Skip to main content

เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 

ทรรศนะดังกล่าวไม่ต่างอะไรกับการมองคนในวัยศึกษาเล่าเรียนในสังคมไทย หลังการประกาศห้ามขายสุราในระยะ 300 เมตรรอบสถานศึกษา ทรรศนะนี้สอดคล้องกับคำขวัญที่หน่วยงานหนึ่งซึ่งอาศัยรายได้หลักในการสร้างอำนาจมาจากภาษีบาป ใช้รณรงค์ว่า "จน เครียด กินเหล้า" เด็กและเยาวชนในสังคมไทยถูกมองว่าเป็นผู้ไม่รู้จักรับผิดชอบ ไม่รู้จักดูแลตนเอง และแม้จะมีกฎหมายกำหนดอายุของคนว่าจะต้องเกิน 20 ปี จึงจะดื่มสุราได้ ก็ยังมีกฎเกณฑ์เพิ่มเติมมาจำกัดการดื่มสุราของเยาวชนเป็นพิเศษ

แม้ว่าสังคมอเมริกันจะพยายามควบคุมเยาวชนแค่ไหน เขาก็ยังมีขอบเขต มีการกำหนดสถานที่ชัดเจน กำหนดเวลา (ทั้งนี้แล้วแต่มลรัฐจะกำหนด) และกำหนดอายุว่าต้องเกิน 21 ปี อย่างเอาจริงเอาจัง การซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสหรัฐอเมริกาจึงต้องแสดงบัตรแทบทุกครั้ง ไม่ว่าจะผมหงอกหรือผมดำ เพียงแค่จะเดินเข้าร้านขายแอลกอฮอล์ก็ต้องตรวจบัตรประจำตัวก่อนแล้วว่าอายุถึงเกณฑ์ดื่มได้หรือเปล่า แต่เขาก็ไม่ได้กีดกันการดื่มแอลกอฮอล์อย่างแทบจะเอาเป็นเอาตายแบบในประเทศไทยทุกวันนี้

สำหรับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิชาการชั้นนำของโลกหลายแห่งที่ผมเคยได้ไปเยือน ผมยังไม่เห็นมีที่ไหนเป็นเขตปลอดสุราอย่างอย่างที่พ่อแม่ผู้ปกครองไทยจะวางใจได้ อาจจะเว้นก็แต่ประเทศมาเลเซีย เมื่อปีที่แล้วที่ผมไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ทางมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้เชิญผมไปร่วมเสนอผลงานวิชาการ ผมก็มีโอกาสได้เปิดหูเปิดตาทางวิชาการและได้ไปสัมผัสเสี้ยวชีวิตของนักศึกษา ครูบาอาจารย์ และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งนี้บ้าง ส่วนหนึ่งก็คือการได้เที่ยวดื่มกินกับนักวิชาการของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เป็นที่รู้กันดีว่าฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับหนึ่งของโลกติดต่อกันหลายสิบปี ชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยนี้ก็เหมือนๆ กับชุมชนรอบมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกา ที่อุดมไปด้วยผับ-บาร์ ร้านขายไวน์ ขายสุรา ล้อมหน้าล้อมหลังมหาวิทยาลัย แค่ชั่วเดินไม่กี่สิบก้าวจากห้องเรียนก็ถึงที่ดื่มแล้ว

ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินแห่งเมืองแมดิสัน ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปีถัดจากปีที่รัฐก่อตั้งขึ้นเมื่อเกิน 150 ปีที่แล้ว ก็อุดมไปด้วยผับ-บาร์ เฉพาะในมหาวิทยาลัยเองก็ยังมีบาร์ถึง 2 แห่ง ตั้งอยู่ในสโมสรนักศึกษาเลย ณ สโมสรนักศึกษาที่ชื่อเมมโมเรียลยูเนียน มีบาร์เก่าแก่ของมหาวิทยาลัยชื่อ "เดอ แรธสเคลเลอร์" (Der Rathskeller) ซึ่งตั้งชื่อตามคำเรียกบาร์สไตล์เยอรมัน แถมตกแต่งอาคารแบบบาร์เยอรมันในปลายศตวรรษที่ 19 อีกด้วย มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีนักวิชาการไทยจบการศึกษามามากมายหลายรุ่น กระทั่งที่เสียชีวิตไปแล้วก็มี ผมมั่นใจว่าท่านเหล่านั้นจะต้องล้วนแล้วแต่เคยไปดื่มกินที่บาร์แห่งนี้ก่อนกลับมารับใช้ทำประโยชน์ให้ประเทศไทยอย่างแน่นอน เพราะบาร์นี้เปิดมาตั้งแต่ พ.ศ.2471 แล้ว การดื่มกินเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทางสังคมของสังคมการศึกษา และแน่นอนว่าผมเองก็มีโอกาสได้ไปนั่งแลกเปลี่ยนความรู้ ทั้งกับนักศึกษาและกับคณาจารย์ในบาร์แห่งนี้บ้างตามสมควร

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยวิสคอนซินยังร่วมหุ้นกับโรงเบียร์เปิดใหม่แห่งหนึ่งของรัฐวิสคอนซิน ทั้งนี้ เพราะรัฐวิสคอนซินกำลังกลายเป็นรัฐที่ปลูกฮอป พืชที่เป็นส่วนผสมสำคัญที่ทำให้เบียร์มีกลิ่นหอมพิเศษ ให้รสหวานอมขมเฉพาะตัว การร่วมหุ้นกับโรงเบียร์ท้องถิ่นจึงเป็นทั้งการส่งเสริมการศึกษาวิจัยด้านการเกษตร ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐที่เลี้ยงดูมหาวิทยาลัยรัฐแห่งนี้ พร้อมๆ กับเป็นการส่งเสริมธุรกิจท้องถิ่น ไม่ใช่ส่งเสริมการผูกขาดการผลิตสุรา ผูกขาดผลประโยชน์จากแอลกอฮอล์ให้อยู่ในมือนักธุรกิจเอกชนไม่กี่รายอย่างในประเทศไทย ในบาร์ของมหาวิทยาลัยเองจึงมีเบียร์ท้องถิ่นให้เลือกกว่า 20 ชนิด ในราคาที่ย่อมเยากว่าไปดื่มที่บาร์นอกมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยอื่นๆ ในโลกส่วนใหญ่ก็ล้วนเป็นเช่นนี้ หากจะเลือกกล่าวถึงเฉพาะมหาวิทยาลัยที่ผมเคยได้ไปเยือน อย่างเช่น มหาวิทยาลัยซิดนีย์ มหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งในออสเตรเลีย ที่มีผลงานและนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องประเทศไทยคนสำคัญๆ หลายคน ในคราวที่ผมไปเสนอผลงานเมื่อสองปีที่แล้ว ก็ต้อนรับแขกเหรื่อด้วยไวน์และเบียร์ชั้นดี ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของออสเตรเลียปัจจุบัน ไม่พักต้องกล่าวว่ารายรอบมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีร้านเบียร์ราคาย่อมเยาอยู่กี่มากน้อย 

หรือในประเทศญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยสำคัญอย่างมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งมีสถาบันที่สนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ก็รับรองแขกเหรื่อตามโอกาสทางวิชาการด้วยไวน์และเบียร์ ไม่เว้นแม้ในรั้วมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิชาการเลื่องชื่ออย่างอะคาเดเมีย ซินิกา (Academia Sinica) แห่งไต้หวัน ซึ่งสร้างชื่อเสียงด้านเอเชียศึกษาและเป็นสถาบันผลิตงานวิจัยที่สำคัญของไต้หวัน ก็เสิร์ฟแอลกอฮอล์ในสถาบันวิจัยในยามที่มีการเลี้ยงสังสรรค์ หากแอลกอฮอล์ก่อผลเสียต่อการศึกษาและงานทางวิชาการ สถาบันวิชาการเหล่านี้คงห้ามแอลกอฮอล์กันถ้วนหน้าไปก่อนหน้าประเทศไทยแล้ว 

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีส่วนกับความคิดสร้างสรรค์อย่างไรหรือไม่ ผมก็ไม่รู้ได้ รู้แต่เพียงว่าวงสุราในแต่ละสังคมก็มักวางอยู่บนกรอบความสัมพันธ์บางอย่างเสมอ ขอเน้นคำว่า "กรอบความสัมพันธ์" เพราะคนที่ไม่ใส่ใจกับวัฒนธรรมการดื่ม อาจจะไม่เคยสังเกตเห็นว่าวงสุรามีระเบียบกฎเกณฑ์ของตนเองอยู่เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเมื่อมึนเมาแล้วก็จะต้องทะเลาะเบาะแว้ง ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ เสียจริต เสียตัวตนไปหมดแบบที่วัฒนธรรมรังเกียจสุราของบางองค์กรหรือบางกลุ่มคนเข้าใจ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงมีวัฒนธรรมกำกับอย่างสลับซับซ้อนเช่นกัน ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องเลวร้ายไร้วัฒนธรรมอย่างที่คนเคร่งลัทธิรังเกียจแอลกอฮอล์เข้าใจ ในที่นี้จะขอเล่าเพียงตัวอย่างตามประสบการณ์การดื่มกินในวัฒนธรรมต่างๆ ของผมเองพอสังเขป

หากใครได้เรียนหนังสือกับ ยศ สันตสมบัติ ศาสตราจารย์ทางมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็คงจะได้อ่านหนังสือแปลเรื่องสั้นทางมานุษยวิทยา เรื่องหนึ่งในนั้นที่ผมใช้บ่อยๆ คือเรื่อง "เช็คสเปียร์ในพงไพร" เขียนโดยพอล โบฮันนัน ซึ่งเดินทางไปวิจัยภาคสนามที่สังคมชาวทิฟ (Tiv) ในทวีปแอฟริกาเมื่อหลายสิบปีก่อน

ในช่วงหนึ่งของทุกปี ชุมชนชาวทิฟจะเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมสูงขังอยู่ยาวนาน ไปไหนมาไหนก็ไม่สะดวก ในช่วงเวลานี้เองที่ชาวทิฟจะตระเตรียมเบียร์เอาไว้เพื่อดื่มกินกันทั้งสังคม ไม่เว้นผู้ใหญ่หรือเด็ก หญิงหรือชาย นอกจากดื่มเบียร์แล้ว ชาวทิฟจะแต่งนิทานกันสดๆ ร่ำเบียร์ไปเล่านิทานกันไป 

โบฮันนันเองเมื่อไปติดน้ำท่วมอยู่กับชาวทิฟ ก็ต้องหานิทานมาเล่าพร้อมร่ำเบียร์ไปกับชาวบ้านด้วย ชาวทิฟไม่เพียงเป็นนักเล่านิทานตัวกลั่น แต่ยังเป็นนักวิจารณ์วรรณกรรมที่เอาจริงเอาจังกับนิทานของคนอื่นมาก เมื่อถึงคิวที่โบฮันนันต้องเล่านิทานบ้าง เขาเอาบทละครเรื่องแฮมเล็ตของเช็คสเปียร์ไปเล่า ชาวทิฟวิจารณ์เรื่องแฮมเล็ตเสียยับเยิน เนื่องจากความเข้าใจเกี่ยวกับสังคม ความสัมพันธ์ในครอบครัว ความเชื่อเรื่องวิญญาณในสังคมอังกฤษสมัยเช็คสเปียร์แตกต่างอย่างยิ่งกับของชาวทิฟ เรื่องราวในแฮมเล็ตจึงถูกทิฟวิจารณ์อย่างรุนแรงว่าไม่สมเหตุสมผลโดยสิ้นเชิง

ในวงสุราแถบเอเชียตะวันออก ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ดังที่หลายๆ คนก็คงทราบดี ว่าการรินสุรามีพิธีรีตองพอสมควร หากไม่ได้นั่งดื่มคนเดียว ก็มักจะต้องรินให้ผู้ร่วมโต๊ะ แล้วไล่เรียงตามอาวุโส หรือไม่ก็รินให้แขกก่อน เป็นอย่างนี้ตลอดการดื่มกิน ในย่านเอเชียตะวันออก คนเวียดนามเหนือดูจะมีพิธีรีตองในการดื่มสุรามากสักหน่อย โดยเฉพาะในมื้ออาหารที่มีการพบปะสังสรรค์กัน ไม่ว่าจะมีแขกเหรื่อหรือจะเป็นการดื่มกินในครัวเรือนก็ตาม เช่นว่าการรินสุราจะใช้ระบบอาวุโส จะต้องดื่มก่อนกินข้าว อย่างน้อยต้องชนแก้วดื่มพร้อมกันทั้งวงข้าวก่อน 

การชนแก้วก็มีธรรมเนียมว่า เพื่อความสุภาพจะต้องพยายามชนแก้วต่ำกว่าขอบแก้วของคู่ชนแก้ว แม้ว่าคู่ชนแก้วจะอ่อนอาวุโสกว่า ทั้งนี้ถือเป็นการให้เกียรติกันระหว่างที่มีการดื่มกินกันอยู่ บางคู่สนทนาอาจจะชนแก้วดื่มกันเพียงกลุ่มเล็กๆ นอกกลุ่มใหญ่ แต่ก็จะต้องขออนุญาตกลุ่มใหญ่หรือคนข้างเคียงที่ไม่ได้ร่วมดื่มด้วยก่อน หากใครจะจิบสุราหรือเบียร์ ก็มักจะต้องชวนเพื่อนจิบด้วย ไม่ใช่จู่ๆ ก็ยกแก้วขึ้นจิบคนเดียว ในบางช่วงจังหวะอาจจะมีเจ้าภาพหรือแขกบางคนชวนเชิญให้คนทั้งวงสุราร่วมกันดื่มเพื่อกล่าวอวยพรใคร หรือเพื่อบอกเล่าเรื่องอะไรบางอย่าง ทั้งวงก็จะต้องดื่มร่วมกัน การดื่มจะดื่มไป กินกับแกล้มไปอย่างนี้จนกว่าจะใกล้เลิกแล้วค่อยกินข้าวกับแกง 

ทั้งหมดนั่นกล่าวถึงเฉพาะมารยาทการดื่ม ยังมีมารยาทการกินบางอย่างอีกพอสมควรที่ผมไม่มีเนื้อที่พอสำหรับเล่า 

ขยับจากวัฒนธรรมการดื่มของชาวเวียดนาม ชนชาติพันธุ์ไทในถิ่นสิบสองจุไทในเวียดนามที่ผมเคยไปทำวิจัยด้วย ก็ยิ่งมีพิธีรีตองการดื่มที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก นับตั้งแต่ตำแหน่งของคนนั่งในวงสุรา ที่ต้องสอดคล้องกับความสัมพันธ์ทางเครือญาติของคนในวงสุรา และต้องสอดคล้องกับพื้นที่ในเรือนและตำแหน่งของผีเรือน ตำแหน่งของคนนั่งยังมีส่วนกำหนดการจัดวางอาหารและสุราสำหรับเสิร์ฟผีเรือน 

เมื่อจัดวางตำแหน่งเรียบร้อยก็จะเริ่มดื่มกิน ซึ่งมีลำดับขั้นตอนที่สอดคล้องกับความสัมพันธ์ของเครือญาติและการเป็นเจ้าเรือนกับผู้มาเยือน เช่นสมมุติว่าผู้เล่าเป็นผู้ชายและมีภรรยาแล้ว ในวงสุราที่มีน้องชายหรือพี่ชายของภรรยาผู้เล่าอยู่ด้วย พี่ชายหรือน้องชายภรรยา (เรียกว่า "น้องน้า" กับ "ลุงตา" ตามลำดับ) จะเป็นประธานของวงดื่มกิน แต่ผู้เล่าจะเป็นเจ้าเรือน และนั่งในลำดับที่ต่ำกว่าประธานในวงสุรา ประธานจะนั่งในพื้นที่ของเรือนส่วนของผู้ชาย โดยนั่งหันหลังให้ฝาผนังด้านที่มีห้องผีเรือนอยู่ ลำดับการดื่มก็จะต้องเริ่มที่ประธานเชิญผู้ร่วมวงดื่ม แล้วให้พรตอบกันไปมาระหว่างเจ้าเรือนกับประธานของวง จนกระทั่งบางครั้งทุกคนในวงสุราเมากันเกือบหมดนั่นแหละ จึงจะได้กินกับข้าวกันสักคำหนึ่งจริงๆ เสียที 

การดื่มจึงมีวัฒนธรรมกำกับอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสังคมที่เรียกกันว่าเสรีนิยมหรือจะเป็นสังคมเผด็จการก็ตาม ยิ่งในสังคมที่เข้มงวดต่อความสัมพันธ์ทางสังคมมาก กฎเกณฑ์ในวงสุราก็ยิ่งมาก มากจนราวกับว่าการดื่มกลายเป็นเครื่องมือขัดเกลาทางสังคม หรือเป็นการให้การศึกษาทางสังคมไปด้วยในตัวเลยด้วยซ้ำ ฉะนั้น นอกจากทัศนคติที่เป็นลบและมุ่งควบคุมวัยรุ่นอย่างเคร่งครัดเหลือเกินของคนบางกลุ่มในสังคมไทยทุกวันนี้แล้ว ผมก็มองไม่เห็นเหตุจำเป็นอะไรที่จะต้องห้ามการขายแอลกอฮอล์ใกล้สถานศึกษา หากแอลกอฮอล์ก่อผลเสียกับการศึกษา มหาวิทยาลัยอันดับสูงๆ และสถาบันวิชาการชั้นนำของสหรัฐอเมริกาและของโลกต่างก็คงต้องดำเนินนโยบายทำนองเดียวกันกับประเทศไทยกันหมดแล้ว 

ส่วนมหาวิทยาลัยไทย ผมก็อยากรู้เหมือนกันว่าเมื่อห้ามขายสุราใกล้สถานศึกษาแล้ว สถาบันทางวิชาการไทยจะเจริญขึ้นกี่มากน้อยในไม่กี่ปีข้างหน้า

(ที่มา:มติชนรายวัน 18 สิงหาคม 2558)

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม