Skip to main content

นักวิชาการมิได้มีสถานภาพพิเศษแตกต่างไปจากคนอื่นๆ ในสังคม เพียงแต่อาชีพนักวิชาการเป็นอาชีพที่ต้องพัฒนาความคิดความอ่านตลอดเวลา นักวิชาการจึงไม่ควรมีขอบเขตของความคิดความอ่าน พร้อมๆ กับที่ไม่ควรปิดกั้นขอบเขตของความคิดคนอื่น 

ไม่ว่าสังคมจะชอบหรือไม่ชอบความคิดเห็นของนักวิชาการก็ตาม แต่หากความคิดทางวิชาการวางอยู่บนหลักเหตุผลและข้อมูลที่หนักแน่นโดยไม่ละเมิดกฎหมายแล้ว นักวิชาการก็เพียงทำตามหน้าที่ของตนเอง ไม่ว่าคุณจะเป็นนักวิชาการในสาขาวิชาไหน หากศึกษาสูงๆ ขึ้นไปจนถึงระดับอุดมศึกษา แล้วจบมาทำงานค้นคว้าวิจัย งานเขียน และงานสอนระดับอุดมศึกษา คุณก็จะต้องมีจริต มีวินัย และเข้าใจภาพสังคมวิชาการแบบเดียวกันนี้ทั้งสิ้น เว้นแต่ว่าคุณจะไม่ได้ผ่านระบบอุดมศึกษาแบบสากลตามที่โลกเขายอมรับกันในปัจจุบัน เว้นแต่ว่าคุณจะยกเลิกระบบมหาวิทยาลัยแบบสากลแล้วเรียนสอนกันแบบเดินตามครู ตามผู้ใหญ่ ก็จงย่ำเท้าอยู่กับที่กันไป 

ความจริงข้อนี้ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวกัน ผู้คนทั่วไปในสังคมที่มีใจเป็นธรรมเขาก็ย่อมจะเข้าใจกันดีอยู่แล้ว แต่ในเมื่อในขณะนี้เราอยู่ในสภาพที่บ้านเมืองมีความคิดแปลกประหลาด สิ่งที่ควรเข้าใจกันง่ายๆ ก็กลับไม่เข้าใจ ก็คงต้องอธิบายกันบ้าง ว่าทำไมการทำงานวิชาการจึงต้องมีเสรีภาพ ลองจินตนาการถึงนักวิทยาศาสตร์สักคนหนึ่ง หากเขาเรียนในระดับต้น เขาแค่เข้าใจหลักการของวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยการตั้งคำถามต่อสิ่งรอบตัว แล้วพยายามหาคำตอบจากการสังเกต หรือหากจำเป็นก็สร้างแบบการทดลองขึ้นมา เพื่อหาข้อสรุปทั่วไป หรือไม่ก็เพื่อพิสูจน์ว่าข้อเสนอที่เขามีอยู่ หรือข้อเสนอที่คนอื่นมีอยู่นั้นถูกต้องหรือไม่ หากแต่เพียงเท่านี้เขาผู้นี้ก็ยังจะไม่ได้เป็นนักวิชาการ เพราะเขายังไม่ได้ค้นพบอะไรใหม่ หากเขาไม่คิดค้นวิธีที่จะเข้าใจอะไรใหม่ๆ เขาแค่รู้อะไรเท่าที่คนอื่นรู้ เขายังไม่ได้รู้อะไรที่คนอื่นยังไม่รู้  

ในทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ความใหม่ของผลงานวิจัยอยู่ตั้งแต่การค้นหาคำถามใหม่ๆ การค้นหาแนวทางการตอบคำถามเดิมด้วยคำตอบใหม่ๆ การค้นพบแหล่งข้อมูลใหม่ๆ หรือการตั้งคำถามใหม่เพื่อให้ได้คำตอบใหม่ๆ ความแปลกใหม่อาจจะวางอยู่บนฐานของความรู้เดิม หรืออาจเป็นความรู้ใหม่ถอดด้ามโดยสิ้นเชิง ซึ่งมักไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก เช่น นักประวัติศาสตร์อาจค้นพบหลักฐานใหม่ เพื่อทำความเข้าใจยุคสมัยที่เคยเข้าใจกันมาแบบหนึ่ง หรือนักประวัติศาสตร์บางคนเสนอมุมมองใหม่ต่อหลักฐานประวัติสาสตร์ชุดเดิม อันเนื่องมาจากการได้มุมมองแบบใหม่เปลี่ยนไปจากเดิม หรือส่วนนักสังคมวิทยาซึ่งมักทำงานวิจัยแบบนักวิทยาศาสตร์ เขาอาจตั้งข้อสมมุติฐานจากการค้นคว้าทางเอกสารและจากงานวิจัยของคนอื่น แล้วต้องการทดสอบดูว่าแนวทฤษฎีที่ศึกษากันมานั้นสามารถเข้าใจปรากฏการณ์ใหม่ที่เขาพบได้หรือไม่ หรือหากจำเป็นก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนทฤษฎีที่มีอยู่ เพื่อที่จะได้สามารถอธิบายปรากฏการณ์ใหม่ๆ 

คงไม่ต้องอธิบายนะครับว่าทำไมสังคมวิชาการจึงต้องการความใหม่ แต่ในเมื่อมีบางคนที่ยังอาจไม่เข้าใจก็จะขออธิบายสั้นๆ ว่า ที่สังคมวิชาการต้องการความใหม่ ก็เพราะสังคมวิชาการสากลแบบที่ชาวโลกเขาเป็นกันนั้นให้คุณค่ากับการขยายขอบเขตความรู้ออกไปเรื่อยๆ ความก้าวหน้าทางวิชาการวัดกันที่การเสนอข้อเสนอใหม่ๆ ในการทำงานวิชาการในระดับสูงไม่ว่าจะเป็นการทำวิทยานิพนธ์ หรือการทำงานวิจัย นักวิจัยจะตั้งคำถามวิจัยว่าอะไรก็ตาม แต่คำถามสำคัญที่สุดที่นักวิจัยจะต้องตอบให้ได้คือ งานที่จะทำนี้ให้อะไรใหม่ในแวดวงวิชาการของตนเองบ้าง การให้อะไรใหม่อาจเป็นการต่อยอดจากความรู้เดิมขึ้นไปอีกหน่อยก็ยังดี หรืออาจเป็นการค้นพบอะไรใหม่โดยสิ้นเชิงได้ก็ยิ่งดี 

ยกตัวอย่างเช่น ในวิชาการสายมานุษยวิทยาที่ผมคุ้นเคย นักมานุษยวิทยาอาจค้นพบสังคมใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครศึกษามาก่อน เช่น อาจารย์ผมท่านหนึ่งที่เลือกศึกษาตามแนวทางนี้ ท่านเปิดแผนที่หาเลยว่ามีสังคมไหนบ้างที่ยังไม่มีใครศึกษา แล้วก็มีจริงๆ ในหมู่เกาะแปซิฟิก เหนือประเทศออสเตรเลีย แต่นั่นคือเมื่อสัก 30 ปีที่แล้ว ปัจจุบันแทบจะไม่เหลือสังคมใหม่ๆ ให้ค้นพบอีกแล้ว ข้อดีของการพบสังคมใหม่ๆ ก็คือการได้พบว่า มีวิถีชีวิตมนุษย์ที่แตกต่างออกไปจากที่เราคุ้นเคยอีกมาก เพื่อเป็นทางเลือกให้มนุษย์ที่เคยคิดว่าเราจะต้องอยู่แบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น อย่างอาจารย์ผมคนนี้เธอสนใจเรื่องความสัมพันธ์ของผู้หญิงกับผู้ชาย สังคมที่เธอพบเป็นสังคมที่ฐานะของผู้หญิงทัดเทียมกับผู้ชายมาก เป็นการพิสูจน์ว่าสังคมที่แตกต่างจากตะวันตกที่ผู้หญิงมีสิทธิไม่เท่าผู้ชายนั้นมีอยู่จริง พูดง่ายๆ คือ ผู้หญิงไม่ได้เกิดมาเป็นช้างเท้าหลัง 

แต่บางทีนักมานุษยวิทยาบางคนอาจค้นพบแง่มุมใหม่ๆ ในสังคมที่เคยศึกษากันมาแล้ว เช่น มีการพบด้านของวัฒนธรรมผู้หญิง ในสังคมที่เคยมีนักมานุษยวิทยาชื่อดังศึกษามาก่อนแล้ว แต่เขากลับศึกษาเฉพาะด้านที่เป็นสังคมของผู้ชาย จะด้วยความไม่ระวังของเขาเองจึงทึกทักเอาว่าข้อมูลจากผู้ชายก็บอกเล่าความเป็นไปของสังคมได้ครบถ้วนแล้ว หรืออาจจะด้วยการละเลยผู้หญิงก็แล้วแต่ ข้อค้นพบนี้ดีหลายอย่าง หนึ่งคือเราจะได้เข้าใจสังคมนั้นมากขึ้น นอกจากนั้น ยังทำให้เราต้องระวังว่าสังคมที่เราศึกษายังมีด้านอื่นๆ ที่เราละเลยหรือไม่ หรืออย่างน้อยเราต้องเผื่อใจไว้ด้วยว่าผลงานวิจัยของเราไม่ได้สามารถอธิบายอะไรได้ทุกอย่าง ยังคงมีบางด้านบางมุมที่เราอธิบายไม่ได้หลงเหลืออยู่ รอให้คนอื่นหรือเราเองกลับไปศึกษาเพิ่มเติม ที่จริงยังมีวิธีอื่นๆ อีกที่จะค้นหาความใหม่เพื่อขยายความรู้ แต่แค่นี้คงพอให้เห็นภาพได้บ้างว่าทำไมนักวิชาการจึงต้องการความใหม่และความใหม่สำคัญต่องานวิชาการอย่างไร

 

ที่จะต้องย้ำคือ ความแปลกใหม่ที่สังคมวิชาการต้องการนี้ได้มาด้วยเสรีภาพทางวิชาการ หากไม่มีเสรีภาพทางวิชาการ เช่น ห้ามไปศึกษาสังคมอื่นๆ ศึกษาเฉพาะสังคมที่เราเชื่อกันว่าดีงามเป็นอุดมคติ อย่างที่เชื่อกันว่าสุโขทัยเป็นต้นแบบการเมืองการปกครองไทยที่ดีก็พอแล้ว นักวิชาการก็คงจะย่ำเท้าไปยังที่เดิมๆ ไม่ได้ต้องไปหาสังคมที่ไหนใหม่ๆ เพราะแค่ศึกษาสังคมที่เชื่อกันว่าเป็นสังคมในอุดมคติที่ไหนในอดีตสักแห่ง ยึดเป็นสรณะ แล้วเลิกค้นหาความจริงนอกเหนือจากสังคมนั้น อย่างนี้ไม่เรียกว่างานวิชาการ เพราะเป็นการจำกัดเสรีภาพในการค้นหาความจริง นอกจากนั้น หากไม่มีเสรีภาพทางวิชาการนักวิชาการก็จะวิจารณ์กันไม่ได้ ไม่มีอิสระในการแสดงความคิดความอ่าน จะท้าทายครูอย่างเป็นเหตุเป็นผลด้วยข้อมูลหลักฐานก็ไม่ได้ อย่างนี้ก็ไม่เป็นวิชาการ เพราะไม่สามารถตั้งคำถามใหม่ๆ หรือห้ามถามคำถามที่ครูไม่เคยถาม ที่ครูอาจตอบไม่ได้ อย่างนี้ก็จะไม่มีวันได้อะไรใหม่ๆ มีแต่การท่องบ่นตำราเดิมๆ ก็ไม่ต้องมีการทำงานวิชาการ เรียนตามครูก็พอแล้ว 

 

สังคมวิชาการจึงเป็นคนละเรื่องกันกับสังคมของการสั่งสอน สังคมวิชาการมีหลักการพื้นฐานสำหรับการสั่งสอน แต่ถึงที่สุดแล้ว สังคมวิชาการสอนให้คนคิดเอง สอนให้เป็นตัวของตัวเอง เพื่อจะได้สร้างสรรค์ ค้นหาความรู้ใหม่ๆ มาเพื่อสังคม ที่ใครจะมาสั่งให้นักวิชาการสอนว่านักการเมืองดีต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้อะไรน่ะ แบบนั้นไม่ใช่เรียกการทำงานวิชาการ ท่านจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ แต่นักวิชาการมักเรียกการสอนแบบนั้นว่าการเทศนา สังคมวิชาการในปัจจุบันไม่ใช่สังคมเทศนา นักวิชาการที่ดีไม่ได้สอนให้ลูกศิษย์เชื่อ แต่สอนให้ลูกศิษย์คิดค้นอะไรใหม่ๆ ถึงที่สุดคิดอะไรที่เกินเลยไปจากครู จะล้มครูก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องล้มก็ได้ คิดต่อยอดจากครูก็ได้ หรือจะหาครูใหม่ไม่เดินตามครูเดิมก็ได้

ฉะนั้น การที่นักวิชาการหวงแหนเสรีภาพทางวิชาการก็เพราะเสรีภาพทางวิชาการคือหลักประกันอาชีพของพวกเขา หากนักวิชาการคนไหนไม่หวงแหนเสรีภาพทางวิชาการ เขาก็คงเป็นได้แค่ผู้ผลิตซ้ำความเชื่อเดิมๆ หรือไม่ก็กลายเป็นทาสของระบบ หรือไม่ก็คอยเกาะเกี่ยวผลประโยชน์จากการแอบอิงอยู่กับผู้เผด็จการ เพื่อกีดกันความเห็นทางวิชาการของคู่แข่งทางความคิดออกไป เพื่อให้มีแต่ความเห็นของตนเองเท่านั้นที่ถูกต้อง

คนประเภทนี้ไม่ควรถูกเรียกว่านักวิชาการ เพราะเป็นคนขี้ขลาดทางความคิด เกรงกลัวความเห็นที่แตกต่าง ไร้น้ำยาทางวิชาการ กระทั่งยอมเอาหน้าไปซุกใต้ปีกอำนาจเผด็จการทหาร เพื่อให้มีเพียงความเห็นของตนเท่านั้นที่จะได้แสดงออก

แต่ทว่า เสรีภาพทางวิชาการไม่ได้เป็นเพียงเสรีภาพในการประกอบการงานอาชีพของนักวิชาการ เสรีภาพทางวิชาการมีความหมายมากยิ่งกว่านั้น เสรีภาพทางวิชาการคือส่วนหนึ่งของเสรีภาพที่เป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย นั่นคือเสรีภาพในการแสดงความเห็น และที่ใหญ่กว่านั้นคือเสรีภาพในการแสดงออก หากพิจารณาแบบกลับด้านกันว่า ถ้านักวิชาการในสังคมเราไม่มีเสรีภาพทางวิชาการแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับสังคม

ประการแรก สังคมจะสูญเสียข้อเท็จจริง ความรู้วางอยู่บนหลักเหตุผลในการวิเคราะห์และข้อเท็จจริง ความรู้อาจไม่ได้มีมุมมองเดียว ความรู้ที่ถูกนำเสนออาจไม่รอบด้าน นักวิชาการที่มีใจเป็นธรรมย่อมรู้ดีว่า ความจริงเท่าที่ตนค้นพบนั้นไม่ได้สมบูรณ์หนักแน่นเสียจนหาข้อผิดหามุมมองที่แตกต่างออกไปหรือหาข้อมูลที่แตกต่างกันไปมาหักล้าง หรืออย่างน้อยเสริมเติมให้สมบูรณ์ขึ้นไม่ได้ เพียงแต่ความจริงเท่าที่ค้นพบมาจากข้อจำกัดที่นักวิชาการทุกคนมี ไม่ว่าจะศาสตราจารย์หรือนักวิจัยฝึกหัด ล้วนมีข้อจำกัด หากสังคมปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการ สังคมนั้นก็จะมีโอกาสได้รับรู้ข้อเท็จจริงอย่างจำกัดไปด้วย เมื่อความรู้จำกัด การพัฒนาสังคมจะไปได้ดีได้อย่างไร

ประการต่อมา สูญเสียแนวทางการวิเคราะห์ นอกจากข้อเท็จจริงแล้ว ความรู้ยังต้องอาศัยกรอบการวิเคราะห์ข้อมูล ไม่มีความรู้ชุดไหนที่สรุปมาจากข้อมูลล้วนๆ ความรู้ข้อสรุปทุกข้อมาจากมุมมองแบบใดแบบหนึ่งเสมอ หากปิดกั้นแนวการวิเคราะห์บางอย่าง ก็จะทำให้ขาดแนวทางที่เป็นทางเลือกแก่การวิเคราะห์ โลกเราสมัยหนึ่งนั้น ซีกโลก ตะวันตกŽ เคยปิดกั้นความรู้แบบมาร์กซิสม์ (Marxism) และความรู้แบบ ตะวันออกŽ มาก่อน การปิดกั้นแนวการวิเคราะห์ความรู้ทำให้เราสูญเสียมุมมองในการวิเคราะห์ เช่น ความรู้แบบมาร์กซิสม์ที่สอนเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคม ความขัดแย้งในสังคม และการเข้าใจความเชื่อมโยงด้านต่างๆ ของมนุษย์ทั้งความเชื่อ สังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ขณะที่แนววิเคราะห์สังคมศาสตร์อื่นๆ มักเน้นเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งของมนุษย์ นี่ทำให้เราต้องรอจนถึงทศวรรษที่ 1970s มหาวิทยาลัยในซีกโลกตะวันตกจึงจะสามารถศึกษาแนวคิดนี้ได้ ทั้งที่จริงๆ แล้วแนวคิดนี้เกิดมาก่อนหน้าเกือบร้อยปีแล้ว

ประการที่สาม สูญเสียความเสมอภาค สังคมที่มีเสรีภาพทางวิชาการคือสังคมที่มีความเสมอภาค เพราะการทำงานวิชาการไม่เห็นแก่หน้าอินทร์หน้าพรหมอะไร ไม่ว่าจะเป็นศาสตราจารย์ตำแหน่งสูงส่ง มีประสบการณ์ยาวนานแค่ไหน มีไอคิวสูงปรี๊ดขนาดไหน เขาก็ไม่ได้มีอำนาจทางวิชาการสูงไปกว่านักวิชาการคนอื่นๆ ไม่แม้จะสูงไปกว่านักเรียนของเขา เพราะในห้องเรียน ในบริบททางวิชาการ เขาจะต้องยอมรับฟังคนอื่น เขาจะต้องยอมรับข้อคิดเห็นของนักเรียนที่ให้เหตุผลหรือข้อมูลโต้เถียงเขา สังคมที่มีหลักเสรีภาพทางวิชาการจึงเป็นสังคมเปิด เปิดให้ความคิดเห็นไหลเวียนแลกเปลี่ยนกันได้ เปิดให้เกิดการถกเถียงกันอย่างเสมอหน้า ไม่ต้องยอมกันเพียงเพราะคู่ถกเถียงอาวุโสกว่า อาบน้ำร้อนมาก่อน หรือมีตำแหน่งใหญ่โตกว่า สังคมที่มีเสรีภาพทางวิชาการยอมให้ใครก็ได้เป็นนักวิชาการ หากงานศึกษาของเขาวางอยู่บนเหตุผลและข้อมูลที่หนักแน่นน่ารับฟัง สังคมแบบนี้ไม่กีดกันการเรียนรู้ ไม่กีดกันการเข้าถึงความรู้ด้วยตนเอง ให้ความเสมอภาคกันบนพื้นฐานของการทำงานวิชาการ

