กรณีศาลฎีกายกฟ้องคดีถาวร เสนเนียมv.อดีต กกต.(๒๕๔๙)

ข้อน่าพิจารณาบางประการ : กรณีศาลฎีกายกฟ้อง"คดีถาวร เสนเนียม ฟ้องอดีต กกต."(๒๕๔๙)


พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล


มูลเหตุของคดีนี้เริ่มต้นเพื่อ "สนับสนุนให้รัฐประหาร ๑๙ ก.ย.๒๕๔๙" (เพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้ง โจมตีการเลือกตั้ง) และเป็นชนวนในการสร้างสุญญากาศทางการเมือง  คดีนี้เริ่มต้น จะเห็นภาพพจน์ "ชัดแจ้งยิ่งขึ้น" เมื่อพิจารณาลำดับเหตุการณ์ก่อนพิเคราะห์รายละเอียดที่สำคัญของคดี


เราจะเห็นได้ว่า "เหตุการณ์ ๒๕๔๙" นั้นเกิดขึ้นเป็นลูกระนาดเลย คร่าว ๆ ดังนี้[๑]


๒ เม.ย. ๒๕๔๙ เลือกตั้ง


๒๕ เม.ย. มีพระราชดำรัสต่อตุลาการปกครองสูงสุด "ถ้าไม่ถูก ก็จะต้องแก้ไข แต่ก็อาจจะให้การเลือกตั้งนี้ เป็นโมฆะหรือเป็นอะไร ซึ่งท่านจะมี จะมีสิทธิ ที่จะบอกว่า อะไรที่ควร ที่ไม่ควร”


๘ พ.ค. ศาลรธน.ให้เลือกตั้งเป็นโมฆะ กำหนดจัดเลือกตั้งใหม่ ๑๕ ต.ค.


๑๖ พ.ค. ศาลปกครองให้เลือกตั้งเป็นโมฆะ ๓ ศาลกดดันให้ กกต.ลาออก


๓๐ พ.ค. ศาลอาญาไต่สวนมูลฟ้องคดีถาวร เสนเนียม ฟ้อง กกต.


๓๑ พ.ค. ที่ประชุมใหญ่ศาลฏีกา ไม่ยอมเลือกกกต.แทนตำแหน่งที่ว่าง (ขณะนั้น กกต.ท่านหนึ่งเสียชีวิต ซึ่งมี "ที่มา" จากโควต้าการสรรหาโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา)


๑ มิ.ย. ประธานศาลฎีกา (นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) ส่งหนังสือ หนังสือด่วนที่สุด (ปฏิเสธการเลือก กกต.) แจ้งไปยังประธานวุฒิสภา


๒๗ มิ.ย. สืบพยานโจทก์


๒๕ ก.ค. ตัดสินจำคุก กกต. ไม่รอลงอาญา ไม่ให้ประกัน กกต.พ้นจากตำแหน่ง


๑๒ ส.ค. วันแม่ (เดือนมหามงคล)


๑๙ ก.ย. รัฐประหาร


อดีต กกต. ติดคุกกว่า ๗ ปีผ่านไป (อดีต กกต. ท่านหนึ่งเสียชีวิตในระหว่างดำเนินคดี) วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๖ ศาลฎีกา "ยกฟ้อง" คดีอดีต กกต.ถูกนายถาวร เสนเนียม ฟ้องหาว่าจัดการเลือกตั้งมิชอบ[๒]


(ก่อนอื่น จากเหตุในการยกฟ้องของศาลฎีกา ทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจว่า : ไม่ทราบว่า ศาลชั้นต้น กับ ศาลอุทธรณ์ ที่พิพากษาคดีนี้ "เรียนจบนิติศาสตร์" มาได้อย่างไร (เนติ์ฯ ให้สอบผ่านมาได้อย่างไร "วิชาหลุด" ได้ขนาดนี้ แล้วยังสอบได้เป็นผู้พิพากษาอีก ระบบการตรวจข้อสอบมีปัญหารึเปล่า หรือเป็นเพราะผู้พิพากษามีมูลเหตุจูงใจอื่นให้พิพากษาไปแบบนั้น ใช่หรือไม่?) )


การที่ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง ก็เพราะเหตุที่โจทก์(นายถาวร เสนเนียม)ไม่ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษแต่อย่างใด แม้จำเลยจะกระทำผิดหรือไม่ตามฟ้องก็ตาม โจทก์จึงมิใช่ "ผู้เสียหาย" เป็นเหตุให้ "ไม่มีสิทธิฟ้องคดี"


บางท่านอาจมองว่า "เอ๊ะ ทำไมตอนนั้น ไม่ยื่นให้อัยการผู้มีสิทธิฟ้องดำเนินการตั้งแต่แรก?"


คำตอบของผมก็คือ การปล่อยให้พนักงานอัยการฟ้อง จะล่าช้าครับ เพราะช่วงนั้นพยายามเร่งให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองครับ และศาลชั้นต้นก็รีบ "รับลูก" พร้อมพิพากษาลงโทษในวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๙ (ทั้ง ๆ ที่ศาลชั้นต้นเพิ่งเริ่มไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๙ แท้) จะเห็นได้ว่า "เป็นขั้นตอน" เลยทีเดียว


คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ ได้"เดินตามหลักวิชาและเดินตามแนวคำพิพากษาบรรทัดฐาน" ที่วางหลักสืบต่อกันเรื่อยมาเป็นอย่างดี เคยมีคำพิพากษาวางบรรทัดฐานไว้นิ่งแล้ว ที่อ่านชัดๆ เช่น



คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๑๐/๒๕๕๑ แม้เจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยอันเป็นผลเสียหายแก่รัฐ แต่มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์(ในฐานะที่เป็นราษฎร)โดยตรงหรือได้รับความเสียหายเป็นพิเศษแต่ประการใด โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหาย แต่รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยได้ การที่โจทก์จะมีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ ก็เป็นคนละเรื่องกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยตามที่โจทก์กล่าวหา จึงไม่ทำให้โจทก์กลายเป็นผูเสียหายและมีอำนาจฟ้อง. (คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๘๘๑/๒๕๔๑, ฎีกาที่ ๓๐๔๒/๒๕๓๗, ฎีกาที่ ๕๓๐/๒๕๒๖, ๑๗๒๒/๒๕๒๔, ๓๐๓๕/๒๕๒๓ ฯลฯ)


อย่างไรก็ดี ในทางกฎหมายอาจเกิดคำถามในทางกฎหมายขึ้นว่า ใน "คดีถาวร เสนเนียม ฟ้องอดีต กกต." เมื่อศาลฎีกา "ยกฟ้อง" โดยไม่ลงไปดูในเนื้อหาของคดี เพราะศาลฎีกาเห็นว่า นายถาวร เสนเนียม ไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดี หากแต่รัฐเป็นผู้เสียหาย (อัยการคือผู้มีสิทธิฟ้องคดี) เช่นนี้ อย่างตอนนี้ ภายในอายุความที่เหลือ พนักงานอัยการจะยื่นฟ้องคดีนี้เองอีก ได้หรือไม่?


ตอบว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาในประเด็นคดี แม้ "คดียังไม่ถึงที่สุด" แต่ว่า "คดีเสร็จเด็ดขาด" ไปแล้ว (คือ ศาลก้าวลงไปพิจารณาผ่านลงไปถึง "เนื้อหาของคดี" แล้ว) ซึ่งใน "คดีถาวรฯ ฟ้องอดีต กกต." นี้ ศาลชั้นต้นก็พิพากษาในเนื้อหาคดีไปแล้ว กรณีที่พนักงานอัยการจะมาฟ้องจะผูกพันด้วยเงื่อนไขของ ป.วิ.อ.มาตรา ๓๑ "คดีอาญาที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวซึ่งผู้เสียหายยื่นฟ้องแล้ว พนักงานอัยการจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดก่อนคดีเสร็จเด็ดขาดก็ได้" คือต้องเข้ามาฟ้องเป็นโจทก์ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษา ฉะนั้น เมื่อคดีเสร็จเด็ดขาดในศาลชั้นต้น ถ้าจะฟ้องใหม่อีก ก็เป็นฟ้องซ้ำแล้วตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๓๙ "สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดั่งต่อไปนี้ (๔) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง"


จะเห็นได้ว่า เมื่อเป็น "ฟ้องซ้ำ" ตั้งแต่ศาลชั้นต้นแล้ว มันก็ยังคงเป็นฟ้องซ้ำตลอดไปชั่วกัลปาวสาน เช่น สมมติฟ้องไป ศาลชั้นต้นยกฟ้อง บอกว่าไม่ผิด แม้จะอยู่ในกำหนดอุทธรณ์ คือ "ยังไม่ถึงที่สุด" คุณก็ไปฟ้องกรรมเดียวกันนี้เป็น "คดีใหม่" ก็ไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำ (หลัก Non bis in idem : ในการกระทำความผิดเดียวจะดำเนินคดีแก่บุคคลเดียวกันซ้ำสองรอบมืได้)


แม้เมื่อขึ้นไปถึงศาลฎีกาจะไม่ลงไปดูเนื้อหาของคดี ยกฟ้องด้วยประเด็นอำนาจฟ้อง แต่ว่าคดีได้เสร็จเด็ดขาดไปตั้งแต่ศาลชั้นต้น และอุทธรณ์แล้ว แม้เมื่อศาลฎีกายกฟ้องโดยไม่เข้าไปพิจารณาเนื้อหาของคดี ก็คือ "คดีถึงที่สุด" และ "เสร็จเด็ดขาด" ไปแล้ว ผลเป็นแบบนั้น


_______________________________


เชิงอรรถ


[๑] ดู http://tnews.teenee.com/politic/2894.html
และ http://www.fpps.or.th/news.php?detail=n1151614908.news
และ http://www.enlightened-jurists.com/directory/230


[๒] ดู เว็บไซต์ประชาไท, ศาลฎีกายกฟ้อง ‘พล.ต.อ.วาสนา’ อดีต กกต.พร้อมคณะกรณีจัดเลือกตั้งปี 49 ใน http://www.prachatai3.info/journal/2013/06/47194


_______________________________


ภาคผนวก


ดูคลิป พระราชดำรัสตุลาการภิวัฒน์ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๙ : http://youtu.be/l96KlmLef80



"โดยเฉพาะเรื่องเลือกตั้งของ ผู้ที่ได้คะแนน ได้แต้มไม่ถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์


แล้วก็เขาเลือกตั้งอยู่คนเดียว ซึ่งมีความสำคัญ เพราะว่าถ้าไม่ถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เขาคนเดียว ในที่สุดการเลือกตั้งไม่ครบสมบูรณ์ ไม่ทราบว่า เกี่ยวข้องกับท่านหรือเปล่า แต่ความจริงน่าจะเกี่ยวข้องเหมือนกัน เพราะว่าถ้าไม่มีจำนวนผู้ที่ได้รับเลือกตั้งพอ ก็กลายเป็นว่า การปกครองแบบประชาธิปไตย ดำเนินการไม่ได้


แล้วถ้าดำเนินการไม่ได้ ที่ท่านได้ปฏิญาณเมื่อตะกี้นี้ ก็เป็นหมัน ถึงบอกว่าจะต้องทำทุกอย่าง เพื่อให้การปกครองแบบประชาธิปไตย ต้องดำเนินการไปได้ ท่านก็เลยทำงานไม่ได้ และถ้าท่านทำงานไม่ได้ ก็มีทางหนึ่ง ท่านอาจจะต้องลาออก เพราะไม่ได้มีการแก้ไขปัญหา ไม่ได้แก้ปัญหาที่มีอยู่ ต้องหาทางแก้ไขได้ เขาอาจจะบอกว่า ต้องไปถามศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็บอก ไม่ใช่เรื่องของตัว ศาลรัฐธรรมนูญว่า เป็นการร่างรัฐธรรมนูญ ร่างเสร็จแล้วก็ไม่เกี่ยวข้อง


เลยขอร้องว่า ท่านอย่าไปทอดทิ้งความปกครองแบบประชาธิปไตย การปกครองแบบที่ จะทำให้บ้านเมืองดำเนินการผ่านออกไปได้ แล้วก็อีกข้อหนึ่ง การที่จะ ที่บอกว่า มีการยุบสภา และต้อง ต้องเลือกตั้งภายใน ๓๐ วัน ถูกต้องหรือไม่ ไม่พูดเลย ไม่พูดกันเลย ถ้าไม่ถูก ก็จะต้องแก้ไข แต่ก็อาจจะให้การเลือกตั้งนี้ เป็นโมฆะหรือเป็นอะไร ซึ่งท่านจะมี จะมีสิทธิ ที่จะบอกว่า อะไรที่ควร ที่ไม่ควร


ไม่ได้บอกว่ารัฐบาลไม่ดี แต่ว่าเท่าที่ฟังดู มันเป็นไปไม่ได้ คือการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย เลือกตั้งพรรคเดียว คนเดียว ไม่ใช่ทั่วไป ทั่วแต่ในแห่งหนึ่งมีคนที่สมัครเลือกตั้งคนเดียว มันเป็นไปไม่ได้ ไม่ ไม่ใช่เรื่องของประชาธิปไตย เมื่อไม่เป็นประชาธิปไตย ท่านก็พูดกันเองว่า ท่านต้องดูเกี่ยวข้องกับเรื่องของการปกครองให้ดี ตรงนี้ขอฝาก


อย่างดีที่สุดถ้าเกิดท่านจะทำได้ ท่านลาออก ท่านเอง ไม่ใช่รัฐบาลลาออก ท่านเองต้องลาออก ถ้าทำไม่ได้ รับหน้าที่ไม่ได้ ตะกี้ที่ปฏิญาณไป ดูดีๆ จะเป็นการไม่ได้ทำตามที่ปฏิญาณ ฉะนั้น ก็ตั้งแต่ฟังวิทยุเมื่อเช้านี้ กรณีเกิดที่นบพิตำ กรณีที่จังหวัด อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช อันนั้นไม่ใช่แห่งเดียว ที่อื่นมีอีกหลายแห่ง ที่จะทำให้บ้านเมืองล่มจม บ้านเมืองไม่สามารถที่จะ ที่จะรอดพ้นจากสถานการณ์ ที่ไม่ถูกต้อง


ฉะนั้น ก็ขอให้ท่านไปศึกษาว่า เกี่ยวข้องอย่างไร ท่านเกี่ยวข้องหรือไม่ แต่ถ้าท่านไม่เกี่ยวข้อง ท่านก็ลาออกดีกว่า ท่านผู้ที่เป็นผู้ที่ได้รับหน้าที่ ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ เป็นผู้ที่ต้องทำให้บ้านเมืองดำเนินได้ หรือมิฉะนั้น ก็ต้องไปปรึกษากับท่านผู้พิพากษาที่จะเข้ามาต่อมา ท่านผู้พิพากษาศาลฎีกา ท่านผู้นี้ก็คงเกี่ยวข้องเหมือนกัน ก็ปรึกษากันสี่คน


ก็ท่านปรึกษากับผู้พิพากษาศาลฎีกาที่จะเข้ามาใหม่ ปรึกษากับท่าน ก็เป็นจำนวนหลายคน ที่มีความรู้ ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ที่มีความและมีหน้าที่ ที่จะทำให้บ้านเมืองมีขื่อมีแป ฉะนั้นก็ขอฝาก คุณอักขราทร ก็ต้องไปพูดกับสมาชิกอื่นๆ ด้วย ก็จะขอบใจมาก เดี๋ยวนี้ยุ่ง เพราะถ้าไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่ทางจะปกครองแบบประชาธิปไตย มีของ เรามีศาลหลายชนิดมากมาย แล้วมีสภาหลายแบบ และก็ทุกแบบนี่จะต้องเข้ากัน ปรองดองกัน และคิดทางที่จะแก้ไขได้"


(พระราชดำรัส พระราชทานแก่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ วันอังคารที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙)


ถอดเทปโดย : สำนักราชเลขาธิการ, เว็บไซต์เครือข่ายกาญจนาภิเษก ใน http://kanchanapisek.or.th/speeches/2006/0425-01.th.html

บทวิจารณ์ร่าง พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ : ความเพิกเฉยต่อปัญหาการโยนภาระให้เอกชนแบกรับหน้าที่ให้บริการภายหลังสัญญาอนุญาตฯ/ใบอนุญาตฯสิ้นสุดเป็นการชั่วคราว

บทวิจารณ์ร่าง พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ :  ความเพิกเฉยต่อปัญหาการโยนภาระให้เอกชนแบกรับหน้าที่ให้บริการภายหลังสัญญาอนุญาตฯ/ใบอนุญาตฯสิ้นสุดเป็นการชั่วคราว

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล