Skip to main content
นายหมูแดงอวกาศ
กาดคนเตว ถนนคนเดินเมืองลำปาง.....   เรามักคุ้นๆ ถนนคนเดินของเชียงใหม่เป็นหลักใช้ไหมครับ วันนี้เลยนำเสนอถนนคนเตว(ถนนคนเดินเมืองลำปาง) ที่บรรยากาศดีไม่แพ้ใคร และที่สำคัญยังคงประวัติศาสตร์กลิ่นอายเก่าของเมืองลำปางอยู่ ทั้งบ้านเรือน อาหาร และอื่นๆที่บางคนเห็นแล้วประทับใจ ผมเองก็ยังประทับใจมากๆเลย (ปล.เพราะเป็นบ้านเกิดตัวเองไงครับ 555) แต่จะหาว่าผมโม้ลองชมภาพที่ผมถ่ายมาให้ทุกท่านและบรรยายในแต่ละภาพไปแล้วกันนะครับ ไม่รู้ทุกท่านจะรู้สึกเหมือนผมหรือเปล่า จะทำหน้าที่ฉายภาพถนนคนเดินเมืองลำปางให้ดีที่สุดครับ
Cinemania
      ซาเสียวเอี้ย   แต่ไหนแต่ไรมา...ระบบการศึกษาในพื้นที่หลายแห่งทั่วโลกมักถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการ ‘ดับฝัน’ ของคนวัยหนุ่มสาว เพราะทำให้ความอยากรู้อยากเห็นและกระตือรือร้นที่จะ ‘เรียนรู้’ สิ่งแปลกใหม่ในวัยเยาว์ถูกลบเลือนหายไปในกรอบ-กฎเกณฑ์-เหตุผล-เงื่อนไข และข้อเท็จจริงทั้งหลายทั้งปวง (ซึ่งถูกกำหนดขึ้นโดยคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีโอกาสเกิดมาใช้ชีวิตบนโลกก่อนหน้าเรา...)   กระนั้น...ใครหลายคนก็ยังยินดีเดินตามแนวทางหรือเงื่อนไขต่างๆ ที่ถูกวางไว้แล้วโดยไม่เคยคิดตั้งคำถาม เพื่อแลกเปลี่ยนกับ ‘การยอมรับ’ จากสังคมรอบข้าง...เพื่อที่มนุษย์ทั้งหลาย (ซึ่งเป็นสัตว์สังคม) จะได้ไม่ต้องรู้สึกวุ่นวายใจไปกับความโดดเดี่ยวแปลกแยกหรือแหกคอก   การตั้งคำถามกับระบบการศึกษาจึงเป็นเรื่องหนักหนาสาหัส และไม่ค่อยมีใครกล้าลุกขึ้นมาปฏิเสธระบบกันมากนัก แม้จะมีกระแส ‘Drop Out’ ที่ชักชวนให้นักเรียนนักศึกษาหันหลังให้กับตำราและออกไปเผชิญโลกกว้างอยู่บ้างในยุคหนึ่งทางซีกโลกตะวันตก แต่กาลเวลาก็พิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเป็นอย่างบิล เกตส์ หรือสตีฟ จ๊อบส์ได้...                                                                   00000   แต่ในภาพยนตร์ตลกวัยรุ่นฮอลลีวู้ดที่ออกฉายปี 2549 เรื่อง Accepted ผลงานเรื่องแรกในฐานะผู้กำกับของ ‘สตีฟ พิงค์’ (อดีตคนเขียนบทหนัง Grosse Point Blank และ High Fidelity และผู้อำนวยการสร้างเรื่อง America Sweetheart) ได้พยายามตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะเป็นคำถามที่มาพร้อมกับลีลาโปกฮามากกว่าจะจริงจังขึงขังอะไรมากมาย แต่ก็เป็นภาพยนตร์วัยรุ่นเรื่องล่าสุดที่พูดถึงปัญหาของระบบการศึกษาออกมาตรงๆ   เรื่องราวในหนังเริ่มต้นด้วยการบอกเล่าชะตากรรมของ ‘บาร์เทิลบี เกนส์’ (แสดงโดยจัสติน ลอง จาก Die Hard ภาคล่าสุด) เด็กนักเรียนไฮสคูลปีสุดท้ายที่ยังเคว้งคว้างไร้อนาคต เพราะไม่มีมหาวิทยาลัยแห่งไหนตอบรับใบสมัครเรียนของเขาเลย ในขณะที่พ่อและแม่ต่างก็คาดหวังว่าลูกชายคนเดียวจะต้องมีอนาคตที่ดีและได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ไหนสักแห่ง ทำให้บาร์เทิลบียิ่งกดดันว่าพ่อกับแม่คงผิดหวังถ้าได้รู้ว่าลูกชายกลายเป็นคน ‘ไร้อนาคต’ ไปเสียแล้ว   ขณะที่ ‘เชอร์แมน เชรดเดอร์’ (แสดงโดยโจนาห์ ฮิล) เพื่อนสนิทของบาร์เทิลบี และ ‘รอรี่’ (แสดงโดย มาเรีย เทเยอร์) สาวผมแดงเด็กเรียนเพื่อนร่วมชั้น ล้วนไม่ผ่านการพิจารณาจากมหาวิทยาลัยที่สมัครไปกันถ้วนหน้า ทำให้ทั้งหมดคิดแผนการขึ้นมาตบตาบรรดาพ่อแม่ว่าพวกเขาได้รับการตอบรับเข้าเรียนแล้วจากมหาวิทยาลัยที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ และพวกเขาได้สร้างเว็บไซต์แนะนำมหาวิทยาลัยอุปโลกน์ให้พ่อและแม่เข้าไปดูประกอบคำโกหกให้ฟังน่าเชื่อถือมากขึ้น   เว็บไซต์มหาวิทยาลัยกำมะลอเกิดขึ้นได้เพราะภาพตัดต่อจากโปรแกรมโฟโตชอป แสดงบรรยากาศและอาคารสถานที่สมจริงสมจัง แถมยังมีปุ่มให้ ‘ผู้ที่สนใจเข้าศึกษาต่อ’ คลิกส่งใบสมัครมาพิจารณากันอีกด้วย และนอกจากพ่อแม่ของทั้งหมดจะเคลิ้มเชื่อตามไปด้วยแล้ว ปรากฏว่านักเรียนนับร้อยคนพลาดหวังจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่เสิร์ชเจอข้อมูลปลอมๆ ในเว็บไซต์ก็ยังหลงเชื่อและส่งใบสมัครเข้ามาจริงๆ และระบบอัตโนมัติซึ่งเชอร์แมนเผลอตั้งค่าไว้ก็ดันส่งใบตอบรับเข้าเรียนไปให้คนที่ส่งใบสมัครเข้ามาทั้งหมดจริงๆ อีกเหมือนกัน!   ตัวการต้นคิดทั้ง 3 คนจึงต้องไปเช่าอาคารโรงพยาบาลร้างมาปรับปรุงใหม่ให้เป็น ‘สถาบันเทคโนโลยีเซาท์ฮาร์มอน’ หรือ South Harmon Institute of Technology ซึ่งใช้คำย่อว่า S.H.I.T ได้พอดี!! โดยใช้เงินทุนหลักล้านดอลลาร์ซึ่งได้มาจากค่าเทอมที่นักศึกษาบ้าจี้นับร้อยคนโอนมาให้ ก่อนที่ชีวิตใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย (เก๊) จะเริ่มขึ้นอย่างทุลักทะเล   ด้วยพล็อตเรื่องเฮฮาและไม่เน้นความสมจริงสมจัง ทำให้หนังไม่ได้รับคำวิจารณ์ในแง่ดีเท่าไหร่เมื่อนำออกฉายในอเมริกา แต่ถ้าพูดถึงเรื่องรายได้ก็ถือว่าไม่เจ็บตัว ถึงอย่างนั้นหนังก็ไม่มีโอกาสได้ฉายในโรงหนังบ้านเราอยู่ดี ส่วนดีวีดีลิขสิทธิ์ที่ออกวางจำหน่ายก็ตั้งชื่อออกแนวเบาสมองว่า ‘จิ๊จ๊ะมหาวิทยาลัยรักแห้ว’ ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของหนังยิ่งเบาโหวงไปกันใหญ่   แต่ในความไร้สาระที่เคลือบอยู่ด้านนอก พอกะเทาะปลอกออกพบว่าตัวหนังยังมีแก่นแกนที่ชัดเจน แม้จะดูพยายามจนเกินไปในหลายๆ ฉาก แต่ก็เป็นการตั้งคำถามตรงไปตรงมาชวนให้คิดต่ออยู่ใช่น้อย   ไม่ว่าจะเป็นฉากที่บาร์เทิลบีเปิดโอกาสให้นักศึกษาของ S.H.I.T ช่วยกันเสนอหลักสูตรที่แต่ละคนอยากเรียนขึ้นมาแทนที่การ ‘กำหนดหลักสูตร’ ซึ่งยึดตามแนวทางการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาในแบบแผนดั้งเดิม ซึ่งมีกรอบชัดเจนว่านักศึกษามีสิทธิ์เลือกได้เฉพาะสิ่งที่ทางสถาบันเสนอให้เท่านั้น ทว่าไม่มีสิทธิ์เรียกร้องหลักสูตรหรือแนวทางที่แตกต่างออกไป   รวมถึงฉากที่บาร์เทิลบีต้องไปชี้แจงหลักสูตรการเรียนรู้ของ S.H.I.T ในฐานะ ‘ผู้ก่อตั้งสถาบันฯ’ ต่อหน้าคณะกรรมาธิการพิจารณามาตรฐานสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านการรับรองคุณภาพและวิทยฐานะของสถาบันการศึกษาตัวจริง นำไปสู่การปะทะคารมว่าอะไรกันแน่ที่จำเป็นและยั่งยืนต่อการดำรงชีวิตมากกว่า ระหว่าง‘การศึกษา’ กับ ‘การเรียนรู้’ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลากหลายแนวทาง และไม่มีใครเป็นผู้ผูกขาดองค์ความรู้อยู่ฝ่ายเดียว   00000   หากประเด็นที่ Accepted วิพากษ์วิจารณ์อย่างชัดเจนที่สุดก็คือความคับแคบของระบบการศึกษาที่ปฏิเสธความแตกต่างหลากหลายทางวิธีคิดเรื่องการเรียนรู้ และกระบวนการ ‘คัดทิ้ง’ ที่ไม่ต่างจากการประทับตรา (ผิดๆ) ว่าผู้ที่ไม่ผ่านมาตรฐานการคัดเลือกนั้น ‘บกพร่อง’ หรือ ‘ด้อยคุณภาพ’   "ในความคิดคำนึงถึงระบบการศึกษาที่มุ่งเน้นเพียงความสามารถหรือคุณสมบัติเฉพาะด้านเช่นนี้จะต่างอะไรจากระบบสายพานการผลิตผลไม้กระป๋องซึ่งเน้นที่การคัดเลือ 'ผลโตๆ' เป็นหลัก...ผลไม้ลูกเล็กที่ขนาดเล็ก 'ต่ำกว่ามาตรฐาน' ย่อมถูกคัดทิ้งและนำไปแปรรูปเป็นสินค้าอย่างอื่นโดยไม่ได้รับการพิจารณาหรือคำนึงถึงคุณสมบัติภายในอื่นๆ เช่น ความหวาน ความสด หรือความอร่อย แม้แต่นิดเดียว"   ขณะที่ในหนัง-บาร์เทิลบีมองว่าบรรดานักศึกษา S.H.I.T ไม่ได้รับการ ‘ยอมรับ’ จากสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นเพราะพวกเขาถูก ‘พิพากษา’ ไปแล้วว่าเป็นพวกขี้แพ้ไม่เอาไหน และเป็นพวกที่ถูก ‘คัดทิ้ง’ จากที่อื่น แต่นักศึกษาของ S.H.I.T ทั้งหมดก็ไม่เคยคิดที่จะหยุดเรียนรู้ในสิ่งที่พวกเขายังไม่รู้...     ประโยคยืดยาวของบาร์เทิลบีในฉากนี้คล้ายจะเป็นแถลงการณ์ของผู้กำกับสตีฟ พิงค์ อดีตนักกิจกรรมทางสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับการบริการชุมชนอยู่พักใหญ่ก่อนจะผันตัวสู่แวดวงบันเทิง แต่ถ้าใครจะมองว่าหนังเรื่องนี้ทำขึ้นเพื่อตอบสนองจินตนาการที่ไม่มีวันเป็นจริงของพวกขี้แพ้ซึ่งอยากตอบโต้ระบบที่ตัวเองไม่มีโอกาสได้มีส่วนร่วม...ก็ย่อมทำได้อีกเช่นกัน   แต่ในชีวิตจริงซึ่งทางแก้ปัญหาไม่ได้มีแค่ ก ข ค ง หรือข้อ 1 2 3 4 บางทีการมองต่างมุมเรื่องการเรียนรู้อาจช่วยเตือนสติได้ว่าโลกยังมีอะไรที่มากกว่าและกว้างกว่าการวัดผลคะแนนสอบจากกระดาษคำตอบที่มีตัวเลือกให้เลือกแค่ไม่กี่ข้อ…  
Anime Watch
เนตรชนก แดงชาติ อนิเมะที่พูดถึงสงครามไม่ว่าจะเป็นมุมมองของผู้ก่อสงครามหรือมุมมองของผู้ได้รับผลกระทบ ไปจนถึงการก่อสงครามระหว่างประเทศหรือก่อสงครามระดับอวกาศ เป็นวัตถุดิบที่ได้รับความนิยมมาเป็นเวลาช้านาน ไม่ว่าจะเป็น กันดั้ม (ภาคต่าง ๆ), สุสานหิ่งห้อย,  Axis Power Hetalia, หรือแม้กระทั่ง “ก้านกล้วย” การ์ตูนไทยที่มีเป้าหมายอยู่ที่เด็กและเยาวชน แต่ในภาค 2 ก็ยังมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับสงคราม   สำหรับส่องโลกอนิเมะสัปดาห์นี้ผู้เขียนขอชวนคุยเกี่ยวกับมังงะและอนิเมชัน (ที่เสี่ยงต่อการแบนของกระทรวงวัฒนธรรมบ้านเรา) เรื่อง 'อาวุธสุดท้ายคือเธอ ไซคาโนะ' หรือ 'ไซชูเฮกิคาโนะโจ' (最終兵器彼女) โดย ชิน ทาคาฮาชิ เรื่องนี้ถูกจัดเป็นการ์ตูนแนวเซเน็น (สำหรับผู้อ่านหรือผู้ชมอายุระหว่าง 18 – 25 ปี) เพราะมีทั้งอาวุธสงคราม การต่อสู้แบบ “ระเบิดภูเขา เผากระท่อม”   ความรักกุ๊กกิ๊กไปจนถึงขั้น “ติดเรท” ระหว่างหนุ่มแว่นผู้เย็นชากับสาวน้อยจอมซุ่มซ่าม และการตั้งคำถามต่อความเป็นมนุษย์ ไซคาโนะ เปิดเรื่องที่เมืองเล็ก ๆ บนเกาะฮ็อกไกโดอันเงียบสงบ มีการสารภาพรักของ “จิเสะ” ต่อ “ชูจิ” เพื่อนร่วมห้อง แล้วจึงมีการแลกกันอ่านไดอารี จูบแรกที่เคอะเขิน แต่เหตุการณ์ก็เปลี่ยนไปเมื่อมีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายเข้าจู่โจมญี่ปุ่น แล้ว “จิเสะ” แฟนสาวที่ชูจิเริ่มผูกพันธ์กลับกลายเป็นอาวุธที่พัฒนาได้ของกองทัพ ญี่ปุ่น สร้างความสับสน ความกลัว และการกระตุ้นให้ผู้ชมตั้งคำถามต่อจิเสะ ว่าเธอยังเป็นมนุษย์อยู่หรือไม่ ผู้ที่เคยอ่านหรือชมเรื่องไซคาโนะแล้วมีกระแสตอบรับทั้งชอบและไม่ชอบอยู่พอ ๆ กัน จุดที่ทำให้ไซคาโนะ มีความต่างจากการ์ตูนสงครามเรื่องอื่นอยู่ตรงที่การมองสงครามในมุมของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของการก่อความรุนแรง เช่น จิเสะ เด็กนักเรียน ม.ปลายธรรมดาที่อยู่ดี ๆ ทางกองทัพญี่ปุ่นก็พาเธอไปดัดแปลงร่างกายให้เป็นอาวุธขึ้นมา ไปจนถึง "อัทสึชิ" เพื่อนของชูจิ ทหารแนวหน้าตัวเล็กตัวน้อยที่สงครามทำให้เขาลุกขึ้นมาสมัครเป็นทหารเพราะ อยากปกป้องแฟนสาวของตัวเอง ไปจนถึงการนำเสนอความหงอยเหงาเปล่าเปลี่ยวของผู้ ที่ต้องพรากจากบุคคลผู้เป็นที่รัก ด้านมืดในจิตใจของแนวหลังที่แทบจะสิ้นหวังกับการรอคอย และความรู้สึกไร้คุณ ค่าที่ไม่สามารถปกป้องสิ่งที่พวกเขารักได้ ซึ่งจะเห็นได้จากข้อความที่ทั้ง สองเขียนไว้ในไดอารี “... พวกเราไม่อยากจะคิดถึงมันอีกแล้ว ถึงจะยกเรื่องนั้นมาคุยกัน แม้จะคิดถึงเรื่องใครสักคนก็ตามแต่ ก็ไม่ได้ช่วยให้อะไร ๆ เปลี่ยนแปลงได้อีกแล้ว ...” – ชูจิ “... หมู่นี้ชูจังใจดีจังเลยนะ แต่ว่าเห็นชูจังยิ้มแบบนั้น ฉันกลับยิ่งเป็นห่วง ยิ่งชูจังฝืนยิ้มให้ฉันเท่าไร ตัวฉันยิ่งรู้สึกอยากจะหายไปมากขึ้นเท่านั้น ทำไมร่างกายฉันถึงเป็นแบบนี้ด้วยนะ ตัวฉันทำอะไรผิดลงไปหรือเปล่า นี่เป็นการลงโทษฉันอย่างนั้นเหรอ เรื่องอาวุธสุดท้ายนี่เป็นความลับสำหรับทุกคน ฉันอึดอัดมากที่ไม่สามารถปรึกษาใครได้ ...” – จิเสะ สำหรับการก่อสงครามในเรื่องไม่ได้บอกว่าใครเป็นผู้เริ่ม ใครเป็นผู้บงการ หรือใครเป็นฝ่ายผิดถูก เสมือนจะบอกกับผู้ชมว่า “ถึงรู้ไปก็ช่วยให้อะไรดีขึ้นไม่ได้”  ส่วนจิเสะแม้ว่าจะไม่ได้เต็มใจที่จะเป็นอาวุธในตอนแรกแต่พออยู่ในสนามรบนานวันเข้าก็เริ่มเข้าใจตรรกะของสงครามได้ว่า “ถ้าเราไม่ฆ่าเขา เขาก็จะฆ่าเรา”  ขอเพียงหันอาวุธไปที่เธอเท่านั้น เธอก็สามารถจัดการศัตรูข้างหน้าได้อย่างราบคาบ แต่หลังจากที่ภารกิจเสร็จสิ้นในการจู่โจมหรือป้องกันแต่ละครั้งเธอก็จะเจ็บปวดกับความเป็นมนุษย์ที่ถูกตรรกะของสงครามกลืนกินหัวใจไปจนหมดสิ้นในชั่วขณะนั้น และขอโทษกับสิ่งที่ทำลงไปด้วยน้ำตาในทุกครั้ง ที่ซ้ำร้ายก็คือ ร่างกายของเธอนับวันก็ลดความรู้สึกทางผัสสะแบบมนุษย์ลงทุกวันแต่กลับสามารถ ปล่อยอาวุธจู่โจมโดยอัตโนมัติมากขึ้นทุกครั้งที่เธอกลับจากสมรภูมิ จิเสะทำให้ผู้เขียนนึกถึงเด็ก ๆ ในประเทศต่าง ๆ ที่ยังไม่สงบจากการสู้รบ หากท่านผู้อ่านเคยชมภาพยนตร์เรื่อง Blood Diamond จะเห็นภาพของเด็กชาวเซียร์รา ลีโอน (Sierra Leone) ในแอฟริกา ถูกนำไปฝึกเป็นทหาร หรือกรณีสองฝาแฝดลิ้นดำ “จอห์นนี” และ “อาร์เธอร์” ทหารเด็กแห่งกองกำลัง God’s Army คงไม่ต่างจากจิเสะและตัวละครที่เป็นเด็กภายในเรื่องไซคาโนะ   ผู้เขียนเชื่อว่าต่อไปข้างหน้าอีกสิบหรือหรืออีกร้อยปี โลกใบนี้ของเราก็ยังคงก่อสงครามกันอยู่ดั่งบรรพบุรุษของเรานับหมื่นกว่าปีที่ผ่านมา ตราบใดที่ “ความแตกต่าง” กลายเป็น “ความเป็นอื่น” ที่สามารถลดทอนความเป็นมนุษย์ได้ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงเชิงกายภาพหรือความรุนแรงในโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะฝ่ายกดขี่หรือเป็นผู้ถูกกดขี่จะเป็นฝ่ายเริ่มใช้ความรุนแรง ผลที่เกิดก็คงหลีกหนีไม่ผลความสูญเสีย ดังที่เราเห็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในโปแลนด์ กัมพูชา และอินโดนิเซีย สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งของเรื่องนี้คือการเลือกเอาลักษณะของ “ผู้หญิง” ที่ผู้ชายอยากปกป้องแบบจิเสะมาเป็นตัวละครที่ต้องประหัตประหารผู้คน ทั้งยังเป็นผู้บังคับบัญชาผู้ชายหรือเหล่าทหารขณะเดียวกันก็ยังเป็นตัวละครที่ เหล่าผู้บัญชาการชั้นสูงและนักวิทยาศาสตร์ออกคำสั่งและมีสิทธิเหนือร่างกายของเธอ ผู้เขียนคิดว่าแม้ในสงครามที่คนอื่นอาจจะมองว่าเป็นเรื่องของผู้ชายเพียงผ่ายเดียว แต่เรื่องนี้ทำให้บทบาทของผู้หญิงในสงครามเด่นชัดขึ้น ฉายภาพของผู้หญิงที่ยังคงอยู่ภายใต้การบงการของผู้ชาย ตลอดจนอยู่ภายใต้อำนาจของ “ความรู้” ทางวิทยาศาสตร์ที่ผู้ชายนำมาใช้กับเธอ คล้ายกับในสมัยสงครามเวียดนามที่กองทัพสหรัฐอเมริกาต้องการทั้งผู้ชายที่จะไปเป็นทหารและแรงงานของผู้หญิงที่จะผลิตปัจจัยต่าง ๆ เพื่อไปสนับสนุนการก่อสงคราม แม้ไซคาโนะอาจไม่ใช่อนิเมชันที่สั่นสะเทือนสังคมได้อย่างเรื่อง สุสานหิ่งห้อย ของสตูดิโอ จิบลิ หรือสะท้อนความปวดร้าวเหมือน Voice of a distance star แต่คงเป็นการ์ตูนอีกเรื่องที่สะท้อนมุมมองของสงครามในอีกมุมหนึ่ง ที่เพียงหวังว่าเราจะเข้าใจคนที่แตกต่างจากเรา หากสักวันหนึ่งเขากลายเป็นฝ่ายตรงข้ามกับชาติที่รักสงบแต่ถึงรบไม่ 'ขาด' กับประเทศเพื่อนบ้านเพียงแค่ที่ดินแปลงเล็ก ๆ บนภูเขาที่ประวัติศาสตร์ไม่ประกาศว่าเป็นของประเทศใดกันแน่ (เพราะตอนนั้นยังเป็นอาณาจักรมิใช่รัฐชาติ) หรือเพียงชาติพันธุ์ที่ต่าง เพศที่ต่าง ไปจนถึง มุมมองทางการเมืองที่ต่าง หากนำความต่างเหล่านั้นออกไป เราก็ต่างเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน หวังว่าหัวใจของเราในตอนนั้นจะไม่กลายเป็นอาวุธเหมือนที่จิเสะเคยเป็นอยู่นะขอรับ   
เด็กใหม่ในเมือง
แม้ว่าในประชาไท รายการ My Private Radio จะเพิ่งได้มาโอกาสมาเปิดเพลงเพราะมั่ง ไม่เพราะมั่งให้กับคุณๆ ได้ฟังกันไม่นานนี้ แต่จริงๆ แล้ว ถ้านับตั้งแต่ที่ผมเริ่มทำรายการตอนแรกลงในเว็บไซต์ http://myprivateradio.ning.com แล้ว ตอนที่คุณได้ฟังอยู่ตอนนี้ นับเป็นตอนที่ 10 แล้วครับ   ในตอนนี้ ผมเลยตั้งโจทย์เล่นๆ ว่า ถ้าผมต้องเลือกเพลงทุกเพลงในรายการ ให้กับคนหลายๆ คน ตั้งแต่เพี่อนของผม เลยเถิดไปจนถึงทีมการท่าเรือไทย เอฟ ซี (!) ผมจะหยิบอะไรมาเปิดบ้าง
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : ร่างกายที่เหนืออายุขัย จิตใจที่ไร้กาลเวลา                  Ageless Body, Timeless Mind เขียน : โชปรา ดีปัก แปล : เรืองชัย รักศรีอักษร พิมพ์ : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2551   แสนกว่าปีมาแล้วที่มนุษย์พัฒนากายภาพมาถึงขีดสุด ต่อนี้ไปการพัฒนาทางจิตจะต้องก้าวล้ำ มีหนังสือมากมายที่กล่าวถึงวิธีการพัฒนาทักษะทางจิต เพื่อให้อำนาจของจิตนั้นบันดาลถึงความมหัศจรรย์แห่งชีวิต หนึ่งในนั้นมีหนังสือที่กล่าวอย่างจริงจังถึงอายุขัยของมนุษย์ ว่าด้วยกระบวนการรังสรรค์ชีวิตให้ยืนยาว เล่มนี้เป็นหนังสือขายดีที่เขียนโดยนายแพทย์หนุ่มชาวอินเดียนาม โชปรา ดีปัก ผู้ยืนยันว่า มนุษย์สามารถมีอายุยืนยาวเกินกว่า 100 ปี
Cinemania
themadmon หมายเหตุ: ข้อเขียนชิ้นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น บทสะท้อนย้อนคิดหลังจากการชมภาพยนตร์เรื่อง Air Doll ผมในฐานะที่เป็นผู้เขียนจงใจจะหยิบเลือกประเด็น (ซึ่งผ่านการตีความของผม) โดยไม่ได้อ้างอิงอย่างชัดเจนไปสู่ตัวภาพยนตร์ในแต่ละฉากแต่ละตอน โดยหวังว่าผู้ที่ยังไม่ได้ชมภาพยนตร์ก็สามารถอ่านได้ และผู้ที่ได้ชมภาพยนตร์แล้วจะสามารถระลึกถึงฉากต่างๆ ในภาพยนตร์ได้ด้วยเช่นกัน     หากลองพูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ในสามประโยค  ผมคงพูดสั้นๆ ว่า.. “ผู้คนหลากหลาย เราต่างก็ว่างเปล่า และเหงามากมาย”  เพราะอะไรน่ะหรือ  เพราะผมเข้าใจว่า..  ..ในสังคมสมัยใหม่ที่ผู้คนต่างก็แตกกระเจิงกระจัดกระจายกันไปคนละทิศละทางแม้จะอยู่ร่วมในพื้นที่เดียวกัน มันคงเป็นภาพที่ฉายให้เห็นของลักษณะการเคลื่อนตัวของความคิดและการดำรงอยู่แบบปัจเจกบุคคล ในแง่หนึ่งมันสร้างอิสระ มันอาจเป็นอิสระที่จะล่องลอยและโบยบินไปไหนต่อไหน อิสรภาพนั้นอาจเป็นสภาวะที่แสนจะสวยงามเหลือเกิน แต่ในความอิสระบางครั้งมันก็เบาหวิว มันอาจเบาหวิวเกินจะทานทนเช่นกัน ปัจเจกบุคคลและความโดดเดี่ยวจึงเป็นของคู่กัน พร้อมๆ กับที่อิสรภาพและความเหงาก็คงเป็นของคู่กันเช่นกัน แต่เมื่อมันล้วนแต่บางเบามันจึงไม่มีความเศร้าและความเหงาที่สมบูรณ์ เช่นเดียวกับที่ไม่มีความเห็นหรืองานเขียนใดสมบูรณ์แบบ  บางครั้งเรามองสิ่งต่างๆ ในลักษณะของการ  “แทนที่” เพื่อหวังจะทดแทนสิ่งที่เคยมี แต่แท้ที่จริงมันไม่มีอะไรแทนที่อะไรได้อย่างสมบูรณ์ มันคงมีเพียงความคล้ายบางอย่างที่เราหลงว่าต่างแทนที่กันได้ ในความเหงาเราอาจหาบางสิ่งบางอย่างมาเติมเต็ม แต่มิใช่หรอกหรือว่ามันไม่มีอะไรที่เติมเต็มได้ การเติมให้เต็มเป็นดังสภาวะที่ไม่มีวันเกิดขึ้นจริงในตอนสุดท้าย การพยายามเติมให้เต็มเป็นกระบวนการอันไม่รู้จบต่างหาก เพราะในท้ายที่สุด มันไม่เคยมีสิ่งใดสมบูรณ์ในกระบวนการเหล่านั้น เรามักหลงละเมอเพ้อพกเพ้อฝันกันไปเองทั้งนั้นว่ามีอะไรบางอย่างเข้ามาเติมความว่างเปล่าให้เต็มได้ และสิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งย้ำเตือนให้เรารู้ว่าเราต่างก็ผิดพลาดอยู่เสมอๆ ความขาดไม่มีวันจะเหือดหายไป เพราะเราต่างก็ขาดอะไรบางอย่างอยู่เสมอ   แต่ก็ใช่ว่ามันจะสิ้นหวังไปทั้งหมดเพราะคงกล่าวได้ว่าความหมายมันเกิดขึ้นในกระบวนการเติมเต็มนั้น ในระหว่างที่เราพยายามจะเติมให้เต็ม โดยหวังว่ามันจะเต็ม แม้มันจะไม่มีทางเต็ม แต่มันก็ทำให้เรามีความหมายขึ้นมา แม้เพียงในบางขณะก็ตาม มันจึงไม่มีอะไรไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง แต่มันก็ไม่มีอะไรที่สวยงามสมบูรณ์   จนกว่าเราจะมองมันอย่างให้คุณค่า ความดี ความไม่ดี ความสุข ความเศร้า ความเหงา ความโดดเดี่ยว ความเจ็บปวด ต่างๆ นานา ราวกับว่ามันจะเป็นขั้นตอนภายหลัง แต่เราก็ทำให้มันเกิดขึ้นเป็นจริงอย่างพร้อมๆ กัน หากเพียงเราทำความเข้าใจขั้นตอนเหล่านี้อย่างชะลอเลื่อนเวลา แม้เราจะไม่สามารถชะงักการเดินของเวลาได้จริงก็ตาม แต่มิใช่หรือว่า เวลาก็เป็นเพียงแค่สิ่งที่เราให้ความหมายลงไปกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อที่เราจะทำความเข้าใจมันผ่านสิ่งที่เราเรียกกันว่าเวลา การทำความเข้าใจอย่างละเอียดละออ มันคงทำให้เราสะท้อนย้อนคิดถึงสิ่งต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป และเมื่อถึงตอนนั้นเราอาจเห็นว่าเราต่างก็สร้างความหมายให้กับสิ่งต่างๆ ตลอดเวลา  และเมื่อมองย้อนหลังกลับไปเราคงพบได้ไม่ยากว่าชีวิตนั้นช่างว่างเปล่า เพราะความหมายต่างๆ ไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่ภายใน แต่ความหมายของชีวิตอาจอยู่กับสิ่งเกี่ยวเนื่อง อยู่กับสิ่งรายล้อม ที่ประกอบและแฝงฝังให้ตัวตนเกิดความหมายขึ้นมาได้ เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แม้เราจะโดดเดี่ยวเพียงไรก็ตาม     ..ในหลายๆครั้ง ไม่เพียงแต่ตัวเอง แต่เราอาจพบว่าเราให้ความหมายแก่สิ่งต่างๆ และผู้คนที่เรารู้จักพบเจอด้วย และในหลายๆ ครั้งเราก็อาจให้ความหมายแก่สิ่งต่างๆ นั้นเพียงแค่ในแง่มุมของสิ่งที่เขาหรือเธอเหล่านั้น “ทำ” หรือพูดให้กลายเป็นสิ่งของมากไปกว่านั้นคือ “ใช้งาน” อะไรบางอย่างได้ และมันไม่ใช่แค่เพียง “ใช้” ได้ แต่ในชีวิตในโลกทุนนิยมอุตสาหกรรมภายใต้วิธีคิดแบบเสรีนิยมใหม่ ของทุกชิ้นหรือคนทุกคนต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพ มันจึงเป็นสิ่งที่ “ใช้ได้” เราจึงต่างก็กลายเป็นเพียงแค่แรงงานที่สามารถสร้างความหมายให้กับชีวิตได้เพียงแค่จากงานที่ทำ หากผลิตภาพลดลง สร้างรายได้ได้น้อยลง (หรือทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น) ฯลฯ เราก็คงกลายเป็นแค่ชิ้นส่วนที่เสื่อมค่า พร้อมที่จะถูกเขี่ยทิ้งไปจากสายพาน เพื่อเปิดทางให้สิ่งใหม่หรือคนใหม่ๆ เข้ามาแทนที่อยู่ทุกอึดใจ  ดังนั้นเมื่อเรามองสิ่งต่างๆ เพียงแค่หน้าที่  เราจึงควานหาสิ่งแทนที่ที่เราคิดว่ามันน่าจะดีกว่าสิ่งเดิมอยู่เสมอๆ เพราะเรามองสิ่งต่างๆ เพียงแง่เดียวคือในแง่ของหน้าที่การทำงานหรือเปล่าเราจึงลดทอนกันและกัน ลดทอนความสัมพันธ์ระหว่างกันให้เป็นแต่เพียงความสัมพันธ์ของหน้าที่ที่ทำให้แก่กัน นี่หรือเปล่าที่เป็นจุดเริ่มต้นที่เราทำร้ายกัน บางทีเราอาจรู้ตัวแต่บางทีก็ไม่ แต่ในเรื่องราวเหล่านั้นเราต่างก็กัดกินกันไปตลอดเวลา ทำให้ใครต่อใครรอบกายเหงาและโดดเดี่ยวท่ามกลางการอยู่ร่วมกันตลอดเวลาเช่นกัน  ในความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ใครหลายคนอาจเรียกว่าความรัก  แต่ละคนก็คงมีจินตภาพถึงความสัมพันธ์และความรักที่แตกต่างออกไป ใครหลายคนคงมองแต่เพียงการมีหน้าที่บางอย่างของความสัมพันธ์และคู่สัมพันธ์ คู่รักของเธอหรือเขาอาจกลายเป็นแต่เพียงผู้ทำหน้าที่บางอย่าง เคยหรือไม่ที่เราลดทอนอีกคนหนึ่งให้กลายเป็นแต่เพียงหน้าที่บางหน้าที่ และก็พร้อมที่จะเขี่ยสิ่งเดิมๆ ทิ้งไปเมื่อพบสิ่งใหม่ที่คาดว่าจะทำหน้าที่ได้ดีกว่า ความสัมพันธ์และความรักในแง่มุมหนึ่งมันก็กลายเป็นแต่เพียงรูปแบบของการผลิต ที่เราพร้อมจะเปลี่ยนปัจจัยการผลิตที่เราคิดกันไปเองว่ามันน่าจะดีกว่าเพื่อมาแทนที่เพื่อให้ได้ผลิตภาพมากขึ้น   และหากจะพูดเลยไปกว่านั้นสักนิดหนึ่ง หากในกระบวนการผลิตเราสามารถคิดคำนวณต้นทุนกำไรได้อย่างละเอียดลึก ซึ้งเห็นเป็นขั้นเป็นตอนเป็นฉากๆ แต่ในความคุ้มค่าของความสัมพันธ์หรือความรักนั้น เราเคยคิดคำนวณได้อย่างถูกต้องด้วยหรือ  เราจะแน่ใจได้มากน้อยแค่ไหนว่าอะไรบ้างที่จะเป็นตัวแปรในสมการ อะไรจะถ่วงน้ำหนักมากน้อยเพียงไร หรือเพราะสิ่งเหล่านี้อาจไม่ใช่สิ่งที่จะมาคิดคำนวณกันได้ และเมื่อไรก็ตามที่เราพยายามชั่งน้ำหนักถูกผิดตรงนี้ มันอาจผิดตั้งแต่ต้นแล้วก็ได้ และในความเข้าใจกันอย่างผิดๆ หรือเข้าใจเพียงแต่ในแง่มุมของตัวเอง มันอาจทำให้เราทำร้ายกัน ทั้งโดยรู้ตัว โดยที่ไม่ทันจะรู้ตัว และโดยไม่รู้ตัว  ขณะที่ในความสัมพันธ์และกิจกรรมทางเพศ  อวัยวะเพศชายที่สามารถแข็งชูชัน อวัยวะเพศหญิงที่ยืดขยายและมีน้ำหล่อลื่น  หรืออาจหมายถึงรูทวาร (ไม่ว่าจะของใครเพศใดก็ตาม) คงเป็น “หน้าที่” ในทำนองเดียวกัน การมีสมรรถภาพหรือความสามารถในการร่วมเพศ จึงเป็นทั้งวิถีทางและเป็นเป้าหมาย (หรือความสำเร็จและการรักษา/ยืนยันความสำเร็จ) ในตัวเอง ในชีวิตทางเพศการสามารถ/ความสามารถในการร่วมเพศคงเป็นความหมายสำคัญและคงเปรียบได้ดังกิจกรรมที่ให้ความหมายของชีวิต การไม่สามารถร่วมเพศได้ หรือสมรรถภาพที่ด้อยลงไป คงเปรียบได้กับความป่วยไข้ในชีวิตและการเดินทางสู่ความตายด้วยเส้นทางที่เจ็บป่วยและเจ็บปวด หากความหมายของชีวิตขึ้นอยู่กับการทำงาน ชีวิตทางเพศก็คงขึ้นอยู่กับการทำงานทางเพศอันหมายถึงความสามารถในการร่วมเพศได้  ไม่เพียงแต่ชีวิตการทำงานหรือในความสัมพันธ์ แต่ชีวิตของคนเราก็คงดำเนินไปในท่วงทำนองคล้ายๆ กัน เมื่อความตายซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยแน่นอนว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไร แต่มันก็แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นกับทุกคนนั้นเป็นดังปลายทางของชีวิต ในการเดินทางไปสู่ความตายเราต่างค่อยๆ เสื่อมสลายไปตามเส้นทางนั้น หรือพูดอีกอย่างก็คือตั้งแต่เราถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกเราก็กำลังใกล้ความตายเข้าไปเรื่อยๆ วันเกิดและวันคล้ายวันเกิดในปีต่อๆ มามันจึงเป็นทั้งการระลึกถึงจุด เริ่มต้นและบอกเราว่าเราเดินทางมาถึงจุดไหนๆ ในหนทางที่เรียกว่าชีวิต การเฉลิมฉลองการเกิด/วันเกิดอย่างใหญ่โตมันคงเป็นทั้งความสวยงามและความน่ารังเกียจ วันเกิดจึงเป็นทั้งวันแห่งความสุขและวันแห่งความน่าสะอิดสะเอียน ในทางหนึ่งวันเกิด/วันคล้ายวันเกิดคงเปรียบได้กับการเตือนถึงสังขาร ที่เปลี่ยนแปรไปตามเวลา แต่ในอีกทางหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันมันคือสารที่พยายามจะบอกว่าเรากำลังใกล้เดินทางไปสู่ความตายมากขึ้นเรื่อยๆ  ในแง่นี้ความตายจึงสวยงาม หรือพูดอีกแบบหนึ่งเราอาจมองได้ว่าความตายนั้นช่างสวยงามเพราะความตายอาจเปรียบกับการปลดปล่อยตัวตนที่ว่างกลวงไร้ความหมายในตัวเอง ปลดปล่อยชีวิตที่ความหมายของชีวิตต้องขึ้นอยู่กับสิ่งอื่น/คนอื่นอยู่ตลอดเวลา ปัจเจกบุคคลสมบูรณ์แบบไม่อาจเกิดขึ้นได้พร้อมๆ กับที่สัตว์สังคมสมบูรณ์แบบก็ไม่อาจมีอยู่จริง โครงสร้างสังคมอาจกำหนดเราแต่มันก็ไม่มีทางกำหนดได้สมบูรณ์ เราต่างสร้างและเสริมกันอยู่ตลอดเวลา พร้อมกับที่เราต่างก็กัดกินกรีดเฉือนกันอยู่ตลอด เราจึงทั้งเหงาและเศร้าไม่มากไม่น้อยไปกว่ากัน แต่เราก็มีอิสระไม่มากไม่น้อยไปกว่ากัน ชีวิตและความตายอาจเป็นด้านตรงข้ามของกันและกัน แต่มันก็เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน  แต่บางทีชีวิตไม่ได้มีแค่ความหมายในเรื่องของความหมาย แต่มันยังมีชีวิตที่เป็นเนื้อเป็นหนังเป็นตัวเป็นตน มันคือความหมายในอีกแบบอีกลักษณะ เพราะคนเรามี “หัวใจ” ไม่ใช่แค่ในด้านความรู้สึก แต่คือหัวใจเป็นก้อนๆ ที่เต้นตุบๆ อยู่ในทรวงอก คอยสูบฉีดให้ชีวิตในแต่ละชั่วขณะ และมากไปกว่านั้นคือมันไม่ใช่แค่หัวใจ แต่ต้องมีลมหายใจหรืออากาศด้วยที่ทำให้คนเรามีชีวิตดำรงตนและดำเนินไป ลมหายใจและหัวใจเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถสร้างความหมายให้กับชีวิตไปได้เรื่อยๆ และความหมายของชีวิตก็ล้วนต่อเติมหรือเป็นแรงผลักดันให้เรายังคง หายใจ สองด้านของความหมายของชีวิตดำเนินไปด้วยกัน มันจึงไม่ใช่แค่ชีวิตแต่เป็นชีวิตชีวาด้วยหากการขาดอากาศหายใจทำให้เราไม่สามารถมีชีวิตต่อไป การขาดกิจกรรมที่ให้ความหมายมันก็คงเปรียบได้กับการตายในทางสังคม  แม้ภาพยนตร์เรื่อง Air Doll ในแง่หนึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการสวมใส่ความเป็นมนุษย์ลงไปในสิ่งของ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ฉายภาพด้านกลับให้เราเห็นว่าเราก็ต่างทำให้ผู้คนกลายไปเป็นสิ่งของด้วยกันทั้งนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงไม่ได้เป็นแต่เพียงเรื่องราวของตุ๊กตายางที่มีชีวิตขึ้นมา แต่ใช่หรือไม่ว่าในหลายๆ ครั้งเราก็อาจเคยทำให้คนที่มีชีวิตและเลือดเนื้อกลายไปเป็นเพียงแค่ตุ๊กตายางเป่าลมเช่นกัน ถึงกระนั้น คงมิอาจปฏิเสธว่าชีวิตเราท่านทั้งหลายก็ดำเนินไปในแบบนั้น      ป.ล. ในทำนองเดียวกัน ข้อเขียนชิ้นนี้ก็คงหนีไม่พ้นการลดทอนให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นเพียง “สิ่ง” ที่ใช้ถูกอธิบาย และผมในฐานะผู้กระทำการเขียนก็คงถูกประเมินในกรอบของความสามารถในการถ่ายทอด ความหมายของผมในฐานะผู้เขียนข้อเขียนชิ้นนี้ก็ทั้งถูกให้และถูกลดทอนภายใต้ข้อเขียนชิ้นนี้เฉกเช่นเดียวกัน เพราะในท้ายที่สุด ไม่ว่าผม หรือคุณ หรือใคร ข้อเขียนชิ้นนี้หรือข้อเขียนชิ้นไหนๆ รวมไปถึงภาพยนตร์เรื่องนี้และภาพยนตร์ทั้งหมดทั้งมวล เมื่อถูกหยิบมาพูดหรือเขียน มันก็ถูกหยิบเลือก ฉวยฉุด ยื้อยุด ทั้งหมดทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ต่อคำถามเรื่องในการดำเนินชีวิตไปในโลกว่าเราจะหลีกหนี “หน้าที่” และ “การแทนที่” ไปได้หรือไม่อย่างไร คงเป็นคำถามที่เราท่านคงต้องขบคิดกันต่อไป หรือกระทั่งว่าจะหลีกหนีไปเพื่ออะไรก็คงเป็นคำถามสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน  
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชีวประวัติของนักเขียนหนุ่ม กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ในความจดจำของฉัน เป็นเพียงภาพร่างของนักเขียนในอุดมคติ ผู้ซึ่งอุทิศวันเวลาของชีวิตให้กับงานเขียนอย่างเคร่งครัด ไม่มีสีสันอื่นใดให้ฉันจดจำได้อีกมากนัก แม้กระทั่งวันที่เขาหมดลมหายใจลงอย่างปัจจุบันทันด่วน ฉันจำได้เพียงว่าเป็นเดือนกุมภาพันธ์...
เด็กใหม่ในเมือง
 กลับมาอีกครั้งสำหรับรายการวิทยุส่วนตัวของผมครับ :-)ผมบันทึกเสียงรายการตอนนี้ในคืนวันวาเลนไทน์ เลยทำให้บรรยากาศของวันแห่งความรักเผลอตลบอบอวลเข้ามาในรายการด้วยตอนนี้เลยมีเพลงรักดีๆ ให้ฟังกันเยอะครับเชิญฟังกันได้เลยครับ  
Cinemania
  บริวารเงา   ขงจื๊อ เป็นชื่อหนึ่งที่ผมได้ยินมาเนิ่นนาน ถ้าจำไม่ผิดอาจจะเป็นหนังจีนกำลังภายในสักเรื่องหนึ่งที่อ้างชื่อนี้ขึ้นมาเพื่อพูดถึงปรัชญาในเรื่องคุณธรรมน้ำมิตร ผมมารู้จักเขาอีกครั้งในห้องสมุดช่วงที่กำลังสนใจพวกวิชาปรัชญา จิตวิทยา วรรณกรรม ฯลฯ  แต่ผมกลับไปชอบปรมาจารย์จีนอีกคนคือ เล่าจื๊อ เสียมากกว่า เพราะว่าแกมีความคิดที่ 'แนว' ดี (อารมณ์ของวัยรุ่นเช่นนี้แล) อีกนัยหนึ่งก็ดูเพี้ยน ๆ อีกนัยหนึ่งก็มีอารมณ์ศิลปินกว่าขงจื๊อ ขณะที่ผมเห็นว่าขงจื๊อเอาแต่พร่ำบ่นอะไรที่เป็นหลักจริยธรรมน่าเบื่อ ๆ ซึ่งความน่าเบื่อนี้ไม่ใช่ความผิดของขงจื๊อเสียทีเดียว แต่เป็นเพราะหลักจริยธรรมทั้งหลายเหล่านี้มันถูกกรอกหูอยู่ทุกวันในชั้นเรียน และในสื่อต่าง ๆ จน 'วัยรุ่นเซ็ง' ในโลกความจริงที่พวกเขาพบเจอมันไม่เห็นมีอะไรงดงาม ๆ อย่างที่พร่ำสอนไว้เลย ชีวิตผมดำเนินต่อมาเรื่อย ๆ ผ่านพ้นอะไรมาหลายอย่าง ผาดโผนบ้างน่าเบื่อบ้างเหมือนชีวิตหลาย ๆ คน พบเจอชื่อใหม่ ๆ ที่ผมต้องไปค้นในห้องสมุดหรือตามอินเตอร์เน็ตจนแทบจะลืมชื่อขงจื๊อไปแล้ว มาพบชื่อเขาอีกครั้งจากป้ายโฆษณาภาพยนตร์ในห้างจนความสงสัยผมพุ่งพรวดว่าคนที่มีแนวคิดน่าเบื่อขนาดนี้ถูกนำมาสร้างเป็นหนังได้ด้วยหรือ!? ถ้าให้พูดแบบแฟร์ ๆ หน่อยล่ะก็ ขงจื๊อเป็นคนที่มีอิทธิพลทางความคิด จิตใจ ของชาวเอเชียตะวันออกอยู่มากที่เดียว โดยต้องนับรวมไปถึงชาวเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในที่อื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่องการนับถือบรรพบุรุษ เรื่องการนับถืออาวุโส เรื่องการรู้จักหน้าที่ของตนเอง ฯลฯ ทั้งหลายเหล่านี้สืบทอดมาทั้งในรูปแบบของคำสอน พิธีกรรม และวิถีปฏิบัติ ที่คาดว่าชาวไทยเชื่อสายจีนทั้งหลายคงคุ้นเคยกันดี ผมไม่ค่อยแปลกใจนักที่รู้ว่าผู้สนับสนุนรายใหญ่ในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้คือสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่กำลังเป็นมังกรผงาดในทางเศรษฐกิจโลก และกำลังพยายามประกาศตนให้โลกรู้ด้วยศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย นอกจากภาพยนตร์ของจางอี้โหมว พิธีเปิดกิฬาโอลิมปิก และภาพยนตร์มังกรสร้างชาติแล้ว จีนแผ่นดินใหญ่ยังเคยพยายามสร้างขบวนการ 5 สี แข่งกับญี่ปุ่นมาแล้ว แต่งานโปรดักชั่นนี้ยังไม่ถึงขั้นของญี่ปุ่นแน่ ๆ ล่ะ ตัดเรื่องขบวนการ 5 สี ออกไป งานภาพยนตร์โรงใหญ่ของจีนนี้คงไม่ต้องบอกก็รู้ว่ามาพร้อมกับความอลังการณ์แน่นอน คอภาพยนตร์แนวเดียวกันคงจำ "Hero" กันได้ ซึ่งนอกจากเรื่องความอลังการณ์ จังหวะการเล่าเรื่องบางช่วงแล้ว เรื่อง ขงจื๊อ ก็มีการ 'เล่น' กับโทนสีเช่นเดียวกับ Hero เหมือนกัน (ซึ่งไว้จะพูดถึงต่อไป) แน่ะ ๆๆๆ ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนพอได้ยินว่ามันเป็นเรื่องจีนแผ่นดินใหญ่เข้าคงพากันสงสัยแน่ ๆ ว่ามันจะเป็นภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่ออีกหรือไม่ ตัวผมเองรู้เต็มอกว่ามันต้องมีโฆษณาชวนเชื่อแฝงมาอยู่แล้ว แต่ผมไม่สนใจ ยังไงผมก็จะดู และอยากจะให้ลองมองกันแฟร์ ๆ กว่านี้หน่อยว่า ไม่ว่าภาพยนตร์จากชาติไหน ภาษาไหน ใครสนับสนุนมันก็มีโฆษณาชวนเชื่อทั้งนั้นแหละครับ ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอภาพชีวประวัติของขงจื๊อ หรือที่รู้จักกันในยุคสมัยนั้นว่า 'ขงฉิ่ว' ผู้ที่เกิดเมื่อ 551 ปีก่อนคริสตกาลจากชีวประวัติวัยเด็กซึ่งตัวภาพยนตร์ไม่ได้เล่า ขงฉิ่วสูญเสียพ่อซึ่งเป็นนักรบไปเมื่ออายุ 3 ปี และอาศัยอยู่กับแม่ท่ามกลางความยากจนแต่ก็สนับสนุนให้เขาได้เรียนหนังสือ โดยในเรื่องนี้เริ่มต้นเล่าในฉากที่ขงฉิ่วอยู่ในวัยผู้ใหญ่ที่รับราชการมีลูกมีเมียแล้ว และสิ่งที่เราจะได้เห็นจากขงจื๊อฉบับภาพยนตร์ คือภาพของขงจื๊อในฐานะมนุษย์ปุถุชน มากกว่าภาพของปราชญ์ต้นแบบที่ดูเลิศเลอ ไม่เชิงว่าตัวขงจื๊อที่แสดงโดยโจวเหวินฟะ จะละทิ้งความเป็นนักอุดมคติไปทั้งหมด แต่ในช่วงครึ่งแรกที่ขงฉิ่วต้องต่อกรกับ 'กลุ่มผู้มีอำนาจ' เขาไม่ได้เอาอุดมคติลุ่น ๆ เข้าไปเสยคาง แต่มีการใช้วาทศิลป์ ใช้เล่ห์กลตบตา จนคนที่เคยซึมซับแต่คำสอนของเขามาคงนึกไม่ออกว่าจะได้เห็นขงจื๊อในภาพที่ดูเป็น 'นักการเมือง' แบบนี้ (ถึงจะเป็นเรื่องเล่าก็เถอะ) เรื่องนี้คงเหมือนกับการที่รัฐบาลจีนนำเสนอเรื่องราวของขงจื๊ออีกครั้งนั่นแหละครับ ทั้งที่ในสมัยก่อนพรรคคอมมิวนิสท์จีนต่อต้านขงจื๊อจะเป็นจะตาย มองว่าเป็นแนวคิดแบบศักดินาบ้าง อะไรบ้าง มีการยกเลิกพิธีพรรมรำลึกถึงขงจื๊อ แต่พอถึงช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาก็ค่อยรื้อฟื้นมาอีกครั้ง และในปัจจุบันพวกสื่อบันเทิงทั้งหลายของจีนก็เริ่มตามกระแสโลกมากขึ้น การจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ มันก็ต้องรู้จักหาอะไร 'จับใจ' คนด้วย จริงไหม แต่บทเรียนอย่างหนึ่งที่จีนควรรู้ไว้คือ การแข่งขันทางธุรกิจบันเทิงนี้ผู้บริโภคเขาก็อยากมีตัวเลือกหรืออยากบริโภคอะไรที่มันดู Globalized หรือดูเป็นสิ่งที่คนอื่น ๆ ทั่วโลกเขาดูกัน ฉะนั้นการไปจำกัดโรงฉายเรื่อง Avatar เพื่อเอาเรื่องขงจื๊อมาฉายจึงถูกชาวจีนก่นด่า ต่อต้าน ทำให้เรื่องขงจื๊อเสียคะแนนไปปล่าว ๆ ปลี้ ๆ เพราะคนเกิดอคติไปก่อนเสียแล้ว เท่าที่ผมลองสำรวจบทวิจารณ์ของชาวจีนในเน็ตมา หลายคนดูจะไม่ชอบภาพยนตร์ขงจื๊อเท่าไหร่ เช่น บล็อกเกอร์จีนที่ชื่อ Han Han เขียนวิจารณ์ไว้ในบล็อกว่าหนังเรื่องขงจื๊อไม่ได้สามารถทำให้คนดูรู้สึกซาบซึ้งกับมันได้เท่าที่โจวเหวินฟะเคยคุยไว้ (โจวเหวินฟะถึงขั้นเคยบอกเลยว่า "ถ้าดูเรื่องนี้แล้วไม่ร้องไห้ ก็ไม่ใช่คนแล้ว") อีกบทหนึ่งที่ท้าทายการแสดงของโจวเหวินฟะมากคือบทตอนที่ขงจื๊อแกต้องเผชิญกับสภาพความขัดแย้งระหว่างแนวคิดอุดมคติของเขากับโลกของความจริง อีกฉากหนึ่งที่ผมค่อนข้างประทับใจคือฉากที่หนานจื่อ พระชายาจากแคว้นหนึ่ง ที่ตัวหนังฉายภาพเป็นหญิงร้ายคอยใช้เสน่ห์เป่าหูผู้นำ เธอได้พบกับขงจื๊อ และประชันบทบาทกันอย่างกระชั้นชิด ก่อนจะทิ้งท้าย ด้วยคำพูดที่บาดความรู้สึกอย่าง "ฉันเข้าใจความเจ็บปวดลึก ๆ ในตัวคุณ" ...และหลังจากนั้นภาพยนตร์ก็ฉายภาพ 'ความเจ็บปวด' ของ ขงจื๊อที่เขาต้องหะหกระเหิน ไปพร้อมกับเหล่าลูกศิษย์ลูกหา ภาพของขงจื๊อที่ดูรุ่งโรจน์และเป็น 'นักการเมือง' ที่ประสบความสำเร็จในช่วงแรก ๆ เริ่มกลายเป็นภาพของวีรบุรุษตกอับ (Tragic Hero) ที่ยังคงยืนยันวิถีทางความเชื่อของตนเอง และสั่งสอนผู้คนโดยไม่สนว่าจะถูกต่อต้าน เนื้อเรื่องในช่วงหลังนี้ ผมว่าภาพยนตร์ยังสื่อออกมาไม่ได้อารมณ์เท่าช่วงแรก ๆ หลายบทหลายตอนดูไม่ปะติดปะต่อ และทำให้รู้สึกถึงความอิหลักอิเหลื่อของการพยายามอิงประวัติดั้งเดิมกับการเสริมแต่งจินตนาการที่ไม่ได้เน้นไปทางใดทางหนึ่ง จนทำให้คนที่ดูเพื่อ 'เอาประวัติ' ก็ไม่ได้ประโยชน์ คนที่ดูเพื่อความบันเทิง (เช่นผม) ก็จะไม่ได้รับรสชาติความเป็นหนังอย่างเต็มที่ ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือการที่ภาพยนตร์พยายามเน้นโทนสีน้ำเงิน/คราม อย่างมากทั้งฉากและเครื่องแต่งกาย โดยเฉพาะฉากที่มีขงจื๊ออยู่ ถ้าว่าตามหลักศิลปะแบบซื่อ ๆ แล้ว สีน้ำเงินเป็นสิ่งที่สื่อถึงความสุขุม สติปัญญา และความสุภาพ ขณะเดียวกันก็เป็นวรรณะสีเย็น ขณะที่ดูเรื่องนี้อยู่ก็ไพล่นึกไปถึงปราชญ์จีนอีกคนที่ชื่อเล่าจื๊อซึ่งผมได้พูดถึงตอนต้น จากหนังสือต่าง ๆ ที่ผมอ่านมารู้สึกว่าทั้งเล่าจื๊อและขงจื๊อ ต่างก็เป็นปรัชญาคนละสาย คนละขั้ว ขงจื๊อออกจะเน้นเรื่องคุณธรรมน้ำมิตร เรื่องในเชิงรัฐศาสตร์และจริยศาสตร์ในชีวิตประจำวัน ขณะที่เล่าจื๊อเน้นพูดถึงปรัชญาที่จับต้องไม่ค่อยได้ แต่ก็มีความหมายลึก ๆ บางคนถือว่าเล่าจื๊อเป็นนักเสรีนิยม หรือนักคิดแนวอนาธิปไตยคนแรกทีเดียว แต่อย่างที่ขงจื๊อบอกไว้ว่า เล่าจื๊อสำหรับเขาแล้วเปรียบเหมือนมังกร ซึ่งยากจะเข้าถึงและใช่จะได้เห็นในชีวิตปกติ ผมหวังว่าจะได้เห็นฉากวิวาทะทางปรัชญาของปราชญ์สองท่านนี้อยู่เหมือนกัน ไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อม แต่ตัวหนังก็นำเล่าจื๊อออกมาในฉากหนึ่ง ที่แต่งด้วยเทคนิคภาพจนดูเหมือนเป็นเทพอะไรสักอย่างโผล่มาชี้แนะขงจื๊อ และขงจื๊อก็น้อมรับฟัง เราเลยอดดู 'ดราม่า' ไป เนื้อหาของภาพยนตร์ยังสะท้อนความขัดแย้งระหว่างแคว้นต่าง ๆ  การแย่งชิงอำนาจ รวมถึงการกดขี่จากประเพณีของผู้มีอำนาจ เช่นการต้องฝังบ่าวไพร่ไปพร้อมกับนายเมื่อนายเสียชีวิต แน่นอนว่าแนวความคิดของขงจื๊อไม่ก้าวหน้าเท่ายุคปัจจุบันที่มีเรื่องของหลักการสิทธิมนุษยชน (ที่ในบ้านเรายังดูไม่ค่อยมีมาตรฐานเท่าไหร่) เรื่องรัฐสวัสดิการ (ที่ดูลม ๆ แล้ง ๆ พิกล) ฯลฯ แต่สำหรับในยุคนั้นแล้วหลาย ๆ เรื่องก็ถือว่าก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่องการศึกษาที่ขงจื๊อคิดว่าทุกชนชั้นควรมีสิทธิได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน เรื่องการละเลิกพิธีกรรมป่าเถื่อนที่ไม่เคารพคุณค่าของมนุษย์ ฯลฯ  และการที่ได้เห็น 'พระเอก' คนนึงต่อสู้กับ 'ผู้มีอำนาจ' อยู่ในโลกภาพยนตร์ มันก็ชวนให้เอาใจช่วยอยู่ไม่น้อย (พล็อตสูตรสำเร็จแบบนี้ ตราบใดที่มันยังตอบสนองมนุษย์ได้ มันก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป) ...แม้คำว่า 'คุณธรรม' ที่ขงจื๊อ ชอบอ้างถึง ในปัจจุบันมันจะถูกนำมาปู้ยี้ปู้ยำโดยกลุ่มที่มีอำนาจตรวจสอบคนอื่น แต่ตนเองตรวจสอบไม่ได้ก็ตาม   ตัวอย่างภาพยนตร์
Anime Watch
  เนตรชนก แดงชาติ ใน ช่วง 40 กว่าปีที่ผ่านมานี้การไหล่บ่าของกระแส J-POP ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อวัฒนกรรมการเสพสื่อของบ้านเรา และแน่นอนว่าย่อมหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึง “การ์ตูนญี่ปุ่น” ที่ซึมลึกอยู่ในวงการสื่อบ้านเรารวมถึงเด็ก ๆ (ตลอดถึงคนที่เคยเป็นเด็ก) ไปไม่ได้ หลายท่านคงจำ ทั้งโดราเอมอน ดราก้อนบอล เซเลอร์มูน กันได้ และที่จะมาชวนท่านผู้อ่านคุยวันนี้เป็นหนึ่งในอมตะการ์ตูนแห่งช่อง 3 คือเรื่อง “อิคคิวซัง” หรือ “เณรน้อยเจ้าปัญญา” การ์ตูนที่มาจากบุคคลที่มีชีวิตอยู่จริงในช่วงประวัติศาสตร์ “อิค คิวซัง”  จากเรื่องเล่าที่นำมาเขียนเป็นนิยายภาพ จากนั้น ฮิซาชิ ซาคากุจิ (Hisashi Sakaguchi) ได้นำมาแต่งเป็นมังงะ (การ์ตูนเล่ม) และอนิเมชัน เรื่องราวของลูกชายพระจักรพรรดิกับพระชายาฝ่ายใต้ในสมัย มุโรมาจิ (ประมาณ พศ. 1338 - 1573)  ซึ่งเป็นยุคที่ชนชั้นนักรบมีอำนาจเหนือชนชั้นอื่น ๆ ในสังคม ได้แก่ ชนชั้นชาวนา และชนชั้นพ่อค้า ตลอดจนได้หลอมรวมตัวเองเข้ากับชนชั้นปกครอง (ฝ่ายพระจักรพรรดิและราชสำนัก) ทำให้เกิดระบบศักดินาและเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมซามุไร   เช่น การตั้งรัฐบาลทหาร หรือ “บาคุฟุ” ที่มี “โชกุน” เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครอง “ไดเมียว” หรือ เจ้าเมืองแคว้นต่าง ๆ ไปจนถึงการเผยแพร่ศาสนาพุทธ นิกายเซนอันเป็นหนึ่งในวิถีของชนชั้นนักรบ ในการสืบทอดอำนาจตกอยู่ในตระกูล อะชิคางะ อย่างไรก็ตามที่มาของอำนาจทางการเมืองของฝ่ายจักรพรรดิและฝ่ายโชกุนมีจุดที่ แตกต่างกันก็คือ ฝ่ายจักรพรรดิสืบเชื้อสายมาจากตระกูลยามาโตะ สมัย โคฟุน (ค.ศ. 250–538)  ที่มีความเชื่อว่าได้สืบเชื้อสายมาจากเทพีพระอาทิตย์  (Amaterasu – omikami) ซึ่งเป็นเทพผู้ให้กำเนิดชาวญี่ปุ่น จากนั้นได้แต่งบันทึกประวัติ- ศาสตร์ “โคจิกิ” (Kojiki) และ “นิฮงโชกิ” (Nihonshoki) ในยุค นาระ (ค.ศ. 710 – 794) เกี่ยวกับการให้กำเนิดโลกและเกาะญี่ปุ่น  ความเชื่อในศาสนาชินโต  รวมไปถึงการให้กำเนิดและเชื้อสายของผู้ที่สืบทอดสายเลือดของเทพีพระอาทิตย์  อันหมายถึงตระกูลของพระจักรพรรดิ   อาจกล่าวได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวญี่ปุ่นจึงมีอำนาจในปกครองดูแลลูกหลาน ซึ่งสอดคล้องกับลัทธิขงจื้อที่รับมาจากจีนในยุคต่อมา แตกต่างจากการได้มาซึ่งอำนาจของโชกุนที่มาจากการทำสงครามและกำลังทหาร แต่ด้วยความที่ฝ่ายจักรพรรดิมีความผูกพันและชอบธรรมทางศาสนา (ชินโต) และวัฒนธรรมมายาวนาน จึงเป็นเหตุที่ชนชั้นเหล่าซามุไรและโชกุนไม่สามารถล้มล้างได้ง่ายนัก แม้จะสามารถทำให้ชาวนาและพ่อค้าหมอบราบคาบแก้วได้แล้วก็ตาม การมีอยู่ของจักรพรรดิเริ่มจะอยู่ในสถานะ “สัญลักษณ์ของสังคม” มากกว่าการปกครองประเทศ ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการทำความเข้าใจระบบการปกครองเบื้องต้นในยุคที่เรื่อง อิคคิวซังดำเนินเรื่องอยู่ขอรับ ซึ่งประเด็นที่อยากชวนท่านผู้อ่านคุยนั้นก็คงเกี่ยวกับตัวละครที่ขาดไม่ได้ ในเรื่องนี้เลยคือท่านโชกุน “อาชิคางะ โยชิมิสึ” การพบกันครั้งแรกระหว่างท่านโชกุนและอิคคิวซังเกิดขึ้นเมื่อเมื่อเสียงของ อิคคิวซังเลื่องลือไปทั่วเมืองจนถึงหูของท่านโชกุน จึงมีความคิดที่จะนิมนต์เณรน้อยอิคคิวมาจับเสือที่อยู่ในม่านไม้ แต่ก็เสียท่าให้ในที่สุด ด้วยการที่อิคคิวซังขอให้ฝ่ายท่านโชกุนไล่เสือออกมาให้ตนจับนั่นเอง เรื่องราวต่อจากนั้นก็ล้วนเกี่ยวพันทั้งกันระหว่างตัวละครทั้งสองไม่ว่าจะ เป็นความขี้เล่นรักสนุกที่ช่างสรรหาเรื่องปวดสมอง (ทั้งคิดขึ้นเอง ทั้งร่วมมือกับคิเคียวยะซัง เจ้าของร้านค้าจอมงก) หรือเรื่องเดือดร้อนของประชาชนที่ถ้าไม่มาจากท่านโชกุนก็จากคิเคียวยะซัง จนชาวเมืองต้องไปขอความช่วยเหลือจากอิคคิวซังอยู่เสมอ (ที่มา http://en.wikipedia.org/wiki/Ikkyu)   เรื่อง ในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับวีรกรรมของท่านโชกุนจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ และส่วนใหญ่เรื่องราวที่เกี่ยวกับท่าน “อิคคิว โชจุน” ที่มีตัวตนอยู่จริงนั้น ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับความเถรตรงและการเป็นปฏิปักษ์ต่อขุนนางและพระเถระที่มือ ถือสากปากถือศีล จึงขอชวนท่านผู้อ่านมองเรื่องอิกคิวซังในฐานะเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งแล้วกัน นะ ขอรับ ท่านผู้อ่านรู้สึกเหมือนกันหรือเปล่าว่าการ์ตูนเรื่องนี้ได้นำ “โชกุน” มาเป็นตัวละครที่มีบทบาทในทางขำขันหรือเป็นตัวสร้างปัญหาของเรื่อง จนบางครั้งผู้เขียนนึกในใจว่า “วัน ๆ หนึ่ง คนเป็นไม่ทำงานทำการอะไรเลยหรืออย่างไร” หรือแม้แต่คิเคียวยะซังเองก็ตระหนี่ถี่เหนียวเสียจนมีอารมณ์ร่วมไปกับอิคคิว ซังอย่างไม่น่าเชื่อ จึงน่าสังเกตว่าการ์ตูนเรื่องนี้ได้นำ “ผู้ทรงอำนาจ” ในประวัติศาสตร์มาล้อเลียนหรือล้อเล่น แม้ว่าผู้แต่งจะเกิดคนละยุคสมัยกันก็ตาม การล้อเลียนหรือล้อเล่นบุคคลผู้มีอำนาจเป็นลักษณะของการตอบโต้ทางสังคมอย่าง หนึ่งที่พัฒนามาจากการนินทาที่เป็นกลไกการลงโทษสมาชิกในสังคมรูปแบบหนึ่ง การได้นินทาใครสักคนนอกจากจะช่วยลดความตึงเครียดแล้วผู้ได้นินทาผู้อื่นนั้น จะมีความรู้สึกต่อผู้ที่ถูกนินทาว่า “กูดีกว่ามึง” ยิ่งเป็นการนินทาผู้มีโอกาสทางสังคมหรือมีสถานะทางสังคมที่สูงกว่าตนเองแล้ว ด้วยยิ่งมีบทบาทในการลดค่าอำนาจ หรือ ลดคุณค่าของผู้มีอำนาจที่สูงกว่าตน เพราะในสภาพสังคมจริง ๆ คงไม่มีใครออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจในสมัยนั้นเป็นแน่ ดีไม่ดีอาจได้นอนในคุกแก้เซ็งไปจนถึงโดนตัดหัว แม้แต่สมัยนี้ที่มีการเปิดกว้างในการสื่อสารหรือมีสิทธิเสรีภาพตามหลัก ประชาธิปไตยที่ใครต่อใครเชื่อว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีแล้วนั้น การนินทาหรือการล้อเลียนผู้มีอำนาจยังเสี่ยงต่อการกระทำผิดตามกฎหมายหรือการ ใช้กำลังเข้าไปจัดการทั้งแบบเปิดเผยและแบบลับ ๆ การล้อเลียนผู้มีอำนาจในประวัติศาสตร์ไม่เพียงพบในเรื่องอิคคิวซังอันเป็น เรื่องเล่าที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตเท่านั้น ยังพบเรื่องเล่าเหล่านี้ในสังคมต่าง ๆ ทั่วโลก แม้แต่ในประเทศไทย เรื่องเล่าประเภทนี้ที่รู้จักกันดีอย่าง “ศรีธนญชัย” เองก็มีลักษณะที่คล้ายกับเรื่องอิคคิวซัง เช่น ความสมองไว และการเอาตัวรอดได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ (แม้ว่าบางตอนของศรีธนญชัยอาจจะ “ฮาร์ดคอร์” กว่า เช่น การคว้านท้องน้องของตัวเองก็ตาม) นอกจากนิทานพื้นบ้านเรื่องยาวอย่างศรีธนญชัยแล้ว ยังมีเรื่องเล่าตลกขำขันในชุมชนที่ไม่มีมีแบบแผนหรือมีผู้แต่งที่แน่ชัด อย่างเช่นการ “เล่าเจี๊ยะ” หรือ “เจียะก้อม” ของล้านนา เนื้อหาก็ต่างพัวพันอยู่กับตัวแทนของสถาบันที่มีอำนาจทางสังคม เช่น เจ้าเมือง พระ พ่อค้าคหบดี เหมือนกันอย่างมิได้นัดหมาย เมื่อมองกลับมาในปัจจุบัน ผู้ที่ตกเป็นเป้าของการล้อเลียนส่วนใหญ่จะเป็นนักการเมืองหรือดารา ส่วนสถาบันศาสนานาน ๆ จะมีการล้อเลียนเกิดขึ้นสักครั้ง แต่ก็ต้องเป็นพระระดับเซเลปที่กระทำความผิดทั้งทางกฎหมายจนเป็นข่าวใหญ่โต เช่น “พระยันตระ” หรือ มีบทบาทในสื่อมาก ๆ เช่น “พระพยอม”  อย่างไรก็ตามผู้เขียนไม่ทราบได้ว่า เพราะความเข้มแข็งเรื่องบาปกรรมจากการล้อเลียนพระมีผลในสังคมสมัยนี้ หรือ ความห่างเหินกันระว่างคนกับพระกันแน่ ที่ทำให้การล้อเลียนสถาบันศาสนาลดลงเหลือเพียงแค่การนินทาพระที่ประพฤติตน ไม่เหมาะสมตามหมู่บ้านในชนบท ส่วนการล้อเลียนเศรษฐีที่เราเห็นชัดที่สุดคงหนีไม่พ้นคุณ “ทักษิณ ชินวัตร” ในการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่บางครั้งเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดก็เกิดจากการล้อเลียน เช่น การที่นักศึกษาเล่นละครล้อเลียน ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อาจเป็นเพราะว่าตัวละครที่นำมาล้อเลียนนั้นได้ล้มหายตายจากไปหลายร้อยปี   หรือว่าระบบบาคุฟุและวัฒนธรรมซามุไรได้ถูกปฏิวัติไปตั้งแต่สมัยเมจิ หรือว่า ความแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นเรื่องแต่ง อะไรเป็นเรื่องจริง หรือว่าผู้แต่งไม่ไปแตะ “กล่องดวงใจ” ของชาวญี่ปุ่น คงไม่สำคัญเท่า ความ “เซนซิทีฟ” ของบุคคลที่ “ถูกล้อเลียน” หรือ “ถูกนินทา” ที่กลัวว่าผู้เสพสารจะเชื่อว่าเป็นจริงตามที่โดนล้อหรือเปล่า จะจริงหรือไม่จริงก็ตามมันก็ห้ามคนนินทาได้ยากยากดั่งการห้ามไฟไม่ให้มีควันนั่นแหละขอรับ
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : แสงแรกของจักรวาล ผู้เขียน : นิวัต พุทธประสาท ประเภท : รวมเรื่องสั้น จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2551   ชื่อของนิวัต พุทธประสาท ปรากฎขึ้นในความประทับใจของฉันเมื่อหลายปีก่อน ในฐานะนักเขียนที่มีผลงานเรื่องสั้นสมัยใหม่ เหตุที่เรียกว่า เรื่องสั้นสมัยใหม่ เพราะเรื่องสั้นที่สร้างความประทับใจดังกล่าวมีเสียงชัดเจนบ่งบอกไว้ว่า นี่ไม่ใช่วรรณกรรมเพื่อชีวิต... เป็นเหตุผลที่มักง่ายที่สุดเลยว่าไหม
นายหมูแดงอวกาศ
The Classic คนแรกของหัวใจ คนสุดท้ายของชีวิต         ก่อนเข้าอ่านเนื้อเรื่อง ผมอยากให้ทุกคนที่เข้ามาอ่านของผมลองเข้าไปดูที่ link นี้ก่อนเพื่อดูMVของเรื่องนี้ครับ http://www.youtube.com/watch?v=m52MiAtI7p8 เพื่อเข้าใจความหมายของหนังเรื่องนี้ "คนแรกของหัวใจคนสุดท้ายของชีวิต"   ที่ดูแล้วยังบอกอีกว่า จำความรักครั้งแรกได้ไหม และที่ผมเอาเรื่องนี้มาเล่าต่อก็เพราะความประทับใจที่ภาษารักของหนังสื่อสารออกมาอย่างละเมียดละไม ทั้งความหมายที่ซ่อนในฉาก หรือแม้แต่การแสดงของตัวละครแต่ละตัวของเรื่อง    ภาพจาก www.siamzone.com        ผลงานของ Kwak Jae-yong ผู้กำกับมากฝีมือผู้เคยสร้างความประทับใจล้นหลามจากภาพยนตร์เรื่อง My Sassy Girl และส่งนางเอกสาว Jeon Ji- Hyun จนโด่งดังมาแล้วทั่วเอเชีย      The Classic เล่าเรื่องราวของ Ji-hae และ Soo-kyoung สองสาวเพื่อนสนิทที่ยอมเข้าร่วมกิจกรรมกับชมรมละครเวทีเพื่อจะได้ใกล้ชิดกับ Sang-min ชายหนุ่ม ซึ่ง Soo-kyoung แอบปลื้ม เธอวานให้ Ji-hae ช่วยเขียนอี-เมล์รักส่งถึง Sang-min อยู่บ่อยครั้งโดยที่เธอไม่ระแคะระคายเลยว่า Ji-hae เองก็แอบมีใจให้ Sang-min เหมือนๆกับเธอ    ภาพจาก www.pantip.com      Ji-hae เสียสละโดยยอมหลีกทางให้กับเพื่อนสาว เธอยังทำหน้าที่เขียนอี-เมล์ให้กับ Soo-kyoung แต่พยายามหลีกเลี่ยงที่จะพบหน้า Sang-min แม้ว่าเขาจะเชื้อเชิญเธอให้ไปเที่ยวหรือทางข้าวด้วยกัน กอปรกับในช่วงเดียวกัน Ji-hae ได้ค้นพบสมุดบันทึกและจดหมายรักของคุณแม่ในตู้เก็บของ เธอจึงเก็บตัวเงียบ ใช้เวลากับการอ่านข้อความเหล่านั้นอย่างตั้งใจ จนได้พบว่าความรักของคนรุ่นพ่อแม่ของเธอก็มีอุปสรรคนานัปการสาหัสยิ่งกว่าสิ่งที่เธอกำลังประสบ         แม่ของเธอ คือ Joo-hee พบรักแรกกับ Joon-ha แต่เธอถูกผู้ใหญ่มั่นหมายให้แต่งงานกับลูกชายพ่อค้าใหญ่ซึ่งเป็นเพื่อนกับ Joon-ha ทั้งคู่จึงต้องเก็บงำความรู้สึกที่มีต่อกันปิดบังทั้งเพื่อนและพ่อ เพื่อแอบพบกันอย่างลับๆ Joon-ha จำยอมเขียนจดหมายรักตามคำขอร้องของเพื่อนเพื่อส่งให้กับ Joo-hee จนกระทั่งเกิดโศกนาฏกรรมที่ไม่คาดคิด ส่งให้ Joon-ha ตัดสินใจบอกลา Joo-hee และสมัครเข้ากองทัพเพื่อร่วมรบในสงคราม ก่อนที่ทั้งคู่จะจากกัน Joo-hee ได้มอบสร้อยเงินเส้นรักให้แก่ Joon-ha เพื่อเป็นสัญญาใจว่าเขาจะต้องมีชีวิตกลับมาเพื่อนำสร้อยเส้นนี้คืนเธอ      Ji-hae รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดในรุ่นคุณแม่ และพึงได้ตระหนักว่า การเสียสละบางอย่างเพื่อใครบางคนอาจเป็นสัมผัสอันงดงาม แต่ผู้เสียสละด้วยการโป้ปดหัวใจของตนเองคงต้องเตรียมพร้อมและยอมรับกับความเจ็บปวดที่จะตามสนอง ซึ่งบางครั้งก็รุนแรงจนสร้างแผลลึกในความทรงจำและไม่อาจหายาวิเศษขนานใดมาสมานได้ชั่วชีวิต (เนื้อเรื่องย่อจาก http://www.jkdramas.com/movies/theclassic.htm)   แบ่งปันและเล่าไป      ผมหยิบเอาหนังเรื่องที่ว่ามาเล่าอีกครั้งเพราะวันนี้ผมได้ดูหนังเรื่องนี้โดยบังเอิญ  เพราะวันนี้ก็เก็บกวดห้องให้เข้าที่ เพราะวันๆทำงานแต่งานมาถึงห้องก็สลบเหมือดพอดี พอเปิดดูอีกครั้ง ผมมีความรู้สึกว่าเหมือนตัวเองดูหนังเรื่องนี้ตอนปี 4 อีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งจำได้ว่าก็หลายปีทีเดียว พอดูฉากของหนังถ่ายทอดความรักของคนรุ่นต่อรุ่น ที่รักและสัมพันธ์กันอย่างไร้จุดหมายไม่มีที่สิ้นสุดแต่ท้ายสุดก็มาบรรจบกันได้ เริ่มจากความรักของรุ่นพ่อและแม่ที่เป็นความรักระหว่างชนชั้นคนจนกับคนรวย แต่ทั้งคู่ก็ยังยืนยันที่จะรักกัน      ภาพจาก www.newswit.com       โดยฉากหนึ่งที่บางคนดูแล้วอดคิดตามไม่ได้คือ ฉากที่Joo-ha และ Joo-hee พบกัน Joo-hee ทักและถามไถ่ Joo-ha ว่าที่เขากำลังเล่นนั้นคืออะไร เขาตอบไปว่าด้วงขี้ควาย joo-hee กลับไม่ได้รังเกียจและถามว่าขอจับหน่อยได้ไหม และ Joo-ha ก็ส่งให้ แสดงถึงความรักที่ไม่ได้รังเกียจแม้แต่ชนชั้นของคนทั้งคู่  แต่เรื่องก็ไม่ได้จบแบบมีความสุขแบบหนังไทย เพราะว่าทั้งคู่ก็ไม่ได้ครองรักกัน ฉากหนึ่งที่ผมเห็นแล้วแอบน้ำตาซึมคือ วันที่ Joo-ha กลับมาจากสนามรบแล้วตาบอดได้นัดพบ Joo-hee เขาไปเดินฝึกซ้อมที่ร้านหลายรอบเพื่อไม่ให้ joo-hee รู้ว่าเขาตาบอด แต่ท้ายสุดความก็มาแตก อีกทั้งเขายังโกหกว่าแต่งงานแล้วทั้งๆที่ยังไม่ได้แต่ง ตราบนั้นความรักคนทั้งคู่ยังรักกันเสมอตราบเท่าชีวิตจะหาไม่ (ดังตอนหนึ่งที่ว่า ผู้เสียสละด้วยการโป้ปดหัวใจของตนเองคงต้องเตรียมพร้อมและยอมรับกับความเจ็บปวดที่จะตามสนอง ซึ่งบางครั้งก็รุนแรงจนสร้างแผลลึกในความทรงจำและไม่อาจหายาวิเศษขนานใดมาสมานได้ชั่วชีวิต   ภาพจาก 2.bp.blogspot.com       ส่วนในรุ่นลูกคงไม่ต่างกัน แต่มีความน่าคิดตรงที่เขาทำตามหัวใจสิ่งที่เขาเรียกหาและภักดีกับมันซะยิ่งกว่าสิ่งใด ในฉากหนึ่งทั้งคู่เดินไปที่พิพิธภัณฑ์กระจกตัดผ่านคนทั้งคู่ ทั้งๆที่รู้ว่าแต่ละคนคิดอะไร แต่เหมือนสิ่งนั้นไม่ได้สามารถทำได้ง่ายๆ เลย แต่ความรักก็ดั่งนิยาย เพราะหลายคนต่างไขว่คว้ามัน ฉากของรุ่นลูกจึงเป็นฉากที่สมหวัง ปิดบังความปวดร้าวจากรุ่นพ่อและแม่ที่สะท้อนออกมา ส่องกระจกวัฒนธรรมเกาหลีสมัยใหม่ที่เห็นความเท่าเทียมกันเพิ่มมากขึ้น นี่ก็เป็นเกร็ดจากหนังเล็กๆน้อยๆที่ผมเอามาแลกเปลี่ยนครับ  แล้วคุณหละรู้สึกอย่างไรกับหนังเรื่อง The Classic ?     ภาพจาก pirun.ku.ac.th