ประการที่สี่ สูญเสียการตรวจสอบผู้มีอำนาจ สังคมที่มีเสรีภาพทางวิชาการจะยอมรับการที่นักวิชาการวิจารณ์ผู้มีอำนาจได้ ถือว่าเป็นอีกกลไกหนึ่งของการตรวจสอบผู้นำ และอันที่จริง เนื่องจากใครก็เป็นนักวิชาการได้หากว่าเขาใช้หลักการทางวิชาการในการวิเคราะห์แล้วจึงวิจารณ์ ดังนั้น ในสังคมที่มีเสรีภาพทางวิชาการ ประชาชนคนไหนก็สามารถใช้หลักวิชาการวิจารณ์ผู้นำได้ สังคมที่ไร้เสรีภาพทางวิชาการจึงไม่เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบผู้นำได้ ช่องทางที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองจึงถูกปิดลงอย่างในประเทศไทยปัจจุบัน ยิ่งนักการเมืองถูกจำกัดบทบาท ยิ่งการเลือกตั้งอันเป็นช่องทางในการแสดงอำนาจตรวจสอบของประชาชนถูกปิดตาย ก็ยิ่งต้องเปิดให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่อย่างนั้นแล้วการใช้อำนาจก็จะยิ่งขาดการควบคุม ขาดการตรวจสอบ

ประการสุดท้าย ประชาชนในสังคมจะถูกผู้มีอำนาจละเมิดได้โดยง่ายมากยิ่งขึ้น สังคมที่ถูกผู้มีอำนาจปิดปากจะยิ่งเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจฉ้อฉล ไม่มีใครสามารถสะท้อนเสียงของผู้ที่ถูกละเมิดได้ ผู้คนที่ถูกอุ้มตัวสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ไม่สามารถรายงานได้ ไม่สามารถวิเคราะห์ได้ การใช้อำนาจคุกคามประชาชน ไล่ประชาชนออกจากพื้นที่ทำกินที่เขาอาศัยอยู่ยาวนาน ก็ไม่สามารถสะท้อนได้ ไม่สามารถวิเคราะห์ในที่สาธารณะได้


การมีเสรีภาพทางวิชาการจึงไม่ใช่เป็นเพียงหลักประกันของการประกอบอาชีพนักวิชาการ หากแต่การมีเสรีภาพทางวิชาการยังหมายถึงการให้หลักประกันว่า ใครก็สามารถเป็นนักวิชาการได้ และใครก็ตามก็มีเสรีภาพในการแสดงออกเสรีภาพในการให้ความเห็นได้ สังคมแบบนั้นจึงเป็นสังคมเปิด เป็นสังคมที่ประชาชนมีอำนาจแสดงออกได้อย่างเสรีในขอบเขตของกฎหมายที่ชอบธรรม เสรีภาพทางวิชาการเป็นเสรีภาพของทั้งสังคม เสรีภาพทางวิชาการจึงสำคัญต่อสังคมทั้งสังคม ไม่ใช่เพียงเพื่อให้นักวิชาการสามารถแสดงความเห็นต่อสาธารณะได้เท่านั้น

นักวิชาการมิได้มีสถานภาพพิเศษแตกต่างไปจากคนอื่นๆ ในสังคม เพียงแต่ความรู้ ข้อเสนอ มุมมองของนักวิชาการที่ทำงานอย่างตรงไปตรงมามักไม่ถูกใจผู้มีอำนาจ นักวิชาการไม่จำเป็นต้องท้าทายอำนาจ แต่ความรู้ทางวิชาการในตัวของมั่นเองนำมาซึ่งอำนาจอีกอย่างหนึ่งที่มีพลังท้าทายอำนาจจากแหล่งอื่น สังคมที่ให้เสรีภาพทางวิชาการจึงเป็นสังคมที่ผู้มีอำนาจเผด็จการไม่ชอบ เพราะสังคมแบบนั้นจะให้คุณค่ากับการขยายความรู้ ซึ่งต้องท้าทายอำนาจการครอบงำ ท้าทายการปิดกั้นความคิดอยู่เสมอไป

 

(ที่มา:มติชนรายวัน 13 ตุลาคม 2557)

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม