มาอ่านเขียนที่ญี่ปุ่น (ตอนที่ 7)

อากาศเย็นๆ ปะทะใบหน้าระหว่างผมขี่จักรยานไปจอดใกล้สถานีรถไฟเพื่อเดินทางเข้าเมือง คนแน่นเป็นปกติของชั่วโมงเร่งด่วน 

ในร้านกาแฟย่านรปปงหงิ กาแฟแก้วแรกของวันวางอยู่ตรงหน้า หลังจากแนะนำตัวกันพอสมควร คู่สนทนาสูงวัยซักถามความเห็นผมในหลายเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องแนวคิดเรื่องการศึกษาวิจัยเชิงนโยบาย ซึ่งผมเองพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (creative economy) กับหนทางการทำให้เป็นจริง และเรื่องสัพเพเหระอื่นๆ

ผมมองออกไปข้างนอกอย่างไม่ได้ตั้งใจ ที่ทางข้ามมีสองหนุ่มสาวยื้อยุดกันไปมาจนรถเกือบจะเฉี่ยวชน จนคนต่้องมาดึงตัวเข้ามาบนถนน ผ่านไปสักครู่หนึ่งก็มีมาอีกคู่ที่เหมือนจะทะเลาะกัน สุดท้ายก็ข้ามถนนไปนั่งแท็กซี่ออกไปด้วยกัน เมื่อผมดื่มกาแฟหมดพร้อมๆ กับบทสนทนาสิ้นสุดลง เมื่อก้าวออกจากร้านก็เห็นเด็กหนุ่มคนหนึ่งยืนร้องไห้และมีเพื่อนโอบกอดเอาไว้ เขาน่าจะผ่านคืนที่ร้าวรานและเงียบเหงาเมื่อพบว่าราตรีที่เขาถวิลหาเหลือแต่แสงแดดเช้าอันเป็นโลกแห่งความเป็นจริง ผมประเมินจากการแต่งตัวของคนที่ว่ามานี้ พวกเขาน่าจะมาเที่ยวเตร่จนรุ่งเช้า และอาจหาทางกลับคืนสู่ตัวตนของตัวเอง

 ……

 

ในหลายค่ำคืนและวันที่ผ่านมา ผมไม่มีเวลาพอจะมาเล่าเรื่องราวที่นี่มากนัก ด้วยภาระงานทั้งงานประจำและงานจร บางคืนทำงานจนรุ่งเช้า บางคืนพยายามหาคำตอบของอะไรบางอย่าง บางทีก็พบว่าตัวเองเสียเวลาไปเปล่าดาย

บางครั้งเหมือนงานจะเดินหน้า แต่บางทีก็เหมือนเดินถอยหลัง 

ในช่วงเดือนแรกผมรู้สึกว่ามีเวลาเหลือเฟือ แต่ในเดือนที่สอง ผมรู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง มีอะไรอยู่ที่ไหนที่ต้องไปศึกษาค้นคว้า และต้องขยับตัวทำงาน ในเดือนที่สามผมนำเสนอผลงานและเตรียมแก้ไข ในเดือนสุดท้ายสรุปงานและเตรียมตัวกลับบ้าน

เทียบกับช่วงเวลาในบอสตัน ผมมีเวลาในญี่ปุ่นน้อยกว่า เพราะเงื่อนไขของเวลาที่ได้ใช้ไปในช่วงแรก เวลาในญี่ปุ่นจึงถูกจำกัดลงเหลือเพียงสี่เดือน ไม่มาก แต่ก็พอจะผลิตงานได้สองสามชิ้น เพราะนี่ให้อิสระกับผมมาก เรียกได้ว่าเป็นเวลาที่ผมเลือกใช้เอง

ในเดือนแรก ผมมีเวลาไปเมืองกีฟุ ดังได้เขียนเล่าไว้ในตอนก่อน จากนั้นก็ไปเยือนเกียวโตเพื่อพบกับเพื่อนๆ ที่เคยเรียนด้วยกันที่ฮาวายอิ จึงค่อนข้างผ่อนคลาย หลังจากกลับจากกีฟุผมสามารถจำเส้นทางรถชินคันเซ็นได้สบายจากโตเกียวไปนาโงยา และจากนาโงยาไปถึงเกียวโตรวมใช้เวลาเดินทางเพียงสองชั่วโมงเศษ 

