Skip to main content

วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่หนึ่งคือ เป้าหมายของหลักสูตร สองคือ ตัวหลักสูตรเอง สามคือ วิธีเรียนให้สำเร็จ สี่คือ มีปัญหาปรึกษาใคร พูดไปพูดมาอย่างรวบรัดตัดตอนรายละเอียดของทุกประเด็นย่อย แต่เร่งแค่ไหนก็ยังเกินหนึ่งชั่วโมงอยู่ดี 

แน่นอนว่าในแต่ละประเด็นใหญ่ 4 ประเด็นนั้น ยังมีประเด็นย่อยมากมาย แล้วย่อยๆๆ ลงไปอีก  

อย่างเอาเฉพาะประเด็นวิธีเรียนให้สำเร็จ คือเรียนอย่างไรให้จบน่ะแหละ ผมเสนอว่าต้องฝึกอ่าน ฝึกค้นคว้า ฝึกเขียน ฝึกฟัง ฝึกถาม ฝึกสร้างคุณูปการต่อวงวิชาการ แต่ขณะนี้อยากเขียนถึงเรื่องการฝึกอ่านที่ผมเล่าให้นักศึกษาฟังก่อน 

แต่ไหนแต่ไรมาผมมีวิธีอ่านงานวิชาการอยู่ 4 ระดับด้วยกัน คืออ่านเอาเรื่อง อ่านเอารส อ่านถอดเรื่อง แล้วก็อ่านหาเรื่อง 

อ่านเอาเรื่องคืออ่านให้รู้เรื่องนั่นแหละ อ่านให้เข้าใจคืออ่านแบบพื้นฐานที่สุด คือหาสาระให้ได้ว่า เนื้อเรื่องคืออะไร ประเด็นคือ อะไร ข้อเสนอคืออะไร คนเขียนเถียงอะไรกับใคร เขาต้องการนำเราไปไหน ยิ่งเข้าใจระดับของความหมายได้มากเท่าไหร่ เราคือผู้อ่านก็จะยิ่งได้ประโยชน์ที่อาจจะไกลกว่าคนเขียนมากขึ้นเท่านั้น 

แต่การอ่านกันอย่างจริงจังแบบที่ผมทำแล้วอยากบอกนักศึกษาน่ะ ไม่ใช่แค่อ่านแล้วรู้ว่าคนเขียนจะบอกอะไรแค่นั้น แต่ต้องอ่านแล้วรู้รสของงานเขียน งานเขียนทางวิชาการเอง ที่ว่าเป็นงานวิชาการน่ะ ที่จริงมันก็มีหลายรสการประพันธ์  

เอาเฉพาะในขนบของงานวิชาการแบบทางการ ก็ยังต้องแบ่งการเขียนทบทวนวรรณกรรม ออกจากเขียนพรรณนาผู้คน สิ่งของ สถานที่ เวลา อย่างสัมพันธ์กับประเด็นที่ศึกษา ออกจากเขียนวิเคราะห์สอดแทรกแนวคิดให้เชื่อมโยงและดึงประเด็นนามธรรมออกมาจากข้อมูลเชิงพรรณนา ออกจากเขียนข้อถกเถียงทางทฤษฎี ออกจากเขียนวิธีการศึกษา เขียนบทสรุป เขียนบทคัดย่อ แต่ละแบบไม่เหมือนกันเลย  

นี่ยังไม่นับว่าหากใครอ่านเอาอรรถรสของการเขียนตามสไตล์ที่แตกต่างกันของนักวิชาการที่เขียนแบบมีสไตล์ได้แล้วล่ะก็ จะยิ่งสนุกกับการอ่านงานวิชาการเพิ่มอีกมาก 

ระดับต่อไปคือการอ่านถอดเรื่อง เอาแบบระดับพื้นๆ ของการอ่านถอดเรื่องคือ ต้องถอดโครงเรื่องของงานวิชาการที่เราอ่านได้ งานวิชาการส่วนใหญ่ไม่ได้เขียนแบบด้นไปเรื่อยๆ งานที่ดี งานที่พิมพ์ในมาตรฐานสูง อย่างในวารสารวิชาการชั้นนำ หรือสำนักพิมพ์ชั้นนำ มันจะถูกจัดระบบมาอย่างดี ไม่มั่ว การอ่านงานพวกนี้แล้วสามารถถอดโครงส้รางการนำเสนอออกมาได้ ก็คือการได้เรียนการเขียนอย่างเป็นระบบจากครูการเขียน 

แต่เป้าหมายใหญ่ของการอ่านถอดเรื่องมีมากกว่านั้น คือต้องอ่านให้ได้ว่างานเขียนที่เราอ่านแล้วเป็นงานที่ดี เป็นงานที่น่าเชื่อถือ เป็นงานที่เรายอมรับนั้น ทำไมมันถึงเป็นงานที่ดี เขาเขียนอย่างไรจึงทำให้เราเชื่อได้ เขานำเราไปสู่ข้อเสนอและข้อสรุปอย่างนั้นได้อย่างไร ผมเชื่อว่าถ้าเราอ่านออกว่า งานเขียนพวกนี้เขานำเราไปสู่ข้อสรุปได้อย่างไร เราจะได้เรียนรู้ระดับของการเขียนงานวิชาการที่ว่าด้วยการสร้างข้อเสนอทางวิชาการ  

ผมว่าไม่มีใครสอนการสร้างข้อเสนอทางวิชาการได้ มีแต่ต้องเรียนรู้เอาเองจากการอ่าน  

หากใครคิดว่าแค่เรียนตรรกวิทยามา แล้วแค่เขียนตามหลักตรรกวิทยา แล้วก็คิดว่าจะสร้างข้อเสนอได้ ง่ายๆ แค่นั้นเองล่ะก็ ผมว่างานคุณจะไม่มีใครอ่านในที่สุด เพราะมันจะทื่อมาก แล้วคิดเหรอว่าโลก โดยเฉพาะทางสังคม และที่เกี่ยวกับความยอกย้อนของมนุษย์น่ะ มันจะทื่อๆ ตามหลักตรรกวิทยาพื้นๆ ที่ใครก็สามารถ master มันได้ภายในไม่กี่วัน 

ถึงที่สุด ผมว่าการอ่านระดับสูงจะต้องไปให้ถึงการอ่านหาเรื่อง คืออ่านจับผิด แต่จะต้องเป็นการจับผิดอย่างสมเหตุสมผล อย่างมีหลักฐานอ้างอิงได้ อย่างน่าเชื่อว่าจะล้มล้างข้อเสนอได้

อ่านหาเรื่องก็ทำได้หลายอย่าง อย่างที่ง่ายที่สุดคือหาหลักฐานข้อมูลที่แตกต่างออกไปจากที่เสนอในหนังสือหรือบทความที่เราอ่าน มาหักล้างข้อเสนอ เนื่องจากหลักฐานใหม่ๆ ชวนให้คิดถึงข้อสรุปใหม่ๆ ได้ อีกวิธีที่ผมว่ายากกว่าหน่อยคือ หาเหตุผลใหม่ๆ มาอธิบายข้อมูลชุดเดียวกันกับที่หนังสือหรือบทความที่อ่านอยู่ใช้ การอ่านแบบนี้คือการตีความหรือสร้างคำอธิบายใหม่กับข้อมูลที่มีอยู่แล้ว  

แต่ผมว่าวิธีอ่านที่สนุกที่สุดคือวิธีอ่านที่ผมเรียนมาจากนักถอดรื้อโครงสร้าง คือการอ่านแบบ deconstruction คืออ่านด้วยการหาความย้อนแย้งในงานเขียนนั้นเอง เอาข้อเสนอในงานนั้นเองมาวิพากษ์ตัวงานนั้นเอง  

เช่น งานโซซู นักภาษาศาสตร์โครงสร้างคนแรกๆ ด้านหนึ่งเสนออะไรที่ก้าวหน้ามากว่าความหมายไม่ได้อยู่ในตัวของมันเอง แต่มาตกม้าตายที่ยังถือมั่นกับ phonocentrism คือคิดว่าเสียงเป็นภาษาที่สำคัญที่สุดเพราะใกล้กับความคิดที่สุด คือก็ยังเชื่อว่ามีอะไรลึกๆ อยู่กว่าร่องรอยที่เชื่อมความคิดกับตัวหมายอยู่นั่นเอง 

การอ่านหาเรื่องถึงที่สุดมันจึงเป็นการอ่านเพื่อสร้างข้อเสนอใหม่ๆ ในทางวิชาการ ถ้าอ่านแล้วไม่เถียงกับงานที่เราอ่านอยู่ เราก็ได้แค่เป็นผู้เรียนและผลิตซ้ำความรู้ของคนอื่น แต่หากอ่านแล้วไปพ้นจากงานที่อ่านได้ ด้วยการหาเรื่องใหม่ๆ หาข้อผิดแล้วก้าวข้ามไปเสนออะไรใหม่ๆ นั่นแหละจึงจะมีโอกาสที่เราจะสร้างงานใหม่ๆ เองได 

สรุปคือ จะเขียนให้ดีได้ก็ต้องอ่านให้ดีให้ได้ แต่เวลาเราบอกว่า คนนั้นคนนี้อ่านงานแตกไม่แตก คำถามคือ อ่านแตกน่ะอ่านอย่างไร บางทีเราไม่ค่อยสอนกันว่าจะอ่านงานวิชาการกันอย่างไร ก็เลยได้แค่อ่านเพื่อเอาเรื่อง แต่อ่านแค่เอาเรื่องน่ะ ยังไม่ทำให้เปลี่ยนจากการเป็นคนอ่านไปเป็นคนเขียนได้หรอก ยังต้องอ่านระดับอื่นๆ อีกดังที่บอกไป 

แต่ถึงที่สุดแล้ว มีคนจำนวนมากที่อ่านโดยไม่เขียน การเป็นนักอ่านอย่างแตกฉาน ถึงที่สุดก็ต้องเขียนในแบบที่ตนเองอยากอ่านเองบ้าง หรือเขียนให้แตกต่างจากที่อ่านมาแล้วบ้าง ถ้าเราเอาแต่อ่านอย่างเดียวแต่ไม่เขียน ไม่ว่าจะอ่านกันได้พิสดารขนาดไหน โลกก็คงไม่ก้าวไปไหน เพราะไม่มีอะไรใหม่ๆ ให้อ่านกัน

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม