Skip to main content
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"

 
การสนทนาต่อจากดูหนังเสร็จ ทั้งในโรงและนอกโรง ทำให้ผมเข้าใจเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ตลอดจนได้ความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์เพิ่มขึ้นมากมาย ที่น่าสนใจคือที่คุณเปียบอกว่า "ตัวละครชนบทในเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในหนังตลาดทั่วไป ถ้ามี พวกเขาก็จะเป็นเพียงภาพเบลอๆ จางๆ อยู่ข้างหลัง" 
 
ผู้ชมคนหนึ่งถามว่า "ทำไมผู้แสดงจำนวนมากเป็นญาติพี่น้องนามสกุลเดียวกับผู้กำกับล่ะ" คุณสืบบอกว่า "ผมเป็นคนบ้านนอก ไม่ได้ร่ำรวยอะไร และหนังเรื่องนี้เล่าเรื่องผมเอง ราว 50% เป็นเรื่องจริงของครอบครัวผมและคนในหมู่บ้านผม"
 
คุณเปียบอกว่า "ผมตั้งใจทำหนังขาว-ดำตั้งแต่ต้นเลย อยากทำมานานแล้ว แต่หนังตลาดทำแบบนี้ไม่ได้" "หนังนี้ใช้เวลาถ่ายทำเพียง 12 วัน" 
 
ส่วนตัวผมทั้งชอบและไม่ชอบอะไรหลายๆ อย่าง ที่ชอบคือการนำเสนอ landscape ของชนบทที่ยิ่งเห็นชัดขึ้นด้วยภาพหนังขาว-ดำตลอดทั้งเรื่อง ผมชอบ soundscape ของหนังในหลายๆ แง่มุม ตั้งแต่เสียงพูดสำเนียงสุโขทัย เสียงของชนบทสลับกับความเงียบของตัวละครเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของหนัง ผมชอบผู้แสดงหลายๆ คน บางคนแม้นั่งๆ นอนๆ ก็ทำให้เขาเป็นนักแสดงที่ยิ่งใหญ่ได้แล้ว
 
หากอะไรจะเป็นตัวละครเอกสำคัญที่ไม่ใช่คนในหนังเรื่องนี้ ผมว่าโทรศัพท์มือถือนี่แหละคือตัวละครเอกที่สำคัญ มีฉากหนึ่งที่ล้อเลียนการสื่อสารชนิดนี้อย่างน่าขันยิ่งนัก แต่หากพิจารณาบทบาทโทรศัพท์มือถือในหนังนี้โดยรวมๆ แล้ว ถ้าดูแบบหนึ่ง อาจได้ภาพว่าโทรศัพท์มือถือกลายเป็นสื่อแสดงภาพไม่น่าพิสมัยของชุมชน แสดงการแยกจนเกือบจะแตกสลายของชุมชน 
 
แต่สำหรับผม หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นภาพชนบทที่เชื่อมต่อกับโลกนอกชุมชนได้อย่างดี โทรศัพท์มือถือแสดง landscape ที่สำคัญของชนบทไทย แทนที่โทรศัพท์มือถือจะแยกชุมชน ผมกลับเห็นว่าโทรศัพท์มือถือเชื่อมพื้นที่ในท้องถิ่นเข้ากับโลกกว้างนอกชุมชน พร้อมๆ กับเปิดโอกาสให้เกิดชุมชนทางไกลต่างถิ่น เปิดโอกาสให้เกิดการถ่ายเทไหลเวียนของสังคม
 
ผมว่าจะไปดูอีกสักรอบ เพราะตากล้องบอกว่า มีหลายๆ ตอนที่เขาจงใจปล่อยภาพบางอย่างที่น่าขัดใจเจ้าของทุน แต่ถึงอย่างนั้น แม้เจ้าของทุนจะเข้มงวดจนกระทั่งผู้ชมหลายคนสังเกตเห็นได้ว่า "ชนบทในหนังนี้แสนดีเหลือเกิน" แต่ก็ยังมีภาพบางภาพเล็ดรอดสายตาเจ้าของทุนไปได้ ผมตั้งใจว่าจะไปดูอีกสักรอบ เพราะภาพพวกนั้นเล็ดรอดตาผมไปเช่นกัน
 
ถ้าจะวิจารณ์กันอย่างตรงไปตรงมา ที่ผมไม่ชอบที่สุดคือน้ำเสียงอาลัยอาวรณ์กับการเปลี่ยนแปลงในชนบทของหนังเรื่องนี้ แม้หนังจะชูให้เห็นภาพคนจน คนสามัญอย่างเด่นชัด หากแต่คนชนบทกลับเป็นคนที่น่าเห็นใจ น่าเป็นห่วง การละทิ้งชนบทกลายเป็นความผิดบาป 
 
นั่นทำให้นึกถึงบทสนทนากับผู้เข้าสอบสัมภาษณ์ในตอนเช้า ผู้เข้าสอบคนหนึ่งเล่าว่า เขาอาศัยหนังเพื่อบอกเล่าถึงชีวิตของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สะดุดใจกรรมการสอบหลายท่านคือที่ผู้เข้าสอบบันทึกว่า "หนังสามารถทำนายอนาคตได้" เมื่อสอบถามดูปรากฏว่าใจจริงผู้เข้าสอบหมายถึงว่า "หนังสามารถให้ความหวังได้"
 
มีข้อถกเถียงบางตอนในห้องสอบที่น่าสนใจคือเรื่อง "ความเป็นภาพยนตร์"  กรรมการสอบท่านหนึ่งถามผู้เข้าสอบว่า "ทำไมคุณถึงอธิบายหนังด้วยทฤษฎีนั่นนี่มากมาย คุณไม่คิดหรือว่าหนังมันพูดอะไรของมันเองได้" ผู้เข้าสอบตอบว่า "เราอาจวิจารณ์หนังได้ด้วยเกณฑ์ทางสุนทรีย์ หรืออาจวิเคราะห์หนังด้วยทฤษฎีต่างๆ" 
 
กรรมการสอบถามเพิ่มว่า "คุณไม่คิดบ้างหรือว่า หนังมันพูดอะไรเองได้เหมือนกัน" ผู้เข้าสอบพยายามตอบอีกว่า "หนังถูกใช้อธิบายเรื่องนั้นเรื่องนี้ เช่น เมื่อพูดถึงประเด็นหนึ่ง ก็อาจนำหนังเรื่องหนึ่งมาใช้อธิบาย" 
 
กรรมการสอบอีกคนถามต่อว่า "คุณไม่คิดหรือว่า หนังมันมีวิธีการเข้าถึงความจริงแบบของมันเองแตกต่างจากตัวหนังสือหรือ text ที่คุณอ่านเพื่อใช้วิจารณ์หนัง แทนที่คุณจะพยายามแปลง movies ให้เป็น text ทำไมคุณไม่ลองพยายามคิดว่า หนังเองมันช่วยให้เราเข้าใจอะไรที่ text มันบอกเล่าไม่ได้บ้างล่ะ"
 
เชื่อได้ว่าผู้ชมจะสามารถเข้าใจสังคมชนบทส่วนหนึ่งได้จากหนังเรื่อง "วังพิกุล" และด้วยความที่ "วังพิกุล" มีความพิเศษในหลายๆ ลักษณะดังที่กล่าวไปบ้างข้างต้น หนังเรื่องนี้จึงเปิดข้อถกเถียงเรื่องความเป็นชนบทไทยพร้อมๆ กับชวนให้ถกเถียงเรื่องความเป็นภาพยนตร์ได้อย่างดี

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม