สัญลักษณ์ใหม่แห่งความหวัง

ไม่เคยมีใครถามถึงความยินยอมพร้อมใจของทั้งคู่เลยว่าอยากจะย้ายจากบ้านเกิดเมืองนอนที่หนาวเย็นและเต็มไปด้วยพวกพ้อง มาอยู่ในเมืองร้อนที่ห่างไกลหลายพันกิโลเมตร หรือไม่

ถึงจะมีคนถาม แต่พวกเขาก็ไม่สามารถตอบได้ หรือแม้พวกเขาจะตอบว่า "ไม่อยากไป" แต่พวกเขามีสิทธิ์ปฏิเสธละหรือ ? ...

\<\/--break--\>
สุดท้ายด้วยสถานภาพที่ถูกยัดเยียดให้ว่าเป็นผู้เชื่อมสัมพันธไมตรี ทั้งคู่ก็จำต้องก้มหน้าก้มตายอมรับชะตากรรมแต่โดยดี

 

หลังการเดินทางไกล

ที่อยู่ใหม่ของทั้งคู่อยู่ในตู้กระจก แม้จะกว้างขวางและถูกจัดให้เหมาะสมตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ แต่มันก็ยังไม่ใช่บ้าน

มาอยู่ได้ยังไม่ทันจะชินกับสภาพแวดล้อม ผู้คนก็แห่แหนกันมาดู ราวกับทั้งคู่เป็นตัวประหลาด ...ไม่ใช่สิ พวกเขามาดูด้วยความชื่นชมต่างหาก ลูกเด็กเล็กแดงก็ล้วนแต่ยินดีปรีดาที่ได้มาเห็นตัวเป็นๆ ในตู้กระจก

มันคงเป็นหน้าที่หลักของทั้งคู่ ในการให้ความบันเทิงแก่ผู้เข้าชม เพียงแค่นั่งกินอาหารหรือเดินไปเดินมา ผู้คนก็ยิ้มแย้มตื่นเต้น ...ช่างน่ารักเสียจริงๆ

เมื่อทั้งคู่มาอยู่ได้ไม่นาน สินค้าต่างๆ เกี่ยวกับตัวทั้งคู่ก็ถูกผลิตออกขาย และแน่นอนว่าต้องขายดี แม้จะไม่ถึงขนาดเทน้ำเทท่า แต่ก็มากพอที่จะทำให้ผู้ผลิตยิ้มได้

 

ไม่เคยมีใครถามว่า ทั้งคู่พอใจกับสภาพแวดล้อมใหม่แค่ไหน แต่ก็เดาเอาเองว่าคงจะพอใจ เพราะทั้งคู่กินได้ นอนหลับ ไม่แสดงอาการหงุดหงิดหรือปรับตัวไม่ได้ เมื่อเห็นดังนั้น พวกเขาจึงดำเนินการแผนการต่อไป

ไม่มีใครถาม(ตามเคย)ว่าทั้งคู่ รักกัน ชอบกัน หรือเปล่า แต่พวกเขาต้องการให้ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน

พวกเขาพยายามสารพัดวิธี แต่ไม่อาจเปิดเผยให้สังคมรับรู้ได้ เนื่องจากเกรงคำครหา ข่าวที่รั่วออกมาก็มีอยู่หลายกระแส เช่น ให้ดูหนังโป๊ ให้กินไวอากร้า พวกเขาใช้วิธีคิดแบบคนไปใช้กับสัตว์

หรือว่า...นี่คือความบ้าชนิดหนึ่งของคน ?

 

ในที่สุด เมื่อกระตุ้นอย่างไรก็ไม่ได้ผลแล้ว พวกเขาจึงหันมาใช้วิธีลัดด้วยการจับผสมเทียม ฉีดน้ำเชื้อเข้ามดลูกโดยตรงเสียเลย

ในฐานะที่เป็นสัตว์เดรัจฉาน ตัวเธอจึงไม่มีสิทธิ์อุทธรว่าถูกบังคับขืนใจ ทั้งไม่มีสิทธิ์ถามในฐานะสัตว์ว่า เธอถูกกระทำเช่นนี้ด้วยเหตุผลใด

พวกเขาย่อมอ้างว่า ทำไปเพื่อดำรงรักษาเผ่าพันธุ์ของเธอซึ่งเหลืออยู่เพียงน้อยนิดให้สืบต่อไป แต่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงกลับมีมากกว่านั้น

 

เอาเป็นว่า...ในที่สุด เธอก็ตั้งท้องทั้งๆ ที่เธอไม่อยากจะตั้งท้อง และไม่ว่าจะอยากหรือไม่อยากมีลูก วันหนึ่ง เธอก็ได้คลอดลูกออกมา สร้างความตื่นตะลึง ตื่นเต้น ตระหนก ยินดีให้กับพวกเขาเป็นล้นพ้น

แล้วเธอก็ค่อยๆ เข้าใจ เหตุผลที่แท้จริงที่เธอต้องเดินทางมาสู่ดินแดนแห่งนี้ พร้อมกับเพศตรงข้ามที่เธอไม่ได้รัก เพราะทันทีที่เธอคลอดลูก ลูกของเธอก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ ของอะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง ตามแต่ใครจะให้คุณค่า

 

  • สัญลักษณ์ของมิตรภาพระหว่างสองประเทศ

  • สัญลักษณ์ของความก้าวหน้า และความสำเร็จของเทคโนโลยีผสมเทียม

  • สัญลักษณ์ของความรุ่งโรจน์ โชติช่วง ของธุรกิจการท่องเที่ยว

  • สัญลักษณ์ของความคลั่งไคล้ในสิ่งมีชีวิตที่ดูน่ารักน่าทะนุถนอม ฯลฯ

 

ข่าวโทรทัศน์ ข่าวหนังสือพิมพ์ วิทยุ ต่างรายงานเรื่องของเจ้าตัวน้อย-ลูกของเธออย่างใกล้ชิดทุกวัน วันละหลายครั้ง แล้วก็ตามเคย-ตามประเพณีที่สืบทอดกันมาของสังคมนี้ องค์กรที่ดูแลเธอแม่-ลูก ประกาศให้มีการประกวดตั้งชื่อลูกของเธอ และ- - ไม่น่าเชื่อเลย ราวกับว่าสิ่งนี้คือวาระแห่งชาติ ไปรษณียบัตรนับแสนนับล้านใบถูกขายออกไป เพื่อให้ผู้คนได้ช่วยกันตั้งชื่อ-เลือกชื่อ ซึ่งมีเป้าหมายแห่งการสร้างสรรค์นี้คือเงินรางวัลจำนวนล้านบาท

ผู้คนจากทั่วประเทศทยอยเดินทางมาเยี่ยมชมเธอและลูกน้อยราวกับว่า นี่คือสิ่งมีชีวิตที่พิเศษที่สุดในโลก นี่คือของขวัญจากสรวงสวรรค์ที่ประทานให้แก่ชาวเราในประเทศเล็กๆ แห่งนี้

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อลูกน้อยของเธอเติบโตจนเห็นสีสันบนเรือนร่างชัดเจน และพบว่า ลูกน้อยของเธอมีลักษณะพิเศษบางอย่างที่ไม่พบในพวกพ้อง พวกเขาก็ยิ่งตื่นเต้นจนเพ้อคลั่ง

"...นี่คือความพิเศษเพียงหนึ่งเดียว นี่คือความเป็น unique ที่ไม่มีอีกแล้วในโลก..."

 

อา...สำหรับประชาชนในประเทศโลกที่สามที่คลั่งไคล้ในความเป็น "ที่สุดในโลก" สิ่งนี้ช่างมีความหมายมากมายเหลือเกิน

 

เมื่อลูกเธอเริ่มแข็งแรง พวกเขาก็จัดงานเฉลิมฉลองใหญ่โตให้ เชิญคนใหญ่คนโตมาร่วมงาน และดูเหมือนว่า... การเฉลิมฉลองครั้งนี้ คงจะเป็นการเริ่มต้นที่ไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ เพราะ เธอกับลูกน้อย กำลังจะกลายสภาพเป็น สัญลักษณ์ใหม่ และความหวังใหม่ของธุรกิจการท่องเที่ยวที่จะดึงดูดเงินให้เข้ามาสู่พื้นที่อีกครั้งหนึ่ง

 

น่าสงสัยว่า หากวันหนึ่งที่เธอและลูกน้อยต้องกลับบ้านเกิดเมืองนอน พวกเขาเหล่านี้จะร่ำไห้อาลัยอาวรณ์หรือเปล่านะ ? และถ้าพวกเขาร่ำไห้ จะเป็นเพราะอาลัยเธอกับลูกน้อย

 

หรืออาลัย การลงทุนที่ทุ่มเทไป กับรายได้จากการท่องเที่ยวที่ต้องสูญเสียไป เพราะไม่มีสองแม่ลูกอีกแล้ว ?

 

* (ป.ล.นับจากเธอคลอด เพศผู้ ผู้มีสถานะเป็นพ่อของลูกของเธอ หมดบทบาทในละครฉากนี้ และถูกลืมเลือนจากสังคมไปทันที ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องปกติของสังคมนี้ด้วยเช่นกัน)

 

 

ความเห็น

Submitted by ไบรท์ on

อืมๆ เขียนได้น่าคิด... ขอบคุณครับ

ไข้หวาด

เมื่อแรกแรกที่มีข่าวว่าโรคนี้เกิดขึ้นในโลก ใครใครก็พากันเรียกชื่อมันว่าไข้หวัดหมู เพราะว่ากันว่ามันเป็นโรคของหมูที่ดันมาติดคน(ถ้าหากมีโรคของคนไปติดหมูไม่รู้จะเรียกว่าไข้หวัดคนด้วยหรือเปล่า) แต่ต่อมาเขาไม่อยากให้เรียกไข้หวัดหมู เพราะเกรงว่าจะเป็นการใส่ร้ายหมูซึ่งไม่มีความผิด และจะทำให้หมูทั่วโลกพลอยถูกรังเกียจ แต่คงไม่ใช่ความกลัวว่าหมูจะประท้วง เพราะถึงอย่างไรหมูก็มีสิทธิ์อันชอบเพียงอย่างเดียวคือสิทธิ์ในการเป็นอาหารของมนุษย์ ไม่สามารถชูป้ายประท้วงหรือเขวี้ยงก้อนอิฐใส่ตำรวจปราบจลาจลได้แต่ประการใด

สัญลักษณ์ใหม่แห่งความหวัง

ไม่เคยมีใครถามถึงความยินยอมพร้อมใจของทั้งคู่เลยว่าอยากจะย้ายจากบ้านเกิดเมืองนอนที่หนาวเย็นและเต็มไปด้วยพวกพ้อง มาอยู่ในเมืองร้อนที่ห่างไกลหลายพันกิโลเมตร หรือไม่

ถึงจะมีคนถาม แต่พวกเขาก็ไม่สามารถตอบได้ หรือแม้พวกเขาจะตอบว่า "ไม่อยากไป" แต่พวกเขามีสิทธิ์ปฏิเสธละหรือ ? ...

ความเชื่อมั่นของนักลงทุน (2)

10 คำถามตั้งต้น เพื่อทำความเข้าใจมนุษย์ที่ถูกเรียกว่า "นักลงทุน"

1. จากคำพูดของนักธุรกิจการเมืองที่มักจะอ้างถึง"ความเชื่อมั่นของนักลงทุน" อยู่เสมอ น่าสงสัยว่านักลงทุนจะเป็นมนุษย์ประเภทขาดความเชื่อมั่น มากกว่ามนุษย์ปกติทั่วไป หรือไม่?


ตอบ ไม่มีใครทราบ แต่ถ้าสันนิษฐานอย่างไม่มีฐานอ้างอิง การลงทุนก็จำเป็นต้องใช้ความเชื่อมั่นไม่น้อยไปกว่าการพนัน ทว่าในแง่ของเหตุผลน่าจะมากกว่า เพราะการพนันจะใช้ปัจจัยด้านอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจ ขณะที่การลงทุนจะต้องใช้เหตุผล ตัวเลข ตัวแปร เอกสารต่างๆ มากมายก่อนการตัดสินใจที่เต็มไปด้วยขั้นตอนซับซ้อน การลงทุนผิดพลาดหมายถึงการเอาเงินจำนวนมหาศาลไปทิ้ง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเงินของเขาหรือเงินของคนอื่น มันก็อาจทำให้เขาอยากฆ่าตัวตายได้เท่าๆ กัน ดังนั้น นักลงทุนก็น่าจะมีความเชื่อมั่นเทียบเท่ากับมนุษย์ปกติ หากไม่นับรวมเรื่องของการลงทุน

ความเชื่อมั่นของนักลงทุน (1)

ลุงอู๋ ผู้ใหญ่บ้านประกาศเรียกประชุมชาวบ้านหมู่สิบสองตั้งแต่เช้าตรู่ เสียงประกาศนั้นเน้นย้ำนักหนาว่า หนึ่งทุ่มตรงวันนี้ทุกคนต้องไปร่วมประชุมให้ได้ เพราะนี่คือเรื่องความเจริญก้าวหน้าของหมู่บ้าน และีทุกคนจะได้ประโยชน์

โชคดีที่วันนั้น เป็นช่วงว่างจากการทำไร่ ทำนา ที่สำคัญ ละครสุดฮิตที่ชาวบ้านติดกันก็เพิ่งจะจบลงไป พอตอนค่ำ ชาวหมู่บ้านจึงมาประชุมที่ศาลาอย่างหนาตา

แตงโมของลุงเหมือน

ลุงเหมือน อดีตทหารผ่านศึก คนปลูกแตงโมมือวางท้อปไฟว์ประจำหมู่บ้าน นั่งมองไร่แตงโมอย่างสบายอารมณ์

ปีนี้แตงโมราคาดีไม่น้อย พ่อค้ามารับซื้อหน้าไร่กิโลกรัมละสิบห้าถึงยี่สิบห้าบาท ยิ่งลูกใหญ่ยิ่งได้ราคา มดแมลงก็ไม่ค่อยจะกวนเท่าไร ลุงเหมือนกะว่าปีนี้คงได้เงินจากแตงโมสักห้าหกหมื่น แล้วจากนั้นจะได้ปลูกกะเพรา โหระพา ใบแมงลัก แบบ "พอเพียง-เพียงพอ" บ้าง