Skip to main content

ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า

แล้วหากใครเพิ่งมาอ่าน ก็โปรดกลับไปอ่านตั้งแต่ "โลกวิชาการไทย (ตอนแรก)" ด้วยนะครับ ไม่อย่างนั้นจะไม่เข้าใจว่าผมเขียนไปเพื่ออะไร ทบทวนสักนิด ผมตั้งโจทย์ไว้ในตอนแรกว่า ทำไมงานวิชาการไทยอย่างน้อยในโลกสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จึงไม่ค่อยติดระดับโลก ทั้งๆ ที่มีนักวิชาการจำนวนากที่ไปศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ เป็นอย่างนี้มานานแล้วและจะยิ่งแย่ไปเรื่อยๆ ผมสาธยายมาตอนหนึ่งเรื่องภาระการสอน ว่ามันเป็นอุปสรรคต่อการทำงานผลิตความรู้อย่างไร เน้นเฉพาะมหาวิทยาลัยที่คุยโม้ว่าอยากเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยนะครับ


ทำไมอาจารย์บางท่านจึงสามารถเอาเวลาไปทำวิจัยได้ ขอยกตัวอย่างนักวิชาการคนหนึ่งที่ผมรู้จักดี เขาสอนแต่ละปี 8 วิชา หลังเรียนจบกลับมาได้ 7 ปี พิมพ์งานวิจัยแล้ว 2 เล่ม พิมพ์บทความวิชาการทั้งในวารสารและในหนังสือไม่ต่ำกว่า 30 ชิ้น มีงานพิมพ์เป็นภาษาต่างประเทศเฉลี่ยปีละชิ้น ทำงานบริหารต่อเนื่อง บรรยายสาธารณะเป็นประจำ รับเป็นอาจารย์ดูแลวิทยานิพนธ์สม่ำเสมอ ทำไมเขาทำได้ ผมบอกเลยว่าตลอด 7 ปีที่ทำงานมาเขาคนนี้นอนเฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมง เขาไม่มีลูก ไม่ต้องผ่อนบ้าน ใช้รถเก่าที่น้องทิ้งไว้ให้

ส่วนคนอื่นเป็นอย่างไร บางคนไม่รับงานบริหารเลย บางคนพยายามจำกัดการสอนอย่างยิ่ง บางคนติดป้ายหน้าห้องตลอดการทำงานจนเกือบเกษียณว่าไม่รับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ แต่ทั้งหมดนั่นก็คือกรณียกเว้น อาจารย์ส่วนใหญ่มีภาระในชีวิตมากมาย แค่ภาระการสอนก็แย่แล้ว

ไม่ต้องมาใช้วิธีคิดแบบ methodological individualism ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวชนิดที่ว่าปวดท้องถ่ายก็ไปเข้าส้วมแล้วจะได้หายปวด แต่เป็นปัญหาที่โครงสร้างระบบอุดมศึกษา ใครมีอำนาจไม่อยากแก้ก็ช่วยไม่ได้ แต่อย่ามาให้ความหวังกับสังคมแบบลมๆ แล้งๆ ว่าอุดมศึกษาไทยจะถึงระดับสากลได้ (บางมหาวิทยาลัยน่ะ ที่เขาได้อันดับโลกเพราะเขาทำงานวิชาการเก่งหรือเพราะเขาตบตาเก่งกันแน่)

หากเจียดเวลาแบ่งแรงกายมาได้ มีโอกาสแค่ไหนที่อาจาร์คนหนึ่งจะทำวิจัยได้ ต้องอาศัยเวลาวันหยุตสุดสัปดาห์ วันหยุดช่วงปิดภาคเรียน ซึ่งก็มีอยู่เพียงน้อยนิด หรือหากจะลาเพื่อเพิ่มพูนความรู้ (sabbatical leave ต้องวงเล็บภาษาอังกฤษ เพราะมันเป็นการลาแบบพิเศษ) ก็ 5-6 ปีถึงจะลาได้ครั้งหนึ่ง แล้วแต่มหาวิทยาลัย

ในสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยวิจัยไม่ได้เป็นอย่างนี้ มหาวิทยาลัยให้อาจารย์ทำงาน 9-10 เดือน อีก 2-3 เดือนจะทำวิจัยหรือเขียนงานอะไรก็ทำไป หรือหากสามารถหาทุนได้ จะขอลาเมื่อไหร่ก็ได้ แต่อย่าลา 2 ปีติดกันก็แล้วกัน หากลา sabbatical leave ก็จะไม่ได้เงินเดือน ไปกินเงินจากทุนวิจัยหรือสถาบันที่ไปนั่งเป็น visiting scholar แทน 

ในอเมริกา บางครั้งภาควิชาในมหาวิทยาลัยวิจัยจึงแทบจะไม่มีอาจารย์เหลือสอนเลย อาจารย์บางคนสอนปีเว้นปีเพราะได้ทุนวิจัยตลอด บางทีภาควิชาก็จะจ้างคนมาสอนแทนอย่างที่ผมมาสอนที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินปีนี้ ก็มีวิชาหนึ่งที่สอนแทนอาจารย์ที่สอนประจำอยู่แต่เขาได้ทุนไปทำวิจัย ข้อนี้อาจจะดูไม่ดีกับนักศึกษา แต่มหาวิทยาลัยชั้นนำเขาทำอย่างนี้กันถึงได้งานวิจัยเป็นกอบเป็นกำ

สำหรับทุนวิจัย มหาวิทยาลัยในไทยก็ใช่ว่าจะขาดแคลน ปัจจุบันอาจารย์มหาวิทยาลัยมีโอกาสได้ทุนวิจัยมากมาย ผมเคยบริหารกองทุนวิจัย บอกได้เลยว่าทุนมีมากกว่าที่อาจารย์ขอเสียอีก มีบ้างที่บางปีต้องสับหลีกกันบ้าง แต่นอกจากระดับคณะ ยังมีทุนระดับมหาวิทยาลัย ทุนของสถาบันสนับสนุนการวิจัยต่างๆ อีกมากมาย มีมากกว่าที่อาจารย์จะขอทุนกันเสียอีก 

แต่ทุนวิจัยมากมายนั้นก็กลับแทบจะไม่มีคนขอ เพราะถ้าไม่ใช่ว่าอาจารย์ไม่มีเวลา ไม่มีแรงคิดทำวิจัยแล้ว อาจารย์บางคณะมีโอกาสได้ทุนวิจัยจากเอกชนซึ่งให้รายได้มากกว่า ผลงานก็อาจจะไม่ต้องถูกตรวจสอบเข้มข้นเท่าทุนวิจัยทางวิชาการ ส่วนทุนวิจัยทางวิชาการนั้น ถึงจะมีให้ขอมาก แต่ทุนวิจัยก้อนหนึ่งก็จำนวนเล็กน้อย น้อยนิดจนแทบจะขยับทำอะไรไม่ได้ แล้วทุนของทางราชการส่วนมากก็ไม่มีค่าตอบแทนนักวิจัย อาจารย์บางท่านจึงไปทำวิจัยให้เอกชน เพราะได้ผลตอบแทนดีกว่าแถมได้งานวิจัยที่พอเอาไปกล้อมแกล้มขอตำแหน่งทางวิชาการได้อีก

ข้อนี้มีประเด็นประหลาดที่มหาวิทยาลัยไทยที่ผมทำงานอยู่ มหาวิทยาลัยนี้มีสถาบันวิจัยทางสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์เก่าแก่อยู่ 4 สถาบัน หากเอ่ยชื่อใครๆ ก็จะต้องรู้จัก สี่สถาบันวิจัยนี้มีเงินสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยที่อยากเรียกตัวเองว่ามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งนี้เพียงปีละ 1 ล้านบาท นี่น้อยกว่ากองทุนวิจัยที่คณะเล็กๆ อย่างคณะผมได้รับจากมหาวิทยาลัยเสียอีก แล้ว 1 ล้านบาทนี้ไม่ใช่ว่าแต่ละสถาบันมีอำนาจบริหารเอง ต้องขอทุนจากส่วนกลาง ให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้พิจารณาว่าจะให้กับโครงการวิจัยไหนหรือไม่ 

นี่จะถือว่าแสดงอาการง่อยเปลี้ยของสถาบันวิจัยเหล่านั้น หรือจะเรียกว่าแสดงอาการปล่อยปละละเลยการวิจัยของมหาวิทยาลัยก็แล้วแต่ แล้วหากเอ่ยชื่อผู้อำนวยการสถาบันเหล่านั้นขึ้นมา อย่างน้อยสักคนหรือสองคนก็จะต้องเป็นที่รู้จักกันทั่ว เขาเหล่านั้นก็ทำงานกันไปโดยที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ สุดท้ายก็ต้องพึ่งรายได้จากเอกชน ทำให้งานวิชาการของสถาบันที่เคยมีชื่อเสียงเหล่านั้นกลายเป็นงานรับใช้แหล่งทุนเอกชน ตอบโจทย์ที่ไม่ได้แสดงความก้าวหน้าทางวิชาการอีกต่อไป

แต่จะว่าไป ทุนวิจัยของรัฐบาลก็ใช่ว่าจะไม่เป็นอุปสรรค โจทย์วิจัยของแหล่งทุนของรัฐมักจะเป็นโจทย์ที่ต้องตอบสนองนโยบายของรัฐ อย่างน้อยที่สุด ก็จะต้องเป็นโครงการวิจัยที่ตอบให้ได้ว่า ทำวิจัยไปแล้วจะให้ประโยชน์อะไรกับประเทศชาติ จุดเน้นที่ national interest นี้กลายเป็นข้อจำกัดไปอีก เช่น หากผมจะทำวิจัยเรื่องประเพณีประดิษฐ์ของรัฐเวียดนาม โดยขอทุนสถาบันวิจัยของรัฐไทย ผมก็จะต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า แล้วจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยอย่างไร 

ก็เพราะอย่างนี้แหละที่งานวิจัยของนักวิจัยไทยจึงหาทางไปตอบโจทย์ในระดับสากลได้ยาก เพราะนักวิชาการไทยจะต้องคอยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติอยู่ตลอดเวลา นี่กลับไปประเด็นเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ ถึงที่สุดแล้ว ความรู้ในประเทศไทยยังจะต้องตอบโจทย์ที่นักวิชาการไม่ได้ตั้งเอง ต้องตอบโจทย์ของเอกชนที่จ้าง หรือไม่ก็ต้องตอบโจทย์ของรัฐที่ให้ทุน

สรุปแล้ว ตอนนี้คงพอให้ภาพได้บ้างนะครับว่า นอกจากภาระการสอนจะเป็นอุปสรรคแล้ว โอกาสหาเวลาไปทำวิจัยก็ยากเย็นเมื่อเทียบกับในประเทศที่ผลิตงานวิจัยชั้นนำ นอกจากนั้นยังมีข้อจำกัดเรื่องทุน แต่อะไรก็ไม่เท่ากับว่า แหล่งทุนสำคัญๆ ของไทยยังไม่ส่งเสริมการทำวิจัยขั้นพื้นฐาน ยังปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการ ทำให้ไม่สามารถมีอิสระในการค้นคว้าได้เต็มที่ 

ทุนวิจัยอีกประเภทหนึ่งที่มีน้อยคือทุนทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งส่วนมากก็เป็นการวิจัยพื้นฐาน แต่รัฐไทยก็กลับไม่ลงทุน แต่ผมเขียนมายืดยาวแล้ว การให้ทุนทำวิทยานิพนธ์มีเรื่องเฉพาะของตัวเอง เก็บเอาไว้เล่าตอนต่อไปดีกว่า

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม