Skip to main content

หมายเหตุ -  ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข หรือ ไทบุตรชายของสมยศ พฤกษาเกษมสุข อ่านบทความของพ่อชิ้นนี้ภายในงานเสวนา “การปฏิรูปกระบวนการประกันตัวของผู้ต้องหาคดีความมั่นคงของชาติ” ที่จัดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 3 ปีแห่งการถูกคุมขังของสมยศ จัดที่มหาวิทยาธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2557

เป็นเวลาสี่ทุ่มแล้ว ผู้ต้องขังทุกคนนอนหลับใหลใต้แสงไฟนีออนสว่างจ้า แต่คืนนี้ผมนอนไม่หลับ มียุงสองตัวบินวนส่งเสียงหวีดหวิวอยู่ข้างหู ผมลุกขึ้นนั่งกอดเข่าอย่างเดียวดาย นึกถึงภาพความทรงจำที่เคยโลดแล่นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตก่อนการถูกจับกุมคุมขัง ผมเคยนอนดึกดื่นเพื่อเร่งปิดต้นฉบับนิตยสาร Voice of Taksinและ Red  Power ทุกสัปดาห์ เป็นความเหน็ดเหนื่อยแต่ก็คุ้มค่าด้วยยอดขายถึง 30,000 ฉบับต่อครั้ง หลายฉบับเป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวาง หรือในบางฉบับถูกโจมตีว่าเป็นสื่อของขบวนการล้มเจ้า แต่นิตยสารนี้กลับมียอดขายสูงอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นสื่อเสรีภาพที่ตอบสนองต่อกระแสการต่อสู้เพื่อสิทธิ  เสรีภาพ  ความเสมอภาค และประชาธิปไตยในปีนั้น

ระหว่างปี 2535 – 2548  ผมเดินทางรอนแรมไปพำนักอาศัยอยู่ในเขตอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร  ปทุมธานี  สมุทรปราการ อยุธยา ได้มีโอกาสเรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ของกรรมกร ซึ่งถูกเอารัดเอาเปรียบ มีชีวิตที่ทุกข์ยากแสนสาหัส  อันเป็นผลมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม นำมาสู่ความแตกต่างทางชนชั้น และความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมไทย  ผมได้ใช้เวลาส่วนใหญ่เคียงบ่า เคียงไหล่กับคนทุกข์ยากเหล่านี้ในการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าเดิมให้ได้ค่าจ้างที่ยุติธรรม มีสิทธิเสรีภาพ  สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  หลายปีที่ผ่านไปจากการต่อสู้ที่ผ่านมาทำให้ประเทศไทยแม้ว่าจะยังไม่ได้มาตรฐานสากล  แต่ก็มีการปรับปรุงดีขึ้นตามลำดับ เช่น การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำมากขึ้น  มีความปลอดภัยในการทำงาน  มีนสิทธิการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน และการประกันสังคม ฯลฯ สามปีมาแล้วที่ผมไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตแบบนี้ได้อีกเลย

ในปี 2551 ผมได้รับเชิญไปเวทีจังหวัดเชียงใหม่ – เชียงราย – ลำปาง ในฐานะแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) รุ่นที่สอง เวลานั้นมีแกนนำของจังหวัดอยู่แค่ 5 – 10 คนเท่านั้น  จัดการชุมนุมต้านรัฐประหารใช้เวทีและเครื่องเสียงขนาดเล็กที่ลงทุนทำกันเอง แต่ละครั้งมีคนฟังอยู่ราว   20  คน  แต่แกนนำเหล่านั้นก็ไม่ได้ย่อท้อ  สิ้นหวัง  ยังคงตระเวนจัดชุมนุมไปตามที่ต่าง ๆ ผมไปร่วมด้วยเกือบทุกครั้ง บางครั้งไม่มีคนฟังเลยก็มี จนกระทั่งครั้งสุดท้ายสำหรับผมเดือนกันยายน 2553 มีชาวเชียงใหม่นับหมื่นคนออกมาเดินขบวนและชุมนุมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองซึ่งขณะนั้นแกนนำ นปช. ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ  นี่ก็เป็นเวลาสามปีแล้วที่ผมไม่ได้มีโอกาสเดินทางไปเชียงใหม่ – เชียงราย เหมือนที่เคยผ่านมา

จากภาคเหนือมาที่ภาคใต้ ในปี 2552 กลุ่มคนเสื้อแดงที่นั่นยังไม่มี ผมได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรงานสัมนนาของการจัดงานรำลึกโศกนาฏกรรมถังแดง  ในเขตรอยต่อพัทลุง – ตรัง ในอำเภอกงหลา จังหวัดพัทลุง ระหว่างปี 2518 – 2519 ชาวบ้านถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จึงถูกทหารจับขึ้นเฮลิปคอปเตอร์แล้วถีบลงมาในเขตป่าเขา และจับมาทรมานเผาให้ตายทั้งเป็นในถัง ผมได้มีโอกาสพูดคุยและร่วมก่อตั้งกลุ่มคนเสื้อแดงขึ้นที่นั่น ผมเดินทางไปหลายครั้งด้วยกัน ถัดมาอีกเพียงปีเดียว มีการจัดโรงเรียน นปช. ภาคใต้ มีผู้เข้าร่วมนับพันคน แต่ผมไม่มีโอกาสไปเข้าร่วมและขาดการติดต่อกับกลุ่มคนเสื้อแดงภาคใต้ผ่านมา 3 ปีด้วยกัน

ผมชอบกินอาหารพื้นบ้านอีสานทุกชนิด ชอบอัธยาศัยมิตรไมตรีหากมีโอกาสรับเชิญหรือได้รับการติดต่อไปที่นั่นด้วยเพราะเหตุไม่มีแกนนำ นปช. คนใดไปได้ ผมยินดีจะเดินทางไปเข้าร่วมที่นั่น ผมชอบขับรถไปบนถนนมิตรภาพที่ทอดยาวออกไป ง่วงนอนก็หลับใต้ต้นไม้ข้างทาง หรือไม่ก็แวะร้านกาแฟสดตามปั๊มน้ำมันจากจังหวัดหนึ่งไปอีกจังหวัดหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นงานประชุม  สัมมนา  พบปะสังสรรค์ การชุมนุมปราศรัย จากคนเพียงไม่กี่คน กลายเป็นกลุ่มก้อนใหญ่โต ด้วยการต้อนรับที่อบอุ่น และมิตรภาพที่เป็นพลังการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม สิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตย

สำหรับภาคกลาง และภาคตะวันออกเช่นกันที่ผมตระเวนไปทุกที่ในชลบุรี  พัทยา  ระยอง  จันทบุรี  กลุ่มเล็ก กลุ่มน้อย ขยายตัวเติบใหญ่ทุกสาขาอาชีพ  ทั้งคนจน คนรวย ถัดจากนี้ไปภาคตะวันตกจากนครปฐม  ราชบุรี  และกาญจนบุรี  เวทีประชาชนได้ร้อยรัดพลังการต่อสู้เข้าด้วยกันเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคใหม่ที่ทุกคนปรารถนา  ผมไม่ใช่เป็นคนมีวาทะศิลป์เป็นเลิศ ไม่ได้มีชื่อเสียง หรือเป็นแกนนำใหญ่โตแต่ประการใด เพียงแต่ผมมีโอกาศสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในโอกาสต่าง ๆ กัน ทุกหนแห่งทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการสังคม และความเปลี่ยนแปลงเป็นไปของบ้านเมือง ได้เรียนรู้ถึงสาเหตุแห่งความอยุติธรรมที่มีระบอบอำมาตย์ขัดขวางการพัฒนาของประเทศ ได้เรียนรู้ถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองจากความหมายของคำว่า “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย” แต่การเรียนรู้ร่วมกันแบบนี้ขาดหายไปกว่าสามปีแล้ว

ผมไม่ได้เป็นแกนนำ หรือแกนนอน ไม่ได้เป็นนักการเมือง ไม่ได้ปรารถนาลาภยศสรรเสริญใหญ่โต  ผมเป็นคนธรรมดาที่ทำหน้าที่ของชีวิตความเป็นมนุษย์ในฐานะพลเมืองที่รักชาติ รักประชาธิปไตย ผมปรารถนาสังคมใหม่ที่มีความยุติธรรม มีสิทธิเสรีภาพความเท่าเทียม ไม่มีการหลอกลวง ทุกคนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทร  และสันติสุข  ผมจึงทุ่มเทแรงกาย แรงใจ เต็มกำลังความสามารถเข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่อสู้ของประชาชน ไม่ว่าจะทำงานในฐานะสื่อสารมวลชน หรือการเคลื่อนไหวต่อสู้ร่วมกับประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ตลอดจนส่งเสริมการรวมกลุ่มกรรมกร  ชาวนา  ต่อสู้ให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรม และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม

ผมมองออกไปนอกห้องขัง บนท้องฟ้ามืดสนิท ดวงจันทร์สีเหลืองหม่นหมอง คืนนี้ไร้แสงดาวประกายแสง ผมคิดถึงลูกสองคน และเมียที่บ้าน แม้ว่าก่อนการจับกุมคุมขังผมมีเวลาไม่มากนักในหนึ่งสัปดาห์แทบไม่ได้อยู่ด้วยกันเลย เพราะการทำงานที่รีบเร่ง และงานสังคม แต่ที่นี่เราอยู่ด้วยกัน ได้กินอาหารที่ทำกันเอง ได้ส่งลูกสองคนไปโรงเรียนตั้งแต่เล็กจนเติบโต ครอบครัวของเราไม่ยากจนขัดสน แต่ก็ไม่ร่ำรวยมาก ผมจึงมีโอกาสทำงานให้กับสังคม ผมภูมิใจที่ลูกสองคนสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และศิลปากรได้ระหว่างที่ผมถูกจองจำอยู่ในคุกตะราง  นี่เป็นเวลาสามปีแล้วที่เราพลัดพรากจากกัน เป็นความเจ็บปวดรวดร้าวในชีวิตที่ไม่มีโอกาสได้แสดงความยินดีฉลองในความสำเร็จ และความก้าวหน้าของลูกทั้งสอง

ผมถูกจับกุมคุมขัง และถูกยัดเยียดข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หลังจากผมได้ประกาศว่ามาตรา 112 ขัดต่อหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และจะรวบรวมรายชื่อประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 112   มีการออกหมายจับโดยผมไม่รู้ตัวมาก่อน แม้พยายามขอประกันตัวซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญถึง 15 ครั้งด้วยกัน แต่ก็ถูกปฏิเสธ เป็นการเลือกปฏิบัติเมื่อเปรียบเทียงกับกรณีอื่นแบบเดียวกัน  ผมจึงต้องต่อสู้แม้ว่าจะต้องได้รับความทุกข์ทรมานสักเพียงใดก็ตาม  ทั้งนี้เพื่อยืนยันในสิทธิเสรีภาพที่ติดตัวผมมาตั้งแต่เกิดเป็นคนแล้ว

การต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดจากศาลชั้นต้นถึงศาลฎีกา  ไม่เพียงแต่ต้องทุกข์ทรมานยาวนานต่อไปอีก แต่ยังไม่ได้รับสิทธิเหมือนนักโทษคนอื่น ๆ แม้แต่ในกลุ่มนักโทษการเมืองด้วยกัน เช่น ถูกขังรวมกับนักโทษทั่วไป  ไม่ได้รับสิทธิเลื่อนชั้นนักโทษเพื่อลดโทษตามระเบียบราชทัณฑ์  ไม่ได้รับสิทธิพระราชทานอภัยโทษ  ไม่ได้รับสิทธิการฝึกอาชีพระหว่างจำคุก ฯลฯ

ผมอาจได้รับความเมตตาสงสารให้ได้รับอิสรภาพ  หากผมยอมรับสารภาพด้วยการปรักปรำตนเอง  หรือปรักปรำผู้อื่นตามความประสงค์ของผู้อยู่เหนืออำนาจรัฐ  หากเป็นเช่นนี้อิสรภาพที่ได้มาจะมีคุณค่า มีความหมายได้อย่างไรกันเล่า? เพราะเท่ากับว่าผมต้องตกอยู่ในกรงขังแห่งมโนธรรมของตนเอง และเป็นการกระทำความผิดต่อทุกคนที่ใฝ่ฝันถึงสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคตลอดไป

ผมเลือกที่จะทุกข์ทรมานเพื่อต่อสู้กับกฎหมายไม่เป็นธรรมและกระบวนการยุติธรรมที่ฉ้อฉล  จนกว่าคดีจะถึงที่สุดแม้ว่าท้ายที่สุดแล้วจะได้คำตอบจากความฉ้อฉลเหมือนเดิมหรือไม่ก็อาจจะต้องจบชีวิตลงก่อนการตัดสินคดี  ผมอาจตายไปเสียก่อน แต่สัจจะ และความจริงยังคงอยู่นิรันดร์ไป

สามปีแล้วที่เราต้องพรากจากกัน ราตรีนี้ผมนอนไม่หลับ ท้องฟ้าคืนนี้มืดสนิท  ยิ่งดึกดื่นยิ่งดำมืดมากขึ้นเท่าไหร่  อรุณรุ่งเช้าของวันใหม่ยิ่งมาถึงเร็ววันมากยิ่งขึ้น

 


20 มีนาคม 2557

บล็อกของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
 
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
หมายเหตุ -  ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข หรือ ไทบุตรชายของสมยศ พฤกษาเกษมสุข อ่านบทความของพ่อชิ้นนี้ภายในงานเสวนา “การปฏิรูปกระบวนการประกันตัวของผู้ต้องหาคดีความมั่นคงของชาติ” ที่จัดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 3 ปีแห่งการถูกคุมขังของสมยศ จัดที่มหาวิทยาธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2557
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
งาช้างไม่งอกจากปากสุนัขฉันท์ใด การปฏิรูปไม่อาจงอกมาจากพวกปฏิกูลการเมืองที่กำลังปิดกรุงเทพ นำความหายนะมาสู่สังคมไทยในขณะนี้
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
 “พวกเราใช้ชีวิตบั้นปลายในเรือนจำก็เพราะเราคัดค้านแนวคิดการพัฒนาอย่างแบ่งแยก ซึ่งทำให้เรากลายเป็นคนต่างด้าวในประเทศของเราเอง”