Skip to main content

วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 

เรื่องแรกคือ วันนี้มีนักศึกษามาปิดภาคเรียนวิชานี้กัน 18 คนจากทั้งหมด 21 คน ผมถือว่าแค่นี้ก็เป็นเรื่องน่ายินดีมากแล้ว เพราะตั้งแต่สอนหนังสือมา ส่วนใหญ่นักศึกษาปริญญาตรีจะไม่ใส่ใจวันสุดท้ายของการเรียนกัน วิชาที่ผมสอนส่วนใหญ่ไม่มีการสอบปลายภาค ฉะนั้นวันสุดท้ายจะไม่มีความหมายอะไรกับคะแนนของพวกเขา นอกจากว่าพวกเขาจะใส่ใจสนใจเรียนกันเอง ผมเลือกเชื่ออย่างนั้น

อาจจะเป็นการสบประมาทนักศึกษาที่เคยสอนในประเทศไทยบ้างหากจะบอกว่า นักศึกษาในห้องเรียนที่ผมเพิ่งสอนจบไปนี้เป็นห้องเรียนที่ดีที่สุดห้องหนึ่งที่เคยสอนมา ไม่ใช่ว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยสอนห้องเรียนไหนที่ดีเท่านี้ แต่หากเทียบคุณภาพนักศึกษาปริญญาตรี "ส่วนใหญ่" คือเกือบ 80% ของห้องนี้กับที่เมืองไทยแล้ว ผมว่านักเรียนที่นี่มีคุณภาพ "สูงกว่า" ที่เมืองไทย ในแง่ของความเอาใจใส่ต่อการเรียน ความตั้งใจทำงาน คุณภาพงานเขียน และการพัฒนาผลงานหลังจากได้รับคำแนะนำ

ไม่ใช่ว่านักศึกษาปริญญาตรีที่นี่จะเพียบพร้อมไปเสียทุกอย่างหรอก พวกเขายังต้องเรียนรู้การเขียน การอ่าน การอ้างอิงผลงาน การเรียบเรียงความคิด และการมีวินัยในการเรียน แต่โดยรวมๆ พวกเขาพัฒนากันเร็วและมีความตั้งใจสูงมากตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย

อีกเรื่องที่น่ายินดีคือ นับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ผมได้รู้จักกับพวกเขามากขึ้น จากการให้พวกเขาทำงานวิจัยเล็กๆ คนละชิ้น นักศึกษาส่วนใหญ่ศึกษาเรื่องใกล้ตัวที่ตนเองสนใจอยู่แล้ว ซึ่งก็สะท้อนตัวตนของแต่ละคนได้ค่อนข้างดี อย่างนักเรียนผิวสี ก็สนใจเรื่องวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับสีผิว นักเรียนเอเชียนก็มักสนใจเรื่องการปรับตัวทางวัฒนธรรมของสังคมหรือครอบครัวตนเอง นักเรียนหญิงสนใจเรื่องความเป็นหญิง คนชอบเล่นกีฬาก็สนใจเรื่องการเล่นกีฬา ซึ่งนี่ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับนักศึกษาที่เมืองไทยส่วนใหญ่

ที่แปลกออกไปก็มี เช่น นักเรียนอเมริกันผิวขาวคนหนึ่ง เคยไปเรียนมัธยมปลายที่อินโดนีเซียมาหนึ่งปี สามารถใช้ภาษา "บาฮาซา" ได้ และก็ยังคงสนทนาติดต่อกับเพื่อนที่อินโดฯ ก็เลยศึกษาเรื่องการใช้ภาษาของวัยรุ่นอินโดฯ ในโซเชียลมีเดีย อีกคนที่น่าสนใจคือนักเรียนอเมริกันที่ศึกษาการใช้พื้นที่ห้องสมุดในห้องสมุดหนึ่งของมหาวิทยาลัย ซึ่งว่ากันว่าเป็นห้องสมุดที่เงียบมากแห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยนี้ ส่วนอีกคนศึกษากลุ่มคนที่ประท้วงการบริหารงานของรัฐวิสคอนซินโดยเดินเข้าไปร้องเพลงในที่ทำการรัฐทุกวันธรรมดาเวลาพักเที่ยงเป็นจำนวน 10-20 คน หนึ่งในนั้นคือพ่อของนักศึกษาคนนี้เอง

อีกคนที่น่าสนใจคือนักเรียนเวียดอเมริกันที่สัมภาษณ์คนชราที่เขาทำงานด้วย นักเรียนคนนี้ทำงานบริการ ทำความสะอาด ดูแลให้ความช่วยเหลือคนชราในบ้านพักคนชราแห่งหนึ่ง เขาเล่าว่างานวิจัยเล็กๆ นี้ช่วยให้เขาได้พูดคุย ได้รู้จัก ได้เห็นแง่มุมความเป็นมนุษย์ของคนชราเหล่านี้มากขึ้น เขาบอกว่า จากที่เคยเห็นคนแก่เหล่านี้ว่าเป็นเพียง "งาน" ของเขา แต่เมื่อได้รู้ชีวิตเบื้องหลังแต่ละคนมากขึ้น ได้สังเกตรายละเอียดของชีวิตประจำวันมากขึ้น ได้รู้เกียรติประวัติหน้าที่การงานสำคัญของพวกเขาในอดีตมากขึ้น ได้เห็นความโดดเดี่ยวของพวกเขามากขึ้น แล้วที่สุดก็ทำให้เห็นคนชราเหล่านี้เป็นเพื่อนมนุษย์มากขึ้น

ผมให้นักศึกษาทำงานวิจัยเล็กๆ ของตนเองก็จริง แต่ก็ไม่ได้ให้ต่างคนต่างศึกษากันไปเงียบๆ อยู่คนเดียว ผมให้พวกเขาค่อยๆ พัฒนางาน ให้เขาได้เอางานเขียนมาแลกกันอ่าน ให้พวกเขาแนะนำวิจารณ์กันเองในกลุ่มย่อยๆ อยู่สัก 4 สัปดาห์ แล้วในสัปดาห์สุดท้ายของการเรียน ผมให้แต่ละคนนำเสนองานตัวเองสั้นๆ ให้ทุกคนได้ฟังได้สอบถามกัน

ที่น่ายินดีคือ วิธีนี้ทำให้พวกเขาได้เห็นมุมมอง ได้เห็นวิธีการตั้งคำถาม ได้เห็นแง่มุมของสังคม ได้รับรู้วิถีชีวิตที่แตกต่างออกไปจากตนเองจากที่แต่ละคนสนใจได้ดีมาก นักเรียนผิวขาวอเมริกันได้เรียนรู้เรื่องของนักเรียนม้ง นักเรียนไต้หวัน และนักเรียนเกาหลี นักเรียนอเมริกันภาคเหนือได้รู้จักมุมมอง ความสนใจ ของนักเรียนอเมริกันจากภาคใต้ นักเรียนผิวขาวได้รับรู้มุมมองของนักเรียนผิวดำ นักเรียนผิวดำได้รู้จักความสนใจของนักเรียนผิวขาว  

เรื่องที่ผมยินดีที่สุดในวันนี้คือ นักศึกษาคนหนึ่งที่แทบไม่เคยมาเรียนเลย แล้วไม่ได้ส่งงานเลยมาตลอดภาคการศึกษา ได้แวะมาหา ที่ผ่านมาผมเตือนให้เขาถอนวิชานี้เสีย แต่เขาอธิบายว่าเขาป่วยหนัก ต้องพักเรียนทุกวิชาหลายสัปดาห์แล้ว แต่จะต้องจบภาคการศึกษานี้ ขอความกรุณาให้ผมผ่อนปรนแล้วเขาจะมาเรียนให้ได้ แต่สุดท้ายเขาก็มาเรียนไม่ได้ วันนี้เขามาหา เอางานมาส่งครบ แล้วอธิบายความเจ็บป่วย เขายอมรับเงื่อนไขว่าเขาจะไม่มีทางได้เกรดสูงๆ ผมรับงานเขา แล้วบอกว่าจะให้โอกาสเขาเท่าที่พอจะทำได้

เสียดายแต่ว่านักศึกษาที่เรียนด้วยไม่ได้มาอ่านบันทึกนี้ แต่เอาไว้ผมจะเขียนไปเล่าให้พวกเขาอ่านว่าได้อะไรจากห้องเรียนนี้บ้าง ที่จริงผมอยากถามพวกเขาแบบที่มักจะถามนักศึกษาเมื่อปิดภาคการศึกษาเสมอๆ ว่า พวกเขาได้อะไรใหม่ๆ จากการเรียนวิชานี้บ้าง พวกเขามีอะไรแนะนำเพื่อการปรับปรุงวิชานี้บ้าง เสียดายที่เวลาไม่พอ สุดท้ายก็เฝ้ารอที่จะได้อ่านงานเขียนชิ้นสุดท้ายของพวกเขา หวังว่าจะได้อ่านงานเขียนดีๆ และได้เรียนรู้อะไรจากพวกเขาเพิ่มขึ้นอีก

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม