groomgrim's picture

<p>จะหนีบไปด้วยทำไม เป็นชื่อแรกของบล็อกนี้ที่มั่นหมายจะจดจำทุกอย่างที่เขียนพกใส่กระเป๋าไปกับตัวทุกที่ทุกเวลา ก่อนเปลี่ยนมาเป็น จะหนีบไปด้วยทำไม (วะ) เมื่อคิดว่าควรปล่อยวางมากกว่าแบกรับตัวตนไว้บนบ่า</p> <p>&quot;ใต้ฟ้าผืนนี้ ไม่ได้มีแค่เรา&quot; เป็นคำที่เพื่อนคนหนึ่ง ชื่อ ตอง ประดิษฐ์ขึ้น จากคอนเซ็ปต์เดิมที่ผมเคยใช้ว่า บนโลกใบนี้ไม่ได้มีแค่เรา ผมชอบคำประิดิษฐ์นี้และดึงมันมาใช้ตลอดเวลา เป็นวาทกรรมในการทำงานรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน</p> <p>ผมคิดว่างานส่วนใหญ่ที่ผมเขียนต้องการจะบอกประเด็นสังคมอะไรสักอย่างกับคนอ่าน ประเด็นนั้นเปลี่ยนไปเรื่อยๆ รวมๆ คืออยากสะกิดสะเกาให้คนที่ได้อ่านมองโลกหลายแบบมากขึ้น</p> <p>ผมเชื่อว่าความคิดหรือวิธีคิดของคนจะเปลี่ยนเมื่อพบเจอข้อเท็จจริงใหม่ๆ บนทางชีิวิตของตัวเอง ทั้งที่ข้อเท็จจริงล้วนมีอยู่แล้วแต่เมื่อเขายังไม่ได้เจอก็ยังคิดอยู่ได้เพียงในกรอบข้อเท็จจริงเดิมๆ</p> <p>ทุกบทความที่อยากบอก คือ อยากบอกว่าใต้ฟ้าผืนนี้มีเรื่องราว มีผู้คน ที่ดำรงตนอยู่อีกมากมายหลายในแบบที่เราคาดไม่ถึง&nbsp;ผมเองก็ไม่ได้รู้เรื่องราวเหล่านั้นทั้งหมด รู้อะไรมา ก็เขียนไปเท่านั้น</p> <p>เราจะผ่อนคลายความยึดติดในความดีงาม ควาถูกต้องทั้งหลายลงได้มาก และเราจะก้าวเดินไปบนเส้นทางชีวิตของเราโดยไม่ทำร้ายใครระหว่างทางได้ หากเราเชื่อและปฏิบัติเสมอเหมือนกับว่า ไม่ได้มีแต่คนแบบเราเท่านั้นที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้</p> <p>&nbsp;</p> <p>นายกรุ้มกริ่ม</p> <p>&nbsp;</p> <p>&nbsp;</p> <p>&nbsp;</p> <p>&nbsp;</p> <p>สวัสดีครับ</p> <p>ผม : ยิ่งชีพ&nbsp; อัชฌานนท์</p> <p>อันนี้ก็ผม : เป๋า</p> <p>อันนี้บางคนไม่รู้ว่าเป็นผม : นายกรุ้มกริ่ม</p> <p>ผมเคยเรียน : โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (วัยหนุ่ม) &nbsp;นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ (ป.ตรี)</p> <p>ปัจจุบันนี้ : อยู่บ้านครับ แถวบางลำพู</p> <p>อดีต : ชุมนุมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ไม้ขีดไฟ กลุ่มอิสระเพาะรัก รายการมดคันไฟ อาสาสมัครนักกฎหมายมอส. รุ่น4 ฯลฯ</p> <p>ขณะนี้ : นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนโครงการilaw กลุ่มอาสาสมัครลางริน อาสาสมัครศูนย์การเรียนรู้จั่นเจริญ</p> <p>ผมอยากให้ : แวะเวียนมา มองๆผ่านตา ดูๆตัวอักษร นึกๆดูนิดนึง เขียนทิ้งไว้หน่อย</p> <p>ขอบคุณมากๆๆๆๆๆๆ เลยครับผม&nbsp;</p> <p>คุยกันได้ : <span>pow.ilaw@gmail.com&nbsp; &nbsp;&nbsp; twitter : @yingcheep<br /> </span></p> <p>&nbsp;</p> <p>&nbsp;</p>

บล็อกของ groomgrim

แด่สหาย จากชายแดนทิศตะวันตก

 

อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นเมืองท่ามกลางหุบเขา มีเสน่ห์เล็กๆ ในแบบของตัวเอง แม่สอดไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แต่มีคนแวะเวียนมาเยอะเพราะแม่สอดเป็นประตูผ่านแดนไปยังเมืองเมียววดีของพม่า

34 ชั่วโมง 3 หมอก 3 สหาย กับอีกหลายชีวิต

 

 

 
ยามเช้าใกล้รุ่งของตัวอำเภอแม่สะเรียงมีเพียงความเงียบสงัด ไร้วี่แววของรถราและผู้คน ไฟถนนสีส้มส่องผ่านม่านหมอกที่ลงหนาจัดคอยช่วยให้จิตใจของผู้มาเยือนอบอุ่นขึ้นได้บ้างบนทางสายเล็กๆ ที่ไม่รู้ว่าจะนำไปสู่สถานที่แบบใด
 
ผมลงจากรถทัวร์สาย กรุงเทพ - แม่ฮ่องสอนตอนตีห้าเศษ ด้วยอาการงัวเงีย งุนงง กับเป้ 1 ใบ เต้นท์ 1 หลัง เพื่อน 1 คน หลังนั่งสัปหงกตั้งแต่ออกจากหมอชิตมาตอนห้าโมงเย็น จุดหมายปลายทางที่จะไปให้ถึงคือ "งานวันเด็กไร้สัญชาติ ครั้งที่8" บนดอยไหนสักดอยในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ไม่รู้ว่าไกลแค่ไหน ไม่รู้ว่ามันคืองานอะไร และไม่รู้ว่าตัวเองจะไปทำอะไร
 
ผมออกเดินทางอันไม่มีเหตุผลครั้งนี้มาตามคำเชิญชวนแกมบังคับของเพื่อนอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนคนหนึ่ง ที่หายตัวไปในพื้นที่ปลอดสัญญาณโทรศัพท์ได้สามวันแล้ว เพียงเพราะว่าผมเป็นคนที่วันๆ นั่งอยู่แต่หน้าจอสี่เหลี่ยมจึงถูกคาดหมายว่าจะต้องมาเรียนรู้ประเด็นปัญหาของคนในพื้นที่อันห่างไกลบ้าง
 
ผมครึ่งหลับครึ่งตื่นรอคนมารับอยู่ที่จุดนัดหมาย ซึ่งไม่ได้นัดเวลาไว้แน่นอน คงจะเป็นน้ำค้างยามเช้าหรือสายหมอกแห่งขุนเขาที่ทำให้เส้นผมชื้นเปียกอยู่ตลอดเวลา ยิ่งนั่งรอนานเข้า อากาศยิ่งเย็นลง ในหน้าหนาวของดินแดนทางทิศตะวันตกฟ้าสว่างช้ากว่าที่คาดไว้มาก เกือบเจ็ดโมงเช้าแล้วกว่าที่ฟ้าจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีฟ้าอมเทา และอีกหนึ่งชั่วโมงให้หลังเมื่อผู้คนในเมืองเล็กๆ เริ่มต้นชีวิตของพวกเขากันตามปกติ ขบวนรถขับเคลื่อนสี่ล้อก็มาจอดบริเวณที่เรานัดหมายกันไว้
 
หนึ่งในคณะที่มาแวะรับเตือนด้วยความหวังดีถึงสภาพถนนและฝุ่นสีแดง ที่จะต้องฝ่าฟันไประหว่างทาง และทำให้ผมหวั่นใจเมื่อพูดถึงระยะทาง 97 กิโลเมตรบนถนนลูกรังคดเคี้ยวข้างหน้านั้น ผมกัดฟันโดดขึ้นกระบะหลังพร้อมแจ็กเก็ตตัวหนา กับน้ำครึ่งขวดที่เหลือมาจากรถทัวร์ นึกด่าเพื่อนในใจที่ไม่ได้บอกกล่าวเรื่องเหล่านี้ไว้ตั้งแต่ตอนชวนมา
 
ช่วงวิ่งฝ่าหมอกขึ้นเขาด้วยถนนลาดยางช่างหนาวจับใจ แต่หลังจากนั้นอากาศก็ร้อนไม่ต่างไปจากภาคอื่นๆ ของประเทศ ฝุ่นที่ฟุ้งกระจายจากล้อรถทำให้ต้องนั่งคลุมหัวก้มหน้าหนีฝุ่นและแสงตะวันยามสาย แถมแรงกระแทกที่เกิดจากหลุมบ่อ แรงเหวี่ยงจากความคดเคี้ยวก็ทำให้ยากที่จะงีบได้แม้เพียงสักนิด เส้นทางที่นำเราเข้าไปนั้นรถต้องวิ่งเลียบลำห้วยไปเรื่อยๆ และความคดโค้งก็จะพาสายน้ำมาตัดกับทางวิ่งของรถเป็นระยะ ซึ่งระดับน้ำก็ไม่ใช่ตื้น บางช่วงไม่มีทางบนบก รถต้องวิ่งทวนน้ำไปตามลำห้วยเป็นระยะทางหลายร้อยเมตร
 
พอผ่านชั่วโมงที่สี่ ความอ่อนล้าจากการเดินทางเข้าครอบงำทุกส่วน การแวะรับชาวบ้านกลุ่มหนึ่งระหว่างทางทำให้ผมต้องนั่งหดขาอัดอยู่หลังกล่องของบริจาค ขณะที่คนขับต้องหยุดรถเป็นระยะเพื่อถามทาง แต่สุดท้ายรถของเราก็หลงออกไปนอกเส้นทางกว่าสิบกิโลเมตร กว่าจะย้อนกลับมาถึงยังสถานที่จัดงานนั้นรวมแล้วก็ใช้เวลาไปหกชั่วโมงเศษและอาจต้องทิ้งเสื้อสักตัวที่ใส่มา
 
 
 
 
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านแม่แพะ คือสถานที่ที่รถหยุด รถยนต์กระบะยกพื้นสูงกว่ายี่สิบคันจอดเรียงรายอยู่ก่อนแล้ว เด็กเล็กเด็กโตวิ่งวุ่นวายอยู่เต็มลาน ชาวเขาเผ่าปกากญอในชุดประจำชาติสีสันสดใส ผู้คนจากหมู่บ้านโดยรอบเดินทางมารวมกันหลายร้อยคนเพื่อรอร่วมกิจกรรมที่ว่ากันว่าไม่เคยมีใครจัดให้พวกเขามาก่อน ได้ยินมาอีกว่ามีชาวบ้านจากหมู่บ้านอูนุเดินเท้ามา 8 ชั่วโมงตั้งแต่เมื่อวานเพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของงาน
 
กิจกรรมช่วงบ่ายวันนั้น เป็นงานเสวนาเรื่องการแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติโดยมีตัวแทนจากภาครัฐหลายหน่วยงานมาพูดกันด้วยภาษาไทยกลาง ต่างคนต่างอธิบายความตั้งใจอันดีงามของตัวเอง ขณะที่มีชาวบ้านไม่ถึงครึ่งที่พอจะฟังรู้เรื่อง ผมเดินหามุมถ่ายรูปอยู่สักพัก ก่อนฟุบหลับไปบนแผ่นผ้าใบท่ามกลางหลายชีวิตที่นั่งจ้องมองคนจากพื้นราบพร่ำบ่นอย่างมีความหวัง
 
แสงอาทิตย์ลับหายไปหลังขุนเขาอย่างรวดเร็วก่อนที่ธงชาติไทยจะลดลงจากเสา กิจกรรมในช่วงค่ำมีคอนเสิร์ตจากศิลปินปกากญอยอดนิยม มีการแสดงของเยาวชนจากหมู่บ้านต่างๆ และความบันเทิงอีกมากมายต้อนรับผู้มาเยือนจากแดนไกล แต่แม้บรรยากาศอันอบอุ่นกับเพื่อนฝูงรอบกองไฟก็ไม่สามารถรั้งความสนใจของผมไว้ได้นานนัก ผมแอบเข้าเต้นท์เงียบๆ และหลับนิ่งไปในทันที ขณะที่ผู้คนมากมายกำลังเก็บเกี่ยวความรื่นรมย์
 
 
 
 
 
เช้าวันใหม่ ผมเดินฝ่าน้ำค้างที่โปรยปรายไปล้างหน้าแปรงฟันยังลำห้วยที่เมื่อไม่กี่ชั่วโมงก่อนรถราจำนวนมากได้บุกตะลุยข้ามมา เส้นผมเปียกปอนเสียกว่าตอนนั่งอยู่ที่ท่ารถแม่สะเรียง ลมหนาวปลิวมากระทบใบหน้าให้สั่นสะท้าน ขณะที่สายหมอกสีขาวไต่เรี่ยไปบนผิวน้ำ แต่กลับเว้นพื้นที่บนผิวดินไว้ให้ต้นหญ้าสีเขียวได้รับแสงแรกของวันใหม่ที่ยังคงมาช้าอีกเช่นเคย
 
เมื่อพละกำลังกลับมาเต็มเปี่ยม ผมตกลงกับเพื่อนที่จะจัดกิจกรรมกินวิบากขึ้นเพื่อให้ตัวเองมีประโยชน์คุ้มค่ากับที่บุกบั่นมาแสนไกล หลังรวบรวมเงินลงขันกันได้ น้องเยาวชนคนหนึ่งเดินนำผมไปยังร้านค้าในหมู่บ้าน เราซื้อหาขนมและของแทบทุกอย่างเท่าที่จะนึกได้
 
เกมส์สิ้นคิดประจำงานวันเด็กดำเนินไปอย่างสนุกสนานไม่แพ้ตอนเล่นกันในเมืองกรุง แต่เมื่อแสงแดดตอนสายร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ และเสียงประกาศจผลการจับสลากจากเวทีกลางดึงดูดความสนใจจากผู้คนไปหมด อีกทั้งความเลอะเทอะจากการเล่นที่ทำความสะอาดกันไม่เคยทัน เราโหวกเหวกโวยวายกันได้ไม่กี่รอบก็ต้องพับเก็บ และเอาขนมที่เหลือไปแจกแบ่งกันในกิจกรรมอื่นๆ
 
เวลาเพียงสิบโมงกว่าทีมงานที่มาจัดกิจกรรมต่างๆ เริ่มทยอยเก็บข้าวของ เมื่อผู้มาร่วมงานได้รับของขวัญของรางวัลกันพอใจแล้วก็เริ่มแยกย้าย พอมองซ้ายมองขวาแล้วเห็นว่าหน้าที่ของผมกำลังจะหมด ผมรีบวิ่งไปเก็บเต้นท์ ยัดเสื้อผ้าลงกระเป๋า หาอะไรกินรองท้อง และถ่ายรูปกับเพื่อนๆ
 
จนเมื่อเวลาใกล้เที่ยงรถที่จอดอยู่เริ่มเคลื่อนออกเดินทางเพราะทุกคนต่างก็รู้ดีว่าหากประมาทระยะทางที่รออยู่ข้างหน้าพวกเขาอาจจะไปไม่ถึงพื้นราบก่อนฟ้ามืด ผมกระโดดขึ้นหลังรถคันที่พอจะมีที่ว่าง พร้อมน้ำเต็มขวดกับผ้าขาวม้าคลุมหัวโดยยังไม่ได้บอกลาใคร ผมคงช่วยได้ดีที่สุดเท่านี้สำหรับกิจกรรมที่อาจมีขึ้นครั้งเดียวในชีวิตของใครหลายคน และผมก็เริ่มออกเดินทางอีกครั้งนับจากตอนที่รถจอดครั้งก่อนได้ไม่ถึง 24 ชั่วโมง  
 
 
 
 
ขากลับไม่มีการหลงทางอีกต่อไป แต่แดดและฝุ่นโหมหนักกว่าขามามาก รถทุกคันวิ่งตามกันไม่ห่างมุ่งหน้าสู่ตัวเมือง เมื่อผิวหนังเริ่มร้อนแสบ ปากคอแห้งผาก รถของเราก็พาผมมาถึงเซเว่นอีเลฟเว่นที่ท่ารถพร้อมมีน้ำอัดลมเย็นๆ ได้ภายใน เวลา 4 ชั่วโมงเศษ ซึ่งระยะเวลาช่วงนี้เอง ผมได้รู้จักกับสหายพิเศษสามคนที่นั่งมาในรถคันเดียวกัน
 
มึดา หญิงสาวผู้มีแววตาเปี่ยมด้วยความมุ่งมั่น มีพลังกายพลังใจเข้มแข็ง เธอเป็นคนอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพิ่งได้รับสัญาชาติไทยจากทางราชการเมื่อปีกว่ามานี้ การต่อสู้เพื่อให้ได้รับสัญชาติของเธอเป็นตัวอย่างให้กับใครหลายคนในปัจจุบัน
 
ซิ่ง หนุ่มตัวเล็ก มาดกวน ท่าทางคล่องแคล่ว อัธยาศัยดี เป็นคนมาไกลจากอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
 
เบิร์ด หนุ่มมาดกวนอีกคน ผู้เปี่ยมด้วยอารมณ์ขัน มาจากอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เรียกว่าเป็นเจ้าถิ่นแถวนี้ก็ว่าได้
 
ทั้งสามคนเป็นชาวปกากญอโดยกำเนิด ดูจากบุคลิกท่าทางถ้าไม่ได้ยินตอนคุยกันด้วยภาษาของตัวเองก็จะไม่รู้ว่าต่างจากคนพื้นราบทั่วไป พูดภาษาไทยกลางชัดไม่มีตำหนิ ทั้งสามคนยังเป็นสมาชิกของชมรมหัวรถไฟ กลุ่มกิจกรรมเล็กๆ ในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ที่มึดาเป็นคนก่อตั้งขึ้นเพื่อทำกิจกรรมเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมาย เผยแพร่ความรู้ทางนิติศาสตร์ และกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์อื่นๆ
 
ชมรมหัวรถไฟยกทีมกันเดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรมงานวันเด็กไร้สัญชาติครั้งนี้ก่อนผมหลายวัน โดยเป็นอาสาสมัครลงพื้นที่เข้าไปอยู่กินกับชาวปกากญอในหมู่บ้านที่ไม่ปรากฏอยู่ในแผนที่ประเทศไทยเพราะ "ตกสำรวจ" จากทางราชการ เพื่อสัมภาษณ ์เก็บข้อมูลของบุคคลที่ยังไม่ได้รับสัญชาติ โดยต้องรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัว เทือกเขาเหล่ากอ ญาติพี่น้อง ประวัติการตั้งถิ่นฐานของแต่ละบุคคลคน พร้อมทั้งหาพยานมารับรอง เพื่อนำหลักฐานทั้งหมดยื่นขอสัญชาติต่อตัวแทนของผู้มีอำนาจในวันงาน
 
ภารกิจนี้ฟังดูท้าทาย แต่คงลำบากทีเดียวถ้าเป็นคนเมืองกระจอกๆ อย่างผม การไปสัมภาษณ์ชาวบ้านไปอยู่กินเป็นเวลาหลายวันคงต้องพบกับอุปสรรคทางภาษา วัฒนธรรม ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความลำบากในการเดินทางบุกป่าฝ่าดง นี่คือภารกิจที่ต้องการคนรุ่นใหม่ ที่ยังมีไฟมีใจอาสา มีทักษะกับงานเอกสารข้อมูล เข้าใจกฎหมายของรัฐไทย พูดภาษาถิ่นได้และเข้าใจปกากญอ
 
ผลงานของทีมงานที่ลงพื้นที่กว่า 60 คน รวบรวมข้อมูลของบุคคลได้กว่า 300 ชีวิต อาจจะช่วยให้รัฐไทยยอมรับการมีตัวตนอยู่ของพวกเขาเหล่านี้ขึ้นมาได้บ้าง...
 
ผมก้าวขึ้นรถเพื่อมุ่งหน้ากลับบ้านของผมในเมืองหลวงตอนที่อากาศเริ่มเย็นลงอีกครั้ง รถทัวร์จะวิ่งออกจากแม่สะเรียงตอนหกโมงเย็น เพื่อไปให้ถึงกรุงเทพตอนหกโมงเช้า มึดากับซิ่งและเพื่อนของผมอีกคนนั่งรถตู้ไปเชียงใหม่ ส่วนเบิร์ดมีคนมารับจึงแยกไปต่างหาก เรากินข้าวเย็นง่ายๆ กันที่ท่ารถ ก่อนที่แต่ละคนจะเดินทางต่อไปยังจุดหมายของตัวเอง ผมมอบรอยยิ้มให้พวกเขาก่อนจากกันแทนคำชื่นชม
 
 
 
 
 
รถหยุดลงที่โค้งไหนสักแห่งบนถนนนับพันโค้งห่างจากแม่เสรียงไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ท้องฟ้ามืดสนิททันทีตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับหายไป นอกหน้าต่างรถมีแต่ความมืดกับความสงสัย เจ้าหน้าที่สองคนในชุดลายพรางกับเสื้อกั๊กสะท้อนแสงเดินขึ้นมาบนรถพร้อมไฟฉาย
 
"ขอดูบัตรด้วยครับ"
 
ทุกคนล้วงกระเป๋าควักหลักฐานแสดงตัวตนออกมาทั้งที่เต็มใจบ้าง หงุดหงิดบ้าง ผมยื่นพลาสติกแข็งสีฟ้าในซองสีขาวขุ่นให้อย่างมั่นใจ สามนาทีต่อมาล้อก็หมุนอีกครั้งโดยไร้ปัญหาใดๆ เพราะทุกคนในรถเป็น "คนไทย" ไม่มีใครทำผิดกฎหมาย
 
ผมย้อนนึกถึงคนหนุ่มสาวประมาณ 20 คนจากหมู่บ้านอูนุที่เมื่อวานพวกเขานั่งเกาะกลุ่มกันนิ่งเงียบบตลอดการเสวนาเพราะไม่มีใครฟังภาษาไทยกลางได้ เมื่อเวทีเปิดให้ซักถาม ตัวแทนคนหนึ่งลุกขึ้นยืนอ่านกระดาษเก่าๆ ที่เขียนมาเป็นภาษาปกากญอ มีผู้แปลเป็นไทยให้ฟังว่าพวกเขาเป็นตัวแทนมาจากหมู่บ้านที่ไม่มีใครเข้าถึง และเดินเท้ามาเพื่อขอให้ช่วยให้พวกเขาได้รับสัญชาติไทย
 
การให้สัญชาติแก่ชาวเขา เคยถูกโต้แย้งด้วยแนวคิดอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นการเอารัฐสมัยใหม่ไปให้กับกลุ่มคนที่เคยมีวิถีชีวิตอันเรียบง่ายสงบสุขอยู่แล้ว ซึ่งอาจเป็นการพาโลกาภิวัฒน์เข้าไปทำลายวัฒนธรรมอันดีงาม แนวคิดดังกล่าวนั้นมีส่วนถูกอยู่บ้าง แต่นาทีนี้ผมมองว่าเป็นวิธีคิดที่มาจากฐานการมองมนุษย์ทุกคนอย่างไม่เท่ากัน
 
ชีวิตที่อาจถูกจับว่าเป็นคนต่างชาติอยู่ทุกเมื่อจะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ได้อย่างไร ชาวหมู่บ้านอูนุคงไม่มีสิทธิแม้เพียงเหยียบลงมาในเมืองไม่ว่าเขาจะอยากมาหรือไม่ การเรียกร้องสัญชาติอาจไม่ได้หมายถึงการอยากเป็นคนเมืองอย่างเราๆ ไม่ใช่การร้องขอการศึกษา โทรศัพท์ น้ำประปา หรือแผ่นกระดาษสักใบ แต่เป็นการป่าวประกาศหาสิทธิ หาศักดิ์ศรีการมีอยู่ของตัวตน หาการยอมรับจาก “เพื่อน” ที่อยู่ห่างไปหลายร้อยกิโลเมตรว่าต่างก็เป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกันและมีชีวิตอยู่ร่วมบนผืนแผ่นดินเดียวกัน
 
สักวันหนึ่งหากพวกเขาต้องเดินทางเข้ามาในเมืองพวกเขาควรจะไม่โดนจับ หากพวกเขาต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐพวกเขาควรจะต้องมีสิทธินั้น หากพวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมพวกเขาควรจะอ้าปากเรียกร้องมันโดยบอกได้ว่าตัวเองเป็นใคร และหากวันหนึ่งเมื่อชีวิตของพวกเขาสมบูรณ์อย่างที่ควรจะเป็นเช่นเดียวกับคนทั่วไปแล้ว พวกเขาก็จะลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อคนอื่นได้บ้าง อย่างที่มึดา ซิ่ง และเบิร์ด กำลังทำอยู่เช่นเดียวกัน
 
 
 
 
รถทัวร์วิ่งฝ่าความมืดลัดเลาะไปตามทางบนเทือกเขาสูงอย่างชำนาญ หันหลังให้อีกหลายต่อหลายชีวิตบนยอดดอยที่ในใจยังร่ำร้องส่วนที่ขาดหายไปตามแต่ความต้องการของแต่ละคน ความเย็นจากเครื่องปรับอากาศบาดผิวหนังกว่าความเย็นชุ่มชื่นที่มากับสายหมอก ทำให้ใจยังไม่ปล่อยวางจากเรื่องราวที่พบเจอระหว่างการเดินทางอันยาวไกล แผ่นหลังและต้นขาปวดเมื่อยจากการนั่งรถที่รวมแล้วจะเป็นระยะเวลา 34 ชั่วโมงเต็มๆ ผมหันไปสบตากับเพื่อนที่ยังไม่หลับเช่นกัน
 
“รู้ว่าเป็นอย่างนี้แล้ว ถ้าย้อนเวลาได้จะเปลี่ยนใจไม่มาไหม?”
“ไม่” คำตอบชัดเจนมาก “ไมอ่ะ แกจะเปลี่ยนใจเหรอ”  
“ไม่รู้สิ ก็ไม่มั้ง” ผมตอบท่ามกลางความเมื่อยล้า สิ่งเดียวที่คิดตอนนั้นคือการเดินทาง 34 ชั่วโมงในเมืองสามหมอกเพื่อมาเล่นกินวิบากไม่กี่รอบ การได้พบเจอสหายที่น่าชื่นชมทั้งสามคน และเรื่องราวชีวิตของผู้คนอีกมากมาย ได้ช่วยให้คนที่อยู่แต่ในห้องเล็กๆ กลางเมืองหลวงคนหนึ่งเติบโตขึ้นมากทีเดียว

 

ป.ล. ขอบคุณ ตอง เอก ฝัน ผู้ร่วมเดินทาง และขอบคุณพี่นิ้ว(เจ้านาย) พี่แพท เจ๊ ที่เป็นกำลังใจให้เขียนจนเสร็จ

สัญญาเมื่อหน้าฝน

               สิงหาคม 2550 นักศึกษามหาวิทยาลัย 12 ชีวิต ชาย6 หญิง6 กลั้นน้ำตายิ้มให้กับโรงเรียนประถมเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดตรัง ขณะที่กระโดดขึ้นท้ายรถกระบะแล่นจากไป        

           ในระยะเวลา 9 วัน พวกเขาได้อุทิศทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเนรมิตห้องเก็บของเก่าๆ ให้เป็นห้องสมุดสำหรับเด็กที่มีตัวการ์ตูนสดใส และหนังสือใหม่แกะล่องจำนวนมาก

ความประทับใจ รอยยิ้ม คราบน้ำตา วันที่เหน็ดเหนื่อย และเวลาแห่งความสนุกสนาน สิ่งเหล่านี้พวกเขาจะเก็บรักษามันให้เป็นอย่างดี ในฐานะความทรงจำที่แสนดีในช่วงชีวิตหนึ่ง ก่อนที่การเรียนชั่วโมงถัดไปจะเริ่มต้นขึ้นและวิถีในกรอบของสังคมเมืองก็จะกลับมาดูดกลืนชีวิตของพวกเขาอีกครั้ง
 
                มีนาคม 2551 นักศึกษา 3 จาก 12 ชีวิต นั่งรถทัวร์สายกรุงเทพ-สตูล ครึ่งหลับครึ่งตื่นตลอดคืนเพื่อหวังให้ถึงหน้าโรงเรียนแห่งเดิมในเช้าวันใหม่
รถบขส. สายยาวหยุดลงหน้ารั้วโรงเรียนข้างกันกับบ้านคุณลุงภารโรงที่คุ้นเคย แสงอาทิตย์เริ่มส่องฟ้าให้พอมองเห็นอาคารหลังเล็ก เสาธงและสนามฟุตบอล รอยยิ้มเบิกกว้างออกอย่างไม่รู้ตัว สถานที่อันห่างไกลด้วยระยะทางแห่งนี้ แค่เพียงมองเห็นรางๆ แต่กลับรู้สึกอบอุ่นและตื้นตันเหมือนกับบ้านหลังเก่าที่จากไปนาน
เด็กหนุ่มสาวย่างท้าวอย่างกล้าๆ กลัวๆ เข้าไปในเขตรั้ว เสียงรถเครื่องดังออกมาจากด้านในโรงเรียน พร้อมกับเห็นแสงไฟหนึ่งดวงกำลังตรงรี่เข้ามา คุณครูชั้นเด็กอ่อนก่อนวัยเรียนมาถึงโรงเรียนแต่เช้าตรู่พร้อมต้อนรับขับสู้ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มปนสงสัย ไม่นานหลังจากนั้นปิกอัพคันโตของผู้อำนวยการก็มาถึง แล้วช่วงเวลาของหน้าร้อนในปีนี้ก็มีบรรยากาศไม่ต่างจากฤดูฝนเมื่อปีกลาย
คุณครูใจดีที่เคยดูแลลูกหลานจากเมืองกรุงเมื่อหลายเดือนก่อน ยังคงใจดีขนอาหารเช้า ขนม และโอวัลตินมาให้ ทักทายกันอย่างคนรู้จักสักพักใหญ่ พอหายง่วงได้ที่ก็ถึงเวลาทักทายผลงานเก่าบ้าง
คุณครูเปิดห้องสมุดให้ผู้ที่เคยมาลงแรงกันไว้ได้เยี่ยมชม ปะตูหน้าต่างทาสีทองไว้ช่างคุ้นตา ชั้นหนังสือเรียงรายเป็นระเบียบ โต๊ะญี่ปุ่นและเบาะรองนั่งอยู่ในตำแหน่งเดิม รูปวาดบนฝาผนังยังคงสะอาดเอี่ยมไร้รอยเปื้อน รูปที่วาดเอง สีที่ทาเอง ไม้ที่ตอกเอง หนังสือที่หามาเอง ไม่รู้ว่าจะตื่นเต้นและจะทักทายสิ่งไหนก่อนไหนหลัง
แม้เวลาจะล่วงผ่านไปนานพอตัว แต่ภาพที่เห็นช่างเหมือนกับได้เปิดดูภาพถ่ายที่เก็บใส่อัลบั้มไว้อย่างน่าประหลาดใจ ชั้นหนังสือและหนังสือบนชั้นจัดวางในตำแหน่งเดิม ตุ๊กตาหุ่นมือวางไว้ครบถ้วน สื่อการเรียนรู้เก็บเข้ากล่องอย่างถูกต้อง โปสเตอร์ยังติดอยู่ด้วยกาวสองหน้า แม้แต่ดอกไม้ประดิษฐ์ก็ยังคงอวดสีสันอยู่ไม่เปลี่ยนไป เหตุไฉนเด็กประถมวัยซุกซนร่วมร้อยคนจึงรักษาของได้ดีเพียงนี้หรืออาจจะเป็นเพราะสัญญาบางอย่างมีความหมายเกินลึกซึ้งสำหรับเด็กบ้านนอกกลุ่มหนึ่ง
 
แปดเดือนที่แล้ว หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการจัดตกแต่ง นักเรียนทุกระดับชั้นได้เข้าใช้ห้องสมุดใหม่เป็นครั้งแรกท่ามกลางคำพร่ำบ่นของพี่ๆ ให้ดูแลหนังสืออย่างดีที่สุด พร้อมกับคำสัญญาเดิมพันอันเดียวว่า “ถ้าน้องรักษาหนังสือดีพี่จะกลับมาหา”
แปดเดือนให้หลังมีพี่ๆ อย่างน้อยสามคนที่ไม่ลืมสัญญา และคนบางคนที่อิ่มเอมใจได้แต่นั่งมองไปรอบๆ ห้องแล้วคิดถึงเพื่อนๆ อีก 9 คนที่ปรารถนาให้มารับรู้ความรู้สึกและแบ่งปันร่วมกัน
 
คุณครูยิ้มหวานเดินเข้าออกห้องที่สามสหายนอนเล่นอยู่ “ได้ใช้ประโยชน์จริงๆ เลยนะ” ครูพูดขึ้นโดยที่ยังไม่ได้ถาม เด็กน้อยคนเคยสนิทพร้อมเพื่อนรีบขี่รถเครื่องมาพบพี่ๆ ด้วยความคิดถึง พูดคุยถามไถ่ได้ความว่ามีนักเรียนมาใช้ทุกระดับชั้น เยอะมากในตอนเช้าก่อนเข้าแถว โดยมากก็อ่านหนังสือ ทั้งการ์ตูน นิทาน หนังสือภาพ วิทยาศาสตร์ และของเล่น โดยมีสมุดให้ลงชื่อเป็นหลักฐานว่ามีนักเรียนมาใช้มากขนาดไหน
ครูสาวชาวใต้ยังเล่าต่ออีกว่ามีการกำหนดคาบเรียนให้นักเรียนเข้ามาใช้ห้องสมุดนี้อาทิตย์ละหนึ่งชั่วโมงต่อหนึ่งชั้น โดยมีครูคุมเด็กมาให้นั่งอ่านหนังสือและเก็บให้เป็นระเบียบ ส่วนเด็กก่อนวัยเรียนก็มาใช้เป็นที่เล่น ตลอดจนเล่นการแสดงหุ่นมือจากตู้ที่ได้สร้างไว้
เหนือกว่าคำบอกเล่าใดๆ ภาพหนังสือที่วางอยู่ตำแหน่งเดิมแต่ถูกเปิดบ่อยจนปกเผยออ้าออกหลายต่อหลายเล่ม สภาพของเล่นที่เก่าลง เบาะรองนั่งที่แบนและเปรอะเปื้อน ตลอดจนอุปกรณ์ใหม่ๆที่โรงเรียนจัดหามาเพิ่ม คงตอบคำถามที่สงสัยได้เป็นอย่างดี เหนือกว่าสิ่งอื่นใดเป็นคำตอบที่ไม่ต้องเอ่ยถาม และไม่ต้องหาเหตุผลอันลึกซึ้งมาอธิบาย
 
เด็กประถมจากโรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่งจะได้รับการศึกษาที่ดีขึ้นหรือไม่ โอกาสของพวกเขาจะเท่าเทียมกับเด็กกรุงเทพได้หรือไม่ การศึกษาจะพาให้พวกเขามีอนาคตที่สดใสได้หรือไม่ คงไม่ใช่คำถามที่จะต้องขบคิดในเวลานี้ และคงไม่ได้ตอบด้วยห้องสมุดน่ารักๆ เพียงหลังเดียว
แต่ห้องเล็กๆ ห้องหนึ่งที่เกิดจากการลงไม้ลงมืออย่างเข้มแข็งของลูกหลานชนชั้นกลางที่ไม่เคยแม้แต่จะทำความสะอาดบ้านตัวเอง เหมือนมีชีวิต มีปากพูดและบอกกลับมายังพวกเขาว่าด้วยสมอง สองมือ และหัวจิตหัวใจ กับเวลาเพียงเสี้ยวหนึ่งของชีวิตนั้น พวกเขาสามารถที่จะสร้างประโยชน์ทิ้งไว้ให้แก่ผู้อื่นได้อย่างมากมาย เป็นความภาคภูมิใจที่อาจจะหาไม่ได้ง่ายนักสำหรับชีวิตคนคนหนึ่งที่เกิดมา
และอาจจะให้ความหมายของการมีชีวิตอยู่ได้สำหรับบางคน...
 
เวลาผ่านไปค่อนวัน รถเที่ยวเดินทางกลับภูมิลำเนาจะออกในตอนเย็นวันนั้น นักแสวงหาทั้งสามคนนอนมองดูรูปถ่ายของตนที่ติดอยู่บนฝาผนังพร้อมชื่อและวันที่ที่โรงเรียนทำไว้ให้เป็นอนุสรณ์ นั่นคงเป็นสิ่งตอบแทนในทางรูปธรรมอย่างเดียวที่พวกเขาได้รับ
รถของผู้อำนวยการจอดรอจะพาคนทั้งสามกลับไปส่งยังตัวเมืองอยู่แล้ว เมื่อฟ้าสว่างครั้งถัดไป พวกเขาก็จะกลับไปใช้ชีวิตอย่างเดิมในเมืองหลวง โดยเก็บเรื่องราวความทรงจำ ณ แดนใต้ไว้เป็นเชื้อไฟในยามที่จิตใจสับสนไร้หนทาง
และเมื่อฤดูฝนครั้งหน้ามาถึง พวกเขาหวังว่าจะพาเพื่อนรวม 12 ชีวิตกลับมารักษาสัญญาและแบ่งปันความภาคภูมิใจนี้ร่วมกัน
 
 
นายกรุ้มกริ่ม ณ แดนใต้

 

             

 

 

เขียนขึ้นตามคำขอของเต้ หนึ่งในสามเพื่อนร่วมทาง หลังกลับจากการเดินทางวันนั้น

ไม่เคยมีคนอ่าน ไม่เคยตีพิมพ์

พื้นที่เล็กๆ และอื่นๆ

              “The productive forces of material life conditions the social, political and intellectual life process in general. It is not the consciousness of men that determines their being, but, on the contrary, their social being that determines their consciousness”

 
 
ถ้าหากปรัชญาของคาร์ล มาร์กซ์ ยังพอมีส่วนถูกอยู่บ้าง คนที่มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมอันประกอบด้วยวัตถุทางรูปธรรมแบบหนึ่งๆ จะไม่สามารถแยกแยะ(Determine) ความถูกผิดดีงามทางศีลธรรม (Consciousness) และตัดสินเรื่องความต้องการแทนคนจากที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมอีกอย่างหนึ่งได้
ขณะที่ไม่มีใครปฏิเสธว่าความแตกต่างระหว่างชนชั้นในสังคมไทยมีสูงเพียงใด
การวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นปัญหาเรื่องการเซ็นเซอร์สื่อสารมวลชนในปัจจุบันกลับปรากฏชัดมากว่ามาจากผู้คนเฉพาะในชนชั้นกลางถึงระดับสูงเท่านั้น ไม่ปรากฏการเปิดพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้โอกาสคนในทุกชนชั้นได้เสนอความคิดเห็นกันอย่างเท่าเทียม
สิทธิเสรีภาพถูกยกขึ้นกล่าวอ้างเป็นหลักการพื้นฐาน ในระบบวิธีคิดของปัจเจกบุคคลที่ท้องอิ่ม โดยลืมคำนึงไปว่ากฎหมายและกฎเกณฑ์ทุกชนิดที่ออกมาใช้บังคับย่อมมีผลเป็นการทั่วไปต่อบุคคลทุกเพศ ทุกวัย ทุกฐานะ ที่อยู่อาศัยร่วมกันภายในราชอาณาจักร
และในอีกแง่หนึ่งของกฎหมาย หลักกฎหมายมหาชนพื้นฐานประการสำคัญมีอยู่ว่า ประโยชน์ของมหาชนต้องอยู่เหนือประโยชน์เอกชน ทั้งนี้เท่าที่ไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของเอกชนมากจนเกินไป
เพราะฉะนั้นแล้วแค่ไหนเพียงไรที่รัฐควรจะเข้ามามีบทบาทในการควบคุมสื่อสารมวลชนที่ผู้บริโภคคือประชาชนทั้งหมดจากสิ่งแวดล้อมทางวัตถุที่แตกต่างกัน “ละเมิด” เท่าใดจึงจะถือว่า “มากเกินไป” สิทธิเสรีภาพย่อมฟังดูหอมหวานเสมอ ตราบเท่าที่ผู้กล่าวอ้างไม่นับให้สับสนกับการเรียกร้องเพื่อขอดูภาพโป๊เปลือย
 
ยามบ่ายวันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน 2551 ณ บ้านพักของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ศูนย์ชุมชนวัดดวงแข
เด็กนักศึกษากลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ที่มีผมและเพื่อนๆ ร่วมอยู่ในคณะ ได้เดินทางมาเยี่ยมเยือนชุมชนแออัดแห่งหนึ่งข้างๆ หัวลำโพง แม้จะอยู่ใจกลางเมืองหลวง แต่สภาพบ้านเรือนที่นี่ไม่ใคร่จะน่าอยู่นัก ที่อยู่อาศัยปลูกติดๆ กันอย่างไม่เป็นระเบียบ มีทางเดินแคบๆ ขนาดคนเดินสวนกันไม่ได้ตัดกันสะเปะสะปะ แสงแดดไม่เคยส่องถึงพื้นทางเดิน ภายในตึกหลังหนึ่งจะซอยย่อยออกเป็นห้องเล็กๆ สำหรับให้เช่า ขนาดเล็กกว่าครึ่งหนึ่งของหอพักเอเชี่ยนเกมส์โซนซี ซึ่งคนที่นี่จะอาศัยอยู่กันทั้งครอบครัวหรือบางห้องก็แบ่งกันอยู่หลายครอบครัว ห้องเล็กๆ เรียงติดๆ กันแทบไม่มีที่ว่างหลงเหลือ ระหว่างห้องกั้นด้วยไม้อัดผุๆ ในห้องยังมีห้อง และด้านหลังก็ยังมีห้อง ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ ไม่มีห้องน้ำ ไม่มีระบบสาธารณูปโภคใดๆ
ด้วยหัวใจอาสา พร้อมกับกิจกรรมเล็กๆ ตามแบบฉบับของเยาวชนยุคปัจจุบัน เรามาเพื่อมอบความสนุกสนานเล็กๆ น้อยๆ ให้กับเด็กๆ ในชุมชนที่นี่ และเรียนรู้แลกเปลี่ยนระหว่างกัน
มีน้องผู้หญิงตัวเล็กๆ อยู่คนหนึ่ง ชื่อน้องจ๋า สูงเลยเข่ามาเล็กน้อย ตากลมโต ผิวดำกร้าน เนื้อตัวมอมแมม ดังเช่นเด็กตามชุมชนแออัดทั่วไป แต่มีแววตาสดใส เป็นประกาย และมีบุคลิกร่าเริง ทำให้กลายเป็นดาวเด่นเป็นขวัญใจสำหรับพี่ๆ ที่แวะเวียนเข้ามาเป็นครั้งคราว น้องจ๋าชอบเต้นเพลง “ไก่ย่าง” ด้วยท่าเต้นแบบที่นักศึกษาอย่างเราๆ รู้จักกันดี ทุกครั้งที่พูดเรื่องจะให้เต้น น้องจ๋าจะลุกขึ้นมาก่อนพร้อมตะโกนร้องขอจะเต้นเพลงไก่ย่าง จนพี่ๆ ต้องยอมตามใจให้ทุกครั้ง เพราะเหตุที่ตัวเล็ก จึงเต้นท่าเต้นที่อาจจะดูทะลึ่งบ้างในสายตาของผู้ใหญ่ ออกมาได้น่ารักน่าเอ็นดูโดยที่คนเต้นเองไม่จำต้องรู้ความหมาย
ในช่วงที่แอบหลบร้อน ผมนั่งลงในมุมหนึ่งของห้องกับน้องจ๋า ติดกันเป็นชั้นหนังสือ ผมจึงพยายามเปิดสมุดนิทานหาภาพการ์ตูนรูปสัตว์ต่างๆ แล้วชี้ชวนเล่นไปแบบเด็กๆ
“นี่ตัวอารายยย.......”
??!!??
ไร้ซึ่งคำตอบจากทุกภาพ ...แต่เมื่อผมเริ่มชี้นำ
“นก”  “นกใช่มั๊ยครับ?”
“น๊ก?” น้องจ๋าส่งประกายตาอยากรู้อยากเห็นอย่างเต็มที่
“นก...” เด็กน้อยทวนอีกครั้ง พร้อมฉีกยิ้มหวานหลังพูดจบ
“หมา…”“แมว...” “เสือ...” และสัตว์อื่นๆ ตามมาในลักษณะเดียวกันเท่าที่ผมจะเปิดหาเจอและน้องจะมีสมาธิรับรู้ได้ในวันนั้น
หลังจบกิจกรรมในวันนั้น เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับ ป้าหมีและป้าติ๋ม เจ้าหน้าที่ผู้ปกครองของมูลนิธิ ที่ทำหน้าที่คอยสอดส่องดูแลเด็กๆ ผมเล่าเรื่องประสบการณ์ในวันนี้ให้คุณป้าผู้ใจดีฟัง คุณป้าทั้งสองจึงช่วยกันเล่าข้อเท็จจริงเพิ่มเติมความรู้ให้ผมฟังว่า
จริงๆ แล้วน้องจ๋าอายุ 6 ขวบแล้วแต่ตัวเล็กกว่าอายุ และมีกิริยาท่าทางเหมือนเด็ก 2-3 ขวบ เพราะว่ามีพัฒนาการช้า เนื่องจากไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่สมบูรณ์ จึงไม่ได้เติบโตไปตามวัยอย่างเหมาะสม คุณพ่อของน้องจ๋าทิ้งครอบครัวหนีไปนานแล้ว ตั้งแต่นั้นมาคุณแม่ของน้องจ๋าก็มีอาการทางจิตไม่ค่อยปกติ เป็นโรคซึมเศร้าและไม่ค่อยสนใจลูกตัวเอง วันไหนขี้เกียจเลี้ยงก็เปิดโทรทัศน์ให้นั่งดูทั้งวันไม่ต้องทำอะไร โทรทัศน์มีหนังมีละคร ตบตีอะไรกันน้องจ๋าก็ดูอยู่เท่านั้นทั้งวัน ส่วนคุณแม่ก็ไปติดกาวเมาเสเพล นอกจากคุณแม่แล้ว ในห้องเช่าเล็กๆ ก็ไม่มีคนอื่นอีก
แต่ละวันน้องจ๋าจะเดินเล่นไปในชุมชน ถ้าหิว พอเจอผู้ใหญ่คนไหนก็จะไปขอข้าวขอน้ำกิน คนในชุมชนเห็นก็สงสารก็แบ่งข้าวให้อยู่เรื่อยๆ เติบโตมาอย่างนี้ตลอด ดังนั้นจึงไม่มีใครคอยเลี้ยงดูอบรมสั่งสอน ทั้งๆที่อายุขนาดนี้ก็ควรจะเข้าเรียนชั้นประถมแล้ว แต่การที่ที่น้องจ๋ายังไม่รู้จักนก ไม่รู้จักเสือ ก็ไม่แปลก เพราะไม่มีใครเคยบอกให้ฟัง
ป้าหมีกับป้าติ๋มยังฝากบอกอีกว่า ก็ต้องอาศัยน้องๆ รุ่นใหม่ๆ ถ้ามีเวลาก็เข้ามาช่วยกันสอนอะไรให้เท่าที่จะสอนได้ เพราะลำพังคุณป้าสองคนอายุก็มากแล้ว ดูแลเด็กที่เข้ามาวิ่งเล่นในบ้านพักหลายสิบคนไม่ไหว
 
เพื่อนของผมอีกคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า วันนี้เขาได้ทำกิจกรรมหลายอย่างกับน้องผู้ชายคนหนึ่ง ชื่อน้องอ๊อด
น้องอ๊อดเป็นเด็กผู้ชาย ดูจากภายนอกน่าจะอยู่ประมาณป. 3-4 ตัดผมเกรียนแต่ทำไฮไลต์สีทอง ผิวดำกร้าน แววตาเศร้าหมอง เลื่อนลอยและยิ้มไม่เก่งเหมือนน้องจ๋า
ด้วยความที่น้องอ๊อดอ่านหนังสือไม่ออกเลยสักคำเดียว วันนี้จึงถูกจับไปเรียนภาษาไทย แม้พี่ๆ จะใช้ความพยายามเคี่ยวเข็ญ และใช้กลเม็ดสารพัดก็ยังไม่สามารถหลอกล่อให้ท่อง กอไก่ถึงฮอนกฮูกได้สำเร็จ น้องอ๊อดเป็นเด็กสมาธิสั้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ค่อยยอมเข้าร่วมกิจกรรมที่ทำเป็นหมู่คณะ เรียกร้องสิ่งต่างๆ ให้ตัวเอง และไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่ อยากทำนู่นอยากทำนี่อยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาไม่ยอมอยู่กับที่ อยากเล่นฟุตบอล อยากเล่นกีต้าร์ แต่พอพาไปเล่นก็เลิก
น้องอ๊อดติดนิสัยชอบความรุนแรง ชอบเล่นแบบรุนแรง ที่ติดตาติดใจเป็นที่สงสัยคือเวลาเล่นเอาปืนมาเล่นไล่ยิง จะบอกว่าไล่ยิงตำรวจ ไม่ใช่ยิงผู้ร้าย
เพื่อนของผมฟ้องคุณป้าผู้ดูแลอีกว่า เวลาเรียนน้องอ๊อดก็เอาแต่จะมุดลงไปเล่นใต้โต๊ะ ไม่ตั้งใจเรียน
คุณป้าทั้งสองหัวเราะคิกคักขึ้นมาพร้อมกัน สบตากันเล็กน้อยก่อนจะหันไปพึมพำๆ “ว่าแล้ว... เพราะวันนี้พี่ๆ ใส่กางเกงขาสั้น!”
 และแล้วผมกับเพื่อนๆ ก็ได้ฟังวงเวียนชีวิตจริงอีกเรื่องหนึ่ง
น้องอ๊อดที่เห็นตัวเล็กๆ จริงๆ อายุ 13 ขวบแล้ว แต่พัฒนาการช้าเช่นเดียวกับน้องจ๋า ทำให้ดูผ่านๆ ก็ เหมือนเด็กเล็ก คุณพ่อของน้องอ๊อดติดคุกเพราะค้ายา ส่วนคุณแม่เสียไปแล้ว น้องอ๊อดอาศัยอยู่กับยายซึ่งต้องทำมาหากินด้วยจึงไม่ค่อยมีเวลาดูแล น้องอ๊อดไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่เคยเข้าโรงเรียนเลย จึงอ่านหนังสือไม่ออก และก็แน่นอนว่า ไม่เคยได้รับการอบรมสั่งสอนใดๆ มาจากครูที่โรงเรียนอีกเช่นกัน
พ่อและคนอื่นๆ ที่บ้านของน้องอ๊อดก็ค้ายากันทั้งบ้านแล้วก็สอนลูกสอนหลานกันว่าตำรวจคือศัตรู ตำรวจคืออันตราย เด็กก็ซึมซับอยู่ทุกวันจึงถูกฝังหัวเชื่อให้ไปอย่างนั้นแล้ว เห็นตำรวจที่ไหนก็จะวิ่งหนีไว้ก่อน
น้องอ๊อดเรียนรู้เรื่องเพศจากการที่คนอื่นๆ ที่อยู่ในห้องเช่าเดียวกันดูหนังโป๊ แล้วก็เปิดให้เด็กนั่งดูด้วยโดยไม่มีการสอนอย่างถูกต้อง หรือบางครั้งคนในห้องเช่าแคบๆ ก็โชว์ของจริงให้ดู ใครอยู่ใครไปก็เห็นกันหมด รวมถึงเคยได้ยินมาว่าน้องอ๊อดเคยถูกกระทำทางเพศด้วย ป้าหมีกับป้าติ๋มบอกว่าจริงๆ แล้วน้องเค้าไม่เข้าใจหรอกว่ามันคืออะไร แล้วเค้ากำลังทำอะไรอยู่ แต่ด้วยธรรมชาติของเด็กอายุเข้า 13 ปี ก็เริ่มอยากรู้อยากเห็น และก็เล่นไปเรื่อยเท่า
 
ในนาทีเล็กๆ ที่เกิดคำถามผุดขึ้นในใจ เราจะช่วยให้น้องมีชีวิตดีขึ้นได้อย่างไร? คงต้องใช้อีกหลายสิบปีในการแสวงหาคำตอบอันยืดยาวกว่าคำถาม ไม่อาจจะกระดิกนิ้วทีเดียวแล้วรักษาโลกได้ดั่งใจนึก แต่ระหว่างทางนั้นเราทำอะไรได้ก็ต้องพยายามทำกันไปก่อน อะไรบ้างที่เราจะยอมสละได้ และอะไรบ้างที่จะปกป้องเค้าให้ได้มากที่สุด
คิดอะไรได้ก็ทำไปในขอบเขตที่มีสิ่งแวดล้อมทางวัตถุในแบบของเรา และเผื่อใจไว้เล็กน้อย เว้นพื้นที่เล็กๆ ไว้ให้เห็นบ้างว่ามีคนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ต่างจากเราอีกมาก เท่านั้นเอง...
 
 
 
นายกรุ้มกริ่ม
 
 
 
 
  
 
 
 
 
 
เขียนขึ้นตามคำขอของ ปรีดี จากนิตยาสาร echo ประมาณกลางปี 2551
กองบรรณาธิการอ่านไม่รู้เรื่อง ไม่ได้รับพิจารณาให้ตีพิมพ์
 

 

เพียงเสี้ยวอารมณ์

            ผมเป็นอาสาสมัครมือใหม่ ที่บางอารมณ์ก็อยากทำประโยชน์เพื่อสังคมกับเขาบ้างเหมือนกัน

                ผมเริ่มต้นการทำความดีที่ชุมชนศิริอำมาตย์ เป็นชุมชนแออัดลึกลับ แฝงเร้นอยู่ข้างสนามหลวงใจกลางกรุงเทพมหานคร
                ที่นี่จะมีอาสาสมัครมากหน้าหลายตาวนเวียนกันมาไม่ซ้ำคน แบ่งปันเวลาว่างในวันหยุดสอนหนังสือให้แก่เด็กๆ ในชุมชน
                เราใช้พื้นที่ข้างถนนเล็กๆ กับโต๊ะขายก๋วยเตี๋ยว 3-4 ตัว ตั้งเป็นโรงเรียนขึ้นในทุกเช้าของวันอาทิตย์ และผมก็แวะเวียนมาเป็นส่วนหนึ่งบ้างตามโอกาสที่มี
                แต่วันนี้ไม่ใช่วันอาทิตย์ที่ดีนักสำหรับผม นาฬิกาปลุกทำงานเมื่อเวลาแปดโมงตรง ทั้งที่เมื่อคืนกว่าผมจะนอนก็ตีสามแล้ว ผมชั่งใจอยู่ชั่วอึดใจหนึ่ง “วันนี้คงไม่เหมาะกับการทำความดีกระมัง” ผมคิด...
                เกือบสิบโมงแล้วผมรู้สึกตัวขึ้นอีกครั้ง ล้างหน้าแปรงฟันเสร็จแล้วก็ไม่มีอะไรทำที่ดีไปกว่าการนอนดูทีวีให้หมดวันหนึ่งๆไป “หรือจะไปดีวะ?” ผมคิด แล้วก็กระวีกระวาดแต่งตัวออกจากบ้านไปทั้งที่ยังไม่ได้กินอะไร
 
                ณ สถานที่นัดหมาย สหายจำนวนหนึ่งมาถึงก่อนผมนานแล้ว พร้อมกับคำพูดสนุกสนานเชิงตำหนิ ถึงความตรงต่อเวลาของผม “มาก็โดนด่า มาทำไมวะกู?” ผมคิด
                การมาสายทำให้ผมไม่มีอำนาจในการเจรจาต่อรอง ผมเริ่มทำตัวเป็นประโยชน์ทันทีโดยการหยิบแบบฝึกหัดไปแจกน้องๆและเดินทักทายผู้คน
                มีน้องคนหนึ่ง ชื่อว่า หนึ่ง มีน้องชื่อสองและสาม เป็นเด็กที่เพิ่งมาเรียนที่โรงเรียนข้างถนนแห่งนี้เป็นครั้งที่สอง ซึ่งครั้งแรกผมได้เป็นคนสอนน้องเขียน ก.ไก่ถึง ฮ.นกฮูกด้วยตัวเอง น้องหนึ่งเข้ามาทักทายผมด้วยการจับมือและนั่งตักทันที “ได้เหยื่อแล้วเว่ย” ผมคิด “สอนน้องหนึ่งก็ได้จะได้ไม่ดูอู้จนเกินไป”
                เดาเอาว่าน้องคงจำผมได้อยู่ และวันนี้ครูอาสาก็มากันน้อย คงดูแลไม่ทั่วถึง น้องไม่รู้จะหาใครก็เลยรีบรี่มาหาผมก่อน
 
                แสงแดดช่วงสายไม่ได้เกรงใจคนที่แค่อยากทำอะไรดีดีบ้างเลยแม้แต่น้อย วันนี้ร่มผ้าใบคันใหญ่ที่เคยคุ้มแดดให้ก็กลับกางไม่ได้เพราะลมแรงเกินไปอีก “ไอ้ลมบ้า มากันไม่หยุดเล้ย” ผมคิด
                ผมร้อนมาก แต่น้องหนึ่งนั้นไม่ ยังคงตั้งใจทำแบบฝึกหัดโยงเส้นจับคู่ต่อไป แผ่นแล้วแผ่นเล่า “ไม่ร้อนบ้างหรือไงวะ?” ผมคิด และผมก็ได้คำตอบเมื่อมีน้องอีกคนมาชวนน้องหนึ่งไปเซเว่น แต่น้องหนึ่งบอกว่า “ไม่เอา เรียนดีกว่า สนุก” “เหรอวะ?” ผมคิด
                ไม่เพียงอุปสรรคจากแสงแดดเท่านั้น ความหิวทั้งข้าวและน้ำ กับความง่วงก็คงยังรุมเร้าผมอยู่ทุกขณะ “คิดผิดเป่าวะเนี่ย...กู?” ผมคิด
 
                เที่ยงตรง ดวงตะวันแกร่งกล้ามากขึ้น ส่วนผมก็หลบตัวเองเข้ามาอยู่ใต้เงาของร่มไม้ เด็กส่วนใหญ่กลับไปแล้ว น้องหนึ่งกำลังเก็บกระดาษแบบฝึกหัดทุกใบที่ตัวเองทำเพื่อเอากลับบ้านไปให้แม่ดู
                น้องหนึ่งเป็นเด็กตัวเล็กๆ อยู่แค่ ป.1  กำลังจะจูงมือน้องสาวที่เพิ่งเข้าอนุบาล เดินกลับบ้านกันสองคน“อะไรจะน่ารักขนาดนี้?”“คงดีกว่านั่งร้อนๆอยู่ตรงนี้มั้ง?” ผมคิด ก่อนอาสาตัวเดินไปส่งน้องที่บ้าน
                น้องหนึ่งยื่นมือมาจับมือผมแล้วกำเอาไว้แน่น ผมเลยยื่นมืออีกข้างไปจับมือของน้องสอง “น่าจะมีคนถ่ายรูปจากข้างหลังให้จัง” ผมคิด
 
กองขยะและของใช้เก่าๆ กับคนน่ากลัวๆ นั่งอยู่ตรงทางเดินปากซอยเข้าบ้านของน้อง บ้านเรือนของคนละแวกนี้สร้างขึ้นจากการปะติดปะต่อขอถุงกระสอบทราย แผ่นไม้กระดานผุๆ และป้ายโฆษณาเก่าๆ  ทางเดินรกและเฉอะแฉะดูไม่น่าไว้วางใจ “เข้าไปดีไหมเนี่ย?” ผมคิด
ขณะที่น้องจูงมือเดินนำ ผมก็ต้องกลั้นใจเดินตาม เดินผ่านคนจรจัดที่ดูเพี้ยนๆ คนหนึ่งไป เค้าก็จดจ้องผมไม่ละสายตา เดินผ่านกองขยะพันปี ผ่านน้ำครำกลิ่นเหม็นๆไป ผมต้องเดินเขย่งเท้าเพราะกลับรองเท้าเปื้อนกลัวจะไปเหยียบเข้า
บนเศษเหล็กเก่าๆ ที่ถูกใช้เป็นม้านั่ง มีหญิงสาวผอมบางท่าทางใจดีอุ้มเด็กเล็กๆ คนหนึ่งอยู่ คือคุณแม่กับน้องสามที่เฝ้ารอการกลับมาของเด็กน้อยทั้งสองคนอยู่นั่นเอง สายตาอันอบอุ่นมองตรงมายังเด็กน้อย พร้อมกับปากบอก “ขอบคุณคุณพี่นะคะที่มาส่ง” น้องสองวิ่งรี่เข้าไปกอดคุณแม่ น้องหนึ่งดึงมือผมให้ก้มลงไป และโอบเข้าสวมกอดรอบคอผมก่อนจากลา
“ภาพแบบนี้ไม่ควรอยู่คู่กับฉากหลังแบบนี้” ผมคิด
ไหว้ลาคุณแม่แสนดี โบกมือบ๊ายบายเด็กๆ ถอนหายใจยาวๆ เดินย้อนกลับออกมา คนเพี้ยนคนเมื่อกี้ฉีกยิ้มให้ผมมุมปากกว้างถึงใบหู จนมองเห็นฟันดำๆ ที่ไม่ได้รับการทำความสะอาด “แหม...คุณครูมาส่งนักเรียนเหรอครับ” พี่ชายหน้าเข้มที่ซ่อมมอเตอร์ไซค์อยู่หันมายิ้มกว้างให้อีกคน “ให้น้องเขากลับเองก็ได้นะคร้าบ...”
 
เพียงหนึ่งก้าวที่พ้นออกจากปากซอยนั้น สายลมวูบใหญ่พัดเข้ามาต้องตัวผม ผมหลับตาปี๋ก้มหน้าหลบฝุ่นละอองที่อาจตามมา คำถามของผมทั้งหมดในวันนี้ได้รับคำตอบแล้วในวินาทีนั้นเอง
 
 
นายกรุ้มกริ่ม
แห่งกลุ่มอิสระเพาะรัก
 
 
 
 
 
 
 
 
เขียนขึ้นประมาณสิงหาคม 2550 ตามคำขอของน้องๆไม้ขีดไฟ ในหัวข้อเพียงเสี้ยวอารมณ์
ไม่เคยตีพิมพ์

เกี่ยวกับการตั้งบล็อก

บล็อกนี้ถูกตั้งขึ้นในขณะที่เจ้าของยังไม่ได้ตั้งตัวและก็ยังไม่มีความพร้อมเท่าไร

จากเดิมที่เป็นคนอ่อนหัดทางเทคโนโลยี และก็หวาดหวั่นความก้าวหน้าทุกรูปแบบที่สิ่งเข้ามาหา

แต่การเลือกเป็นอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มาทำงานกับองค์กร ilaw นั้นกำลังจะทำให้ทัศนคติ และวิถีการวางตัวต่อโลกไอทีนั้นเปลี่ยนแปลงไป 

ขณะข้อความนี้ถูกเขียนขึ้น ผู้เขียนกำลังอยู่ในงานอบรม "นักข่าวคุ้มครองสิทธิ" ของสบท. ซึ่งมีการสอนทำบล็อกของตัวเอง รวมถึง ทวิตเตอร์ด้วย

ดังนี้ ข้อความหน้านี้ทั้งหมด จึงเป็นการทดลองครั้งแรกของผู้เขียนเอง

 

 

Pages

Subscribe to RSS - บล็อกของ groomgrim