Skip to main content
Cinemania
   ปิติ-ชูใจท่ามกลาง ‘หนังซัมเมอร์' ที่ดาหน้ากันมาถมจนเต็มพื้นที่ในโรงภาพยนตร์ช่วงฤดูร้อน ทางเลือกของคนดูหนังใน ‘โรงหนังชั้นนำใกล้บ้านคุณ' ก็ยังไม่ได้หลากหลายอะไรนัก เพราะแนวทางหลักๆ ของหนังซัมเมอร์ที่เห็นอยู่ตอนนี้ก็มีแค่ แอ๊กชั่น, ตลก, สยองขวัญ และอนิเมชั่น กรณีที่อยากดูหนังนอกกระแส ก็ต้อง ‘เข้าเมือง' กันอย่างเดียว เพราะที่ทางของหนังเหล่านี้ยังกระจุกตัวอยู่ที่สยามหรือไม่ก็สุขุมวิทแค่นั้น (ซึ่งมันก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ในยุคที่หนังถูกจำกัดความหมายให้เป็นแค่เครื่องมือผ่อนคลายและสร้างความบันเทิง) แต่อย่างน้อยที่สุด หน้าร้อนปีนี้ยังมีหนังไทยน่าสนใจอยู่ 2 เรื่อง ที่พอจะแหวกกระแสเดิมๆ ออกไปได้บ้าง เรื่องแรกคือ ‘อรหันต์ซัมเมอร์' ที่ชูประเด็น ‘การบวชสามเณรภาคฤดูร้อน' มาเป็นจุดขาย กับอีกเรื่องคือ ‘ดรีมทีม' ของผู้กำกับจอมเสียดสี (เรียว กิติกร) ที่ปีนี้มาพร้อมกับการขายความน่ารักของเด็กๆ อนุบาล วัยกำลังซน ทั้งสองเรื่องมีความพ้องต้องกันประการหนึ่ง คือ เป็นหนังที่ผู้ปกครองสามารถพาเด็กๆ ไปดูได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีคำหยาบคายประเภท ‘เหี้ย-ห่า และสารพัดสัตว์' หลุดออกมาให้เด็กๆ ได้ยิน...(ซึ่งประเด็นนี้กลายเป็นจุดขายที่แข็งแรงของหนังไปได้ยังไง--ก็ยังงงๆ อยู่เหมือนกัน)ทั้งสองเรื่องเป็นหนังที่ดูเพื่อเน้นขำ เน้นฮา อย่างเดียวก็ได้ หรือจะดูเพื่อให้เห็นภาพสะท้อนความเป็นไปของสังคมไทยก็ยังได้ เพราะเรื่องใหญ่ใจความของทั้งอรหันต์ฯ และดรีมทีม คือการมองจากมุมของเด็กๆ ที่ถูกวางภาระแห่งการเป็น ‘อนาคตของชาติ' ไว้บนบ่าใน ‘อรหันต์ซัมเมอร์' เรื่องราวเริ่มต้นที่บรรดาพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ส่งตัวลูกหลานไปบวชเณรด้วยเหตุผลต่างๆ กันไป บางรายต้องการดัดนิสัยและสร้างวิันัยให้ลูก ส่วนบางรายหวังจะเกาะชายผ้าเหลืองลูกขึ้นสวรรค์ ในขณะที่ผู้ปกครองอีกบางคนจำต้องส่งลูกหลานไปสู่สถาบันศาสนาด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่โดยรวมแล้วก็คือ ผู้ปกครองส่วนใหญ่หวังว่า ‘ศาสนา' จะช่วยกล่อมเกลาและสั่งสอนให้ลูกหลานของตัวเองเป็น ‘คนดี' ต่อไปในอนาคต ส่วนเรื่อง ‘ดรีมทีม' ที่ผู้กำกับบอกว่า ‘ไม่มีนัยยะทางการเมืองแอบแฝง' ก็พุ่งประเด็นไปที่การแข่งขันชักเย่อของเด็กอนุบาลที่มุ่งสู่สนามระดับชาติ โดยมีผู้ปกครองหลากหลายประเภทคอยสนับสนุน ชี้นำ หรือไม่ก็คอยสร้างความวุ่นวายปั่นป่วนไม่แพ้เด็กๆ ที่ยังไม่รู้เดียงสาในเรื่องเรื่องราวของสามเณรแสนซนอย่าง ข้าวปั้น, นะโม, น้ำซุป, บู๊ ฯลฯ และเรื่องราวของน้องหัวแก้ว, เป๊ะ, เซน 1, เซน 2, อะตอม, ภูมิ ฯลฯ จึงเป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่พวกเขาเหล่านั้นได้เผชิญร่วมกันในฤดูร้อนหนึ่งซึ่งจะส่งผลกับทิศทางชีวิตของพวกเขาในทางใดทางหนึ่งในอนาคต และประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือว่า พวกเขาจะรับมืออย่างไรกับความคาดหวังของผู้คนรอบข้างการเรียนรู้ร่วมกันของเหล่าสามเณรใน ‘อรหันต์ซัมเมอร์' ทำให้พวกเขามีศัตรูร่วมกัน (ในตอนแรก) คือความเข้มงวดกวดขันของหลวงพี่และหลวงพ่อในเรื่อง การรวมตัวกันโดยอัตโนมัติของเหล่าสามเณรภาคฤดูร้อนจึงเกิดขึ้น เพื่อแข็งขืนต่อข้อปฏิบัติอันเคร่งครัดและเพื่อทำตามที่ธรรมชาติเรียกร้อง เช่น ร้องเพลงเมื่ออยากร้อง หรือต้มมาม่ากินเมื่อหิว แน่นอนว่า การกระทำเหล่านี้ไม่ใช่การกระทำในฐานะสามเณร แต่เป็นการกระทำตามประสาเด็กทั่วไป แต่เมื่อพวกเขาอยู่ในสถานะซึ่งต้องดำรงไว้ซึ่ง ‘คุณงามความดีในฐานะผู้สืบทอดศาสนา' (และอนาคตของชาติ) การฝืนธรรมชาติของเด็กทำให้เกิดการเรียนรู้ว่า พวกเขาควรจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรต่อกฎอันเคร่งครัดและความคาดหวังของพ่อแม่พี่น้องลุงป้าน้าอาที่คิดกันง่ายๆ ว่า ‘ผ้าเหลือง' จะเป็นเครื่องมือบ่มนิสัยอันดีงามของเด็กได้ ทั้งที่ในความเป็นจริง ใต้ร่มเงาของศาสนา ก็ยังมีปัญหาที่แก้ไม่ตกอยู่หลายเรื่อง เห็นได้จาก ‘พุทธศาสนิกชน' ในเรื่องอรหันต์ซัมเมอร์ ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในทางวัยวุฒิกันแล้ว แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับพระธรรมคำสอนยังไม่ไปถึงไหน และคนส่วนใหญ่ยังติดอยู่แค่เปลือกของพิธีกรรมเท่านั้นฉากที่สามเณรเจ้าปัญญาพยายามรักษาอาการคลุ้มคลั่งของ ‘ผี' ในจิตใจผู้ใหญ่ ด้วยการมุ่งชี้ไปที่ต้นเหตุของปัญหา ซึ่งผู้กำลังมีทุกข์เท่านั้นจะรู้ว่า ต้นตอแห่งความทุกข์ของตัวเองคืออะไร แต่ ‘หลวงพี่ใบบุญ' (ตูน เอเอฟ 3) ผู้อบรมสั่งสอนสามเณร กลับต้องไปเตรียมน้ำมนต์เพื่อมา ‘ปราบผี' อย่างไม่เต็มใจนัก หลังจากถูกบรรดาญาติโยมกดดันอยู่พักใหญ่ ถ้าดูแบบไม่คิดอะไร...มันก็คงไม่มีอะไร แต่เมื่อคิดไปแล้ว ก็จะเห็นได้เองว่า ในขณะที่บรรดาพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่พร่ำภาวนาถึงความดีงามของศาสนา และทะนงตนว่าตัวเองเป็นชาวพุทธที่ดี แต่เมื่อต้องเผชิญหน้ากับ ‘ปัญหา' พวกเขากลับคิดถึงแต่วิธีที่เป็นไสยศาสตร์มากกว่าจะคำนึงถึงหลักธรรมคำสอนซึ่งเป็น ‘แก่นแท้' ของศาสนา และหวาดกลัวเสียจนหลงลืมไปว่าความรัก โลภ โกรธ หลง เกลียดแค้น ชิงชัง เป็นอารมณ์ปกติของมนุษย์ ซึ่งแน่เสียยิ่งกว่าแน่ว่า ‘มันซุกซ่อนอยู่ในตัวเราทุกคน'แทนที่จะมุ่งสู่การดับทุกข์และพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้น พุทธศาสนิกชนจำนวนมากนี่แหละ ที่มุ่งหน้าเข้าสู่ตรรกะที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับเรื่องของการบำบัดทุกข์ในใจตน กลับมองว่าบุคคลอื่นๆ ต่างหากที่เป็นสาเหตุแห่งทุกข์และพยายาม ‘กำจัด' ทิ้ง มันถึงได้เกิดเป็นปัญหาตามมาเรื่อยๆ ไม่รู้จบ‘ความงดงาม' ของศาสนาที่ถูกถ่ายทอดออกมาให้เห็นในอรหันต์ซัมเมอร์จึงไม่ได้อยู่ที่ ‘ความดีงาม' แต่ไปตกอยู่ที่การ ‘ตระหนักรู้' ถึงธรรมชาติของสรรพสิ่งว่ามีความงดงามเฉพาะตัวของมันอย่างไรมากกว่าชั้นเชิงในการนำเสนอภาพของศาสนาของหนังเรื่องนี้จึงไม่ได้แบนราบ และพร่ำสอนถึงการทำความดีเพียงอย่างเดียว แต่มีทั้งการเรียนรู้จากความจำยอม, ความผิดพลาด, ความโง่เขลา หรือความถือดี สามเณรที่ดูเหมือนจะมีอนาคตไกล หากไม่ได้เรียนรู้หรือทำความเข้าใจในภาวะต่อมาของชีวิต ก็มีสิทธิ์หลงผิดได้พอๆ กับเด็กทั่วไปที่ไม่เคยเฉียดใกล้ชายผ้าเหลือง หรือผู้ยากไร้ที่ต้องเลือกอะไรบางอย่างด้วยภาวะแห่งความจำยอม อาจแปรเปลี่ยนให้มันเป็นโอกาสทองของชีวิตก็ย่อมได้มันจึงไม่เกี่ยวกับว่า เรามี ‘โอกาส' ในการเลือกหรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสร้างโอกาสอย่างไรจากสิ่งที่ได้เลือก (หรือ ‘ต้อง' เลือก) ไปแล้วส่วนความตั้งใจของกลุ่มเด็กอนุบาลใน ‘ดรีมทีม' แรกเริ่มมีแค่ว่า พวกเขาอยากเล่นเกมชักเย่อ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการออกเสียงว่า ‘ชัก-เย่อ' หรือ ‘ชัก-กะ-เย่อ' มันก็คือเกมที่ผู้แข่งขันทั้งสองฝ่ายยืนอยู่คนละด้านของปลายเชือก และใครที่มีแรงสาวได้มากกว่า ฝ่ายนั้นก็คือ ‘ผู้ชนะ'เกมชักเย่อกลายเป็นเรื่องใหญ่โตเมื่อคำว่า ‘ชัยชนะ' เข้ามาเกี่ยวพัน จากความสนุกสนานธรรมดาๆ กลายเป็นภารกิจยิ่งใหญ่ที่ต้องอาศัยโค้ช (ฟุตบอล) ทีมชาติมาเป็นตัวช่วย และความคาดหวังว่า ‘เด็กๆ ต้องชนะ' ก็เป็นภาระที่ต้องแบกรับเพิ่มมาอีกหนึ่งเรื่องแม้ผู้กำกับกิตติกรจะบอกว่าหนังดรีมทีมไม่มีประเด็นแอบแฝง แต่มันก็ยังตีความได้อยู่ดีว่า ในสังคมไทยนี้ไซร้...มีผู้ใหญ่มากมายคอยอยู่เบื้องหลังเด็กๆ เต็มไปหมดผู้ใหญ่บางคนอาจจะทำตัวน่ารักน่าเอ็นดูด้วยการวิ่งเข้าหาผู้ใหญ่อีกคน เพื่อให้สมผลประโยชน์ของตัวเองและเด็กในความดูแล เช่น ‘แม่ของน้องเซน 1' (เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์) ซึ่งพยายามล็อบบี้โค้ชทีมชักเย่อในทุกครั้งที่มีโอกาส เพื่อให้ลูกชายของตัวเองได้อยู่ในตำแหน่งหัวหน้าทีม หรือไม่อย่างนั้นก็จะมีคนอย่าง ‘พ่อของน้องเซน 2' (คมสัน นันทจิต) ซึ่งพยายามปลูกฝังเข้าสู่หัวลูกอยู่ทุกบ่อยว่า ‘ที่หนึ่งคือผู้ชนะ' และ ‘ต้องชนะเท่านั้นถึงจะดี'จะว่าไปแล้ว การกระทำของผู้ใหญ่ในหนังดรีมทีม ไม่ได้น่าเกลียดโฉ่งฉ่างอะไร และค่อนไปในทางฉันทาคติที่เกิดจากความ ‘ลำเอียงเพราะรัก' โดยแท้ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของคนทั่วไป แต่ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง ก็คงจะซึ้งว่า ด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ น่ารักน่าเอ็นดูแบบนี้แหละ ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นเงาตามตัว ตามวันและวัยของผู้ที่เติบใหญ่ในสังคมแห่งการแข่งขันวัฒนธรรม ตัวกู-ของกู-พวกพ้องกู ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ชั่วเวลาข้ามวัน แต่มันต้องสั่งสมกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งบางทีมันอาจจะเริ่มต้นด้วยเรื่องขี้ปะติ๋วแบบนี้แหละ และเราก็มักจะมองข้าม หลงลืม หรือเพกเฉยกับความอคติของตัวเอง (แล้วไปเข้มงวดกวดขันกับการสร้างมาตรฐานให้คนอื่นปฏิบัติตามแทน)ในโลกที่ไม่ต้องการความพ่ายแพ้ ที่อยู่ที่ยืนของคนแพ้จึงมีน้อย แม้แต่ในหนังดรีมทีมเอง ก็มีที่ทางให้กับการพ่ายแพ้เพียงเล็กน้อย ทั้งที่ผู้กำกับพยายามเสนอว่า ‘ที่หนึ่งไม่ใช่ทุกอย่าง' แต่ก็ยังไม่ชัดเจนฟันธงพอที่จะทำให้เห็นว่า ‘การเป็นที่สอง' หรือ ‘การเป็นผู้แพ้' มีรสชาติอย่างไร ซึ่งอันที่จริง (ความคิดเห็นส่วนตัว) มันน่าสนใจกว่าเป็นผู้ชนะเสียอีกถึงกระนั้นก็เถอะ...รอยยิ้มของเด็กๆ ในเรื่องดรีมทีมก็เป็นสิ่งที่คนดูปรารถนาจะได้เห็นมากกว่ารอยน้ำตา และเตือนให้คนดูอย่างเราได้รู้ว่า ที่แท้แล้วเราก็เสพติดในชัยชนะไม่แพ้คนอื่นๆ ในสังคมหรอก...(-__-")