Skip to main content

หลายปีที่ผ่านมา สังคมปรามาสว่านักศึกษาเอาใจใส่แต่ตัวเอง ถ้าไม่สนใจเฉพาะเสื้อผ้าหน้าผม คอสเพล มังหงะ กับกระทู้ 18+ ก็เอาแต่จมดิ่งกับการทำความเข้าใจตนเอง ประเด็นอัตลักษณ์ บริโภคนิยม เพศภาวะ เพศวิถี เกลื่อนกระดานสนทนาที่ซีเรียสจริงจังเต็มไปหมด

 
แต่หลายปีที่ผ่านมาเช่นกัน ที่นักศึกษาเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งด้านอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม คงยังจำ "ยังแพด" กลุ่มเด็กโข่งที่นำโดยนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาสถาบันหนึ่งได้ ตามมาด้วยนักศึกษามหาวิทยาลัยแถวบางกะปิ ที่เกี่ยวข้องกับการปะทะกันในการชุมนุมคนเสื้อแดงแถวบางกะปิเมื่อปีกลาย
 
หลังการรัฐประหาร นักศึกษาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ต่างกลุ่มต่างก็เคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก พวกเขาล้วนเป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมนักศึกษากันมาก่อน เดิมทีพวกเขาอาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จัก ทุกวันนี้พวกเขาจำนวนหนึ่งถูกจองจำ เพราะพวกเขาจำนวนหนึ่งลุกขึ้นมาต่อต้านการรัฐประหาร ไม่ยอมจำนนกับระบอบเผด็จการ 
 
การเคลื่อนไหวของนักศึกษาในทศวรรษ 2550 มีข้อน่าสังเกตบางประการดังนี้
 
หนึ่ง ไม่เป็นขบวนการใหญ่โต เท่าที่ผ่านมา พวกเขายังไม่ได้รวมตัวกันอย่างเป็นเครือข่ายใหญ่โต แม้จะมีความพยายามบ้างในระยะเวลาแคบๆ อย่าง "ยังแพด" หรือมีการอาศัยองค์กรเดิมที่เคยแสดงออกในนาม "นิสิต" หรือ "นักศึกษา" แต่การรวมตัวในลักษณะนั้นก็กลับไม่มีพลังรับใช้พวกเขาได้อีกต่อไป พวกเขาจึงไม่ได้ใช้กลยุทธแบบที่นักศึกษารุ่นพ่อรุ่นแม่เขาเคยใช้มา หรือไม่อย่างนั้น พวกเขาก็ไม่ได้สนใจที่จะสร้างองค์กรใหญ่โตเทอะทะเพื่อทำกิจกรรมแต่อย่างใด สาเหตุอาจจะเนื่องมาจากลักษณะเด่นของนักศึกษาปัจจุบันที่จะกล่าวถึงต่อไปข้างหน้า
 
สอง กระจายตัวในหลายๆ จังหวัด ไม่กระจุกตัวในกรุงเทพฯ ขบวนการนักศึกษาในปัจจุบันไม่ได้มีธรรมศาสตร์ จุฬา มหิดล รามคำแหง เป็นหัวหอก เป็นศูนย์กลางดังแต่ก่อนในทศวรรษ 2510 นี่แสดงให้เห็นว่า การศึกษากระจายตัวจากกรุงเทพฯ ไปสู่ต่างจังหวัดแล้วอย่างเป็นผลสำคัญ จนทำให้นอกเหนือจากการมีสถานศึกษาแล้ว ยังมี "ผู้มีการศึกษา" ผู้ใช้ความรู้ความคิดในการทำกิจกรรมทางสังคมในสถานศึกษาเหล่านั้น นอกจากจังหวัดที่มีสถาบันการศึกษาใหญ่ๆ อย่างเชียงใหม่ที่มีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นต้นแล้ว นอกเชียงใหม่ ที่โดดเด่นขณะนี้มีนักศึกษาที่ขอนแก่น มหาสารคาม อุบลราชธานี หรือแม้กระทั่งที่ชลบุรีและปัตตานี จังหวัดเหล่านี้เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ทั้งสิ้น
 
การกระจายตัวนี้สอดคล้องกับการกระจายตัวทางการเมือง การกระจายตัวของกิจกรรมนักศึกษาแสดงว่าการเมืองกระจายตัวออกจากกรุงเทพฯ ไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น ต่างจังหวัดในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นชนบท เพราะมหาวิทยาลัยส่วนมากล้วนตั้งอยู่ในเขตเมือง หากแต่ที่สำคัญคือ นี่แสดงให้เห็นถึงดอกผลของการกระจายอำนาจทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระยะ 20-30 ปีที่ผ่านมา ทำให้การเมืองของนักศึกษาเองก็ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่เช่นเดิมอีกต่อไป
 
สาม ประเด็นเคลื่อนไหวหลากหลาย มีทั้งประเด็นเคลื่อนไหวการเมืองระดับชาติและประเด็นสิทธิเฉพาะด้าน ที่น่าสนใจคือ นอกเหนือจากประเด็นคลาสสิคคือการที่นักศึกษาเป็นปากเป็นเสียงให้ "ชาวบ้าน" ให้ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ เรื่องที่ทำกิน เรื่องสิทธิทางกฎหมายต่างๆ แล้ว นักศึกษายังเรียกร้องสิทธิ์ของตนเองมากขึ้น เช่นการต่อสู้แสดงสิทธิ์ในด้านอัตลักษณ์ทางเพศ เรื่องสิทธิการแสดงออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องเครื่องแบบนักศึกษา เป็นต้น
 
อย่างไรก็ดี ไม่ควรมองข้ามว่า นักศึกษาจะเลิกสืบทอดการเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิเสรีภาพต่อเนื่องจากคนรุ่นก่อนหน้าพวกเขา นักศึกษาที่เคลื่อนไหวเรื่อง "ส่วนตัว" มาก่อน หรือต่อสู้เพื่อ "ประเด็นปัญหาเฉพาะ" จำนวนมากในขณะนี้ ได้แปลงการรวมตัวของพวกเขามาต่อสู้เพื่อประเด็นสิทธิเสรีภาพ นี่แสดงว่าพวกเขาคงเล็งเห็นว่า การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพเป็นการต่อสู้ในประเด็นพื้นฐานของสิทธิอื่นๆ 
 
สี่ การแปลงวัฒนธรรมบริโภคนิยมเป็นสื่อการเมือง นี่เป็นแง่มุมที่แหลมคมของการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในปัจจุบัน นั่นก็คือการอาศัยสื่อสมัยใหม่อย่างโซเชียลมีเดีย และพื้นที่การแสดงออกของคนรุ่นเขาเองในการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นโรงภาพยนตร์ หรือแม้กระทั่งอาหารฟาสฟูด ฉากจากภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า ย่านช้อปปิ้ง วัตถุทางวัฒนธรรมสมัยนิยมเหล่านี้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง เป็นภาษาการเมืองของนักศึกษารุ่นปัจจุบัน 
 
การที่พวกเขาดึงเอาการเมืองออกมาจากพื้นที่สัญลักษณ์เดิมๆ ที่เคยจำกัดอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย หรือนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปเป็นพื้นที่ทางการเมืองใหม่ๆ นั้น ส่วนหนึ่งก็น่าจะเพราะพื้นที่ทางการเมืองดั้งเดิมอย่างมหาวิทยาลัยและอนุสาวรีย์ กลายเป็นพื้นที่ที่ถูกทำให้ปลอดประชาธิปไตย ถูกควบคุมจนหมดพลังประชาธิปไตยไปเนื่องจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยปัจจุบัน ที่ไม่แสดงบทบาทปกป้องประชาธิปไตยไม่พอและกลับยังเข้าไปร่วมมือกับคณะรัฐประหาร แต่อีกส่วนหนึ่ง การเคลื่อนไหวแบบใหม่ๆ ของนักศึกษาก็ได้นำประชาธิปไตยไปสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของพวกเขามากขึ้น นำประชาธิปไตยไปสัมพันธ์กับประชาชนทั่วไปมากขึ้น
 
ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะยุยงใคร เพียงแต่จะตอบย้ำข้อสังเกตโดยตลอดต่อเนื่องมาของผมว่า บทบาทของนักศึกษาไม่เคยห่างหายจากการเมืองไทย การปรากฏตัวของนักศึกษาในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในทุกวันนี้ตรงชัด แหลมคม สร้างสรรค์ แสบทรวง และใกล้ชิดประชาชน ในแบบฉบับของคนรุ่นปัจจุบันเอง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม