ไอซีที

เปิดพื้นที่เพื่อการศึกษา 'บริบททางสังคม' ของ ICT

หลังจากที่ได้ขีดๆเขียนๆบทความ ในด้านที่ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับสังคมไทย และอยู่ในความสนใจของตัวเอง เป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ข้าพเจ้ารู้สึกว่า เป็นเวลาอันสมควร ที่ควรจะทำความเข้าใจ กับผู้ให้ความกรุณาแวะเวียนเข้ามาอ่าน ทั้งขาประจำและขาจร ซึ่งมีอยู่จำนวนหนึ่ง ถึงที่มาของคอลัมน์ “กรองกระแส ICT”

จุดเริ่มต้นของคอลัมน์นี้ เกิดจากการที่ข้าพเจ้ามีความสนใจ และมีโอกาสศึกษาหาความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ Information Technology (IT) และ ทางด้านระบบข้อมูลสารสนเทศ หรือ Information System (IS) ประกอบกับประสบการณ์ในการทำงาน ในอุตสหกรรมโทรคมนาคม จนถือได้ว่า ข้าพเจ้าโชคดีที่มีความคุ้นเคยกับ ICT จากทั้งสองฝากของเทคโนโลยีซึ่งรวมกันเป็น ICT นั่นคือ ฝากของเทคโนโลยีสารสนเทศ จากโอกาสทางศึกษา และฝากของเทคโนโลยีทางการสื่อสาร จากโอกาสทางการทำงาน

Identity thief...เมื่อความเป็นฉันไม่ใช่ตัวฉัน

บทความในวันนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจาก การได้รับทราบสองข่าว ซึ่งในความเห็นของข้าพเจ้า เป็นข่าวที่ไม่ได้อยู่ในกระแสความสนใจ ของคนไทยทั่วไปแต่อย่างไร แต่เป็นข่าวที่ข้าพเจ้า อยากเรียกร้องให้ทุกคน หันมาตระหนักถึงความน่ากลัว ของการถูกคุกคามโดย "Identity thief"

Identity thief คือ กลุ่มคนที่มุ่งขโมยข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่ใช้แสดงตัวตน ของบุคคลต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อ ใช้ข้อมูลดังกล่าวปลอมแปลงตนเป็นบุคคลผู้นั้น เพื่อหาประโยชน์อื่นๆต่อไป

ข่าวแรกที่เกิดขึ้น เป็นเหตุการณ์ที่ผู้หญิงคนหนึ่ง ถูกวิ่งราวกระเป๋าสตางค์ ภายหลังจากเกิดเรื่อง ซึ่งข้าพเจ้าเจ้าจำได้ไม่แน่นอนว่านานเท่าไหร่ ผู้เคราะห์ร้ายได้ไปแจ้งความ เพื่อนำใบแจ้งความไปขอทำเอกสารหลักฐานต่างๆ ซึ่งรวมถึงบัตรประจำตัวประชาชน ตามปกติ แต่สิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เมื่อทางสำนักงานเขตที่ผู้เคราะห์ร้ายเข้าไปขอทำบัตรแจ้งว่า ข้อมูลในระบบออนไลน์ระบุว่า ได้มีคนที่อ้างตัวเป็นตัวผู้เคราะห์ร้าย เข้ามาขอทำบัตรประชาชนใหม่เรียบร้อยแล้ว จึงไม่สามารถทำบัตรประชาชนใหม่ให้ได้

การลงทุนทางเทคโนโลยีแบบตามแห่

คู่แข่งกำลังลงทุนในเทคโนโลยี... เราจะรอช้าอยู่ไม่ได้ ต้องรีบดำเนินการผลักดันโครงการแบบเดียวกัน ให้เกิดขึ้นในทันที เพื่อตามให้ทัน และไม่ให้เราสูญเสียโอกาสทางการแข่งขัน"

เทคโนโลยี... กำลังได้รับความนิยมในตลาดโลก สร้างประโยชน์มากมายให้กับ ประเทศนั้นประเทศนี้ หรือองค์กรนั้นองค์กรนี้ ดังนั้นเราจึงควรลงทุนในเทคโนโลยีดังกล่าว อย่างเร่งด่วน”

เหตุผลในทำนองข้างต้น เป็นเหตุผลที่ข้าพเจ้าได้ยินอยู่เป็นประจำ จากผู้มีอำนาจตัดสินใจในระดับนโยบาย ขององค์กรระดับต่างๆในประเทศไทย เพื่อนำเทคโนโลยีอันทันสมัย เข้ามาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีทางด้าน ICT

มาตรฐานใหม่...โดย เครือข่ายสังคมบริหารตัวเอง (Self-Organizing Community)

เช้ามา...เปิดคอม เปิดเนต เช็คตารางนัด เช็คเมล ตอบเมล ล็อคอินเข้า MSN เอาไว้คุยกับเพื่อน หาข้อมูลจาก Google และ Wikipedia เข้าไปดูว่าเพื่อนๆทำอะไรกันบ้าง พร้อมกับอัพเดตของมูลตัวเองบน MySpace, Hi5 หรือ Facebook เข้าไปอ่านข่าว บทความ หรือกระทู้ จากแหล่งข้อมูลเฉพาะด้าน จาก Blog หรือสังคมออนไลน์ต่างๆ ที่สนใจ เข้าไปดูวิดีโอแปลกๆ หรืออัพโหลดวิดีโอฝีมือตนเองบน Youtube เข้าไปอัพเดตรูปตัวเองหรือหารูปสวยๆบน Flickr และโทรหาใครหลายคน ไม่ว่าอยู่มุมไหนของโลกผ่าน Skype

ชีวิตที่ดำเนินไปข้างต้น คงมีส่วนคล้ายกับชีวิตใครหลายคนในปัจจุบัน ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มคนที่มีอายุต่ำกว่า 30 ลงไป

หากลองสังเกตดู จะตระหนักได้ว่าคนกลุ่มนี้ มีแนวโน้มที่จะใช้ชีวิตไกลออกมา จากสื่อกระแสหลักไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ สถานีโทรทัศน์ และสถานีวิทยุ และเลือกบริโภคข้อมูลจากสื่อเหล่านี้น้อยลงทุกที โดยเลือกแสวงหาแหล่งข้อมูลเพื่อบริโภค จากแหล่งข้อมูลทางเลือกใหม่ๆบนอินเตอร์เนต อีกทั้งยังอิงความคิดของตน กับเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่ตนเลือกเข้าร่วมเองมากขึ้น มากกว่าจากสื่อกระแสหลักซึ่งถือเป็นการโดนยัดเยียดสถานการณ์ข้างต้น มีสาเหตุหลักจากการที่ข้อจำกัดในการติดต่อสื่อสาร และการเลือกแหล่งข้อมูลเพื่อบริโภค ได้ถูกทำลายลง ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของอินเตอร์เนต การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีเว็บยุค 2.0 และการเติบโตของเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ

การอยู่รอดในยุคหลังอุตสาหกรรม (2) : ทักษะการโต้คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร

ในบทความที่แล้ว ข้าพเจ้าได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับคุณลักษณะสำคัญของอุปกรณ์ ICT ที่ถูกนำมาใช้เป็นกระดานโต้คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร รวมถึงแนวความคิดในการเลือกกระดานโต้คลื่นฯ ที่เหมาะสมกับแต่ละปัจเจกบุคคล


ในบทความนี้เรามาพิจารณาว่า...มื่อเราได้กระดานโต้คลื่นฯที่เหมาะสมมาแล้ว เราจะใช้กระดานโต้คลื่นฯของเราอย่างไรให้คุ้มค่าต่อการลงทุน แล้วความรู้และความสามารถประเภทไหนและอะไรบ้างที่ถือได้ว่า เป็นทักษะที่จำเป็นในการโต้คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร


ในการวิเคราะห์นี้ “เวลา” และ “รายได้” สองสิ่งที่ทวีความสำคัญกับชีวิตมนุษย์มากขึ้นทุกที ยังคงเป็นสองตัวแปรหลัก ที่ข้าพเจ้าใช้ประกอบการพิจารณา เพื่อให้ได้มาซึ่งกรอบการวิเคราะห์ที่สมบูรณ์


ประเภทของความรู้และความสามารถ ซึ่งถือว่าเป็นทักษะสำคัญในการโต้คลื่นฯ คือความรู้และความสามารถซึ่งทำให้แต่ละปัจเจกบุคคล ใช้ประโยชน์จากปริมาณข้อมูลรอบตัวที่เพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้รับประโยชน์จากวิถีชีวิตใหม่ๆ อย่างเต็มที่ เนื่องจากทั้งสองปรากฎการณ์นี้ เป็นสองผลลัพธ์สำคัญ ซึ่ง ICT ได้ก่อให้เกิดขึ้นกับโลกของเรา

การอยู่รอดในยุคหลังอุตสาหกรรม (1): กระดานโต้คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร

 

หลังจากเขียนบทความ ในหัวข้อโลกยุคหลังอุตสาหกรรม กับสภาวะข้อมูลท่วมโลก เสร็จเมื่อสองอาทิตย์ก่อน ได้เกิดหนึ่งคำถามขึ้นกับข้าพเจ้า นั่นคือ หากมนุษย์ต้องดิ้นรน เพื่ออยู่รอดบนโลกใบนี้ ในยุคที่คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร โถมกระหน่ำใส่ประชาคมโลกอย่างรุนแรง และได้ทำให้กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และในทิศทางที่ยากจะคาดเดา มากขึ้นทุกที เราต้องทำอย่างไรบ้าง

ในทัศนะของข้าพเจ้า ผู้ที่สามารถโต้คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร พาตนเองขึ้นไปอยู่บนยอดคลื่น และเป็นผู้กำหนดทิศทางชีวิตของตนเอง คือ ผู้ที่สามารถอยู่รอด และนี่จึงเป็นที่มาของชื่อบทความในตอนนี้และตอนถัดไป

ข้าพเจ้าขอเริ่มต้นด้วย การกำหนดความหมายของคำว่า “การอยู่รอด” พร้อมกับการกำหนดตัวแปรสำคัญ ที่จำเป็นต่อการตีกรอบการวิเคราะห์ ในทัศนะของข้าพเจ้า ดังนี้

ICT เทคโนโลยีแห่งการเติมเต็ม ใช่ทดแทน

หัวข้อวิพากษ์วันนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ ในการประยุกต์ใช้ ICT ขององค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐหรือภาคเอกชน และไม่ว่าจะเป็นองค์กรแสวงหากำไรหรือไม่

โดยข้าพเจ้าเจาะจงไปที่ ทัศนะของผู้บริหารองค์กร ที่ต้องการนำ ICT เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ในลักษณะของการลดต้นทุนแรงงานคน กระชับขบวนการทำงาน และเพิ่มความถูกต้องแม่นยำ ให้กับขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ โดยเฉพาะกับทัศนะองค์กรที่ว่า “ประสิทธิภาพในการทำงานของ ICT สูงกว่ามนุษย์”หรือที่ว่า ICT สามารถทำงานทดแทนมนุษย์ได้”


สาเหตุสำคัญที่ทำให้ ความคิดในลักษณะดังกล่าวแพร่หลาย สืบเนื่องมาจาก ความสามารถในการคำณวน ความสามารถในการประมวลผลข้อมูลที่มีรูปแบบตายตัวและซ้ำซาก รวมทั้งอำนาจสนับสนุนที่ช่วยให้ การเข้าถึงและแบ่งปันข้อมูล และการติดต่อเชื่อมโยงระหว่าง มนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับข้อมูล และข้อมูลกับข้อมูล เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นจุดเด่นของ ICT และเป็นคุณสมบัติสำคัญ ที่ทำให้ใครหลายคนคิดว่า เทคโนโลยีนี้สามารถถูกพัฒนา ให้มีความสามารถมากขึ้นๆ จนสามารถเข้ามาทำหน้าที่ในหลายๆ ขั้นตอนของขบวนการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมาถูกดำเนินการโดยมนุษย์

โลกยุคหลังอุตสาหกรรม กับสภาวะข้อมูลทั่วโลก

โลกยุคหลังอุตสาหกรรม (Post industrial Age)” คือชื่อเรียกขานโลกในยุคปัจจุบัน เนื่องด้วยสภาพสังคมและเศรษฐกิจ มีความแตกต่างไปจากยุคก่อนหน้าหรือ ยุคอุตสาหกรรม (Industrial Age) ซึ่งเป็นยุคที่โลกของเราถูกผลักดัน ด้วยการแข่งขันของแต่ละปัจเจกบุคคลหรือองค์กร ผ่านการพัฒนาความสามารถและเทคโนโลยีทางการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบทางการแข่งขัน และเพื่อความมั่งคั่งในที่สุด

อย่างไรก็ดี โลกยุคหลังอุตสาหกรรม แต่ละปัจเจกบุคคลหรือองค์กร ยังคงดิ้นรนต่อสู่ เพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบทางการแข่งขัน และเพื่อความมั่งคั่งในบั้นปลายเช่นเดิม หากแต่ความสำเร็จดังกล่าว กลับถูกขับเคลื่อน ผ่านการสร้าง เข้าถึง และได้มาซึ่งข้อมูล สำหรับการสร้างองค์ความรู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งความเข้าใจในองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการแข่งขัน และนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนมากกว่าเดิม

นอกจากโลกในปัจจุบัน จะได้ชื่อว่าเป็นโลกยุคหลังอุตสาหกรรม มันยังถูกเรียกขานในอีกหลายชื่อตั้งแต่ “โลกยุคข้อมูลข่าวสาร (Information Age)” โลกยุคเศรษฐกิจองค์ความรู้ (Knowledge Economy)” และ “โลกยุคเศรษฐกิจบริการ (Service Based Economy)” ซึ่งชื่อทั้งหมดข้างต้น แตกต่างกันไปตามบริบท และมุมองของผู้รู้ในแต่ละด้าน

ICT ตัวการแห่งการเปลี่ยนแปลง และผลลัพท์ทางสังคมที่ย้อนแย้ง

เมื่อพูดถึงเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ บนโลกนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่าเทคโนโลยีคือตัวการอันดับต้นๆ โดยในช่วงหนึ่งศตวรรษหลังสุด ICT ถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนวิถีชีวิตมนุษย์ในทุกสังคม และในวงกว้าง

ไล่มาตั้งแต่การเกิดขึ้นของ ICT ยุคแรกๆ ซึ่งได้แก่โทรเลข ตามมาด้วยโทรศัพท์ มาจนถึง ICT ในยุคปัจจุบัน นั่นคือโทรศัพท์มือถือ และ อุปกรณ์ต่อเชื่อมอินเตอร์เนตต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือคอมพิวเตอร์พกพาขนาดต่างๆ

ความเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏการณ์ชัดเจน คือ การที่ ICT ทำให้สังคมมนุษย์ มีรูปแบบการติดต่อสื่อสาร และรูปแบบการเข้าถึง ประมวลผล และจัดการข้อมูล ที่มีความรวดเร็วขึ้น (การประหยัดเวลาในการติดต่อสื่อสาร และการจัดการข้อมูล) และด้วยต้นทุนที่ต่ำลง (ลดต้นทุนที่เกิดจากการเดินทางเพื่อการติดต่อ หรือการเข้าถึงข้อมูล) ซึ่งส่งผลให้การจัดการด้านต่างๆ มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น (สามารถดำเนินการต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และทันท่วงทีมากขึ้น)

จากปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดความเชื่อที่ว่า ICT ได้ย่นและย่อโลกใบนี้ลง ทำให้ระยะทางไม่เป็นอุปสรรค (Distanceless) อีกต่อไป นั่นคือ ไม่ว่าจะอยู่ไกลหรือใกล้ มนุษย์ก็สามารถติดต่อถึงกัน หรือสามารถเข้าถึงข้อมูล และบริการที่ต้องการได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที

อีกทั้ง ยังก่อให้เกิดอีกหนึ่งความเชื่อที่ว่า ICT ได้ทำให้มนุษย์มีความคล่องตัว หรือมีอิสรภาพที่จะเคลื่อนที่ (Mobility) มากขึ้น เนื่องจากมนุษย์ไม่จำเป็นต้องผูกติดกับสถานที่ หรือบริเวณใดบริเวณหนึ่ง เพื่อการได้มาซึ่งความสามารถในการดำเนินกิจกรรมที่ตนต้องการ เนื่องจากมีศักยภาพในการติดต่อสื่อสาร และในการเข้าถึง ประมวลผล และจัดการข้อมูลที่ต้องการได้อย่างสะดวกและรวดเร็วจากทุกหนแห่ง (ที่เครือข่ายสื่อสารไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ หรืออินเตอร์เนตเข้าถึงได้) เพิ่มขึ้น

ความเชื่อทั้งสองข้างต้น ถูกสะท้อนและตอกย้ำด้วยการเกิดขึ้นของระบบบริการแบบ e ต่างๆ เช่น e-Mail e-Commerce และ e-Government และระบบแบบ m ต่างๆ เช่น m-Pay และ m-Banking โดยวัตถุประสงค์ คือ การทำให้บริการ ซึ่งในอดีตผู้ที่ต้องการจะใช้บริการต้องเดินทางไปด้วยตนเอง ณ สถานที่ให้บริการเฉพาะ มาอยู่ในรูปแบบอิเลกทรอนิกส์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เนต และเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ตามลำดับ

อีกทั้ง ความเชื่อทั้งสองข้างต้น ยังถูกสะท้อนผ่านการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินการของสถาบันหรือองค์กรต่างๆ ทั้งในระดับภายในองค์กรและระหว่างองค์กร ดังจะเห็นได้จากการเกิดขึ้นและขยายตัวของระบบ Paperless office และรูปแบบการทำงานแบบ Mobile office เป็นต้น

โดยระบบ Paperless office จะเน้นไปที่การสร้าง ส่งผ่าน และจัดเก็บเอกสารในรูปแบบอิเลกทรอนิกส์ เพื่อให้เอกสารและข้อมูลต่างๆ สามารถถูกค้นหาได้ง่าย เข้าถึงได้ในวงกว้าง และสามารถถูกนำมาใช้งานในโอกาสต่างๆ ได้อย่างทันที และในรูปแบบที่หลากหลาย

ในขณะที่รูปแบบการทำงานแบบ Mobile office จะเน้นไปที่ความคล่องตัวในการทำงาน ซึ่งทำให้ในขณะที่พนักงานมีอิสระในการทำงานมากขึ้น (พนักงานสามารถทำงาน ได้จากหลายสถานที่ และมีช่วงเวลาทำงาน ที่ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยไม่ขาดการติดต่อสื่อสารกับองค์กร) องค์กรยังคงความสามารถ ในการพัฒนาประสิทธิภาพ ได้อย่างต่อเนื่อง (กิจกรรมทางธุรกิจดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว มากขึ้น)

ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นข้างต้น คล้ายกำลังชี้นำ ให้เราเข้าใจว่า ICT เป็นกลไกสำคัญ ที่ทำให้มนุษย์ใกล้ชิดกันมากขึ้น ทั้งจากการติดต่อสื่อสารระหว่างกันที่ทำได้ง่ายจากทุกหนทุกแห่ง และจากการแบ่งปันข้อมูลและทำงานร่วมกัน อีกทั้ง ICT ยังถูกมองว่า เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและอิสรภาพในการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งในระดับบุคคล และในระดับองค์กร ได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดี ในขณะที่ทุกสิ่งข้างต้นเกิดขึ้นและดำเนินไป สิ่งต่างๆ ซึ่งสะท้อนความเป็นจริงในอีกมุมหนึ่งก็กำลังเกิดขึ้นและดำเนินไปเช่นกัน นั่นคือ

เมื่อแต่ละปัจเจกบุคคล มีศักยภาพในการติดต่อสื่อสาร และมีความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการ ได้จากทุกหนทุกแห่ง รวมทั้งความคล่องตัว หรืออิสรภาพที่จะเคลื่อนที่เพิ่มมากขึ้น ย่อมทำให้แต่ละปัจเจกบุคคล หลุดจากข้อจำกัดของระยะทาง นั่นคือไม่ถูกผูกติดกับสถานที่

อีกทั้ง ด้วยความสามารถและการมีอิสรภาพที่มากขึ้นในการเลือกผู้ที่ตนต้องการจะติดต่อสื่อสาร ในการเลือกสังคมที่ต้องการจะมีปฏิสัมพันธ์ และในการเลือกบริโภคข่าวสารจากสังคมที่ตนต้องการ ผลที่ตามมา ทำให้แต่ละปัจเจกบุคคล ไม่จำเป็นต้องถูกผูกติดกับกรอบของสังคมที่ตนเป็นสมาชิกอยู่เดิม ทั้งในแง่ของกรอบความคิด ค่านิยม และวิถีการดำเนินชีวิต (เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า สังคมในแนวขนาน ซึ่งเคยกล่าวถึงในรายละเอียดในบทความแรก)

เมื่อแต่ละปัจเจกบุคคลไม่ถูกผูกติดกับสถานที่ ย่อมทำให้เกิดความห่างไกลทางกายภาพระหว่างสมาชิกของสังคม ตั้งแต่ในระดับครอบครัว
(สมาชิกในครอบครัว) ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ (ประเทศชาติ) ผลที่ตามมา ทำให้สังคมขาดการมีประสบการณ์ร่วมกัน ซึ่งทำให้ปริมาณ การปฏิสัมพันธ์ ระหว่างสมาชิกในสังคมลดลง นอกจากนั้นยังทำให้การรับรู้ทางกายสัมผัส เช่น การจับมือ การโอบกอด หรือการส่งผ่านความรู้สึก จากการปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพอื่นๆ ระหว่างสมาชิกในสังคมลดน้อยลง ซึ่งในปัจจุบัน เทคโนโลยียังไม่สามารถเข้ามาทดแทนความอบอุ่น หรือรายละเอียดตรงนี้ได้

นั่นหมายถึง ในขณะที่ ICT ย่นและย่อโลกใบนี้ลง และทำให้ระยะทางไม่มีความหมายนั้น ICT กลับเพิ่มระยะทาง ระหว่างสมาชิกภายในสัมคมต่างๆ ทั้งในรูปแบบของความห่างไกลกันทางกายภาพ ซึ่งเป็นผลจากการมีอิสรภาพในการเคลื่อนที่มากขึ้น และในรูปแบบของความแตกต่างกันทางความคิด ค่านิยม และวิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของความสามารถ และอิสรภาพในการเข้าถึงและเลือกรับข่าวสาร

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จึงเกิดข้อสงสัยที่น่าสนใจที่ว่า สรุปแล้ว ICT ช่วยให้ครอบครัวซึ่งเป็นหน่อยย่อยที่สุดทางสังคม มีความอบอุ่นขึ้น หรือผลักดันให้เกิดความแตกแยก กับอีกข้อสงสัยที่ว่า ตกลงแล้ว ICT ช่วยลดหรือเพิ่มแรงเสียดทานในการดำรงอยู่และการพัฒนาขององค์กรทางสังคมต่างๆ

จากปรากฏการณ์และข้อสงสัยข้างต้น จึงนำไปสู่คำถามที่ว่า ความเชื่อที่ว่า ICT ทำให้มนุษย์เราใกล้ชิดกันมากขึ้น หรือความเชื่อที่ว่า ICT ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและอิสรภาพในการทำกิจกรรมต่างๆ ยังคงเป็นจริงอยู่รึเปล่า ปรากฏการณ์ ข้อสงสัย และคำถามทั้งหมด ที่ข้าพเจ้าตระหนัก และพยายามฉายให้เห็นข้างต้น ทำให้ข้าพเจ้าเชื่อว่า ICT เป็นตัวการที่ผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ทางสังคม ที่มี “ความย้อนแย้ง” ในตัวของมันเอง

โดยนอกจากประเด็นความย้อนแย้งข้างต้นแล้ว ICT ยังเป็นตัวการผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ทางสังคมที่มีความย้อนแย้งในอีกหลายมุมมอง ดังนี้

ในมุมของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แน่นอนว่า ICT ทำให้มนุษย์มีความจำเป็นในการเดินทางน้อยลง เนื่องจากสามารถใช้เทคโนโลยีทดแทนได้ แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยความคล่องตัว และอิสรภาพในการเคลื่อนที่ ที่ได้รับมาจาก ICT ทำให้มนุษย์กลับมีความปรารถนา และความสามารถที่จะเดินทางอย่างอิสระมากขึ้น

เมื่อมองจากมุมของ ศักยภาพทางเทคโนโลยี ICT ได้เปิดโอกาสให้มนุษย์ มีรูปแบบชีวิตที่มีอิสระมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน เพราะความเจริญทางเทคโนโลยีที่ทำให้มนุษย์เสียความเป็นส่วนตัวจากความสามารถที่จะถูกตรวจสอบ และถูกติดตามได้ตลอดเวลา

หากมองในมุมของความหลากหลาย ดูเหมือนว่า ICT ได้ทำลายเส้นกั้นเขตแดนทางกายภาพต่างๆ ทำให้เกิดการหลั่งไหลของข้อมูล วัฒนธรรม แนวความคิดข้ามพรมแดน ซึ่งในท้ายที่สุด ICT น่าจะเป็นตัวการสำคัญในการบ่มเพาะความหลากหลายในหลายๆ ด้านของสังคมหนึ่งๆ แต่เมื่อมองในระดับสังคมขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งได้แก่สังคมโลก จะเห็นว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรม และแนวความคิดต่างๆ ของสังคมขนาดย่อยทั่วโลกถูกทำลายลง พร้อมกับการเกิดขึ้นของกระบวนการโลกาภิวัฒน์ หรือการมุ่งสู่การมีมาตรฐานและวัฒนธรรมเดียว

ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะเป็นจุดเริ่ม ที่ทำให้ทุกท่านได้ตระหนักและระมัดระวังว่า ในขณะที่ท่านใช้ ICT เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ผลลัพท์ที่ย้อนแย้ง อาจจะกำลังเกิดและดำเนินไปพร้อมๆ กัน

จงอย่าลืมว่า “ในขณะที่ ICT เป็นตัวการสำคัญ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย แต่ก็กลับทำให้เกิดผลลัพธ์ทางสังคมที่ย้อนแย้งอย่างน่าฉงน”

เว็บยุค 2.0 สื่อพลเมือง และการท้าทายกระแสหลัก

หน้าเว็บไซท์ที่ได้รับความนิยมสูง ในช่วงระยะห้าปีที่ผ่านมา หากไม่นับรวมเว็บไซท์ขายของออนไลน์ ส่วนมากยังคงมีลักษณะคล้ายคลึงกับยุคก่อนหน้านี้ นั่นคือ เป็นเว็บไซท์ที่พยายามสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผ่านการเปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้ เข้ามาสร้างหัวข้อและบทสนทนาร่วมกัน สร้างกิจกรรมระหว่างกลุ่มผู้ใช้ และเป็นช่องทางให้ผู้ใช้ทำความรู้จักกัน

วัตถุประสงค์ของเว็บไซท์ดังกล่าว คือเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้ ที่มีความสนใจหรือความต้องการคล้ายๆกัน ซึ่งทำให้ในขณะที่ ผู้ใช้ได้รับประโยชน์ ในรูปแบบของการเข้าถึงข้อมูล ความรู้ และการมีคนรู้จักเพิ่มมากขึ้น ผู้จัดทำเว็บไซท์ก็ได้ประโยชน์ ผ่านการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางอ้อม จากเครือข่ายสังคม ซึ่งก็คือตลาดในอีกลักษณะหนึ่ง ที่ตัวเองได้เริ่มสร้างขึ้น

แต่ส่วนที่แตกต่างออกไป จากเว็บไซท์ประเภทเดียวกันในยุคก่อน คือมีการนำรูปแบบของวีดีโอหรือสื่อผสมที่หลากหลาย มากกว่าการใช้เพียงแค่ตัวหนังสือประกอบกับรูปภาพนิ่ง หรือภาพเคลื่อนไหวง่ายๆ เพื่อสื่อสารระหว่างผู้จัดทำเว็บกับผู้ใช้งาน หรือระหว่างผู้ใช้งานด้วยกัน อีกทั้งยังมีระบบที่สามารถช่วยสร้าง เชื่อมโยง และขยายความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มผู้ใช้ และเปิดโอกาสให้ กลุ่มผู้ใช้ร่วมกันผลิตเนื้อหาภายในเว็บไซท์ มากกว่าการใช้เนื้อหา ซึ่งผลิตโดยผู้จัดทำเว็บเป็นหลัก เพื่อดึงดูดผู้ใช้

Pages

Subscribe to ไอซีที