Skip to main content

 

 

 

การชุมนุมประท้วง เป็นปรากฏทางการเมืองและปรากฏทางสังคมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมานานหลายสิบปี หากแกนนำผู้ประท้วงมีความสามารถนำมวลชนได้มาก ความตื่นตัวทางการเมืองก็จะแผ่ไปในหลายสังคม รวมถึงในโลกไซเบอร์ ที่ใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันจำนวนมหาศาล จากเว็บไซต์ที่คนไทยใช้บริการทั้งหมด มีหนึ่งในเว็บไซต์ถูกใช้บริการมาก คือ เฟซบุ๊ค Facebook.com เพราะถูกออกแบบมาให้สามารถสื่อสารกันเป็นการส่วนตัว เป็นกลุ่ม หรือสื่อสารกับผู้ใช้อินเตอร์เน็ตสาธารณะทั่วไปก็ได้

เฟซบุ๊คเป็นเว็บไซต์ที่ถูกนำมาใช้เคลื่อนไหวทางการเมืองมากที่สุดในประเทศไทย หลายๆครั้ง ที่มีการแชร์ข้อมูลโจมตีระหว่างฝ่ายต่างๆ ก็ถูกตรวจสอบว่า ข้อมูลไม่เป็นความจริง แต่ผู้พบเห็นที่สนับสนุนฝ่ายหนึ่งก็เลือกที่จะเชื่อข้อมูลโจมตีอีกฝ่ายโดยง่าย แม้เมื่อพิสูจน์ความจริงได้ก็ตาม กรณีนี้จึงอาจบอกได้ว่า ความรู้หรือข้อมูลที่ได้จากเฟซบุคล้วนไม่ใช่ความจริงที่จริงโดยตัวเอง แต่จริงเพราะคนกลุ่มหนึ่งในสังคมเลือกที่จะเชื่อตาม...ความรู้สึก ??

เพื่อตอบคำถามที่ว่ามา ปรากฏการณ์ต่อไปนี้อาจเป็นตัวอย่างที่ดีได้

 

ช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคม พ.ศ. 2556 การชุมนุมประท้วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชนเข้าร่วมนับแสนคน ผู้ชุมนุมเดินทางไปบุกยึดสถานที่ราชการหลายแห่ง เพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออก ขอคืนอำนาจอธิปไตยให้ปวงชนในการจัดตั้งสภาประชาชน จนวันที่ 9 ธันวาคม นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา

 

ในวันเดียวกันนั้น เฟซบุ๊คเพจ ชื่อ “กองทัพประชาชนล้มล้างระบอบทักษิณ” ได้โพสต์รูปภาพ พร้อมเขียนแจงรายละเอียดการใช้เงินของรัฐบาล ก่อนการยุบสภา ว่ามีการประชุมและอนุมัติงบประมาณจำนวนมหาศาลในเวลาอันรวดเร็ว

ประชุม ครม.ครั้งสุดท้าย ยาวกว่า 15 ชั่วโมง พิจารณาวาระการประชุมทั้งหมด 244 เรื่อง อนุมัติงบประมาณ 557,517 ล้านบาท เฉลี่ยพิจารณา 3 นาที ต่อ 1 เรื่อง เฉลี่ยอนุมัติงบ 33,000 ล้านบาท ต่อ 1 ชม. เฉลี่ยอนุมัติงบ 555 ล้านบาท ต่อ 1 นาที รีบแบบนี้จะโปร่งใสรึเปล่า

 

ที่มาภาพ :  กองทัพประชาชนล้มล้างระบอบทักษิณ

 

หลังจากนั้นมีคนเข้าชมรูปภาพนี้จำนวนมาก มีคนคลิ๊กไลค์ในเพจเกือบสี่พันคน แชร์กว่าห้าพันครั้ง ไม่นับรวมผู้ที่เซฟรูปไปโพสต์เอง หนึ่งในการแชร์หลายพันครั้งนั้นมาจากเฟซบุ๊คของมัลลิกา บุญมีตระกูล ซึ่งเป็นรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ พรรคฝ่ายค้าน และเป็นผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มกปปส. โดยมัลลิกาเขียนข้อความบนโพสต์ที่แชร์ว่า “ครม.นัดสุดท้าย 3 นาทีต่อ 1 เรื่อง !! #Thaiuprising #ล้างระบอบโกง #เราจะล้างให้ถึงที่สุด

ต่อจากนั้นยังมีเฟซบุ๊คของบุคคลซึ่งมีชื่อเสียง และมีทัศนคติทางการเมืองสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์กับการเคลื่อนไหวของกปปส. เช่นเจตริน วรรธนะสิน นักร้องนักเต้นที่ออกตัวว่าสนับสนุนกปปส. รองศาสตราจารย์ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักการเมือง ผู้เคยร่วมขับไล่นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร พี่ชายของนายกรัฐมนตรีรักษาการยิ่งลักษ์ โดยศาสตราจารย์เจริญ วรรธนะสิน พ่อของเจตริน โพสต์ภาพพร้อมระบุด้วยว่า “มีคนน่าเชื่อถือส่งมาให้ผม โปรดพิจารณาครับ” รวมไปถึงเพจของกปปส. โพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า “รัฐบาลนี้ ถึงไม่มีความธรรมในการบริหารบ้านเมือง

 

    

 

 

   

ที่มาภาพ : ศาสดา

 

ข้อมูลที่ปรากฏในภาพของเพจกองทัพประชาชนล้มล้างระบอบทักษิณ ประกอบด้วยตัวเลขที่ชัดเจน มีรายละเอียดระบุจำนวนเงินที่ใช้ถึงระดับนาที นอกนั้นเป็นข้อความกล่าวหาและโจมตีรัฐบาล ในความเห็นของผู้ต่อต้านรัฐบาล เช่น มัลลิกา ศาสตร์จารย์ทั้งสอง กปปส. เจตริน   ข้อมูลนี้จึงเป็นความรู้ที่ถูกต้องและจริง  ตามความคิดที่ว่าความรู้เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ ให้รายละเอียดได้ คนเหล่านี้จึงแชร์ข้อมูลต่อกันเพื่อโจมตีรัฐบาลโดยไม่ตรวจสอบข้อมูลและไม่ตรวจสอบความรู้สึกขณะแชร์ของตนเอง

 

ตัวเลขที่ปรากฏในภาพถูกมองว่าเป็นความรู้ใหม่ในการโจมตีความเลวร้ายของรัฐบาล โดยที่ยังไม่ต้องบอกว่า เรื่องนี้เป็นความจริงหรือไม่ แต่การศึกษาสังคมศาสตร์บอกว่า ความรู้เป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างทางสังคม (social construction) ไม่ใช่สิ่งสากล การจัดว่าเรื่องอะไรคือความรู้เป็นเรื่องของอำนาจ ความรู้หนึ่งถูกทำให้น่าเชื่อถือภายใต้บริบทหนึ่ง สภาพแวดล้อมหนึ่ง และในระยะเวลาหนึ่ง ความรู้ที่จะได้รับการยอมรับต้องขึ้นอยู่กับ “ใคร” ซึ่งมีสถานภาพอย่างไรในสังคมที่เป็นคนพูด ผลประโยชน์ของการอ้างความรู้ คือเมื่อมีคนเชื่อตามก็สามารถสร้างอำนาจที่จะกระทำการต่างๆต่อไป

 

ความรู้เรื่องการใช้เงินอย่างสิ้นเปลืองรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็เป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างในสังคมไทย ภายใต้บริบทที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางการเมือง การกล่าวหาว่ารัฐบาลรัฐบาลโกงกิน คอร์รัปชั่น ไม่มีคุณธรรมในขณะที่การชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลก็กำลังคึกคักอย่างที่สุด มีคนมาร่วมชุมนุมมาก สื่อรายงานข่าวนาทีต่อนาที แกนนำมักกล่วว่า รัฐบาลหมดความชอบธรรมแล้ว และรัฐบาลเองก็ประกาศถอย ยุบสภาและคืนอำนาจให้ประชาชนในวันเดียวกันนั้น ความฉ้อฉลของรัฐบาลจึงดูเป็นเรื่องจริงมากขึ้นทุกขณะ รวมถึงผู้คนสำคัญที่แชร์ความรู้นี้ต่อกันก็คือเฟซบุ๊คของมัลลิกา เจิมศักดิ์ เจริญ เจตริน โดยเฉพาะเจริญ ซึ่งระบุอีกด้วยว่า มีคนน่าเชื่อถือส่งมาให้ เมื่อมีคนเชื่อตามก็ทำให้กลุ่มผู้ประท้วงมีความชอบธรรมที่จะไล่รัฐบาลมากขึ้น แม้ว่ารัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งของคนจำนวนมาก แต่รัฐบาลก็โกงกิน ไร้คุณธรรมจนนาทีสุดท้าย เลวร้ายเกินกว่าจะปล่อยให้บริหารบ้านเมืองได้ต่อไป

 

แม้ว่าภาพนี้จะไม่ได้ปรากฏเพียงตัวเลข แต่ประกอบด้วยข้อความอันเป็นอารมณ์ความรู้สึกไม่พอใจรัฐบาล แต่ความรู้สึกเหล่านั้นกลับถูกเหมารวมเป็นข้อเท็จจริง ว่ารัฐบาลเลวและโกง ความรู้สึกเหล่านั้นถูกมองข้าม ทั้งที่มีส่วนสำคัญที่ส่งผลให้บุคคลทั้งห้า และมวลชนแชร์ข้อมูลต่อกันเพื่อสร้างความเกลียดชังรัฐบาล

 

แต่ความรู้นี้ ก็น่าเชื่อถือแค่ในระยะเวลาอันสั้น แค่ระยะเวลาไม่ถึงข้ามวันความผิดพลาดจาการแชร์ไม่ดูตาม้าตาเรือก็ถูกเปิดออก เมื่อผู้คนในโลกไซเบอร์ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่เป็นเรื่องเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่างหาก หลังจากนั้นคนที่ทราบก็มีปฏิกิริยาต่างกันไป เช่น มวลชนไซเบอร์ฝ่ายสนับสนันพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าไม่หุบปากเงียบก็คอมเม้นท์ว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกบาททุกสตางค์ ด้านนายเจริญ วรรธนะสินทวีตข้อความ ผ่านเว็บไซต์ทวิตเตอร์ Twitter.com ว่า “4 ตีน รู้ พลั้ง นักปราชญ์รู้พลาด แต่คนว่าคนอื่นโง่ คือคนมาร ยามทรามต่ำสถุล ไปที่ชอบๆเถิด ขอกรวดน้ำให้” ในขณะที่ฝ่ายที่ชิงชังพรรคประชาธิปัตย์และอื่นๆก็แชร์ภาพดังกล่าวพร้อมกับนำภาพข่าวเก่ามาเปรียบเทียบกันอย่างแพร่หลาย และสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เสียงหัวเราะเยาะเย้ยมากมาย จากการถูก “ดักควาย” ของบุคคลระดับศาสตราจารย์ คนที่น่าจะรู้จักรัฐบาลดีจึงออกมาไล่ อย่างกปปส.และรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นคนที่อยู่กับพรรคประชาธิปัตย์อย่างใกล้ชิด เช่นมัลลิกา บุญมีตระกูล

 

ต่อมาในวันที่ 11 ธันวาคม เพจกองทัพประชาชนล้มล้างระบอบทักษิณ ก็ได้โพสรูปภาพซึ่งมีข้อความขอโทษที่เผยแพร่ข้อมูลผิดพลาด กลายเป็นว่าข้อมูลซึ่งเพิ่งเป็นความรู้ที่น่าตื่นเต้นนี้กลับไปเล่นงานคนแชร์เสียเอง

ที่มาภาพ : กองทัพประชาชนล้มล้างระบอบทักษิณ

 

ความรู้ที่ผิดพลาดดังกล่าว ไม่เพียงแค่บอกว่า ความรู้เป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคม แต่ยังบอกได้ด้วยว่า การส่งต่อความรู้นั้นกระทำด้วยอารมณ์ความรู้สึกเป็นสำคัญ นักวิชาการซึ่งดูทรงคุณวุฒิและมีความรู้มากอย่างเจิมศักดิ์และเจริญจึงแชร์ข้อมูลนี้โดยไม่ตรวจสอบ แต่แชร์เพื่อสร้างความเกลียดชังในสังคม

 

การกล่าวว่า ความรู้เป็นสิ่งที่เข้าถึงได้โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่ยึดมั่นในหลักเหตุผล วัดความถูกต้องแม่นยำได้ ตรวจสอบได้ ผลิตซ้ำได้ ในขณะที่ความรู้สึกนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ตรงกันข้าม ก็ดูจะไม่เป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ฝ่ายการเมืองต่างๆพยายามสร้างความน่าเชื่อถือ หรือสร้างอำนาจด้วยการเผยแพร่ความรู้ออกไปจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะฝ่ายสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ แต่รวมถึงกลุ่มการเมืองอื่นๆรวมทั้งที่ไม่ใช่การเมือง ก็เผยแพร่ข้อมูลความรู้ที่ไม่เป็นจริงเพื่อผลประโยชน์ของตนเองที่จะทำให้มีคนมาคลิ๊กไลค์จำนวนมาก   ความเห็นที่ว่า "ความรู้สึก" สามารถ/ควรแยกออกจากความรู้ เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นอัตวิสัยที่ยึดถือเป็นหลักเกณฑ์ใดๆไม่ได้ จึงไม่เป็นความจริง แต่ตรงกันข้ามคนที่แชร์ข้อมูลเหล่านี้ก็กลายเป็นคนที่ใช้ความรู้สึกหรืออารมณ์ของตัวเองตัดสินคนอื่น ทั้งที่ป็นคนดูมีความรู้ และมีความน่าเชื่อถือมาก

 

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ *เห็นว่า ทั้งความรู้และความรู้สึกต่างเป็นเป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม ในฐานะผลผลิตของยุคสมัยและไม่แยกขาดจากกัน ความรู้ไม่ใช่ความจริงสากล ในขณะที่ความรู้สึกก็ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ทั้งสองอย่างมีเงื่อนไขทางสังคม วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง มีบทบาทสำคัญในการนิยามและการให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆ ทั้งความรู้และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการใช้อำนาจและสร้างตัวตน เป็นกลไกหนึ่งในการนิยาม ควบคุม และกำหนดสถานะต่างๆของคนในสังคม ตามที่นิธิ อียวศรีวงศ์** เห็นว่า แม้แต่ความรู้วิทยาศาสตร์ ก็ยังเป็นความรู้ที่มนุษย์มนุษย์จิตนาการขึ้นเอง เพื่อจะอธิบายธรรมชาติ เป็นจิตนาการของมนุษย์ที่จะสร้างระบบความสัมพันธ์ของสิ่งที่ตัวเองคิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องไว้ภายใต้ระบบใดระบบหนึ่ง

 

เดิมทีเราเชื่อตามฐานคิดแบบวิทยาศาสตร์ว่า ความรู้ที่พิสูจน์ได้นั้นน่าเชื่อถือ แต่สังคมศาสตร์เห็นว่า ความรู้เป็นสิ่งประกอบสร้าง ข้อมูลการประชุมของรัฐบาลซึ่งถูกแชร์ต่อกัน ก็เป็นความรู้ที่ถูกประกอบสร้างจากสถานการณ์การเมืองที่คุกรุ่นในระยะเวลาอันสั้น และก็ถูกเปิดเผยอย่างรวดเร็วว่าไม่เป็นความจริง และไม่เพียงแค่นั้น การแชร์ข้อมูลนี้ของบุคคลที่มีเชื่อเสียงและมีการศึกษาสูงยังทำให้เราเห็นว่า ความรู้สึก ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกมองว่า ไม่น่าเชื่อถือ กลับไม่ได้แยกออกจากความรู้ของพวกเขาเลย  ความรู้และความรู้สึกต่างเป็นสิ่งประกอบบสร้างทางสังคม ที่ทำหน้าที่ช่วยกันเสริมสร้างกันและกันให้หนักแน่นน่าเชื่อ เมื่อเวลาเปลี่ยน บริบทเปลี่ยน ความรู้และความรู้สึกก็เปลี่ยน มวลชนไซเบอร์ผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์หยุดแชร์ข้อมูลดังกล่าว พร้อมกับแชร์ข้อมูลใหม่ว่าเพจกองทัพประชาชนล้มล้างระบอบทักษิณเป็นเพจปลอม เป็นเพจของกลุ่มเสื้อแดง  ทั้งที่ก่อนหน้านี้ คนจำนวนมากแม้แต่มัลลิกาก็เลือกที่จะรับและเชื่อความรู้นั้นไปแล้ว ความรู้แบบนั้นก็ได้สร้างความรู้สึกเกลียดชังและเห็นว่าการล้มรัฐบาลเป็นสิ่งที่ควรกระทำไปแล้ว

 

ทั้งที่แท้จริง เพจกองทัพประชาชนล้มล้างระบอบทักษิณ อาจเป็นเพจที่สร้างขึ้นเพื่อล้อเลียนเสียดสี(Parody) โดยการแสดงตนเป็นบุคคลที่ถูกเสียดสี เพื่อชี้ให้เห็นตรรกะที่บิดเบี้ยวของผู้ถูกล้อเลียน   แต่การโพสต์ข้อมูลครั้งนี้กลับส่งผลให้ฝ่ายตรงข้ามเชื่อและแชร์กันเต็มๆ เรียกได้ว่า พลาดแบบไม่ทันตั้งตัว ดังนั้นหลังปรากฏการณ์จบลง  “คุณอ๋อย” เจ้าของเพจ จึงโพสต์ภาพทุ่งนาโดยอ้างว่าเป็นที่นาของสามี ทั้งที่จริงเธออาจสื่อว่า ฉัน “ดักควาย” ได้ตั้งหลายตัว

 

 

 


เชิงอรรถโยง

*  ผศ. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ เป็นหัวหน้าภาควิชาวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงาน คนกับหนังสือ และ อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง 

** ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นนักคิด นักเขียน และศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ชาวไทย ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นจากสภาวิจัยแห่งชาติ,รางวัลฟูกูโอกะ และรางวัลศรีบูรพา


บรรณานุกรม

กระปุกด็อทคอม.  เงิบ ชาวเน็ตแชร์ภาพด่ารัฐบาลปูโกงก่อนยุบสภา ที่แท้เป็นเรื่อง ครม.อภิสิทธิ์.  [ออนไลน์] เข้าถึงเมื่อ 18ธันวาคม 2556  เข้าถึงจากhttp://hilight.kapook.com/view/94606

กองทัพประชาชนล้มล้างระบอบทักษิณ. สเตตัสรูปภาพในเฟซบุ๊ค.  [ออนไลน์] เข้าถึงเมื่อ 18 ธันวาคม 2556  เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/photo.php?fbid=714707365208035&set=pb.610099439002162.-2207520000.1387416884.&type=3&theater

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์.  ความรู้สึกในฐานะปฏิบัติการทางสังคม. วารสารศิลปะศาสตร์ ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน พ.ศ.2550

เทคโนโลโม.  พลาด… แชร์ภาพด่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์โกงก่อนยุบสภาที่แท้เป็นเรื่องครม.อภิสิทธิ์. [ออนไลน์] เข้าถึงเมื่อ 18 ธันวาคม 2556  เข้าถึงจากhttp://technolomo.com/2013/12/11/salam-fail/

ศาสดา.  สเตตัสรูปภาพเฟซบุ๊ควันที่ 10-11 ธันวาคม 2556. [ออนไลน์] เข้าถึงเมื่อ 18 ธันวาคม 2556  เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/sasdha/photos_stream

 

บล็อกของ ย้งยี้

ย้งยี้
เดี๋ยวนี้หันมาสนใจตะวันออกกลาง ทั้งด้านสงคราม ศาสนา วัฒนธรรม เสรีภาพ ฯลฯ บวกกับชอบคราวน์ปริ๊นซ์เมืองดูไบ ตามประสาเด็กผู้หญิงที่โตมากับละครหลังข่าว ก็เลยยืมฟ้าจรดทรายจากห้องสมุดม
ย้งยี้
 *** ปรับแก้จากการบ้านวิชากระบวนการสร้างความหมายในสังคม Construction of meanings in society คณะอักษรศาสตร์
ย้งยี้
ข้อโต้แย้งและคำเตือนจากผู้ไม่ยอมที่จะ"เชื่องเชื่อ"ถึงผู้ออกกฎว่ามาเป็นนักศึกษาเพื่อหาความรู้ ไม่ใช่มาเพื่อรับคำชมว่าน่ารักเมื่อแต่งกายในชุดนักศึกษา