Skip to main content

 ที่มา: http://www.ryt9.com/s/prg/1363376

 
ผลสำรวจล่าสุดจากมาสเตอร์การ์ด เผยการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของความเสมอภาคทางเพศใน 12 จาก 14 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
 
มาสเตอร์การ์ด (http://newsroom.mastercard.com/) แถลงผลสำรวจล่าสุดมาสเตอร์การ์ด เวิลด์วายด์ อินเด็กซ์ เกี่ยวกับความก้าวหน้าของสตรี (MasterCard Worldwide Index of Women’s Advancement) ที่เน้นวัดดัชนีเกี่ยวกับระดับสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้หญิงที่เทียบกับผู้ชายนั้น เผยให้เห็นว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สังคมให้การยอมรับอำนาจและสิทธิสตรีเพิ่มมากขึ้น เป็นสัญญาณบ่งชี้ความก้าวหน้าที่สำคัญของผู้หญิงในสังคม
 
โผมาสเตอร์การ์ด เวิลด์วายด์ อินเด็กซ์ เกี่ยวกับความก้าวหน้าของสตรีนี้ เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามอย่างต่อเนื่องของมาสเตอร์การ์ดเพื่อวัดระดับสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของสตรีทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา โดยผลสำรวจชิ้นนี้ประกอบด้วย 5 ตัวชี้วัด ได้แก่ การเป็นเจ้าของธุรกิจ (Business Ownership) ความเป็นผู้นำในด้านธุรกิจและภาครัฐ (Business & Government Leadership) การมีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน (Workforce Participation) โอกาสทางการจ้างงานทั่วไป (Regular Employment Opportunities) และการศึกษาในระดับชั้นอุดมศึกษา (Tertiary Education) โดยสำหรับการวิจัยชิ้นนี้ แต่ละตัวบ่งชี้จะวัดอัตราส่วนของผู้หญิงต่อผู้ชายจำนวน 100 คน ในแต่ละ 14 ประเทศของเอเชียแปซิฟิก
 
เกณฑ์หลักจะใช้คะแนนเต็ม 100 คะแนนเพื่อบ่งชี้ว่าผู้หญิงในแต่ละประเทศมีความใกล้หรือไกลเพียงใดจากการบรรลุความเท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับผู้ชายในประเทศเดียวกัน โดยคะแนนที่ต่ำกว่า 100 คะแนนชี้ให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ ซึ่งแสดงถึงความเหนือกว่าของเพศชาย ในขณะคะแนนที่มากกว่า 100 คะแนน จะหมายถึงความไม่เท่าเทียมกันทางเพศซึ่งเอนไปทางด้านความเหนือกว่าของเพศหญิง ส่วน 100 คะแนนพอดีนั้น จะบ่งชี้ความเท่าเทียมกันของทั้งสองเพศ โดยผลสำรวจนี้และรายงานอื่นๆ ที่ประกอบอยู่ด้วยนั้น มิได้แสดงถึงผลประกอบการทางการเงินใดๆ ของมาสเตอร์การ์ดทั้งสิ้น
 
สำหรับประเทศที่นำหน้าโดยรวมจากทั้ง 14 ประเทศในเอเชียแปซิฟิกได้แก่ประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งมีผลคะแนน 83.3 และ 83.1 ตามลำดับ ตามมาติดๆ เป็นฟิลิปปินส์ (ผลคะแนน 77.8) สิงคโปร์ (77.4) และเวียดนาม (75.0) ในขณะที่อันดับรั้งท้ายตกเป็นของประเทศอินเดีย (48.4) เกาหลี (63.5) และญี่ปุ่น (64.8)
 
ส่วนประเทศไทยตามมาเป็นอันดับที่ 6 ถัดจากเวียดนาม ด้วยคะแนนสูสี 74.6 โดยผู้หญิงไทยจะเหนือกว่าผู้ชายในด้านการศึกษาในระดับชั้นอุดมศึกษา (133.2) มีโอกาสทางการจ้างงานที่ใกล้เคียงกัน อยู่ที่ 95.2 และมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานไม่ทิ้งห่างกันมากนักที่ 79.9 ในขณะที่ยังไม่สามารถสร้างความเท่าเทียมกับเพศชายได้ในเรื่องการเป็นเจ้าของธุรกิจ (38.5) และการเป็นผู้นำในด้านธุรกิจและภาครัฐ (36.0)
 
12 ใน 14 ประเทศได้เห็นการเพิ่มขึ้นของคะแนนจากผลสำรวจในช่วงระหว่าง 3 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างน้อย ในขณะที่อันดับปัจจุบันของประเทศอินเดียนั้น ต่ำที่สุดในทุกประเทศเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีคะแนนรวมเพียง 48.4 เท่านั้น แต่ทว่าก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2553 ในทางกลับกัน ประเทศจีนซึ่ง ณ ขณะนี้มีคะแนนถึง 73.7 กลับเผชิญกับการลดลงเล็กน้อยแต่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2550
 
หากลงลึกในแต่ละดัชนีจะพบว่าด้านของระดับการศึกษานั้น ผู้หญิงไทยยังมีความเหนือกว่าอย่างต่อเนื่องจาก คะแนน 131.4 ในปี 2553, 132.4 ในปี 2554 และ 133.2 ในปีนี้ โดยเป็นอันดับสี่ในภูมิภาครองจากนิวซีแลนด์ (137.7) มาเลเซีย (135.9) ออสเตรเลีย (134.5) ในขณะที่ประเทศที่เพศหญิงมีอัตราเข้าศึกษาในระดับชั้นอุดมศึกษาน้อยกว่าเพศชายได้แก่ ญี่ปุ่น (89.6) เกาหลี (73.1) และอินเดีย (69.5)
 
อัตราการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานสำหรับผู้หญิงในประเทศเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี โดย 8 ประเทศ มีจำนวนผู้หญิงในตลาดแรงงานโดยเฉลี่ย 70 คนต่อผู้ชาย 100 คน โดยในส่วนของประเทศไทย แม้เพศหญิงจะยังไม่เท่าเทียมกับชาย แต่ถือว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงเป็นที่น่าพึงพอใจ ด้วยคะแนนการจ้างงานทั่วไปที่ 95.2 และการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานที่ 79.9 คะแนน โดยมีประเทศอินเดียรั้งท้ายในหมวดนี้โดยมีอัตราผู้หญิงเพียง 35 คนต่อผู้ชาย 100 คนในตลาดแรงงาน ตามท้ายมาติดๆ คือประเทศมาเลเซีย (57.1) อินโดนีเซีย (61.0) และฟิลิปปินส์ (62.8)
 
ในแง่การเป็นเจ้าของธุรกิจในเอเชียแปซิฟิก ผู้หญิงยังคงต้องการอำนาจทางสังคมและเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ผลสำรวจจากงานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่า 13 จาก 14 ประเทศที่รวมอยู่ในผลสำรวจมีอัตราเจ้าของธุรกิจที่เป็นผู้หญิง 50 คนต่อเจ้าของธุรกิจผู้ชาย 100 คน ส่วนของไทยนั้น มีอัตราเจ้าของธุรกิจที่เป็นผู้หญิงเพียง 38.5 คนต่อ เจ้าของธุรกิจผู้ชาย 100 คนเท่านั้น
 
สำหรับในด้านการเป็นผู้นำทางธุรกิจในหน่วยงานภาครัฐ มีช่องว่างเหลืออยู่มากมายสำหรับการเติบโต หากดูตามคะแนนของผลสำรวจล่าสุดจะเห็นว่า มีเพียง 6 ประเทศที่มีผู้หญิงอย่างน้อย 50 คนเป็นแกนนำด้านธุรกิจและภาครัฐเมื่อเทียบกับผู้นำที่เป็นผู้ชาย 100 คน จากประเทศเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด 14 ประเทศ ฟิลิปปินส์ (192.3) เป็นเพียงประเทศเดียวทีมีความเสมอภาคทางเพศในด้านการเป็นผู้นำภาคธุรกิจและภาครัฐ ส่วนประเทศนิวซีแลนด์ (77.1) ออสเตรเลีย (73.1) อินเดีย (65.8) และสิงคโปร์ (65.5) ถือว่ามีสัดส่วนผู้หญิงต่อผู้ชายในตำแหน่งผู้นำทางธุรกิจและภาครัฐสูงพอสมควร ประเทศที่ได้คะแนนน้อยมากในหมวดหมู่นี้ได้แก่ประเทศญี่ปุ่น (15.0) เกาหลี (17.3) และจีน (24.0) ส่วนของไทยถือว่าอยู่ในระดับกลาง ๆ คือประมาณ 36 ใกล้เคียงกับไต้หวัน (34.3) และเวียดนาม (32.7)
 
การวิจัยของมาสเตอร์การ์ดเกี่ยวกับความก้าวหน้าของสตรีได้ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้จะมีกลุ่มผู้หญิงที่เข้าถึงโอกาสทางการงานและการศึกษาระดับอุดมศึกษา แต่ก็ยังเหลือพื้นที่สำหรับการพัฒนาอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเข้ารับตำแหน่งสำคัญๆ ในภาครัฐและภาคธุรกิจโดยผู้นำที่เป็นผู้หญิง
 
จอร์เจ็ท แทน ประธานฝ่ายสื่อสาร ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา มาสเตอร์การ์ด เวิลด์วายด์ กล่าวว่า “ผลการสำรวจล่าสุดชิ้นนี้ได้บ่งชี้ว่าผู้หญิงนั้นมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในประเทศส่วนใหญ่ โดยมีก้าวสำคัญที่เกิดขึ้นอย่างการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานและโอกาสทางการจ้างงานทั่วไป ซึ่งถือเป็นข่าวที่ดีมากและเป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนที่ยืนหยัดเพื่ออำนาจสิทธิสตรี รวมทั้งผู้ประกอบการต่างๆ ที่เป็นผู้หญิง สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า แม้ในช่วงเวลาที่ท้าทาย สังคมส่วนใหญ่ก็ยังคงให้ความสำคัญกับประเด็นนี้อย่างจริงจัง”
 
“ความก้าวหน้าทางด้านสังคมและเศรษฐกิจของผู้หญิงมีจุดเริ่มต้นจากระดับพื้นฐาน เริ่มตั้งแต่การสร้างความมั่นใจในตัวผู้หญิงเองผ่านทางการศึกษา ตลอดไปจนถึงการพัฒนาทักษะและโอกาสทางการจ้างงานทั่วไปให้แก่พวกเขา ซึ่งตรงกับความมุ่งมั่นของทางมาสเตอร์การ์ด ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ได้เปิดตัวโครงการ Project Inspire โครงการยาว 1 ปี ผ่านสื่อดิจิตอลและโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างความก้าวหน้าให้กับผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิง โดยจุดประสงค์หลักก็คือการสร้างความมีส่วนร่วมในหมู่ผู้ประกอบการที่อายุยังน้อย ผ่านการแข่งขันซึ่งนำเอาความคิดและผลงานสร้างสรรค์ที่ดีที่สุด นำมาใช้เพื่อพัฒนาสถานะของสตรี โดยความคิดริเริ่มดังกล่าวช่วยสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความสำคัญของบทบาทผู้หญิงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และ แอฟริกา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาทางด้านจุดยืนทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้หญิงโดยรวม” จอร์เจ็ทกล่าวสรุป
 
ผลสำรวจ MasterCard Worldwide Index of Women’s Advancement
 
 
คะแนนข้างต้นแสดงถึงสัดส่วนของผู้หญิงต่อผู้ชาย 100 คนสำหรับแต่ละหมวดหมู่ คะแนนที่สูงกว่า 100 คะแนน จะถูกตัดออกให้เหลือ 100 เพื่อให้ได้คะแนนดัชนีชี้วัดโดยรวมที่ 100 คะแนน เพื่อความแน่ใจว่าแต่ละองค์ประกอบจะไม่ทำให้คะแนนโดยรวมทั้งหมดของผลสำรวจชิ้นนี้ลาดเอียงไปทางใดทางหนึ่ง
 
สำหรับรายงานของผลสำรวจฉบับสมบูรณ์ สามารถดูได้ที่: www.masterintelligence.com
 

บล็อกของ statistics

statistics
ข้อมูลจาก statista.com พบตราสินค้าอย่าง facebook มีมูลค่าสูงสุดในเว็บไซต์จำพวก social media แต่ที่น่าสนใจเว็บของจีนอย่าง Qzone กับ Weibo ติด 5 อันดับแรกด้วย