ความเคลื่อนไหวในวงการสื่อและตลาดหนังสือก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจไม่แพ้กัน มีการตีพิมพ์หนังสือที่เคยเป็นหนังสือต้องห้ามในสมัยซูฮาร์โตออกมามากมาย อาทิเช่น งานของปรามูเดีย อนันตา ตูร์, งานเกี่ยวกับ PKI ตลอดจนงานเกี่ยวกับแนวคิดและทฤษฎีของคาร์ล มาร์กซ์ เป็นต้น ส่งผลให้คนทั่วๆ ไปสามารถเข้าถึงงานแบบนี้ได้ไม่ยากนักผ่านหนังสือพิมพ์หรือหนังสือที่สามารถซื้อหาได้ตามท้องตลาดทั่วไป

งานฝ่ายซ้ายเริ่มถูกตีพิมพ์ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 โดยในปี 1989 ได้มีตั้งสำนักพิมพ์ Teplok Press Publishing พิมพ์ Das Kapital (Capital) และเมื่อสิ้นยุคระเบียบใหม่ได้มีการตีพิมพ์หนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ เช่น งานของเหมาเจ๋อตุง, เช กูวารา, ตัน มะละกา และงานเขียนของปรามูเดีย อนันตา ตรู เป็นต้น ซึ่งงานทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นงานเขียนต้องห้ามในสมัยซูฮาร์โต นอกจากนี้ยังมีการออกวารสารแนวซ้ายๆ เช่น Majalah Kerja Budaya, Majalah Kiri, Majalah Kritik เป็นต้น

            อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีงานเขียนทางประวัติศาสตร์ที่ออกมาโต้แย้งประวัติศาสตร์กระแสหลัก แต่ความทรงจำหรือสถานภาพของ PKI ก็ไม่ได้ดีขึ้นเท่าใดนักในความรู้สึกของคนอินโดนีเซียส่วนใหญ่ เป็นเวลากว่าสามทศวรรษที่ PKI ถูกสร้างภาพว่าเป็นผู้ก่อการร้ายทรยศหักหลังประเทศชาติ ผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบบเรียน, หนังสือประวัติศาสตร์, อนุสาวรีย์, การจัดงานรำลึกครบรอบวันสำคัญต่างๆ เป็นต้น นอกจากนั้นการรื้อฟื้นเรื่อง PKI หนีไม่พ้นที่จะต้องกล่าวถึงการสังหารสมาชิก PKI อย่างโหดเหี้ยมและไร้เหตุผล ที่ผู้ร่วมกระทำการนั้นไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐเพียงกลุ่มเดียว ซึ่งนี่อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเขียนประวัติศาสตร์ PKI แบบใหม่ที่ไม่เหมือนกับฉบับทางการสมัยซูฮาร์โตได้รับการต่อต้านอย่างมากจากกลุ่มต่างๆ

กลุ่มที่มีบทบาทมากๆ คือกลุ่มทหารที่ยังคงมีอำนาจเพียงพอที่จะปราบปรามงานเขียนประวัติศาสตร์ที่ไม่สอดคล้องหรือเป็นปฏิปักษ์กับผลประโยชน์ของกองทัพ เมื่อซูบันดรีโอ (Subandrio) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสมัยซูการ์โนซึ่งถูกจำคุกโดยซูฮาร์โตเป็นเวลา 30 ปีได้เขียนบันทึกส่วนตัวเพื่อจะตีพิมพ์เผยแพร่เรื่องราวจากความทรงจำของเขา ปรากฏว่าทางสำนักพิมพ์ได้ตัดสินใจยกเลิกโครงการนี้และทำลายหนังสือกว่า 10,000 เล่มที่พิมพ์เสร็จพร้อมจะทำการเปิดตัวในปลายปี 2000[16]

            ต่อมาราวเดือนพฤษภาคม 2001 มีกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์เผาทำลายหนังสือ “ฝ่ายซ้าย” จำนวนมาก ส่งผลให้ร้านหนังสือชั้นนำหลายแห่งต้องเอาหนังสือของปรามูเดีย อนันตา ตูร์ออกจากชั้นวางขาย และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การออกคำสั่งเพิกถอนแบบเรียนประวัติศาสตร์หลักสูตร 2004 ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

 

โรคกลัวคอมมิวนิสต์

การสร้างภาพและความทรงจำเกี่ยวกับขบวนการและพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียภายใต้การนำของซูฮาร์โตในยุคระเบียบใหม่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการทำให้สังคมอินโดนีเซียเป็นสังคมที่หวาดกลัวและเกลียดชังคอมมิวนิสต์ ประจักษ์พยานที่ชัดเจนที่สุดก็คือการแบนแบบเรียนประวัติศาสตร์ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

หลังการสิ้นสุดของยุคระเบียบใหม่ นิตยสาร Tempo ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในเมืองใหญ่ๆ จำนวน 1,000 คน โดย 57 % ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าไม่ควรมีการสอนเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์ในโรงเรียน, ประมาณ 60 % ไม่เห็นด้วยกับการพิมพ์เผยแพร่หนังสือที่เกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศอินโดนีเซีย, 97 % ตอบว่าการรับรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์เกสตาปูมาจากการสอนของครูอาจารย์และแบบเรียน และมากกว่า 80 % เห็นว่าภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับเหตุการณ์เกสตาปูที่ผลิตภายใต้ยุคระเบียบใหม่เป็นเรื่องจริง[17]

วันที่ 13 มีนาคม 2000 ประธานาธิบดีอับดูรระห์มันวาฮิดได้ออกมากล่าวขอโทษผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ถูกสังหาร ทรมาณ และจับกุมในเหตุการณ์ต่อต้านและสังหารคอมมิวนิสต์ในปี 1965  และได้เสนอว่าควรจะมีการนำเรื่องกฏหมายห้ามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์รวมถึงการห้ามเผยแพร่แนวคิดมาร์กซิส-เลนินนิสต์ขึ้นมาพิจารณากันใหม่ ปรากฏว่าก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านการกล่าวขอโทษของวาฮิดอย่างดุเดือดจากผู้นำศาสนาและผู้นำทางการเมืองของกลุ่มมุสลิม และนักวิชาการสภาอิสลามแห่งชาติก็ออกแถลงการณ์ที่มีเนื้อหาทำนองเดียวกับผู้นำศาสนาอิสลาม ต่อมาราวต้นเดือนเมษายน 2000 ได้มีกลุ่มมุสลิมนับพันคนออกมาชุมนุมประท้วงวาฮิดและทำการเผาธงและสัญลักษณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย[18]  และแม้แต่กลุ่มสมาชิก NU ซึ่งเป็นฐานเสียงของวาฮิดเองก็ไม่ได้สนับสนุนเขาในประเด็นนี้

ความรู้สึกเกลียดกลัวชิงชังคอมมิวนิสต์ได้ยกระดับอีกขั้น โดยกลุ่มที่ใช้ชื่อว่าพันธมิตรต่อต้านคอมมิวนิสต์ (Aliansi Anti Komunis-AAK) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันขององค์กรที่เป็นทางการ 33 แห่ง ได้ทำการบุกยึดหนังสือที่ออกแนวซ้ายๆ ตามร้านหนังสือใหญ่ๆ กลางเมือง และมีการเผาหนังสือซ้ายๆ นั้นจำนวนมาก และแม้ว่าวาฮิดจะออกมาประณามและตำรวจได้ออกมาขู่ว่าจะจัดการกับผู้ที่กระทำการดังกล่าวก็มิได้ทำให้กลุ่มพันธมิตรต่อต้านคอมมิวนิสต์เปลี่ยนท่าทีต่อการกระทำของกลุ่มตนแต่อย่างใด

จากกรณีเผาหนังสือฝ่ายซ้าย  นิตยสาร Tempo จึงได้ทำแบบสอบถามประชาชนเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งผลการสำรวจพบว่าสำหรับประชาชนทั่วๆ ไป คำว่า “หนังสือฝ่ายซ้าย” ไม่ใช่ของแปลกใหม่ไม่คุ้นหู แม้ว่าจะมีน้อยรายที่เป็นเจ้าของหนังสือฝ่ายซ้าย แต่อย่างไรก็ตามผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากกล่าวว่าพวกเขาเคยอ่านหนังสือฝ่ายซ้ายจากห้องสมุดและร้านหนังสือต่างๆ และเห็นว่าการเผาหนังสือฝ่ายซ้ายนั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากความกลัวเกรงว่าแนวคิดคอมมิวนิสต์กำลังจะฟื้นคืนชีพขึ้นมา จากการที่มีการก่อตั้งพรรค Partai Rakyat Demokratik  (PRD) โดยอดีตกลุ่มนักศึกษาหัวก้าวหน้าที่ประกาศเจตนารมย์อย่างชัดเจนว่าพรรค PRD ชูแนวคิดสังคมนิยม[19]

พรรค PRD ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 1996 ณ สำนักงาน LBHJ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ท้าทายระบอบซูฮาร์โตอย่างยิ่ง เนื่องจากว่าขณะนั้นยังมีกฎหมายห้ามก่อตั้งพรรคการเมืองโดยปราศจากการอนุญาตโดยรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลให้แก่คนที่ถูกถือว่าเป็นศัตรูของระบอบซูฮาร์โต นั่นคือปรามูเดีย อนันตา ตูร์ และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Tempo หลังจากนั้นในวันที่ 9 สิงหาคม 1996 รัฐบาลตั้งข้อหาว่าพรรค PRD มีการกระทำอันเป็นกบฎ และบูดีมัน ซูจัตมีโก (Budiman Sujatmiko) ถูกจับและถูกตัดสินจำคุก 13 ปี การปราบปรามการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายของระบอบระเบียบใหม่นี้ถือว่าเป็นความผิดพลาด เพราะทำให้แนวคิดของพวกฝ่ายซ้ายพัฒนาในทางอื่นนอกจากเป็นแนวคิดทางการเมือง กลายเป็นเครื่องหมายของความกล้าหาญท่ามกลางคนหนุ่มคนสาว อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1999 พรรค PRD ได้รับเลือกตั้งในจำนวนที่น้อยมากคือได้ 78,730 คะแนน[20] ซึ่งส่งผลให้ไม่ได้แม้แต่ที่นั่งเดียวในสภา

ปฏิกิริยาของกลุ่มพันธมิตรต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่ทำการบุกยึดและเผาหนังสือฝ่ายซ้ายอย่างอุกอาจนั้นเป็นผลจากการที่รัฐบาลสมัยซูฮาร์โตทำการโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อต่างๆ, แบบเรียนและหนังสือประวัติศาสตร์ ตลอดจนการสร้างความทรงจำผ่านอนุสาวรีย์และวันสำคัญต่างๆ มาเป็นระยะเวลากว่าสามทศวรรษว่าคอมมิวนิสต์เป็นภัยอันร้ายแรงยิ่งที่คุกคามต่อความสงบเรียบร้อยของชาติ และแม้ว่ายุคระเบียบใหม่จะสิ้นสลายไปแล้ว แต่ผลของการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องคอมมิวนิสต์ยังดำรงอยู่และฝังรากลึกในสังคมอินโดนีเซีย และเมื่อประสบกับภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจและการเมือง โรคกลัวคอมมิวนิสต์ก็ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง

 

สรุป

            แม้ว่ายุคระเบียบจะพังทลายลงไปพร้อมกับการสิ้นอำนาจของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต ซึ่งทำให้กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ คาดหวังว่าจะเป็นรุ่งอรุณของการปลดแอกจากการกดขี่ ควบคุม เซ็นเซอร์และปราบปรามในทุกๆ ด้านของชีวิตสังคมและการเมือง แต่ทว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นกลับไม่ได้เป็นประจักษ์พยานของความสำเร็จที่จะทำภารกิจนั้น แม้ว่าหลังยุคระเบียบใหม่จะมีการเปล่งเสียงของบรรดาผู้คนที่ถูกบังคับให้ต้องเงียบมากว่า 3 ทศวรรษ นำไปสู่การตีพิมพ์แบบเรียนและหนังสือประวัติศาสตร์ที่มีน้ำเสียงการเล่าเรื่องต่างไปจากประวัติศาสตร์ฉบับทางการของรัฐบาล รวมไปถึงมีการตีพิมพ์หนังสือฝ่ายซ้ายจำนวนมากออกมาสู่สาธารณะ

            แต่การเผาหนังสือฝ่ายซ้ายเมื่อปี 2001 โดยกลุ่มประชาชนที่ยังคงโกรธแค้น PKI หรือการออกคำสั่งเพิกถอนแบบเรียนประวัติศาสตร์หลักสูตร 2004 เนื่องจากไม่ระบุว่า PKI เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ขบวนการ 30 กันยายน 1965 เป็นการส่งสัญญาณว่าความทรงจำเกี่ยวกับ PKI ที่ถูกสร้างขึ้นตลอดยุคสมัยของซูฮาร์โตยังฝังรากลึกในสังคมอินโดนีเซีย และเป็นการถอยหลังเข้าคลองของระบบการศึกษาของอินโดนีเซีย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะการศึกษาอินโดนีเซียเท่านั้นที่กำลังถอยหลังเข้าคลอง หากแต่เป็นกระบวนการประชาธิปไตยในอินโดนีเซียทั้งกระบิด้วย

การควบคุมประวัติศาสตร์และไม่เปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงแนวความคิดประวัติศาสตร์ที่อาจมีความแตกต่างหลากหลาย อาจจะส่งผลในด้านกลับ เมื่อเรื่องใดที่พูดหรือถกเถียงในที่สาธารณะไม่ได้ แล้วต้องลงไปถกเถียงในพื้นที่ “ใต้ดิน” แทนนั้น จะยิ่งเป็นอันตราย (ต่อผู้ต้องการควบคุมประวัติศาสตร์) และควบคุมไม่ได้มากกว่าการอนุญาตให้ถกเถียงอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะหลายเท่านัก

 



[1] Patrick H. Hutton, History as an Art of Memory, Hanover and London: University Press of New England, 1993, p. 17.

[2] Bersihar Lubis, “Monopoli Sejarah yang Sia-sia (การผูกขาดประวัติศาสตร์ที่ไร้ประโยชน์)” http://riaupos.com/baru/content/view/4397/40/ (28 April 2007)

[3] Soeharto, Soeharto: Pikiran, Ucapan, dan Tindakan Saya: Otobiografi, seperti dipaparkan kepada G. Dwipayana dan Ramadhan K.H. (ซูฮาร์โต: ความคิด, คำพูด, และการกระทำของฉัน: อัตตชีวประวัติที่อธิบายแก่ดวีปายานาและรามาดัน), Jakarta: Citra Lamtoro Gung Persada, 1989.

[4] Ibid, p. 119.

[5] Ibid., p. 120.

[6] Ibid., p. 123.

[7] Krishna Sen, Indonesian Cinema: Framing the New Order, London and New Jersey: Zed Books Ltd., 1994, p. 81.

[8] Klaus H. Schreiner, “Histories of Trauma and Sites of Memory” in Mary S. Zurbuchen (ed.), Beginning to Remember: the Past in the Indonesian Present, Seattle: Singapore University Press in association with University of Washington Press, 2005, pp. 263-265.

[9] ศาสตราจารย์ ดร. อับดุล มาลิก ฟาจาร์ (Abdul Malik Fadjar)  เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในคณะรัฐมนตรีชุด Gotong Royong ของรัฐบาลเมกาวตี ซูการ์โนบุตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2001-2004

[10] Sutarto, “Letkol Heru Atmodjo Luncurkan Buku Soal G30S/PKI (พันโทแฮรู อัตโมโจเปิดตัวหนังสือเกี่ยวกับขบวนการ 30 กันยายน 1965/PKI)”, http://www.tempointeraktif.com/hg/nasional/2004/10/04/brk,20041004-34,id.html (4 October 2004)

[11] ดูรายละเอียดใน Mary S. Zurbuchen (ed.), Beginning to Remember: the Past in the Indonesian Present, Seattle: Singapore University Press in association with University of Washington Press, 2005.

[12] John Roosa, Dalih Pembunuhan Massal: Gerakan 30 September dan Kudeta Suharto (ข้ออ้างสำหรับการสังหารหมู่: ขบวนการ 30 กันยายน และการรัฐประหารของซูฮาร์โต), Jakarta: Institut Sejarah Indonesia dan Hasta Mitra, 2008.

[13] Ibid., pp. 3-41.

[14] “Perpustakaan Nasional Simpan Buku-buku “Kiri” di Ruang Khusus (หอสมุดแห่งชาติเก็บหนังสือ “ฝ่ายซ้าย” ที่ห้องเฉพาะ)”, http://www.tempointeraktif.com/hg/nasional/2001/04/12/brk,20010412-09,id.html (12 April 2001)

[15] ดูรายละเอียดใน Gerry van Klinken, ““The Battle for History After Suharto” in Mary S. Zurbuchen (ed.), Beginning to Remember: the Past in the Indonesian Present, Seattle: Singapore University Press in association with University of Washington Press, 2005, pp. 233-258.

[16] Ibid., p. 242.

[17] Tempo, 8 October 2000, p. 14.

[18] Media Indonesia, 8 April 2000.

[19] Arif Zulkifli, Kiri atau Kanan, Tak Boleh Dibakar (ซ้ายหรือขวา, ก็ไม่ควรจะถูกเผา), Tempo 21 May 2001, http://majalah.tempointeraktif.com/id/arsip/2001/05/21/MON/mbm.20010521.MON98976.id.html

[20] “Hasil Pemilu Indonesia Sepanjang Sejarah (1955s/d2004) (ผลการเลือกตั้งทั่วไปในอินโดนีเซียตลอดช่วงประวัติศาสตร์ (1955 ถึง 2004)” http://ijrsh.files.wordpress.com/2008/06/hasil-pemilu-indonesia-sepanjang-sejarah.pdf

 

บล็อกของ onanong

onanong
 ศัพท์ใหม่ (Kosa kata baru)Negara-negara (เนอการา เนอการา) ประเทศต่างๆ
onanong
 ห่างหายกันไปสักพักใหญ่นะคะสำหรับการสอนภาษาอินโดนีเซียผ่านบล็อก “Selamat Datang” คราวนี้ขอเสนอโครงสร้างประโยคบอกเล่าง่ายๆ ในภาษาอินโดนีเซียค่ะ
onanong
บทสัมภาษณ์ ผู้อำนวยการกลุ่ม Tikar Pandan สถาบันทางวัฒนธรรมพร้อมกับสำนักพิมพ์ที่ไม่แสวงหากำไร และมีส่วนร่วมในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนอาเจะห์ ซึ่งเปิดพื้นที่มากกว่าการบอกเล่าแบบที่รัฐผลิตให้วาทกรรมการชื่นชมทหาร  และการบูชาวีรบุรุษของรัฐชาติ หากแต่ประชาชาชนจำนวนมากเช่นกันที่มีประวัติศาสตร์ความเจ็บปวดและเลวร้ายจากทหาร
onanong
 ตามคำเรียกร้องของแฟนบล็อกนะคะ คราวนี้ขอเสนอคำที่แสดงความรู้สึกในภาษาอินโดนีเซียพร้อมกับตัวอย่างการใช้ค่ะ
onanong
 เซอลามัต มาลัม (Selamat malam) สวัสดีตอนค่ำค่ะ ขอยึดเวลา ณ ตอนที่เขียนแล้วกันนะคะ คราวนี้จะขอพูดถึงการนับตัวเลขและลำดับที่ในภาษาอินโดนีเซียนะคะ
onanong
เชื่อว่าชื่อเมืองบันดุง ในประเทศอินโดนีเซียอาจจะไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยเท่ากับเมืองหลวงอันแสนวุ่นวายอย่างจาการ์ตา, เมืองแห่งการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมฮินดูและธรรมชาติอย่างบาหลี หรือเมืองแห่งวัฒนธรรมชวาอย่างย็อกยาการ์ตา ทั้งๆ ที่บันดุงเป็นเมืองที่มีความสำคัญมากเมืองหนึ่ง และมีความเป็นมาน่าสนใจไม่แพ้เมืองอื่นๆ เชียวค่ะ
onanong
 ช่วงนี้เป็นช่วงแห่งเทศกาลเฉลิมฉลอง ทั้งวันคริสต์มาสและกำลังต่อด้วยปีใหม่ ดังนั้นดิฉันก็เลยถือโอกาสพูดถึงการอวยพรในภาษาอินโดนีเซียนะคะ 
onanong
 ในขณะที่ดิฉันกำลังคิดว่าจะเขียนเรื่องอะไรดีเพื่อคั่นการสอนภาษาอินโดนีเซีย คิดว่าถ้าสอนภาษาอินโดนีเซียทุกอาทิตย์มันจะน่าเบื่อเกินไป วันนี้ (19 ธันวาคม 2012) ก็ได้อ่านสเตตัสของเพื่อนชาวอาเจะห์ที่ใช้ชื่อว่า “Dody Maubelajar” ซึ่งน่าสนใจมาก ดิฉันจึงได้ขออนุญาตเขาแปลมาเผยแพร่ต่อสำหรับผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์บาดแผลของประเทศอินโดนีเซีย