Skip to main content

เอ่อ.. คือ.. ผมก็เบื่อเรื่องนี้นะ อยากให้จบสักที แต่มันก็ไม่จบง่ายๆ มีอาจารย์ใส่เครื่องแบบถ่ายภาพตัวเอง มีบทสัมภาษณ์ มีข่าวต่อเนื่อง มีเผจล้อเลียน มีโพลออกมา มีคนโต้เถียง ฯลฯลฯ แต่ที่เขียนนี่ อยากให้นักศึกษาที่อึดอัดกับการต่อต้านการแต่งเครื่องแบบนักศึกษาอ่านมากที่สุดนะครับ

ที่น่าสนใจคือ ดูเหมือน "คนรุ่นใหม่" อยากใส่ชุดนักศึกษามากยิ่งกว่า "คนรุ่นก่อนหน้า" (เช่นคนรุ่นผมหรือรุ่นน้องผม ที่ไม่ได้ปกป้องฟูมฟายกับการแต่งเครื่องแบบนักศึกษามากนัก) ปฏิกิริยาของคนรุ่นเดียวกับคุณอั้ม เนโกะ (เหมือนปฏิกิริยาของคนรุ่นเดียวกันต่อนักเรียนที่เรียกร้องให้ยกเลิกผมเกรียน) มีมากทีเดียว ทำไมพวกเขาจึงอยากอยู่ในระเบียบวินัย ทำไมพวกเขาอยากใส่ชุดนักศึกษา ผมอยากเสนอว่า ชุดความหมายเกี่ยวกับเคร่ืองแบบนักศึกษามีหลายชุดความหมาย เครื่องแบบนักศึกษาเป็นรหัสทางวัฒนธรรมที่ซับซ้อนทีเดียว ในขณะนี้ ดูเหมือนความหมายบางความหมายกำลังกลายเป็นความหมายนำ เป็นความหมายที่สังคมยกย่องเชิดชูกันขึ้นมา 
 
"เครื่องแบบนักศึกษาเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม" ใช้จัดกลุ่ม เหมือน "ชุดประจำชาติ" "เครื่องแต่งกายของกลุ่มชาติพันธ์ุ" ใช้ระบุว่าใครเป็นใคร ความหมายนี้เป็นความหมายที่ active เป็นสัญลักษณ์แห่งการแสดงตัวตน เครื่องแบบตามความหมายนี้นำความภูมิใจมาสู่ผู้สวมใส่ ผมคิดว่าความหมายนี้แหละที่กำลังเป็นความหมายนำอยู่ แต่ผู้ที่สวมเครื่องแบบด้วยความหมายนี้จะมองเห็นหรือเปล่าว่า ยังมีความหมายอะไรอื่นอีกล่ะที่ซุกซ่อนอยู่ใต้ขุดนักศึกษาอันน่าภูมิใจ 
 
"เครื่องแบบนักศึกษาทำให้คนเท่ากัน" ความหมายนี้เป็นความหมายที่พูดกันมาก ว่าเครื่องแบบทำให้นักศึกษาไม่ว่าจะจากฐานะไหน ยากดีมีจน เหมือนกันหมดและจึงเท่ากันหมด แต่จะจริงหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะเครื่องแบบนักศึกษานำมาซึ่งการดูแลรักษาความสะอาด ถ้าเสื้อขาวเปื้อนกับเสื้อยืดสีหม่นๆ เปื้อน เราจะใส่เสื้อขาวเปื้อนต่อหรือไม่ เสื้อยืดไม่รีดเราอาจใส่ได้ แต่เสื้อเชิ้ตยับๆ เราสักกี่คนจะใส่กัน ความสิ้นเปลืองไฟ เวลา ค่าแรงเพื่อการรีดชุดนักศึกษายังจะทำให้ชุดนักศึกษาเป็นเครื่องหมายของความเท่าเทียมกันไหม เนื้อผ้า แฟชั่น ของชุดนักศึกษาที่เราเห็นกันในปัจจุบัน จะยังรักษาอุดมการณ์ความเท่าเทียมกันภายใต้เครื่องแบบอยู่อีกไหมหากคิดถึงต้นทุนและชนชั้นทางสังคมที่สามารถแบกรับต้นทุนเหล่านั้น
 
"เครื่องแบบนักศึกษาเป็นเคร่ืองแสดงชนชั้น" คนที่คิดอย่างนี้อาจจะไม่ได้คิดแบบนี้ตั้งแต่แรกหรอก หรือเขาอาจคิดแบบนี้โดยไม่ตั้งใจ คำพูดประเภทที่ว่า "ไม่ใช่ทุกคนจะได้ใส่" เป็นหนึ่งในนั้น แต่ชนชั้นของการมีเครื่องแบบ ความพิเศษของการได้ใส่เครื่องแบบ ความภูมิใจในการได้ใส่เครื่องแบบ เหล่านี้ก็สร้างชนชั้นของคนใส่เครื่องแบบนักศึกษา ให้เหนือคนไม่มีโอกาสได้ใส่หรือไม่ คนที่ได้ใส่นักศึกษาน่าจะมีความคิดความอ่านเพียงพอจะเข้าใจความหมายนี้เองได้
 
"เครื่องแบบนักศึกษากลายเป็นวัตถุทางเพศ" บางคนบอกว่า "จะร่วมเพศกันไม่ต้องใส่เครื่องแบบนักศึกษาก็ได้" นั่นก็ถูก เพราะที่จริงการร่วมเพศไม่ต้องสวมอะไรเลยด้วยซ้ำ แต่อย่าลืมว่าเครื่องแบบนักศึกษาเป็นภาพแทนความอ่อนวัย ความสดใส ความบริสุทธิ์ ความหมายแฝงเหล่านี้หรือไม่ที่ทำให้เครื่องแบบนักศึกษากลายเป็นสิ่งดึงดูดใจทางเพศ แล้วการที่เครื่องแบบนักศึกษาไทยพัฒนาความเซ็กซี่ขึ้นมา ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะเคร่ืองแบบนักศึกษาหญิงเท่านั้น มันบอกความหมายเฉพาะของเครื่องแบบนักศึกษาไทยที่เชื่อมโยงกับเซ็กซ์หรือไม่ มันบอกการกดขี่หรือการใช้ชุดนักศึกษาเป็น "เครื่องเพศ" หรือไม่ คนใส่เครื่องแบบอย่างเซ็กซี่คงรู้ตนเองดี
 
"เครื่องแบบนักศึกษาเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ" ที่ใช้ควบคุมระเบียบของสังคม ข้อนี้ไม่ต่างอะไรกับชุดพนักงานในสำนักงานต่างๆ ที่มีเครื่องแบบ สังเกตบ้างไหมว่าคนที่แต่งเครื่องแบบมีแต่คนด้อยอำนาจตำแหน่งเล็กๆ หรือตำแหน่งลูกน้องเท่านั้นแหละที่แต่ง มีผู้จัดการธนาคารที่ไหนแต่งเครื่องแบบ มีกรรมการบริหารบริษัท ประธานบริษัทที่ไหนแต่งเครื่องแบบที่ให้พนักงานใส่ แม้แต่ตำรวจชั้นสัญญาบัตรเขายังไม่แต่งเครื่องแบบไปทำงานประจำวันเลย
 
"เครื่องแบบนักศึกษาเป็นเครื่องมือผลิตซ้ำอุดมการณ์ครอบงำ" ง่ายที่สุดเลยคืออุดมการณ์เพศ ภายใต้เครื่องแบบนักศึกษา คนสวมใส่เป็นได้เพียง ถ้าไม่ชาย ก็หญิง ระเบียบของการแบ่งเพศเข้ามามีบทบาทในการแต่งชุดนักศึกษาอย่างเห็นได้ชัด เกินจากนั้น ภายใต้เครื่องแบบ คนสวมจะแสดงตัวตนได้ไม่มากนัก เมื่อสวมเครื่องแบบ คุณจึงถูกเครื่องแบบกำกับพฤติกรรม เพราะถูกมอง ถูกคาดหวังต่อบทบาทตามเครื่องแบบ
 
ถึงที่สุดแล้ว ความหมายต่างๆ ของชุดนักศึกษาไม่อาจมีความหมายใดเป็นความหมายนำอีกต่อไป ความหมายที่เคยแน่นิ่ง ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนก็แทบไม่เคยมีอำนาจนำ กำลังถูกกวนให้ขุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่ต้องคิดด้วยคือ ความหมายใดกันแน่ที่อยู่ซ้อนและครอบงำความหมายอื่นอยู่ แล้วทำไมความหมายนั้นจึงขึ้นมามีบทบาทเหนือความหมายอื่น ความหมายใดเป็นความหมายลวงแค่เปลือก ความหมายใดคือความหมายที่ใช้มอมเมาให้ยอมรับเพื่อใช้ความหมายอื่นควบคุม แต่ไม่ว่าจะอย่างไร อย่าหยุดเถียงเพียงด้วยเพราะเราไม่ชอบความเห็นฝ่ายตรงกันข้ามก็แล้วกัน

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม