ชุมชน/สิ่งแวดล้อม

สวิทซ์ไฟแบบกระตุก: ตัวอย่างของการเคลื่อนไหวสีเขียว

4 December, 2007 - 00:50 -- prasart

เรื่องราวที่ผมจะนำมาเล่าในที่นี้  ไม่ใช่เรื่องเทคนิคทางไฟฟ้า ไม่ใช่เรื่องการประหยัดพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว  แต่เป็นเรื่องของประสบการณ์การทำงานเชิงสังคมที่น่าสนใจของตัวผมเอง  ผมคิดว่าเรื่องนี้มีคุณค่าพอที่ผู้อ่านทั่วไปตลอดจนกลุ่มเพื่อนพ้องที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการสีเขียว เพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อความเป็นธรรมและเพื่อนสันติภาพของโลก  จริงๆนะครับ ผมไม่ได้โม้

ผมขอเริ่มเลยนะครับ

เราเคยสังเกตไหมครับว่า สวิทซ์ไฟฟ้าในที่ทำงานของเรา โดยเฉพาะที่เป็นสถานที่ราชการ เวลาเราเปิดสวิทซ์ ไฟฟ้าจะสว่างไปหลายดวง หลายจุดเป็นแถบๆ  ยิ่งเป็นที่สาธารณะ เช่น สำนักงาน หรือห้องสมุด เราเปิดสวิทซ์ครั้งเดียวหลอดไฟสว่างไป 20-30 หลอด  แต่บางครั้งเราจำเป็นต้องใช้จริงเพียง 1-2 หลอดเท่านั้น

ปรากฏการณ์นี้ไม่ค่อยพบในบ้านเรือนของตนเอง  ที่เป็นเช่นนี้เพราะสถานที่ราชการมักจะเน้นการประหยัดในการก่อสร้าง หรืออาจจะขาดการใส่ใจเท่าที่ควร  การแยกติดสวิทซ์ไฟฟ้าเป็นจุดต้องเสียค่าแรง และค่าอุปกรณ์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก  ผู้ออกแบบจึงนิยมประหยัดในตอนแรก โดยไม่คิดถึงค่าไฟฟ้าตลอดอายุของอาคาร

เอ็นจีโอเยอรมันเล่าให้ผมฟังว่า  ที่โน่นเขาเน้นการประหยัดพลังงานตั้งแต่ตอนออกแบบแล้ว  เช่น หน้าต่างจะต้องติดกระจก 2 ชั้นเพื่อป้องกันการถ่ายเทความร้อน  ใครไม่ทำถือว่าผิดกฎหมายนะครับ

ในสเปน กฎหมายใหม่ออกมาว่า บ้านทุกหลัง ศูนย์การค้าทุกแห่งที่จะสร้างใหม่จะต้องติดตั้งเครื่องทำน้ำร้อนพลังแสงอาทิตย์ให้เพียงพอ

มาตรการทางกฎหมายที่ว่านี้คงต้องกลั่นกรองมาจากประสบการณ์อันยาวนานของแต่ละประเทศ  สำหรับประเทศไทยเอง คงต้องเริ่มกันได้แล้วครับ  ดังหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมเขียนคือ “พลังยกกำลังสาม” นั่นคือมีพลังใจ ในการขับเคลื่อน มีพลังพลเมืองที่เข้าใจ แล้วร่วมกันผลักดันนโยบายพลังงาน เพื่อความยั่งยืนสรรพสิ่งทั้งหลาย

สถานที่ราชการที่ผมทำงานอยู่ได้ขึ้นแผ่นป้ายประกาศว่า “ช่วยกันประหยัดไฟฟ้า ปิดดวงที่ไม่ได้ใช้” แต่เอาเข้าจริงจะให้ปิดอย่างไรในเมื่อสวิทซ์มันเป็นแบบที่ว่าแล้ว

ผมเองที่สนใจเรื่องนี้มานานก็คิดไม่ออก จนกระทั่งเพื่อนอาจารย์คนหนึ่ง (อ.วรวิทย์ วณิชาภิชาติ –ขอเอ่ยนามเพื่อให้เกียรติ)  บอกว่าเขาใช้สวิทซ์กระตุกกันแล้ว จากนั้นเพื่อนอาจารย์รุ่นน้องของผมก็พาผมไปดูห้องทำงานด้วยความตื่นเต้น  แล้วผมเองก็กลายเป็นพรีเซ็นเตอร์ในบัดดล    ดังรูปข้างล่างนี้ครับ

1

ผมลองทดสอบแสงว่างที่โต๊ะทำงานหลังจากที่ได้กระตุกให้ไฟฟ้าดับไปแล้วครึ่งหนึ่ง  พบว่าแสงสว่างที่โต๊ะทำงานก็ยังคงเท่าเดิม

2

สำหรับราคาสวิทซ์กระตุกอยู่ที่ตัวละประมาณ 40 บาท สามารถหาซื้อได้ตามศูนย์การค้าครับ

หลังจากนั้น อ.วรวิทย์ได้นำผมไปดูไฟฟ้าที่ลานจอดรถ  พบว่าการออกแบบยังเป็นแบบเดิมครับ คือเปิดครั้งเดียวสว่างไสวไปทั้งลาน  เป็นไฟสปอร์ตไลท์ประมาณ 8 เสา  ในฐานะที่ อ. วริทย์มีตำแหน่งบริหารในคณะ ท่านก็สั่งการเปลี่ยนแปลงทันทีได้ระดับหนึ่ง  ผมเชื่อว่าสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้เยอะเลยครับ

ผมได้นำเรื่องราวของ อ. วรวิทย์ไปเขียนเล่าให้กับคนในมหาวิทยาลัย โดยผ่านทางเมล์รวม (ผมเชื่อว่ามีหลายพันรายชื่อ)  ผมได้รับคำตอบที่ว่าดีจำนวนหนึ่ง (ซึ่งมีผลดีต่อจิตใจผมมาก)  แต่ผมไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง

ผมพิมพ์เรื่องนี้มาติดบอร์ดประกาศที่ภาควิชาอยู่นานเป็นเดือน  ก็ไม่มีใครจะทำตาม  ทั้งๆที่มีบางคนเห็นด้วย  อาจเพราะว่าไม่มีใครจัดการไปซื้อมาติด

อาจารย์อีกท่านหนึ่งเจอกับผมโดยบังเอิญ(ปกติเราแทบไม่ได้คุยกันเลย) บอกผมว่า  “เรื่องที่อาจารย์เล่านั่นเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ได้ผลหรอก อาจารย์(หมายถึงตัวผม) ต้องมี authority (ท่านใช้คำนี้) อาจารย์ไปบอกท่านอธิการเลยว่า ขอทำงานนี้ ในปีแรกจะลดค่าไฟฟ้าให้ได้ 5% เรื่องนี้นะบางสำนักงานที่อื่นเขาทำกันแล้ว”

ผมนำคำพูดของอาจารย์ท่านหลังสุดมาคิดอยู่นานครับ  ผมเองไม่มีอำนาจในเชิงการบริหาร  ผมไม่ชอบและปฏิเสธเรื่องทำนองนี้มา  20 กว่าปีแล้ว

ล่าสุด ผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการชุดเล็กๆ ชุดหนึ่งของมหาวิทยาลัย เรียกชื่อสั้นๆว่า คณะกรรมการ  Green Campus   ผมจึงได้นำเรื่องนี้ไปเสนอ

ปรากฏว่า ท่านผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ซึ่งเป็นกรรมการอยู่ด้วยรับปากทันทีว่า จะเสนอขอใช้งบประมาณเพื่อติดตั้งสวิทซ์กระตุกจำนวน 1,000 ตัวขอเรียนตามตรงว่า ผมดีใจมาก ผมบอกในที่ประชุมว่า “วันนี้ผมมีความสุขมาก”

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อจะยืนยันว่า “สิ่งเล็กๆ ก็อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้” หรือที่นักเคลื่อนไหวทางสังคมเรียกเขาเรียกเป็นศัพท์แสงว่า  Law of the Few นั่นเอง

ชายชราผู้ล่องเรือชีวิตเหนือสายน้ำโบราณ ตอน ๗

3 December, 2007 - 00:15 -- sumart

ในยามเย็น หลังแสงตะเกียงสว่างขึ้น ความสว่างของแสงไฟตะเกียงก็ตัดกับท้องฟ้ามืดครึ้มไร้ดวงดาวแต้มขอบฟ้า ดูเหมือนว่ายามนี้สายฝนต้นฤดูมาถึงแล้ว ในที่ไกลออกไปฟ้าแลบแปลบปลาบ ทุกครั้งที่ฟ้าแลบ ความสว่างที่เกิดขึ้นเพียงสั้นๆ ทำให้ฟ้าสีดำดูน่ากลัว ไม่นานนักหลังฟ้าร้องเข้ามาใกล้ สายฝนปานฟ้ารั่วก็โถมถั่งลงมา

ยามนี้ปลาหลายชนิดอพยพขึ้นเหนือ เพื่อวางไข่ จะเหลือเพียงปลาบางชนิดเท่านั้นอพยพขึ้นมาช่วงน้ำลด ในช่วงนี้ คนหาปลาไหลมองก็จะเริ่มยุติการหาปลาลง เพราะน้ำในแม่น้ำเป็นน้ำใหญ่หาปลาลำบาก ช่วงน้ำใหญ่นี่เองถือว่าธรรมชาติได้จัดการมนุษย์ และดูแลรักษาตัวเองไปด้วยพร้อมกัน

ในแต่ละฤดูธรรมชาติได้ส่งสัญญาณบอกคนหาปลาให้เฝ้าสังเกตฤดูการอพยพของปลา เพื่อให้คนหาปลาได้ใช้เครื่องมืออันเหมาะสมกับการหาปลาของพวกเขา

นอกจากคนหาปลาจะสังเกตธรรมชาติรอบตัวแล้ว คนหาปลายังสังเกตการอพยพของปลาแต่ละชนิด เพื่อจะได้คาดการณ์ล่วงหน้าได้ถูกต้องว่า เมื่อปลาชนิดไหนอพยพขึ้นมาแล้ว ต่อไปปลาชนิดไหนจะอพยพตามขึ้นมาบ้าง

ชายชราบอกว่า “ในช่วงเดือน ๕ (เดือนเมืองทางภาคเหนือหมายถึงเดือนมีนาคม) ปลาแกงจะขึ้นมาแล้ว พอปลาแกงขึ้นมา ปลาเพี้ย ปลาโมง ก็จะขึ้นตามมา บางทีในช่วงปลาขึ้นถ้าหาปลาได้ก็จะได้ปลาเป็นฝูงเลยทีเดียว มีอยู่ครั้งหนึ่ง ปลาสะโม้ติดมองรอบเดียวได้เกือบร้อย แต่ตัวไม่ใหญ่ประมาณ ๓ นิ้ว

นอกจากคนหาปลาจะรู้เรื่องการอพยพของปลาแล้ว คนหาปลาก็ยังต้องรู้พฤติกรรมของปลาในช่วงต่างๆ อีกด้วย ปลาฝาไม--ตะพาบน้ำ มันจะดุร้ายในช่วงเดือน ๘ ถ้ากินเบ็ดแล้วเวลาเราไปดู ถ้าไปเหยียบโดนสายเบ็ดหรือไปจับสายเบ็ด มันจะแกว่งไปมาใส่เรา ไมของปลาฝาไมจะมีลักษณะเหมือนหับหางของแลนหรือตัวตะกวด เวลามีคนเข้าใกล้ มันจะแกว่งหางของมันใส่เพื่อป้องกันภัยที่จะเกิดกับมัน ไมของปลาฝาไมยาวราวครึ่งวาจะมีโคนใหญ่และเรียวแหลมด้านปลาย ถ้ามันฟาดโดนเราจะปวด”

“แล้วพ่อเฒ่าเคยโดนมันฟาดหรือเปล่า”
“เคยโดนหลายครั้งอยู่ เวลาโดนมันฟาดแล้วจะเจ็บตรงจุดที่มันฟาด”
“แล้วพ่อเฒ่าทำอย่างไรถึงหาย”
“ก็เอายาขี้ผึ้งใส่ ถ้าไม่หายกินยาปวดหาย อย่างยาปวดหายนี่กินก่อนครึ่งหนึ่งแล้วเอาอีกครึ่งหนึ่งมาผสมกับยาผึ้งแล้วเอาโปะไว้ตรงไมมันปัก จากนั้นก็เอาไปอิงไฟ สักพักก็ไม่ปวดแล้ว”

“แล้วพ่อเฒ่าเคยเล่าเรื่องการรักษาแบบนี้ให้ใครฟังหรือเปล่า”
“เล่าให้ฟังหมดแหล่ะ โดยเฉพาะลูกๆ ที่ไปหาปลาด้วยกัน เล่าให้มันฟังหมด เล่าไปก็สอนมันไปด้วย มันจะได้รู้เวลาเราไม่อยู่จะได้เอาตัวรอดได้”
“พ่อเฒ่า ผมเคยได้ยินมาว่าคนโบราณสมัยก่อนเขาเอาไมปลาฝาไมตากแห้งไว้ไล่ผีปอบใช่ไหม”
“ใช่ คนสมัยก่อนเขาเอาไมปลาฝาไมไว้ไล่ผีปอบจริง แต่ก่อนบ้านนี้เคยมี ตอนนี้ไม่มีแล้วเอาให้ลูกไปหมด”

ในความคิดของผม ชายชราเป็นคนไม่หวงความรู้ หากรู้มากก็บอกมาก รู้น้อยก็บอกน้อย ไม่เคยหวงวิชาความรู้ ชายชราช่างแตกต่างกับหลายๆ คน บางคนที่ผมรู้จัก ความรู้ของพวกเขาไม่เคยแจกจ่ายไปยังคนอื่น ซ้ำร้ายบางคนยังอาศัยความรู้ที่มีมากกว่าคนอื่นมากอบโกยเอาผลประโยชน์เพื่อตัวเองเพียงอย่างเดียว ในสังคมของเมืองใหญ่แล้ว หลายคนยิ่งใช้ความรู้ที่ตัวเองมีมากกว่าคนอื่น เพื่อตักตวงเอาประโยชน์ให้ได้มากที่สุด น้อยนักหนาที่เราจะได้พบเห็นการแบ่งปันความรู้ให้กับคนอื่นอย่างเต็มใจ...

ครั้งหนึ่งมีคนหนุ่มอายุคราวลูกอยากรู้วิธีการสานตุ้มปลาเอี่ยน ชายชราก็สอนคนหนุ่มรุ่นลูกคนนั้น ในขณะสอน ชายชราไม่ได้สอนเพียงวิธีการทำตุ้มอย่างเดียว ชายชรายังสอนวิธีการใส่ ลักษณะพื้นที่ใช้เครื่องมือ รวมทั้งการใช้เหยื่อล่อปลาไหลให้เข้ามาในตุ้ม หลังจากคนหนุ่มรุ่นลูกคนนั้นได้วิชาความรู้จากชายชราไป เขาก็นำไปใช้ ต่อมาเมื่อถึงฤดูฝนชายชราก็มีปลาไหลกินไม่ได้ขาด เพราะคนหนุ่มคราวลูกนำมาให้

สำหรับคนร่วมสายน้ำ การพึ่งพาอาศัยกันและกัน ในด้านต่างๆ ไม่ได้มีเพียงด้านเดียว บางครั้งชายชราวางเบ็ดแล้วไม่ได้กลับไปดู ชายชราก็ฝากให้คนหาปลาอีกที่หาปลาอยู่ใกล้ๆ ดูให้ บ่อยครั้งที่ได้ปลาในรูปแบบนี้ เมื่อได้ปลาในแต่ละครั้งชายชราเองก็จะแบ่งให้กับคนหาปลาคนนั้นด้วย ถ้าครั้งไหนไม่ได้แบ่งเป็นปลาไปให้ ชายชราก็ชักชวนคนหาปลาคนนั้นมาทำลาบปลากินที่กระท่อมของแกแทน

พูดถึงคนหาปลาอีกคนที่หาปลาอยู่ใกล้กับชายชรา ในความเป็นจริง คนหาปลาคนนี้อายุอ่อนกว่าชายชราไม่มากนัก คนหาปลาคนนี้สร้างกระท่อมขึ้นมาไม่ไกลจากกระท่อมของชายชรา บ่อยครั้งคนหาปลาคนนี้มักจะมายังกระท่อมของชายชรา ในวันที่คนหาปลาคนนี้มาถึงกระท่อมของชายชรา วงข้าวจะลากยาวตั้งแต่หัวค่ำไปจนเหล้าหยดสุดท้ายหมด ห้วงยามเช่นนี้แม้เกิดขึ้นไม่บ่อย แต่ทุกครั้งที่เกิดขึ้นดูเหมือนว่า คนหาปลาทั้งสองจะมีความสุขกับมันเป็นพิเศษ

บ่อยครั้งเช่นกันวงข้าวลากยาวไปจนดึกดื่น ในการดื่มกินแต่ละครั้ง ชายชรามักเล่าเรื่องราวต่างๆ  ในแม่น้ำสายนี้ให้คนอื่นฟังอยู่เสมอ ทุกเรื่องที่ชายชรานำมาเล่า ชายชราบันทึกเรื่องราวเหล่านั้นไว้บนสมุดอันเขียนด้วยดินสอคือชีวิตทั้งชีวิต

วิถีทางที่เป็นอยู่ของชายชรา บางครั้งการได้อยู่กับธรรมชาติ และเห็นความงามการเปลี่ยนผ่านของฤดูกาลต่างๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้คงได้กล่อมเกลาให้ชายชราเป็นคนอ่อนโยน และคิดถึงคนอื่นพอๆ กับการคิดถึงตัวเอง...

แสงแดดของยามเช้าในฤดูฝนหลบหายเข้าไปในเฆมสีดำ ไม่ยอมออกมาทำหน้าที่เหมือนเดิม แม้ว่าตอนนี้จะสายแล้วก็ตามที ปีนี้ฝนตกมามากกว่าทุกปี น้ำขึ้นเร็ว บางคนปลูกข้าวโพดไว้ตามริมฝั่งน้ำเก็บข้าวโพดไม่ทันน้ำก็เอ่อท่วม พอถึงวันเก็บข้าวโพดต้องพายเรือเก็บกันเลยทีเดียว

หากจะพูดตามความจริงแล้ว ถึงฝนจะตกมากเพียงใด น้ำในแม่น้ำก็คงไม่ขึ้นเร็ว แต่ ๔-๕ ปีที่ผ่านหลังจากมีข่าวการสร้างเขื่อนในตอนบนของแม่น้ำ ผู้คนริมฝั่งน้ำรวมทั้งคนหาปลา ทุกคนต่างเห็นความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ บ่อยครั้งที่น้ำขึ้นมา ๓ วัน พอวันที่ ๔ น้ำลง ในความเป็นจริงแล้ว แม่น้ำสายนี้ตั้งแต่อดีตมาไม่เคยเป็นอย่างนี้ พอถึงช่วงหน้าฝนน้ำก็จะเอ่อและท่วมนองไปจนถึงออกพรรษา พอออกพรรษาแล้วหลังลอยกระทงน้ำก็จะลดลง แม่น้ำเป็นอยู่เช่นนี้มาชั่วนาตาปี แต่พอการก่อสร้างเขื่อนเกิดขึ้น ความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ก็เดินทางมาอย่างไม่บอกกล่าว

หลังการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ ชายชราก็หาปลาได้น้อยลง บางวันหาปลาทั้งเช้า-เย็น ปลาตัวเดียวก็ไม่ได้ บ่อยครั้งที่หาปลาไม่ได้ ชายชราก็กลับมาครุ่นคิดถึงเรื่องราวในอดีตมากขึ้น ลึกลงไปในแววตาของชายชรา ทุกครั้งที่แกนึกถึงเรื่องราวในหนหลัง น้ำตาจะเอ่อท่วมดวงตาของชายชราอยู่เสมอ

นอกจากในตอนบนของแม่น้ำจะถูกกั้นด้วยเขื่อนแล้ว ชายชราก็ได้ข่าวมาอีกว่ามีเรือใหญ่เดินทางมาถึงเชียงแสน เรือใหญ่เดินทางมาพร้อมกับการระเบิดแก่งหิน เมื่อระเบิดแก่งหินออก ปลาที่อาศัยอยู่ตามแก่งก็ไม่มี เพราะแก่งหินในแม่น้ำคือบ้านของปลา เมื่อไม่มีแก่งก็ไม่มีปลา เมื่อไม่มีปลาคนหาปลาก็หาปลาไม่ได้

ภายใต้ความคิดของมนุษย์ที่จะเอาชนะธรรมชาติ มนุษย์จึงจัดการธรรมชาติให้อยู่ภายใต้การควบคุมของตัวเอง อย่างเรื่องราวที่ชายชราเล่าให้ผมฟังนั้นก็เช่นกัน ในความคิดของคนหาปลาคนหนึ่งไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่า พวกเขาคิดเรื่องราวใด เมื่อพวกเขามองเห็นความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำอันเป็นธนาคารขนาดใหญ่ของพวกเขา

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในช่วงแรกชายชราไม่อาจทำความคุ้นเคยกับมันได้ แต่พอหลายปีผ่านไป ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็เป็นความปกติในสายตาของชายชรา แต่ทุกครั้งที่มีคนถามถึงความเปลี่ยนแปลง ชายชราก็จะเล่าให้ฟังด้วยความคับแค้นในใจ มีอยู่ครั้งหนึ่งมีคนถามชายชราว่า ถ้าเขามาระเบิดหินตรงที่ใช้หาปลาจะทำยังไง

ชายชราได้บอกกับคนที่ถามว่า หากทำจริงก็จะบอกคนที่มาทำว่า
“จะเอามันออกทำไม ถ้าเอาออกแล้วมันเกิดไม่ดีขึ้นมา มันต่อกลับมาไม่ได้ หินมันไม่ใช่กระดาษ ถ้าเป็นกระดาษเราฉีกแล้วเอากาวมาต่อกลับไปใหม่ได้ แต่หินเอากาวมาต่อใหม่ไม่ได้ อย่าทำเลยปล่อยมันไว้อย่างนั้นแหละ ถ้าเรือมันมาไม่ได้ทำไมเราไม่ทำเรือให้เหมาะสมกับแม่น้ำ ถ้าหน้าแล้งก็ใช้เรือลำเล็ก มันก็มาได้ ไม่ใช่ว่าทำแม่น้ำให้เหมาะสมกับเรือ แค่เขาคิดว่าสิ่งที่อยู่ในน้ำคือตัวขัดขวางการเดินเรือ เขาก็คิดผิดแล้ว คนจีนนี่ก็แปลกนะ เหมาเจ๋อตงยังเคยบอกเลยว่า ถ้าเราจะทำรองเท้า เราต้องตัดเกือกใส่เท้า ไม่ใช่ตัดเท้าไปใส่เกือก แก่งหินที่อยู่ในน้ำมันเป็นบ้านของปลา ถ้าระเบิดแล้วปลาก็ไม่มีที่อยู่ เอาแก่งหินออกก็เหมือนเรากำลังฆ่าแม่ของเรา”

ผมเองก็ไม่เข้าใจเช่นกันว่า คำว่า ‘แม่’ ที่ชายชรากล่าวถึงนั้นหมายถึงอะไร แต่ผมรับรู้ได้ว่า ชายชราก็เป็นห่วงสายน้ำสายนี้ไม่น้อยกว่าคนอื่นๆ

‘แม่’ ในความหมายของชายชราอาจหมายถึงสิ่งใดก็ตามที่ให้ชีวิตกับเรา และเราพึ่งพาอาศัยมีชีวิตอยู่มาได้ สิ่งนั้นย่อมได้รับการเรียกว่า แม่ ไม่ได้แตกต่างจากแม่ผู้ให้กำเนิดของเรา เพราะแม่ผู้ให้กำเนิดของเราก็ดูแลเราและให้เราพึ่งพาอาศัยอยู่ได้ตลอดเวลา

แม้ว่าความคิดของชายชราอาจจะเป็นความคิดจากคนตัวเล็กๆ ในมุมมองของใครหลายคน แต่สำหรับผมแล้ว ผมถือว่านี่เป็นความคิดอันยิ่งใหญ่ของคนธรรมดาสามัญคนหนึ่งที่ยินดีจะเข้าร่วมเพื่อปกป้องสิ่งที่ตัวเองเคยได้พึ่งพาอาศัย แม้ว่าการปกป้องอาจบรรลุเป้าหมายช้าก็ตามที

จากความรักที่ชายชรามีต่อสายน้ำสายนี้ จึงไม่แปลกนัก คำที่กลั่นออกมาจากดวงใจของชายชราและออกมาเป็นคำพูดว่า ‘ถ้าเราเอาแก่งหินในสายน้ำโขงออกก็เหมือนกับว่าเรากำลังฆ่าแม่’

ในวันนี้แม่น้ำกำลังเปลี่ยนไป แต่จิตใจของคนบางคนกลับไม่เคยเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะชายชราแห่งคนนี้ ชายชรารักสายน้ำสายนี้เท่าๆ กับชีวิตของแก เพราะสายน้ำได้ให้ชีวิต และให้เรื่องราวมากมายโดยมิคาดหวังว่าคนเช่นชายชราจะรักและเทิดทูนแม่น้ำสายนี้เพียงใด แม่น้ำได้ให้ประโยชน์กับมนุษย์มากมาย และแม่น้ำก็ไม่เคยเรียกร้องให้ผู้คนผู้ได้รับประโยชน์หันกลับมาห่วงใยแม่น้ำ แต่การที่คนจะตระหนักถึงความรักต่อสายน้ำนั้น ล้วนเกิดมาจากบ่อน้ำแห่งความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำถ่ายเทออกมาจากจิตใจของคนเราอย่างแท้จริง และบ่อน้ำแห่งความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำของใครจะได้รับการถ่ายเทออกมาจิตใจก่อนกันเท่านั้นเอง

สำหรับชายชรา บ่อน้ำแห่งความทรงจำเกี่ยวกับแม่น้ำสายน้ำนี้ของแกได้เกิดขึ้นแล้ว และมันจะยังคงอยู่อย่างนี้ไปจนกว่าชีวิตของแกจะเดินทางจากโลกนี้ไปสู่เชิงตะกอนอันเป็นฉากจบของชีวิตคนหนึ่งคน

ชายชราผู้ล่องเรือชีวิตเหนือสายน้ำโบราณ ตอน ๖

26 November, 2007 - 00:41 -- sumart

หลังกลับมาถึงบ้าน ผมหวนคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ที่แกเล่าให้ฟัง ห้วงอารมณ์นั้น ผมคิดถึงหนังสือเล่มหนึ่ง หนังสือเล่มนี้เล่าถึงการรอนแรมออกทะเล เพื่อตกปลาของชายแก่คนหนึ่ง การเดินทางออกทะเลของชายชราในหนังสืออาจแตกต่างกับการเดินทางออกสู่แม่น้ำของชายชราแห่งโลกของความจริงอยู่บ้าง แต่ในวิถีของชายเฒ่าทั้งสองคน มีเรื่องราวทั้งเหมือน ทั้งแตกต่างรวมอยู่ด้วยกัน

การเดินทางไปสู่วิถีของการเป็นนักล่าของชายทั้งสองอาจจะไม่ต่างกันมากนักในการกระทำ แต่เป้าหมายในการออกเรือ เพื่อเป็นนักล่าของชายทั้งสองอาจแตกต่างกัน คนหนึ่งออกเรือไปล่าเพื่อความสุขตามคิดความเชื่อของตัวเอง แต่อีกคนหนึ่ง การออกเรือไปล่ากลับเป็นไปเพื่อการฝากชีวิตไว้กับปลาเหล่านั้น

เมื่อพูดถึงคนหาปลาแล้ว มิใช่เพียงชายชราคนเดียวในแม่น้ำสายนี้ที่ต้องฝากชีวิตไว้กับปลา แต่คนหาปลาคนอื่นก็เป็นดุจเดียวกัน คงไม่เกินเลยไปนักที่จะบอกว่า การตายของปลาตัวหนึ่งคือการตายเพื่อต่ออายุของคนอีกหลายคน

ช่วงไหนคนหาปลาออกเรือหาปลาแล้วได้ปลา ก็หมายความว่า เมื่อกลับไปถึงบ้าน สินทรัยพ์จากการขายปลาก็จะเกิดขึ้น สินทรัพย์ที่ได้จากการขายปลาจะถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นค่าใช้จ่ายต่างกันออกไปตามแต่ความจำเป็นของแต่ละคน แต่ถ้าหากวันไหนการเดินทางกลับบ้านของคนหาปลา มีเพียงถังแช่ปลาเปล่าเปลี่ยว แน่นอนว่ารายรับ-รายจ่ายบางส่วนต้องผ่อนผันออกไป

ในการขายปลาแต่ละครั้งเงินจากการขายปลาผู้เฒ่าทั้งสองก็แบ่งคนละครึ่ง แต่ส่วนมากแม่เฒ่าจะได้ส่วนแบ่งมากกว่า เพราะแม่เฒ่าอยู่บ้านจึงมีความจำเป็นในการใช้เงินมากกว่า หากวันไหนขายปลาได้เงินสองร้อยก็แบ่งกันคนละร้อย สำหรับบางคน เงินหนึ่งร้อยบาทอาจใช้จ่ายได้ไม่ถึงวัน แต่สำหรับผู้เฒ่าทั้งสอง เงินหนึ่งร้อยบาทสามารถใช้จ่ายได้ ๓-๔ วันเลยทีเดียว

สำหรับชายชราวันที่หาปลาไม่ได้มีน้อยกว่าวันที่หาปลาได้ ค่าใช้จ่ายทั้งหลายตั้งแต่ลูกยังเล็กจนถึงตอนนี้ กล่าวได้ว่าแม่น้ำคือธนาคารของชายชรา แต่การถอนเงินจากธนาคารแห่งนี้ในแต่ละครั้งต้องใช้ทั้งแรง ทั้งประสบการณ์ และความสามารถอีกหลายอย่าง อีกทั้งจำนวนเงินที่สามารถถอนได้ในแต่ละวันก็ไม่เท่ากัน ธนาคารแห่งนี้อาจแปลกกว่าธนาคารอื่นตรงที่คนฝากเงินไม่ได้ฝากเพียงเงินอย่างเดียว แต่ยังต้องฝากชีวิตเอาไว้กับธนาคารแห่งนี้ด้วย

หลังได้ฟังเรื่องเล่าหลายเรื่องจากชายชรา ในความรู้สึกของผม เรื่องราวของชายชรากับปลาบางตัว จึงเป็นเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่องราวเรื่องใดบนแม่น้ำสายนี้

เมื่อพูดถึงคนหาปลาในแม่น้ำสายนี้แล้ว ไม่มีผู้ใดทราบได้อย่างแน่ชัดว่า คนหาปลารู้จักเรียนรู้การหาปลาในแม่น้ำนี้คนแรกเป็นใคร ถึงแม้ว่าไม่มีใครรู้ว่าคนหาปลาคนแรกเป็นใคร แต่คนทั่วไปก็ได้รู้ว่า บัดนี้ลูกหลานของคนหาปลาคนแรกในแม่น้ำสายนี้ พวกเขาได้เดินตามรอยของคนหาปลาคนแรกในแม่น้ำแห่งนี้สืบต่อมาหลายชั่วอายุคนเช่นกัน

ดังที่กล่าวมา แม่น้ำก็มีจังหวะชีวิตของการดำรงอยู่เช่นกัน ในช่วงแต่ละจังหวะชีวิตถ้าเปรียบไปก็คงเป็นฤดูแต่ละฤดูนั่นเอง  

ฤดูฝนปีนี้ก็เหมือนหลายปีที่ผ่านมา ฝนยังคงตกลงมาอยู่สม่ำเสมอ แม้ฝนนี้ไม่ใช่ฝนแรกของปี แต่สายลมในม่านฝนในบางวันยังดูน่ากลัวอยู่เช่นเดิม ในช่วงฝนแรกเข้ามาเยือน เมฆฝนสีดำทะมึนจะปรากฏเหนือขอบฟ้า ความทะมึนดำขับความน่ากลัวของยามค่ำคืนให้แจ่มชัดขึ้น แต่ก็นั้นแหล่ะ ใช่ว่าสายฝนจะไม่ขาดจากฟ้า สายฝนก็เหมือนกับสายลม บางวันก็มีลม บางวันก็มีฝน แต่ ๒ วันที่ผ่านมาฝนไม่ตก ฟ้าเป็นสีฟ้า อากาศแจ่มใสกลับมาเยือนอีกครั้ง เมื่อฟ้าใสไร้เมฆฝน ชายชราจึงเอาเรือออกวางไซลั่น และวางเบ็ดอีกครั้ง หลังจากจมอยู่กับสายฝนบนกระท่อมเปล่าเปลี่ยวเพียงลำพังมา ๒ วันเต็ม

แม้ว่าการออกเรือหาปลาในแต่ละครั้งจะเหมือนกันทุกวัน แต่ในครั้งนี้กลับไม่เหมือนครั้งผ่านมา เพราะการออกหาปลาในครั้งนี้ ชายชราเอาเรือออกไปหาปลาไกลจากกระท่อมมาก

การออกไปหาปลาในที่ไกลๆ เช่นนี้ สำหรับชายชราถ้าในหลายปีก่อนมันเป็นเรื่องราวปกติ แต่ในยามแก่เฒ่าเช่นนี้ การตื่นแต่เช้าไปดูเบ็ดนั้นมีความเสี่ยงต่อชีวิตอยู่บ้าง เนื่องเพราะสายตาอาจพร่ามัว แต่นั้นก็เป็นเพียงความกังวลของคนอื่น ชายชราได้แสดงให้เห็นแล้วว่า แม้จะต้องไปหาปลาไกลเพียงใดก็ไม่ได้ทำให้ชายชราหวั่นวิตก แต่สิ่งที่ทำให้ชายชราหวั่นวิตกกลับเป็นการไม่ได้ออกไปหาปลามากกว่า

“ถ้าให้นั่งๆ นอนๆ ฟังเสียงฝนอยู่ในกระท่อมกับออกไปหาปลา ออกไปหาปลายังสนุกกว่า มีความสุขกว่า แม้ว่าบางทีเราจะไม่ได้ปลา แต่เราก็มีความสุข เพราะเราได้ทำในสิ่งที่เราชอบ และเราเลือกที่จะทำ”

บริเวณที่ชายชราสร้างกระท่อมเอาไว้พักเวลามาหาปลาห่างออกมาจากหมู่บ้านมาก จึงไม่มีบ้านเรือนของผู้คน แต่ก็นั้นแหละ แม้ว่าจะไม่มีผู้คนมาปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่บริเวณกระท่อมของชายชรา และบริเวณที่ชายชราใช้วางเบ็ดก็ไม่มีคนอื่นไปวาง แต่พื้นที่วางเบ็ดก็มีน้อย ยิ่งช่วงหน้าน้ำมาก เกาะแก่งจะจมอยู่ใต้น้ำ พื้นที่มนการวางเบ็ดก็มีน้อยลง และที่สำคัญน้ำเป็นน้ำใหญ่ พอน้ำใหญ่ปลาก็มีอิสระแหวกว่ายเข้าไปหากินยังริมฝั่งตรงไหนก็ได้ เมื่อพื้นที่มีน้อย การแสวงหาพื้นที่ในการวางเครื่องมือหาปลาไกลออกไปจากจุดเดิมจึงเกิดขึ้น

หากไม่กล่าวจนเกินเลยนัก ทุกครั้งที่ชายชราออกหาปลา ก็ไม่ต่างกับการเสี่ยงดวงตามวงพนัน เพราะการวางเบ็ดไว้ในน้ำ เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าปลาจะผ่านมากินเหยื่อช่วงไหน ถ้าปลาเข้ามากินเหยื่อถือว่าเทพีแห่งโชคชะตาเข้าข้าง โชคชะตาจึงเป็นสิ่งตัดกันไม่ขาด แม้ว่าการฝากความหวังไว้กับแม่น้ำจะเป็นเหมือนเอาโชคชะตาไปผูกแขวนไว้กับความเนิ่นช้าที่ไกลห่างการไปถึงเป้าหมายก็ตามที

พูดตามความจริงแล้ว การหาปลาในแม่น้ำใช่ว่าใครจะหาก็ได้ แต่การหาปลาในแม่น้ำต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ใช่คนหาปลา การหาปลานั้นยาก และซับซ้อน พอๆ กับคนไม่รู้เรื่องวิทยาศาสตร์ต้องไปทำข้อสอบวิชาวิทยาศาสตร์ คนหาปลาแต่ละคนก็จะมีวิธีการหาปลาแตกต่างกันออกไป และเครื่องมือหาปลาบางชนิดก็เป็นเครื่องมือพิเศษ คนหาปลาบางคนไม่เคยใช้ก็ใช้ไม่เป็นเอาเสียเลย การหาปลาจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ในคราวเดียวกัน

ชายชราเล่าให้ฟังว่า ช่วงวัยหนุ่มมีเรี่ยวแรงก็ไหลมอง แต่ในยามแก่เฒ่าการหาปลาด้วยการใส่ไซลั่น และวางเบ็ดดูเป็นการหาปลาที่แกทำได้ และทำได้ดี

“สมัยเป็นหนุ่ม เขาชวนไปหาปลาตรงไหนไปหมด ออกไหลมองแต่ละรอบได้ปลาไม่ต่ำกว่าสิบ แต่ก็อย่างว่านั่นมันเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีที่แล้ว สมัยก่อนน้ำมันไม่เป็นอย่างนี้ คนหาปลาก็ไม่ค่อยเยอะ เราออกไหลมองรอบหนึ่งก็เลยได้ปลามาเยอะ ได้มาทีเรียกว่ากินปลากันจนไม่อยากกิน สมัยก่อนนี่ไม่ขายกันเป็นกิโล ปลาตัวใหญ่เราก็ขายแพงหน่อย ปลาตวเล็กเราก็ขายถูก ก็ขายตามขนาดของปลา แต่ตัวใหญ่มากๆ ก็จะขายกันเป็นกำ อย่างปลาบึกสมัยก่อนเขาก็ขายกันเป็นกำ--การขายเป็นกำเป็นวิธีการค้าขายของคนท้องถิ่นก่อนยุคที่จะมีตราชั่ง วิธีการขายคือใช้เชือกวัดรอบสิ่งที่เราจะขาย สมมุติว่าจะขายปลาก็เอาเชือวัดรอบตัวปลา จากนั้นก็เอาเชือกนั้นมาพับครึ่ง พอพับครึ่งเสร็จก็ใช้มืออีกข้างหนึ่งกำเชือกไปจนสุดปลาเชือก เพื่อให้รู้ว่าได้กี่กำ”

วันและคืนได้หมุนเวียนผ่านไปเหมือนสายน้ำมีน้ำท่วมแล้วก็ลด เมื่อแล้งก็มีฝนตกลงมาให้น้ำอีกครั้ง การเปลี่ยนผ่านในบางครั้งเป็นดั่งการตอกย้ำให้หวนนึกถึงเรื่องราว และจดจำเรื่องราวในห้วงยามที่ผ่านมา แต่การจดจำเรื่องราวในหนหลัง หลายคนบอกว่ายิ่งแก่ตัวไป ความจำยิ่งลดลง แต่สำหรับชายชราผมกับรู้สึกว่ายิ่งแก่ ยิ่งลายคราม สมกับวันวัยแห่งประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน

บางครั้งบางทีหลักไมล์การเดินทางของชายชราอาจอยู่บนใบหน้าที่แข็งแกร่ง การสะสมไมล์เดินทางของชายชราล้วนแล้วแต่คือรอยทางของเกลียวคลื่นจากเรือหาปลาที่พุ่งเข้ากระทบฝั่ง และปลานับจำนวนไม่ถ้วนที่ชายชราหาได้ในแต่ละปีคือ หลักไมล์แสดงระยะทางของการเดินทางบนสายน้ำของชายชรา

“ปลามันไม่ได้น้อยลง คนเยอะขึ้นก็จริงอยู่ ดูอย่างพ่อเฒ่าไปหาปลาทุกวัน ใส่มอง ใส่เบ็ด ก็ได้ปลามากิน หากคนหาปลาทุกคนทำอย่างนี้ไม่เอาเปรียบปลาจนเกินไป ปลามันก็มีเยอะเหมือนเดิม บางคนนี่เอาระเบิดไประเบิด แล้วปลาที่ไหนจะเหลือ คนเราเอาเปรียบปลาเกินไป ปลามันก็ไม่อยากให้คนได้กินบ้างเป็นการตอบแทนกัน คนเราอยู่อย่างนี้หาอยู่หากินต้องพึ่งพาอาศัยกัน ปลาตัวไหนมันติดเบ็ดติดมองของเราก็เพราะมันเกิดมาเพื่อเรา แต่ตัวไหนที่มันโดนระเบิดตาย บางทีมันก็ไม่ได้เกิดมาเพื่อเรา แต่เราไปเอามันมาไปฆ่ามันก่อน

ปลาติดมองกับปลาโดนระเบิดมันไม่เหมือนกัน ปลาติดมองนี่ไม่ตาย มันว่ายมาติดเอง ชีวิตมันถูกลิขิตมาแล้ว แต่คนเอาระเบิดไประเบิดปลานี่ มันเอาเปรียบปลาเกินไป ปลามันว่ายน้ำอยู่ๆ ดี ไม่รู้เหนือรู้ใต้ เสียงตูมดังขึ้นใต้น้ำ ถ้าอยู่ในรัศมีของคลื่นแรงระเบิดนี่ร้อยทั้งร้อยหงายท้องหมด พวกระเบิดปลามันหากินไร้คุณธรรม มันอยากได้ปลาตัวใหญ่ไปขาย มันก็เลยเอาระเบิดมาใช้ พอระเบิดทีหนึ่ง มันเอาแต่ปลาตัวใหญ่ ปลาตัวเล็กไม่เอา ความจริงปลาตัวเล็กนี่มันจะโตได้ แต่โดนระเบิดตายก่อน ปลามันก็เลยน้อยลง ถ้าคนหาปลาใช้วิธีการหาปลาแบบพื้นบ้าน ปลามันก็ยังมีมาก อย่างเราอยากกินปลาใหญ่เราก็ใส่มอง--ตาข่าย, อวน ตาใหญ่ พอปลาเล็กมันว่ายมามันก็ผ่านไปได้ แต่ถ้าเราอยากกินปลาตัวเล็กด้วย เราก็ใช้มองตาเล็ก ถ้าเราทำอย่างนี้เหมือนกันหมด เมื่อเราตายไป รุ่นลูกรุ่นหลาน เหลนของเราก็จะมีปลากินกันต่อไป เราอย่าไปคิดว่ากูมาก่อน กูกินก่อน กินหมดกูก็ไป ไม่เหลือไว้ให้ใคร คนคิดอย่างนี้ มันเป็นคนโง่ คิดแต่จะได้เพียงคนเดียวไม่แบ่งคนอื่น มันไม่มีความสุขหรอก”

“แล้วพ่อเฒ่าไม่ขึ้นไปเหนืออีกหรือ”
“ไม่ได้ไป ช่วงนี้หยุดก่อน ถึงขึ้นไปหาปลาก็หาปลาไม่ได้ ไปเปลืองน้ำมันเปล่าๆ”
“ตอนนี้พ่อเฒ่าไปหาปลาถึงไหน”    
“แถวผากันตุง แก่แล้วไปไกลไม่ค่อยได้”

‘ผากันตุง’ ที่ชายชราว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มหินผาที่มีอยู่หลายแห่งในแม่น้ำ กลุ่มผาเป็นแท่งหินเหล่านี้ส่วนใหญ่จมอยู่ใต้น้ำตลอดปี กลุ่มหินผาอีกประเภทหนึ่งจะมีสันดอนทรายอยู่รอบๆ ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอน กลุ่มหินผาลักษณะนี้จะมี ‘ดอน’ และ’หาด’ ประกอบอยู่ด้วย

ตรงผากันตุงมีเรื่องเล่าขานกันมาว่า “ผากันตุงเป็นผาขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางสายน้ำโขงตรงข้ามกับผาพระ ผากลางน้ำโขงซึ่งมีน้ำล้อมรอบ ในอดีตหลังจากชาวบ้านเคารพสักการะผาพระเสร็จก็จะพากันนำ ‘ตุง’ หรือธงยาวของทางเหนือที่ใช้ในพิธีกรรม มาปักไว้ตรงแก่งหินก้อนใหญ่กลางแม่น้ำ ชาวบ้านจึงเรียกสืบต่อกันมาว่า ผากันตุง”

บริเวณผากันตุงทำหน้าที่เป็นพื้นที่หาปลาของชายชรามาอย่างยาวนาน--นานขนาดที่แกรู้ว่า รอยที่เกิดจากการกัดเซาะบนหินเป็นรอยของปลาชนิดไหนมาฝากรอยคมเขี้ยวของมันเอาไว้ ความรู้เรื่องรอยฟันปลานี้ ชายชราได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกหลานอย่างไม่หวงแหน  โดยเฉพาะกับตี๋หลานชาย ชายชราได้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่หลานชายคนนี้อย่างเต็มที่ ตี๋เองก็ออกหาปลากับชายชราตั้งแต่เล็ก บ่อยครั้งคนหาปลาด้วยกันจะเห็นเด็กชายตัวเล็กถือคันเบ็ดเดินตามหลังชายชราลงเรือ

สำหรับคนหาปลาแล้ว ไม่ใช่ว่าพวกเขาพอใจอยากหาปลาตรงไหนก็ทำได้ แต่คนหาปลาต่างมีพื้นที่หาปลาของตัวเอง คนหาปลาจะรู้ว่าพื้นที่ของตนจะหาปลาด้วยวิธีการใด เมื่อใด หากรู้จังหวะ ช่วงเวลา คนหาปลาก็จะได้ทรัพย์ในน้ำกลับมา

การวางเครื่องมือหาปลา คนหาปลาต่างต้องเคารพในกันและกัน และหลักการนี้ทำกันมาแต่รุ่นปู่รุ่นพ่อ คนหาปลาต่างยึดถือกฏเกณฑ์ของการไม่เอาเปรียบกันและกัน ในการวางเครื่องมือหาปลาแต่ละครั้งจะไม่มีการวางเครื่องมือหาปลาบริเวณพื้นที่หาปลาของคนอื่นเด็ดขาด แต่ถ้าจะวางเครื่องมือหาปลาในพื้นที่ของคนอื่นก็ต่อเมื่อ เจ้าของพื้นที่อนุญาตหรือไม่ใช้พื้นที่แล้ว คนหาปลาคนอื่นจึงจะเอาเครื่องมือหาปลาของตัวเองไปวางได้ การพึ่งพาอาศัย และการให้เกรียติกันของคนร่วมน้ำเดียวกันล้วนอยู่บนพื้นฐานของการเคารพในความเท่าเทียมกันของมนุษย์เป็นสำคัญ

“เราคนหาปลาด้วยกันเอาเปรียบกันมันไม่ดี เราเคยหาที่ไหนเราก็หา อย่าไปหาที่ของคนอื่น เรามี’ลั้ง’ ของเรา คนนอื่นเขาก็มีลั้งของเขา แต่ถ้าไหลมองนี่ก็มาไหลด้วยกันได้ เพราะมันต้องใช้พื้นที่ส่วนร่วม แต่พวกวางเบ็ด วางไซลั่นนี่ เราต้องหาพื้นที่เอาเอง ไม่ใช่ว่าเห็นคนอื่นวางตรงไหนได้ปลา เราก็ไปวางที่ของเขาอย่างนี่ไม่ดีหากินไม่หมาน เราต้องเคารพเขา แต่ถ้าเขาไม่วางเบ็ด เราอยากได้ปลาเราก็ไปขอเจ้าของพื้นที่เขาวางได้ จริงอยู่แม่น้ำมันไม่ใช่ของใคร แต่พื้นที่ทำกินเราก็ต้องแสวงหาเอากันเอง แม่น้ำสายใหญ่อยู่ข้างหน้า มันต้องมีสักที่แหละที่พอให้เราหาอยู่หากินได้”

ในชีวิตจริงสำหรับชายชราแล้วไม่ได้มีเรื่องเคร่งเครียดจริงจังตลอด ชีวิตก็มีจังหวะของมัน ไม่ได้ต่างอะไรกับแม่น้ำ สำหรับชายชราในบางครั้งแกก็มีเรื่องราวชวนหัวให้ได้อำกันบ้างในบรรดาคนคุ้นเคย อย่างเรื่องที่เกิดขึ้นเรื่องนี้

วันหนึ่งมีคนเห็นชายชราเอาเรือขึ้นเหนือไปตอนเช้า แต่ตอนเย็นก็เห็นแกกลับมา เลยถามว่าทำไมรีบกลับมาได้ปลาเยอะหรือ ชายชราก็ตอบกลับมาว่า กลับมานี่ยังไม่ได้หาปลาหรอก แต่ลืมเอาข้าวสารไปด้วย เลยย้อนกลับมาเอาข้าว เพราะเดี๋ยวจะไม่มีข้าวกิน

แม้เรื่องราวอย่างนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่เมื่อคนหาปลาอาวุโสมีเรื่องแบบนี้ จึงเป็นเรื่องที่ใครๆ พากันพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง ทุกครั้งที่ใครพูดเรื่องนี้ ชายชราก็จะหัวเราะอย่างอารมณ์ดีเสมอ ยิ่งเวลาได้น้ำใสหนักดีกรีเข้าไปหลายจอก แกก็จะร้องเพลงรำวงอย่างสนุกสนานอยู่เสมอ...

มาเถิด มาเถิดแก้วตา รำวงดีกว่าร่าเริงหัวใจ รำวงดีกว่าร่าเริงหัวใจ...

เฝ้าระวัง 'กระแส' ก่อนถูกซัด

 กระแสต่างๆ นานา (หรือคำว่า ‘Trend' อันแสนจะฮิต) เกิดขึ้นใหม่ทุกวัน นับตั้งแต่โลกเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ กระแสที่ว่ามีทั้ง แฟชั่น-เสื้อผ้า-ดนตรี-กีฬา-ภาพยนต์-บันเทิง-การเืมือง ฯลฯ ซึ่งมีอานุภาพมากพอที่จะโน้มน้าวจิตใจหรือกระตุ้น ความอยาก' ที่จะอุปโภคบริโภคของคนส่วนใหญ่ได้ จึงมีการยอมรับให้ เทรนด์' เหล่านี้เข้ามามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้อย่างง่ายดาย 

แต่ไปๆ มาๆ ดูเหมือนว่ามีคนอีกไม่น้อยที่ต้องการหลีกหนีไปให้พ้นกระแสความทันสมัย In ‘Trend' ที่แทบจะเปลี่ยนแปลงไปอยู่ทุกวัน ด้วยความที่มันสิ้นเปลือง เหนื่อยและไม่มีที่สิ้นสุดเสียที

อาจเป็นเพราะเหตุนี้ กลุ่มนักการตลาด, โปรแกรมเมอร์, สื่อมวลชน, นักรัฐศาสตร์ และนักสร้างกระแส (หรือที่เรียกกันเก๋ๆ ว่า trendsetter) จากเนเธอแลนด์ จึงร่วมกันก่อตั้งบล็อก trendwatching.com ขึ้นมา เพื่อเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวของ กระแส' ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก จากนั้นก็จะประเมินสถานการณ์ว่าเจ้ากระแสที่เกิดขึ้นมาใหม่ๆ นั้นมีความเป็นมาอย่างไร และได้สร้างผลกระทบอะไรบ้างกับวิถีชีวิตและผู้คน

เทรนด์ล่าสุดที่เขาว่ากำลังมาและจะฮิตต่อไปถึงปีหน้าก็คือ กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม' และบล็อกนี้ทำนายไว้ด้วยว่า กระแสที่จะตามมาต่อจากนั้นอีกทีก็คือ กระแสต่อต้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม' โดยให้เหตุผลว่า เพราะมันมีกระแสอนุรักษ์เกิดขึ้นมากเกินไป ก็เลยกลายเป็นขั้วกลับไปยังฝั่งตรงข้าม คนที่เคยให้การสนับสนุนก็อาจกลายเป็นเสียงต่อต้านไปแทน...

ทุกวันนี้ นักเล่นเน็ตทั่วโลกราว 8 พันคน เข้าร่วมเป็นสมาชิกของบล็อก trendwatching คอยสอดส่องดูแลและเฝ้าระวังว่ามีกระแสหรือเหตุการณ์อะไรสำคัญๆ เกิดขึ้น เพื่อที่คนส่วนใหญ่จะได้รู้ทันและเข้าใจกระแสที่เกิดขึ้นเหล่านั้น โดยที่ไม่ถูกมันซัดซวนเซไหลตามกระแสไปจนไม่ทันตั้งตัว...

 

 

 

 

ชายชราผู้ล่องเรือชีวิตเหนือสายน้ำโบราณ ตอน ๕

16 November, 2007 - 01:03 -- sumart

แสงแดดยามบ่ายคลี่ม่านกระจายโอบไล้ยอดไม้ แรงลมพัดยอดไม้เอนไหว ดอกไม้ป่าสีขาวของฤดูฝนกำลังร่วงหล่นลงพื้นดิน แม้ว่าดอกไม้จะจากไป แต่ธรรมชาติก็ได้มอบความเขียวชะอุ่มของผืนป่ามาทดแทนเช่นกัน

ยามบ่ายขณะหลายคนยังวุ่นอยู่กับงาน ผมเดินเตร็ดเตร่ตามถนนมาถึงหน้าบ้านหลังหนึ่ง หลังอ่านป้ายก็รู้ว่าบ้านหลังนี้เป็นบ้านของชายชรา ผมมองหาเจ้าของบ้านอยู่นอกรั้วในใจยังหวั่นอยู่ว่าจะได้พบเจ้าของบ้านหรือเปล่า เมื่อมองดูอยู่ครู่หนึ่ง ผมก็เห็นชายชราผู้เป็นเจ้าของบ้านกำลังก้มๆ เงยๆ อยู่กับกองไม้ไผ่ข้างห้องครัว

ผมร้องเรียกชายชราอยู่นอกรั้ว เมื่อได้ยินเสียงเรียก แกก็เงยหน้าขึ้นมาดู และเรียกผมเข้ามาในบ้าน หลังเปิดประตูรั้วแง้มออกมาพอให้ตัวเองเดินเข้าไปได้ ผมก็เดินตรงเข้าไปยังลานบ้าน เมื่อผมเดินเข้าไปถึงชายชราเปลี่ยนจากนั่งมาเป็นลุกขึ้นยืน ด้านข้างของม้านั่งมีเศษไม้ไผ่กองอยู่จำนวนมาก

“พ่อเฒ่าทำอะไรอยู่”
“กำลังทำคันเบ็ดกับตุ้มปลาเอี่ยน—ปลาไหล”
“ทำมานานหรือยัง”
“ทำมาแต่เช้าแล้วยังไม่เสร็จสักที มันสานยาก ต้องค่อยๆ สาน รีบไม่ได้เดียวไม้ไผ่จะได้กินเลือดเรา”

หลังยืนคุยกับผมครู่หนึ่ง ชายชราก็นั่งลง และลงมือสานตุ้มปลาเอี่ยนต่อ ผมนั่งมองชายชราทำงานของแก่ และครุ่นคิดเรื่องราวบางอย่าง ในห้วงนั้น ผมคิดถึงการเดินทางของเบ็ดจากมือของชายชราค่อยๆ ทยอยลงสู่แม่น้ำ และกลับมาพร้อมกับปลา ความสุขไม่มากก็น้อยจะเกิดขึ้นหลังจากคนหาปลากลับมาพร้อมปลาติดเบ็ด

“คนหาปลาอย่างเรานี่ต้องรู้จักทำเครื่องมือหาปลาเอง อย่างไหนทำได้ก็ทำ แต่ถ้าอย่างไหนทำเองไม่ได้ก็ซื้อ พอซื้อแล้วก็เอามาแต่งใหม่ อย่างมองซื้อมาแล้วก็เอามาทำใหม่ ขอเบ็ดก็เอามาผูกสายเอาเอง เพราะซื้อคนอื่นมามันไม่ค่อยมั่นใจว่าจะหมานหรือเปล่า แต่ถ้าเอามาทำเองมันจะรู้ว่าต้องผูกเบ็ดอย่างไรถึงจะหมาน เรามีวิธีผูกของเรา เขามีวิธีผูกของเขา มันไม่เหมือนกัน”   

“พูดเรื่องคนหาปลาแล้ว คนไม่ได้หาปลาไม่ค่อยรู้หรอกว่า คนหาปลามันมีความเชื่อหลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องโชคลางนี่สำคัญ เพราะถ้าไม่เชื่อ บางทีก็หาปลาไม่หมาน บางคนกำลังจะออกไปหาปลามีคนทักเดินกลับเลย ไม่ไป เพราะเดี๋ยวไม่หมาน อย่างเวลาไปเอาไส้เดือนมาทำเหยื่อตกปลา เราจะทำท่ารังเกียจถ่มน้ำลายไม่ได้ ถ้าใครทำหาปลาไม่หมาน อย่างเรือก็เหมือนกัน ถ้าจะเอาเรือออกหาปลา เราต้องเลี้ยงเรือให้ดี ถ้าเลี้ยงดีแม่ย่างนางเรือก็จะช่วยให้ได้ปลาเยอะ เรือพ่อเฒ่าแต่ก่อนเอาไก่เลี้ยง เดี๋ยวนี้เอาขนมเลี้ยง เรือมันแก่แล้ว คงไม่ฟันเหมือนคนนี้แหละ พอไม่มีฟันก็กินไก่ไม่ได้ กินได้แต่ขนม“
พอพูดเสร็จชายชราก็หัวเราะขึ้นมาเบาๆ

ผมได้พูดคุยเรื่องราวต่างๆ กับชายชรามากมาย ช่วงไหนพูดถึงปลา ชายชราจะเล่าเรื่องปลาที่แกเคยหาได้ให้ฟังอย่างออกรสชาติ บางครั้งพอถามถึงขนาดของปลา แกก็จะยกมือขึ้นทำท่าประกอบบ่งบอกถึงความใหญ่และความเล็กของปลาไปด้วย บางครั้งก็แกก็เอาไม้ไผ่วาดรูปปลาลงบนพื้นดินให้ผมดู

“มีอยู่ครั้งหนึ่งหลายปีก่อน พ่อเฒ่าไปหาปลาคนเดียว ตอนไปก็นอนตามหาดทรายริ่มฝั่ง ใส่เบ็ดไว้ตอนกลางคืน พอเช้ามาใกล้แจ้งก็ไปไจ--ไปกู้เบ็ด พ่อเฒ่าเอาเรือออกไปเก็บกู้เบ็ดค่าวหลังก้อนหิน ตอนแรกนึกว่าไม่ได้ปลา พอเอาเรือเข้าไปใกล้แล้วดึงเชือกดู เชือกมันตึง ก็แปลกใจ ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าเป็นปลา ดึงอยู่พักหนึ่งมันก็ไม่ขึ้นเลยเอาหินผูกใส่เชือกหย่อนตามสายเบ็ดลงไปดู พอหินหล่นลงน้ำ มันไปโดนอะไรไม่รู้ใต้น้ำ พ่อเฒ่าก็นึกว่าโดนหิน ก็ลองดึงอีกทีปรากฏว่าเชือกมันค่อยๆ เคลื่อนไปข้างหน้า พ่อเฒ่าก็จับไม้พายค่อยๆ พายเรือตาม ตอนนั้นคิดว่าน่าจะเป็นผีเงือกหลอก (ความเชื่อเรื่องผีเงือกเป็นความเชื่อของผู้เฒ่าผู้แก่ในแถบอำเภอเชียงแสน,เชียงของ,เวียงแก่น) เพราะเชือกเบ็ดมันวิ่งไปข้างหน้าได้สักพักมันก็หยุด หยุดแล้วก็ไปต่อ พ่อเฒ่าเริ่มเห็นท่าไม่ดีก็ออกแรงดึง แต่ยิ่งดึงมันก็ยิ่งดึงตอบ มันพาเรือวิ่งไปเรื่อยๆ เราก็ปล่อยเรือไป เพราะเราไม่รู้ว่า เรากำลังสู้กับอะไร ถ้ารู้ว่าสู้กับอะไรอยู่ ก็พอคิดวิธีการสู้ได้ นี่เราไม่รู้ เรารู้เพียงว่า ถ้ามันดึงเราก็หยุด พอมันหยุด เราก็ดึง สู้กันอยู่อย่างนี้ตั้งแต่ตี ๔ ไปจนเกือบ ๖ โมงเช้า

ตอนค่อยรุ่ง มันหยุดดึง พอเห็นมันหยุด พ่อเฒ่าก็เลยดึงมันไปเรื่อยๆ จนใกล้ถึงฝั่งก็เอาเรือเข้าฝั่งขึ้น พอขึ้นไปบนฝั่งได้ เราก็ดึงอยู่บนฝั่ง พออยู่บนฝั่งแรงเราเยอะกว่า เราก็ดึงจนหัวมันพ้นน้ำขึ้นมา เห็นตัวปลาแล้วตกใจเกือบปล่อยสายเบ็ด ปลาตัวใหญ่มากหนัก ๖๐ กว่ากิโลได้ พอเอาขึ้นมาบนฝั่งได้นี่ดีใจเลย เพราะเกิดมาก็เพิ่งเคยเห็นปลาตัวใหญ่อย่างนี้ ถ้าตอนนั้นมันสู้จริงๆ นะ มันดิ้นทีพลิกเรือคว่ำได้เลย ตัวมันใหญ่ขนาดเอาขึ้นเรือแล้วยังต้องมัดหนวดมันใส่กับข้างเรือไว้กลัวมันดิ้น เรือจะคว่ำ ปลาแข้นี่ถ้ามัดหนวดมันแล้ว มันทำอะไรไม่ได้จะดิ้นยังไม่มีแรงเลย แต่ถ้าไม่มันหนวดมันไว้จะได้มานั่งพูดอยู่ตรงนี้หรือเปล่าก็ไม่รู้”

พอพูดมาถึงตรงนี้ ชายชราก็หยุดพูดแล้วหันไปยกบุหรี่ขึ้นมาจุดสูบ ตั้งแต่คุยกันมาชายชรา ผมสังเกตเห็นรอยยิ้มบนใบหน้าของชายชราเสมอ บางคนเคยบอกว่าการยิ้มบ่อยๆ ทำให้อารมณ์ดี เมื่ออารมณ์ดีก็ทำให้อายุยืนตามไปด้วย ชายชราก็คงเป็นเช่นนั้น เพราะตอนนี้แกอายุ ๗๖ ปีแล้ว แต่แกยังแข็งแรงเหมือนคนอายุ ๕๐ 

ใน ๗๖ ปีของชีวิต หากเปรียบเทียบระหว่างคนอายุขนาดนี้ที่อยู่ในเมืองกับชายชรา คนในเมืองบางคนอาจต้องพ่ายแพ้ เพราะในวัย ๗๖ สำรับคนในเมืองก็เป็นคนที่เกษียณตัวเองออกจากทุกอย่าง ได้เพียงแต่นั่งๆ นอนๆ ให้ลูกหลานป้อนข้าวป้อนน้ำ แต่สำหรับชายชราแล้วอายุเป็นเพียงริ้วรอยที่ปรากฏบนใบหน้า และผมขาวโพลนบนศีรษะเท่านั้น เพราะชายชรายังแข็งแรง เดินขึ้น-ลงท่าน้ำเอาเรือออกไปหาปลาได้โดยไม่ต้องบ่นว่าปวดเมื่อย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การดำรงอยู่ของคนเราในวงรอบของชีวิตแต่ละปี บางครั้งคนเราก็ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากการใช้ชีวิต ชายชราเองก็เช่นกัน กว่าจะทำเครื่องมือหาปลา และใช้เครื่องมือหาปลาแต่ละชนิดได้ แกก็ต้องอาศัยเวลาในการทดลองใช้ ทดลองทำด้วยตัวเอง บางครั้งการทดลองก็มีความผิดพลาดเกิดขึ้นบ้าง แต่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็สอนประสบการณ์ชีวิตให้กับชายชรามากมาย

หลังแสงแดดของความร้อนยามพลบลาลับไปไม่นาน ควันไฟก็ลอยล่องขึ้นจากเตาไฟในครัว ที่กองไฟนั้น แม่เฒ่ากำลังก่อไฟนึ่งข้าว เพื่อเตรียมอาหารมื้อเย็น หลังจากพูดคุยกับชายชราเนิ่นนาน ผมจึงได้รู้ว่า บ้านหลังนี้มีคนอยู่สองคน เพราะลูกหลานต่างแยกย้ายกระจัดกระจายไปทำมาหากิน และมีครอบครัวอยู่ที่อื่น แต่ลูกหลานก็ไม่เคยทอดทิ้งให้สองผู้เฒ่าต้องเหงา เพราะนานๆ ครั้งพวกเขาก็กลับมาเยี่ยมพอให้หายคิดถึง

บางวันเมื่อชายชราเอาเรือขึ้นไปหาปลา แม่เฒ่าจะอยู่เพียงลำพังในบ้านหลังใหญ่ ผมไม่รู้ว่าในห้วงยามอย่างนี้ แม่เฒ่าจะหว้าเหว่บ้างหรือเปล่า หรือว่าแม่เฒ่าเป็นอย่างนี้จนเคยชิน บางครั้งถ้านับเทียบเป็นเวลาแล้ว การพลัดพรากชั่วครู่ชั่วยามซ้ำแล้วซ้ำเล่าสำหรับผู้เฒ่าทั้งสองคนมันคงเป็นเวลาหลายปี

เมื่อผมอดกลั้นต่อความรู้สึกที่อยู่ใจไว้ไม่ไหว ผมเลยตัดสินใจถามแม่เฒ่าว่า
“แม่เฒ่าอยู่คนเดียวไม่เหงาหรือ”
“ในช่วงแรกมันก็คิดถึงกันบ้าง ตอนนั้นเรายังหนุ่มกันอยู่ กำลังมีลูกด้วย เราก็ไม่อยากให้เขาไป พอเขาไปภาระทุกอย่างก็เป็นของเรา หลังจากลูกหลานมันโตแต่งงานกันหมด เราก็ไม่ได้ห่วงอะไรแล้ว ตอนลูกหลานแยกย้ายกันออกเรือนไป แรกๆ ก็คิดถึงอยู่บ้าง เพราะบ้านเราคนมันอยู่กันเยอะ พอมาอยู่น้อยคนมันก็คิดถึงเป็นธรรมดา มองไปตรงไหนก็คิด อย่างมองไปบันไดเราก็คิดว่า วันนั้นตอนเย็นลูกคนหนึ่งนั่งร้องไห้อยู่ตรงนั้น แต่พอนานเข้าก็ไม่เป็นไรแล้ว ยิ่งตอนนี้ก็ไม่ได้คิดถึง แต่เป็นหว่ง เพราะเรามันก็แก่กันแล้ว กลัวไม่สบาย พอไม่สบายก็กลัวว่าจะไม่มีคนดูแล อย่างพ่อเฒ่าเราก็ห่วงแก เพราะแกไปหาปลาคนเดียวไปอยู่ไกลจากบ้านด้วย แต่ก็อย่างว่าคนเราแก่เฒ่าแล้วไม่ค่อยได้คิดอะไรมากหรอก กลางวันก็ไปอยู่กับกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน ตอนเย็นกลับมาบ้านก็ทำกับข้าว กินเสร็จแล้วก็นอน ชีวิตก็เป็นอยู่อย่างนี้”

ในวิถีแห่งชีวิตของสองคนเฒ่า เหมือนมีสายใยแห่งความห่วงใยซุกซ่อนอยู่ภายในตาข่ายแห่งการจากพราก ช่วงที่ชายชราขึ้นไปหาปลา แม่เฒ่าต้องอยู่บ้านเพียงลำพัง ชายชราเองก็คงไม่ต่างกัน เพราะในแต่ละครั้งที่ออกไปหาปลา แกก็ต้องพักค้างอ้างแรมคนเดียวในกระท่อมริมฝั่งน้ำ
“พ่อเฒ่าไปหาปลาแต่ละครั้งนานไหม”
“บางครั้งก็ ๓-๔ วัน บางครั้งก็วันเดียว แล้วแต่ได้ปลาไม่ได้ปลา ถ้าได้ปลาก็ไปนาน ถ้าไม่ค่อยได้ปลาก็กลับมาเร็ว รอจนปลาขึ้นมาก็ไปใหม่ แต่ตอนนี้ไปนาน ไปทีเป็นครึ่งเดือน ได้ปลาก็ฝากลูกมาขาย เรามันแก่แล้วไม่อยากเดินทางบ่อย”
“พ่อเฒ่าหาปลามานานหรือยัง”
“ประมาณ ๔๐ กว่าปีได้อยู่หรอก”

เมื่อพูดถึงการขายปลาแล้ว สำหรับบางวันที่ชายชราคืนสู่บ้านพร้อมกับปลา แม่เฒ่าจะเป็นคนนำปลาไหขาย เรื่องขายปลาบางทีดูเหมือนว่าผู้หญิงจะทำได้ดีกว่าผู้ชาย แต่บางครั้งหลังจากกลับมาจากหาปลา ชายชราก็จะเป็นคนเดินเอาปลาไปเร่ขายเอง ชายชราให้เหตุผลว่า ปลาบางตัวมันก็น่าจะขาย แต่บางตัวมันก็ไม่น่าจะขาย ยิ่งคนคุ้นเคยกันแล้ว บางทีปลาบางตัวก็ไม่เหมาะจะถูกซื้อ แต่มันเหมาะสำหรับการให้กันกินมากกว่า

ในแต่ละวันชีวิตของสองผู้เฒ่าต่างเป็นอยู่อย่างนี้แทบไม่มีอะไรวิจิตรพิสดารมากมายนัก อาหารการกินก็กินอย่างชาวบ้านทั่วไป แม้ว่าในบางวันอาจมีอาหารพิเศษเพิ่มเข้ามาบ้าง แต่นั้นก็นานๆ ครั้ง แต่อาหารหลักสำหรับสองผู้เฒ่าคือปลาที่ชายชราหามาได้นั่นเอง...

ฟ้ามืดหลังแสงสุดท้ายของวันหายไปจากฟ้า ผมลาผู้เฒ่าทั้งสองกลับบ้าน ก่อนจาก ชายชราเดินออกมาส่งผมหน้าประตูรั้วบ้าน หลังชายชรากลับเข้าไปในบ้าน ผมก็หันหลังให้บ้านหลังนั้น แล้วเดินฝ่าความมืดไปตามถนนคืนสู่บ้าน

ขณะเดินไปตามถนนผมหวนคิดถึงรอยยิ้มของชายชรา เวลาแกเล่าเรื่องตลกให้ฟัง แกจะหัวเราะอยู่เสมอ ถ้าจำไม่ผิด เพื่อนคนหนึ่งเคยพูดกับผมไว้ว่า คนแก่มักอารมณ์ดีกับลูกหลานอยู่เสมอ แต่บางครั้งผมก็ไม่ค่อยเชื่อเพื่อนคนนั้นเท่าใดนัก เพราะบางทีคนแก่บางคนก็อารมณ์ร้าย การที่จะอารมณ์ดีได้มันคงมาจากปัจจัยหลายสาเหตุ ตัวชายชราเองก็เช่นกัน การไม่ต้องวุ่นวายอยู่กับเรื่องราวต่างๆ มากนัก และการได้อยู่กับสิ่งที่ตัวเองชอบมันคงทำให้แกอารมณ์ดี..

เล่าเรื่องปัญหา(หนึ่ง) ในมหาวิทยาลัย แล้วตามด้วยนิทานดีๆ

12 November, 2007 - 06:29 -- prasart

1. ความในใจ

ผมขอพักเรื่องนโยบายสาธารณะด้านพลังงานซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมากๆ สำหรับประเทศไทยและชาวโลกไว้ชั่วคราวครับ  ในบทความนี้ผมขอนำเรื่องภายในมหาวิทยาลัยที่ผมทำงานอยู่มาเล่าสู่กันฟัง

มันไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับผู้อ่าน  แต่มันสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในระบบราชการไทยที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแม้ว่าสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปมากแล้ว  นอกจากนี้ผมมีเรื่องวิชาใหม่ที่คาดว่าเป็นวิชาแรกในประเทศไทยคือวิชา “ชุมชนมหาวิทยาลัยสีเขียว (Greening the campus)” ที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างจิตสำนึกให้กับนักศึกษาโดยยกเอาปัญหาสิ่งแวดล้อมในวิทยาเขตมาศึกษากันมาเล่าให้ฟังด้วย

ประเด็นที่เป็นปัญหาก็คือเรื่องการจัดตารางสอน คาบละ 50 นาที แล้วพักระหว่างคาบ 10 นาที กำลังเป็นปัญหาเพราะเมื่อวิทยาเขตมีอาคารใหม่มากขึ้น นักศึกษาไม่สามารถเดินทางระหว่างอาคารที่อยู่ห่างกันนับเป็นกว่าพันเมตรได้ทัน  ผมจึงเสนอใหม่ให้จัดคาบละ 90 นาทีแล้วพักระหว่างคาบ 30 นาที

ผมคิดว่า ผมเกริ่นนำเพียงแค่นี้ ท่านผู้อ่านภายนอกมหาวิทยาลัยก็คงจะมองภาพออก  ต่อไปนี้ลองมาดูซิครับว่าเกิดอะไรขึ้นในกระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง

ท่านที่ไม่คุ้นชินกับระบบราชการกรุณาอ่านเพิ่มเติมจากบทความเรื่อง “ทศวิบัติของการจัดการความรู้ในหน่วยราชการ” (โดย ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช) ได้ที่ http://advisor.anamai.moph.go.th/conference/KM49/10failureKM.doc

ผมขออนุญาตเริ่มเลยนะครับ

ต้นเหตุที่ทำให้ผมต้องเสนอแนวคิดเรื่องการจัดตารางสอนแบบใหม่นี้ มาจากการพูดคุยกับนักศึกษาที่ลงเรียนวิชา “ชุมชนมหาวิทยาลัยสีเขียว” ซึ่งเป็นวิชาใหม่และคาดว่ามีที่เดียวในประเทศไทย แต่ในมหาวิทยาลัยดังๆ ในต่างประเทศมีสอนกันมาร่วม 10 ปีแล้ว

วัตถุประสงค์ของวิชานี้ก็คือ การสร้างจิตสำนึกของนักศึกษาในด้านสิ่งแวดล้อม โดยใช้ปัญหาในวิทยาเขตเป็นโจทย์ให้ทำการศึกษาอย่างเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  พูดง่ายๆ ก็คือใช้วิทยาเขตเป็นห้องทดลองนั่นเอง  ไม่ใช่การท่องจำมาสอบ

ตลอด 5 ภาคการศึกษาที่ผ่านมา นักศึกษาได้ศึกษาปัญหาต่างๆไว้มากมาย เช่น การประหยัดน้ำด้วยการเปลี่ยนโถส้วม  การประหยัดไฟฟ้า  การลดการตัดหญ้า    การประหยัดกระดาษ  การจราจร เป็นต้น   เท่าที่ข้อมูลมีอยู่และหากได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย วิทยาเขตของเราสามารถประหยัดรายจ่ายลงได้ไม่ต่ำกว่าปีละ  20 ล้านบาทอย่างสบายๆ เลย

ที่จริงแล้วการประหยัดเงิน ประหยัดทรัพยากรดังกล่าวมีความสำคัญเป็นอันดับสามและอันดับสองครับ อันดับหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่มหาวิทยาลัยของเราเป็นชุมชนวิชาการ ชุมชนปัญญาชน และได้ชูคำขวัญว่า “ชี้นำสังคม”  มานานปีแล้ว  เราน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านจิตสำนึกเพื่อโลก เพื่อผู้อื่น ให้กับสังคมทั้งระดับภาคและระดับประเทศได้เห็นกัน

หลักการสำคัญของ “กระบวนการสีเขียว” ทั่วโลก นอกจากเริ่มต้นที่การรับรู้ เข้าใจ เปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อร่วมกันแก้ไขวิกฤติแล้ว เท่านั้นยังไม่พอครับ แต่ต้องพยายามผลักดันเข้าสู่ระดับนโยบายขององค์กรด้วย

ถ้าเทียบกันแล้ว เรื่องการจัดตารางสอนแบบใหม่ที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ น่าจะเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่ายกว่าเรื่องอื่นๆ ที่ผมกล่าวมาแล้ว เพราะไม่มีผลประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้อง  ไม่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมที่ฝังลึกในเชิงวัฒนธรรมของบุคคล (ที่แก้ไขยาก)   

ดังนั้น ถ้าเรื่องการจัดตารางสอนแบบใหม่นี้ต้องตกไป ทั้งๆที่ยังไม่ได้มีการถกเถียง อภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเยี่ยงนักวิชาการปัญญาชนแล้ว ก็อย่าหวังเลยครับว่า ม.อ.เราจะสามารถประหยัดทรัพยากรและเป็นผู้นำท่ามกลางวิกฤติอันใหญ่หลวงของโลกในศตวรรษที่ 21 ได้

ในตอนท้าย ผมมีนิทานดีๆ ที่เล่าโดยนักเขียนระดับโลก (รหัสอภิมนุษย์) และแปลโดยอดีตอาจารย์ ม.อ. ของเราเองมานำเสนอครับ บางทีนิทานเรื่องนี้อาจจะทำให้ใครบางคนต้องคิดแล้วคิดอีก และอาจจะเปลี่ยนใจมาช่วยให้เรื่องนี้เป็นจริงก็ได้

2. ปัญหาของตารางสอนแบบเดิม

ผมขอกล่าวเพียงสั้นๆ ดังนี้ครับ
หนึ่ง การพักระหว่างคาบเพียง 10 นาที ไม่เพียงพอสำหรับการเดินทางจากอาคารหนึ่งไปอีกอาคารหนึ่ง การพักเพียงแค่ 10 นาทีนั้น เคยใช้ได้ผลดีเมื่อตอนที่วิทยาเขตของเรามีเพียง 2 อาคาร (ในนิทานเรียกว่ายุคโนอาห์) ตอนนี้สภาพการมันได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว แต่เราไม่ยอมเปลี่ยนตามโลก  ปัญหานี้เกิดขึ้นชัดเจนมากเมื่อคณะศิลปะศาสตร์ได้ย้ายออกไปจากอาคาร “ภาษาต่างประเทศ” ที่เคยอยู่ในคณะวิทยาศาสตร์เมื่อ 2-3 ปีก่อน   นักศึกษาหญิงคนหนึ่งบอกผมว่า “เหาะไปก็ยังไม่ทันเลย”

นี่ยังไม่นับกรณีที่บางครั้งอาจารย์เลิกบรรยายช้าด้วยความไม่ตั้งใจอีกต่างหาก

เราคิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาหรือไม่  ถ้าเราคิดว่าเป็นปัญหาก็ต้องแก้ไข  ถ้าคิดว่าไม่เป็นปัญหาก็ลองไปเดินดูซิครับ ใครเดินได้และสามารถนั่งเรียนอย่างมีสมาธิได้ ผมจะสละเงินเดือนครึ่งหนึ่งให้เป็นรางวัล ขออภัยครับหากทำให้บางคนรู้สึกว่าเป็นการท้าทาย แต่ผมกล่าวด้วยความมั่นใจโดยไม่ต้องวิจัยให้เสียเวลา

สอง  คาบละ 50 นาที มีปัญหาทางวิชาการครับ (ไม่นับเรื่องการเข้าชั้นเรียนสาย) กล่าวคือ บ่อยครั้งอาจารย์ต้องทบทวนเรื่องเดิม แล้วในตอนท้ายเวลาก็หมดไปทั้งๆที่เนื้อหายังไม่จบ (เปรียบเหมือน   ”กว่าเครื่องจะติดก็ช้าแต่พอติดแล้วกลับหมดเวลา”) เหตุการณ์เช่นนี้อาจจะไม่ค่อยเกิดกับวิชาทางสังคมศาสตร์ แต่เกิดขึ้นบ่อยมากทางสาขาที่ต้องคำนวณ เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์  เป็นต้น  เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่อง “เสียงส่วนใหญ่ เสียงส่วนน้อย”  ครับ แต่เป็นเรื่องของปัญหาส่วนรวม เป็นเรื่องของการค้นหาทางแก้ปัญหาของทั้งหมดอย่างเป็นระบบและทุกมิติ (วิชาการ จราจร ประหยัดพลังงาน รวมถึงความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้-รปภ. ตรวจรถมอเตอร์ไซด์จนติดกันยาวเหยียด)

ตารางสอนที่ผมเสนอให้จัดคาบละ 90 นาที เท่าที่ผมรับฟังความเห็นมา พบว่ามีเพียงประเด็นเดียวที่เป็นปัญหา คือบางท่านสะท้อนว่า “นานเกินไปเกรงว่านักศึกษาจะไม่มีสมาธินานพอ”

เรื่องนี้ผมก็คำนึงถึงครับ  โดยเปิดโอกาสให้พักภายในคาบได้ถึง 10 นาที นั่นคือสอน 40 นาที พัก 10 นาที เวลาเรียนสั้นกว่าเดิมเสียอีก แต่ที่ได้ประโยชน์คือ (1) แก้ปัญหาการเข้าชั้นเรียนสาย (2) แก้ปัญหา “กว่าเครื่องจะติดก็ช้าแต่พอติดแล้วกลับหมดเวลา”   นอกจากประโยชน์ที่กล่าวมา 2 ข้อแล้ว ยังมีอีกครับคือ

สาม  เราจะได้เวลาสอนเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ถึง 2  สัปดาห์ต่อภาคการศึกษา

สี่  ลดการเดินทางของนักศึกษาลงได้ 30%  เพราะเดิมเคยจัด 3 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่แบบใหม่จัดเพียง 2 ครั้ง ต่อสัปดาห์ ต่อรายวิชา

ห้า ไม่ต้องกักตัวนักศึกษาเนื่องจากตารางสอบชนกัน ข้อมูลที่ผมได้รับ เพียงวันเดียวนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ถูกกักตัว 27 คน ต้องให้นักศึกษาจ่ายเงินคนละ 200 บาทอีกด้วย มันถูกต้องแล้วหรือครับ?

3. มหาวิทยาลัยอื่นเขาจัดกันอย่างไร

ผมไม่ได้คิดเรื่องนี้เพราะต้องการจะเลียนแบบใคร  แต่คิดบนพื้นฐานการแก้ปัญหาของเราเอง  แต่ระหว่างที่สื่อสารออกไป ก็มีคนบอกว่าที่โน่นเขาก็ทำอย่างนี้  หนึ่งในจำนวนนั้นมาจากศิษย์เก่าและอาจารย์เก่าของเราคนหนึ่ง เขาว่า

“เรื่องจัดตารางสอนนี่ไม่เห็นจะใหม่อะไรเลย ที่มหาวิทยาลัยที่ผมสอนอยู่ (มจธ. บางมด) เขาสอนคาบละ 3 ชั่วโมง พักเป็นเวลา 10 นาที ทุก 1 ชั่วโมงครึ่ง  มานานเป็น 10 กว่าปีมาแล้ว สมัยที่ผมสอนอยู่มหานคร เขาก็สอนกันอย่างนี้เหมือนกัน สงสัยผู้บริหาร ม.อ. อยู่ไกลปืนเที่ยง เลยอนุรักษ์การจัดตารางสอนมาร่วมเกือบ 40 ปี น่ายกย่อง  แต่ผมว่าคาบละ สามชั่วโมงยาวไปหน่อย สักสองชั่วโมงน่าจะกำลังดี”

เพื่อนอาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า ที่ธรรมศาสตร์ก็จัดอย่างนี้  อาจารย์ใหม่ของภาควิชาคณิตศาสตร์เพิ่งสำเร็จการศึกษามาจากสิงคโปร์มาหมาดๆ คนหนึ่ง ประโยคแรกที่เขาขอต่อหัวหน้าภาควิชาคือ “ขอจัดตารางสอนครั้งละ 3 ชั่วโมงได้ไหม เพราะที่สิงคโปร์เขาจัดแบบนั้น ครั้งละ 50 นาที ผมสอนไม่ได้”   เรื่องนี้ยืนยันได้ว่าไม่ได้มาจากผมแน่นอนครับ

4.  มติที่ประชุมกรรมการคณะวิทย์

เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจกระบวนการทั้งหมด ผมขออนุญาตเล่าความเป็นมาสั้นๆ อีกนิดครับ คือ

(1) ผมเริ่มต้นจากปัญหาของนักศึกษา (2) ผมคุยกับรองอธิการบดีท่านหนึ่ง ท่านแนะนำให้ผมส่ง mail ไปให้ผู้บริหาร (3) ผมส่ง mail ให้ทีมบริหารมหาวิทยาลัยเกือบทุกท่าน แต่ไม่มีใครตอบสนองแม้แต่ท่านเดียว (4) ผมเสนอเข้าที่ประชุมภาควิชา หลังการอภิปรายกันพักหนึ่ง อาจารย์ 3 ใน 4 ยกมือสนับสนุน ที่เหลือแค่ลังเลในบางประเด็น  เพื่อให้คณะเสนอต่อมหาวิทยาลัยเพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ไม่ได้เสนอให้ตัดสินว่าเหมาะหรือไม่เหมาะ และเสนอในนามภาควิชา ไม่ใช่ในนามผม (5)  ที่ประชุมคณะวิทย์มีมติว่า

“ที่ประชุม มีมติเห็นชอบให้ภาควิชาที่มีความประสงค์จะใช้ตารางสอนแบบใหม่ ทดลองใช้ในบางรายวิชาที่เป็นวิชาเอกเป็นเวลาหนึ่งภาคการศึกษา โดยให้ภาควิชาที่ได้ทดลองใช้ ตารางสอนแบบใหม่แจ้งให้คณะทราบ พร้อมทั้งให้สรุปผลการประเมินความพึงพอใจในการใช้ ตารางสอนแบบใหม่ของนักศึกษาให้คณะฯทราบด้วย เพื่อที่คณะฯจะนำมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาความเหมาะสมต่อไป และให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประสาท มีแต้ม เสนอเรื่องให้มหาวิทยาลัย เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อไปได้”

5. ความเห็นของผม

การให้แต่ละภาควิชาจัดตารางสอนกันเอง มันมีปัญหาครับ เพราะนักศึกษาแต่ละคนต้องเรียนหลายภาควิชาและหลายคณะด้วยซ้ำ ในโลกสมัยใหม่แต่ละสาขาวิชามันคาบเกี่ยวกันมากขึ้น นักศึกษาอุตสาหกรรมการเกษตรอาจจะสนใจเรียนภาษาญี่ปุ่นก็เป็นได้  เรื่องนี้ผมว่าผู้บริหารทุกคนทราบดีอยู่แล้ว

นักศึกษาคนหนึ่งเปิดตารางสอนให้ผมดูว่า บางวิชาของคณะศิลปะศาสตร์เริ่มเรียน 13.30 น. ถึง 15.00 น. คือจัด 90 นาที (ตามที่ผมเสนอ)  แต่ถ้าเราปล่อยให้เป็นอย่างนี้จะก่อปัญหาหลายอย่าง เช่น นักศึกษาที่จะลงเรียนได้ต้องมีเวลาว่าง 2 ชั่วโมงติดกัน  ทำให้หลายคนหมดโอกาส  นักศึกษาคนเดิมบอกผมว่า “บางวิชา(ในอีกคณะหนึ่ง)  เรียน 10.30 -11.30 น. โดยไม่สนใจใยดีกับใครเลยก็มี”

ไปๆ มาๆ มหาวิทยาลัยของเราได้ “ซ่อนขยะไว้ใต้พรหม” เยอะเลยครับ   และมันได้กลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กรไปเสียแล้ว   เราเป็นสังคมต่างคนต่างอยู่ หน้าที่ใครหน้าที่มัน แต่ปัญหามันมาเกิดเอาตรง “จุดเกรงใจ” แล้วไม่มีใครใส่ใจครับ

ผมนึกถึงเพลงหนึ่งของวงคาราบาว  เนื้อความพอสรุปได้ว่า “ขวานนั้นคมก็จริง แต่ไม่มีพลังที่จะทำอะไรได้ ต้องมีด้ามขวานด้วยจึงจะมีพลังได้”

ผมอยากจะให้ผู้บริหารเป็นผู้คิดนำเอาขวานเหล่านี้มาใส่ด้ามครับ  อยากให้ผู้บริหารคิดให้เป็นระบบว่าปัญหามีจริงไหม ถ้ามีจริงแล้วจะแก้ไขอย่างไร  สิ่งที่ผมคิดยังไม่สมบูรณ์ไปทั้งหมด แต่สามารถปรับปรุงได้ครับ  เรามีขวานคมๆ อยู่มากมายในมหาวิทยาลัยของเรา เราน่าจะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์  ไม่ใช่ปล่อยให้เมื่อยล้าไปเองทีละคนสองคน

อย่างไรก็ตาม สำหรับผมแล้วขอยืนยันว่าจะทำหน้าที่ คิด เขียน และทำ ในสิ่งที่ตนเองเห็นว่าดีต่อไปครับ แม้บางคนจะมองผมว่าเป็น “Trouble maker” แต่ผมรู้ตัวดีว่า ผมทำอะไร เพื่ออะไร ผมจะพยายามเตือนตัวเองไม่ให้ท้อแท้ ไม่ปล่อยให้มหาวิทยาลัยและประเทศไทยต้องเป็นไปตามยถากรรมอย่างแน่นอน ถึงแม้ผมได้สรุปต่อคนหลายคนไปเมื่อไม่นานมานี้แล้วว่า “ประเทศไทยเราถ้าไม่ล่มสลาย ก็เพราะปาฏิหาริย์เท่านั้น”    นี่เป็นข้อสรุปของคนใกล้เกษียณอายุที่ติดตามการเมือง การศึกษาไทยมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ผมก็จะพยายามครับ หลังจากใครบางคนได้อ่านนิทานข้างล่างนี้แล้ว อาจจะมีใครเพียงสักคนเดียว. . .แล้วสันติสุขจะเกิดขึ้นกับโลกของเราครับ

6. นิทานดีๆ

prasart 

นกสองตัว ตัวหนึ่งเป็นนกเขาป่าอีกตัวเป็นนกโคลเม้าส์
ทั้งสองคุยกันขณะที่เกาะอยู่บนกิ่งไม้ ดังต่อไปนี้ครับ

“บอกหน่อยได้มั๊ยว่า เกล็ดหิมะนี่หนักแค่ไหน”   นกโคลเม้าส์ถามนกเขาป่า
“ไม่หนักอะไรเลย เบากว่าปุยฝ้ายเสียอีก”   นกเขาป่าตอบ
“ถ้าเธอว่าอย่างนั้น ฉันก็จะเล่านิทานดีๆให้ฟังเรื่องหนึ่ง”  นกโคลเม้าส์บอก

“ฉันเกาะอยู่บนกิ่งสน ค่อนไปทางลำต้น  ขณะนั้นเริ่มมีหิมะตกลงมา  แต่ไม่หนักอะไร ไม่รุนแรง คล้ายกับสิ่งที่เห็นในฝันนั่นแหละ  หิมะไม่ได้สร้างความรุนแรงใดๆ ฉันอยู่ว่างๆไม่รู้จะทำอะไร ก็เลยนับจำนวนเกล็ดหิมะที่ตกลงบนกิ่งเล็กที่แตกแขนงออกไป  ฉันนับหิมะได้ถึง 3,741,952 เกล็ด และแล้วเมื่อเกล็ดหิมะที่ 3,741,953 ตกลงบนกิ่ง  เจ้าเกล็ดหิมะที่เธอว่าไร้น้ำหนักนั่นแหละ กิ่งก็หักหลุดลงไป”

เมื่อเล่าจบ นกโคลเม้าส์ก็บินจากไป

นกเขาป่าซึ่งถือว่าเป็นผู้ชำนาญในเรื่องหิมะนี้ตั้งแต่ยุคโนอาห์ [1]  คิดถึงนิทานเรื่องนี้อยู่ครู่หนึ่ง ในที่สุดก็ลำพึงกับตัวเองว่า
“บางที เราอาจต้องการความช่วยเหลือจากใครอีกเพียงคนเดียวก็ได้   ที่จะให้เกิดสันติสุขขึ้นในโลกของเรา”

คัดลอกจาก “รหัสอภิมนุษย์”   หน้า 275
เขียนโดย    โจเซฟ จาวอร์สกี  
แปลโดย  สุรพงษ์ สุวจิตตานนท์   สำนักพิมพ์คบไฟ 2545  
ประสาท มีแต้ม  คัดลอกและหารูปมาเผยแพร่

7. สรุป

ท่านที่อ่านแล้วเกิดความรู้สึกว่าอยากจะเป็นเกล็ดหิมะเกร็ดที่ 3,741,953  บ้าง ก็กรุณาโพสต์ไว้ในเว็บประชาไทได้เลยครับ

ขอบคุณครับ

 

---------
[1] โนอาห์เป็นชื่อผู้ชายคนหนึ่งในคัมภีร์ศาสนาคริสต์ เป็นมนุษย์ประมาณรุ่นที่ 10 นับจากอาดัม-อิฟ มนุษย์คู่แรกของโลก หรือ โนอาห์คือ หลาน ๆๆๆๆๆๆๆๆ(8 ครั้ง) ของอาดัม

ชายชราผู้ล่องเรือชีวิตเหนือสายน้ำโบราณ ตอน ๔

9 November, 2007 - 04:43 -- sumart

หลังกลับมาจากเมืองริมแม่น้ำในครั้งนั้น ไม่นานผมก็เดินทางมาเมืองริมแม่น้ำอีกครั้งพร้อมกับความทรงจำเมื่อ ๒ เดือนก่อน...

ความทรงจำเมื่อ ๒ เดือนก่อนเกิดขึ้นบนแม่น้ำสายนี้ ผมจำได้ว่าช่วงนั้นเป็นฤดูฝน น้ำปริ่มฝั่งหมุนวนน่ากลัว ผมได้พบชายชราอีกครั้งหลังจากไม่ได้พบกันนาน ชายชรานั่งอยู่บนเรืออีกลำหนึ่ง ซึ่งวิ่งสวนทางกับเรือที่ผมโดยสารมา เมือเรือวิ่งสวนทางก็ได้ยินเสียงทักทายของคนขับเรือทั้งสอง แม้ว่าจะฟังสำเนียงการสนทนาไม่รู้เรื่องทั้งหมด แต่ก็พอจับใจความได้ว่าคนขับเรือทั้งสองคุยกันเรื่องอะไร บนนาวาชีวิตกลางสายน้ำของชะตากรรม คงไม่แปลกอะไรหากคนสองคนผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกันจะรู้จักและสนิทชิดเชื้อกัน

ในวันนั้นผมบันทึกภาพชายชราเอาไว้อีกครั้ง พอกลับมาจากเมืองริมฝั่งน้ำ หลังว่างเว้นจากงาน ในคืนวันหนึ่ง ผมก็เอาภาพนั้นออกมาดู หลังจากดูเสร็จ ความรู้สึกข้างหลังภาพก็พาผมเดินทางหมุนวนกลับไปสู่เรื่องราวต่างๆ ...

เพื่อนบางคนเคยบอกผมว่า ภาพหนึ่งภาพสามารถบอกอะไรเราได้หลายอย่าง ยิ่งเป็นภาพที่ถ่ายในระยะเวลาแตกต่างกัน ภาพที่ได้ออกมาจึงเป็นความรู้สึกแตกต่างกันไป ผมเองก็เชื่อเช่นนั้น เพราะหลังจากดูภาพของชายชราเสร็จ ผมก็หวนคิดถึงคำพูดบางคำของพี่คนหนึ่ง พี่คนนั้นบอกกับผมว่า “ชายชราแกเป็นคนเก่ง เรื่องปลา เรื่องน้ำแกรู้หมด เพราะแกหากินกับน้ำมานาน”

และก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่ผมจะไม่เชื่อตามนั้น เพราะเมื่อผมได้พูดคุยกับชายชราในตอนสายของวันหนึ่ง ผมก็พบว่า คำกล่าวของพี่คนนั้นไม่ได้เกินเลย และต่อจากนี้ ผมขอนำเอาเรื่องราวเสี้ยวหนึ่งแห่งชีวิตของชายชรามาให้ทุกคนได้พิสูจน์ความจริงว่า ชายชราเป็นอย่างพี่คนนั้นเล่าให้ผมฟังหรือไม่

ช่วงต้นฤดูฝน สายน้ำเชี่ยวกรากได้พัดท่อนไม้ขนาดใหญ่ให้ไหลมากับสายน้ำ แน่ละเรื่องราวที่ผมสนใจไม่ใช่ความเชี่ยวกรากของสายน้ำ แต่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชายชรา และเรือลำเล็กต่างหาก

ผมได้พบกับชายชราครั้งแรกตรงท่าเรือใต้ร่มจามจุรีหลังวัด หลังจากเรือกับคนหาปลาเดินทางกลับเข้าสู่ฝั่ง การพบกันครั้งแรกดูขันเขินเหลือทน คำทักทายแต่ละคำที่กลั่นออกมา ช่างยากเย็นแสนเข็นเสียเต็มประดา เพราะผมตระหนักรู้ว่า การเดินทางไปสู่อาณาจักรของใครโดยเจ้าของอาณาจักรไม่ได้เชื้อเชิญ มันดูเป็นเรื่องขัดเขิน และลำบากใจที่เจ้าของอาณาจักรจะต้อนรับแขกแปลกหน้าของเขา

“พ่อเฒ่า วันนี้หาปลาได้เยอะไหม?” ผมจำได้ว่านั่นเป็นคำพูดแรกที่เอ่ยกับชายชรา

ดูเหมือนว่าคำถามนี้มันเป็นคำถามที่ผมคิดได้ในเวลานั้น เพราะถ้าถามคนหาปลาที่กำลังกลับจากหาปลาด้วยคำถามอย่างอื่นคงไม่เหมาะสมนัก

“ได้สัก ๓-๔ กิโลนี่แหล่ะ”
“ได้ปลาอะไรบ้าง”
“ปลากด ปลาเพี้ย”

ขณะพูดคุยกันอยู่ ชายชราก็สาละวนเก็บของบนเรือมีทั้งที่นอน เสื้อผ้า และกล่องโฟมสีขาว หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจบนเรือเรียบร้อย เรือก็ถูกผูกโยงเข้ากับต้นไม้ริมน้ำ เมื่อผูกเรือเสร็จ ชายชราก็หันมาปลดเครื่องยนต์ออกจากเรือ บนเรือตอนนี้ไม่มีเครื่องยนต์ แต่หากใครคิดจะขโมยเรือทางเดียวที่จะเอาเรือออกไปได้ต้องพายออกไปเท่านั้น แต่ก็นั้นแหละคนที่จะเอาเรือไม่มีเครื่องยนต์ออกสู่แม่น้ำได้ต้องเป็นมืออาชีพที่รู้จักทางน้ำเป็นอย่างดี หากจะเรียกขโมยที่ขโมยเรือลำนี้ไปได้ว่า มืออาชีพก็คงไม่เป็นการกล่าวเกินเลย

เมื่อปลดเครื่องยนต์ตรงด้านท้ายเรือเรียบร้อย ชายชราก็ยกเครื่องยนต์เรือขึ้นใส่บ่าและแบกเครื่องยนต์เรือขึ้นมาใส่รถเข็นที่จอดซุกไว้ในป่ากล้วยข้างวัด

“เครื่องเรือนี้ถ้าไม่เอาขึ้นมา พรุ่งนี้อาจไม่เหลือ”
ชายชราพูดกับผม ขณะเดินไปหารถเข็น คำพูดของชายชราไม่ได้เกิดขึ้นมาจากข้อสันนิษฐานลอยๆ  และไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการเหมารวมเอาว่าคนอื่นเป็นขโมย แต่การที่ชายชราต้องเอาเครื่องยนต์เรือขึ้นจากน้ำ มันมีที่มาที่ไป

“เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งเอาเรือออกไปหาปลา ตอนนั้นมันแดดร้อน เหนื่อยก็เลยเอาเรือจอดไว้ริมฝั่ง แล้วขึ้นไปนอนใต้ร่มไม้ เผลอหลับไป พอตื่นขึ้นมา เครื่องเรือหาย รู้เลยว่ามีคนขโมยไป พอเครื่องเรือโดนขโมยเราก็ตามสืบ ตอนนั้นคิดจะเอาเรื่องเอาราวอยู่ แต่พอคิดไปคิดมาก็ไม่ได้เอาเรื่องเอาราว ตอนสืบหาเครื่องเรือ ก็อาศัยถามจากพรรคพวกหาปลาด้วยกัน เพราะคนหาปลามันจะรู้ว่าเรือใครใช้เครื่องอะไร เครื่องใหม่เครื่องเก่า เพราะอย่างน้อยเรือเราขนาดกี่ศอก เราน่าจะใช้เครื่องประมาณกี่แรงม้า เรื่องแบบนี้คนหาปลาเขาจะรู้กัน ตอนสืบหาเครื่องยนต์เรือ เราสืบไปสืบมาก็รู้ว่าใครเอาไป พอเรารู้ เราก็ได้แต่คิดว่า เขายืมไปใช้ ถ้าเขามีเป็นของตัวเองเขาคงเอามาคืน เราก็คิดแค่นั้น แต่คนที่ขโมยไปตอนนี้มันตายแล้ว มันตายก่อนเราอีก”

เมื่อชายชราพูดถึงเรื่องนี้ ผมสังเกตเห็นดวงตาของชายชราหม่นเศร้าลงเล็กน้อย ชายชราบอกกับผมเพิ่มเติมว่า  “เรามันคนกันเองแท้ๆ ไม่น่าจะทำกันอย่างนี้“

แม้ว่าเรื่องเครื่องยนต์เรือหายมันจะเกิดนานแล้วก็ตาม แต่ชายชราก็จดจำเรื่องราวในครั้งนั้นได้ดี เหมือนที่พูดมาตั้งแต่ตอนต้นว่า ถ้าเรือไม่มีเครื่องยนต์ก็ป่วยการที่มันจะวิ่งไปไหนมาไหนได้ เพราะสายน้ำไหลแรง เรือไม่ติดเครื่องยนต์คงไม่อาจต้านทานกระแสน้ำตอนทวนน้ำได้ แม้ว่าคนพายเรือจะแข็งแรงเพียงใดก็ตามสำหรับชายชราเครื่องยนต์เรือก็สำคัญพอๆ กับเรือ เพราะถ้าเรือไม่มีเครื่องยนต์ เรือก็ไม่สามารถออกหาปลาได้ และถ้ามีแต่เครื่องยนต์ เรือไม่มีก็ออกหาปลาไม่ได้เหมือนกัน

หลังจัดการกับสัมภาระทุกอย่างขึ้นบนรถเข็นเรียบร้อย ก่อนจะเข็นรถกลับสู่บ้าน ชายชราได้เล่าให้ผมฟังเพิ่มเติมว่า
“สมัยเด็กๆ ตอนเย็นนี่ลงเล่นน้ำสนุกสนาน ยิ่งลงเล่นทุกวันก็ยิ่งคุ้นเคย เราลูกแม่น้ำต้องว่ายน้ำเก่ง สมัยก่อนเห็นผู้ใหญ่เขาหาปลาได้เยอะเราก็อยากหาบ้าง แต่ตอนนั้นเป็นเด็กพ่อไม่ให้กลัวเราตกน้ำ กว่าจะได้หาปลาจริงก็ตอนเป็นหนุ่ม”
“แล้วพ่อเฒ่าหาปลาตอนแรกอายุกี่ปี”
“ถ้าเป็นช่วงหนุ่มๆ ก็ ๑๓-๑๔ แต่ตอนนั้นเราไม่กล้าออกน้ำใหญ่ ก็หาปลาตามห้วย ตามนา แต่ถ้าออกไปหาปลาน้ำใหญ่จริงนี่ ช่วงอายุ ๒๔ ตอนนั้นออกหาปลาในแม่น้ำเลย ก็อาศัยให้คนหาปลาคนอื่นสอนก่อน หลังจากนั้นเราก็หาคนเดียว เพราะน้ำนี่มันไม่เหมือนกัน มันเปลี่ยนตลอดที่วางเบ็ดมันก็เปลี่ยนตลอด ช่วงหาปลาใหม่ๆ เราเรียนรู้ทุกอย่าง”

หากพินิจคำพูดของชายชราแล้ว สายน้ำก็เป็นบทเรียนบทหนึ่งของโรงเรียนนอกระบบที่คอยสอนให้ผู้คนริมฝั่งทุกผู้ทุกนามได้เรียนรู้บทเรียนแตกต่างกันออกไป

ผมจำได้ว่า ในวันนั้นเราพูดคุยกันอีกหลายเรื่อง ทุกเรื่องล้วนตื่นเต้นสำหรับผม แต่ยิ่งตื่นเต้นมากขึ้นกว่าปกติก็เมื่อรู้จากชายชราว่า คนหาปลาที่หาปลาเป็นอาชีพเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการหาปลามีเรื่องราวสลับซับซ้อนพอสมควร อย่างน้อยคนหาปลาที่มีเรือก็ต้องรู้เรื่องเรือ เรื่องเครื่องยนต์ เรื่องทิศทางน้ำ ฤดูน้ำขึ้น-น้ำลง ฤดูวางไข่ของปลา ฤดูอพยพของปลา เพราะสิ่งเหล่านี้มันล้วนสำคัญกับคนหาปลาเสมอ และมันเป็นตัวชี้วัดด้วยว่าถ้ารู้เรื่องเหล่านี้ก็จะหาปลาได้

ในยามที่ชายชรากลับคืนสู่บ้าน วันนี้แกไม่ได้เข็นรถเข็นกลับบ้านเพียงลำพัง แต่ล้อรถเข็นเคลื่อนที่ไปได้ด้วยแรงของคนสองคนคือ ชายชรากับภรรยาของแก วัยของคนทั้งสองไม่ได้แตกต่างกันมากนัก สำหรับผมแล้วผู้เฒ่าทั้งสองคนเป็นเพื่อนคู่คิดกันในยามแก่เฒ่าได้ดีทีเดียว

รถเข็นเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยแรงคนอย่างไร แน่ละชีวิตคนบางครั้งก็มุ่งไปข้างหน้าด้วยแรงคนเช่นเดียวกัน...

ตลอดสองข้างทางที่รถเข็นผ่าน ชายชรามักจะได้รับคำถามไถ่จากคนรู้จักอยู่ตลอดเวลา มีบ้างบางครั้งรถเข็นจะหยุดข้างทาง เพื่อให้คนเข็นได้พักเหนื่อย และยกแก้วเหล้าน้ำใสเหมือนตาตั๊กแตน อันเป็นน้ำมิตรไมตรีจากข้างทางที่หยิบยื่นมาให้ขึ้นดื่ม

และบ่อยครั้งเช่นกันที่ชายชรากลับบ้านพร้อมกับปลาหลายกิโลกรัม แต่ปลามักเหลือกลับมาถึงบ้านเป็นส่วนน้อย เพราะถูกขายหมดระหว่างทาง วันนี้ก็เช่นกัน ปลาสะโม้หนัก ๒ กิโลกรัมตัวหนึ่ง ชายชราบอกขายกิโลละ ๒๐๐ บาท แม้ว่ามันจะแพง แต่ก็มีคนแย่งกันซื้อหลายคน บางครั้งปลาที่ได้มาก็ไม่พอขาย แต่บางครั้งปลาได้มามากพอขายก็ไม่ขาย ในช่วงที่ปลามีน้อย แต่คนต้องการมีมาก ราคาปลาก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ก็อย่างที่กล่าวแล้ว ในบางฤดู โดยเฉพาะในฤดูแล้ง ปลาจะมีราคาแพง เพราะหายาก ราคาปลาคนหาปลาจึงเป็นผู้ตั้งราคาเอง บ้างครั้งความเหมาะสมของราคาปลาหนึ่งตัวจึงหาจุดลงตัวยาก แม้ว่าในบางวันราคาปลาอาจแพงขึ้นมาบ้าง แต่คนซื้อปลาก็ไม่เคยบ่น เพียงแต่ต่อรองราคาขอลดกันนิดหน่อยก็ขายให้กันได้ แม้ปลาจะมีราคาแพง แต่ปลาก็จะถูกขายให้กับลูกค้าประจำที่คุ้นเคยกันเป็นคนแรกๆ อยู่เสมอ...

“พ่อเฒ่ามีคนบอกว่าปลาน้ำโขงมันอร่อยจริงหรือเปล่า”
“จริง ปลาน้ำโขงมันอร่อย เพราะน้ำมันเย็น น้ำมันกว้าง ปลามันว่ายไปไหนก็ได้ พอปลาว่ายไปไหนก็ได้ ร่างกายมันก็แข็งแรง ปลามันได้ออกกำลังกาย เนื้อปลาก็เลยแน่น เวลาเอามาทำอาหารมันก็อร่อย ปลาบางชนิดบางฤดูก็ไม่ค่อยอร่อย อย่างปลาเพี้ยนี่ถ้าเป็นหน้าน้ำขุ่นเอามาลาบจะอร่อย แต่ถ้าเป็นฤดูอื่นเอามาลาบก็ไม่ค่อยอร่อย เรามันคนลูกน้ำโขงต้องกินปลาน้ำโขง แต่ถ้าปลามันมีน้อยแบบนี้ ปลาอะไรก็อร่อยหมดแหล่ะ”

พอพูดมาถึงตรงนี้ชายชราก็หัวเราะออกมาเบาๆ
แม้จะเป็นเวลาน้อยนิดที่ได้พูดคุยกันในวันนั้น ผมก็ปักใจเชื่อเรื่องที่ชายชราเล่าให้ฟังเสียสนิทใจ...

แสงแดดของวันลับปลายวิหารของวัดไปแล้ว สายน้ำเงียบงันลงอีกครั้ง เพราะคนหาปลาได้นำเรือที่ลอยลำหาปลาอยู่บนแม่น้ำเดินทางกลับเข้าฝั่ง เวลาในการหาปลาของคนหาปลาหลายคนในวันนี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว

ในฤดูฝนการหาปลาจะมีเวลาสั้น เพราะในแต่ละวัน คนหาปลาคาดเดาไม่ได้ว่าวันไหนฝนจะตก และถ้าในวันไหนแม้ไม่มีสายฝนโปรยปราย แต่ท้องฟ้ามืดครึ้มคนหาปลาก็จะไม่ออกเรือหาปลาเช่นกัน เพราะการหาปลาท่ามกลางพายุฝนบนสายน้ำเชี่ยวเป็นเรื่องเสี่ยงอันตรายไม่ใช่น้อย ดังนั้นแล้วเมื่อเป็นลมเป็นฝนหรือฝนตก คนหาปลาจึงไม่ออกเรือหาปลา

ฤดูแล้งจะเป็นช่วงหาปลาได้ยาวนาน และมีผลผลิตมากกว่าฤดูอื่น ยิ่งถ้าเป็นช่วงมีการจับปลาบึก ในเวลากลางคืนก็มีคนหาปลาออกเรือหาปลาอยู่ แต่การจับปลาบึกก็มีช่วงระยะเวลาสั้นๆ คือช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมของทุกปีเท่านั้น...

ชายชราผู้ล่องเรือชีวิตเหนือสายน้ำโบราณ ตอน ๓

1 November, 2007 - 05:00 -- sumart

สายโขงยังตัดไม่ขาด สายสวาทตัดขาดอย่างไร
ตัดบัวก็ยังไว้ใย ตัดน้ำใจยังมีเมตตา
ค่อยอิง ค่อยอาศัยกัน เอาไว้รักกันในวันข้างหน้า
มาเถิด มาเถิดแก้วตา รำวงดีกว่าร่าเริงหัวใจ รำวงดีว่าร่าเริงหัวใจ....

เสียงเพลงแหบพร่าลอยตามสายลมไกลออกไป จนเงียบหายไปกับโค้งขอบฟ้ากลางคืน นานครั้งชายชราจะร้องเพลง แต่บทเพลงที่ชอบร้องสม่ำเสมอคือเพลงนี้

ค่ำคืนนี้อากาศหนาวเย็นลง ชายชราจึงก่อกองไฟ เพื่อผ่อนเบาความหนาว เนิ่นนานที่กองไฟสว่างไสว แต่เมื่อฟืนที่กองสุมไว้ในตอนเย็นใกล้หมด แสงไฟก็สลัวลง เปลวไฟมีอยู่น้อยนิดเหมือนจะมอดดับลงทุกครั้งยามสายลมพัดเข้ามา พอสายลมพัดผ่านไป แสงไฟก็สว่างขึ้นมา หลังแสงไฟสว่าง แสงตะเกียงในกระท่อมก็ดับวูบลง ในกระท่อมมีเสียงกระแอมไอดังขึ้น แล้วทุกอย่างก็เดินทางไปสู่ความเงียบ...

ฟ้ากลางคืน พระจันทร์แรมหนึ่งค่ำเปล่งแสงสีเหลืองนวล เงาจันทร์บนสายน้ำสั่นไหวไร้รูปทรงตามแรงไหลของสายน้ำ สายลมกลางคืนหนาวเหน็บอย่างที่เคยเป็นมา

เดือนนี้ลมเหนือเริ่มพัดลงใต้เป็นสัญญาณบอกกล่าวการเปลี่ยนผ่าน ฤดูหนาวมาเยือนแล้ว สายน้ำสีขุ่นเหลืองในฤดูฝนลดความขุ่นเหลืองลงบ้าง สายน้ำไหลเอื่อยแผ่วเบา เรียวคลื่นเล็กๆ จากการไหลของน้ำเคลื่อนเข้าหาฝั่งช้าๆ หลังคลื่นลูกเก่าหายไป คลื่นลูกใหม่ก็เข้ามาแทน แม่น้ำได้ทอดตัวข้ามผ่านทุกสิ่งทุกอย่างที่เดินทางไปถึง แม่น้ำเป็นอยู่อย่างนี้มาชั่วนาตาปี และจะเป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยไป...

ชีวิตของคนเราก็ไม่ต่างอะไรกับแม่น้ำ เพราะบางครั้งแม่น้ำก็เป็นถนนให้เรือ และสรรพชีวิตได้เดินทางผ่าน แม่น้ำนิ่งเฉยเพื่อรองรับทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ก็นั้นแหละ ในบางครั้งแม่น้ำอาจแสดงความโกรธออกมาบ้าง ทุกครั้งที่แม่น้ำแสดงความโกรธออกมา น้ำจำนวนมหาศาลก็จะไหลบ่าท่วมทุกสิ่งทุกอย่าง ชีวิตคนเราก็เช่นกัน บางครั้งเราต่างทอดกายเป็นถนนให้เรื่องราวต่างๆ ได้ข้ามผ่าน บางครั้งเราก็นิ่งเฉยเพื่อรองรับเรื่องราวทั้งดี-ร้ายเช่นกัน

เมื่อชายชราเดินทางไปสู่การหลับ เบื้องล่างตรงท่าน้ำ เรือหาปลาถูกผูกโยงอยู่กับเสาไม้ไผ่โคลงเคลงไปตามจังหวะของคลื่น เสียงร้องของแมลงกลางคืนสะท้อนไปทั่วป่าริมฝั่งน้ำ ตุ๊กแกบนต้นไม้ส่งเสียงร้องขึ้นมาอีกครั้ง ความจริงแล้ววันนี้ทั้งวัน มันร้องมาไม่ต่ำกว่า ๕ ครั้ง สิ้นเสียงร้องของตุ๊กแกตัวนั้น ตุ๊กแกอีกตัวหนึ่งที่อยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำก็ร้องขึ้นมา เหมือนว่าตุ๊กแกสองตัวกำลังพูดคุยโต้ตอบกันข้ามฝั่งน้ำ หากสามารถรับรู้ภาษาของมันได้ เราคงได้รู้ว่าตุ๊กแกสองตัวพูดคุยโต้ตอบกันเรื่องอะไร

ฤดูหนาวหลังน้ำลด หาดทรายโผล่พ้นน้ำเป็นแนวยาวไปตามริมฝั่ง หาดทรายบางส่วนมีต้นไคร้ขึ้นคลุม ตรงหาดทรายที่ไม่มีต้นไคร้ขึ้นคลุมและราบเรียบเสมอกัน ชายชราได้สร้างกระท่อมขึ้นมาหลังหนึ่ง ข้างกระท่อมเป็นแปลงผัก ๔-๕ แปลง มีผักหลายอย่างอยู่ในแปลง ผักเหล่านี้ชายชราไม่เคยต้องบำรุงด้วยปุ๋ยชนิดใด เพราะตะกอนทรายที่น้ำพัดมาทับถมกัน ในนั้นจะมีชากพืชที่ถูกน้ำท่วมตายและเป็นปุ๋ยชั้นดี ผักจึงงามไร้สารเคมี

พูดถึงเรื่องกระท่อมแล้ว ปีที่ผ่านมา กระท่อมหลังนี้ไม่ได้อยู่ตรงนี้ มันถูกผูกโยงอยู่ในน้ำเป็นเรือนแพ หน้าฝนปีนี้กระท่อมถูกนำกลับขึ้นมาบนฝั่ง โดยเจ้าของกระท่อมให้เหตุผลว่า มันอยู่ในน้ำนานไป ไม้ไผ่ผุ ปีนี้ก็เลยเอาขึ้นมาไว้บนฝั่ง

เมื่อมองดูกระท่อมและหันกลับมามองดูเจ้าของ ในความคิดของผมทั้งสองสิ่งมีบางอย่างเหมือนและแตกต่างกัน กระท่อมสร้างขึ้นมาเพื่อคุ้มแดดคุ้มฝน เสาของมันโย้ไปโย้มาจะพังแหล่มิพังแหล่ เจ้าของก็เช่นเดียวกัน ด้วยอายุที่มากขึ้น บางครั้งก็เจ็บป่วยนอนซมอยู่หลายวัน แต่กระท่อมและเจ้าของแตกต่างกันตรงที่เจ้าของยังแข็งแรง และยังทำงานที่ตัวเองถนัดได้ดี อีกทั้งสุขภาพก็ยังดี ส่วนกระท่อมโดนฝนโดนลมอีกไม่กี่ครั้งก็คงพังครืนลง

บางครั้งการปลูกสร้างบางสิ่งขึ้นมาใช่ว่ามันจะดีพร้อมเสมอไป การสร้างกระท่อมของชายชราก็เช่นเดียวกัน แม้ในสายตาของคนอื่นมันดูไม่แข็งแรง แต่ก็นั่นแหละไม่มีใครเข้าใจชายชราอย่างแท้จริงว่า ทำไมแกจึงไม่สร้างให้แน่นหนา

ในความรู้สึกของชายชรา แกอาจไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องกระท่อมเท่าใดนัก เพราะกระท่อมที่มีอยู่หาได้เป็นสิ่งที่ชายชรายึดถือในความเป็นอยู่ของมัน ใจต่างหากที่ชายชรายึดถือ เพราะถ้าทำใจให้เป็นสุขพอเพียงกับทุกๆ สิ่งที่มีอยู่ ชีวิตก็จะมีความสุข แม้ว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องราวเล็กน้อยก็ตามที

แม้ช่วงนี้จะเป็นหน้าแล้ง แต่สายน้ำก็ยังไหลวนกระทบแก่งหินน่ากลัว ความกลัวเช่นนี้อาจเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงกลางวัน แต่ในเวลากลางคืนคงไม่น่ากลัวมากนัก เพราะมองไม่เห็น บางทีการมองเห็นของมนุษย์ บางครั้งมันก็นำเราไปสู่ความกลัว พูดถึงเรื่องความกลัวแล้ว มีบางคนบอกว่าสิ่งที่มองไม่เห็นน่ากลัวกว่าสิ่งที่มองเห็น เราไม่รู้หรอกว่าในความจริง ความกลัวของมนุษย์เกิดจากอะไรกันแน่

ว่ากันว่า ในฤดูหนาวกลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน ขณะเวลาเดินทางผ่านไปจากนาทีเป็นชั่วโมง จากชั่วโมงเป็นหลายชั่วโมง ความหนาวเหน็บยาวนานในค่ำคืนก็ผ่อนคลายลง เมื่อแสงแรกแห่งวันปรากฏขึ้นเหนือยอดดอยด้านทิศตะวันออก เมื่ออรุณเบิกฟ้า นกจอนทรายฝูงหนึ่งก็โผบินขึ้นจากดอนทรายกลางน้ำ การดำเนินชีวิตในวันใหม่ของสิ่งมีชีวิตได้เริ่มขึ้นอีกครั้งแล้ว

หลังอรุณเบิกฟ้า เปลวไฟจากเตาไฟข้างกระท่อมค่อยๆ ดับลง ควันไฟสีขาวหม่นลอยล่องขึ้นไปบนท้องฟ้าแล้วจางหายไป ยามเช้าก่อนพระอาทิตย์จะมาเยือน ทุกอย่างรอบกระท่อมสลัวรางในม่านหมอกสีเทา หลังจมอยู่กับการหลับในค่ำคืนตอนค่อนรุ่งชายชราก็ตื่นนอน เพื่อหุงข้าว ก่อนจะออกไปหาปลา หากพูดถึงการนอนของชายชราแล้ว ในความเป็นจริงหนึ่งคืน ชายชราได้นอนเพียงเล็กน้อย เพราะช่วงตี ๒ แกจะเอาเรือออกไปช้อนกุ้งตามฟดที่วางไว้ริมฝั่ง กว่าจะกลับมาก็เกือบตี ๔ พอตี ๕ กว่าก็ตื่นขึ้นมาก่อไฟนึ่งข้าว หลังจากจัดแจงข้าวนึ่งลงในแอ๊ปข้าวเรียบร้อย ชายชราก็เดินลงไปยังเรือที่ผูกไว้ ทุกยามเช้าไม่ว่าฝนตก แดดออก สิ่งที่ชายชราทำมาเป็นประจำคือเอาเรือออกหาปลา เช้านี้ก็เช่นกัน ยามเช้าจึงเป็นจุดหมายสำหรับการเริ่มต้นของสรรพชีวิตรวมทั้งชายชราด้วย...

หากสังเกตให้ดีจะพบว่า คนหาปลาที่มีเรือนิยมผูกเรือไว้กับริมฝั่ง เพื่อให้เรือได้โดนน้ำอยู่ตลอดเวลา เพราะถ้าหากเรือไม่ได้โดนน้ำ เวลาเอาไปใช้ ไม้ที่นำมาทำเรืออาจแตก และเรือก็จะใช้การไม่ได้ เพราะต้องนำขึ้นมาอุดรูแตกร้าวด้วยการชัน เพื่อสมานแผลแตกร้าวที่เกิดขึ้นกับเนื้อไม้ เรือหาปลาลำหนึ่งหากดูแลรักษาดีก็จะใช้ได้ ๔-๕ ปี แต่ถ้าดูแลไม่ได้ อย่างมากก็ใช้ได้เกิน ๓ ปี

เมื่อพูดถึงเรือ คนหาปลาหลายคนรวมทั้งชายชราด้วย พวกเขาจะมีวิธีการเลือกไม้มาทำเรือแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนมากไม้ที่นำมาทำเรือคือไม้ตะเคียน เพราะไม้ตะเคียนเป็นไม้ที่หนักกว่าไม้อื่น เวลาเอาลงน้ำแล้วจะลอยน้ำดี ทนแดดทนฝน ในการเลือกไม้มาทำเรือ ช่างทำเรือคือ คนชี้เป็นชี้ตายให้กับเรือแต่ละลำ ในการเลือกไม้มาทำเรือ ช่างที่มีความเป็นมืออาชีพจะเลือกสรรไม้ที่ถูกต้องตามตำราเท่านั้น เมื่อเรือแต่ละลำทำจากไม้ถูกต้องตามตำรา พอเอาเรือลงน้ำเจ้าของเรือก็จะหาปลาได้เยอะ

ในการเลือกไม้มาทำเรือแต่ละครั้ง ช่างทำเรือจะเลือกเอาไม้ การเลือกเรือเพื่อใช้หาปลานั้น คนหาปลาที่มีฝีมือ และเป็นช่างไม้จะตัดไม้มาทำเอง ส่วนคนหาปลาที่ไม่ใช่ช่าง และทำเรือไม่เป็นก็จะซื้อหรือให้ช่างทำเรือให้ โดยเจ้าของเรือจะเลือกไม้ทำเรือด้วยตัวเอง

ในการทำเรือนั้น การดู ‘ตาเรือ’ หรือการดูวงรอบที่อยู่ในเนื้อไม้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับคนหาปลาที่คิดจะทำเรือ เพราะตาเรือที่ดีที่ทำให้หมานมีอยู่ไม่กี่แห่งบนไม้หนึ่งแผ่น

สำหรับการดูตาไม้มาทำเรือนั้น ช่างทำเรือจะเลือกไม้มีตา ๔ แบบอันเป็นตำราที่ตกทอดกันมา ตาบนไม้ ๔ ลักษณะคือ ‘ตาห้อยเงิบ’ หมายถึงตาบริเวณกาบเรือข้างที่คนหาปลาใช้ห้อยปลา ‘ตาสามเส้า’ หมายถึงตาสามตาบนพื้นเรือเหมือนก้อนเส้า ‘ตาซะน้ำ’ หมายถึงตาที่อยู่ระหว่างเครื่องยนต์เรือกับคนนั่ง     ’ตาปลดปลา’ หมายถึงตาที่อยู่ข้างเรือที่คนหาปลาปลดปลาออกจากเครื่องมือหาปลา คนหาปลาเชื่อว่า ตาเรือที่ทำให้หมานต้องเป็นตาด้านหัวเรือเท่านั้น

นอกจากตาเรือทำให้หมาน-หาปลาได้เยอะแล้ว ยังมีตาเรือที่ไม่ทำให้หมานคือ ’ตาจี้ง่อน’ คือหมายถึงไม้ที่มีตาอยู่ข้างหลังบนพื้นเรือ เรือแบบนี้จะทำให้เจ้าของต้องเจ็บป่วยหรือหาปลาได้ไม่หมานอยู่ตลอด ’ตาปั่นพื้น’ ซึ่งอยู่ตรงกลางเรือก็จะทำให้เรือจะล่มได้บ่อย เพราะตาเรือปั่นเจาะลงไปในพื้นคล้ายสว่าน เรือลำใดที่มีตาชนิดนี้ เรือจะเสียบ่อย และหาปลาไม่ค่อยได้ วิ่งก็ไม่ค่อยออก

ถึงแม้ว่ากฏเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นมาเหล่านี้ คนตั้งขึ้นมา และคนเรานี่เองเปลี่ยนแปลงกฏอันนั้น เมื่อคนหาปลาหรือช่างทำเรือบางคนเลื่อยไม้มาแล้ว แต่ไม้มีตาหมานอยู่ทางโคนไม้ ช่างก็จะแก้เคล็ดด้วยการเอาทางโคนไม้มาเป็นหัวเรือ เพราะมีตาหมานอยู่ แต่ส่วนมากเวลาทำเรือจะไม่ค่อยเอาทางโคนไม้มาไว้ทางหัวเรือหรอก

การทำเรือนอกจากช่างทำเรือหรือเจ้าของเรือจะดูลักษณะไม้แล้ว เรือลำหนึ่งยังมีองค์ประกอบอีกหลายอย่าง แต่องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดคือ ไม้ที่ถูกเลือกมาทำเรือนั่นเอง

หลังจากทำเรือลำหนึ่งเสร็จสิ้นลง เมื่อเอาเรือลงน้ำครั้งแรก เจ้าของเรือก็จะทำการเลี้ยงเรือ การเลี้ยงเรือก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อของเจ้าของเรือแต่ละคน เจ้าของเรือบางคนก็ให้ผู้หญิงเดินเข้าไปเหยียบย่ำตามพื้นเรือตั้งแต่หัวเรือจนถึงท้ายเรือ เวลาเหยียบก็ให้พูดไปด้วยว่า เรือลำนี้ทำไมไม้อ่อนจัง เพื่อจะได้พูดปราบแม่ย่านางเรือ พอพูดเสร็จเวลาจะลงจากเรือก็ให้ออกด้านท้ายเรือไม่ให้กลับมาออกด้านเดิม

เมื่อเอาเรือออกหาปลาครั้งแรกหลังจากเลี้ยงเรือเสร็จ ปลาที่ได้ในครั้งแรก คนหาปลาจะนำปลานั้นมาทำอาหารเลี้ยงคนหาปลาคนอื่นๆ เพื่อเอาโชคเอาชัย การเลี้ยงเรือเป็นสิ่งที่คนหาปลาผู้เป็นเจ้าของเรือต้องทำอย่างเคร่งครัด และต้องปฏิบัติอยู่สม่ำเสมอ เรือของชายชราลำนี้เองก็เช่นกัน แม้ว่าไม้ที่นำมาทำเรือจะถูกต้องตามตำราในการทำเรือทุกประการ และในการเอาเรือออกหาปลาครั้งแรก ปลาที่ได้มาแกก็เอาไปทำลาบเลี้ยงคนอื่นจนหมด แต่ก็นั้นแหละในความเชื่อที่กล่าวมา มันคือเส้นแบ่งระหว่างตะวันตกกับตะวันออก และก็เป็นเรื่องยากเต็มทีที่จะให้ด้านตรงกันข้ามทั้งสองด้านเดินทางมาพบกัน

หลังอรุณเบิกฟ้า เช้านี้เป็นอีกเช้าที่ชายชราเอาเรือออกหาปลา หลังขึ้นไปนั่งบนเรือแล้ว แกก็ค่อยๆ พายเรือออกจากฝั่งแล้วติดเครื่องยนต์ทางด้านท้ายเรือหลังทรงตัวได้ ชายชราก็บังคับเรือเคลื่อนไปข้างหน้า เมื่อใกล้ถึงเป้าหมาย เครื่องยนต์ถูกผ่อนให้เบาลง พอถึงเป้าหมาย ชายชราก็ดับเครื่องปล่อยหางเสือหันมาจับไม้พายแล้วจ้วงพายบังคับเรือไปยังเป้าหมาย

เป้าหมายของชายชราคือขวดพลาสติกสีขาว ตรงขวดน้ำมีเชือกผูกขอเบ็ดจมอยู่ใต้น้ำยาวหลายเมตร หลังจากเรือจอดนิ่ง ชายชราก็ลุกขึ้นเปลี่ยนที่นั่ง โดยเปลี่ยนจากนั่งทางท้ายเรือมานั่งหัวเรือ หลังจากนั่งเรียบร้อย แกก็ใช้มืออีกข้างหนึ่งดึงเชือกขึ้นมาอย่างช้าๆ

เชือกที่ดึงขึ้นมาเป็นเชือกผูกขอเบ็ดที่ใส่เหยื่อเอาไว้ตั้งแต่ตอนเย็นวันก่อน เช้านี้จึงเป็นเวลากลับมาดูผลงาน ชายชราดึงสายเบ็ดขึ้นมาจนสุดปลายสายก่อนจะส่ายหน้าไปมา หลังจากปล่อยสายเบ็ดกลับลงน้ำ ชายชราก็บ่ายหัวเรือไปยังเป้าหมายใหม่ต่อไป

เสียงเครื่องยนต์เรือดังขึ้นอีกครั้ง แล้วเรือและชายชราก็มุ่งหน้าไปยังเป้าหมายต่อไป เรือเคลื่อนไปข้างหน้าพุ่งตัดสายน้ำหมุนวนกลบแก่งหิน ใบหน้าของชายชราเรียบเฉยไม่หวั่นไหวต่อสายน้ำเบื้องหน้า บางทีคงเป็นความคุ้นชิน บางครั้งประสบการณ์ที่ได้จากการใช้ชีวิตอยู่กับแม่น้ำมาเนิ่นนานจึงทำให้ความหวาดกลัวของชายชราหายไป สำหรับผมแล้ว บนสายน้ำหมุนวนกับครั้งแรกบนเรือลำเล็กกลางแม่น้ำสายใหญ่ ดูเหมือนว่าความกลัวจะเกิดขึ้นทุกชั่วยามแห่งแรงเต้นของหัวใจ

นโยบายสาธารณะด้านพลังงาน : ความจริงที่พลเมืองไทยควรรับรู้และเคลื่อนไหว ตอนที่ ๓

28 October, 2007 - 00:53 -- prasart

การแปรรูป ปตท. คือการปล้นประชาชน!

ในช่วง ๓-๔ ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศกำลังเดือดร้อนกับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเกือบสองเท่าตัว แต่บริษัทน้ำมันต่างๆในประเทศไทยกลับมีกำไรเพิ่มสูงขึ้นมากกว่านั้น

ในบทนี้ จะกล่าวถึงกิจการของบริษัท ปตท. จำกัดมหาชน และบริษัทอื่นๆบ้าง โดยย่อๆ เป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้

๑. บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน ได้แปรรูปมาจาก การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔  ตอนเริ่มต้นการแปรรูป กระทรวงการคลังถือหุ้น ๖๙% ปัจจุบันเหลือเพียง ๕๒.๔๘%

ดังนั้น กำไรของ ปตท. ซึ่งเดิมเคยตกเป็นของรัฐทั้งหมด ๑๐๐% ก็จะเหลือเพียงตามสัดส่วนที่รัฐถือหุ้น  คงจำกันได้นะครับว่า หุ้น ปตท. ขายหมดในเวลา ๑ นาที ๑๗ วินาที โดยมีนักการเมืองที่เรารู้จักกันดีจำนวนไม่กี่คนและนอมินีที่เราไม่รู้จักอีกจำนวนหนึ่งได้หุ้นไปถือครอง

๒. ในปี ๒๕๔๘  มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบทั้งประเทศเท่ากับ ๖๔๔,๙๓๓ ล้านบาท [1]  แต่เฉพาะกิจการโรงกลั่นน้ำมันในเครือของ ปตท. และของบริษัทเอสโซ่ RPC, TPI ฟาดกำไรรวมกันถึงประมาณ ๑๑๐,๓๓๒ ล้านบาท  คิดเป็น  ๑๗.๑%   สำหรับข้อมูลค่าการกลั่น ผมได้มาจากการบรรยายของคุณโสภณ สุภาพงศ์ และตรวจสอบกับเอกสารของ บริษัท ปตท. จำกัดด้วย พบว่ามีรายละเอียดตรงกัน

pic1

pic2

๓. ในปี ๒๕๔๕ ค่าการกลั่นน้ำมันอยู่ที่อัตรา ๒.๖ ดอลลาร์ต่อบาเรลล์  แต่ได้เพิ่มเป็น 3.4, 7.5 และ 7.7  ดอลลาร์ต่อบาเรลล์  ในปี พ.ศ.  2546,2547 และ  2549  ตามลำดับ [2]

pic3

๔. ก่อนการแปรรูป ปตท. มีกำไรสุทธิประมาณ ๑ หมื่นล้านบาทต่อปี (ปี ๒๕๔๓) ในปี ๒๕๔๘ บริษัท ปตท. มีกำไรสุทธิ ๘๕,๕๒๑  ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๔๖ ถึง ๓๖% กำไรต่อหุ้น ๓๐.๕๗ บาท โดยมีกำไรก่อนหักภาษี ๑๑๔,๐๔๕ ล้านบาท (ที่มา รายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2549)  

ในช่วง ๙ เดือนแรกของปี ๒๕๔๙ บริษัท ปตท. มีกำไรก่อนหักภาษี ๑๑๒, ๒๙๙ ล้านบาท   ถ้าจะประมาณการอย่างคร่าวๆ   โดยใช้ข้อมูลของปีก่อน   คาดว่า กำไรก่อนหักภาษีของปี ๒๕๔๙   น่าจะประมาณ  ๑๔๗,๔๐๐  ล้านบาท   และกำไรสุทธิก็คงจะประมาณ ๑๐๓,๐๐๐ ล้านบาท

pic4

pic5

๕. ในปี ๒๕๔๘  ร้อยละ ๘๑ ของกำไรของบริษัท ปตท. มาจากกิจการก๊าซธรรมชาติ (คือส่วนที่เขียนว่า Gas และ PTTEP ในรูปข้างล่าง) ที่เป็นดังนี้เพราะเป็นกิจการผูกขาดรายเดียวในประเทศไทย   ก่อนการแปรรูป ปตท. เคยสัญญาในหนังสือเชิญชวนว่า จะแยกกิจการท่อก๊าซฯออกมา แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีการแยก

pic6

๖. ก่อนการแปรรูป พนักงาน ปตท. มีรายได้เฉลี่ยคนละ  ๘๑๐,๐๐๐ บาทต่อปี  ในปี ๒๕๔๗ กลายเป็น ๑,๓๒๐,๐๑๓ บาทต่อปี

๗. ในปี ๒๕๔๗ มีการประชุมคณะกรรมการทั้งหมด ๑๓ ครั้ง  ซึ่งคณะกรรมการคนหนึ่งจะได้เงินจากการประชุมเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า  ๔๗,๐๐๐ บาท / ครั้ง

รายนามคณะกรรมการ ปรากฏตามเอกสารข้างล่างนี้

1.นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ (ประธาน)          ปลัดกระทรวงพลังงาน
2.นายมณู เลียวไพโรจน์          ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
3.พลตำรวจเอก สันต์ ศรุตานนท์          ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
4.นายพละ สุขเวช          อดีตผู้ว่า ปตท., กรรมการ กฟผ.
5.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์          ปลัดกระทรวงยุติธรรม
6.นายพิษณุ สุนทรารักษ๋          อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
7.นายจักราวุธ ศัลยพงษ์          วิศวกรอาวุโส,ที่ปรึกษาบริหารบริษัท อินเตอร์เอนจิเนียริ่งมาเนจเมนท์
8.นายโอฬาร ไชยประวัติ          กรรมการบริษัทชินคอร์ป, นายกสภามหาวิทยาลัยชินวัตร
9.นายชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์          เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีการ
10.นายสันทัด สมชีวิตา          ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
11.นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ          อธิบดีกรมธนารักษ์
12.พลเอก ชัยศึก เกตุทัต          ที่ปรึกษานายกฯ
13.นายเมตตา บันเทิงสุข          ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและพลังงาน
14.นายประพันธ์ นัยโกวิท          รองอัยการสฃูงสุด
15.นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์          ผู้จัดการใหญ่ ปตท.

๘.  กลุ่มพลังไทย ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิชาการอิสระได้สรุปเรื่องการแปรรูปได้ว่า

pic7

จากเรื่องราวทั้ง ๘ ข้อที่กล่าวมาแล้ว  คงเป็นการตอกย้ำถึงความจำเป็นในการร่วมกันสร้างนโยบายสาธารณะด้านพลังงาน ความไม่รู้ และความเฉยเมยของผู้บริโภค คือเหยื่ออันโอชะของพ่อค้าพลังงาน

 

หมายเหตุ

เพื่อความสมบูรณ์ของบทความนี้ ท่านผู้อ่านควรย้อนไปอ่านบทความเรื่อง “ความเคลื่อนไหวด้านพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญในระดับโลก:  ตัวอย่างของ  The Tipping Point”   ซึ่งเคยเสนอในประชาไทนานมาแล้ว

 

----------

[1]  สถานการณ์พลังงาน, กระทรวงพลังงาน
[2]  ข้อมูลจากคุณโสภณ สุภาพงศ์  อดีต ส.ว.  

ชายชราผู้ล่องเรือชีวิตเหนือสายน้ำโบราณ ตอน ๒

25 October, 2007 - 01:33 -- sumart

ภาพของชายชราวัย ๗๕ ปี กำลังก้มๆ เงยๆ อยู่บริเวณระเบียงกระท่อมแจ่มชัดขึ้นเมื่อเข้าไปใกล้ กุ้งสีชมพูขนาดนิ้วก้อยหลายสิบตัวนอนนิ่งอยู่ในจานเบื้องหน้าของชายชรา ถัดจากจานกุ้งไปเป็นถ้วยน้ำพริกปลาร้าที่กินเหลือจากเมื่อวาน

รายการอาหารที่กล่าวมาทั้งหมดคืออาหารมื้อเย็นสำหรับชายชรา     ลูกแมวสองตัว ตัวหนึ่งสีน้ำตาล ตัวหนึ่งสีขาว หมอบคลอเคลียอยู่ด้านข้าง นานครั้งมันจะเดินมาหยอกล้อเล่นกัน พอหยอกล้อกันจนหนำใจมันก็กลับไปนอนนิ่งอยู่ที่เดิม บนท้องฟ้าอาทิตย์อัสดงลงไปไม่นานนัก ท้องฟ้าที่เคยกระจ่างเป็นสีฟ้าเริ่มกลายเป็นสีดำ

หลังจากอิ่มหนำสำราญ ชายชราก็จัดแจงเก็บกระติ๊บข้าวไว้บนกล่องโฟมที่ห้อยแขวนลงมาจากด้านบนของกระท่อม ในกล่องโฟมมีทั้งพริก เกลือ หัวหอม กระเทียม เมื่อจัดแจงเก็บของทุกอย่างเสร็จสิ้น ชายชราก็ลุกไปดื่มน้ำ และกลับมานั่งที่เดิม จากนั้นก็ควักยาเส้นจากกระป๋องมาม้วนดูด เนิ่นนานที่ควันบุหรี่ลอยหายไปในความมืด หลังแสงไฟวูบสุดท้ายจากปลายบุหรี่แดงขึ้น ชายชราก็ดีดบุหรี่มวนนั้นทิ้งออกไปในความมืด

พูดเรื่องบุหรี่แล้ว ชายชราคิดมาหลายครั้งว่าจะเลิก และก็ลองทำดูแล้ว แต่เอาเข้าจริงแกก็ไม่เคยทำสำเร็จเลยแม้แต่ครั้งเดียว หาปลาว่ายากแล้ว แต่การเลิกบุหรี่ยังยากกว่าเป็นหลายเท่า

นอกกระท่อมตอนนี้ความมืดโอบคลุมทุกทิศทุกทางไว้ด้วยอ้อมแขนอันมหึมาแห่งรัตติกาล...

หลังดาวประจำเมืองปรากฏ แสงไฟจากไส้ตะเกียงก็สว่างวูบขึ้น ความมืดที่รัศมีของแสงไฟส่องถึงจางหายไป แต่ความสว่างของมันก็กินบริเวณไม่กว้างมากนัก หากมีคนหรือวัตถุสิ่งใดผ่านมาคงไม่อาจรับรู้ได้ หากเจ้าสิ่งแปลกปลอมนั้นไม่เข้ามาในรัศมีของแสงไฟ

ลูกแมวทั้งสองตัวเดินวนรอบตะเกียง ๒-๓ รอบ และเดินกลับไปนอนนิ่งอยู่ริมระเบียงกระท่อมด้านนอก สายลมหนาววูบใหญ่พัดมาเย็นเยือก ชายชรานั่งนิ่งเหม่อมองออกไปนอกกระท่อมอย่างไร้จุดหมายปลายทาง...

พระจันทร์เสี้ยวข้างแรมห้อยแขวนอยู่มุมหนึ่งของท้องฟ้า ดาวดวงน้อยกระพริบพร่างพรายระยิบระยับ หลังดีดก้นบุหรี่ก้นที่สองทิ้งไป เสียงกระแอมไอก็ดังขึ้น ในห้วงอารมณ์นั้น ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าชายชราคิดเรื่องใดอยู่ในใจ

ลูกแมวทั้งสองตัวที่นอนนิ่งสะดุ้งตื่นขึ้นมา เมื่อชายชราขยับที่นอน เสื่อผืน หมอนใบ และมุ้งสีขาวเก่าซีดจนความขาวของมันมลายหายไป เครื่องนอนทุกอย่างถูกจัดวางในตำแหน่งเดิมเช่นทุกวันที่ผ่านมา หลังผูกหูมุ้งเรียบร้อย แสงไฟจากตะเกียงก็ดับวูบลง อาณาบริเวณรอบกระท่อมจึงเดินทางไปสู่ความมืด

แม้ว่าชายชราจะไม่ใช่ผู้ทรงศีล และวิถีทางที่เป็นอยู่ก็ไม่ใช่วิถีทางของผู้ทรงศีล แต่ก่อนจะล้มตัวลงนอน ชายชราก็ไม่ลืมสวดมนต์ไหว้พระ

ในความดึกสงัดของค่ำคืนมีเพียงแมลงกลางคืนระงมร้องขับกล่อมรัตติกาล...

เนิ่นนานที่ชายชราเดินทางไปสู่การหลับ หลังจากพระจันทร์ข้างแรมเดินทางมาถึงครึ่งขอบฟ้า แกก็ขยับตัวลุกขึ้น และเดินออกมานอกกระท่อม แสงไฟจากไฟฉายสาดส่องไปตามทางเดินเล็กๆ ลงไปสู่ท่าน้ำ  ตรงท่าน้ำมีเรือลำหนึ่งจอดสงบนิ่งอยู่ หลังปรับสายตาให้คุ้นชินกับความมืดได้แล้ว ชายชราก็แก้เชือกที่ผูกเรือไว้กับเสาไม้ไผ่ริมฝั่ง ก่อนจะก้าวขึ้นไปนั่งบนเรือ และค่อยๆ พายออกไปจากท่า

เสียงไม้พายกระทบกับสายน้ำดังฝ่าความมืดมา หากไม่เพ่งมองให้แจ่มชัดก็ยากจะรู้ได้ว่าในความมืดนั้นมีคนกับเรือ ชายชราบังคับเรือไม่ให้ไกลจากริมฝั่ง โดยเรือมุ่งหน้าล่องตามน้ำลงไป ไม่นานนักก็ถึงจุดหมาย ห่างออกไปจากริมฝั่งประมาณ ๑ เมตร ตรงนั้นมีเสาไม้ไผ่ขนาดย่อมปักอยู่ในน้ำ บริเวณโคนเสามีเชือกผูกกับกิ่งไม้ติดอยู่ เมื่อไปถึงชายชราก็ยกกิ่งไม้ขึ้น จากนั้นก็ใช้สวิงช้อนเข้าด้านใต้ของกิ่งไม้ และใช้มืออีกข้างหนึ่งเขย่ากิ่งไม้อย่างแรง เพื่อให้กุ้งที่เข้าไปอาศัยในกิ่งไม้หล่นลงในสวิง เมื่อแน่ใจว่ากุ้งในกิ่งไม้หล่นลงในสวิงหมดแล้ว แกก็พายเรือไปสู่เป้าหมายใหม่ต่อไป
เวลาในการทำงานของชายชราผ่านไปเรื่อยๆ จากนาทีเป็นชั่วโมง เมื่อไปถึงเป้าหมายสุดท้าย เสียงไก่ขันครั้งแรกของค่ำคืนก็ดังข้ามมาจากอีกฟากฝั่งน้ำ...

ชายชราเบนหัวเรือให้กลับมาทางเดิมอีกครั้ง เมื่อมาถึงเสาต้นเดิมก็จัดแจงผูกเรือเข้ากับเสาไม้ไผ่ หลังจากผูกเรือเสร็จก็เอากุ้งใส่ลงในกระชังแช่ไว้ในน้ำ หลังภารกิจเสร็จสิ้น ชายชราก็เดินกลับขึ้นมาตามทางเดิม แสงไฟจากไฟฉายส่องสว่างน้อยลงกว่าเดิม เพราะแบ็ตเตอรี่เหลือน้อยเต็มที แม้ว่าแสงสว่างจะมีน้อย แต่หาได้เป็นอุปสรรคไม่ เพราะทุกตารางเมตรบนพื้นที่แห่งนี้ ชายชราย่ำเหยียบมาหลายร้อยหลายพันครั้ง หากเปรียบเทียบระยะทางเดินขึ้น-ลงจากกระท่อมไปท่าน้ำในแต่ละวัน ชายชราคงเดินทางไกลไม่ต่ำกว่า ๗-๘ กิโลเมตรต่อวัน

เมื่อมาถึงกระท่อม แมวสองตัวก็ส่งเสียงร้องทักออกมาพร้อมกับเดินเข้ามาหา หลังจากนั่งลงบนพื้นกระท่อมเรียบร้อย แสงไฟจากตะเกียงก็สว่างวูบขึ้นอีกครั้ง เช่นเดียวกันกับแสงไฟจากปลายบุหรี่ที่วูบแดงขึ้นเป็นครั้งคราว เมื่อชายชราสูดควันเข้าปอด

หลังจากแสงไฟจากตะเกียงดับลง เสียงไก่ขันครั้งที่ ๒ ของค่ำคืนก็ดังฝ่าความมืดข้ามฝั่งน้ำมา สิ้นเสียงไก่ขัน ชายชราก็ล้มตัวลงนอน และเดินทางไปสู่การหลับ ในห้วงแห่งการหลับไม่มีผู้ใดล่วงรู้ได้ว่า ชายชราฝันถึงเรื่องราวใด แต่หากลองสันนิษฐานดูแล้ว สำหรับคนหาปลา ในห้วงเวลาแห่งการหลับไหล คนหาปลาจะฝันถึงสิ่งใด นอกจากปลาตัวโตติดเบ็ด เพราะปลาที่ได้จะเดินทางออกจากแม่น้ำ เพื่อไปแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นกลับมาสู่ผู้เป็นเจ้าของเบ็ด

มีคนเคยกล่าวเอาไว้ว่า คนแก่นอนน้อยและตื่นเช้า คำกล่าวนี้คงเป็นจริง เพราะก่อนฟ้าสาง แม้ว่าจะหนาวเหน็บ ชายชราก็ลุกขึ้นมาก่อไฟนึ่งข้าว หลังจากคดข้าวใส่กระติ๊บเรียบร้อย แสงแรกของวันก็เริ่มโผล่พ้นขอบฟ้า หลังจากจัดการทุกอย่างเสร็จสิ้น ชายชราก็มุ่งหน้าสู่ท่าน้ำ เพื่อเอาเรือออกเก็บกู้เบ็ด กู้มอง-ตาข่ายที่ใส่ไว้ตั้งแต่ตอนเย็นเมื่อวาน

เมื่อขึ้นไปนั่งบนเรือเรียบร้อย ชายชราก็ติดเครื่องยนต์เรือ หลังเครื่องยนต์ติดเรียบร้อย ชายชราก็บังคับเรือทวนน้ำขึ้นเหนือ สายน้ำแตกกระเซ็นเป็นสายเข้ามาในเรือทุกครั้ง เมื่อชายชราเร่งเครื่องยนต์เรือ การขับเรือในช่วงหน้าแล้งขับยากกว่าในช่วงหน้าน้ำหลาก เพราะช่วงหน้าแล้งแก่งที่จมอยู่ใต้น้ำจะโผล่พ้นน้ำ คนขับเรือต้องคอยหลบแก่งให้ดี ที่สำคัญน้ำตรงใกล้แก่งจะไหลแรง บางแห่งก็ไหลวน ถ้าบังคับเรือไม่ดีแล้วก็มีสิทธิพลิกคว่ำได้ตลอดเวลา หาการทำสมาธิหมายถึงการนิ่งและตั้งใจแน่วแน่ คงไม่แปลกนักถ้าจะกล่าวว่า

การขับเรือก็คือการทำสมาธิอย่างหนึ่งสำหรับชายชรา
การขับเรือก็ไม่ต่างอะไรจากการขับรถ เพราะเรือต้องถูกบังคับให้วิ่งไปตามร่องน้ำที่เคยวิ่ง เช่นกันรถก็ต้องถูกบังคับให้วิ่งไปตามเลนของถนนที่กำหนดไว้ แต่หากว่าออกนอกเส้นทางเมื่อไหร่ก็ยากจะเป็นการคาดเดาได้ว่าเหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น ว่ากันว่าคนที่ขับเรือเก่งๆ ในสายน้ำสายนี้ กลางคืนไร้แสงไฟ พวกเขาสามารถพาเรือกลับถึงหมายปลายทางได้โดยปลอดภัย การขับเรือในเวลากลางคืน คนขับเรือจะอาศัยจดจำทิวทัศน์สองฟากริมฝั่งน้ำเป็นเครื่องหมายในการเดินเรือ ช่วงวัยหนุ่ม ชายชราเป็นคนหนึ่งที่ขับเรือในเวลากลางคืนได้ดี แต่เมื่อสังขารเดินทางมาถึงช่วงปลายของการดำรงอยู่ในสภาพความเป็นมนุษย์ การขับเรือในเวลากลางคืนจึงเป็นสิ่งถูกยกเว้นสำหรับชายชรา

หากย้อนกลับไปเมื่อวานตอนเย็น หลังจากเรือลำสุดท้ายบนสายน้ำเงียบเสียงลงในตอนค่ำ แม่น้ำก็เหมือนจมอยู่กับความเงียบ เช้านี้แม่น้ำจึงถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาจากความเงียบงันอีกครั้ง...

หลังบังคับเรือฝ่าลมหนาวมาประมาณ ๑๐ นาที ชายชราก็ข้ามมาอยู่อีกฝั่งหนึ่งของสายน้ำ ตรงที่ชายชราจอดเรือคือพื้นที่วางเบ็ดที่แกเคยวางเป็นประจำ จากจุดนี้มองกลับไปข้างหลังสามารถมองเห็นกระท่อมที่เพิ่งจากมาได้

พระอาทิตย์ยามเช้าค่อยสูงขึ้นเป็นลำดับ โมงยามของวันเริ่มเคลื่อนย้ายไปตามการหมุนรอบดวงอาทิตย์ของโลก หากลองเปรียบเทียบระหว่างชายชรากับพระอาทิตย์ ในตอนนี้ชายชราไม่ใช่พระอาทิตย์กำลังขึ้น แต่กลับกัน ชายชราคือ พระอาทิตย์ที่กำลังคืบคลานสู่ห้วงยามอัสดง

แม้ว่าพระอาทิตย์ยามเช้าของฤดูหนาวจะงดงามเพียงใด ชายชราในวัย ๗๕ คงไม่มีเวลามานั่งชื่นชมความงามของยามเช้ามากนัก คงเพราะชายชราเห็นพระอาทิตย์ขึ้นมาหลายปีแล้ว และยามเช้ามีความสำคัญสำหรับชายชรามากกว่าการมานั่งดูความงาม เพราะการขึ้นมาของพระอาทิตย์ เป็นเครื่องมือเร่งรัดในการทำงานสำหรับชายชราให้เร็วขึ้นกว่าเดิม...

หลังพระอาทิตย์พ้นยอดเขาทางทิศตะวันออก นกฝูงหนึ่งก็โผบินจากเหนือลงใต้ เช่นกันเมื่อฟ้าเป็นของนก น้ำก็ย่อมเป็นของปลา นกอพยพมักเดินทางกันเป็นฝูง ปลาก็เช่นเดียวกัน การอพยพขึ้น-ลงของปลาก็ไปเป็นฝูง จะมีปลาบางชนิดเท่านั้นที่อพยพเคลื่อนย้ายเพียงลำพัง การอพยพของปลาไม่ได้อพยพเพียงชนิดเดียว แต่มีปลาหลายชนิดอพยพขึ้นเหนือพร้อมๆ กัน นอกจากปลาจะอพยพขึ้นมาพร้อมกันหลายชนิดแล้ว ปลายังอพยพขึ้นมาพร้อมกับสัตว์ชนิดอื่นด้วย มีเรื่องเล่าจากคนหาปลาว่า ปลากับนกบางชนิดเป็นสิ่งคู่กัน โดยเฉพาะปลาบึกกับนกนางนวล ทุกครั้งเมื่อคนหาปลาจะลงมือจับปลาบึก พวกเขาต้องสังเกตว่านกนางนวลบินขึ้นมาหรือยัง หากนกนางนวลบินขึ้นมาจากทางใต้แล้ว วันต่อมาปลาบึกก็จะขึ้นตามมาหรือบางทีนกนางนวลก็บินมาพร้อมกับปลาบึก หากเห็นนกนางนวล คนหาปลาก็จะลงไหลมองจับปลาบึก

เรื่องเล่าเกี่ยวกับการอพยพของปลากับนกหาได้มีในเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศลาวตรงสีพันดอนยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับปลาและนกอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องเล่าที่ว่านี้เป็นเรื่องเล่าของนกสีดาและปลาข่า หากวันใดปลาข่าจะขึ้นมา นกสีดาก็จะขึ้นมา คนเฒ่าคนแก่บอกว่า ในภพชาติที่แล้วปลาข่ากับนกสีดาเป็นคู่รักกัน เมื่อสิ้นภพสิ้นชาติด้วยความมั่นคงในความรัก ในภพชาติปัจจุบันพวกมันจึงเป็นสิ่งเกื้อหนุนกัน เพราะเมื่อปลาข่าขึ้นมา ปลาอีกหลายชนิดก็จะว่ายตามมาด้วย เมื่อปลาข่าว่ายขึ้นมาปลาเล็กๆ ชนิดอื่นก็จะว่ายตามขึ้นมาด้วย พอนกนางสีดามองเห็น มันก็จะคอยไปจับกินปลาอยู่ใกล้ๆ ปลาข่า ธรรมชาติต่างเกิดมาเพื่อเกื้อหนุนสรรพสิ่งไม่เลือกว่าจะเป็นสนิดใด แม่แต่กับมนุษย์เอง ธรรมชาติก็ได้เกื้อหนุนมนุษย์เช่นกัน

แสงแดดของวันเริ่มแรงขึ้นเป็นลำดับ หลังจมอยู่กับการเก็บกู้เบ็ดเนิ่นนาน ชายชราก็หันหัวเรือมุ่งหน้ากลับมาตามทางเดิม ตอนไปกลับตอนกลับมาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตอนไปเรือวิ่งได้ช้า เพราะวิ่งทวนน้ำ แต่ตอนกลับเรือวิ่งได้เร็วขึ้น เพราะล่องลงมาตามน้ำ

เมื่อกลับมาถึงท่าน้ำ ชายชราก็จัดแจงผูกเรือกับเสาไม้ไผ่เสาเดิม เมื่อผูกเรือเสร็จ แมวสองตัวก็กระโดดขึ้นไปบนหัวเรือ จากนั้นมันก็ค่อยๆ เดินไปหาชายชรา เมื่อไปถึงชายชราก็หยิบกุ้งจากกระป๋องเอาวางให้มันกิน หลังกินหมด แมวทั้งสองตัวก็เดินกลับมาทางหัวเรืออีกครั้ง

หลังแมวทั้งสองตัวกระโดดลงจากเรือ ชายชราก็เดินมาทางหัวเรือแล้วนั่งลงใช้มือดึงเชือกผูกกระชังให้เข้ามาใกล้เรือ เมื่อกระชังมาถึงเรือ แกก็หยิบเอาปลาจากท้องเรือใส่ลงในกระชังแล้วปล่อยให้กระชังไหลกลับไปที่เดิม

ในการเอาเรือออกสู่แม่น้ำแต่ละครั้ง ชายชรามีเป้าหมายอะไรมากไปกว่าการหาปลาหรือไม่ คงไม่มีใครล่วงรู้ได้ บางทีในการออกหาปลาแต่ละครั้ง ชายชราอาจต้องการเพิ่มเติมจำนวนปลาให้มากขึ้นกว่าครั้งก่อน หรือบางทีชายชราอาจต้องการสร้างหลักไมล์ในการเดินทางไปบนแม่น้ำให้กับตัวเอง หรือบางทีชายชราอาจไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่านี้ นี่อาจเป็นการทำงานอย่างหนึ่งที่เคยทำอยู่ทุกวันก็เป็นได้ คำถามนี้ ชายชราคงจะเป็นคนคลี่คลายความสงสัยด้วยตัวแกเอง...

Pages

Subscribe to ชุมชน/สิ่งแวดล้อม