Skip to main content

ภาพ Jean Calas ขณะถูกประหารด้วยการทุบบนล้อ จาก wikipedia

 

มองเรื่องอากงผ่านคดีของ Jean Calas

เมื่อไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสอ่านเรื่องราวที่มีความคล้ายคลึงกับกรณีอากง จะขอเล่าให้ฟังย่อๆดังนี้ครับ คือในปี พ.ศ. 2305 หรือ ค.ศ. 1762 (ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกห้าปี) คุณ Jean Calas อายุ 64 ปี ชาวเมือง Toulouse ของฝรั่งเศสถูกกล่าวหาว่าฆาตกรรมลูกชายตัวเองเพื่อกันไม่ให้ลูกเปลี่ยนศาสนาไปนับถือนิกายต่างจากพ่อ (จาก Protestant เป็น Catholics) บรรยากาศในตอนนั้นประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ไม่มีขันติธรรมต่อผู้นับถือนิกายอื่นที่ไม่ใช่ Catholics ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติในขณะนั้น คุณ Calas นั้นถูกศาลทรมานอย่างแสนสาหัสเพื่อให้รับสารภาพด้วยการทุบกระดูกด้วยท่อนเหล็กบ้าง ดึงตัวจนกระดูกหลุดออกจากเบ้าบ้าง บังคับให้กินน้ำประมาณยี่สิบลิตรบ้าง แต่แล้วเขาก็ไม่ยอมรับสารภาพครับ แต่จนแล้วจนรอดก็ถูกตัดสินให้ประหารชีวิตด้วยการทุบบนล้อไม้ (Death on the wheel) กลางแจ้งทั้งที่หลักฐานต่างๆชี้ว่าลูกของคุณ Calas นั้นฆ่าตัวตาย นับเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญไปทั่วทั้งยุโรปเพราะผู้คนเชื่อกันว่าคุณ Calas เป็นผู้บริสุทธิ์ และรู้สึกสะอิดสะเอียนกับกับมาตรการการทรมารอันโหดร้ายนั้นเป็นอย่างมาก

ที่ผมว่าคล้ายกับคดีของอากงนั้นเนื่องมาจากหลายประเด็นนะครับ ประการแรก ทั้งสองคำพิพากษา ศาลไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดจริงๆ ผู้คนทั้งหลายทั้งไทยและเทศก็ยังสงสัยคำพิพากษาดังกล่าวที่วางอยู่บนหลักฐานแวดล้อมเท่านั้น ประการที่สองทั้งสองคดีมีการทรมานอยู่ในกระบวนการยุติธรรมประกอบอยู่ด้วย ในกรณีของคุณ Calas นั้นเป็นการทรมานอย่างโจ่งแจ้ง แต่กรณีของอากงนั้นเป็นการทำอย่างแฝงเร้นนั้นคือให้จำคุกเป็นเวลานานจนกระทั่งทนไม่ไหวก็ต้องยอมรับสารภาพเพื่อจะขอพระราชทานอภัยโทษ ในแง่ของความรุนแรงนั้นการจำคุกอากงเป็นเวลานานโดยไม่ให้ประกันตัวทั้งที่มีโรคมะเร็งก็เดาได้ว่าคงจะสร้างความความทุกข์ทรมานแสนสาหัสให้กับอากง อาจจะไม่ต่างกับการที่ คุณ Calas ถูกทรมานด้วยวิธีการป่าเถื่อนในศตวรรษที่สิบแปดของฝรั่งเศสนะครับ หรืออาจจะทรมานกว่าด้วยซ่ำเพราะต้องทนทุกขเวทนาอยู่เป็นเวลานานกว่า ประการสุดท้ายคือทั้งสองคนประกาศความบริสุทธิ์ของตนตลอดเวลาจนกระทั่งตาย

อย่างไรก็ตามก็ยังมีอีกอย่างที่(ยัง)ไม่เหมือนกันของคดีทั้งสองนั้นก็คือคุณ Calas นั้นหลังจากเสียชีวิตไปแล้วก็ได้รับการล้างมลทินโดยการตัดสินใหม่สามปีให้หลัง ทั้งนี้เป็นผลมาจากการรณรงค์ภายใต้การนำของ Voltaire ซึ่งเป็นนักคิดนักเขียนแถวหน้าของยุคนั้นนั่นเองครับ ผมเห็นว่าอากงก็ควรจะได้รับความเป็นธรรมในลักษณะเดียวกันก็คือผู้รักความเป็นธรรมทั้งหลายน่าจะช่วยกันรณรงค์ให้มีการพิสูจน์หลักฐานให้แน่ชัดอีกครั้งว่าตกลงแล้วอากงไม่ได้ทำการส่งเอสเอ็มเอสอย่างที่ถูกกล่าวหา ดวงวิญญาณของอากงจะได้ไปสบายน่ะครับ

สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจอีกอย่างจากการอ่านเรื่องราวของคุณ Calas ก็คือความเชื่อในความดีของตนนั้นอันตรายจริงๆนะครับ ทั้งพระทั้งศาลในสมัยโน้นของฝรั่งเศสและสมัยนี้ของบ้านเราก็ต่างพร้อมที่จะ “ซัด” คนที่เขาเห็นว่าเลวให้เต็มที่ ความเชื่ออย่างที่สุดในความเห็นของตนทำให้ลืมมนุษยธรรมไปจนหมดสิ้น จะเห็นได้ว่าหนทางนี้ทำให้”คนดี”ฆ่าคนมามากเหลือเกินครับ สงครามและความรุนแรงทั้งหลายก็ล้วนแล้วแต่ถูกกระทำในนามของสิ่ง “ดีๆ”ทั้งนั้นนะครับ เช่น พระเจ้าบ้าง ศาสนาบ้าง ชาติบ้าง กษัตริย์บ้าง

แต่อย่างไรก็ตามผมขอปลอบใจตัวเองหน่อยว่าถ้าฝรั่งเศสสามารถค่อยๆกำจัดการกระทำอันโหดร้ายทารุณต่อเพื่อนมนุษย์ได้ในอดีต สังคมของเราเองก็อาจจะทำได้บ้างในที่สุด เรื่องนี้ยังคุยกันได้อีกนานนะครับ ในคราวต่อไปผมอยากจะพูดเปรียบเทียบภาพกว้างๆของยุคแสงสว่างในยุโรปและความเป็นได้ที่กระบวนการดังกล่าวกำลังเกิดขึ้นในสังคมของเราครับ

ข้อเสนอเรื่องการแก้กฏหมายอาญา ม. ๑๑๒

เป็นเรื่องน่ายินดีที่มีผู้คนเกือบสี่หมื่นคนเข้าชื่อกันเพี่อสนับสนุนร่างแก้ไขกฏหมายอาญา ม. ๑๑๒ ของนิติราษฎร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพลังประชาชนที่อยากเห็นประเทศเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้นมีอยู่มาก คนที่ไม่ได้ส่งชื่อไปเพราะเหตุผลต่างๆนานาก็คงมีอีกมาก เพราะฉะนั้นคนที่เห็นด้วยจริงๆน่าจะมีอีกสักสองสามเท่าเป็นอย่างน้อยและตัวเลขก็น่าจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆทุกวันๆ อย่างไรก็ตามผมคิดว่างานนี้คงไม่ประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นทาง ครก.และนิติราษฏร์ควรเดินหน้าต่อไป เดินสายให้ความรู้ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัดอยู่เรื่อยๆ ทั้งนี้ผมคิดว่าความสำเร็จสูงสุดมันอยู่ที่ความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของผู้คนในสังคมมากกว่าตัวบทกฏหมายเสียอีก ถ้าแก้ความคิดคนได้ยังไงกฏหมายก็ต้องถูกเปลี่ยนแปลงไม่ช้าก็เร็วแต่ถ้าแก้ได้แต่ตัวกฏหมายแต่ความเห็นของคนทั่วไปยังคงเดิม กฏหมาย ”ล้าหลัง-ทาสศักดินา” เช่นนี้ก็อาจจะปรากฏตัวอีกครั้งก็ได้หลังถูกแก้ไปแล้ว ดังนั้นการทำงานระยะยาวต่อเนื่องจึงมีความหมายมากและไม่ควรถูกปล่อยให้ค่อยๆเลือนหายไป ไม่ว่าผลการแก้กฏหมายนี้ในระยะสั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ตาม

ด้วยเหตุที่ชัยชนะยังอยู่อีกยาวไกลผมคิดว่าท่านทั้งหลายควรเน้นไปที่การรณรงค์ในระยะสั้นด้วย นั้นคือควรต้องให้มีการปฏิรูประบบราชทัณฑ์ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลจะออกกฏหมายให้มีการควบคุมพิเศษนักโทษคดีนี้ เช่นให้แยกขังต่างหากและไม่ต้องใช้โซ่ตรวน หรืออาจจะให้ไปขังปล่อยบนเกาะ(ผมนึกถึงกรณีเกาะตะรุเตา) ทั้งนี้โดยไม่ต้องแก้กฏหมายอาญา ม. ๑๑๒ เพื่อจะได้ลดแรงเสียดทานของฝ่ายไม่เห็นด้วยให้เหลือน้อยที่สุด และบรรเทาทุกข์ของผู้ต้องขังเป็นการเฉพาะหน้าไปก่อน ทั้งนี้มีอย่างน้อยสามเหตุผลที่น่าจะทำให้มาตรการลักษณะนี้ “ขายออก” กับทุกๆฝ่ายทุกๆสี กล่าวคือ

  • มันไม่ได้เป็นการแก้กฏหมายอาญา ม. ๑๑๒ โดยตรง เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็ไม่เสียหน้าที่ได้สัญญาไว้ก่อนหน้านี้
  • สำหรับพันธมิตรและผู้จงรักภักดีทั้งหลาย ท่านน่าจะพอใจที่การบรรเทาทุกข์ดังกล่าวน่าจะทำให้กระแสต่อต้านสถาบันลดคลายอุณหภูมิลง และคำตำหนิติเตียนจากต่างชาติก็น่าลดลงตามลำดับ
  • การบรรเทาทุกข์นี้ตรงกับหลักการที่ในหลวงก็ทรงมีพระกรุณาให้อภัยโทษนักโทษในคดีประเภทดังกล่าวในอดีต

แน่นอนข้อเสนอนี้เป็นการประนีประนอม ซึ่งโดยความหมายของมันก็แปลอยู่แล้วว่าไม่มีใครได้หมด ไม่มีใครเสียหมด แต่ได้กันคนละหน่อย นักโทษนั้นมีความสบายปลอดภัยขึ้นในขณะที่ก็ยังถูกจองจำ ฝ่ายเสรีนิยมก็ยังสามารถ(และควร)ที่จะรณรงค์ให้แก้กฏหมายต่อไปได้ ฝ่ายราชภักดิ์ก็น่าจะดีใจที่กระแสต่อต้านเจ้านายถูกลดความร้อนแรงลง ดังนั้นผมจึงคิดว่าข้อเสนอนี้น่าจะเป็นประโยชน์อย่างน้อยก็ในระยะสั้น

คุณทักษิณควรระวังเรื่องจังหวะ “ระบำปรองดอง”

ผมคิดว่าคุณทักษิณอาจจะสบประมาทชาวบ้านมากไปหน่อยโดยการเร่งเสนอ พรบ.ปรองดองเพื่อนิรโทษกรรมคดี คตส.และคดีการการปราบปราบผู้ชุมนุมในปี 2553 จริงอยู่คนเสื้อแดงทำอะไรก็สะดวกขึ้นในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์เช่นการชุมนุมการจัดเสวนา ความปลอดภัยในการทำกิจกรรมต่างๆก็คงมีมากกว่า แต่อย่างไรก็ตามในยุครัฐบาลคุณอภิสิทธิ์มวลชนเขาก็พิสูจน์มาแล้วว่าเขาพร้อมที่จะสู้เพื่อต่อต้านอำนาจนอกระบบถึงแม้ว่าจะไม่มีอำนาจรัฐคุ้มครอง เพราะฉะนั้นคุณทักษิณคงจะคิดผิดถ้าคิดว่ายังไงเสียคนเสื้อแดงก็คงไม่แยกตัวออกไปถ้าหากคุณทักษิณไปเกี๊ยเสี๊ยโดยการยอมให้พวกที่สั่งปราบปรามประชาชนต้องหลุดลอยไปเงื้อมมือของระบบยุติธรรม พูดง่ายๆคือว่า ณ ขณะนี้คุณทักษิณนั้นต้องการคนเสื้อแดงมากกว่าคนเสื้อแดงต้องการคุณทักษิณนั่นเอง จริงอยู่ในเสื้อแดงก็มีหลายกระแสและถ้าวันแตกหักมาถึงคงจะเป็นส่วนน้อยที่ถอยออกมาจากคุณทักษิณและพรรคเพื่อไทย ถึงอย่างไรก็ตามการแยกตัวดังกล่าวก็น่าจะทำให้พรรคเพื่อไทยอ่อนแอลงมาก โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าฝ่ายอำนาจเก่าก็ยังคุมอำนาจศาล ทหารและพรรคเล็กพรรคน้อยไว้ได้อย่างเหนี่ยวแน่น ทั้งนี้ตัวเลขในสภาในเมืองไทยเป็นดัชนีที่ไม่ได้สลักสำคัญเท่าไรเลยครับ ก่อนคุณทักษิณโดนรัฐประหาร รัฐบาลก็กุมที่นั่งในสภาล่างได้เกือบสี่ร้อยที่นั่ง แต่ก็ไม่อาจป้องกันอะไรได้เลย ดังนั้นคุณทักษิณจึงควรคิดให้รอบคอบเพราะมิเช่นนั้นอาจพลาดท่าให้อำมาตย์อีกได้ แล้วถ้าในอนาคตประชาชนเค้ามองย้อนกลับมาแล้วเกิดนึกขึ้นมาได้ว่าคุณทักษิณคิดถึงแต่เรื่องตนเองมากกว่าความยุติธรรมของผู้ที่สูญเสีย ตอนนั้นอาจไม่มีใครยอมออกมาพลีชีพปกป้องรัฐบาลเพื่อไทยก็ได้

บล็อกของ สุดซอย แสนสุข

สุดซอย แสนสุข
เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองสองสามวันมานี้ทั้งที่อยู่ในและนอกสภาและทั้งที่มาจากศาลรัฐธรรมนูญทำให้ผมนึกถึงประเพณี “แปลกๆ” สองสามอย่างในสภาสหราชอาณาจักร (อังกฤษ ฯลฯ)*จะขอเล่าให้ฟังคราวๆดังนี้ครับ
สุดซอย แสนสุข
เมื่อไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสอ่านเรื่องราวที่มีความคล้ายคลึงกับกรณีอากง จะขอเล่าให้ฟังย่อๆดังนี้ครับ...
สุดซอย แสนสุข
“ให้นำคนผิดมาลงโทษ พอเถอะคะ ขอให้จบในยุคของพวกเรา ลูกหลานพวกเราจะได้ไม่ [ถูก] รักแก” เจียม ทองมาก พูดถึงกรณีการปราบปรามผู้ชุมนุมปี ๒๕๕๓