ผมนั่งรถไฟฟ้าความเร็วสูงด้วยความรู้สึกสิ้นหวังไม่น้อย ไม่ใช่เพราะเรื่องไม่ได้นั่งรถไฟฟ้า แต่ผมนึกถึงการสูญเสียโอกาส เสียความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบทางการค้าและพัฒนาเศรษฐกิจ เสียสวัสดิการการเดินทางที่ปลอดภัยและใช้พลังงานสะอาดกว่าพลังงานฟอสซิล 

คิดถึงตอนเป็นวัยรุ่นนั่งรถไฟจากสถานีหัวลำโพงไปกลับที่สถานีเชียงรากเพื่อไปเรียนที่รังสิต 

คิดถึงการออกค่ายอาสา ที่เราเหมารถขบวนสำหรับพวกเรา แต่ก็มีชาวบ้านล้นจากตู้ปกติมานั่งกับเรา แม้จะหงุดหงิดบ้างเพราะผมไม่ได้นั่งบนเบาะ แต่เมื่อมาคิดทีหลังก็เข้าใจในความพิกลพิการของรถไฟไทย สุดท้ายผมก็ลงมานั่งเกลือกกับพื้นดื่มกับรุ่นพี่ตั้งแต่รถยังไม่ออกจากชานชาลาหัวลำโพงจนถึงปลายทางในเช้ามืด บ้างก็เป็นยามสายตะวันโด่งของอีกวัน 

ชีวิตบนชานชาลาช่างมีสีสันมากมาย

จนเมื่อผมเรียนจบกลับมาทำงานสอนหนังสือ รถไฟของเรายังเป็นเช่นเดิม ชานชาลาของเรายังมีคนไร้บ้าน คนจร นอนรายเรียง

ภาพติดตาอันหนึ่งคือครั้งหนึ่งผมเลือกเดินทางโดยรถไฟเพื่อไปสอน ณ จังหวัดแห่งหนึ่งของภาคอีสาน ผมเดินทางแต่เช้ามืดจึงได้เห็นภาพของคนที่รอรถไฟในวันรุ่ง หรือพวกเขาอาจจะเป็นคนจรที่ชานชาลานอนเรียงรายรอเวลากลับบ้าน ขบวนรถไฟออกราวตีห้าครึ่ง เมื่อผมมาถึงหัวลำโพงยังเหลือเวลาอีกมาก จึงเดินออกไปซื้อหาเสบียงกินบนรถ เพราะร้านในสถานียังไม่เปิด ผมเดินผ่านผู้คนที่นอนเรียงไปตามพื้นของนอกสถานี บ้างมีผ้าผวย บ้างมีผ้าขาวม้า จำนวนไม่น้อยเลือกเอาหนังสือพิมพ์ห่มคลุมกายคลายความเย็นจากน้ำค้าง

เมื่อได้อาหารเช้าและน้ำดื่ม ผมพบว่าคนที่นอนเรียงรายอยู่ ตีวงล้อมร่างหนึ่งที่มีหนังสือพิมพ์คลุมร่างของเขา เสียงอธิบายพอได้ยินว่าชายจรคนนั้นนอนกับพื้นเช่นคนอื่นๆ แต่เพื่อนข้างๆ พบว่าชีวิตของเขาหลุดล่องลอยไป ทิ้งร่างแข็งทื่อไว้ จึงตกใจกัน

คุณภาพชีวิตของคนไทยช่างอนาถแท้ๆ ผมน้ำตาซึมและเดินออกมาเงียบๆ รอเวลาขึ้นรถ ระหว่างนั้นก็ขบคิดเรื่อยเปื่อย แต่สะเทือนใจมาก เพราะความตายของชายคนนั้นช่างไร้ราคาจนน่าใจหาย เป็นชีวิตหนึ่งที่ปลิวไปง่ายดาย ไม่มีคนรัก ไม่มีญาติสนิทอยู่ในยามสิ้นใจ และมีเพียงกระดาษหนังสือพิมพ์ปกคลุมร่างเขาเท่านั้น 

ไม่ว่าเขาจะเป็นอะไร ทำอะไรมาก่อน เขาและคนอื่นๆ ควรจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

….

รถไฟชินคันเซ็น เบาะนั่งสบาย กว้างขวางโดยเฉพาะเบาะแถวกลาง แต่เบาะริมหน้าต่างจะมีปลั๊กเสียบไฟฟ้าได้สำหรับโน๊ตบุ๊คหรือชาร์จโทรศัพท์ได้ บนรถขบวนสะอาดและมีนายตรวจเดินเป็นระยะ มีห้องน้ำสะอาด มีช่องทิ้งขยะแยกให้เห็นชัด นอกจากนี้ยังมีอาหารกล่อง ขนมและเครื่องดื่มทั้งแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มทั่วไป ตลอดจนกาแฟร้อน พนักงานขายสุภาพมาก เท่าที่ผมนั่งมาหกครั้งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กผู้หญิงเข็นรถไปเรื่อยๆ เมื่อถึงหัวขบวนก็จะโค้งขอบคุณผู้โดยสาร ก่อนจะเข็นรถขายของไปขบวนถัดไป

ตลอดการเดินทางจะมีข้อมูลแสดงบนจอเหนือประตูให้เห็นว่าถึงสถานีไหน จะไปไหนต่อ ใช้เวลาอีกเท่าไหร่จึงจะถึงจุดหมาย และมีเสียงประกาศทั้งญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ

การเดินทางโดยรถไฟช่างสะดวก รวดเร็ว สบายและปลอดภัย ผู้โดยสารมีหลากวัย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นคนวัยทำงานและผู้สูงอายุ

ผมพบว่าโครงข่ายรถไฟของญี่ปุ่นทั้งสะดวกและปลอดภัยสมชื่อจริงๆ 

 

….

 

อย่างที่บอกไปว่าผมเดินทางไปเกียวโตครั้งแรกเพื่อพบกับเพื่อน ผมไม่ได้คิดว่าจะต้องไปเที่ยวชมให้หมด เพราะมีเวลาไม่มาก จึงคิดอย่างเดียวว่าไปได้แค่ไหน ก็แค่นั้น

ผมมาถึงก็บ่ายสองโมงกว่าๆ เมื่อเก็บของในตู้เช่าที่สถานีก็ออกไปเดิน โดยซื้อตั๋วรถเมล์รายวันไปที่พระราชวังอิมพีเรียลและข้ามไปที่วัดซันจูซันเกนโด (Sanjusangen-do) หรือวิหาร 33 ห้อง เพราะมีกวนอิมหรือพระโพธิสัตว์นับพันเรียงรายอยู่ในวิหารความยาวกว่า 120 เมตรและมีตำนานมากมายเกี่ยวกับวัดแห่งนี้ 

ชื่อจริงของวัดคือวัดเรนเกียวอิน (Rengeo-in) สร้างโดยไทระ โนะ คิโยโมริ (Taira-no-Kiyomori) เมื่อ ค.ศ. 1164 แต่ถูกเพลิงผลาญไปและสร้างใหม่ตามแบบของเดิมเมื่อ ค.ศ. 1266 และคงสภาพมาถึงปัจจุบัน ซึ่งเท่ากับว่าวัดแห่งนี้มีวิหารที่เก่าแก่มากกว่า 700 ปี และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติชาติ แต่คนทั่วไปมักเรียกว่าวัด 33 ห้อง เนื่องจากขนาดของวิหารตามแบบญี่ปุ่นจะนับความยาวเป็นห้องแบบวาโย (Wayo style) และนับรวมได้ขนาด 33 ห้อง จึงกลายเป็นชื่อที่คนรู้จักกันมากกว่าชื่อจริง นอกจากนี้ยังมีพระโพธิสัตว์หนึ่งพันหนึ่งองค์ (1001) คนญี่ปุ่นพระโพธิสัตว์ว่าคันนอน (Kannon) แต่นามจริงของพระโพธิสัตว์คือ Juichimensengen Kanzeon จึงเรียกกันย่อว่าคันนอน (ที่มีตำนานว่ากล้องแคนนอน มาจากการที่บริษัทอยู่ตรงข้ามวัดที่มีกวนอิมเลยตั้งชื่อยี่ห้อกล้องกว่าแคนนอน) แต่กวนอิมในวัดนี้พิเศษกว่าใคร เพราะสร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 ถึง 124 องค์ ส่วนที่เหลือสร้างในศตวรรษที่ 13 ระหว่างการบูรณะหลังไฟไหม้ นอกจากนี้ยังมีบรรดาเทพที่เป็นอิทธิพลจากลัทธิพราหมณ์ เช่น วายุเทพ เทพมยุระ (คุจากุ) ที่เป็นองครักษ์พิทักษ์พระพุทธศาสนา มีสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยก็คือลักษณะกายวิภาคในเรือนร่างของเทพเหล่านั้นน่าจะได้รับอิทธิพลจากประติมากรรมจากคันธาราษฎร์ไม่มากก็น้อย

ในวัดนี้ยังมีการแข่งขันยิงธนูที่ทำกันมาหลายร้อยปี และยังเป็นสถานที่ประลองยุทธระหว่างมิยาโมโต มุซาชินักดาบคนสำคัญของยุคสงคราม มุซาชิในฐานะโรนินหรือซามุไรไร้สังกัดออกเดินทางแสวงหาความเป็นเลิศและท้าประลองกับตระกูลโยชิโอกะที่วัดเรนไดจิทางตอนเหนือของเกียวโตเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1604 ผลการประลองทำให้ตระกูลโยชิโอกะเสียหน้ามาก เพราะในการประลองใช้ดาบไม้สู้กัน แต่มุซาชิถึงกับทำลายแขนซ้ายของเซอิจูโรหัวหน้าสำนักขณะนั้น จนต้องสละตำแหน่งให้น้องชายของเขาคือเดนชิจิโร นำมาสู่การประลองครั้งที่สองที่วัดวิหาร 33 ห้องนี้เอง และผลก็ออกมาเหมือนเดิมคือชัยชนะของมุซาชิ จึงต้องมีการแก้มือ คราวนี้ตระกูลโยชิโอกะตั้งหัวหน้าคณะคือมาตะชิจิโร ซึ่งมีอายุเพียง 12 ปี เป็นตัวแทนตระกูล แน่นอนว่ามีการรวบรวมคนกว่าเจ็ดสิบคน และประลองกันที่ต้นสนโบราณที่หมายทางเดินไปสู่อีกจังหวัดหนึ่งย่านอิชิโจจิ ผลการประลองออกมาเช่นเดิม แต่เป็นการรุมสังหารมากกว่าการประลอง เพราะมีคู่ต่อสู้กว่า 72 คน แต่มุซาชิก็สามารถสังหารหัวหน้าคณะพร้อมกับคู่ต่อสู้กว่าครึ่งหนึ่ง! 

ผลการประลองสร้างชื่อเสียงแก่มุซาชิมากๆ และแม้ตระกูลโยชิโอกะชะพ่ายแพ้ แต่ก็ยังเปิดสำนักดาบต่อมาจนกระทั่งเข้าร่วมกับโทโยโทมิ ฮิเดโยชิสู้เพื่อชิงปราสาทโอซาก้า ค.ศ. 1614 ที่น่าสนใจก็คือมุซาชิก็เข้าร่วมฝ่ายฮิเดโยชิด้วย

หลังจากนั้นตระกูลโยชิโอกะก็ปิดสำนักดาบลง หันมาทำอุตสาหกรรมผ้าไหมสำหรับทำกิโมโน ซึ่งกลายเป็นสินค้ามีชื่อเสียงมาก

ที่เล่ามานี้ ก็เป็นความบังเอิญ เพราะจากวัดวิหาร 33 ห้อง ผมมาพักที่ย่านอิชิโจจิ ใกล้จุดประลองครั้งที่สามนั่นเอง ใกล้ๆ กันนั้นมีโรงอาบน้ำสาธารณะอยู่ ผมถือโอกาสไปแช่น้ำร้อนหลังเดินมาทั้งวัน อากาศข้างนอกเริ่มเย็นลง ได้แช่น้ำร้อนทำให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้จริงๆ

ในวันกลับ ผมถ่ายรูปกับต้นสนรุ่นที่สามที่ปลูกทดแทนต้นเก่าที่ตายไป พร้อมกับนึกถึงชีวิตของนักสู้ในตำนานว่าเขาแลกชีวิตเพื่อชื่อเสียงและต้องการจะโด่งดัง หรือเพราะเขาเชื่อในสิ่งที่เขาทำ หรือเพราะเขาต้องการการยอมรับ

ไอน้ำจากบ่อน้ำร้อนบ้านๆ ลอยขึ้นมา ผมนั่งคิดถึงมุซาชิแล้ว ผมคิดว่าผมมีคำตอบของผม

 

 

 

หมายเหตุ: ข้อมูลเรื่องการประลองของมุซาชิมาจาก https://www.samuraitours.com/musashi-miyamoto-in-kyoto/