Skip to main content
ผมยังจำได้ดี

ภาพของชายวัยเจ็ดสิบนั่งอยู่บนโต๊ะไม้ตัวเล็กๆ คร่ำเคร่งอยู่กับการจิ้มนิ้วไปบนแป้นพิมพ์ดีด ขณะที่ข้างกายมีถังอ๊อกซิเจนขนาดใหญ่ต่อสายยางยาวมาสู่จมูก

เป็นภาพที่ชวนให้ครั่นคร้าม ไม่น้อยไปกว่าชื่อเสียงเรียงนามในฐานะตำนานที่ยังมีชีวิต

เจ้าของบ้านหันมาบอกให้รอประเดี๋ยว เดี๋ยวจะไปนั่งคุยด้วย

ผู้นำทางจึงกระซิบให้ลงไปนั่งรอที่ห้องรับแขก

ต้นไม้ ปลาคาร์ฟ สระน้ำ

สถานที่แห่งนั้น สวยอย่างประหลาด ด้วยการผสมผสานความเป็นล้านนาเข้ากับบุคลิกส่วนตัวของเจ้าบ้านบวกกับสภาพสดดิบตามธรรมชาติ จึงให้ความรู้สึกถึงอิสรภาพ และการแสดงออกที่ปราศจากขอบเขต

ศิลปินบางคนที่มาเยือน อ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมที่ถูกจัดวางไว้นี้ ถึงกับลืมตัวตน หลุดออกจากสติที่คอยควบคุม ก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ

บรรยากาศของเสรีภาพ อวลอยู่ในทุกๆ ที่ของบ้าน

 

ในบทกวีข้างฝาบ้านพักรับรองแขก

บนถนนที่ทอดผ่านเหนือหลังคาบ้าน

ในกระถางผีเสื้อราตรีริมทางเดิน

ในศาลาริมสระน้ำ

บนป้ายบอกทางอันโดดเด่นกลางสวน

ในห้องน้ำที่ปราศจากประตู

ข้างกรอบรูปที่เก่าแก่และเปี่ยมบรรยากาศเข้มขลัง

ข้างบ้องไม้ไผ่ขนาดสองศอก

บนเสาที่เรียงรายไปสู่ห้องทำงานผนังกระจก

ในซากพิมพ์ดีดที่ตะไคร่ขึ้นคลุมเขียว

ในเสียงลมและเสียงน้ำที่พัดจากยอดดอยลงสู่หุบเขาเบื้องล่าง

 

ทุกองค์ประกอบ ทุกสรรพสำเนียง ทุกกลิ่น ทุกความทรงจำ ทั้งที่เกิดขึ้นแล้ว และยังไม่ได้เกิดขึ้น

กาลเวลาหยุดนิ่ง ณ เบื้องหน้ารูปปั้นของปูชนียบุคคล ซึ่งอวลด้วยกลิ่นธูปและดอกไม้หอม

 

เจ้าบ้านนั่งอยู่กลางวงล้อมของศิลปินนับสิบคน

แม้จะบ่นเรื่องถูกจำกัดปริมาณน้ำที่ดื่มได้ แต่บุหรี่ถูกจุดแทบจะมวนต่อมวน

ผู้คุ้นเคยต่างรู้ เจ้าบ้านมีความสุขที่จะได้นั่งอยู่ท่ามกลางมิตรสหาย ท่ามกลางบรรยากาศสรวลเสเฮฮา และท่ามกลางความมีชีวิตชีวา


เจ้าบ้านให้ความสนใจกับเรื่องของชีวิต มาตลอดชีวิตการทำงาน จึงเดินทางจากเหนือจรดใต้ ไปจนถึงดินแดนอันไกลโพ้น เพื่อจะนำเรื่องราวหลากหลายมาถ่ายทอดสู่ผู้อ่านด้วยสำนวนอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องชีวิตมนุษย์ผู้ยังวนเวียนอยู่ในกิเลส เจ้าบ้านจะลอกเปลือกจนถึงแก่น เปลือยให้เห็นธาตุแท้ อย่างที่คนศีลธรรมจัดไม่อาจยอมรับได้

ทว่า ตัวหนังสือที่มีชีวิตราวกับจะโลดเต้นออกมาจากหน้ากระดาษ อาจดำรงอยู่อย่างยาวนานกว่าชีวิตของคนอ่าน

 

ประวัติศาสตร์ - โดยตัวของมันเอง อาจไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่ชีวิตของคนที่ดำเนินอยู่ในนั้น เต็มไปด้วยสีสันและความเคลื่อนไหว

งานเขียนที่สะท้อนภาพอย่างต่อเนื่อง นับแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนถึงยุคเผด็จการทหาร เรื่อยมาจนถึงยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ จนกระทั่งเปลี่ยนผ่านสู่ยุคโลกาภิวัฒน์

อาจมีเพียงงานเขียนของนักเขียนท่านนี้เพียงผู้เดียว

 

ชีวิตกับงานเขียน อาจกล่าวได้ว่า แทบจะเป็นสิ่งเดียวกัน

ชีวิตที่โลดโผนสรรค์สร้างงานเขียนที่โลดโผนยิ่งกว่า

ทั้งเสน่ห์ในรสอักษรนั้น ก็ไม่เคยจาง

รุ่นเก่า อาจตั้งข้อสังเกตุว่า ดุดันและมีอารมณ์ขันแบบ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ สำนวนสวิงแบบวิตต์ สุทธเสถียร และรัญจวญอย่างประมูล อุณหธูป แต่เขาก็คือตัวเขา ไม่ใช่ใครทั้งสิ้น

 

เมื่อครั้งที่เคยเจ็บหนัก มีคนตระเตรียมจะทำหนังสืออัตชีวประวัติของเขา จนเจ้าตัวต้องออกมาปรามด้วยวาทะที่ว่า งูยังไม่ตาย วัดความยาวไม่ได้

 

วันนี้

สังขารล่วงไปตามกาล

เหลือเพียงผลงานรวมเล่มร้อยกว่าเล่ม และเรื่องเล่าขานถึงชีวิตที่เต็มไปด้วยสีสัน

 

"...นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่คนสุดท้ายแห่งตำนานสยามรัฐ ปิดฉากชีวิตลงด้วยความสงบ ท่ามกลางแวดล้อมของผู้เป็นที่รัก..."

...เจ้าตัวอาจต้องการให้ใช้ประโยคนี้...

 

การจบสิ้น เป็นเรื่องของชีวิต

แต่ เรื่องเล่าขานถึงนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย

 

เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น

 

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
“...พูดอย่างกว้างที่สุดคือ สิ่งเลวร้ายทั้งหมดเกิดจากการเลือกของเธอเอง ความผิดพลาดไม่ได้อยู่ที่การเลือกนั้นแต่อยู่ที่การเรียกว่าเลวร้าย เพราะเมื่อเธอบอกว่ามันเลวร้ายก็เท่ากับบอกว่าตัวเธอเองเลวร้ายด้วย เพราะเธอเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง เธอไม่อาจยอมรับการตราหน้านี้ได้ ดังนั้น แทนที่จะตราหน้าตัวเองว่าเป็นคนเลวร้าย เธอกลับปฏิเสธสิ่งต่างๆ ที่ตนสร้างขึ้นมาเสียเลย อสัตย์ทางสติปัญญาและจิตวิญญาณนี้เองที่ทำให้เธอยอมรับโลกอันมีสภาพอย่างนี้ หากเธอจะยอมรับหรือแม้เพียงรู้สึกลึกๆ ข้างในว่าตนมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อโลกใบนี้บ้าง โลกจะต่างออกไปกว่านี้มาก มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หากทุกคนรู้สึกถึงความรับผิดชอบ…
ฐาปนา
“...เราจะต้องดำรงชีวิตที่เป็นของเราเอง การงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น และงานคือชีวิตก็ต่อเมื่อเราทำงานนั้นด้วยสติเท่านั้น มิฉะนั้นเราก็จะเหมือนกับคนตายที่มีชีวิตอยู่ เราแต่ละคนจะต้องจุดคบเพลิงของชีวิตด้วยตนเอง แต่ชีวิตของเราแต่ละคนเกี่ยวพันกับชีวิตของบุคคลรอบๆ เราด้วย หากเรารู้จักวิธีปกปักรักษา และระวังจิตใจและหฤทัยของเราเอง นั่นแหละจะช่วยให้พี่น้องเพื่อนมนุษย์รอบข้างเรา รู้จักการมีชีวิตอยู่อย่างมีสติ...”(ติช นัท ฮันห์,ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ: มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งที่ 17,กันยายน 49) ความเปลี่ยนแปลง คือสัจธรรม ไม่มีสิ่งใดที่จะคงทนถาวรโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง…