บล็อกของ animewatch

รีวิวเซนต์เซย่าเทพบุตรดาวหาง ภาคสอง ใครเก่งไม่เก่ง?

White Day วันที่สาวๆ รอคอยของขวัญจาก (หัวใจ) หนุ่มๆ

เพลงคันทรี่โร้ด จากเรื่อง Whisper of the Heart กำลังจะกลายเป็นจิงเกิ้ลรถไฟเมืองทามะ

มารู้จักเจ้าลูกเจี๊ยบ SimSimi กับระบบปัญญาประดิษฐ์รุ่นพี่

อะไรคือ Rage Comics? มารู้จักพวกหน้าเป็นเหล่านี้กันดีกว่า

 

โดย ..  "'มาโฮะ" เว็บบล็อกนิตยสารสาระบันเทิงออนไลน์

 

มาโฮะจังตอนนี้มาพร้อมกับความสงสัยใคร่รู้อีกแล้วล่ะค่ะ 

SAIKANO ถ้าวันหนึ่งคนรักกลายเป็นอาวุธ ... ?

เนตรชนก แดงชาติ

อนิเมะที่พูดถึงสงครามไม่ว่าจะเป็นมุมมองของผู้ก่อสงครามหรือมุมมองของผู้ได้รับผลกระทบ ไปจนถึงการก่อสงครามระหว่างประเทศหรือก่อสงครามระดับอวกาศ เป็นวัตถุดิบที่ได้รับความนิยมมาเป็นเวลาช้านาน ไม่ว่าจะเป็น กันดั้ม (ภาคต่าง ๆ)
, สุสานหิ่งห้อยAxis Power Hetalia, หรือแม้กระทั่ง “ก้านกล้วย” การ์ตูนไทยที่มีเป้าหมายอยู่ที่เด็กและเยาวชน แต่ในภาค 2 ก็ยังมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับสงคราม  

สำหรับส่องโลกอนิเมะสัปดาห์นี้ผู้เขียนขอชวนคุยเกี่ยวกับมังงะและอนิเมชัน (ที่เสี่ยงต่อการแบนของกระทรวงวัฒนธรรมบ้านเรา) เรื่อง 'อาวุธสุดท้ายคือเธอ ไซคาโนะ' หรือ

'ไซชูเฮกิคาโนะโจ' (最終兵器彼女) โดย ชิน ทาคาฮาชิ เรื่องนี้ถูกจัดเป็นการ์ตูนแนวเซเน็น (สำหรับผู้อ่านหรือผู้ชมอายุระหว่าง 18 – 25 ปี) เพราะมีทั้งอาวุธสงคราม การต่อสู้แบบ “ระเบิดภูเขา เผากระท่อม”   ความรักกุ๊กกิ๊กไปจนถึงขั้น “ติดเรท” ระหว่างหนุ่มแว่นผู้เย็นชากับสาวน้อยจอมซุ่มซ่าม และการตั้งคำถามต่อความเป็นมนุษย์



ไซคาโนะ เปิดเรื่องที่เมืองเล็ก ๆ บนเกาะฮ็อกไกโดอันเงียบสงบ มีการสารภาพรักของ “จิเสะ” ต่อ “ชูจิ” เพื่อนร่วมห้อง แล้วจึงมีการแลกกันอ่านไดอารี จูบแรกที่เคอะเขิน แต่เหตุการณ์ก็เปลี่ยนไปเมื่อมีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายเข้าจู่โจมญี่ปุ่น แล้ว “จิเสะ” แฟนสาวที่ชูจิเริ่มผูกพันธ์กลับกลายเป็นอาวุธที่พัฒนาได้ของกองทัพ ญี่ปุ่น สร้างความสับสน ความกลัว และการกระตุ้นให้ผู้ชมตั้งคำถามต่อจิเสะ ว่าเธอยังเป็นมนุษย์อยู่หรือไม่

ผู้ที่เคยอ่านหรือชมเรื่องไซคาโนะแล้วมีกระแสตอบรับทั้งชอบและไม่ชอบอยู่พอ ๆ กัน จุดที่ทำให้
ไซคาโนะ
มีความต่างจากการ์ตูนสงครามเรื่องอื่นอยู่ตรงที่การมองสงครามในมุมของผู้ที่ได้รับผลกระทบ
ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของการก่อความรุนแรง เช่น จิเสะ เด็กนักเรียน ม.ปลายธรรมดาที่อยู่ดี ๆ ทางกองทัพญี่ปุ่นก็พาเธอไปดัดแปลงร่างกายให้เป็นอาวุธขึ้นมา ไปจนถึง "อัทสึชิ" เพื่อนของชูจิ ทหารแนวหน้าตัวเล็กตัวน้อยที่สงครามทำให้เขาลุกขึ้นมาสมัครเป็นทหารเพราะ อยากปกป้องแฟนสาวของตัวเอง ไปจนถึงการนำเสนอความหงอยเหงาเปล่าเปลี่ยวของผู้ ที่ต้องพรากจากบุคคลผู้เป็นที่รัก ด้านมืดในจิตใจของแนวหลังที่แทบจะสิ้นหวังกับการรอคอย และความรู้สึกไร้คุณ ค่าที่ไม่สามารถปกป้องสิ่งที่พวกเขารักได้ ซึ่งจะเห็นได้จากข้อความที่ทั้ง สองเขียนไว้ในไดอารี
“... พวกเราไม่อยากจะคิดถึงมันอีกแล้ว ถึงจะยกเรื่องนั้นมาคุยกัน แม้จะคิดถึงเรื่องใครสักคนก็ตามแต่ ก็ไม่ได้ช่วยให้อะไร ๆ เปลี่ยนแปลงได้อีกแล้ว ...” – ชูจิ
“... หมู่นี้ชูจังใจดีจังเลยนะ แต่ว่าเห็นชูจังยิ้มแบบนั้น ฉันกลับยิ่งเป็นห่วง ยิ่งชูจังฝืนยิ้มให้ฉันเท่าไร ตัวฉันยิ่งรู้สึกอยากจะหายไปมากขึ้นเท่านั้น ทำไมร่างกายฉันถึงเป็นแบบนี้ด้วยนะ ตัวฉันทำอะไรผิดลงไปหรือเปล่า นี่เป็นการลงโทษฉันอย่างนั้นเหรอ เรื่องอาวุธสุดท้ายนี่เป็นความลับสำหรับทุกคน ฉันอึดอัดมากที่ไม่สามารถปรึกษาใครได้ ...” – จิเสะ

สำหรับการก่อสงครามในเรื่องไม่ได้บอกว่าใครเป็นผู้เริ่ม ใครเป็นผู้บงการ หรือใครเป็นฝ่ายผิดถูก เสมือนจะบอกกับผู้ชมว่า “ถึงรู้ไปก็ช่วยให้อะไรดีขึ้นไม่ได้”  ส่วนจิเสะแม้ว่าจะไม่ได้เต็มใจที่จะเป็นอาวุธในตอนแรกแต่พออยู่ในสนามรบนานวันเข้าก็เริ่มเข้าใจตรรกะของสงครามได้ว่า “ถ้าเราไม่ฆ่าเขา เขาก็จะฆ่าเรา”  ขอเพียงหันอาวุธไปที่เธอเท่านั้น เธอก็สามารถจัดการศัตรูข้างหน้าได้อย่างราบคาบ แต่หลังจากที่ภารกิจเสร็จสิ้นในการจู่โจมหรือป้องกันแต่ละครั้งเธอก็จะเจ็บปวดกับความเป็นมนุษย์ที่ถูกตรรกะของสงครามกลืนกินหัวใจไปจนหมดสิ้นในชั่วขณะนั้น และขอโทษกับสิ่งที่ทำลงไปด้วยน้ำตาในทุกครั้ง ที่ซ้ำร้ายก็คือ ร่างกายของเธอนับวันก็ลดความรู้สึกทางผัสสะแบบมนุษย์ลงทุกวันแต่กลับสามารถ ปล่อยอาวุธจู่โจมโดยอัตโนมัติมากขึ้นทุกครั้งที่เธอกลับจากสมรภูมิ
จิเสะทำให้ผู้เขียนนึกถึงเด็ก ๆ ในประเทศต่าง ๆ ที่ยังไม่สงบจากการสู้รบ หากท่านผู้อ่านเคยชมภาพยนตร์เรื่อง Blood Diamond จะเห็นภาพของเด็กชาวเซียร์รา ลีโอน (Sierra Leone) ในแอฟริกา ถูกนำไปฝึกเป็นทหาร หรือกรณีสองฝาแฝดลิ้นดำ “จอห์นนี” และ “อาร์เธอร์” ทหารเด็กแห่งกองกำลัง God’s Army คงไม่ต่างจากจิเสะและตัวละครที่เป็นเด็กภายในเรื่องไซคาโนะ  

ผู้เขียนเชื่อว่าต่อไปข้างหน้าอีกสิบหรือหรืออีกร้อยปี โลกใบนี้ของเราก็ยังคงก่อสงครามกันอยู่ดั่งบรรพบุรุษของเรานับหมื่นกว่าปีที่ผ่านมา ตราบใดที่ “ความแตกต่าง” กลายเป็น “ความเป็นอื่น” ที่สามารถลดทอนความเป็นมนุษย์ได้ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงเชิงกายภาพหรือความรุนแรงในโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะฝ่ายกดขี่หรือเป็นผู้ถูกกดขี่จะเป็นฝ่ายเริ่มใช้ความรุนแรง ผลที่เกิดก็คงหลีกหนีไม่ผลความสูญเสีย ดังที่เราเห็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในโปแลนด์ กัมพูชา และอินโดนิเซีย

สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งของเรื่องนี้คือการเลือกเอาลักษณะของ “ผู้หญิง” ที่ผู้ชายอยากปกป้องแบบจิเสะมาเป็นตัวละครที่ต้องประหัตประหารผู้คน

ทั้งยังเป็นผู้บังคับบัญชาผู้ชายหรือเหล่าทหารขณะเดียวกันก็ยังเป็นตัวละครที่ เหล่าผู้บัญชาการชั้นสูงและนักวิทยาศาสตร์ออกคำสั่งและมีสิทธิเหนือร่างกายของเธอ ผู้เขียนคิดว่าแม้ในสงครามที่คนอื่นอาจจะมองว่าเป็นเรื่องของผู้ชายเพียงผ่ายเดียว แต่เรื่องนี้ทำให้บทบาทของผู้หญิงในสงครามเด่นชัดขึ้น ฉายภาพของผู้หญิงที่ยังคงอยู่ภายใต้การบงการของผู้ชาย ตลอดจนอยู่ภายใต้อำนาจของ “ความรู้” ทางวิทยาศาสตร์ที่ผู้ชายนำมาใช้กับเธอ คล้ายกับในสมัยสงครามเวียดนามที่กองทัพสหรัฐอเมริกาต้องการทั้งผู้ชายที่จะไปเป็นทหารและแรงงานของผู้หญิงที่จะผลิตปัจจัยต่าง ๆ เพื่อไปสนับสนุนการก่อสงคราม

แม้ไซคาโนะอาจไม่ใช่อนิเมชันที่สั่นสะเทือนสังคมได้อย่างเรื่อง สุสานหิ่งห้อย ของสตูดิโอ จิบลิ หรือสะท้อนความปวดร้าวเหมือน Voice of a distance star แต่คงเป็นการ์ตูนอีกเรื่องที่สะท้อนมุมมองของสงครามในอีกมุมหนึ่ง ที่เพียงหวังว่าเราจะเข้าใจคนที่แตกต่างจากเรา หากสักวันหนึ่งเขากลายเป็นฝ่ายตรงข้ามกับชาติที่รักสงบแต่ถึงรบไม่ 'ขาด' กับประเทศเพื่อนบ้านเพียงแค่ที่ดินแปลงเล็ก ๆ บนภูเขาที่ประวัติศาสตร์ไม่ประกาศว่าเป็นของประเทศใดกันแน่ (เพราะตอนนั้นยังเป็นอาณาจักรมิใช่รัฐชาติ) หรือเพียงชาติพันธุ์ที่ต่าง เพศที่ต่าง ไปจนถึง มุมมองทางการเมืองที่ต่าง หากนำความต่างเหล่านั้นออกไป เราก็ต่างเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน

หวังว่าหัวใจของเราในตอนนั้นจะไม่กลายเป็นอาวุธเหมือนที่จิเสะเคยเป็นอยู่นะขอรับ

 
 

อิคคิวซัง วรรณกรรมกับการตอบโต้อำนาจ

 

เนตรชนก แดงชาติ

ใน ช่วง 40 กว่าปีที่ผ่านมานี้การไหล่บ่าของกระแส J-POP ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อวัฒนกรรมการเสพสื่อของบ้านเรา และแน่นอนว่าย่อมหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึง “การ์ตูนญี่ปุ่น” ที่ซึมลึกอยู่ในวงการสื่อบ้านเรารวมถึงเด็ก ๆ (ตลอดถึงคนที่เคยเป็นเด็ก) ไปไม่ได้

หลายท่านคงจำ ทั้งโดราเอมอน ดราก้อนบอล เซเลอร์มูน กันได้ และที่จะมาชวนท่านผู้อ่านคุยวันนี้เป็นหนึ่งในอมตะการ์ตูนแห่งช่อง 3 คือเรื่อง “อิคคิวซัง” หรือ “เณรน้อยเจ้าปัญญา” การ์ตูนที่มาจากบุคคลที่มีชีวิตอยู่จริงในช่วงประวัติศาสตร์

“อิค คิวซัง”  จากเรื่องเล่าที่นำมาเขียนเป็นนิยายภาพ จากนั้น ฮิซาชิ ซาคากุจิ (Hisashi Sakaguchi) ได้นำมาแต่งเป็นมังงะ (การ์ตูนเล่ม) และอนิเมชัน เรื่องราวของลูกชายพระจักรพรรดิกับพระชายาฝ่ายใต้ในสมัย มุโรมาจิ (ประมาณ พศ. 1338 - 1573)  ซึ่งเป็นยุคที่ชนชั้นนักรบมีอำนาจเหนือชนชั้นอื่น ๆ ในสังคม ได้แก่ ชนชั้นชาวนา และชนชั้นพ่อค้า ตลอดจนได้หลอมรวมตัวเองเข้ากับชนชั้นปกครอง (ฝ่ายพระจักรพรรดิและราชสำนัก) ทำให้เกิดระบบศักดินาและเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมซามุไร   เช่น การตั้งรัฐบาลทหาร หรือ “บาคุฟุ” ที่มี “โชกุน” เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครอง “ไดเมียว” หรือ เจ้าเมืองแคว้นต่าง ๆ ไปจนถึงการเผยแพร่ศาสนาพุทธ นิกายเซนอันเป็นหนึ่งในวิถีของชนชั้นนักรบ ในการสืบทอดอำนาจตกอยู่ในตระกูล อะชิคางะ

อย่างไรก็ตามที่มาของอำนาจทางการเมืองของฝ่ายจักรพรรดิและฝ่ายโชกุนมีจุดที่ แตกต่างกันก็คือ ฝ่ายจักรพรรดิสืบเชื้อสายมาจากตระกูลยามาโตะ สมัย โคฟุน (ค.ศ. 250–538)  ที่มีความเชื่อว่าได้สืบเชื้อสายมาจากเทพีพระอาทิตย์  (Amaterasu – omikami) ซึ่งเป็นเทพผู้ให้กำเนิดชาวญี่ปุ่น จากนั้นได้แต่งบันทึกประวัติ- ศาสตร์ “โคจิกิ” (Kojiki) และ “นิฮงโชกิ” (Nihonshoki) ในยุค นาระ (ค.ศ. 710 – 794) เกี่ยวกับการให้กำเนิดโลกและเกาะญี่ปุ่น  ความเชื่อในศาสนาชินโต  รวมไปถึงการให้กำเนิดและเชื้อสายของผู้ที่สืบทอดสายเลือดของเทพีพระอาทิตย์  อันหมายถึงตระกูลของพระจักรพรรดิ   อาจกล่าวได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวญี่ปุ่นจึงมีอำนาจในปกครองดูแลลูกหลาน ซึ่งสอดคล้องกับลัทธิขงจื้อที่รับมาจากจีนในยุคต่อมา แตกต่างจากการได้มาซึ่งอำนาจของโชกุนที่มาจากการทำสงครามและกำลังทหาร

แต่ด้วยความที่ฝ่ายจักรพรรดิมีความผูกพันและชอบธรรมทางศาสนา (ชินโต) และวัฒนธรรมมายาวนาน จึงเป็นเหตุที่ชนชั้นเหล่าซามุไรและโชกุนไม่สามารถล้มล้างได้ง่ายนัก แม้จะสามารถทำให้ชาวนาและพ่อค้าหมอบราบคาบแก้วได้แล้วก็ตาม การมีอยู่ของจักรพรรดิเริ่มจะอยู่ในสถานะ “สัญลักษณ์ของสังคม” มากกว่าการปกครองประเทศ

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการทำความเข้าใจระบบการปกครองเบื้องต้นในยุคที่เรื่อง อิคคิวซังดำเนินเรื่องอยู่ขอรับ ซึ่งประเด็นที่อยากชวนท่านผู้อ่านคุยนั้นก็คงเกี่ยวกับตัวละครที่ขาดไม่ได้ ในเรื่องนี้เลยคือท่านโชกุน “อาชิคางะ โยชิมิสึ”

การพบกันครั้งแรกระหว่างท่านโชกุนและอิคคิวซังเกิดขึ้นเมื่อเมื่อเสียงของ อิคคิวซังเลื่องลือไปทั่วเมืองจนถึงหูของท่านโชกุน จึงมีความคิดที่จะนิมนต์เณรน้อยอิคคิวมาจับเสือที่อยู่ในม่านไม้ แต่ก็เสียท่าให้ในที่สุด ด้วยการที่อิคคิวซังขอให้ฝ่ายท่านโชกุนไล่เสือออกมาให้ตนจับนั่นเอง

เรื่องราวต่อจากนั้นก็ล้วนเกี่ยวพันทั้งกันระหว่างตัวละครทั้งสองไม่ว่าจะ เป็นความขี้เล่นรักสนุกที่ช่างสรรหาเรื่องปวดสมอง (ทั้งคิดขึ้นเอง ทั้งร่วมมือกับคิเคียวยะซัง เจ้าของร้านค้าจอมงก) หรือเรื่องเดือดร้อนของประชาชนที่ถ้าไม่มาจากท่านโชกุนก็จากคิเคียวยะซัง จนชาวเมืองต้องไปขอความช่วยเหลือจากอิคคิวซังอยู่เสมอ

(ที่มา http://en.wikipedia.org/wiki/Ikkyu)

 

เรื่อง ในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับวีรกรรมของท่านโชกุนจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ และส่วนใหญ่เรื่องราวที่เกี่ยวกับท่าน “อิคคิว โชจุน” ที่มีตัวตนอยู่จริงนั้น ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับความเถรตรงและการเป็นปฏิปักษ์ต่อขุนนางและพระเถระที่มือ ถือสากปากถือศีล จึงขอชวนท่านผู้อ่านมองเรื่องอิกคิวซังในฐานะเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งแล้วกัน นะ
ขอรับ

ท่านผู้อ่านรู้สึกเหมือนกันหรือเปล่าว่าการ์ตูนเรื่องนี้ได้นำ “โชกุน” มาเป็นตัวละครที่มีบทบาทในทางขำขันหรือเป็นตัวสร้างปัญหาของเรื่อง จนบางครั้งผู้เขียนนึกในใจว่า “วัน ๆ หนึ่ง คนเป็นไม่ทำงานทำการอะไรเลยหรืออย่างไร” หรือแม้แต่คิเคียวยะซังเองก็ตระหนี่ถี่เหนียวเสียจนมีอารมณ์ร่วมไปกับอิคคิว ซังอย่างไม่น่าเชื่อ จึงน่าสังเกตว่าการ์ตูนเรื่องนี้ได้นำ “ผู้ทรงอำนาจ” ในประวัติศาสตร์มาล้อเลียนหรือล้อเล่น แม้ว่าผู้แต่งจะเกิดคนละยุคสมัยกันก็ตาม

การล้อเลียนหรือล้อเล่นบุคคลผู้มีอำนาจเป็นลักษณะของการตอบโต้ทางสังคมอย่าง หนึ่งที่พัฒนามาจากการนินทาที่เป็นกลไกการลงโทษสมาชิกในสังคมรูปแบบหนึ่ง การได้นินทาใครสักคนนอกจากจะช่วยลดความตึงเครียดแล้วผู้ได้นินทาผู้อื่นนั้น จะมีความรู้สึกต่อผู้ที่ถูกนินทาว่า “กูดีกว่ามึง” ยิ่งเป็นการนินทาผู้มีโอกาสทางสังคมหรือมีสถานะทางสังคมที่สูงกว่าตนเองแล้ว ด้วยยิ่งมีบทบาทในการลดค่าอำนาจ หรือ ลดคุณค่าของผู้มีอำนาจที่สูงกว่าตน เพราะในสภาพสังคมจริง ๆ คงไม่มีใครออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจในสมัยนั้นเป็นแน่ ดีไม่ดีอาจได้นอนในคุกแก้เซ็งไปจนถึงโดนตัดหัว แม้แต่สมัยนี้ที่มีการเปิดกว้างในการสื่อสารหรือมีสิทธิเสรีภาพตามหลัก ประชาธิปไตยที่ใครต่อใครเชื่อว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีแล้วนั้น การนินทาหรือการล้อเลียนผู้มีอำนาจยังเสี่ยงต่อการกระทำผิดตามกฎหมายหรือการ ใช้กำลังเข้าไปจัดการทั้งแบบเปิดเผยและแบบลับ ๆ

การล้อเลียนผู้มีอำนาจในประวัติศาสตร์ไม่เพียงพบในเรื่องอิคคิวซังอันเป็น เรื่องเล่าที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตเท่านั้น ยังพบเรื่องเล่าเหล่านี้ในสังคมต่าง ๆ ทั่วโลก แม้แต่ในประเทศไทย เรื่องเล่าประเภทนี้ที่รู้จักกันดีอย่าง “ศรีธนญชัย” เองก็มีลักษณะที่คล้ายกับเรื่องอิคคิวซัง เช่น ความสมองไว และการเอาตัวรอดได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ (แม้ว่าบางตอนของศรีธนญชัยอาจจะ “ฮาร์ดคอร์” กว่า เช่น การคว้านท้องน้องของตัวเองก็ตาม) นอกจากนิทานพื้นบ้านเรื่องยาวอย่างศรีธนญชัยแล้ว ยังมีเรื่องเล่าตลกขำขันในชุมชนที่ไม่มีมีแบบแผนหรือมีผู้แต่งที่แน่ชัด อย่างเช่นการ “เล่าเจี๊ยะ” หรือ “เจียะก้อม” ของล้านนา เนื้อหาก็ต่างพัวพันอยู่กับตัวแทนของสถาบันที่มีอำนาจทางสังคม เช่น เจ้าเมือง พระ พ่อค้าคหบดี เหมือนกันอย่างมิได้นัดหมาย

เมื่อมองกลับมาในปัจจุบัน ผู้ที่ตกเป็นเป้าของการล้อเลียนส่วนใหญ่จะเป็นนักการเมืองหรือดารา ส่วนสถาบันศาสนานาน ๆ จะมีการล้อเลียนเกิดขึ้นสักครั้ง แต่ก็ต้องเป็นพระระดับเซเลปที่กระทำความผิดทั้งทางกฎหมายจนเป็นข่าวใหญ่โต เช่น “พระยันตระ” หรือ มีบทบาทในสื่อมาก ๆ เช่น “พระพยอม”  อย่างไรก็ตามผู้เขียนไม่ทราบได้ว่า เพราะความเข้มแข็งเรื่องบาปกรรมจากการล้อเลียนพระมีผลในสังคมสมัยนี้ หรือ ความห่างเหินกันระว่างคนกับพระกันแน่ ที่ทำให้การล้อเลียนสถาบันศาสนาลดลงเหลือเพียงแค่การนินทาพระที่ประพฤติตน ไม่เหมาะสมตามหมู่บ้านในชนบท ส่วนการล้อเลียนเศรษฐีที่เราเห็นชัดที่สุดคงหนีไม่พ้นคุณ “ทักษิณ ชินวัตร” ในการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

แต่บางครั้งเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดก็เกิดจากการล้อเลียน เช่น การที่นักศึกษาเล่นละครล้อเลียน ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อาจเป็นเพราะว่าตัวละครที่นำมาล้อเลียนนั้นได้ล้มหายตายจากไปหลายร้อยปี   หรือว่าระบบบาคุฟุและวัฒนธรรมซามุไรได้ถูกปฏิวัติไปตั้งแต่สมัยเมจิ หรือว่า ความแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นเรื่องแต่ง อะไรเป็นเรื่องจริง หรือว่าผู้แต่งไม่ไปแตะ “กล่องดวงใจ” ของชาวญี่ปุ่น คงไม่สำคัญเท่า ความ “เซนซิทีฟ” ของบุคคลที่ “ถูกล้อเลียน” หรือ “ถูกนินทา” ที่กลัวว่าผู้เสพสารจะเชื่อว่าเป็นจริงตามที่โดนล้อหรือเปล่า

จะจริงหรือไม่จริงก็ตามมันก็ห้ามคนนินทาได้ยากยากดั่งการห้ามไฟไม่ให้มีควันนั่นแหละขอรับ

Subscribe to RSS - บล็อกของ animewatch