Skip to main content
คนไม่มีอะไร
  แผนอยู่เย็นเป็นสุข : ภาพรวมการจัดเวทีจังหวัด   วัตถุประสงค์         เพื่อรับฟังข้อเสนอและแนวทางการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้เป็นรายจังหวัด เพื่อที่จะเปรียบเทียบกับแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ของ สศช. การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรของการนิคมแห่งประเทศประเทศไทย และโครงการขนาดใหญ่ที่จะเกิดในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นต่อเอกสารร่างมติข้อเสนอในแผนพัฒนาภาคใต้ที่ยั่งยืน   พื้นที่ดำเนินการ   13    จังหวัดภาคใต้ (ยกเว้นสุราษฎร์ธานี)   กระบวนการจัดเวทีจังหวัด                   ด้านเนื้อหา             กระบวนการจัดเวทีจังหวัดประกอบด้วย เนื้อหาสามส่วนหลัก คือ เนื้อหาข้อมูลแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ข้อมูลศักยภาพจังหวัด และข้อมูลผลกระทบที่เกิดจากโครงการพัฒนาที่ผ่านมา เช่นโครงการปิโตรเคมี ที่มาบตาพุด เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการระดมความเห็นของคนในจังหวัดนั้นๆ ด้านกระบวนการ ช่วงแรก เป็นการให้ข้อมูลโดยนักวิชาการ และคณะทำงานเชิงประเด็นในด้านต่างๆ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด ช่วงที่สอง เป็นการระดมความเห็นแบบกลุ่มย่อย ซึ่งจะมี 2 โจทย์หลักๆ ให้แสดงความเห็นต่อทิศทางการพัฒนาจังหวัดของตัวเองที่ควรจะเป็น และความเห็นต่อข้อเสนอกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเอง ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กรณีภาคใต้ ผลลัพธ์ ด้านเนื้อหาข้อมูลเมื่อมีการนำเสนออกไป สามารถให้คนในที่ประชุมรับรู้ และตระหนัก เพราะว่าข้อมูลที่นำเสนอออกไปนั้น ผู้เข้าร่วมเวทีเสวนาไม่เคยรับรู้ข้อมูลนี้มาก่อน ซึ่งช่วยทำให้บรรยากาศการในการพูดคุยสนทนาในช่วงถัดไปเป็นการพูดคุยที่มีข้อมูลข้อเท็จจริงประกอบ และกระบวนการแบ่งกลุ่มย่อยช่วยให้ทุกคนได้พูดคุยกันอย่างทั่วถึง สามารถแสดงความเห็นของตัวเอง จนนำไปสู่ความตระหนักมากขึ้นในทิศทางการพัฒนาของประเทศชาติ ตลอดจนมีข้อเสนอในการพัฒนาหรือดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาต่อไป   ข้อเสนอต่อกระบวนการพัฒนาจังหวัด                 หลังจากรับทราบข้อมูลทำให้ทราบว่าโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมในจังหวัดของตนนั้นมีอะไรบ้าง เมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับข้อมูลศักยภาพจังหวัด และมาเปรียบเทียบช่างน้ำหนักระหว่ง ผลดี กับ ผลเสีย ที่จะเกิดจากการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ หรือพวกอุตสาหกรรมหนักทั้งหลายแล้วทิศทางการพัฒนาจังหวัดควรดำเนินการในแนวทางรักษาฐานทรัพยากรสิ่งแวดล้อม วีถีชีวิต ให้สอดคล้องกับสังคม วัฒนธรรม ผลประโยชน์ควรเกิดขึ้นกับคนจำนวนมาก และนำไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุข ของคนในจังหวัดนั้นๆ บางจังหวัดมีข้อเสนอเพิ่มเติมหลังจากนี้จะต้องมีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในลักษณะต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ในลักษณะของเครือข่ายการเรียนรู้ กลุ่ม องค์กร เพื่อก่อให้เกิดพลังในการกำหนดทิศทางการพัฒนาตนเองต่อไปในอนาคต บางพื้นที่มีแนวทางในการศึกษาผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ หรือผลกระทบจากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่เพื่อเตือนภัย และหาทางเยียวยาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญที่สุดคือคุณภาพชีวิตที่กำลังจะถูกทำลายไป บางจังหวัดมีข้อเสนอในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดตามศักยภาพที่เป็นจริง และสอดคล้องกับฐานทรัพยากรของจังหวัด เพื่อที่เกิดประโยชน์ต่อคนจำนวนมากอย่างสูงสุด   ข้อเสนอต่อประเด็นแผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเอง ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กรณีภาคใต้                 ความเห็นส่วนใหญ่ของผู้ที่เข้าร่วมสัมมนาคือไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ จำพวกอุตสาหกรรมหนัก เช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงถลุงเหล็ก อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ท่าเรือน้ำลึก โรงกลั่น และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ แต่เห็นด้วยว่าทิศทางการพัฒนาควรต่อยอดจากศักยภาพเดิมของพื้นที่บนฐานการรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญต้องเอื้อประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ นั้นคือ การพัฒนาด้านการเกษตร ประมง การท่องเที่ยว และการศึกษา รวมทั้งอุตสาหกรรมที่นำมาสู่การยกระดับสินค้าเกษตรและต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม                 ความเห็นในการจัดเวทีระดับจังหวัด ใช้เนื้อหาเดียวกันกับข้อเสนอในร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติประเด็นแผนพัฒนาที่ยั่งยืนภาคใต้                 ผู้เข้าร่วมประชุมในแต่ละจังหวัดสนับสนุนร่างมติที่คณะทำงานร่างขึ้นโดยมีความเห็นเพิ่มเติมบ้างแต่ในด้านเนื้อหาสอดคล้องกับของเดิม   ข้อสรุปสุดท้ายของเวทีจังหวัด                 ฐานทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเลิศ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่เป็นสายสัมพันธ์มาหลายอายุคน สิ่งเหล่านี้คงมากพอที่จะทำให้คนใต้รู้สึกรักบ้านตัวเอง และพร้อมที่จะปกป้องทรัพยากรตามรัฐธรรมนูญ และกำหนดทิศทางทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับคนใต้ และมีต้องมีประโยชน์สูงสุดกับคนส่วนรวม                 จากการประเมินของเวทีจังหวัดอีกประการสำคัญ พบว่า คนภาคใต้ต้องวิถีชีวิติที่ดีขึ้น มีการรักษาวัฒนาธรรมท้องถิ่น ปรับระบบการศึกษาให้ดีขึ้น การสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นที่ให้ดีกว่าเดิม ลดปัญหาคดีอาชญากรรม ยาเสพติด ดังนั้นประการแรกที่รัฐบาลต้องทำคือ การทำให้ชุมชนเข้มแข็งที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ภาคใต้ของประเทศไทยควรเป็นเมืองเกษตร ประมงและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นฐานการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนฐานของการประกอบอาชีพของคนใต้ อย่างแท้จริง