Skip to main content

ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร

(1)

หากจะลองทบทวนดูสักหน่อย จะเห็นขั้นตอนของการขยายขอบวงของการก้าวพ้นความกลัวนี้เป็นลำดับ หลังจากนักศึกษาที่แสดงออกอย่างสงบสันติในวาระครบหนึ่งปีรัฐประหาร แต่กลับถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่กล้าแสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ และการเรียกตัวนักศึกษาที่ทำกิจกรรมสะท้อนเสียงของประชาชนผู้เดือดร้อนจากการร่วมมือของเจ้าหน้ารัฐกับกลุ่มทุนในการเบียดบังทรัพยากรท้องถิ่นจนกลายไปเป็นการต่อต้านเผด็จการทหาร ประชาชนก็เริ่มให้ความสนใจสนับสนุนนักศึกษาสสองกลุ่มนี้มากขึ้นเรื่อยๆ  

จากการชุมนุมสนับสนุนนักศึกษาหน้าโรงพักปทุมวัน โรงพักพระราชวัง และศาลทหาร ก็ขยายไปสู่การลงชื่อในแถลงการณ์ของกลุ่มนักเขียน ซึ่งขยับจากไม่กี่สิบคนในวันที่อ่านแถลงการณ์เมื่อ 27 มิย. 58 ไปเป็นหลัก 10,000 คนในวันที่ 28 มิย. 58 ในขณะที่กลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยที่จำนวนมากแทบไม่เคยแสดงออกทางการเมืองมาก่อน หรือแม้แต่คณาจารย์ที่เคยสนับสนุนขบวนการประชาชนที่เรียกร้องการฉีกรัฐธรรมนูญโค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งมาก่อน ก็กลับเข้าร่วมแสดงตนอย่างเปิดเผย ทั้งลงชื่อถึง 281 ชื่อภายในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน ดังที่มีแถลงการณ์ในวันที่ 30 มิย. 58 

(2)

หลายคนมองว่าการลงชื่อในแถลงการณ์ก็เป็นแค่บัญชีหางว่าว แถมหลายคนอาจเกรงว่าจะถูกนำชื่อของพวกเขาไปใช้สร้างชื่อเสียงของคนนำขบวน หรือบ้างก็เกรงว่าจะถูกนำไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่พวกเขาไม่ต้องการในภายหลัง การลงชื่อในแถลงการณ์จึงเป็นการแสดงออกที่ผู้ลงนามต้องไตร่ตรองแล้วอย่างระมัดระวังยิ่งนัก แม้กระนั้น ปฏิกิริยาของประชานต่อการจับกุมนักศึกษาได้กระตุ้นให้คนจำนวนมากเลือกที่จะแสดงตน การลงชื่อในแถลงการณ์จึงมีความหมายมากกว่าเพียงรายนามที่เสมือนคนนิรนาม  

ยิ่งในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานที่คณะรัฐประหารยังมีกำลังอำนาจและแสดงการข่มขู่ประชาชนอยู่ตลอดอย่างทุกวันนี้ การลงนามในแถลงการณ์ต่างๆ ที่แสดงการขัดขืนสวนทางกับอำนาจเผด็จการอย่างชัดเจน ย่อมเป็นการแสดงหน้าค่าตาของประชาชนอย่างประจักษ์แจ้ง ว่าพวกเขาได้ก้าวออกมาแสดงตนประกาศว่า ระบอบที่เป็นอยู่ไม่ชอบธรรม

นี่คือการตอบโต้ต่อความไม่ชอบธรรมของการใช้อำนาจอย่างตรงไปตรงมา หลังการรัฐประหาร การแสดงออกของประชาชนถูกปิดกั้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง นั่นก็อาจปิดปากประชาชนไปได้บ้าง แต่เมื่อการแสดงออกของนักศึกษาซึ่งเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่แสดงตนอย่างสันติ รวมทั้งกลุ่มนักศึกษาที่ต่อสู้เพื่อความเดือดร้อนของประชาชน แต่พวกเขากลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงในการกำราบ นำพวกเขาไปกักขัง กระทั่งเรียกพวกเขาว่าเป็น "คนร้าย" สังคมก็ยิ่งตั้งคำถามมากขึ้นว่า สิ่งที่รัฐบาลทำนี้ถูกต้องแล้วหรือ

(3)

หากจะไม่ประเมินถึงขั้นที่ว่าประชาชนที่สนับสนุนนักศึกษากำลังแสดงออกทางการเมืองอยู่ อย่างน้อยที่สุด ประชาชนก็กำลังแสดงความห่วงใยต่ออนาคตของประเทศ นักศึกษาเพียง 14 คนที่แสดงออกอย่างสันติและหวังดีต่อสังคมและประเทศ จะต้องมาเสียอนาคตเพียงเพราะผู้นำเผด็จการเกรงกลัวว่าการแสดงออกของนักศึกษาจะฟ้องให้เห็นความไม่ถูกต้องของตนเอง เพียงเพราะเกรงว่าจะควบคุมสถานการณ์ไม่ได้จึงใช้มาตรการที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ นี่ยิ่งเป็นแรงขับสำคัญที่เกินความอดกลั้นของประชาชนที่รักความเป็นธรรม

การแสดงออกของประชาชนส่วนหนึ่งจึงออกมาในรูปของความเป็นศิษย์กับครู รวมทั้งความเป็นญาติพี่น้องเพื่อนฝูงมิตรสหาย ถ้อยคำที่ว่า "เราคือเพื่อนกัน" และ "คณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง" แสดงออกอย่างชัดเจนว่า สายใยทางสังคมของความเป็นเพื่อน เป็นครูกับศิษย์ มีความสำคัญทาบทับอยู่กับความสัมพันธ์ทางการเมืองในฐานะประชาชน ยิ่งเมื่อใครที่ไปเยี่ยมนักศึกษาที่เรือนจำได้พบพ่อแม่ของนักศึกษา ได้ทราบความห่วงใยความเดือดร้อนของนักศึกษา และทราบว่าคณาจารย์จำนวนมากก็กำลังดำเนินการหาทางช่วยเหลือด้านการเรียนของนักศึกษา ก็ย่อมรู้สึกสะเทือนใจกับการที่พลังความหวังดีต่อสังคมที่แสดงออกบนพื้นฐานของความรักเพื่อนมนุษย์ กลับจะต้องถูกปราบปรามอย่างรุนแรงราวกับเป็นโจรผู้ร้าย

(4)

ในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทย "นักศึกษา" มีที่ยืนเฉพาะของตนเอง ถ้าพวกเขาไม่ใช่นักศึกษาที่เฉื่อยชา ที่ศึกษาเล่าเรียนเพื่อจบไปทำงานกินเงินเดือนสูง ก็ยังมีสถานะของประชาชนหนุ่มสาวผู้แสวงหาอุดมคติและเสียสละเพื่อประชาชนผู้เสียเปรียบ เสียงที่บอกว่านักศึกษามีหน้าที่ศึกษาเล่าเรียน ไม่ใช่มาแสดงออกทางการเมือง จึงเป็นเสียงที่จงใจปิดหูปิดตาตนเองต่อสถานะความเป็นประชาชนของนักศึกษา บ้างที่เบาหน่อยก็บอกว่า ภายใต้ระบอบเผด็จการอย่างนี้ เคลื่อนไหวไปก็มีแต่จะเจ็บตัว ถูกลืมไป หรือไม่ก็กลายเป็นเครื่องมือของใครไปเสียเปล่าๆ หรือบ้างที่สนับสนุนอำนาจเผด็จการก็บอกว่า นักศึกษาต้องรู้จักหน้าที่ เป็นนักศึกษาก็ต้องศึกษาเล่าเรียน

เสียงเหล่านี้มองข้ามไปว่าหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยก็คือการปกป้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของตนเอง ประการหนึ่งคือสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติโดยไม่ละเมิดผู้อื่น นักศึกษาเหล่านี้ไม่ได้ก่อความวุ่นวายอะไรเลย ไม่ได้ใช้กำลังปิดกั้นสถานที่ราชการหรือสถานที่สาธารณะใดๆ ไม่ได้เอาปืนเอาอาวุธไปบังคับขู่เข็ญใคร ไม่ได้ฉีกรัฐธรรมนูญแล้วต้องมานิรโทษกรรมต่อความผิดที่ตนเองรู้แก่ตัวดีว่าก่อกรรมลงไป  

หากยึดมั่นในคุณธรรมของสังคมประชาธิปไตย การปกป้องสิทธิเสรีภาพเป็นปฏิบัติการขั้นพื้นฐานของประชาชน ใครที่เรียกร้องให้ทำลายหรือปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ใครที่ปกป้องอำนาจเผด็จการต่างหาก ที่ไม่รู้จักหน้าที่ของตนเอง ผู้คนในสังคมประชาธิปไตยไม่ได้เป็นเพียงพ่อค้าแม่ขาย เป็นนักเรียนนักศึกษา เป็นครูบาอาจารย์ หรือเป็นผู้ประกอบอาชีพอื่นใดเพียงเท่านั้น แต่ผู้คนในสังคมประชาธิปไตยยังเป็นประชาชนที่มีสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่จะต้องร่วมกันปกป้องอีกด้วย

(5)

ประการสำคัญ หากรัฐบาลและคณะผู้เผด็จการจะไม่สนใจรับฟังเสียงเหล่านี้ ประชาชนทั่วไปก็ควรไตร่ตรองพิจารณาเสียงสะท้อนของนักศึกษาและประชาชนผู้สนับสนุนนักศึกษาให้ถี่ถ้วน ประชาชนไม่ได้จำเป็นต้องเห็นว่านักศึกษาคือ "พลังบริสุทธิ์" แต่นักศึกษาก็ไม่จำเป็นต้อง "มีใครอยู่เบื้องหลัง"  

ลองนึกดูง่ายๆ ว่า ใครจะอยู่เบื้องหลังนักศึกษากลุ่มดาวดินที่พยายามส่งเสียงแทนประชาชนที่เดือดร้อน ในสภาวะปัจจุบันที่ไม่มีนักการเมืองเป็นปากเสียงให้ประชาชนได้ ในภาวะที่การแสดงออกถูกปิดกั้น ใครจะได้ประโยชน์จากการแสดงออกของกลุ่มดาวดิน หรือในภาวะที่การแสดงออกทางสัญลักษณ์ทุกประเภทเพื่อเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออกถูกปิดกั้นหมด ใครจะได้ประโยชน์จากการเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออก หากไม่ใช่ประชาชนทั้งหมดที่ไม่สามารถจะส่งเสียงแสดงความเห็นในโอกาสและสถานที่ที่ประชาชนไว้วางใจ เป็นตัวของตัวเอง และรู้สึกปลอดภัยได้ในภาวะการณ์ปัจจุบัน

การปิดป้ายว่ากลุ่มนักศึกษามีเบื้องหลัง คือการบอกปัดปัญหาที่รุมเร้ารัฐบาลอยู่มากกว่า รัฐบาลจะต้องยอมรับฟังและแก้ไขปัญหาเหล่านี้มากกว่า เพราะนั่นคือปัญหาปากท้องของประชาชนที่นักศึกษาเรียกร้อง นั่นคือปัญหาสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่นักศึกษาสะท้อน คือปัญหาความไม่สมประกอบตามครรลองสังคมประชาธิปไตย ที่นักศึกษาละประชาชนจำนวนมากเรียกร้อง

สุดท้ายขอสรุปว่า ความรู้สึกก้าวข้ามขีดความกลัวนี้ไม่ได้มาจากความกล้าหาญที่มีมากขึ้น แต่มาจากความสำนึกต่อคุณธรรมพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย มาจากความรู้สึกถึงการคุกคามสวัสดิภาพขั้นพื้นฐานจากอำนาจไม่ชอบธรรมจนขีดสุดของความอดทน มาจากการทำหน้าที่ประชาชนที่จะต้องปกป้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของตนเองโดยสงบและสันติ สำนึกนี้จะแจ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าสังคมไทยกลับไปเดินบนเส้นทางสู่สังคมประชาธิปไตยอีกครั้ง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม